fbpx
รื้อแค้นยิ่งคิดแค้น Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

รื้อแค้นยิ่งคิดแค้น Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

‘นรา’ เรื่อง

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

มิลเดรด เฮยส์สูญเสียลูกสาวไปอย่างน่าเศร้าสลดสะเทือนขวัญ จากการถูกฆ่าข่มขืน ผ่านไป 7 เดือน คดีถึงทางตันมืดแปดด้าน ซ้ำมีทีท่าว่าอีกไม่ช้านาน ทุกอย่างคงจะเงียบหายและถูกลืมเลือน เสมือนว่าไม่เคยมีเรื่องร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้นมาก่อน

ด้วยเหตุและความเป็นไปดังนี้ มิลเดรดจึงเช่าพื้นที่ลงแจ้งความโฆษณาบน 3 แผ่นป้าย ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายเก่าชานเมือง ซึ่งว่ากันว่า นับจากเมื่อมีถนนเส้นใหม่อุบัติขึ้น ช่วยย่นระยะทางและเวลาได้สะดวกรวดเร็วกว่า แต่นั้นมาก็แทบจะไม่มีใครผ่านสัญจรใช้ทางเดิมอีก เว้นเสียแต่ว่า เป็นคนเมาหยำเปจนหลงทาง หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นคนชนิดโง่เขลาเบาปัญญาถึงขนาด

บนแผ่นป้ายทั้ง 3  มิลเดรดถ่ายทอดข้อความไว้ว่า “Raped While Dying” “Still No Arrests?” และ “How Come, Chief Willoughby?” เป็นทั้งคำร้องทุกข์อันเจ็บช้ำ เป็นทั้งการโจมตีความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นทั้งคำท้ารบไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรง และมุ่งหวังผลให้เกิดการรื้อฟื้นทำคดีนี้อีกครั้งอย่างเอาจริงเอาจัง

อิทธิฤทธิ์ของข้อความบนป้ายทั้ง 3 ส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งเมืองเอ็บบิง

หลายย่อหน้าข้างต้น คือจุดเริ่มเรื่องของ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

หากดำเนินความตามสูตรที่ควรจะเป็นและผู้ชมคุ้นเคย เรื่องราวถัดมา น่าจะเล่าถึงความขัดแย้ง และการต่อสู้ระหว่างตัวบุคคลผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายกับระบบที่มีอำนาจอิทธิพล (และเต็มไปด้วยความฉ้อฉลทุจริต) เกิดอุปสรรคสารพัดสารพัน กีดขวางไม่ให้ให้การสืบคดีฆาตกรรมดำเนินไปโดยราบรื่น ก่อนจะจบลงด้วยชัยชนะของคนตัวเล็กๆ ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้

นี่เป็นความเข้าใจเบื้องต้นแบบคาดเดาล่วงหน้าของผม ก่อนที่จะได้ดูหนัง โดยประเมินจากพล็อตกว้างๆ และหนังตัวอย่าง

เมื่อได้ดูจริงๆ ก็พบว่า ทิศทางและวิธีเล่าของหนัง อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื้อเรื่องเหตุการณ์ ตลอดจนประเด็นที่หนังตั้งใจจะสื่อสาร ผิดจากที่ผมอุตริสู่รู้เดาไว้ทุกประการ

สิ่งที่หนังบอกเล่าต่อมา พูดถึงอิทธิฤทธิ์ของข้อความบนป้ายทั้ง 3 ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งเมืองเอ็บบิง มันกลายเป็นข่าวทางสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น มีทั้งฝ่ายสนับสนุนคล้อยตามมิลเดรด และฝ่ายที่ไม่พึงพอใจต่อการมุ่งโจมตีหัวหน้าตำรวจวิลลัฟบี ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านด้วยดีเสมอมา

ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวอันร้ายกาจไม่เป็นมิตรของมิลเดรด ไม่ว่าจะเป็นคำพูดคำจาเชือดเฉือนก้าวร้าว พฤติกรรมเอาเรื่องไม่ยอมคน แบบใครร้ายมาก็แรงตอบกลับไปเท่าๆ กันหรือหนักข้อยิ่งกว่า หน้าตาบูดบึ้งขมึงตึงเย็นชาอยู่ตลอดเวลา ตรงข้ามกับหัวหน้าตำรวจวิลลัฟบี ผู้เป็นที่รักของชาวบ้านส่วนใหญ่ รวมทั้งลูกน้องใต้บังคับบัญชาของเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นตำรวจอารมณ์ร้ายชื่อดิกซอน (มีข่าวร่ำลือว่าเขาเคยซ้อมและกระทำทารุณต่อผู้ต้องหาผิวสี แต่ปราศจากหลักฐานยืนยันแน่ชัด จึงรอดตัวพ้นผิด)

ป้ายประกาศของมิลเดรด จึงส่งผลให้เธอกลายเป็น ‘นังตัวร้าย’ ในสายตาของใครหลายๆ คน และเพิ่มข้อขัดแย้งบาดหมางติดตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่า แทบทั้งเมืองล้วนล่วงรู้ว่า หัวหน้าตำรวจวิลลัฟบี กำลังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เหลือวันเวลาในชีวิตอีกเพียงน้อยนิด

ภาพพจน์ที่ต้นทุนเดิมต่ำย่ำแย่อยู่ก่อนแล้วของมิลเดรด ก็ยิ่งดูเลวร้าย กลายเป็นนางมารระรานรังแกคนป่วยใกล้ตาย

วิลลัฟบีพยายามไกล่เกลี่ยสร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งการแวะไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับมิลเดรด, นำแฟ้มคดีกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง แต่ก็ปราศจากลู่ทางไร้เบาะแสให้ทำอะไรได้อีก, ห้ามปรามลูกน้องเลือดร้อนที่ฮึดฮัดจะตอบโต้มิลเดรดด้วยอารมณ์มุทะลุ รวมทั้งตามเก็บกวาดสะสางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่มิลเดรด (หรือคู่กรณีของเธอ) ก่อขึ้น

แต่แล้ววันหนึ่ง ความทุกข์ทรมานทางร่างกาย ก็ทำให้วิลลัฟบีตัดสินใจจบชีวิตตนเอง ด้วยเหตุผลและคำอธิบายที่ไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้วผ่านจดหมายถึงภรรยา

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ความตายของวิลลัฟบี ขยายแผลความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ คิดไปว่านายตำรวจฆ่าตัวตาย เพราะเจอแรงกดดันจากโฆษณาบนแผ่นป้าย

เรื่องราวถัดจากนี้ไปจนจบ เล่าแบบหลบเลี่ยงไม่เปิดเผยความลับสำคัญ มันสะท้อนถึงผลพวงของความโกรธเกลียดเคียดแค้น ซึ่งทำให้สองตัวละครหลักคือ มิลเดรดกับดิกซอน ต่างฝ่ายต่างกระทำความผิดพลาดเสียหาย และได้รับบทเรียนราคาแพง จนกระทั่งนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดอ่านผิดแผกไปจากเดิม มีการเติบโตภายในและเข้าใจชีวิตมากขึ้น

ความประทับใจแรกที่ผมมีต่อหนังเรื่องนี้ คือ พล็อตเข้มข้นชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ คาดเดาไม่ถูกว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในลำดับต่อๆ ไป มีจุดพลิกผันเหนือความคาดหมายอยู่เป็นระยะๆ, การเขียนบทสนทนาที่ดุเดือดคมคายและขบขัน, การผสมผสานระหว่างอารมณ์ตึงเครียดจริงจังกับอารมณ์ขันเจ็บแสบเย้ยหยัน รวมทั้งฉากดรามาดีๆ หลายครั้งหลายครา

รวมความแล้ว ถือเป็นหนังรางวี่รางวัลที่ดูง่ายดูสนุกเกินคาดไปเยอะเลยครับ

ถัดมา เป็นสองสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ ความลึกมีมิติหลากหลายของตัวละครและฝีมือการแสดง

อย่างแรกนั้นทำให้ผมดูหนัง โดยมีความรู้สึกต่อตัวละครแต่ละราย ผันผวนเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา ไม่ได้มีใครเป็นพระเอก นางเอก หรือผู้ร้ายแน่ชัดตายตัว ทุกคนล้วนมีด้านบวกลบคละเคล้าปนกัน มีพฤติกรรมการกระทำที่บางครั้งก็ชวนให้รู้สึกเอาใจช่วย บางครั้งก็ขัดแย้งไม่คล้อยตาม บางครั้งก็น่ารังเกียจ บางครั้งก็น่าสมเพชเวทนา บางครั้งก็น่าเห็นอกเห็นใจ บางครั้งก็ชวนให้ซาบซึ้งตื้นตันใจ

ความมีมิติและแลดูเป็นปุถุชน ทำให้ตัวละครเกิดความสมจริงน่าเชื่อถือมาก

อย่างหลังนั้น เป็นส่วนดีที่จับต้องสัมผัสได้จะแจ้งเด่นชัดของหนัง ไม่เฉพาะแค่ 3 นักแสดงในบทสำคัญอย่างฟรานเซส แม็คดอมานด์, แซม ร็อกเวล และวูดดี ฮาร์เรนสันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนอื่นๆ ในบทเล็กบทน้อยทั้งหมด ล้วนโชว์ฝีมือกันได้น่าประทับใจ เป็นการเล่นดีทั้งหมู่คณะ

พ้นจากโครงเรื่องและงานเขียนบทที่ดีเยี่ยม ความบันเทิง ความลึกของตัวละคร คุณภาพของการแสดง ตลอดจนงานสร้างที่ถึงพร้อม ทั้งการถ่ายภาพ ตัดต่อ กำกับศิลป์ ดนตรีประกอบ ฯลฯ แล้ว ความดีงามอย่างเอกอุ และเป็นสิ่งที่จับจิตจับใจผมมากสุดในหนังเรื่องนี้ก็คือ เนื้อหาสาระ

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri สะท้อนถึงสังคมในเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนรู้จักมักคุ้นกันทั่วถึง ท่ามกลางบรรยากาศห้อมล้อมที่ยังคงเห็นร่องรอยของการเหยียดผิว เหยียดเพศ (โดยเฉพาะเพศที่ 3) รวมถึงความคิดทัศนะที่เจือปนไปด้วยอคติแรงกล้า

หนังใช้สภาพสังคมเช่นนี้ เป็นที่เกิดเหตุ ‘ความขัดแย้ง’ หลากหลายประดามี ตั้งแต่ความสัมพันธ์ไม่สู้จะราบรื่นนักภายในครอบครัวของมิลเดรด ทั้งกับสามีที่เป็นอดีตตำรวจ ซึ่งเลิกรากันไปเพราะเหตุที่เขาชอบทำร้ายร่างกายภรรยา และไปมีคนรักใหม่เป็นสาววัยกระเตาะ ลูกสาวที่เสียชีวิตจากอาชญากรรมร้ายแรง (ซึ่งหนังเล่าไว้ไม่มาก แต่เห็นเค้าระหองระแหงระหว่างแม่ลูกเด่นชัด) หรือแม้แต่ร็อบบีผู้สนับสนุนเคียงข้างแม่ตลอดทุกคราว ก็ยังไม่วายเกิดปัญหากระทบกระทั่งอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กหนุ่มต้องพลอยฟ้าพลอยฝน รับผลเคราะห์จากการกระทำของแม่ จนโดนตั้งแง่จากเพื่อนๆ และไม่เป็นสุขกับการใช้ชีวิตในโรงเรียน

ในระดับกว้างขึ้นกว่านั้น หนังให้ภาพความขัดแย้งภายในชุมชน ทั้งปัญหาระหว่างคนขาวกับคนสีผิว มิลเดรดกับองค์กรทางศาสนา เด็กหนุ่มบริษัทโฆษณากับดิกซอน (ฝ่ายหนึ่งหยิบนำประเด็นเรื่องซ้อมผู้ต้องหามาเหน็บแนมส่อเสียด ส่วนอีกฝ่ายตอบโต้ด้วยการถากถางว่าคู่กรณีเป็นพวกรักร่วมเพศ) หรือแม้กระทั่งคนแคระผู้ไม่ได้บาดหมางกับใครโดยตรง แต่ตัวเขาเองก็โดนดูแคลนล้อเลียนจากคนทั้งเมือง จนมีสถานะต่ำต้อยอยู่ล่างสุด

แต่ความขัดแย้งที่หนักหน่วงรุนแรงสุด คือ ความเป็นอริระหว่างมิลเดรดกับตำรวจ มันเริ่มจากความสูญเสียโศกสาหัส ความไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา (คือ การจับตัวคนร้ายมาลงโทษ) ความสิ้นหวัง บ่มเพาะสั่งสมเป็นความโกรธเกรี้ยว จนนำไปสู่การทวงถามความยุติธรรมด้วยวิธีหักหาญน้ำใจไม่ไว้หน้าตำรวจ แล้วจากนั้นความไม่ลงรอยต่อกัน ก็บานปลายไปไกลเกินกว่าจะควบคุมได้

ความพยายามที่จะ ‘รื้อฟื้น’ คดีขึ้นมาอีกครั้งของมิลเดรด เป็นมูลเหตุนำไปสู่การปะทะเผชิญหน้ากับดิกซอน ซึ่งพยายาม ‘รื้อทำลาย’ ความเคลื่อนไหวของมิลเดรด (ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้คนที่เขาเคารพรักต้องจบชีวิตลง) ลุกลามกลายเป็นอารมณ์โกรธเกลียดชิงชังต่อกัน และบวกนำเอาทัศนคติ อคติ ความคิดความเชื่อที่ต่างฝ่ายต่างมีเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว มาสุมฟืนใส่ไฟโหมกระหน่ำ กระทั่งนำพาไปสู่การกระทำแบบขาดสติ

ดิกซอนทำร้ายร่างกายเรด วิลบีหนุ่มบริษัทโฆษณา จนอาการปางตาย ส่วนมิลเดรดก็เกือบๆ จะฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

ไม่เพียงเท่านั้น จุดเริ่มต้นของข้อความบน 3 แผ่นป้าย บวกกับพื้นฐานนิสัยใจคอความคิดความเชื่อดั้งเดิมดั้งเดิมของผู้คนชาวเมือง ยังนำไปสู่การปะทะหักหาญทั้งหนักและเบา อีกหลายคู่กรณี

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ความโดดเด่นของหนังในการเสนอภาพความขัดแย้งมากมาย นอกจากจะร้อยเรียงเรื่องราวปลีกย่อยขานรับกลมกลืนไปกับโครงเรื่องหลักแล้ว บทหนังยังแจกแจงเหตุผลแรงจูงใจของแต่ละตัวละครได้อย่างถี่ถ้วนกระจ่างแจ้ง จนยากจะตัดสินชี้วัดว่าใครถูกใครผิด ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมาย มีความปรารถนาบางอย่าง และทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าใช่ คิดว่าถูกต้อง เพื่อให้บรรลุผลนั้น

ที่ดีกว่านั้นคือ หลังจากที่หนังสะท้อนและผูกปมความขัดแย้งต่างๆ เอาไว้จนแน่นหนา ทางออกหรือบทคลี่คลายก็ชวนให้ซาบซึ้งตรึงใจอย่างยิ่ง

มี 3 สิ่งที่ผมคิดว่า เป็นจุดเปลี่ยนทางบวกให้แก่ตัวละคร อย่างแรกคือ จดหมายสั่งลาของวิลลัฟบีเขียนถึงมิลเดรดและดิกซอนคนละฉบับ ด้วยเนื้อหาใจความที่แตกต่างกัน

ต่อมาเป็นประโยคคำพูดเตือนสติที่กล่าวโดยเพเนโลปี หญิงสาวที่ไร้เดียงสา ไม่สู้จะฉลาดนัก และเป็นคนเดียวในหนังที่ดูปราศจากพิษสงเขี้ยวเล็บ เธอพูดใจความสำคัญหรือแก่นเรื่อง โดยจำมาจากข้อความในที่คั่นหนังสือ

อย่างสุดท้าย คือ ความเสียหายหรือผลลัพธ์อันเกิดจากการทำผิดพลาดของตัวละคร (ทั้งมิลเดรดและดิกซอน) ซึ่งร้ายแรงเกินกว่าที่ตั้งใจให้เป็น

ทั้ง 3 สิ่งนี้ นำพาผู้ชมไปพบกับการติดตามค้นหาความดีในใจมนุษย์ ความรัก การให้อภัย ความสำนึกผิด ตรงนี้ผมคิดว่า ด้วยการสร้างตัวละครออกมาได้อย่างมีเลือดเนื้อเป็นปุถุชน เมื่อถึงคราวที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ชมจึงคล้อยตามได้ไม่ยาก เป็นไปโดยแนบเนียนน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ชมคล้อยตามได้สนิทใจ ไม่มีท่าทีเป็น ‘นิทานสอนใจให้คติธรรม’ แบบจงใจยัดเยียด จนขาดไร้ซึ่งความเป็นศิลปะ

มีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ การทำตราประจำตัวตำรวจหายของดิกซอน ซึ่งเมื่อตัวละครหามันจนพบในตอนท้าย วาระนั้นเองเพิ่งเป็นครั้งแรกที่เขาผ่านพ้นการกระทำตนมีคุณสมบัติของความเป็นตำรวจที่ดีอย่างแท้จริง

จะเป็นเจตนาของคนทำหนังหรือไม่ก็ตาม รายละเอียดนี้ก็ชวนให้คิดได้ว่า มันเป็นการเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ที่มาถูกจังหวะ และกลมกลืนสอดคล้องไปกับหนัง

ในบรรดาหนังทั้งหมดที่เข้าชิงออสการ์ครั้งล่าสุด ถ้าวัดกันเฉพาะประเด็นเนื้อหา ผมชอบ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri มากสุดครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save