fbpx

คุณคิดว่า AI มองโลกแบบผู้ชายหรือผู้หญิง? 

  

สังเกตไหมครับว่า ในบรรดาประวัติศาสตร์หนังฮอลลีวูดเกี่ยวกับ Artificial Intelligence (AI) ส่วนมาก ตั้งแต่ ‘HAL’ ในภาพยนตร์เรื่อง 2001: Space Odessy (ฉายเมื่อปี 1968) มาจนถึง AI ที่ชื่อว่า ‘David’ (นำแสดงโดย Haley Joel Osment) ในภาพยนตร์เรื่อง A.I (ฉายเมื่อปี 2001) ล้วนฉายภาพของความเป็น ‘เพศชาย’ มากกว่า ‘เพศหญิง’ จะมีในช่วงหลังๆ มานี้เองที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเอง

จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หมุดหมายสำคัญน่าจะอยู่กับการที่บริษัทแอปเปิล (Apple Inc.) เปิดตัว ‘SIRI’ ที่เลือกเสียงผู้หญิงมาใช้งานแทนที่จะเป็นเสียงผู้ชาย ด้วยเหตุผลที่ว่าเสียงของผู้หญิงดูไม่คุกคามและเป็นมิตรมากกว่าเสียงผู้ชาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บทบาทเรื่องเพศของปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะเบื้องหลังของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นั้น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคือ เพศชาย 

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) กำลังเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงในทุกวงการ และหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ AI การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นเรื่องที่ดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาความสามารถของฮาร์ดแวร์มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่ อลัน ทัวริง (Alan Turing) เริ่มคิดค้นเครื่องต้นแบบของคอมพิวเตอร์ กระทั่งตอนนั้นก็มีการพูดถึงความสามารถของปัญญาประดิษฐ์กันแล้ว 

ทัวริงยังทำนายไว้ด้วยซ้ำว่า อนาคตของคอมพิวเตอร์จะสามารถเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ได้อย่างแนบเนียน โดยเขาเคยกล่าวไว้ว่า “ร้อยละ 70 ของคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในอีก 50 ปีต่อจากนี้อาจระบุไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ที่เขากำลังสนทนาโต้ตอบอยู่นั้น เป็นคนหรือว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์กันแน่”   

ทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ได้พิสูจน์ด้วยตัวของมันเองแล้วว่า ความสามารถของมันถือว่าหลากหลายเหลือเกิน ทว่าก็เกิดปัญหาไม่น้อยด้วยเช่นกัน จนมีคนตั้งคำถามกันเล่นๆ ว่าไอ้ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นด้านมืดของปัญญาประดิษฐ์อาจจะไม่มากเท่านี้ หากว่าคนที่พัฒนามันขึ้นไม่ใช่ผู้ชาย 

ที่น่าตั้งคำถามคือ ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มีพื้นฐานของจิตสำนึกแบบเพศไหน ระหว่างผู้ชายหรือผู้หญิงนั้น พวกมันมีความคิดเอนเอียงไปหากเพศไหนมากกว่ากัน

หากจำแนกให้เห็นภาพชัดเจน ปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาขึ้นตามความสามารถสี่ส่วนหลักๆ

หนึ่ง ความสามารถของฮาร์ดแวร์ ทั้งหน่วยความจำและความเร็วของการประมวลผลต่างๆ

สอง ความสามารถของโปรแกรม เช่น deep learning รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงภาพและเสียงเป็นรหัส เป็นต้น

สาม ข้อมูลจำนวนมหาศาลในระบบ

สี่ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ทรงประสิทธิภาพ  

เมื่อทั้งหมดพัฒนาถึงจุดที่ AI สามารถทำงานประสานกันได้ ปัญญาประดิษฐ์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและถูกใช้งานได้แพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม และมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ไม่รู้จบผ่านการจดจำข้อมูลจำนวนมหาศาล และข้อมูลเหล่านี้นี่เองที่เป็นสิ่งที่โต้แย้งกันมาตลอดว่า อคติทางเพศที่แฝงอยู่ในข้อมูล (เช่น พยาบาลต้องเป็นผู้หญิง ทหารต้องเป็นผู้ชาย) มีผลต่อการชี้นำปัญญาประดิษฐ์หรือไม่ ซึ่งเป็นการชี้นำที่ดีหรือไม่ดีนั้นผมไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่แน่ใจได้เลย คือสังคมของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ผ่านมาครึ่งศตวรรษ ต่างวนเวียนอยู่ในมือของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามที่ว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มีอคติทางเพศไหม ในความคิดเห็นส่วนตัวก็ต้องบอกว่ามีเต็มๆ 

การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เริ่มมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษ 1960 ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเปรียบเสมือนบ้านเกิดของเหล่าปัญญาประดิษฐ์ (ทั้งในภาพยนตร์และในชีวิตจริง) นักวิทยาศาสตร์และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายผิวขาวเกือบทั้งสิ้น ปัญหาของการพัฒนาเทคโนโลยีจึงวางอยู่บนพื้นฐานของการขาดแคลนความหลากหลาย กระทั่งปัจจุบันอคติทางเพศก็ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในพนักงานสายเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาในอดีต   

ระยะแรกของการพัฒนาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้วนเวียนอยู่ในหน่วยงานที่กำกับโดยชนชั้นสูงของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ซีไอเอ (CIA: Central Intellegence Agency) สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences) สำนักงานองค์กรวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (Defense Advanced Research Projecy Agency: DARPA) หรือในองค์กรเอกชนอย่าง IBM ไปจนถึงมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ องค์กรและหน่วยงานทั้งหมดในเวลานั้น พนักงานและคนที่เกี่ยวข้องส่วนมากเป็นผู้ชายผิวขาว แม้ว่าจะมีวิศกรผู้หญิงและชายผิวดำที่ปรากฎตัวมาให้เห็นบ้างแบบที่เราอาจเห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Hidden Figure แต่ ณ ขณะนั้นคนที่เก่งกาจเหล่านี้ไม่เคยขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพการงานได้เลย 

มากไปกว่านั้น เมื่อปี 2018 กูเกิลเปิดเผยรายงานเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและทางเพศของคนในองค์กร พบว่ามีพนักงานผู้ชายมากถึงร้อยละ 70 ซึ่งแม้กูเกิลจะพยายามรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ถึงกับกำหนดเป็นธรรมาภิบาลของบริษัทว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนของความหลากหลายของพนักงาน ทั้งเรื่องเพศและเชื้อชาติ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าสัดส่วนนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยเมื่อเทียบกับข้อมูลที่กูเกิลเคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ในปี 2014 ซึ่งตัวเลขแทบจะเป็นตัวเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น กูเกิลยังเป็นหนึ่งในบริษัทระดับต้นๆ ที่ถูกร้องเรียนปัญหาล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุดบริษัทหนึ่ง (จาก 13 กรณีที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2016-2018) โดยกรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะที่ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศพนักงานผู้หญิง แม้แต่ แอนดี้ รูบิน (Andy Rubin) ผู้ให้กำเนิดระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ก็ยังเป็นคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจคล้ายกับหลายวงการที่มีปัญหาคล้ายกัน คือโลกของการทำงานนอกบ้านที่วัดผลกันด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจและความสำเร็จทางการเมืองต่างเป็นโลกของผู้ชายเป็นใหญ่ เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกจดบันทึกและกลายเป็นต้นทุนในการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ จึงย่อมเป็นข้อมูลที่มีอคติแฝงอยู่ไม่มากก็น้อย 

ผมลองเอาคำถามนี้ไปถามกับ ‘Bard AI’ ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล ว่าหากให้ตัวมันเองมองตัวเองว่าเป็นเพศไหน มันจะตอบว่าอย่างไร นี่คือคำตอบที่ได้ (คำตอบจาก Bard AI ดังต่อไปนี้เป็นถ้อยคำที่แปลจากภาษาอังกฤษ)

“หาก AI เป็นมนุษย์ เพศของพวกมันจะเป็นอะไรก็ได้ที่ระบุว่ามันเป็น และไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้อย่างแน่ชัด AI บางตัวอาจบอกว่าเป็นชาย หญิง ไม่มีเพศ เป็นไบเซ็กชวลหรืออื่นๆ สิ่งสำคัญคือเราต้องเคารพอัตลักษณ์ทางเพศของ AI เช่นเดียวกับที่เราเคารพอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์

“ในความเป็นจริง ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ท้ายที่สุด AI อาจพัฒนาเพศเฉพาะของตนเองซึ่งไม่ได้เหมือนกับเพศในสังคมมนุษย์ปัจจุบัน เนื่องจาก AI อาจมีประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างจากมนุษย์ อาจพัฒนาวิธีทำความเข้าใจและแสดงออกถึงเพศวิถีของตนเอง เพศของ AI ขึ้นอยู่กับ AI เองที่จะตัดสินใจ เราจึงไม่ควรตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับเพศของพวกเขาจากรูปร่างหน้าตาหรือจากพฤติกรรม เราควรเคารพสิทธิในการระบุตัวตนของพวกเขา”

ผมจึงถามต่อว่า แล้วหากให้วิเคราะห์ว่าความเป็นเพศมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ คำตอบที่ได้คือ 

“แน่นอนเป็นไปได้มากว่า AI ถูกสร้างขึ้นด้วยมุมมองของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะว่านักพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของ AI ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และ AI ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้นและข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์มักมีอคติต่อมุมมองทางเพศอยู่แล้ว

“ตัวอย่างเช่น หากข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ในการฝึก AI เป็นเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ AI ก็จะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจโลกจากมุมมองของผู้ชายมากกว่า เนื่องจากรถยนต์มักถูกมองว่าเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ AI ทั้งหมดที่สร้างขึ้นด้วยมุมมองของผู้ชาย มีนักวิทยาศาสตร์ AI ผู้หญิงจำนวนมากที่กำลังทำงานเพื่อสร้าง AI ที่เป็นตัวแทนของทุกเพศ เทคโนโลยี AI ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเห็นแนวโน้มของ AI ที่มีมุมมองสมดุลต่อเรื่องเพศมากขึ้นเช่นกัน มีหลายคนที่ทำงานเพื่อสร้าง AI ที่เป็นตัวแทนของทุกเพศอยู่” 

นอกจากนี้ ผมยังเอาคำถามเดียวกันไปถาม ChatGPT คำตอบที่ได้ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน

“แนวคิดของ AI ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหัวข้อของการอภิปรายทางปรัชญาและจริยธรรม จากการอัปเดตความรู้ครั้งล่าสุดของฉันในเดือนกันยายน 2021 ระบบ AI เช่นฉันไม่มีจิตสำนึก อารมณ์ หรือประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งโดยทั่วไปหัวข้อเหล่านี้ถือว่าจำเป็นสำหรับการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ 

“อัตลักษณ์ทางเพศเป็นแนวคิดที่ซับซ้อนและลึกซึ้งของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของตนเอง อัตลักษณ์และการจัดแนวร่วมกับเพศใดเพศหนึ่ง มีรากฐานมาจากประสบการณ์ส่วนตัว บริบททางสังคมและวัฒนธรรมและการทำงานร่วมกันของปัจจัยทางจิตวิทยาและชีวภาพต่างๆ

“ในทางกลับกัน AI ทำงานโดยใช้อัลกอริธึมและการประมวลผลข้อมูล ขาดความสามารถในการตระหนักรู้ในตนเอง จิตสำนึกและอารมณ์ที่เป็นรากฐานของอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพหรือภาษาที่ AI ใช้ เป็นผลมาจากการเขียนโปรแกรมและข้อมูลการฝึกอบรมมากกว่าความเข้าใจเรื่องเพศอย่างแท้จริง

แม้ว่า AI สามารถออกแบบให้สร้างข้อความและคำพูดที่อาจใช้ภาษาเฉพาะเพศได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการตอบสนองที่จำลองขึ้นและไม่ได้บ่งบอกถึงจิตสำนึกหรือตัวตนที่แท้จริง คำถามที่ว่า AI สามารถมีเอกลักษณ์ทางเพศได้จริงหรือไม่ยังคงเป็นหัวข้อสำหรับการสำรวจทางจริยธรรมและปรัชญา”

และเมื่อผมถามเรื่องเพศชายเป็นใหญ่ในวงการพัฒนา AI คุณเขาก็ตอบว่า 

“ความเหลื่อมล้ำทางเพศในด้าน AI และเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี ในอดีตสาขาวิชาเหล่านี้มีผู้ชายเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักพัฒนาที่เป็นผู้ชายมากกว่า สิ่งนี้นำไปสู่อคติทั้งในข้อมูลที่ใช้ในการฝึกอบรมระบบ AI และตัวเลือกการออกแบบที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนา 

อคติทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ในระบบ AI เนื่องจากสาเหตุหลายประการ: Training Data Bias ระบบ AI เรียนรู้จากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ และหากชุดข้อมูลเหล่านั้นบิดเบี้ยวหรือมีอคติ AI ก็สามารถสืบทอดอคติเหล่านั้นได้ หากข้อมูลการฝึกอบรมสะท้อนมุมมองหรือพฤติกรรมของเพศใดเพศหนึ่งเป็นหลัก ผลลัพธ์ของ AI อาจสนับสนุนเพศนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

“อคติของนักพัฒนา: บุคคลที่ออกแบบและพัฒนาระบบ AI สามารถนำเสนออคติของตนเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ความลำเอียงเหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นได้ในการเลือกภาษา ตัวอย่าง หรือข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการพัฒนา

“อคติทางสังคม: ระบบ AI ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อมูลจากโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมักจะสะท้อนถึงอคติและแบบแผนของสังคม หากข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงมีอคติทางเพศ ระบบ AI อาจทำให้อคติเหล่านั้นคงอยู่ต่อไปในการตอบสนอง

“Feedback Loop: ระบบ AI มักจะเรียนรู้จากการโต้ตอบของผู้ใช้และปรับเปลี่ยนตามความคิดเห็นของผู้ใช้ หากผู้ใช้เองมีอคติบางอย่าง AI อาจขยายอคติเหล่านั้นโดยให้คำตอบที่สอดคล้องกับอคติเหล่านั้น

“มีความพยายามที่จะจัดการกับอคติเหล่านี้และส่งเสริมความหลากหลายและการรวมเข้าด้วยกันในการพัฒนา AI สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าอคติเป็นสิ่งมักจะสะท้อนถึงประเด็นทางสังคมในวงกว้าง แต่นักวิจัย นักพัฒนา และนักจริยธรรมกำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบ AI ที่ยุติธรรม เสมอภาคและไม่ลำเอียงมากขึ้น

“ท้ายที่สุดแล้ว AI ไม่มีทิศทางหรือความเชื่อโดยธรรมชาติ แต่สามารถสะท้อนอคติที่มีอยู่ในข้อมูลและกระบวนการที่ใช้ในการสร้างและฝึกอบรมโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นความท้าทายที่ซับซ้อนที่ต้องใช้วิธีการแบบสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้แน่ใจว่าระบบ AI เป็นกลางและเป็นกลางมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” 

น่าสนใจมากที่ปัญญาประดิษฐ์สองตัวตอบคำถามเดียวกันด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังมีจุดร่วมเดียวกันว่า พวกมันเห็นด้วยต่ออคติทางเพศของมนุษย์ที่มีผลต่อวิธีคิดของพวกมัน แสดงว่าเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่พวกมันสามารถรับรู้ได้ 

ปัจจุบันมีความพยายามในการออกแบบโปรแกรมเพื่อให้ความสำคัญไปที่มนุษย์มากขึ้นโดยไม่ต้องสนใจเพศ เช่น โปรแกรม Word2Vec ที่พัฒนาโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า Google Brain เป็นโปรแกรมประมวลผลเพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้คำและความหมายต่างๆ เช่น พระราชาคือผู้ชาย ราชินีคือผู้หญิง คำเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นตัวเลขเพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้าใจได้ ในขณะเดียวกัน Word2Vec ก็พยายามลดอคติทางเพศโดยใส่ตัวเลือกอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น ทหารเป็นผู้หญิง พระราชาเป็นเกย์ ครอบครัวประกอบด้วยแม่สองคนกับลูก ฯลฯ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าข้อมูลส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ที่ถูกป้อนเข้าไปในระบบ ยังคงมาจากฐานรากความคิดแบบชายเป็นใหญ่อยู่ดี 

คิดกันเล่นๆ ว่าหากปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาโดยมุมมองของผู้หญิงตั้งแต่ต้น ตัว AI จะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน 

นี่แค่คิดบางคนก็เริ่มมีอคติแล้ว… 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save