fbpx

แฟร์หรือไม่ เมื่อภาพวาด AI ได้รับรางวัลประกวดศิลปะ?

โลกมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำมาซึ่งคำถามชวนขบคิดเกี่ยวกับความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตลอด เราเห็นรถยนต์ที่ไร้คนขับวิ่งตามท้องถนน โซเชียลมีเดียที่รู้ว่าเราอยากอ่านคอนเทนต์แบบไหน กำลังสนใจอะไรอยู่ แอปพลิเคชันสตรีมมิงเพลงและหนังออนไลน์เข้าใจความชื่นชอบของเรามากกว่าที่เรารู้จักตัวเองด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ Google หรือ Google Maps ที่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานเพื่อให้ผลการค้นหาออกมาแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ

เบื้องหลังเทคโนโลยีเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ AI (Artificial Intelligence) หรือ ‘สมองกล’ นั่นเอง

ซึ่ง AI ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากทำงานซ้ำๆ ประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล จนตอนนี้มันสามารถรองรับงานที่ซับซ้อนและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดแรงงานที่สามารถทดแทนได้ด้วยแมชชีนมาสักพักหนึ่งแล้ว ซึ่งหลายคนก็อุ่นใจว่าต่อไปในอนาคตงานบางส่วนที่ซ้ำซากจำเจก็มอบให้หุ่นยนต์ทำไป ส่วนมนุษย์ก็จะได้มีเวลามากขึ้นเพื่อไปทำงานที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์และความคิดมากกว่า คนในสายงานแนวครีเอทีฟจึงไม่ค่อยกังวลถึงการมาถึงของ AI สักเท่าไหร่

จนกระทั่งในปีนี้ที่งานประกวดภาพวาดศิลปะที่ Colorado State Fair มีชายคนหนึ่งชื่อ เจสัน อัลเลน (Jason Allen) ได้รับรางวัลจากผลงานที่เขาเอาส่งเข้าประกวด ซึ่งถ้าฟังแค่นี้ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องมีจุดพลิกอยู่ตรงที่งานศิลปะที่เขาเอาเข้าประกวด แม้จะไม่ได้ไปขโมยงานของคนอื่นมา แต่จะบอกว่านี่เป็นผลงานของเขาก็พูดไม่ได้เต็มปากเท่าไหร่ เหตุผลก็เพราะว่างานที่ได้รับรางวัลถูกวาดขึ้นมาโดยสมองกลที่อัลเลนเป็นคนป้อนคำสั่งให้วาดออกมานั่นเอง

โปรแกรม AI ที่เขาใช้เรียกว่า Midjourney ที่สามารถเปลี่ยนคำสั่งภาษามนุษย์ที่เราพูดกันปกติให้กลายเป็นภาพศิลปะได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

งานของอัลเลนที่ได้รับรางวัลกลับบ้านชื่อว่า ‘Théâtre D’opéra Spatial’ ถือเป็นงานศิลปะที่ผลิตด้วย AI ชิ้นแรกของโลกที่ได้รับรางวัลแบบนี้ จนกลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างว่านี่เป็นการโกงหรือเปล่า? การใช้เครื่องมือแบบนี้จะแฟร์กับคนอื่นๆ ได้อย่างไรกัน?

อัลเลนให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่าเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองโกงการแข่งขันแต่อย่างใด ตอนที่ส่งงานเข้าประกวดก็ใช้ชื่อ ‘Jason M. Allen Via Midjourney’ และถูกสร้างด้วย AI เขาไม่ได้โกหก บิดเบือน หรือพยายามปกปิดรายละเอียดตรงไหนเลย

“ผมจะไม่ขอโทษเกี่ยวกับเรื่องนี้นะ ผมได้รับรางวัล และไม่ได้ทำผิดกฎข้อไหนด้วย”

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเทคโนโลยีอาจยังไม่ทราบว่างานศิลปะที่สร้างด้วย AI นั้นมีมาสักพักหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมานั้นมันยังไม่ได้มีผลงานอะไรที่น่าสนใจเท่าไหร่ จนกระทั่งมาในปีนี้ ที่เทคโนโลยีก้าวขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เครื่องมืออย่าง DALL-E 2, Stable Diffusion หรือ Midjourney เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีนี้สามารถสร้างงานศิลปะได้ดีไม่แพ้คนทั่วไป บางทีอาจจะดีกว่าและไปเทียบเท่ากับศิลปินอาชีพแล้วก็ได้ (มีรายงานอีกว่าตอนนี้ที่เยอรมันมีคนพยายามใช้ AI เพื่อสร้างภาพยนตร์ทั้งเรื่องแล้ว)

ถึงตรงนี้ศิลปินหรือคนที่ทำงานแนวสร้างสรรค์เริ่มอยู่ไม่สุขเท่าไหร่แล้ว เพราะนี่คือช่องทางการทำงานและหาเงินเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองด้วย แล้วถ้า AI มาแย่งงานตรงนี้ไปก็คงไม่ดีแน่ ใครจะมาซื้องานศิลปะถ้าคนทั่วไปสามารถใช้ AI เพื่อสร้างมันขึ้นมากันล่ะ พิมพ์คำสั่งลงไปไม่กี่คำก็ได้ภาพสวยๆ ออกมาแล้ว ประเด็นเรื่องของจริยธรรมของงานศิลปะที่สร้างโดย AI ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างมาก

ส่วนตัวของอัลเลนเองเริ่มทดลองสร้างงานศิลปะด้วย AI ในปีนี้เพราะอยากรู้ว่ามันจะทำงานได้ออกมาดีมากขนาดไหน ส่วนตัวเขามีสตูดิโอสร้างเกมชื่อว่า Incarnate Games อยู่แล้ว ช่วงกลางๆ ปีเขาได้รับเชิญเข้าไปในห้องของ Discord ที่มีคนกำลังทดสอบการใช้งานของ Midjourney กันอยู่ โดย AI ตัวนี้ใช้กระบวนการที่ซับซ้อนชื่อว่า ‘Diffusion’ เพื่อเปลี่ยน ‘คำพูด’ หรือ ‘ข้อความ’ ให้กลายเป็น ‘ภาพวาด’ ตามที่เราต้องการ ผู้ใช้งานพิมพ์คำสั้นๆ ลงไปอย่างเช่น Ghost, Pirate Ship, Black Hole, Galaxy, Red Planet แล้วตัวบอต (หรือ AI) ก็จะสร้างงานศิลปะออกมาให้ภายในเวลาไม่กี่นาที สามารถเลือกว่าจะทำใหม่ทั้งหมดก็ได้ถ้าไม่พอใจ หรือจะปรับเปลี่ยนเวอร์ชันที่ชอบให้มากขึ้นก็ได้ ถือว่าน่าทึ่งเลยทีเดียว

อัลเลนรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งมาก เขาเริ่มหมกมุ่นสร้างภาพหลายร้อยภาพและทึ่งในความสวยงามของมัน ไม่ว่าเขาจะพิมพ์อะไรเข้าไปก็ดูเหมือนว่า Midjourney สามารถทำให้มันออกมาได้อย่างที่เขาคิดเลย

“ผมแทบไม่เชื่อตาตัวเองเลย รู้สึกเหมือนมันมีแรงบันดาลใจของปีศาจ เหมือนมีพลังบางอย่างจากโลกอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง”

จนกระทั่งเขาได้ไอเดียว่าถ้าอย่างนั้นก็ลองเอางานศิลปะจาก Midjourney ส่งเข้าประกวดที่งาน Colorado State Fair ดูในหมวดหมู่ ‘Digital Art/Digitally Manipulated Photography’ ซึ่งก็เป็นหมวดหมู่ที่เหมาะสมอยู่ เนื่องจากงานในกลุ่มนี้จะถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้เครื่องมือที่เป็นคอมพิวเตอร์ เขาเลยเอาภาพที่ได้จากบอตไปปรินต์แล้วส่งเข้าประกวด โดยเขาก็แค่หวังว่าคงดีมากถ้าโลกได้เห็นว่าเทคโนโลยีตอนนี้สามารถทำอะไรได้บ้างแล้ว

สองสามอาทิตย์ต่อมา เขาก็ต้องแปลกใจเมื่องานของเขาได้รับรางวัล หลังจากนั้นก็โพสต์เรื่องราวของเขาบน Discord และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างหนักตั้งแต่ตรงนั้นเป็นต้นมา ผู้ใช้งานคนหนึ่งโพสต์บน Twitter ว่า

“เรากำลังเห็นการล้มตายของงานศิลปะต่อหน้าต่อตาเราเลย”

คนต่อมาบอกว่า

“นี่มันน่ารังเกียจมาก ฉันเข้าใจนะถ้าจะบอกว่าศิลปะจาก AI จะมีประโยชน์ แต่การอ้างว่าตัวเองเป็นศิลปินโดยการสร้างงานศิลปะแบบนี้น่ะหรือ? ไม่มีทาง”

แต่ก็มีฝั่งของอัลเลนเข้ามาโต้แย้งเช่นกันบอกว่าการใช้ AI เพื่อสร้างผลงานนั้นไม่ต่างกับการใช้ Photoshop หรือเครื่องมือปรับแต่งรูปภาพแบบอื่นๆ เลย เพราะสิ่งที่จำเป็นก็คือ ‘inputs’ หรือแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อจะพิมพ์คำศัพท์ใส่เข้าไปจนสามารถสร้างผลงานที่เอาชนะรางวัลได้ต่างหาก

โดยฝั่งผู้จัดการประกวดก็ออกมาบอกว่าอัลเลนได้ให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นแล้วว่างานของเขามีการใช้ Midjourney เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกฎของหมวดหมู่ที่อัลเลนสมัครก็บอกว่า “ศิลปะที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์หรือการนำเสนอ” แม้ว่ากรรมการที่ตัดสินจะไม่ทราบว่า Midjourney คือ AI ในตอนให้คะแนน แต่หลังจากมีข่าวก็ออกมาแถลงว่าแม้จะรู้หรือไม่รู้ก็ยังให้งานของอัลเลนเป็นผู้ชนะอยู่ดี

สิ่งหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ความขัดแย้งของแนวคิดเกี่ยวกับคำว่า ‘ศิลปะ’ นั้นมีให้เห็นมาโดยตลอด ตอนที่เทคโนโลยีอย่างการถ่ายรูปถือกำเนิดขึ้น ศิลปินในสมัยนั้นก็ออกมาประท้วงกันว่ามันเป็น ‘ศัตรูของงานศิลปะ’ พอมาตอนที่การถ่ายรูปแบบดิจิทัลเริ่มเป็นกระแส คนที่ถ่ายภาพฟิล์มก็บอกว่าภาพดิจิทัลไม่ใช่ ‘ศิลปะที่แท้จริง’ หรืออย่างตอนที่มีเครื่องมือปรับแต่งรูปภาพอย่าง Photoshop ก็บอกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำลาย ‘ความสวยงามอันแท้จริงของภาพถ่าย’ และคนที่งานศิลปะโดยใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่ศิลปินอย่างแท้จริง

แล้ว Midjourney แตกต่างไปอย่างไรหรือ? บางคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับคุณมองว่า AI เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างหรือเป็นผู้สร้างมากกว่า

คนที่เห็นว่าเป็นเครื่องมือ ก็จะมองว่า AI เป็นเหมือนผู้ช่วยทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในหัวของศิลปินนั้นออกมาเป็นรูปเป็นร่าง คล้ายกับกล้องถ่ายรูปหรือโปรแกรม Photoshop ที่ต้องการมนุษย์เพื่อรังสรรค์ผลงานให้ออกมาสู่โลก แต่คนมองว่า AI เป็นผู้สร้างก็จะรู้สึกว่ามันไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบๆ ตัว แล้วก็สร้างงานศิลปะออกมา ซึ่งต่อไปก็อาจไม่ต้องอาศัยมนุษย์ให้พิมพ์อะไรเข้ามาเลยก็ได้ มันอาจจะสร้างภาพออกมาโดยการดึงคำต่างๆ มาผสมกันเองเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้

ถึงตอนนี้คุณเองก็อาจจะเริ่มตั้งคำถามว่าแล้ว ‘ศิลปะ’ คืออะไรกันแน่? มันถูกต้องหรือแฟร์หรือเปล่าล่ะที่งานของอัลเลนจะได้รับรางวัล? ไม่ว่าคุณจะเอนเอียงไปทางไหน มันก็มีเหตุผลรองรับทั้งสิ้น เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี AI เท่านั้น ต่อไปมันจะยังสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจ (และน่าตกใจ)​ ได้อีกเยอะมาก (รอให้ถึงวันที่เมตาเวิร์สเกิดขึ้นได้จริงๆ เราอาจจะมองตอนนี้เป็นเพียงจุดเล็กๆ ของประวัตศาสตร์ไปเลยก็ได้)

สิ่งหนึ่งที่แน่นอนเลยคือ AI จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ งานแบบซ้ำซากจำเจสุดท้ายอาจจะหมดไปเมื่อสมองกลมีความสามารถมากขึ้น งานที่เคยคิดว่าปลอดภัยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างงานเขียนหรือศิลปะดิจิทัลเองก็ไม่สามารถวางใจได้อีกต่อไป เพราะอย่างที่เราเห็นว่า AI นั้นสามารถทำได้เช่นกัน แม้จะยังไม่ดีเท่ามนุษย์ แต่หลักฐานก็บอกอยู่แล้วว่าสมองกลสามารถทำได้ในอนาคตและอาจจะไม่ไกลอย่างที่คิดด้วย


อ้างอิง

Artists Explore A.I., With Some Deep Unease

An A.I.-Generated Picture Won an Art Prize. Artists Aren’t Happy.

Charles Baudelaire, On Photography, from The Salon of 1859

We Need to Talk About How Good A.I. Is Getting

Twitter Account Genel Jumalon Collect-A-Con

Twitter Account RJ Palmer

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save