ในการเลือกตั้งระดับชาติ 2566 พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายหลากหลาย ทุกพรรคต่างจูงใจและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
แต่ละพรรคก็มีนโยบายเด่นที่เป็นจุดขายเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากอุดมการณ์ ฐานคิด และวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บ้างก็แยกประเด็นเศรษฐกิจออกจากการเมือง บ้างก็มองว่าเป็นเนื้อเดียวกัน บ้างก็พยายามจัดการปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ และบ้างก็พยายามวางฐานสู่การปรับปรุงในภาพใหญ่
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ 101 PUB ขอร่วมหยิบ 2 นโยบายเด่นของ 6 พรรคการเมืองใหญ่มาประเมิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ เหมาะสมบริบทประเทศไทยมากเพียงใด และวิธีการที่ใช้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากนโยบาย บนฐานคิดทางวิชาการ
พรรคพลังประชารัฐ
‘ลดราคาน้ำมัน’ รัฐต้องเสียงบประมาณเดือนละ 3 หมื่นล้านบาท แต่ครัวเรือนยิ่งรวยยิ่งได้ประโยชน์
นโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่มีการพูดถึงในเวทีดีเบตต่างๆ คือการประกาศลดราคาน้ำมัน ทั้งเบนซินและดีเซล เป็นเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยจะลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 18 บาท และลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 6.3 บาท ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีบำรุงท้องถิ่น และการหักเงินส่งกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
มาตรการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2565 ใช้งบประมาณ (ซึ่งรวมถึงการสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐ) มากถึง 764 ล้านบาทต่อวัน หรือ 23,252 ล้านบาทต่อเดือน[1] โดยคำนวณจากอัตราการใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยของประเทศในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 47.6 ล้านลิตรต่อวัน[2]
แต่ตัวเลขเงินอุดหนุนนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหากดำเนินนโยบายอุดหนุนที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม ลดราคามากกว่าเดิม และมีการใช้งานมากกว่าเดิม เพราะในปี 2565 อัตราการใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นปริมาณเฉลี่ย 30.2 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีปริมาณการใช้งานสูงขึ้นถึง 15.7% หรือเฉลี่ย 73.1 ล้านลิตรต่อวัน[3]
หากคำนวณเงินอุดหนุนที่จะต้องใช้ โดยอิงจากข้อเสนอของพลังประชารัฐที่ตั้งเป้าลดราคาน้ำมันเบนซินลง 18 บาทต่อลิตร และลดราคาน้ำมันดีเซลลง 6.3 บาทต่อลิตร และอัตราการใช้น้ำมันเฉลี่ยในปี 2565 พบว่า จะต้องใช้เงินอุดหนุนมากถึง 1,011 ล้านบาทต่อวัน หรือ 30,763 ล้านบาทต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าวมีขนาดใหญ่ถึง 12% ของงบประมาณประจำปี แต่พรรคพลังประชารัฐกลับอ้างว่านโยบายนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐในการดำเนินนโยบาย
การลดอัตราการเก็บภาษีและจำนวนเงินที่เก็บเข้ากองทุนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรัดกุม เนื่องจากปัจจุบันเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังอยู่ในสถานะติดลบ 79,327 ล้านบาท รวมถึงรายได้ของรัฐที่จะหายไปยังกระทบกับการใช้จ่ายภาครัฐในส่วนอื่น หรือกระทั่งกระทบต่อประสิทธิภาพทางการคลังและโอกาสในการกู้ยืมในอนาคตที่จะลดน้อยลง
ประเภทน้ำมัน | ปริมาณการใช้ต่อวัน (ล้านลิตร) | ปริมาณการใช้ต่อเดือน (ล้านลิตร) | ภาระงบประมาณต่อวัน (ล้านบาท) | ภาระงบประมาณต่อเดือน (ล้านบาท) |
เบนซิน | 30.2 | 918.6 | 545.7 | 16,599.1 |
ดีเซล | 73.1 | 2,223.5 | 465.6 | 14,163.7 |
รวม | 1,011.3 | 30,762.8 |
โดยทั่วไป มาตรการอุ้มราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล มักจะมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของภาคขนส่งและลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยมักอ้างถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก อย่างไรก็ดี แนวทางการลดราคาน้ำมันทั้งหน้ากระดานกลับทำให้ครัวเรือนร่ำรวยได้รับประโยชน์มากที่สุด
จากข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย สัดส่วนผู้ใช้น้ำมันเบนซินค่อนข้างคงที่อยู่ที่ราวร้อยะ 80-85% ในทุกกลุ่มรายได้ แต่สัดส่วนผู้ใช้งานน้ำมันดีเซลมักเพิ่มขึ้นตามรายได้ต่อหัวของครัวเรือน โดยในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% มีสัดส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 20% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้มากที่สุด 20% มีสัดส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 30%
ในด้านค่าใช้จ่ายพบว่า ครัวเรือนรายได้สูงจ่ายค่าน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 1,300-2,100 บาท/เดือน ขณะที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายราว 490-515 บาท/เดือนเท่านั้น สำหรับน้ำมันดีเซล ครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 600-800 บาทต่อเดือน แต่ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลเพียง 220-270 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ดังนั้น ครัวเรือนรายได้น้อยมีการใช้น้ำมันน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูงถึงราว 3-4 เท่า

ด้วยโครงสร้างการใช้พลังงานเช่นนี้ การใช้งบประมาณเพื่อลดราคาน้ำมันจึงเป็นนโยบายถดถอย (regressive) กล่าวคือ ยิ่งรวยยิ่งได้รับประโยชน์ การใช้เงินอุดหนุนค่าน้ำมันทุกๆ 100 บาท จะลงไปที่ครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% เพียง 11 บาท แต่จะไปลงกับครัวเรือนรายได้สูงสุด 20% ถึง 36 บาท
เนื่องจากการดำเนินนโยบายย่อมกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณส่วนอื่น จึงมีค่าเสียโอกาสในการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะก้าวหน้า ที่ทำให้คนยากจนได้ประโยชน์มากกว่าคนรวย ดังเช่นนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นโยบายเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสร้างสินค้าสาธารณะของรัฐ ดังนั้น การจูงใจประชาชนด้วยนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันจะไม่ตอบโจทย์การใช้งบประมาณภาครัฐ
‘ปฏิรูปที่ดิน คืนสิทธิให้ประชาชน’ นโยบายเก่า แต่ก็ยังไม่ชัดเจน
หนึ่งในนโยบายเด่นที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดิน โดยเฉพาะการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาข้อพิพาทในที่ดิน ซึ่งหลายพรรคการเมืองมองเห็นปัญหานี้ตรงกัน แต่นโยบายปฏิรูปที่ดินของพลังประชารัฐก็ยังค่อนข้างคลุมเครือว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนอย่างการถือครองที่ดินได้จริงหรือไม่
พลังประชารัฐเสนอนโยบายแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราชพัสดุ และที่ดิน ส.ป.ก. ผ่านการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน พิสูจน์สิทธิและเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน ซึ่งนับว่าไม่ใช่นโยบายใหม่ เพราะได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 โดยมีคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ซึ่งพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็นั่งตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการฯ มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากผลงานที่ผ่านมาพบว่า คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติยังไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คณะกรรมการที่ดินฯ ตั้งเป้าออกหนังสืออนุญาตครอบครองและใช้ที่ดินอย่างถูกต้องจำนวน 1.589 ล้านไร่ แต่ในเวลา 6 ปี (ปี 2558-2564) ดำเนินการสำเร็จไปเพียง 687,000 ไร่ หรือยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากนับเป็นจำนวนคน มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือในระยะเวลานี้เพียง 60,000 รายจากทั้งหมด 1.1 ล้านรายที่ประสบปัญหาที่ดินทับซ้อนกับรัฐและขาดแคลนที่ดินทำกิน[4]
หากพรรคพลังประชารัฐที่เคยมีผลงานในคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติยังคงดำเนินการจัดสรรที่ดินและพิสูจน์สิทธิด้วยประสิทธิภาพในการทำงานเช่นนี้ กระบวนการคืนสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี
นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐก็นำเสนอนโยบายเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์ให้กลายเป็นโฉนดด้วย ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายคล้ายคลึงกัน ที่จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะเอกสารสิทธิ์ อาทิ ส.ป.ก. เป็นเหมือน ‘เอกสารสิทธิ์ชั้นสอง’ ที่สร้างข้อจำกัดหลายประการให้กับเกษตรกร ทั้งไม่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ทำกินไปทำการเกษตรประเภทอื่นได้ ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาทตามกฎหมาย) ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ส่งผลให้สิทธิในการถือครองที่ดินของเกษตรกรไทยอยู่บนความไม่แน่นอน
ทว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ทราบว่าจะออกแบบกระบวนการเปลี่ยนโฉนดอย่างไรให้รัดกุมและรับประกันได้ว่าสิทธิในการถือครองที่ดินจะตกอยู่ที่เกษตรกรยากจนที่ประสบปัญหาในการถือครองที่ดินจริงๆ
หากจะเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดได้จริง จำเป็นต้องพิจารณาถึงเกณฑ์และเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีที่ที่ดิน ส.ป.ก. ถูกเปลี่ยนมืออย่างผิดกฎหมายมาก่อน คือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันเป็นคนละคนกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์ กรณีนี้ พรรคยังมีการบ้านหลายเรื่องที่ต้องคิดให้จบว่าจะเอาอย่างไร เช่น จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิในการเปลี่ยนโฉนดต้องยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเองในระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ หรือจะกำหนดเกณฑ์พิจารณาทรัพย์สินของผู้มีสิทธิเปลี่ยนโฉนดหรือไม่ อย่างไร รวมถึงว่าจะกำหนดเงื่อนไขให้โฉนดที่ดินที่ถูกเปลี่ยนมาแล้วสามารถซื้อขายได้ภายในระยะเวลากี่ปี เพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนโฉนดที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุนหรือเกษตรกรร่ำรวย
พรรครวมไทยสร้างชาติ
‘บัตรสวัสดิการพลัส’ ยกระดับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องดี แต่ต้องแก้ปัญหารั่วไหล+ไม่เข้าเป้าให้ได้
พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบาย ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ ซึ่งจะเพิ่มวงเงินใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิม 200-300 บาท/คน/เดือน เป็น 1,000 บาท/คน/เดือน พร้อมให้สิทธิวงเงินฉุกเฉินอีก 10,000 บาท/คน[5] ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็เสนอนโยบายคล้ายคลึงกัน โดยเพิ่มวงเงินใช้จ่ายเป็น 700 บาท/เดือน และให้ประกันชีวิต 200,000 บาท/คน[6]
ความตั้งใจในการเพิ่มวงเงินโดยมุ่งเป้าให้กลุ่มผู้ยากจนเป็นเรื่องที่ดี ถ้าทำได้จะเป็นการใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพราะสามารถช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมลงได้ และจะยังช่วยยกระดับรายได้ให้พวกเขาอย่างได้น้ำได้เนื้อ ให้สามารถตั้งตัวและหลุดจากกับดักความยากจนได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนจนอยู่ประมาณ 4.4 ล้านคนเท่านั้น (5.8 ล้านคน หากหักยอดเงินโอนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐถูกแจกจ่ายออกไปจริงมากถึง 14.6 ล้านใบและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
หากบัตรจำนวนมากนี้สามารถโอบอุ้มครอบคลุมกลุ่มผู้ยากจนทั้งหมดของสังคมได้ ก็ยังถือว่านโยบายมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้ยากจน แต่การคัดกรองในโครงการนี้ยังมีปัญหา ‘การรั่วไหลและไม่เข้าเป้า’ สูงมาก
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 101 PUB พบการรั่วไหลไปสู่ผู้ไม่เข้าข่ายราว 20% ของบัตรที่แจกจ่ายออกไป และมีผู้เข้าข่าย 57% ที่ยังไม่ได้รับบัตร
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาด้วยเกณฑ์ความยากจน จะพบว่า 78% ของผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่ผู้ยากจน และ 46% ของผู้ยากจนยังไม่ได้รับบัตร ซึ่งผู้ที่ยากจนที่สุดมักจะเป็นผู้ไม่สามารถเข้าถึงได้จริง เนื่องจากต้องจัดทำเอกสาร เดินทางไปยื่นใบสมัคร และเข้ารับการคัดกรอง

ภายใต้โครงสร้างการให้บัตรสวัสดิการแบบเดิมที่ยังมีการรั่วไหลและไม่เข้าเป้าเช่นนี้ จะทำให้การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคนกลุ่มเฉพาะดังที่เคยวาดหวังไว้ การเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายเป็น 700-1,000 บาท/เดือน ทำให้งบประมาณภาครัฐจากระดับ 40,000-50,000 ล้านบาท/ปี เป็น 130,000-180,000 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ข้อสังเกตหนึ่งคือเอกสารนโยบายที่รายงานต่อ กกต. พรรครวมไทยสร้างชาติรายงานตัวเลขเพียง 71,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งผิดไปมากกว่า 2 เท่า (ขณะที่เอกสารของพรรคพลังประชารัฐคำนวณภาระงบประมาณไว้ถูกต้อง)
หากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีตำแหน่งแห่งที่ในระบบสวัสดิการของไทย จะต้องมีการคัดกรองมุ่งเป้าสู่กลุ่มผู้ยากจนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังควรใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการทำงานของราชการ ในการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่กระจัดกระจาย เพื่อค้นหา คัดกรอง และติดตามให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการคัดผู้ที่มีรายได้เกินเกณฑ์ออกให้ได้อย่างแม่นยำที่สุด (คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มของ 101 PUB)
‘คนละครึ่ง ภาค 2’ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาผิดจังหวะ
พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอจะทำนโยบาย ‘คนละครึ่งภาค 2’ ต่อเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเสริมกำลังซื้อให้กับร้านค้าขนาดเล็ก โดยภาครัฐร่วมจ่ายครึ่งหนึ่งสำหรับการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไปวันละไม่เกิน 150 บาทแก่ประชาชนทั่วไปยกเว้นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งโครงการภาค 2 นี้จะให้เงินอุดหนุนทั้งหมด 26 ล้านสิทธิ์ เฉลี่ยประมาณสิทธิ์ละ 1,500 บาท เป็นวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท[7]
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของนโยบายเช่นนี้จะแปรผกผันกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะที่ดำเนินการ ในช่วงที่ประชาชนขาดรายได้และต้องจำกัดการใช้จ่าย ดังเช่นตอนที่ใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น มาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายมีศักยภาพในกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจได้จริง (เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ไม่ตกต่ำจนเกินไป) ทว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหรืออยู่ในภาวะปกติ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังใช้จ่ายผ่านโครงการเหล่านี้อยู่ แต่ก็จะไปลดการใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ในแง่หนึ่งก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค แต่ถือว่าไม่ได้ผลในการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ
ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) เป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวัดประสิทธิภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยวัดว่าการใช้งบประมาณกระตุ้นทุกๆ 1 บาทจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจริงกี่บาท หากตัวคูณทางการคลังมีค่ามากกว่า 1 ถือว่าการใช้จ่ายมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่หากมีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่ามาตรการดังกล่าวไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้[8]
ตัวคูณทางการคลังของมาตรการคนละครึ่งเป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่านโยบายนี้จะไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจได้จริง ค่าตัวคูณทางการคลังของมาตรการคนละครึ่งรอบที่ 1-2 (ต.ค. 2563 – มี.ค. 2564) มีค่า 1.0 หมายความว่ามาตรการไม่ได้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแม้ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซาอย่างมากก็ตาม และในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเบื้องต้น แนวโน้มตัวคูณทางการคลังมีค่าลดลงต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 0.8 ในรอบที่ 5 (ก.ย.-ต.ค. 2565)[9]

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการคนละครึ่งในรอบที่ 5 ได้ลดวงเงินอุดหนุนต่อคนเหลือแค่ 800 บาทจากที่เคยสูงถึง 3,500-4,500 บาท แต่ผู้รับสิทธิ์ก็ยังใช้เงินอุดหนุนไม่เต็มวงเงิน (เฉลี่ยคนละ 757 บาท) และมีสิทธิ์ที่ไม่ถูกใช้อีกราว 2.48 ล้านสิทธิ์หรือร้อยละ 9.4 ของสิทธิ์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากรอบก่อนๆ

ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ[10] ความจำเป็นและประสิทธิภาพของมาตรการย่อมลดลงไปอีก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ามาตรการเหล่านี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ใช้งบทำโครงการอื่นและต้นทุนทางการเงินที่สังคมต้องจ่ายคืนในอนาคต งานศึกษาของสำนักงานประมาณของรัฐสภา พบว่ามาตรการเงินโอนแก่ประชาชนทั่วไปมีตัวคูณ 0.94 เท่า น้อยกว่านโยบายเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าอยู่ที่ 1.35 เท่า ซึ่งทำให้เห็นค่าเสียโอกาสที่ค่อนข้างชัดเจน[11]
พรรคประชาธิปัตย์
‘ประกันรายได้เกษตรกร’ มีส่วนฉุดรั้งเกษตรกรให้ติดในวงจรความยากจน
นโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือว่า DNA ของพรรคประชาธิปัตย์[12] ซึ่งดำเนินโครงการนี้ตลอด 4 ปีที่ร่วมรัฐบาล และประกาศจะทำต่อเพื่อช่วยเติมรายได้ให้เกษตรกร ด้วยการจะจ่ายเงินอุดหนุนเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาเป้าหมายให้เกษตรกรตามปริมาณผลผลิตเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพด ครอบคลุมเกษตรกรทั่วประเทศ กว่า 8.16 ล้านครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี[13]
ทว่า นโยบายการประกันรายได้มีส่วนฉุดรั้งเกษตรกรในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า เช่น บางรายขาดทุนจากการปลูกข้าวคุณภาพต่ำ แต่ยังทำต่อเพราะได้รับเงินส่วนต่าง และไม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกการเกษตรกรทั้งที่มีกำไรเฉลี่ยจากการเกษตรแค่ 202.7 บาท/วัน น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรติดอยู่กับการผลิตรายได้ต่ำและจำต้องพึ่งพิงเงินอุดหนุนของรัฐในระยะยาว โดยธนาคารโลกรายงานว่าในปี 2017-2019 การทำเกษตรเป็นปัจจัยเร่งให้สัดส่วนคนจนในชนบทไทยเพิ่มขึ้น 0.3%[14]
ยิ่งไปกว่านั้น เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ของนโยบายนี้กลับตกถึงมือเกษตรรายใหญ่ที่มีผลผลิตและที่ดินมากกว่ารายย่อย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนตามปริมาณผลผลิต ผลการคำนวณของ 101 PUB พบว่าโครงการประกันรายได้ข้าว ไม่เกินรายละ 30 ตันในรัฐบาลที่ผ่านมา กลุ่มครัวเรือนชาวนาที่มีผลผลิตมากที่สุด 20% แรก (กลุ่ม 5) ได้รับเงินอุดหนุน 57.4% ของงบทั้งหมด ในขณะที่ชาวนาที่มีผลผลิตต่ำสุด 20 % ท้าย (กลุ่ม 1) ได้รับอุดหนุนแค่ 2.5% เท่านั้น

ประสิทธิภาพการช่วยเหลือของโครงการนี้ยังมีแนวโน้มลดลงด้วย เพราะการประกันรายได้จะใช้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น แต่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้น้อยลง ในช่วงปี 2555-2564 สินค้าเกษตรในโครงการยกเว้นปาล์มน้ำมันมีราคาลดลง เช่น ราคายางพาราและข้าวเปลือกลดลง 41.5% และ 24.9% ตามลำดับ หากมีการกำหนดราคาเป้าหมายไว้เท่าเดิม ก็จะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตามเป้าหมายเดิม แต่เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่แย่ลงจากค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 6.4%
หากจะเพิ่มราคาเป้าหมายให้ทันกับค่าครองชีพ ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม โดยในช่วงปี 2562-2565 รัฐบาลที่ผ่านมามีการกู้เงินสำหรับโครงการอุดหนุนเกษตรเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่จ่ายคืนหนี้แค่ปีละ 7.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีหนี้เพิ่มขึ้นปีละ 8.1 หมื่นล้านบาท
นโยบายที่จะช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน ควรจูงใจให้เกษตรกรปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า หรือแม้แต่เอื้อให้เปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ พร้อมกับการช่วยเหลือระยะสั้น ที่มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มคนจนผ่านสวัสดิการพื้นฐานตามความจำเป็น โดยไม่ต้องอ้างอิงกับอาชีพเกษตร
‘เรียนฟรีถึงป.ตรี สาขาที่ตลาดต้องการ’ นโยบายหลงทิศ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
อีกหนึ่งนโยบายน่าสนใจที่ถูกนำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ คือ การให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดต้องการ ต่อยอดจากนโยบายเดิมที่ให้เรียนฟรี 15 ปี โดยมุ่งเน้นผลิตแรงงานทักษะสูงราว 1.5 แสนคน เข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมกับแก้ไขปัญหาการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์รายงานว่านโยบายนี้จะใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท[15]
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้น่าจะหลงทิศและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ประการแรก ภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องนำทรัพยากรของสังคมไปอุดหนุนค่าเรียนเต็มจำนวนในสาขาที่ตลาดต้องการ เพราะโดยปกติแล้ว หากบริษัทเอกชนขาดแคลนแรงงานในสาขาใด ก็จะเพิ่มค่าตอบแทนในสาขาเหล่านั้น ทำให้การเรียนในสาขาขาดแคลนมีผลตอบแทนส่วนตัวสูงสำหรับทั้งผู้เรียนและบริษัทเอกชน หากภาครัฐจะมีการอุดหนุน ก็ควรเป็นแค่บางส่วนตามแต่สัดส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม
ในความเป็นจริงแล้ว การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะสาขาที่มักพูดถึงกัน ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปริมาณผู้จบการศึกษาน้อย แต่เป็นผลมาจากปัญหาเชิงคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาทำให้ผู้เรียนได้ใบปริญญา แต่ไม่มีทักษะตามที่ตลาดต้องการ จึงทำให้ไม่ได้งานที่คาดหวัง
ตัวอย่างเช่น ในปี 2564 มีกำลังแรงงานอายุต่ำกว่า 26 ปีเกือบ 5 หมื่นคน ที่จบปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นสาขาที่ตลาดต้องการสูง อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ทำงานตรงสาย ส่วนที่เหลือทำงานไม่ตรงสาย ตกงาน หรืออยู่นอกตลาดแรงงาน ในขณะที่การสำรวจโดยบริษัทจัดหาคนและงานพบว่าบริษัทเอกชนก็ยังขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีอย่างหนักเพราะไม่สามารถหาคนที่มีทักษะที่ต้องการได้[16]

ปัญหาถัดมาของนโยบายนี้คือ การวางแผนกำลังคนโดยใช้ข้อมูลความต้องการแรงงานในปี พ.ศ. 2563-2567[17] ซึ่งถือว่าล้าสมัยสำหรับการวางแผนสร้างคน ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปีเพื่อให้เรียนจบระดับปริญญาตรี หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมรัฐบาล โครงการนี้น่าจะเริ่มได้ในปีหน้าซึ่งเป็นปีสุดท้ายของข้อมูลความต้องการและมีผู้จบการศึกษารุ่นแรกในปี 2571 ซึ่งความต้องการแรงงานในตลาดอาจเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
สุดท้าย แม้ว่านโยบายนี้มีชื่อว่าเรียนฟรีถึงป.ตรีสาขาที่ตลาดต้องการ แต่กลับไม่ได้แตะโจทย์พื้นฐานอย่าง ‘เรียนฟรี 15 ปีไม่มีจริง’ อันเป็นสาเหตุหนึ่งให้นักเรียนยากจนจำนวนมากหลุดออกจากระบบศึกษาก่อนถึงระดับป.ตรี
ในปี 2564 นักเรียนยากจนระดับชั้นประถมและมัธยมต้นมีค่าใช้การศึกษาเฉลี่ยต่อปีราว 2-4 พันบาท และเด็กในครัวเรือนยากจนมีเพียงอัตราการเรียนต่อมัธยมปลายแค่ร้อยละ 18 ต่ำกว่าอัตราโดยรวมทั้งประเทศที่ร้อยละ 64.1[18] หากปัญหานี้ยังคงมีอยู่ การให้เรียนป.ตรีฟรีในสาขาที่ตลาดต้องการก็จะเป็นการอุดหนุนให้ประโยชน์กับเด็กจากครอบครัวฐานะปานกลางและดีเป็นหลัก ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น
พรรคภูมิใจไทย
‘พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก’ ยาชาราคาแพง ที่ทุกคนต้องร่วมจ่าย
นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ของพรรคภูมิใจไทยเป็นนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด นโยบายดังกล่าวเป็นการพักหนี้รายคน โดยจ่ายดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินแทนผู้กู้เงินเป็นระยะเวลา 3 ปี กำหนดเพดานวงเงินเข้าโครงการไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ และลีซซิ่ง ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรกู้ยืมเงิน (ซึ่งก็มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนภาคการเงิน) เพื่อนำมาใช้จ่าย
ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาใหญ่ที่นักเศรษฐศาสตร์พูดถึงกันมาต่อเนื่องยาวนาน เพราะปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีค่ามากถึง 15.4 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน[19] คิดเป็นร้อยละ 87 ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ไปใช้คืนหนี้มากขึ้น จำกัดกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจไม่อาจเติบโตจากภายในได้อย่างแข็งแกร่ง หนี้ภาคครัวเรือนขนาดใหญ่เกินไปยังสามารถทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินหรือการคลังได้จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้
แม้ว่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข แต่แนวทางนโยบายพักหนี้เช่นนี้เป็นเพียงยาชาราคาแพง ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในระยะสั้นด้วยงบประมาณภาครัฐค่อนข้างสูง และเมื่อหมดฤทธิ์ ครัวเรือนก็ต้องกลับมาจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นที่ไม่ได้ลดลงไปในช่วง 3 ปีนี้ดังเดิม
101 PUB จำลองภาระงบประมาณที่ใช้ จากจำนวนผู้มีหนี้ทั้งหมด 25 ล้านคนในปัจจุบัน โดยใช้สมมติฐานที่ใกล้เคียงยอดหนี้คงค้างรายบุคคลตามค่ามัธยฐาน (128,000 บาท เมื่อปี 2563) และค่าเฉลี่ย (527,000 บาท ในปี 2565) ร่วมกับอัตราดอกเบี้ยครัวเรือนเฉลี่ย (9.5%) ตลอดจนดอกเบี้ยขั้นสูง (15%) ให้สะท้อนความเป็นไปได้ที่ผู้กู้อาจนำหนี้ดอกเบี้ยสูงเข้าสู่การพักหนี้ก่อน

ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการน้อย (เฉลี่ย 150,000 บาท/คน) และดอกเบี้ยเป็นไปตามค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อปัจจุบัน (ร้อยละ 9) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ปีละ 345,938 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% ของรายรับของรัฐบาล ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการปานกลาง (เฉลี่ย 350,000 บาท/คน) และมีเฉพาะคนบางส่วนที่เลือกพักหนี้ดอกเบี้ยสูงแทนหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 12) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้รวมกับจ่ายผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาดำเนินนโยบายปีละ 1,076,250 ล้านบาท คิดเป็น 43.2% ของรายรับของรัฐบาล ส่วนกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการมาก (เฉลี่ย 550,000 บาท/คน) และมีคนจำนวนมากเลือกพักหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงเพื่อที่จะได้ใช้สิทธิ์การพักหนี้ให้มากที่สุด รัฐอาจต้องต้องจัดสรรงบประมาณมากถึง 2,114,063 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 84.9% ของรายรับรัฐบาล
แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่นโยบายดังกล่าว ไม่ ถูกกล่าวถึงในเอกสารนโยบายที่รายงานต่อ กกต. เลย
นอกจากภาระงบประมาณที่สูงมากแล้ว นโยบายดังกล่าวยังอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบการเงินอีกด้วย เนื่องจากการพักหนี้อาจทำให้เกิดปัญหาวินัยทางการเงิน หรือ Moral hazard ที่ผู้มีความสามารถชำระคืน ไม่ยอมจ่ายคืนหนี้ โดยหวังรอเข้าโครงการพักหนี้ ซึ่งผลักภาระค่าใช้จ่ายพวกเขาออกไปในอนาคตโดยไม่มีความจำเป็น
‘กัญชาเสรี’ เพื่อการแพทย์? การปลดล็อคผิดพลาดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้
นโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์เป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยชูธงตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 และถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ในสนามการเลือกตั้ง 2566 พรรคภูมิใจไทยยังคงรายงานนโยบายดังกล่าวต่อ กกต. เช่นเดิม[20] แต่ไม่ค่อยนำมาหาเสียงเรียกคะแนนเท่าใดนัก และได้กลายเป็นเป้าโจมตีของพรรคการเมืองอื่นจำนวนมาก
สิ่งหนึ่งที่ต้องยืนยันคือ ‘กัญชาไม่ใช่ผู้ร้าย’ เพราะมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันประโยชน์ทางการแพทย์ของสารสกัดกัญชา ทั้งช่วยผ่อนคลายจากอาการวิตกกังวล บรรเทาอาการอักเสบ และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปลดล็อคที่ไม่ถูกจังหวะและไม่รอบคอบมากพอ ทำให้กัญชากลายเป็นภาระของแพทย์และสร้างต้นทุนทางด้านสาธารณสุขในระยะยาว
ความผิดพลาดสำคัญของนโยบายกัญชาเสรีโดยพรรคภูมิใจไทยคือ การเทน้ำหนักไปที่หลักเสรีภาพ โดยเร่งรัดนำกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยยังไม่มีมาตรการควบคุมเพื่อการันตีหลักความปลอดภัย ส่งผลให้การผลิต จำหน่าย และใช้งานกัญชาทั้งเพื่อรักษาโรคและนันทนาการเป็นไปอย่างเสรี จนเรียกได้ว่าเสรีที่สุดในโลก ยิ่งกว่าประเทศที่เปิดให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อนันทนาการ ในขณะที่บทลงโทษยาเสพติดชนิดอื่นในประเทศไทยยังสูงถึงประหารชีวิต
แม้ในอนาคตอาจมีการผ่าน พ.ร.บ. กัญชาฯ ก็ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงทั้งหมด และไม่อาจจำกัดการใช้เพื่อการแพทย์ดังที่หาเสียงได้อีกต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันคือการปลูก ผลิต จำหน่าย และใช้งานกัญชาได้เกินจากการวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ไปมาก และทุกขั้นตอนยังทำได้สะดวกยิ่งกว่าสินค้าประเภทใกล้เคียงกันที่ถูกควบคุมเข้มงวดกว่าอย่างเหล้าและบุหรี่ (คลิกลิงก์เพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม)
ทุกครัวเรือนสามารถปลูกต้นกัญชาได้ไม่จำกัด โดยไม่ต้องขออนุญาตปลูกและยังไม่มีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของสถานที่ปลูก (เช่น ครัวเรือนที่มีเด็กควรปลูกห่างจากตัวบ้านเท่าไร ปลูกได้มากแค่ไหน) การจำหน่ายสินค้ากัญชาก็เป็นไปอย่างไร้กฎเกณฑ์ คือสามารถวางขายปะปนกับสินค้าบริโภคอื่นๆ ได้ในร้านสะดวกซื้อ โดยไม่มีป้ายคำเตือนที่ชัดเจน ส่วนร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะก็ตั้งอยู่กระจัดกระจายในละแวกชุมชนหรือใกล้สถานศึกษาจนเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากไม่มีมาตรการโซนนิ่ง อีกทั้งมีร้านอาหารหลายแห่งที่ผสมกัญชาในสินค้าโดยไม่ได้แจ้งลูกค้าอย่างละเอียด
แม้พรรคภูมิใจไทยจะอ้างว่ามีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ควบคุมการใช้งานแล้ว แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากพอ ก็เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบว่าควรดำเนินการอย่างไร
หากจะฝันไกลให้เกิดอุตสาหกรรมธุรกิจกัญชาที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ต้องอาศัยการวางแผนนโยบายอย่างรอบด้าน ส่วนหนึ่งก็เพื่อปิดความกังวลของสังคมและสร้างแรงสนับสนุนในวงกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ชัดเจนด้วยว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์การปริมาณการผลิตที่เหมาะกับความต้องการของตลาดได้ ไม่เช่นนั้นร้านจำหน่ายสินค้ากัญชาอย่างน้อย 4,496 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่กำลังตัดสินใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าว ก็เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบในอนาคต
พรรคเพื่อไทย
‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ นโยบายกระตุ้นใหญ่ ที่จะไม่ได้ผลมากอย่างที่หวัง
พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบาย ‘ปั๊มหัวใจ’ กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เฉพาะหน้า ด้วยการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ผูกกับบัตรประชาชนของแต่ละคน ผู้ได้รับเงินสามารถนำไปใช้จ่ายได้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยทั้งหมดนี้ทำบนระบบบล็อกเชน ซึ่งตั้งใจจะเขียนเงื่อนไขการใช้งานลงในตัวเงิน เช่น ระบุว่าสามารถซื้ออะไรได้บ้าง กำหนดแต้มต่อสำหรับการซื้อสินค้าจากรายย่อย และยังใช้ติดตามเส้นทางการเงินได้ด้วย
พรรคเพื่อไทยประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท แต่ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 2-3 เท่าของเงินที่ใช้ไป (เอกสารไม่เป็นทางการระบุว่ามากถึง 6 เท่า) เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนี้ก็จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณที่ใช้จริงต่ำกว่างบประมาณก้อนแรกที่อัดฉีดลงไป นอกจากนี้ จะยังได้ประโยชน์ในฐานะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และนำประเทศเป็นศูนย์กลาง FinTech ด้วย
นโยบายดังกล่าวเป็นการประเมินผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ดีมากเกินไป งานศึกษาในอดีตพบว่ามาตรการเงินโอนของไทยมักจะมีตัวคูณทางการคลังเพียง 0.4 – 0.9 เท่า[21] หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นเท่ากับรายจ่ายทางการคลัง การให้ใช้เงินเป็นระยะเวลาสั้นเพียง 6 เดือนก็ยังทำให้การหมุนรอบของเงินยังไม่เต็มที่ ซึ่งปกติจะเห็นผลในระยะเวลา 1-2 ปี งานศึกษาระหว่างประเทศยังพบว่าปัจจัยแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อตัวคูณทางการคลังอย่างมาก การเป็นเศรษฐกิจเปิดที่มีอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวดังเช่นประเทศไทยทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินออกไปต่างประเทศแทนที่จะหมุนในระบบเศรษฐกิจ และตัวคูณทางการคลังจะมีค่ามากเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย[22] นอกจากนี้ การกระตุ้นขนาดใหญ่ยังมักจะมีตัวคูณขนาดเล็กกว่าการให้เงินก้อนเล็ก[23] และการกำหนดให้ผู้ได้รับเงินสามารถนำเงินไปใช้จ่ายคืนเงินกู้ก็จะลดรอบการหมุนในเศรษฐกิจลงด้วยเช่นกัน
101 PUB มองว่านโยบายเงินดิจิทัลจะสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ถ้าพรรคเพื่อไทยอธิบายเงื่อนไขของการใช้เงินให้ครบถ้วน อาทิ การใช้จ่ายต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรสำหรับกรณีทั่วไป แต่จะมีพื้นที่ห่างไกลที่อาจมีการปรับเปลี่ยน ที่ไม่ทราบว่าเป็นที่ใดบ้างและเปลี่ยนเป็นเท่าไหร่, การใช้จ่ายของผู้บริโภค (มือ 1) นั้นจะต้องทำในขอบเขตรัศมีที่กำหนด แต่เมื่อต้องการให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ ผู้ขายสินค้าหรือบริการ (มือ 2-3-4-…) จะต้องทำธุรกรรมในรัศมีดังกล่าวด้วยหรือไม่, เงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ขาย และการนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินจริงเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังต้องการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในการทำเหรียญดิจิทัล ซึ่งยังก่อให้เกิดคำถามในทางเทคนิกเนื่องจากสามารถใช้ระบบการเงินดิจิทัลบนฐานเทคโนโลยีอื่นในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ ด้วยประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความคุ้นชินของประชาชนที่มากกว่า การพัฒนาบล็อกเชนเพื่อทำธุรกรรมยังอาจติดข้อกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทำธุรกรรม จนอาจทำให้การดำเนินการล่าช้า จนยิ่งหมดความจำเป็นและประสิทธิภาพของการกระตุ้นเศรษฐกิจไป
‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท’ สอดคล้องค่าจ้างเพื่อชีวิต แต่ต้องไม่ปรับแบบก้าวกระโดดเกินไป
‘นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ภายในปี 2570’ เป็นนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากตั้งแต่ตอนที่ประกาศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เว็บไซต์และเอกสารนโยบายของพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น แล้วจึงแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน ตามกลไกเจรจา 3 ฝ่าย คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยมีหลักการพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 3 ปัจจัย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ
แนวทางของพรรคเพื่อไทยแตกต่างจากพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 450 บาท/วัน แล้วหลังจากนั้นจะปรับอัตโนมัติทุกปีโดยใช้สูตรคำนวณจากค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดบทบาทของการเจรจาลง[24]
101 PUB เห็นว่าการปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำเดิมมีปัญหาตั้งแต่นิยามที่ให้แรงงานดูแลตนเองได้เพียงคนเดียวตามมาตรฐานการครองชีพ ซึ่งในโลกความเป็นจริง แรงงานจะต้องดูแลครอบครัวด้วย นอกจากนี้การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาโดยทั่วไปไม่สามารถไล่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง ค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่อาจรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว (คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม)
101 PUB เห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำจะต้องใช้ฐานคิดอื่นมาร่วมพิจารณา เช่น ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานสังคม เมื่อคำนวณด้วยข้อมูลการใช้จ่ายรายครัวเรือนของไทย พบว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตเพื่อเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 1 คนมีค่า 563 บาท/วัน ในกรณีที่เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 2 คนมีค่า 686 บาท/วัน ดังนั้น ตัวเลขข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยจึงค่อนข้างสอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพที่ควรจะเป็นจริง
แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของไทยยังสามารถรับอัตราดังกล่าวได้ เนื่องจากยังมีค่าน้อยกว่าผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร (774 บาท/วัน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก (ผลิตภาพแรงงานนี้คำนวณเฉพาะอัตราการสบทบของแรงงานต่อ GDP เท่านั้น ไม่ได้รวมผลจากทุน)

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยยังมีปัญหาในการดำเนินการจริง เพราะแนวทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เหมือนกับแนวทางการคำนวณที่ใช้อยู่เดิม หากดำเนินการตามที่ชี้แจงก็ไม่อาจยกระดับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจากฐานค่าแรงเดิมที่ไล่ไม่ทันสภาพเศรษฐกิจมาก่อน และยังไม่ได้คำนึงถึงครอบครัวของแรงงาน
การใช้เสียงของรัฐเป็นตัวตัดสินในการเจรจาค่าแรงขั้นต่ำ ตามตัวเลขที่ตนประกาศ จึงเป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่สุด อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรทำอย่างก้าวกระโดด การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่วันละ 328-354 บาทสู่ระดับ 600 บาท ในเวลา 5 ปี หมายความว่าจะต้องมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 50-55 บาท หรือราว 15% จากฐานเดิม ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้ 3% (และอาจเพิ่มขึ้นได้เป็น 5% ตามที่หาเสียง) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 1-3% ความเร็วในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนี้สามารถสร้างปัญหาต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จนอาจกลับมากระทบต่อผู้ใช้แรงงานเสียเองในท้ายที่สุด (ซึ่งสามารถใช้ตรรกะเดียวกันสำหรับแนวทางของพรรคก้าวไกลได้เช่นกัน)
พรรคก้าวไกล
‘หวยใบเสร็จ’ ประโยชน์ 3 เด้ง แต่อาจคิดเล็กไป
นโยบายหวยใบเสร็จของพรรคก้าวไกลเป็นการให้สิทธิ์แก่ผู้บริโภคนำใบเสร็จที่ซื้อสินค้าจาก SME สะสมรวมกันตั้งแต่ 500 บาทไปแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือนและไม่เกินจำนวน 10 ล้านคน/เดือน และให้สิทธิ์ผู้ประกอบการในโครงการได้สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบเมื่อมียอดขายสะสมรวมกัน 5 พันบาท[25] ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี[26]
นโยบายนี้น่าจะให้ประโยชน์ 3 เด้งที่ตอบโจทย์ปัญหาของเศรษฐกิจไทย
- เพิ่มแต้มต่อให้ SME โดยจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อของจาก SME แทนธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นการพยุงชีวิต SME หลายแห่งที่ฟื้นตัวได้ช้าจากวิกฤตโควิดและมีปัญหาการชำระหนี้[27]
- ดึง SME เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจูงใจให้ผู้บริโภคขอใบเสร็จจากร้านค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง SME ที่อยู่ในและนอกระบบภาษี VAT
- สร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม SME เช่น การปล่อยเงินกู้แก่ SME ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยพิจารณาจากข้อมูลยอดขาย ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้เพราะขาดข้อมูล
เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมชอบลุ้นโชคของคนไทย นโยบายหวยใบเสร็จมีโอกาสประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะมีคนไทยราว 24.6 ล้านคนที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่เดิม[28] สูงกว่าตัวเลขเป้าหมายของนโยบาย อีกทั้ง การเปลี่ยนมาซื้อสินค้าจากร้านค้า SME ก็ไม่น่าจะเพิ่มภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ขายในราคาแทบไม่ต่างกัน
แม้ว่าการขอใบเสร็จจากร้านที่ปัจจุบันอยู่นอกระบบภาษี VAT จะก่อให้เกิดต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น แต่การขอใบเสร็จแลกสลากก็ยังคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคที่ชอบลุ้นโชค ซึ่งน่าจะเป็นกรณีทั่วไปสำหรับการซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ซื้อสินค้ากับร้านโชห่วยไม่เกิน 900 บาทต่อสัปดาห์[29] ถึงผู้ประกอบการจะโอนภาระภาษี VAT ทั้งหมดให้ผู้ซื้อ ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น 63 บาท ยังต่ำกว่าราคาสลาก
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง เช่น หากผู้บริโภคที่ชอบเล่นหวยส่วนใหญ่มียอดซื้อสินค้ารายเดือน 1 พันบาทกับร้านค้ารายเล็กอยู่แล้ว นโยบายก็จะไม่ได้เพิ่มกำลังซื้อให้ร้านเหล่านี้ตามที่คาดหวัง ผู้ซื้ออาจจะไม่ขอใบเสร็จเพิ่มหลังซื้อครบ 500 บาทและได้รับหวยใบเสร็จแล้ว ทำให้การเก็บภาษีและข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือร้านค้าหลายแห่งอาจไม่เข้าร่วมโครงการหากต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะตระหนักถึงเรื่องนี้และออกนโยบายลดภาษีเงินได้แก่ SME ควบคู่กัน แต่ก็ต้องติดตามดูว่าเพียงพอจะจูงใจร้านค้าให้เข้าสู่ระบบภาษีได้หรือไม่
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ลดประสิทธิภาพของนโยบายนั้นมาจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเอง ที่จำกัดสิทธิ์การแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ที่ไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน ทั้งที่การขยายสิทธิ์แลกสลากไม่น่าจะใช้งบประมาณเพิ่มมากนัก และที่จริงแล้วจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าหากรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นมากพอ ก็จะไม่จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณก้อนเดิมแถมยังเป็นการสร้างรายได้เข้ารัฐด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศไต้หวันที่เปลี่ยนให้ใบเสร็จทุกใบเป็นหวยและนำเงินรายได้จากการเก็บภาษีได้มากขึ้นมาจ่ายเป็นเงินรางวัล[30]
‘นโยบายสวัสดิการ’ รองรับอดีต แต่ไม่มุ่งเป้าสู่ ‘อนาคต’
นโยบายสวัสดิการเป็นจุดขายหนึ่งของพรรคก้าวไกลที่นำเสนอการสร้างระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครอบคลุมคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แรงงาน และผู้สูงอายุ ส่งผลให้งบประมาณที่ถูกตั้งไว้สำหรับนโยบายสวัสดิการทั้งหมดสูงถึง 6.5 แสนล้านบาทต่อปี
ในบรรดานโยบายสวัสดิการตลอดช่วงอายุ พรรคก้าวไกลจัดสรรงบประมาณให้กับบำนาญผู้สูงวัยมากที่สุด โดยเสนอให้ปรับเงินผู้สูงวัยจาก 600-1,000 บาท ขึ้นเป็น 3,000 บาท/คน/เดือน ในขณะที่เสนอเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จาก 600 บาท เป็น 1,200 บาท/คน/เดือน แต่ก็มีคูปองให้พ่อแม่เด็กเกิดใหม่ 3,000 บาท เพื่อนำไปแลกซื้อสิ่งของสำหรับพัฒนาการเด็ก
แนวสวัสดิการของพรรคก้าวไกลนี้ตั้งคำถามถึง ‘การจัดสรรทรัพยากรข้ามรุ่น’ เพราะจัดงบประมาณสำหรับสวัสดิการช่วงเกิด 50,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่จัดสวัสดิการสูงอายุ 500,000 ล้านบาท/ปี ต่างกันถึง 10 เท่า
เงินจำนวน 3,000 บาท/เดือนมักจะเป็นจุดตั้งต้นในการถกเถียงต่อรองเรื่องสวัสดิการ เพราะสอดคล้องกับเส้นความยากจน ที่ไม่อยากให้ใครต้องใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุนั้นมีโอกาสได้ทำงานมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเกือบครึ่งมีเงินออมหรือสินทรัพย์พอสำรับการเกษียณ และที่เหลือก็น่าจะพอมีเงินออม/สินทรัพย์ที่ร่วมใช้จ่ายในการดูแลตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องให้เงินเต็มจำนวนดังกล่าวก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่พ้นเส้นความยากจน
นอกจากนี้ เงินบำนาญผู้สูงวัยจะกลายเป็นภาระผูกพันก้อนใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมีผู้เกษียณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจุบันที่มีราว 11-12 ล้านคน อาจกลายเป็น 28 ล้านคนในเวลา 10 ปี[31] การเพิ่มเงินบำนาญผู้สูงวัยเป็น 3,000 บาท/เดือนที่จะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาทในปี 2570 ก็สามารถทะลุ 1 ล้านล้านบาทต่อปีได้ในอนาคตอันใกล้ งบประมาณสำหรับเงินบำนาญผู้สูงวัยที่พรรคก้าวไกลตั้งไว้จะเป็นงบประมาณผูกพันจำนวนมหาศาลที่อาจสร้างภาระทางการคลังได้
ขณะที่การเลี้ยงดูเด็กเล็กมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,373 บาท/เดือน โดยที่เด็กเล็กนั้นยังไม่มีสินทรัพย์ และคนในวัยพ่อแม่ก็มีเวลาเก็บออมไม่มากเท่าผู้สูงอายุ การจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า 1,200 บาท/เดือน จึงอาจยังไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ มีงานวิจัยชี้ชัดว่าการลงทุนในมนุษย์นั้นยิ่งเร็วยิ่งคุ้มค่า ซึ่งเด็กเล็กเหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นในสังคมสูงวัย และจะต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวตลอดจนจ่ายภาษีหล่อเลี้ยงสวัสดิการ ยิ่งเรียกร้องให้เด็กเหล่านี้มีศักยภาพสูงจึงจะทำให้ประเทศไทยโดยรวมอยู่รอดได้ในอนาคต
การจัดสรรเช่นนี้จึงเหมือนเป็นการทำสวัสดิการเพื่อรองรับอดีต มากกว่าสวัสดิการเพื่อพาประเทศมุ่งสู่อนาคต
โจทย์ของการออกแบบสวัสดิการผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอาจต้องขยับไปให้ไกลกว่าการให้เงินบำนาญแก่ผู้สูงวัย เช่น การยกระดับระบบประกันสังคมให้สามารถจ่ายเงินบำนาญเมื่อถึงวัยเกษียณได้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยต้องพิจารณาปรับขึ้นจำนวนเงินสมทบทั้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังน้อยกว่าสวัสดิการแบบเงินบำนาญ นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงการปรับปรุงสวัสดิการในรูปแบบบริการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากการให้เงินก็ไม่อาจแก้ปัญหาสินค้า/บริการที่ขาดหายไปในตลาด โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานที่สุดอย่างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้สูงวัยกลุ่ม ‘กึ่งพึ่งพิง’ ที่ยังดูแลตัวเองได้บ้างแต่ยังขาดทางเลือกเข้าถึงที่พักอาศัยราคาถูก โดยควรเพิ่มบริการที่พักสำหรับผู้สูงวัยให้หลากหลายและคำนึงถึงความเปราะบางในหลายระดับของผู้สูงวัย โดยอาจพิจารณาการพัฒนาที่พักสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบของบ้านโอบอุ้ม (assisted living housing)[32] ที่มีราคาถูกกว่าสถานดูแลขนาดใหญ่
↑1 | ดูเพิ่ม ฉัตร คำแสง, “5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล,” 16 มีนาคม 2022. |
---|---|
↑2 | สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2564. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2564. |
↑3 | สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2566. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2565. |
↑4 | https://greennews.agency/?p=24238 |
↑5 | พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรครวมไทยสร้างชาติ. นโยบายพรรค. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566) |
↑6 | พรรคพลังประชารัฐ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรคพลังประชารัฐ. “อุตตม” ชูนโยบาย พปชร.เพิ่มประกันชีวิตบัตรประชารัฐ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย เดินหน้าตั้งกองทุนประชารัฐ ปลดภาระ สร้างรายได้ แก้หนี้ ให้ทุกคน. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566) |
↑7 | พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566) |
↑8 | ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจเป็นผลรวมของการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกสุทธิ การใช้จ่ายภาครัฐควรทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นแบบ 1:1 หากไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ |
↑9 | แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าตัวคูณทางการคลังในภาวะเศรษฐกิจปกติมีค่าน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ อาทิ Ramey, V. A. and Sarah Zubairy. “Government Spending Multipliers in Good Times and in Bad: Evidence from US Historical Data,” Journal of Political Economy, vol. 126(2): 850-901. 2018 |
↑10 | ธนาคารแห่งประเทศไทย. การบรรยายภาวะเศรษฐกิจในงานพบปะสื่อมวลชน 24 เดือนเมษายน 2023. (เข้าถึงเมื่อ 30 เมษายน 2566) |
↑11 | สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) |
↑12 | กรุงเทพธุรกิจ. “ปชป.ลั่นเดินหน้าประกันรายได้ ชาวนารับ 30,000 บาท”. 9 เมษายน 2566. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑13 | พรรคประชาธิปัตย์. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) และนโยบาย 01 ประกันรายได้ “จ่ายเงินส่วนต่าง” ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑14 | World Bank Group, Thailand Rural Income Diagnostic, 2022. |
↑15 | พรรคประชาธิปัตย์. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และนโยบาย 05 เรียนฟรี ถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑16 | ประชาชาติธุรกิจ. “มนุษย์ไอที “ไทย” ขาดแคลนหนัก รุมจีบอินเดีย-มาเลย์-ฟิลิปปินส์ทดแทน”. 29 มีนาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566) |
↑17 | การสำรวจนี้ทำโดยสํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) |
↑18 | สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564. 2565. |
↑19 | 101 PUB รวมข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไตรมาส 4/2022 แต่เนื่องจากข้อมูลของ ธปท. ยังไม่ได้รวมหนี้ในระบบอื่น เช่น สินเชื่อเพื่อการศึกษาของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น 101 PUB จึงนำปริมาณสินเชื่อของ กยศ. มารวมด้วย |
↑20 | พรรคภูมิใจไทย. เอกสารนโยบายพรรคการเมือง. |
↑21 | ธิติ เกตุพิทยา, ชิดชนก อันโนนจารย์ และทศพล ต้องหุ้ย. 2015. แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังปี 2558-2559. FAQ Issue 106. สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. |
↑22 | Nicoletta Batini, Luc Eyraud, Lorenzo Forni, Anke Weber. Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections. International Monetary Fund. |
↑23 | Paolo Surico, Michele Andreolli. Smaller economic stimulus payments could boost consumer spending more. 2021. VOXEU Column. |
↑24 | พรรคก้าวไกล. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท. |
↑25 | พรรคก้าวไกล. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑26 | ศิริกัญญา ตันสกุล. The Special คุยกับทีมเศรษฐกิจ ‘ก้าวไกล’ รายการฟังหูไว้หู (25 เม.ย. 66). (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑27 | “สสว.เผยผลสำรวจ SME ไตรมาสแรก เอสเอ็มอีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ลดลง,” ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566) |
↑28 | ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2565. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) |
↑29 | สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือน ต.ค.64. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) |
↑30 | Hemels, Sigrid, and Marco Fabbri. “‘Do You Want a Receipt?’ Combating VAT and RST Evasion with Lottery Tickets”. Intertax: International Tax Review 41, no. 8 (January 2013): 430–443. |
↑31 | United Nations. World Population Prospect 2022. |
↑32 | สรัช สินธุประมา, “‘บ้านโอบอุ้ม’ ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน,” |