fbpx

3 ปี พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังรัฐประหารพม่า กับ ศิรดา เขมานิฏฐาไท

1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพพม่า นำโดยพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ปิดฉากประชาธิปไตยที่กำลังเปลี่ยนผ่านและพาพม่ากลับเข้าสู่เงามืดของเผด็จการอีกครั้ง ในวันที่ประเทศดูคล้ายจะเดินถอยหลัง ประชาชนจำนวนมากที่ไม่อาจยอมรับการยึดอำนาจจึงลุกขึ้นมาต่อต้าน บ้างแสดงออกอย่างอารยะขัดขืน บ้างลุกขึ้นมาจับอาวุธจนลุกลามเป็นความขัดแย้งต่อกองทัพพม่าขนานใหญ่ที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดยมีสิทธิเสรีภาพเป็นเดิมพัน

สงคราม ความรุนแรง บาดแผลและการเข่นฆ่าอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นในแทบทุกหย่อมหญ้า มีผู้เสียชีวิต หลายคนต้องพลัดถิ่น และแม้ว่ากองทัพยังคงครองอำนาจนำจนถึงปัจจุบัน แต่การโจมตี-ยึดฐานที่มั่นกองทัพพม่าครั้งใหญ่โดยกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ที่เปิดฉากเมื่อ 27 ตุลาคม 2023 ในชื่อ ‘ปฏิบัติการ 1027’ ก็สั่นสะเทือนต่อกองทัพพม่าหนักที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2021 สะท้อนถึงการโต้กลับของกลุ่มต่อต้านที่ยังลุกขึ้นสู้และไม่มีทีท่าจะยอมแพ้

ในโอกาสครบรอบสามปีของการรัฐประหาร 101 สนทนากับศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงพลวัตทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดสามปีที่ผ่านมา ฉากทัศน์ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมียนมาร์ที่ส่งผลต่อประเทศไทย

พลวัต 3 ปีหลังรัฐประหาร

ศิรดาเกริ่นว่าพลวัตในพม่าตลอดสามปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายด้าน ได้แก่

พลวัตทางการเมือง ฝ่ายต่อต้านมีพัฒนาการความคิดทางการเมือง มองหาประชาธิปไตยที่แท้จริง แสวงหาการสร้างชาติแบบใหม่ และแนวคิดการสร้างสหพันธรัฐถูกทำให้เป็นกระแสหลักมากขึ้น จากเดิมที่อยู่แค่ในกลุ่มชาติพันธุ์ก็เข้ามายังฝ่ายที่ต้องการสนับสนุนประชาธิปไตยในกลุ่มคนบะหม่า

ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่า หรือสถาปนาในนามสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) ก็ต้องการที่จะจัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมอยู่สองประเด็น ได้แก่ ความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมในการดำเนินสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ แต่ปัจจุบันยังล้มเหลว และยิ่งขาดความชอบธรรมจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน ไม่นับการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกหกเดือน เมื่อวันที่ 31 มกราคม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ

พลวัตทางการทหาร กองทัพพม่ายังคงครองพื้นที่ตัวเมืองและในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ดีมีพื้นที่แค่ 1 ใน 3 ที่อยู่ภายใต้ความสงบภายใต้การควบคุมของกองทัพ ขณะที่พื้นที่ 2 ใน 3 เป็นพื้นที่ปะทะระหว่างฝ่ายต่อต้านที่ติดอาวุธและกองทัพพม่า ยุทธศาสตร์ทางการทหารของฝ่ายต่อต้านจึงพยายามที่จะยึดเมืองให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและลดทอนกำลังของกองทัพทหารพม่า ซึ่งปฏิบัติการ 1027 ก็เป็นตัวจุดประกายความหวังให้กับฝ่ายต่อต้าน

ขณะที่สมรรถนะกองทัพพม่าตลอดสามปีที่ผ่านมา แม้จะมีอาวุธทางการทหารที่ครบมือมากที่สุด แต่กลับมีขนาดลดลง เมื่อเทียบกับในอดีต จากข้อท้าทายที่ทหารบางส่วนหลบหนี ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาการส่งเสบียงที่ต้องลำเลียงผ่านในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง หรือพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายต่อต้าน

พลวัตในฝ่ายต่อต้าน ตัวแสดงของฝ่ายต่อต้านมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) สภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Consultative Council – NUCC) ขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) ฯลฯ รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ยังมีข้อท้าทายเรื่องเอกภาพ เนื่องจากพม่ามีปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ฝังลึกอย่างยาวนานทำให้เกิดการต่อสู้ในหลายระดับชั้น

ปฏิบัติการ 1027 สร้างแรงกระเพื่อมต่อกองทัพพม่า

ปฏิบัติการ 1027 ภายใต้การนำของ Brotherhood Alliance โจมตีและยึดครองหัวเมืองในตอนเหนือของรัฐฉาน และฝั่งตะวันตกของประเทศได้ หลายข่าวกระพือว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทำให้กองทัพพม่าใกล้ถึงวันล่มสลาย ศิรดาให้ความเห็นว่าปฏิบัติการ 1027 ทำให้กองทัพพม่าอ่อนแอลง แต่พื้นที่ที่ Brotherhood Alliance ยึดครองเป็นพื้นที่อยู่นอกเมืองและไม่ใช่เมืองใหญ่นัก และยังมีข้อท้าทายอีกมากสำหรับฝ่ายต่อต้าน

“โดยส่วนตัวพูดได้ว่า (กองทัพพม่า) อ่อนแอลง เป็นที่ชัดเจนว่าพื้นที่ที่ Brotherhood Alliance ยึดครองเป็นพื้นที่ที่กองทัพพม่าเคยยึดได้อยู่ เวลาเราเข้าใจในการยึดครองดินแดนในพม่า มันไม่ใช่ว่าเมืองทั้งเมืองนะคะ มันเป็นจุดที่มีกองกำลัง กองบัญชาการ หรือเขตเมืองที่เป็นเขตเมืองจริงๆ ส่วนมากนอกเมืองก็จะเป็นฝ่ายต่อต้านที่ควบคุมพื้นที่อยู่ ส่วนในเขตเมืองเดิม ไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนๆ ก็จะเป็นกองทัพพม่า อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ว่าข่าวที่ออกมาก็ทำให้เห็นความอ่อนแอลงจริงๆ ” ศิรดากล่าว และเสริมว่าอย่างไรก็ดีกองทัพพม่าไม่ได้ล่มสลายโดยง่าย ณ ตอนนี้ เนื่องจากกองทัพพม่ายังคงมีทรัพยากรทางการทหารมากที่สุด โดยเฉพาะเครื่องบินรบที่สร้างความแตกต่างในการทำสงคราม นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นรายได้ เพื่อสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงกองทัพพม่าอาจจะอยู่ในช่วงรอระยะ เพราะทัศนคติของกองทัพพม่าน่าจะมั่นใจตั้งแต่แรกว่าสามารถชนะได้จึงตัดสินใจทำรัฐประหารอย่างไม่คาดคิด ทั้งที่ทหารพม่าออกแบบทางการเมืองและเข้าไปอยู่ในระบบการเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้ต้องติดตามอีกยาวว่า Brotherhood Alliance จะสามารถยึดเมืองที่ใหญ่มากขึ้น และสร้างแรงสั่นสะเทือนจนกองทัพพม่าล่มสลายได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ศิรดาสะท้อนว่าการที่ยืดเยื้อมาร่วมสามปีเช่นนี้ก็สะท้อนแรงต่อต้านอันมหาศาล ทั้งที่กองทัพพม่ามีสรรพอาวุธที่พลั่งพร้อมมากกว่าในการรบ

“พอต้องต่อภาวะฉุกเฉินก็เป็นการบ่งบอกเหมือนกันว่ากองทัพพม่า รัฐบาลทหารพม่า ‘ไม่ชนะ’ แต่ถามว่าแพ้ไหม ดูไปอีก เพราะว่าแพ้แล้วใครจะชนะ เพราะตัวแสดงที่เป็นฝ่ายต่อต้านเองก็มีจำนวนมาก แต่ตอนนี้ก็คือสามารถบอกได้ว่าเป็นลักษณะของการที่ยังไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ แล้วถ้ามองในแง่ดีสำหรับฝ่ายต่อต้าน เขาอาจจะมองได้ว่านี่คือความหวัง เป็นจุดที่บ่งบอกได้เหมือนกันเรื่องความอ่อนแอ (ของกองทัพพม่า) หรือการไม่สามารถที่จะยึดครองพื้นที่จำนวนมากได้” ศิรดากล่าว

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฝ่ายต่อต้าน

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าฝ่ายต่อต้านมีข้อท้าทายในเรื่องของเอกภาพ และยังไม่มีกลุ่มไหนสามารถสร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้นำระดับประเทศได้ แม้ทุกกลุ่มมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในการสร้างประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการทหาร และมีเป้าหมายเชิงอุดมคติเรื่องสหพันธรัฐ แต่ยังแตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอยากแท้จริงในพม่าจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเจรจาระหว่างฝ่ายผู้ต่อต้าน

ฝ่ายต่อต้านในพม่ามีหลากหลายและไม่สามารถเอ่ยถึงได้หมด บทบาทของผู้ต่อต้าน มีทั้ง NUG ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรค National League for Democracy (NLD) นำโดยนางอองซานซูจี ที่ผ่านมา NUG พยายามจะเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมในระดับประเทศ แสดงบทบาททางการทูต ทำให้ประชาคมต่างชาติหลายๆ แห่งรับรอง NUG เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในการสนับสนุนประชาธิปไตย แม้ว่า NUG จะเผชิญข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพ หลังสมาชิก NUG ต้องลี้ภัย และเคยถูกข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เข้าใจการเมืองชาติพันธุ์ แต่หลังรัฐประหารก็มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดี ถือเป็นกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมในระยะยาว

ฝ่ายต่อต้านยังมีกองกำลังประชาชน (People’s Defense Force: PDF) กองกำลังติดอาวุธใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่แล้วตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช PDF ก่อตั้งในพื้นที่ที่เป็นเขตพม่า เดิมทีอาจจะเคยกระทั่งสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าหรือการสังหารโรฮิงญา แต่ปัจจุบันจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพพม่า

“ในมุมมองของ PDF เขาสู้ เรียกร้อง ประท้วงอย่างสงบ ทำทุกอย่างไม่เกิดผลงั้นก็จับอาวุธละกัน เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะโดยส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนความรุนแรงอยู่ แต่ว่าเข้าใจในบริบทว่าที่จะต่อสู้อะไรบางอย่าง และเขารู้สึกว่าไม่สู้ก็ตาย สู้ก็ตาย งั้นสู้ดีกว่า” ศิรดาสะท้อนและเสริมว่า PDF กระจายอยู่ในหลายหลายพื้นที่ มีจำนวนหลายร้อยกลุ่ม บางกลุ่มอยู่ภายใต้ NUG บางกลุ่มได้รับการฝึกฝนกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์

อีกฝ่ายต่อต้านที่มักถูกพูดถึง คือขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) ที่เกิดขึ้นทันทีตั้งแต่หลังรัฐประหาร ขบวนการที่มาจากการลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารและแสดงออกทางการเมืองของสายอาชีพ อย่างแพทย์ พยาบาล ครู อาจารย์ และวิศวกร ส่วนใหญ่เป็นประชาชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นส่งเสียง มีเพียงบางส่วนที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และเมื่อมีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนัก ทำให้พวกเขาต้องลี้ภัยและทำงานการเมืองข้ามชาติภายหลัง

ขณะที่ภาคประชาสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ทำงานหนักกันมาก ทั้งในเรื่องการเมือง ผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสหพันธรัฐ รวมถึงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศด้วย

สั่นคลอนเอกภาพกองทัพตัตมาดอว์ ความหวังบ่อนทำลายจากภายใน

ศิรดายอมรับว่าอาจจะไม่ได้เข้าใจหรือรู้ข้อมูลลึกภายในกองทัพพม่าเท่าใดนัก แม้จะสนับสนุนการต่อสู้ของภาคประชาชน แต่ถ้ามองสัจนิยมยังต้องใช้ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง ผู้คนเลยคาดหวังความแตกแยกในกองทัพ ผู้มีอำนาจในกองทัพคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ โดยเฉพาะกลุ่มพลังสายพิราบที่เคยทำงานเรื่องเปลี่ยนผ่านพม่าเป็นประชาธิปไตยในช่วงสิบปีก่อนหน้าที่จะเข้ามาเจรจา ประนีประนอมและนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าจะนำไปสู่การล้มมิน อ่อง หล่ายหรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป แต่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งทางออกที่ผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านอยากเห็น เพียงแต่ว่าเมื่อใช้ชนนั้นนำหรือผู้มีอำนาจในกองทัพหาทางออกให้ประเทศ อาจจะทำให้ปัญหาอื่นๆ ที่สะสมมานาน เช่น ปัญหาชาติพันธุ์ ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ไม่ถูกแก้ไข เพราะกองทัพยังมีทัศนคติในการเป็นผู้ปกปักษ์รักษาชาติ ปกปักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และเอกภาพของชาติ รวมถึงไม่ยอมให้มีการกระจายอำนาจหรือการสร้างสหพันธรัฐ

“เรามองว่ามิน อ่อง หล่ายหมดเวลาแล้ว หมดความชอบธรรมทางการเมือง ทางกฎหมาย ทางมนุษยธรรม แต่ถ้าคุณจะพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ทางการทหาร การสถาปนาอำนาจทางการเมือง ก็คิดว่ายืดเยื้อต่อไป” ศิรดากล่าวการหมดเวลาครองอำนาจของคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ มิน อ่อง หล่าย

สามฉากทัศน์ฝ่าวิกฤตการเมืองพม่า

เมื่อมองถึงอนาคตสามฉากทัศน์ที่ศิรดาคาดว่าอาจจะขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 1 การจับมือกันระหว่างกองทัพพม่าและฝ่ายต่อต้าน ทำกระบวนการสันติภาพ และไปสู่การเลือกตั้ง เป็นแนวทางที่ชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศอยากจะเห็น แต่มีข้อท้าทายจากพฤติกรรมการปราบปรามและเข่นฆ่าของ SAC ตลอดสามปีที่ผ่านมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถคุยบนโต๊ะเจรจาได้อีกต่อไป หรือกระทั่งหากมีการพูดคุย SAC จะรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่อยู่ใต้พรมจะถูกสะสาง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำหรือไม่ เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะซ่อนอยู่ในการผลักดันฉากทัศน์นี้ให้เกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 2 ความขัดแย้งยืดเยื้อต่อเนื่อง ฝ่ายต่อต้านพยายามบ่อนทำลายกองทัพตัดมาดอร์ให้มากที่สุด และพยายามสร้างอุดมคติสหพันธรัฐให้เกิดขึ้นจริง โดยฝ่ายต่อต้านหวังให้เกิดฉากทัศน์นี้ อาจจะเกิดกระบวนการเจรจากลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ที่ยึดครองพื้นที่ตั้งแต่ได้รับเอกราชและสร้างรูปแบบการบริหารพื้นที่ในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กองทัพเองก็ไม่สามารถสถาปนาอำนาจได้ ซึ่งศิรดามองว่าเป็นฉากทัศน์ในอุดมคติกว่าฉากทัศน์แรก และน่าสนใจในการสร้างสหพันธรัฐจากฐานรากให้เกิดขึ้นมา หากไม่สามารถสร้างสหพันธรัฐจากชนชั้นนำ 

ฉากทัศน์ที่ 3 กองทัพพม่าปราบปรามฝ่ายต่อต้านได้หมด นำไปสู่การรวบอำนาจและการควบคุม ซึ่งเป็นแนวทางที่กองทัพตัดมาดอร์พยายามทำให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่ศิรดามองว่ามีความท้าทายและอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศยังเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งติดอาวุธ และประชาชนที่เคยศรัทธาตาสว่างและมีความเข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริงมากขึ้น

วิกฤตการเมืองพม่ากระทบชายแดนไทย

ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในพม่า หลังรัฐประหารทำให้เกิดภาวะไร้ขื่อไร้แปร หลายพื้นที่เกิดความรุนแรงระดับสังคม เกิดปัญหาทับซ้อนปัญหาที่ฝังรากลึกและถูกซุกอยู่ใต้พรม สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ความขัดแย้งของพม่าที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซต่อบริเวณชายแดนประเทศไทยสามประการ นั่นคือ

ประการแรก การอพยพย้ายถิ่นฐาน ประชาชนพม่าหนีตายและถูกผลักดันเข้ามาในประเทศไทยแบบที่ไม่สามารถนับจำนวนได้ จากเดิมที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการเศรษฐกิจ ตัวเลขประมาณการณ์ 4-6 ล้านคน ก็เริ่มมีกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งแบ่งเป็น กลุ่มผู้หนีภัยสงครามที่ประเทศไทยจะต้องรับเป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัยพักพิงชั่วคราว ให้ความช่วยเหลือตามมนุษยธรรม กลุ่มผู้ลี้ภัยที่เข้ามาแล้วต้องการที่จะมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย เนื่องจากมีญาติอยู่ในฝั่งไทยและกลืนเป็นแรงงานข้ามชาติ และกลุ่ม CDM อดีตชนชั้นกลางที่แสดงอารยะขัดขืนที่ประมาณการณ์ว่ามีหลักหมื่นคน

ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้อพยพหลายคนหลบซ่อนในประเทศไทย หรืออาศัยด้วยวีซ่าผิดประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาในการรับมือกับผู้อพยพจากวิกฤตการทางการเมืองจากการขาดข้อมูล ศิรดาให้ความเห็นว่ารัฐไทยไม่ต้องกลัวว่านโยบายรับผู้ลี้ภัยจะดึงคนให้อพยพเข้ามาเพิ่มกว่าเดิม และกระทบกับความมั่นคง เพราะสถานการณ์ในพม่าผลักให้เขาเข้ามายังเมืองไทยอยู่ดี หรือหากเกรงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับรัฐต่อรัฐ เนื่องจากประเทศไทยนับ SAC เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมในทางปฏิบัติ ประเทศไทยก็สามารถออกแบบนโยบายทางด้านสังคมและเศรษฐกิจแทน ดึงศักยภาพของกลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ที่เคยเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของพม่าสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย โดยสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์

ประการที่ 2 ภาพลักษณ์ประเทศไทยในเชิงการทูต ในอดีตประเทศไทยเคยถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำภูมิภาค อาเซียน กระทั่งที่ว่าเคยมีนโยบายที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กรณีพม่าได้ แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีบทบาทอย่างนั้นแล้ว โจทย์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยคือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยยกระดับและมีบทบาทในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

ประการที่ 3 ปัญหาบริเวณชายแดนอื่นๆ ที่เป็นผลพวงจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองพม่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสาธารณสุข การศึกษา อาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ ศิรดาเอ่ยถึงความมั่นคงทางสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ในพม่า บริการสาธารณสุขในบริเวณชายแดนต้องรับศึกหนัก ทั้งการรับมือโรคระบาด-19 หรือโรคมาลาเรียบริเวณชายแดนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างการค้ามนุษย์ นักต้มตุ๋น (Scammer) ที่ระบาดไปทั่วทุกพื้นที่ ปัญหาฝุ่นควันรวมถึงปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร ซึ่งประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่ในการรับมือและป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

รัฐบาลใหม่เพื่อไทย ไม่แทรกแซงการเมือง-เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าระหว่างบรรทัดรัฐบาลไทยมีบทบาทในการจัดการที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากความพยายามปรองดองกับรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือนโยบายทางด้านผู้ลี้ภัย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นอะไรขึ้น

ศิรดากล่าวว่าค่อนข้างชัดว่ารัฐบาลเพื่อไทยที่จับมือกับอดีตรัฐบาลประยุทธ์ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทูต หรือการเมืองระหว่างประเทศในระดับทางการ เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเคยกล่าวว่าจะไม่มีการแทรกแซงการเมืองภายใน และคิดว่า ณ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยเองอยากวางบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ เพื่อจบวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มีข้อท้าทายอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

อย่างไรก็ดี ศิรดาชี้ข้อกังวลเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้พูดถึงประเด็นการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในระดับ UN เรื่องของระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ซึ่งเป็นคำที่มีปัญหาสำหรับฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากกลัวว่าการเชื่อมกันรัฐต่อรัฐจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองบริเวณชายแดน

“วิกฤตทางมนุษยธรรมที่มาจากผู้ลี้ภัยมาจากความมั่นคงชายแดนที่มันเปลี่ยนแปลงไปหลังรัฐประหาร พอวิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้น ชายแดนบริเวณฝั่งพม่าก็มีปัญหาทุกอย่าง สาธารณสุข การศึกษา ปัญหาอาชญากรรม ทุกอย่างมันกระทบไทย เราจะทำอย่างไรที่จะให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และมีข้อท้าทายคือเราควรจะทำกับตัวแสดงที่สามารถจะให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้อย่างแท้จริง อันนี้เป็นโจทย์ที่ทางการไทยจะต้องตระหนักเช่นเดียวกัน บางทีทำในระดับทางการจะนึกถึงแค่รัฐต่อรัฐ ซึ่งหมายถึงต้องดีลกับ SAC แต่ว่าคนในพื้นที่เขาก็จะไม่เห็นด้วยทางการเมือง และมีผลกระทบทางการเมืองกลายเป็นว่าพื้นที่บริเวณชายแดนที่เดิมเป็นพื้นที่ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ หรือฝ่ายต่อต้านถูกแทรกแซงในการดึงทางการเข้ามา” ศิรดากล่าวถึงข้อท้าทายที่มีหลายมิติที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจความซับซ้อนทางการเมืองในพม่า

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านการทูตเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) พูดถึงการค้าชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดียังไม่เห็นนโยบายหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับพม่าอย่างชัดเจนนัก หากทำจริงอาจจะมองได้สองมุม ทั้งมุมที่กระตุ้นเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง เอื้อทรัพยากรมนุษย์ที่เข้ามาสร้างโอกาสทางการเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาแรงงานในประเทศ หรืออีกมุมคือการค้ำจุนผลประโยชน์ของชนชั้นนำทางการเมืองของพม่า ซึ่งเป็นผลเสียต่อฝ่ายต่อต้าน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save