fbpx

Dogtooth: ครอบครัววิปลาส ฟันเขี้ยวหมา อิทธิพลของภาษา และเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จในรั้วบ้าน

Weirdoo คอลัมน์ชวนดูหนังแปลกสุดแหวกแนวโดย Watchman ที่จะพาไปสำรวจเรื่องราวสุดพิลึกบิดเบี้ยว น่าฉงน ผ่านการวิเคราะห์เนื้อเรื่อง ตีความสัญญะ และการมองลึกไปถึงโครงสร้างชีวิต ศีลธรรม อำนาจ สังคม และการเมืองที่ซ่อนอยู่

ศัพท์ใหม่ประจำวันนี้ ได้แก่ ‘ทะเล’ ทะเลคือเก้าอี้หนังที่มีที่พักแขนทำจากไม้เหมือนอันที่ตั้งอยู่ในห้องนั่งเล่น ยกตัวอย่างเช่น ‘อย่ายืนให้เมื่อยเลยน่า นั่งลงบนทะเลก่อนสิแล้วค่อยคุยกัน’

ขอเปิดคอลัมน์ Weirdoo ด้วยการวิเคราะห์ตีความ พูดถึง Dogtooth (2009) หนังสุดเวียร์ดติดเรต 20+ ของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos ที่สร้างชื่อให้เขาก่อนที่จะได้มากำกับหนังดาร์กคอมเมดี้สุดแสบสันอย่าง The Lobster (2015)

Yorgos Lanthimos เป็นผู้กำกับที่โด่งดังและเป็นหนึ่งในหัวหอกของ ‘Greek Weird Wave’ หรือกลุ่มนักทำหนังชาวกรีซที่มักจะทำหนังสำรวจตรวจสอบเรื่องของอำนาจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านการเล่าเรื่องที่ใช้ตรรกะไม่ปกติ แสดงสัญญะได้อย่างบ้าบอ แปลกประหลาด น่าสะอิดสะเอียน แต่คมคาย และดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทั่วทุกมุมโลกได้แม้ว่าหนังแต่ละเรื่องจะใช้ทุนไม่มาก ซึ่งหากพูดถึงผู้กำกับคนนี้ เรื่องที่หยิบยกมานี้ดูจะเป็นงานที่กำหนดหรือนิยามความเป็นตัวเขาได้ดีที่สุดครับ

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาหนัง Dogtooth หากยังไม่เคยดูแนะนำให้ดูก่อน หรือถ้าหาดูไม่ได้ สามารถอ่านโดยที่ยังไม่ดูก็ได้เช่นกัน)

Dogtooth เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่อบรมสั่งสอนเลี้ยงดูลูก 3 คนได้แก่ พี่สาวคนโต พี่ชายคนกลาง และน้องสาวคนเล็ก ด้วยการสอน ‘ภาษา’ ที่ผิดเพี้ยนให้กับพวกเขา สอนให้เรียกอีกอย่างเป็นอีกอย่าง รวมถึงมีธรรมเนียมการปฏิบัติและวิถีชีวิตที่ผิดเพี้ยนวิปริตอีกด้วย

แม้นี่จะเป็นเรื่องย่อสองสามบรรทัดที่สรุปภาพรวมของหนังได้ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว แต่จุดหมายปลายทาง รายละเอียด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ยิ่งน่าสนใจขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อมองในเชิงวิเคราะห์ โดยเริ่มจากถอยมาสังเกตว่า จริงๆ แล้วเรื่องอำนาจนิยม (authoritarianism) เป็นสิ่งที่ทำการ ‘สโนว์บอล’ ด้วยตัวมันเองจนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากระดับของผู้ให้กำเนิดกับบุตร อำนาจระดับครอบครัว อำนาจในโรงเรียน อำนาจในกลุ่มคน อำนาจในที่ทำงาน ไปจนถึงอำนาจในสังคม และระดับการเมือง ประเทศ โลก

สำหรับ Dogtooth เราไม่อาจพูดได้ว่ามันเป็น ‘หนังการเมือง’ พอๆ กับที่ไม่สามารถเรียกปัญหาประเทศไทยขณะนี้ว่าเป็น ‘ปัญหาการเมือง’ ได้ เพราะการเมืองเกิดขึ้นได้จากการเล่นเกมอำนาจโดยพรรคการเมือง 2 ฝ่ายขึ้นไป ต่างจากระบอบเผด็จการที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต แสดงออก รับรู้ และโต้แย้งอยู่ฝ่ายเดียว ปัญหาอันเกิดจากความต้องการครอบครองอำนาจของคนบางกลุ่มจึงไม่ใช่การเมือง ซึ่งนั่นทำให้หากต้องการเรียกให้ถูก เราคงต้องเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น ‘หนังจำลองระบอบเผด็จการ’

หนังได้ใช้ ‘ระดับครอบครัว’ เป็นเครื่องมือในการสาธิตถึงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ที่ใหญ่กว่าได้อย่างเจ็บแสบ 

เครื่องมือที่จะแสดงถึงอำนาจในหนัง Dogtooth มีตั้งแต่การห้ามใช้โทรศัพท์ การจำกัดบริเวณอาณาเขตให้อยู่แต่ในตัวบ้าน สร้างเรื่องเล่าที่น่ากลัวเกี่ยวกับโลกภายนอก ทำให้ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าภายในบริเวณบ้านคือโลกทั้งใบของพวกเขา เป็นทั้งชีวิตของพวกเขา และพวกเขาถูกควบคุมโดยรูปแบบการใช้ชีวิตที่สร้างและกำหนดมาโดยพระเจ้าหรือเผด็จการที่เรียกว่า ‘พ่อ’

และเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่ได้ผลอย่างแน่นอน นั่นก็คือ ‘การควบคุมภาษาที่ใช้’

นอกจากการเรียกเก้าอี้หนังเป็นทะเลแล้ว ยังมีคำศัพท์อื่นๆ ที่เราจะได้เห็นกันอีกว่าความหมายไม่ตรงกับที่นอกบ้านเขาใช้กัน เช่น ไฮเวย์ คือลมที่แรงมาก, โร้ดทริป คือวัสดุแข็งแรงที่ใช้ทำพื้น ส่วนปืนลูกซอง คือนกสีขาวตัวน้อยๆ รวมถึงมีฉากหนึ่งที่ตัวละครพี่ชายรู้ศัพท์ใหม่คือคำว่า ‘ซอมบี้’ เมื่อเขาไปถามแม่ เขาก็ได้คำตอบว่า มันคือ ‘ดอกไม้สีเหลือง’

เมื่อนำมาแยกแยะและสังเกตจ้องมอง จะเห็นได้ว่า คำศัพท์แต่ละคำที่พ่อแม่บ้านนี้ทำการเปลี่ยนแปลงความหมาย มักจะมาจากความต้องการ ‘จำกัด’ การรับรู้ สงสัย หรืออะไรก็ตามที่สามารถโยงไปถึงการแสวงหาเสรีภาพได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 

ทะเล = ที่พวกเขาไม่เคยเห็นและถ้ารู้ความหมายคงอยากลองเอาเท้าไปสัมผัสน้ำเค็มดูบ้างสักครั้ง

ไฮเวย์ = ทางหลวงสำหรับขับรถเดินทางที่พวกเขาไม่มีวันได้ใช้

โร้ดทริป = ทริปท่องเที่ยวที่พวกเขาไม่มีวันได้ไป

ปืนลูกซอง = อาวุธอันตรายที่อาจนำมาซึ่งการปลดแอก

ซอมบี้ = สัตว์ประหลาดในจินตนาการ เพราะการมีจินตนาการ ความคิดเพ้อฝัน การวาดฝัน เป็นสิ่งต้องห้ามของระบอบเผด็จการ

ทั้งยังมีการนิยามว่าถนนและพื้นที่นอกบ้านอันตราย จะออกไปต้องขับรถเท่านั้น

แมวคือสิ่งมีชีวิตที่อันตรายและดุร้ายที่สุดในโลก เพื่อลดทอนโอกาสในการหลงใหลหมกมุ่นในสิ่งอื่นจนกระทบกับชีวิตประจำวันที่พวกเขาเซ็ตไว้

brother ของพวกเขาอยู่ข้างนอกกำแพง

แม่คลอดหมาออกมาจากท้องได้

แกะฉลากขวดน้ำออกเพื่อไม่ให้ลูกอ่านอะไรบนฉลากและรู้คำเพิ่ม

ให้ฟังเพลงต่างประเทศแล้วนั่งแปลให้ลูกฟังโดยที่ลูก (คนดูก็ด้วย) ไม่มีทางรู้เลยว่าความหมายตรงตามเนื้อเพลงหรือไม่

หลอกลูกว่าบางครั้งบางคราวที่เครื่องบินลำใหญ่ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า มันจะตกลงมาในบ้านของพวกเขาหลังจากนั้น (โดยการโยนเครื่องบินของเล่นลงพื้น เพื่อกันไม่ให้ตั้งคำถามว่าเครื่องบินบินไปไหนและบรรทุกอะไรอยู่)

และการที่ทั้งเรื่อง เราไม่รู้ชื่อสมาชิกครอบครัวนี้แม้แต่คนเดียว ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะมีชื่อหรือไม่ มันบ่งบอกได้ว่าพวกเขาไม่มีตัวตน ไม่มีอิสระหรือทางเลือกใดๆ เลยนอกจากการเป็นสามี ภรรยา และลูก ที่เป็นสถานะ default ที่ได้รับมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น เลือกไม่ได้ เลิกเป็นก็ไม่ได้

ฯลฯ

คำถามคือเหตุใดการควบคุมการใช้ภาษาจึงหมายถึงการควบคุมชีวิตกับความคิดได้อย่างสมบูรณ์เช่นนี้?

ย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่ม มนุษยชาติประดิษฐ์ตัวอักษรและภาษาขึ้นมาเพื่อสื่อสารระหว่างกัน การสื่อสารทำให้เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ตรงที่มนุษย์มีความสามารถในการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ให้เหตุผล วางทิศทาง รวมกลุ่ม วางแผนการระยะยาว สั่งการ ปลุกระดม ยึดอาณาเขต และอื่นๆ อีกมากมายด้วยภาษา อีกทั้งภาษายังแสดงถึงขอบเขตในการรับรู้และการเพิ่มพูนปริมาณสติปัญญาได้อีกด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น คนที่รู้ภาษาเดียวจะมีความรู้แค่ภายในกรอบภาษาตัวเองเท่าที่พอจะเข้าถึงได้ หรือตามที่ผู้มีอำนาจควบคุมภาษานั้นๆ ต้องการให้รู้และเข้าใจ ในขณะที่คนที่รู้หลายภาษาจะเพิ่มพูนขยายขอบเขตของฐานความรู้ได้อีกหลายต่อหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นจากการฟัง การพูดคุย การค้นหาจากอินเทอร์เน็ต และการอ่านหนังสือ หรือยิ่งเรารู้ภาษาที่ใช้คุยกับคอมพิวเตอร์อย่างที่แฮกเกอร์รู้ นั่นยิ่งนำมาซึ่งการเข้าถึง ช่วงชิง และควบคุมสิ่งทรงพลังที่สุดยอดตลอดกาลที่เรียกว่า ‘ข้อมูล’ ได้

เมื่อว่าด้วยอำนาจแห่งการใช้ภาษา ทำให้อดอ้างอิงถึงวรรณกรรมสุดคลาสสิกที่มีชื่อว่า ‘1984’ ของจอร์จ ออร์เวล (George Orwell) ไม่ได้ หนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องพลังของภาษาในโลกเผด็จการยุคดิสโทเปียได้เป็นอย่างดี ผู้แต่งตั้งใจสะท้อนและสร้างความตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ภาษาในทางใดทางหนึ่ง

1984 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคตของประเทศโอเชียเนียที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จ

ทุกคนใช้ชีวิตอย่างไร้ชีวา ด้วยกฎข้อบังคับและการจับตาดูโดยกลุ่มของผู้นำสูงสุดอย่าง Big Brother ที่มาพร้อมกับสโลแกน “Big Brother Is Watching You” และรูปดวงตาใหญ่ยักษ์บนกำแพงที่เพ้นต์เพื่อแสดงว่าประเทศนี้เป็นของใครราวกับหมาสักตัวที่ชอบไปฉี่รดล้อเพื่อบอกอาณาเขต โดยนอกจากการใช้กฎแล้ว พวกเขายังควบคุมประชาชนด้วยวิธีการสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ได้แก่ ความคิดสองชุดที่ขัดแย้งกัน (doublethink), ตำรวจควบคุมทางความคิด (Thought Police), กระทรวงความรัก (Ministry of Love), กระทรวงสันติภาพ (Ministry of Peace), กระทรวงความจริง (Ministry of Truth) ที่ตัดต่อประวัติศาสตร์ใหม่

และ ‘newspeak’ หรือการสร้างภาษาใหม่ขึ้นมา เป็นภาษาที่คัดสรรมาอย่างดีว่าคำไหนประชาชนควรรู้ ไม่ควรรู้ และพวกเขารู้ว่าต้องออกแบบอย่างไรถึงจะจำกัดการรับรู้ และตัดความสามารถในการตั้งคำถามกับโอกาสในการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนออกไปอย่างได้ผลที่สุด

1984 ของจอร์จ ออร์เวล กับหนังเรื่อง Dogtooth แม้จะบริบทต่างกัน แต่รูปทรงเนื้อแท้ที่ซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน ทั้งคู่แสดงให้เห็นว่าภาษามีอิทธิพลในด้านความคิด การรับรู้ และการตัดสินใจอย่างไรบ้าง

ภาษาสามารถปิดบังหลบซ่อนความจริงและเผยแพร่ชี้นำด้วยความปลอมผิด บิดให้ความจริงเป็นความเท็จ

ภาษาสามารถควบคุมความคิดการกระทำ ใช้สั่งการได้

ภาษาสามารถขยายขอบเขตการรับรู้ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ในการหดการรับรู้ให้เหลือน้อยนิดกระจ้อยร่อยได้

ภาษานำมาซึ่งความรู้ และความรู้นำไปสู่การต้องการหาความรู้เพิ่ม และนำไปสู่อิสระกับความเท่าเทียม

และภาษาสามารถถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองและการกำหนดไดเร็กชันได้อย่างน่ากลัว

จะว่าไป หนังอาจไม่สามารถสื่อสารธีมได้ชัดเจนเช่นนี้หากปราศจากภาษากาย ซึ่งเป็นอีกภาษาที่สำคัญมากพอๆ กับภาษาพูดและภาษาเขียน

และตัวหนังจะไม่ได้ดู ‘ถึงกึ๋น’ ขนาดนี้ หากปราศจากฉากสมเรต 20+ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กซ์ ฉากอันเปลือยเปล่าดูสมจริงทางสายตา และฉากโชว์ของลับที่โชว์ราวกับมันไม่ลับเหล่านั้น เพราะการนำเสนออย่างโฉ่งฉ่างล่อนจ้อน ปราศจากการปิดกั้นและอ้อมค้อมเช่นนี้ เป็นเครื่องมือช่วยในการเล่าเรื่องที่สะท้อนถึงอำนาจในการคุกคามและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่แผ่ซ่านไปในทุกอณูของหนัง แสดงให้คนดูเห็นว่าไม่มีที่ไหนปลอดภัย ไม่มีมุมไหนเป็นพื้นที่ของอิสรภาพสำหรับเด็กทั้งสาม

รวมไปถึงการถูกกำหนดผ่านการออกแบบช็อตว่า เมื่อไหร่ที่ให้เห็นทั้งหมด เมื่อไหร่ที่ให้เห็นบางส่วน เห็นตรงไหนบ้าง และเมื่อไหร่ที่ไม่ให้เห็นเลย ซึ่งแสดงถึงอำนาจที่ผู้กำกับหรือผู้กำกับภาพมีเหนือกว่าคนดูเช่นกัน

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการสร้างกิจกรรมให้ลูกๆ เล่น หรือการหาอะไรให้ทำเพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าตัวเองขาดอิสรภาพขนาดนั้นตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มักตั้งคำถาม ด้วยการให้ปิดตาหาแม่ที่สนามหญ้าในบริเวณบ้าน หรือมีสระว่ายน้ำให้ลูกว่าย ซื้อปลามาปล่อยให้ลูกจับ รวมไปถึงการใช้บริการโสเภณี (ที่เป็น รปภ. บริษัทที่คนพ่อทำงานอยู่) มาบำบัดความกระหายทางเพศของลูกชายเป็นพักๆ และการสร้างเกมกับระบบการให้รางวัล (reward) เพื่อทำให้ลูกทั้งสามรู้สึกต้องแข่งขันชิงดีชิงเด่น ท้าทาย ตื่นเต้น และได้รับสิ่งที่พึงพอใจอย่างเท่าที่มี โดยไม่จำเป็นต้องออกไปหามันที่อื่น 

ในด้านภาษากายที่ว่า เกี่ยวข้องกับการที่กดให้สถานะของลูกทั้งสาม รวมถึงคนแม่/ภรรยาของเขาเองต่ำลงทั้งในเชิงระดับความสูงจากพื้นดินและสถานะ ด้วยการฝึกสั่งให้นั่งลงสี่ขาและเห่าเหมือนหมาโฮ่งๆ 

ซึ่งสัญญะเกี่ยวกับคนและหมาในหนังเรื่องนี้มีการเปรียบเปรยผ่านฉากหนึ่งที่คนพ่อต้องการไปรับหมามาจากโรงเรียนฝึกสอน แต่โรงเรียนกลับยังไม่สามารถให้ตัวได้ในตอนนี้

ผมให้ตัวเขากลับไม่ได้หรอก เขายังอยู่ในขั้นที่ ของการฝึกอยู่เลย ผู้ดูแลโรงเรียนกล่าว พ่อทำหน้างง

ทั้งหมดมีอยู่ ขั้น อธิบายให้แบบนี้นะ หมาก็เหมือนดินเหนียวนั่นแหละ และหน้าที่ของเราที่นี่คือการปลุกปั้นมัน มันจะเป็นได้ทั้งหมาที่กระตือรือร้น เกรี้ยวกราด เป็นนักสู้ ขี้ขลาด จนถึงทำตัวน่ากอด เป็นเหตุที่เราเอาใจใส่ ทุ่มเททำงาน และอดทนพอสมควรกับกระบวนการฝึก หมาทุกตัวกำลังรอคอยให้เราฝึกสอนมันอยู่ คุณเข้าใจใช่มั้ย? เราคือคนที่จะกำหนดว่าพฤติกรรมหมาตัวนั้นจะเป็นอย่างไร

ชายคนนั้นเว้นจังหวะ ก่อนพูดต่อว่า “แล้วคุณต้องการสัตว์เลี้ยง เพื่อนคู่คิด หรือผู้พิทักษ์คุ้มครองที่คอยเชื่อฟังคำสั่งคุณกันแน่ล่ะ?”

เป็นบทสนทนาที่สะท้อนสิ่งที่คนพ่อกำลังทำอยู่อย่างชัดเจนเลยทีเดียวครับ สำหรับเขา ลูกและภรรยาก็ไม่ต่างจากหมาที่เชื่อฟังคำสั่งเป็นอย่างดี หันซ้าย หันขวา เห่า และทำตามคีย์เวิร์ดที่เปล่งออกมา ไม่มีใครขัดเขาได้ หากขัดก็จะถูกลงโทษ

นอกจากเดิน 4 ขาแล้ว เด็กๆ ในบ้านยังชอบใช้ลิ้น ‘เลีย’ ไปที่อวัยวะต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงความรักอีกด้วย และสิ่งที่ยกระดับขึ้นไปอีกจนเห็นได้ชัดว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ต่างไปจากคอกสุนัขจริงๆ ก็ตอนที่คริสตินา (โสเภณี) ให้วิดีโอที่เป็นสิ่งต้องห้ามในบ้านหลังนี้แก่พี่สาวคนโต เพราะโดนขู่ว่าจะไปฟ้องพ่อเรื่องที่คริสตินาเคยหลอกให้เธอทำบางอย่างเพื่อแลกกับที่คาดผมก่อนหน้านี้ ทำให้คริสตินาไม่ได้มาบ้านหลังนี้อีก จึงกลายเป็นว่านั่นเป็นจุดพลิกผันให้บ้านหลังนี้อยู่กันด้วยระบบปิดกว่าเดิม และคนที่ต้องสนองตัณหาของพี่ชายก็คือพี่สาวคนโต (ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิด)

การร่วมเพศระหว่างคู่รักต่างสายเลือดเป็นสิ่งปกติ แต่การร่วมรักกันภายในครอบครัวหรือ incest เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคำถามว่าต่อให้คนทำเป็น ‘มนุษย์’ แล้วเราต่างอะไรกับ ‘สัตว์’ ชนิดอื่นๆ ที่ไม่แยกแยะเรื่องจะมีเซ็กซ์กับใครบ้าง?

ยิ่งหนังดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มเห็นตัวละครพี่สาวคนโต (เป็นตัวละครที่ดูจะมีธรรมชาติแห่งความสงสัย ขวนขวาย และทำการทดลองหาคำตอบด้วยตัวเองมากกว่าน้องอีกสองคน) ค่อยๆ มีการตั้งคำถามและมีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแอบฟัง แอบดูวิดีโอ ทำพฤติกรรมเลียนแบบ เข้าห้องแม่ไปแอบเล่นโทรศัพท์ และต้องการให้น้องสาวเรียกเธอว่า ‘บรู๊ซ’ ซึ่งแสดงถึงความต้องการที่จะมีตัวตนแล้ว (การมีชื่อ=ตัวตน)

ย้อนกลับไปถามถึงความหมายของชื่อหนังที่ว่า ‘Dogtooth’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร? 

หนังเล่าตรงนี้ผ่านบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร ในช่วงประมาณกลางเรื่อง แสดงให้เห็นว่าบ้านนี้มีการสร้างมายด์เซ็ตประหลาดๆ ให้ลูกเพื่อไม่ให้พวกเขาเติบโตทางความคิดเร็วเกินไปอีกด้วย

คนพ่อถาม ไหนบอกซิ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของผู้ชายและผู้หญิงคือช่วงเวลาไหน?

ผู้ชายระหว่าง 30-40 ปี ผู้หญิงระหว่าง 20-30 ปีครับ/ค่ะ ลูกๆ ตอบกันอย่างพร้อมเพรียง

แล้วเมื่อไหร่ลูกๆ ถึงพร้อมที่จะไปจากบ้านหลังนี้? พ่อถามต่อ

เมื่อฟันเขี้ยว (dogtooth) หลุดค่ะ พี่สาวคนโตตอบ

ใช่แล้ว เมื่อนั้นแหละที่ร่างกายของทุกคนพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอันตรายและออกจากบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งเราจะออกจากบ้านต้องใช้รถเท่านั้น และเมื่อไหร่ที่เราจะเรียนขับรถ?

“เมื่อฟันเขี้ยวที่หลุดไปงอกกลับมาอีกครั้งครับ” คราวนี้ลูกชายตอบบ้าง

จะเห็นได้ว่า ความหวังที่จะได้ใช้ชีวิตของลูกๆ บ้านนี้ ดูเป็นไปไม่ได้และน่าหดหู่สิ้นหวังพอๆ กับความเป็นประชาธิปไตยกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตในประเทศไทยขณะนี้ เพราะไม่มีทางเลยที่ฟันเขี้ยวของลูกๆ จะร่วงอย่างย้อนแย้งในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่พ่อสอนลูกๆ เอง กว่าจะร่วงก็คงเป็นช่วงวัยชราแล้ว นี่ยังไม่นับโอกาส 0% ที่มันจะงอกออกมาใหม่หลังฟันแท้ร่วงอีก

เรื่องราวดำเนินมาถึงจุดไคลแม็กซ์ที่พี่สาวคนโตเริ่มรู้เริ่มสงสัยอะไรมากขึ้น เธอถามน้องสาวว่า ฟันเขี้ยวเธอใกล้ร่วงรึยัง เธอว่ามันโยกๆ และน้องสาวก็ตอบว่า “ไม่เห็นจะโยกเลย”

ในการเต้นเฉลิมฉลองในงานเลี้ยงครบรอบวันแต่งงานพ่อกับแม่ของเธอ เธอเต้นท่าประหลาดๆ อย่างบ้าคลั่ง นั่นทำให้คนๆ หนึ่งมีปริมาณอดรีนาลีนมากพอที่จะทำเรื่องบ้าๆ ที่ตัวเองต้องการจากก้นบึ้งของหัวใจได้ และสิ่งที่เธอทำคือการกระทำที่ ‘อิมแพ็กต์’ พอๆ กับฉากระเบิดตู้มในช่วงท้ายของหนังสักเรื่อง 

(ย่อหน้าถัดจากนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

เธอหยิบดัมเบลเหล็กมากระแทกที่ฟันเขี้ยวอย่างจัง จนเลือดอาบและฟันนั้นร่วงหลุดออกมา นั่นคงเป็นฉากที่ใครสักคนดีใจที่ตัวเองฟันหลุดเลือดกลบปากที่สุดเท่าที่จะเจอในหนังเรื่องไหนๆ แล้ว (ส่วนคนดูไม่น้อยน่าจะเอามือปิดปากตัวเองขณะดูฉากนี้)

ท้ายที่สุดเธอไปแอบอยู่ที่ท้ายรถ รอจนถึงเช้าให้พ่อขับรถไปนอกบ้าน และกล้องก็แช่เฟรมค้างไว้ที่ท้ายรถอย่างนั้น ก่อนที่หนังจะตัดจบ 

เป็นตอนจบปลายเปิดที่ถือว่าคมคายไม่น้อย ตอนจบที่หมาตัวหนึ่งบ้าพอที่จะทำสิ่งที่เจ็บปวด (การเลือกกระทำการใดๆ ต่อร่างกายตนเองนั่นคืออิสระเสรีขั้นพื้นฐาน) กับเสี่ยงการออกไปเผชิญโลกกว้างแม้ไม่รู้ชะตากรรม ไม่ว่ามันจะเป็นอิสระในสายตาคนอื่นหรือไม่ หรือเธอจะไปรอดรึเปล่า อย่างน้อยก็เป็นการเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่หมาเวอร์ชันผู้ใหญ่ที่อยู่นอกกรงและไร้ปลอกคอในความคิดของเธอแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save