fbpx

ไม่ใช่แค่ความหวัง แต่ต้องมีความกล้า: มองเลือกตั้งไทยกับแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ฯ

ในช่วงเวลานับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย หลากนโยบายพร้อมคำสัญญาจากทุกพรรคการเมืองพรั่งพรูประชันกันในทุกพื้นที่การพูดคุย เรื่องที่ทุกพรรคพูดเหมือนกันคือการแก้ปัญหาปากท้องเพื่อพาคนไทยออกจากวิกฤตเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เรื่องที่พูดไม่มากนักหรือบางพรรคแทบไม่พูดถึงเลยคือปัญหาสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง อันเป็นปัญหารุนแรงนับแต่รัฐประหาร 2557

จนถึงปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมากติดคุกจากการแสดงออกทางการเมือง มีเยาวชนถูกดำเนินคดีหลายร้อยคน

สังคมไทยอาจพูดถึงการเลือกตั้งในฐานะ ‘ความหวัง’ ในการเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงคงเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่เปิดกว้างพูดคุยถึงทุกปัญหาอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ผู้คนออกมาเรียกร้องเต็มท้องถนนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งประเด็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกมรดก คสช. แก้ไขมาตรา 112 จนถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

มองเฉพาะประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อฟังจากเวทีดีเบตต่างๆ แล้วนับนิ้วมือได้ไม่เกิน 2-3 พรรคที่ยอมรับว่ากฎหมายข้อนี้มีปัญหา

การเลือกตั้งอาจไม่มีความหมายใดหากพรรคการเมืองยังขลาดเกินกว่าจะพูดถึงความจริง การเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้นหากเสียงของผู้ชุมนุมที่ถูกจับ-ถูกดำเนินคดีถูกมองว่าเป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย

ในมุมมองขององค์กรสิทธิมนุษยชน แอกเนส คาลามาร์ด (Agnès Callamard) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มองเห็นว่ารัฐบาลไทยชุดถัดไปมี ‘งานใหญ่’ รออยู่เพื่อทำให้เกิดการเคารพและปกป้องหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ดังที่เธอกล่าวไว้ในงาน ‘เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน’ ที่ลานคนเมือง เมื่อ 20 เม.ย. 2566 ว่าไทยยังมีปัญหาทั้งเรื่องการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ การคุมขังเยาวชนจากการใช้เสรีภาพการแสดงออก การคุกคามผู้ชุมนุม การมีกฎหมายที่ขัดขวางเสรีภาพการแสดงออก และปัญหาการคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน

ระหว่างการเดินทางมาไทยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แอกเนสจึงให้สัมภาษณ์ 101 และสื่อมวลชนบางสำนัก เพื่อแบ่งปันมุมมองของเธอในประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทยและข้อแนะนำต่อผู้นำจากการเลือกตั้งที่จะเข้ามาแก้ปัญหาหลังจากนี้

ภาพโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

จากการมาประเทศไทยช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คุณมีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง

ฉันมาประเทศไทยช่วงนี้ เพราะเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยหลังเผชิญสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ยากลำบากและความรุนแรงมาหลายปี ซึ่งช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ได้ไปพูดคุยกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงเหยื่อและผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ฉันมีข้อสังเกตบางประการอยากแบ่งปันในช่วงเวลาที่ไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ของประเทศและยุคใหม่ของการปกป้องสิทธิมนุษยชน

1. หลังจากที่ฉันได้พบและพูดคุยกับเยาวชนไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม พบว่าพวกเขามีความเชื่อที่จะสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งและเป็นธรรม แต่เมื่อถามว่าพวกเขามองเห็นอนาคตของตัวเองอย่างไรบ้าง พวกเขาบอกว่า “พวกเราไม่มีอนาคตในประเทศนี้” เรื่องนี้ทำให้ฉันกังวลมากและคิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้นำไทยควรตระหนัก ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพราะเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ ถ้าเยาวชนเหล่านี้รู้สึกว่าการกดขี่ การละเมิดสิทธิ ความเหลื่อมล้ำ การคอร์รัปชัน และความไม่เป็นธรรมต่างๆ ทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีอนาคต เรื่องเหล่านี้ก็สมควรมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในประวัติศาสตร์

หวังว่าเมื่อฉันกลับมาไทยอีกครั้งในปีหน้า เยาวชนเหล่านี้จะมีความหวังต่ออนาคตและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเขาในประเทศนี้

2. มีบางสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ควรได้รับการแก้ไข รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งควรทำให้การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญสูงสุด โดยเริ่มจากเรื่องการคุกคามสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิทธิด้านอื่นจะไม่สำคัญ เพราะมีหลายเรื่องที่ไทยต้องทำเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่กฎหมายของไทยบางฉบับที่มีเพื่อคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานในกฎหมายระหว่างประเทศ หรือเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

เราต้องการให้มีพื้นที่โต้เถียงกันในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เรื่องกฎหมายจึงเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลเพื่อให้สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล และสิทธิในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราอยากเห็นการยุติการสอดแนมและข่มขู่คุกคามต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน การกระทำเหล่านี้ทำให้คนมีความหวาดกลัวและจะเป็นการจำกัดความสามารถของพลเมืองไทยในการเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญเพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ การถกเถียงกันทางสาธารณะจึงมีความจำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งในทุกสังคม

3. ประเทศไทยมีค่ายผู้ลี้ภัย มีผู้ที่มาไทยเพื่อหาที่ลี้ภัย แต่น่าเสียใจว่าหลายปีที่ผ่านมาเกิดความยากลำบากสำหรับผู้ที่หลบหนีมาไทยเพื่อหาความปลอดภัย พวกเขาไม่มีการรับรองทางกฎหมายและอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง หลายคนถูกบังคับส่งกลับไปประเทศของตัวเอง บางคนถูกบังคับสูญหาย มีบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามถูกลักพาตัวในไทยและถูกส่งกลับไปเวียดนาม เรื่องนี้น่ากังวลอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์บทบาทผู้นำภูมิภาคของไทย และน่ากังวลอย่างยิ่งต่อผู้หาที่หลบภัย เราจึงมีข้อเสนอบางประการที่รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งจะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ นี้

อย่างไรก็ดี อยากพูดถึงเรื่องเชิงบวกด้วย คือการออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการหยุดการซ้อมทรมานซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในทุกกรณี เช่นเดียวกับการบังคับสูญหาย ดังนั้นเราจึงยินดีมากที่มีการออกกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ยังมีความกังวลในความล่าช้าของการนำกฎหมายไปบังคับใช้ เราเห็นสัญญาณของปัญหา จึงหวังว่าจะมีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างรวดเร็วทั้งจากรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และฝ่ายตุลาการ

ถ้าไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ อย่างทันท่วงทีจะส่งผลกระทบร้ายแรง เพราะการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด รัฐบาลจึงไม่มีข้ออ้างในการนำกฎหมายดังกล่าวไปปฏิบัติใช้อย่างล่าช้า หากมีปัญหาก็สามารถแก้ไขขณะที่นำกฎหมายไปปฏิบัติได้ ไม่ใช่เลื่อนกฎหมายไปก่อนระหว่างแก้ปัญหานั้น

อีกแนวโน้มเชิงบวกก็คือ การที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย (กสม.) ได้รับการปรับสถานะจาก B เป็น A ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า กสม. ผ่านมาตรฐานระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในแนวหน้าของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับโลก ซึ่งนี่คือการรับประกันว่า กสม. จะต้องทำงานในมาตรฐานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับ A

พรรคการเมืองต่างๆ มีการแสดงจุดยืนเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 มีหลายพรรคไม่ต้องการแตะต้องกฎหมายนี้ กระทั่งในพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็มีพรรคที่ไม่พูดเรื่องนี้ชัดเจน คุณมีความกังวลไหมหากพรรคเหล่านี้ได้เป็นรัฐบาล

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นชุมชนสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนความสามารถของทุกคนในการแสดงออกอย่างเสรี โดยเฉพาะในการร่วมถกเถียงทางการเมือง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกนั้นมีได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด ได้สัดส่วน และจำเป็นเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันว่ากฎหมายที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกต้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอยากเชิญชวนให้พรรคการเมืองต่างๆ รับกรอบแนวคิดกฎหมายระหว่างประเทศไปใช้ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีการรับไปใช้ในหลายประเทศ อย่างในแอฟริกาหรือในลาตินอเมริกา นี่ไม่ใช่เรื่องมาตรฐานตะวันตก แต่นี่เป็นเรื่องสากลที่มีข้อยกเว้นแค่บางกรณีเท่านั้น กฎหมายหมิ่นประมาทเหล่านี้ต้องถูกใช้ในการสร้างข้อจำกัดน้อยมากๆ ต่อความสามารถในการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นสาธารณะของผู้คน การสร้างข้อจำกัดต้องอยู่ในมาตรฐาน โดยที่การจำกัดต้องได้สัดส่วนและจำเป็นเท่านั้น

การเลือกตั้งเป็นโอกาสเสมอ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่หยิบฉวยโอกาสเหล่านี้เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง คุณก็จะพลาดโอกาสในฐานะผู้นำ ในไม่กี่เดือนต่อจากนี้ควรจะเป็นช่วงเวลาในการพูดคุยเรื่องนี้อย่างสงบและเปิดกว้าง จากนั้นรัฐสภาจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งหากพูดจากจุดยืนของแอมเนสตี้ฯ แล้ว การตัดสินใจเหล่านั้นควรอยู่บนฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายยุยงปลุกปั่น กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ หรือกฎหมายการชุมนุมต้องอยู่บนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องความได้สัดส่วนและจำเป็น แต่ถ้าไม่เป็นไปตามหลักการก็ควรมีการแก้ไข

สิ่งที่จะสามารถเริ่มทำได้คือการเปลี่ยนโทษทางอาญาให้เป็นโทษทางแพ่ง โดยที่โทษปรับต้องไม่สูงเกินไปและต้องทำให้การลงโทษได้สัดส่วน ต้องไม่ทำให้คนต้องติดคุกหลายปีเพราะเขาพูดอะไรออกมา ขั้นตอนที่สองคือการพักใช้กฎหมาย คุณอาจไม่ต้องยกเลิกกฎหมายทันที แต่ประกาศพักใช้กฎหมายนี้ชั่วคราวและดูว่าได้ผลอย่างไร โดยที่ต้องค่อยๆ สร้างความเตรียมพร้อมทั้งกับนักการเมืองและสังคมในการยอมรับพื้นที่การแสดงออกที่แตกต่างไป และเมื่อเห็นว่าผู้คนพร้อมแล้วก็ค่อยผลักดันเพิ่มเติม นั่นคือกระบวนการที่ประเทศอื่นๆ จัดการกับเรื่องนี้ในบริบทที่แตกต่างกันไป

เรื่องนี้ไม่ใช่สีขาว-ดำ คุณทำไม่ได้หรอกถ้ากฎหมายที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศไม่ถูกเพิกถอนไป แต่ในทางปฏิบัติก็สามารถค่อยๆ สร้างความพร้อมในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้

ท้ายที่สุดกฎหมายที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศต้องถูกถอนออกไป เพราะมันทำให้การแลกเปลี่ยนพูดคุยทางสาธารณะและการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการพัฒนาและเติบโตขึ้นของสังคม ซึ่งจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ

จากที่มาสังเกตการณ์ช่วงหาเสียงเลือกตั้งไทย มองเห็นความหวังจากการเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองแค่ไหน

ถ้าไม่มีความหวัง ฉันคงเลิกทำงานให้แอมเนสตี้ฯ ไปแล้ว (ยิ้ม) ฉันว่านี่ไม่ใช่คำถามเรื่องความหวัง แต่เป็นคำถามเรื่องความกล้ามากกว่า เราอยากจะเห็นผู้นำทางการเมืองมีความกล้าหาญและผลักดันวาระสิทธิมนุษยชน เพราะนี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และถ้าคนรุ่นใหม่ไม่มาเข้าร่วมก็จะไม่มีอนาคต

นี่คือเรื่องการเรียกร้องความกล้าหาญจากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แบบเดียวกับที่เยาวชนแสดงให้เราเห็นความกล้าหาญของเขาจากการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเชื่อของพวกเขา พวกเขารู้ถึงสิทธิที่เขามี นี่ ค.ศ. 2023 แล้วนะ เยาวชนตระหนักถึงสิทธิต่างๆ ของพวกเขา คุณไม่สามารถจัดการกับเขาแบบเมื่อ 40-50 ปีก่อนได้แล้ว เป็นไปไม่ได้หรอก ดังนั้นความกล้าหาญจึงจำเป็นมากสำหรับผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งซึ่งจะมาตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้

แอมเนสตี้ฯ อยากเป็นหนึ่งในคนที่บอกว่าขอให้กล้าหาญ สิทธิมนุษยชนคือการทำให้สังคมของคุณดีขึ้น แข็งแรงขึ้น และสามารถจัดการความท้าทายต่างๆ ได้ดีขึ้น

ลองดูการที่ประเทศจีนจัดการปัญหาโควิด-19 ได้แย่มากๆ เมื่อไม่มีการถกเถียงทางสาธารณะ ไม่มีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล คนที่มีข้อเท็จจริงไม่สามารถพูดออกมาได้ เราก็จะมีคนตัดสินใจอยู่ไม่กี่คน ซึ่งผลที่ออกมาเป็นการตัดสินใจที่แย่และส่งผลกระทบต่อทุกคน เราต้องเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้

ในศตวรรษที่ 21 การถกเถียงสาธารณะ การเข้าถึงข้อมูล และเสรีภาพในการแสดงออกทำให้สังคมแข็งแรงขึ้นและจัดการปัญหาได้ดีขึ้น ดังนั้นฉันจึงแนะนำให้นักการเมืองมีบทบาทในการแสดงความกล้าหาญ ผลักดันวาระสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนเยาวชน

ภาพโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

มีความเห็นอย่างไรจากที่แอมเนสตี้ฯ เคยถูกกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ ยื่นหนังสือขับไล่ เมื่อเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับผู้ที่แสดงความเห็นเรื่องสถาบันฯ

การต่อต้านแอมเนสตี้ฯ นั้นมีอยู่ แต่ว่าไม่มาก เมื่อก่อนแอมเนสตี้ฯ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์แทบจะทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศเอเชีย เราเคยถูกวิจารณ์ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แทบจะทุกที่ ส่วนตัวแล้วฉันไม่มองว่าการวิจารณ์จะสร้างปัญหา คำวิจารณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเราในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สร้างผลกระทบได้มาก

ส่วนการต่อต้านแอมเนสตี้ฯ ในไทยนั้น พูดตรงๆ ว่าฉันมองไปข้างหน้า ฉันไม่ได้มองหาการชื่นชม ที่จริงก็เป็นเรื่องธรรมดานะที่เราจะคุยกับคนที่วิจารณ์เรา ในงานดีเบต ‘เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน’ ที่ลานคนเมือง ฉันก็ได้คุยกับตัวแทนพรรคการเมืองที่สนับสนุนการต่อต้านแอมเนสตี้ฯ ฉันดีใจที่ได้คุยกับพวกเขา นี่คือการมีวุฒิภาวะ นี่คือวิธีการรับมือกับความเห็นที่แตกต่าง

หวังว่าการมาเยี่ยมประเทศไทยของฉันจะทำให้แอมเนสตี้ฯ สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐต่างๆ และแสดงให้เห็นว่าการทำให้ประเทศไทยแข็งแรงขึ้น จะเกิดขึ้นได้โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ฯ ด้วย เราไม่ได้ทำให้ประเทศไทยแย่ลง แต่เราทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับที่ดีขึ้น ดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและมีข้อดีในหลายมิติ

คนไทยจำนวนมากสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน เขาอาจเรียกมันว่าสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในน้ำสะอาด สิทธิในการทำงาน ทั้งหมดนี้คือการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ฉันคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการสิทธิมนุษยชน ต้องการการปกป้องสิทธิมนุษยชน และเราเป็นหนึ่งในหลายองค์กรที่ช่วยกันสร้างสิ่งเหล่านี้

คำวิจารณ์อยู่ในทุกๆ แห่งที่ฉันไป เช่นว่าเรื่องพวกนี้เป็นคุณค่าแบบยุโรป แต่คุณลองไปถามเยาวชนไทยที่ออกมาประท้วงสิ พวกเขาออกมาเพราะเป็นคนไทยเหรอ พวกเขาออกมาเพราะเป็นคนยุโรปเหรอ ไม่นะ เขาประท้วงเพื่อสิทธิของเขาเองและพวกเขาเป็นคนไทย ดังนั้นอย่าพูดว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นคุณค่าแบบยุโรป อย่าพูดว่าการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศเป็นคุณค่าแบบยุโรป เพราะเหยื่อเบอร์ต้นๆ ของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อยู่ในประเทศแบบประเทศไทยนี่แหละ

ปัญหาการคุกคามคนที่ผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกว้างขวาง รวมถึงสื่อมวลชนจำนวนมากที่กังวลจนเซ็นเซอร์ตัวเอง คุณมีคำแนะนำอย่างไร

ปัญหาเรื่องสื่อไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย เสรีภาพของสื่อกำลังถูกคุกคามในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสื่อที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเสี่ยงในการถูกคุกคามมากเป็นพิเศษ นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักข่าวรุ่นใหม่จากหลายๆ ชาติที่รวมตัวกันทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนในประเด็นเปราะบางร่วมกัน เราเห็นความร่วมมือในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นเสรีภาพของสื่อที่ยังมีอยู่

ดังนั้นตอนที่ฉันถูกถามเรื่องความหวัง ฉันจึงบอกว่าที่จริงแล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องความหวัง แต่เป็นเรื่องความกล้าด้วย เราจำเป็นต้องมีความกล้า เพราะเราเจอการข่มขู่คุกคามทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แย่ไปกว่านั้นคือการคุกคามถึงเนื้อตัวร่างกาย บางคนถูกฆ่า นี่คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสิทธิ ฉันก็อยากบอกว่าแค่มีความหวังแล้วมันจะสำเร็จนะ แต่ความจริงคือไม่ใช่ ความกล้าต้องอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเราด้วย

สังคมไทยมีการคุยกันเรื่องยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยเฉพาะกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี 2553 ที่มาถึงทางตันในกระบวนการยุติธรรมไทย คุณคิดว่าจะมีแรงจูงใจอะไรที่พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะให้สัตยาบันหรือยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี โดยเฉพาะหากพรรคนั้นมีส่วนในความรุนแรง

ทำสิ่งที่ถูกต้อง นั่นจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญมาก คุณเห็นแล้วว่า ICC สามารถทำอะไรได้เพื่อผู้คนในยูเครน ผู้คนในพม่า และหวังว่าจะทำเพื่อผู้คนที่ไนจีเรียด้วย นี่คือการทำสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือการมีวุฒิภาวะทางการเมือง นี่คือการสร้างต้นแบบ นี่คือการยอมรับกระบวนการตรวจสอบสิ่งที่คุณทำ ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศและประชาชน

ICC ไม่ใช่เรื่องแย่ เราทำแคมเปญให้ประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ ตอนนี้เราก็กำลังเรียกร้องกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญ ICC ซึ่งเป็นเรื่องน่าละอายมาก ดังนั้นรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยต้องดำเนินการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ นี่คือการแสดงออกถึงการมีวุฒิภาวะและความมุ่งมั่นต่อบรรทัดฐานสากล มันคือการเรียนรู้ คือการป้องกัน และเป็นอีกหลายอย่าง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save