fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ‘เดินหน้าสู่อดีต’: พล็อตภาพยนตร์ที่ยังไม่จบของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

(1)


ผมรู้จักหนังสือ A History of Thailand ของ ‘อ.คริส’ – คริส เบเกอร์ และ ‘อ.ผาสุก’ – ผาสุก พงษ์ไพจิตร ครั้งแรกในปี 2553 เมื่อครั้งสมัยที่ยังเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอยู่ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นมากที่สุดคือการที่หนังสือถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริจด์ (Cambridge University Press) โดยเล่มที่ผมอ่านเป็น  edition ที่ 2 ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2552

ในตอนนั้น ผมทึกทักเอาเองง่ายๆ ว่า การที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยระดับโลกเลือกตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ย่อมหมายความว่าหนังสือมีคุณภาพในทางวิชาการสูง แต่เมื่อได้เรียนรู้มากขึ้นกลับพบว่า แม้ข้อสรุปข้างต้นจะมีส่วนถูก แต่ก็เป็นการมองที่ค่อนข้างคับแคบ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่ามากคือ ‘สถานะ’ ของหนังสือที่มีศักยภาพจะเป็น ‘แหล่งอ้างอิง’ ของประชาคมโลกที่สนใจประวัติศาสตร์และการเมืองไทยร่วมสมัย

การที่หนังสือได้รับการพิมพ์ซ้ำทุกปีอย่างน้อยหนึ่งครั้งนับจากตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2548 และมีการปรับปรุงใหม่อีก 3 ครั้ง โดย edition ที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดตีพิมพ์ในปี 2563 ย่อมเป็นการพิสูจน์โดยตัวเองแล้วว่า A History of Thailand ได้ทำหน้าที่ในฐานะแหล่งอ้างอิงได้ดีเยี่ยมเพียงไร ไม่ต้องพูดถึงว่า หนังสือถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิชาการกว่า 1,100 ครั้ง (ฐานข้อมูล google scholar) ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับงานวิชาการหรือหนังสือสักหนึ่งเล่ม ในขณะที่คำนิยมและบทรีวิวหนังสือสำหรับในโลกภาษาอังกฤษก็ล้วนพูดถึงหนังสือว่ายอดเยี่ยม 

เมื่อหนังสือถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ในปี 2557 สารภาพว่า ผมไม่ได้สนใจมากนัก  และเผลอทึกทักเข้าใจไปเองว่า สังคมไทยคงไม่ได้สนใจหนังสือเล่มนี้สักเท่าไหร่


(2)


ในงานหนังสือเมื่อ 2 ปีก่อน ผมเดินผ่านไปใกล้บูธสำนักพิมพ์มติชนแล้วพบว่า มีนักอ่านมาต่อแถวยาวเหยียดเพื่อขอลายเซ็นนักเขียน ในทีแรกผมคิดว่าต้องเป็น ‘นักเขียนขายดี’ มาแจกลายเซ็นเป็นแน่ แต่กลับต้องเซอร์ไพรส์ว่า ผู้ที่มาแจกลายเซ็นคืออ.คริสและอ.ผาสุก ที่เพิ่งออกหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่’ ได้ไม่นาน แม้จะพอทราบอยู่ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสหนังสือความรู้และหนังสือการเมืองมาแรงมาก แต่ภาพการต่อคิวขอลายเซ็น ‘นักวิชาการ’ ก็ยังเป็นภาพที่น่าทึ่งอยู่ดี

ในงานหนังสือเดือนเมษายน 2566 หนังสือของ อ.คริสและอ.ผาสุกเป็นที่พูดถึงของนักอ่านอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นหนังสือ เรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ (A History of Thailand) ฉบับภาษาไทยที่ปรับปรุงใหม่ล่าสุด จำได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือเด่นของงานที่หลายคนเฝ้ารอ เพื่อนในแวดวงหนังสือบอกกับผมว่า “ให้รีบไปหาซื้อไว้ เพราะหนังสือขายดีมากและอาจจะหมดเร็วๆ นี้”

(ผมไม่แน่ใจว่า หนังสือในงานหนังสือขายดีแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ณ ตอนนี้หนังสือเริ่มหาซื้อได้ยากแล้วทั้งในหน้าร้านหนังสือและออนไลน์)

เมื่อได้หนังสือ ผมพบว่าตัวเองเข้าใจผิดอย่างมากที่เคยคิดว่าสังคมไทยไม่ได้สนใจหนังสือเล่มนี้ เพราะฉบับปรับปรุงใหม่ที่ว่าเป็น ‘การพิมพ์ครั้งที่ 14’ แล้ว หากนับจากครั้งแรกที่ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ในปี 2557 นั่นหมายความว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเฉลี่ยปีละ 2 ครั้งเลยทีเดียว   

สำหรับผม ความน่าตื่นเต้นของหนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้คือ การเรียบเรียงเนื้อหาตั้งแต่ปี 2540 ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เนื้อหาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และ “ต่อจุดของเรื่องราวเพื่อฉายภาพการเมืองไทยร่วมสมัยมาจนถึง พ.ศ. 2564 อันเป็นห้วงเวลาที่สังคมไทยและสังคมโลกเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงพลิกผันครั้งใหญ่ทั้งจากโรคระบาด ความขัดแย้งทางการเมืองที่เข็งเกลียว และการเบ่งบานขึ้นของพลังคนรุ่นใหม่ที่ลึกขึ้นท้าทายอำนาจและร่วมเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ให้สังคมไทยในอนาคต” [คำนำสำนักพิมพ์หน้า (16)]

ภาพ ‘นักเรียนหญิง’ ชูสามนิ้วขณะขึ้นปราศรัยที่ถูกนำมาใช้เป็นหน้าปก และบทความพิเศษของ ‘เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์’ เรื่อง ‘ทำไมถึงควรอ่านประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ที่ถูกนำมาจัดวางไว้เคียงกับบทความของ ‘สุจิตต์ วงษเทศ’ ‘นิธิ เอียวศรีวงษ์’ และ ‘วีรพงษ์ รามางกูร’ ซึ่งเป็นชุดบทความที่เขียนถึงหนังสือในวาระฉบับภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรก (ปี 2557) ยิ่งทำให้การปรับปรุงเนื้อหาล่าสุดนี้โดดเด่นมากยิ่งขึ้นไปอีก

ควรกล่าว ณ ตรงนี้ด้วยว่า บทความพิเศษที่เขียนโดยทั้ง 4 คนข้างต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างเข้มข้น-ลงลึก ย่อมเป็นการแนะนำหนังสือที่มีคุณภาพอย่างยิ่งแล้ว โดยเฉพาะการพูดถึงหมุดหมายและสถานะทางวิชาการของหนังสือเล่มนี้ในการศึกษาและการเขียนประวัติศาสตร์ไทย

แต่มีหนึ่งอย่างที่ผมอยากเน้นย้ำเพิ่มเติมคือมิติเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ

การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนักวิชาการและปัญญาชนเริ่มมองว่า ประวัติศาสตร์ชาติที่ขับเคลื่อนด้วยชนชั้นนำมีความคับแคบเกินไปจนมีส่วนสร้างความขัดแย้งและนำมาสู่สงครามในที่สุด จึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ขึ้นกับบุคคลหรือชนชั้นนำ ด้วยเชื่อว่าการเห็น ‘ความหลากหลาย’ ในประวัติศาสตร์จะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมลงได้ ซึ่งประวัติศาสตร์เศรษฐกิจช่วยให้เราเห็นความหลากหลายนั้นทั้งในเชิงตัวละคร เงื่อนไขทางสังคม สถาบันการเมือง ความเป็นเมือง ความเป็นชนบท เทคโนโลยี วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนและมีพลวัต

สำหรับผม ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้จึงมีความเป็น ‘ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย’ อยู่มาก อ.คริสและอ.ผาสุกทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนและมีชั้นเชิงว่า ตัวละครอันหลากหลายที่มีส่วนในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ ชนชั้นนำ กองทัพ ข้าราชการ พ่อค้า นายทุน เจ้าสัว เจ้าพ่อ คนทำงาน นักกีฬา ดารา ศิลปิน เกษตรกร นักเรียน และแม้กระทั่งไพร่ ทาส ล้วนตอบสนองต่อเงื่อนไขและผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและทางอื่นๆ ของตนเอง และสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้สังคมก้าวไปข้างหน้า

ตัวอย่างรูปธรรมที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือ การจัดวางบทที่ 8 ‘โลกาภิวัตน์และสังคมมวลชน’ ไว้ก่อนหน้าบทที่ 9 ‘การเมืองจาก พ.ศ. 2519’ และ บทที่ 10 ‘ความวุ่นวาย พ.ศ. 2548 – 2564’ ซึ่งคล้ายกับการเซ็ตฉากหลังของให้คนอ่านได้เห็นก่อนแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ที่จะได้เห็นในช่วง 40 ปีหลังมานี้ก็ล้วนแต่เป็นเหตุผลเป็นผลที่สืบเนื่องจากจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ อันได้แก่ การที่เศรษฐกิจเมืองเฟื่องฟู การเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง การปรับตัวของสังคมชนบท การเกิดขึ้นของสังคมมวลชน และโลกาภิวัตน์ที่ทำให้คนไทยมิใช่คนแปลกหน้าในสังคมโลก

หรืออีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ วิธีการเขียนปัจฉิมบท ‘อนาคตประเทศไทย’ ที่เริ่มต้นจากการเขียนอธิบายให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีพลวัตสูง กรุงเทพกลายเป็นเมืองระดับโลก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะน้อยลง เนื่องจากอาการประชวร และภูมิทัศน์สื่อกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากยุคโทรทัศน์เข้าสู่สื่อออนไลน์ ทั้งหมดนี้ อ.คริสและอ.ผาสุก ใช้พื้นที่เพียงแค่ 4-5 ย่อหน้าเท่านั้น แต่ก็เซ็ตฉากหลักให้คนอ่านเข้าใจได้อย่างทรงพลังว่า ตัวละครที่ออกมาโลดแล่นในการเมืองไทยร่วมสมัยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ม็อบเยาวชน ศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship คณะราษฎรใหม่ ฯลฯ พวกเขาไม่ได้มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยในฐานะที่เป็นตัวเองเท่านั้น หากแต่เป็นตัวแทนและผลผลิตของยุคสมัยด้วย

หากจะมีข้อให้ระมัดระวังในการอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่บ้าง สิ่งนั้นคือ เราต้องไม่เผลอไผลไปกับเรื่องเล่าอัน ‘เนียนกริ๊บ’ ที่ อ.คริส และอ.ผาสุก เขียนไว้ทั้งหมด แม้หนังสือจะบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเวอร์ชันนี้ยังมี ‘รัฐชาติ’ เป็นแกนเรื่อง โดยเชื่อว่าผู้สร้างรัฐชาติมีตัวตนและปะทะประสานกับพลังทางสังคมต่างๆ โดยตลอด แต่ก็มิได้บอกชัดเสียทีเดียวว่าประวัติศาสตร์แบบนี้กำลังเถียงกับใคร เรื่องอะไร และด้วยความมุ่งหวังแบบไหน

ดังนั้น ยิ่งเรามีรสนิยมทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับหนังสือมากเท่าไหร่ ก็ควรยิ่งต้องอ่านด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเท่านั้น


(3)


เนื่องจากเคยอ่านหนังสือมาก่อนแล้ว (แม้จะจำไม่ค่อยได้) ผมจึงสนใจ ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ในช่วงหลังปี 2540 ซึ่งอ.คริสและอ.ผาสุก เรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ (อย่างไรก็ตาม ในฉบับล่าสุดนี้ ทั้งสองท่านได้ทำการปรับปรุงข้อมูลและเพิ่มเนื้อหาในส่วนอื่นๆ กว่า 100 แห่ง โดยบางจุดเป็นการปรับทั้งตอนใหญ่ โดยใช้งานวิจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการปฏิวัติ 2475)

น่าสนใจว่า คนที่เขียนประวัติศาสตร์ไทยครอบคลุมช่วงเวลาหลักประมาณ 200-300 ปี มองเห็นการเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของรัฐชาติ (ไทย) ทั้งในภาพกว้างและลึก เลือกเปรียบเปรยการคลี่คลายของประวัติศาสตร์ไทยในช่วง 10-20 ปีหลังว่าเป็น  “ภาพยนตร์ไซไฟท่องกาลเวลา ซึ่งอนาคตหวนเป็นอดีต เวลาวิ่งกลับข้าง และชื่อของภาพยนตร์ไซไฟเรื่องนี้อาจจะเป็น เดินหน้าสู่อดีต” [หน้า (38) เน้นตัวเอนตามต้นฉบับ]

“ผู้ที่ชื่นชอบโลกาภิวัตน์หันหลังให้แก่โลก …. คำเขียนรัฐธรรมนูญค่อยๆ ลอกออกจากหน้ากระดาษ ลอยขึ้นในอากาศและสูญหายไปต่อหน้าต่อตา … ผู้มีอิทธิพลนักการเมืองประเภทไดโนเสาร์โผล่เข้ามาในฉาก…ลูกสาวลูกชายปรากฏบทเป็นตัวแสดงของพ่อเขาเอง…เรากลับสู่ยุคทหาร ซึ่งคิดว่าหายไป แต่กลับถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตบรรจง ….เราหวนกลับสู่ยุคเดือนตุลา ที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝันของคนรุ่นสมัยใหม่ มีทั้งกบฏด้านวัฒนธรรมและกบฏด้านการเมืองผสมผสานกัน…และผลก็คือการปราบปราม” [หน้า (38)]

ข้างต้นคือส่วนที่อยู่ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ 14 ข้างหน้าเล่ม และหากอ่านไปจนถึงช่วงท้าย อ.คริสและอ.ผาสุก ได้เขียนสรุปอธิบายว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 สังคมการเมืองไทยหักสู่การเมืองอำนาจนิยม ซึ่งมีรากลึกย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของ 3 เสาหลัก ได้แก่ ระบบราชการ ราชาธิปไตย และระบบทหาร ซึ่งผมสรุปต่อเอาเองว่า รูปธรรมของการเคลื่อนตัวเข้าหากันของ 3 เสาหลักนี้คือ การรัฐประหารและระบอบการเมืองที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน และการลุกขึ้นสู้ของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 เป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านี้

แม้จะตั้งชื่อภาพยนตร์ว่า ‘เดินหน้าสู่อดีต’ แต่ด้วยวิธีการอธิบายประวัตศาสตร์ไทยแบบที่หนังสือทำมาทั้งเล่ม ผมขอเดาใจว่า อ.คริสและอ.ผาสุกเลือกใช้คำว่า ‘เดินหน้า’ อย่างเลือกสรรและตั้งใจ และ ‘อดีต’ ก็ย่อมไม่ใช่ปลายทาง เพราะอย่างน้อยในปัจฉิมบท ทั้งสองท่านก็เลือกตั้งชื่อว่า ‘อนาคตประเทศไทย’ และเป็นบทเดียวในเล่มที่ไม่มี ‘สรุป’ ท้ายบท

ที่สำคัญไปกว่านั้น ประโยคสุดท้ายของหนังสือที่ทั้งสองท่านเขียนเอง (ก่อนที่จะจบด้วยโควตของเพนกวิน) มีอยู่ว่า “ในระยะสั้น ขบวนการไม่ได้สั่นคลอนพันธมิตรระหว่างทหาร สถาบันกษัตริย์ และนักธุรกิจใหญ่ แต่กาลเวลาเป็นปัจจัยทางการเมือง” (หน้า 429)

ผมเชื่อว่า หนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยจะต้องถูกพิมพ์ซ้ำอีกหลายหน และในอนาคตอันใกล้ อ.คริสและอ.ผาสุกก็น่าจะต้องปรับปรุงและเขียน ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ใหม่อีกครั้ง




ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (ฉบับปรับปรุง)

ผู้เขียน : คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์ : มติชน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save