fbpx

หนึ่งปีที่เหลือจากนี้ ขอสังคมไทยมีความทุกข์ร่วมกันกับคนตากใบ

“ตอนอายุ 12 ปี พี่ชายฉันเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ พวกเราเพิ่งรู้ข่าวหลังจากเขาเสียชีวิตไปสามวันแล้ว เพราะสภาพศพที่ทำให้จดจำไม่ได้ว่าเคยเป็นใครมาก่อน โชคยังดีที่เขาพกบัตรประชาชนในกระเป๋า เราจึงรู้ว่าเป็นเขา

“หลังจากนั้นชีวิตครอบครัวก็เปลี่ยนไป พ่อซึมเศร้า ไม่ออกไปเจอใคร 4-5 ปี อยู่ในที่มืดคนเดียว ไม่เข้าสังคม แม้จะมีแพทย์เข้าไปเยียวยาหลายครั้ง ฉันสงสัยว่าทำไมพ่อเป็นแบบนี้ เกิดอะไรกับครอบครัวเรา จึงศึกษาด้วยตัวเองแล้วพบว่าสิ่งที่พี่ชายเจอมันโหดร้ายมาก”

เป็นคำบอกเล่าของ ฟาเต็ม วานิ ครอบครัวผู้สูญเสียในโศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งกล่าวไว้ในวันครบรอบ 19 ปีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีการจัดเสวนา ‘นับถอยหลัง 1 ปี ก่อนคดีหมดอายุความตากใบ’ ที่ อบต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)

ฟาเต็มยังเล่าอีกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากครอบครัวนอกจากจะทำให้พ่อมีอาการซึมเศร้าแล้ว พี่ชายอีกคนก็โดนทหารควบคุมตัวด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ถึง 4-5 ครั้ง กระทั่งตอนที่ลูกของพี่ชายเพิ่งคลอดได้เจ็ดวัน พี่ชายยังโดนคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ไม่ได้อยู่ดูแลลูกและภรรยา

“สิ่งที่เกิดขึ้นหดหู่มาก ย่ำยีหัวใจเหลือเกิน แล้วอีกหนึ่งปีจะหมดอายุความ ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบอะไรเลย ที่ผ่านมามีการรับผิดชอบแค่ตัวเงิน ทั้งที่เป็นคดีอาญา เหตุการณ์นี้อยู่มาได้ยังไง 19 ปีโดยไม่มีคำขอโทษเลย อยากเห็นหน้าผู้กระทำ เขาต้องกล้าออกมาขอโทษประชาชนพันกว่าคนที่ได้รับผลกระทบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครทำใจยอมรับได้หรอก” ฟาเต็มกล่าว

ฟาเต็ม วานิ

นับถอยหลังหนึ่งปีกับความหวังที่เหลือ

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หลังตำรวจควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชาวมลายูมุสลิมหกคน เหตุเพราะปืนของราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ชรบ. สูญหาย ชาวบ้านในพื้นที่มากกว่าพันคนจึงมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว

เมื่อทหารปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมเจ็ดคน จากนั้นมีการจับกุมผู้ชุมนุม 1,370 คนและลำเลียงไปค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยมัดมือผู้ถูกควบคุมตัวและให้นอนทับกันหลายชั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย 78 คน

รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 85 คน มีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด 0 คน

เหตุการณ์ผ่านมา 19 ปี ที่ผ่านมามีการจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด โดยคำพิพากษาของศาลบอกว่าผู้เสียชีวิต ‘ตายเพราะขาดอากาศหายใจ’

ในปี 2567 นี้คดีตากใบจะหมดอายุความโดยไม่มีวี่แววว่ากระบวนการยุติธรรมไทยจะสามารถให้ความยุติธรรมได้ ในมุมมองของ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม ยังมองเห็นช่องทางที่จะผลักดันคดีตากใบในช่วงหนึ่งปีนี้ได้

อาดิลันชวนคิดว่ากรณีความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมากเช่นนี้เป็นไปได้ไหมที่จะปรับปรุงกฎหมายให้ไม่มีอายุความ

“ประชาชนควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐภายใต้กฎหมาย เราควรมีการปรับปรุงกฎหมาย ไม่ใช่ว่าเราอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่อธรรมแล้วเราจะต้องถูกกระทำอย่างอธรรมตลอดไป”

อาดิลันยกข้อสรุปจากรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่มีการพูดถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตากใบระบุว่า

“คณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อย ที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งแต่เพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดการตายเช่นนี้”

พร้อมระบุว่า

“…ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.ต.เฉลิมชัย วุรุฬห์เพชร (ผบ.พล.ร.5-ผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุม) ไม่ได้อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา”

และมีความเห็นต่อไปว่า

“…คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่ติดตามดูแลภารกิจที่ได้มอบหมาย ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติอย่างใกล้ชิด”

เขายังพูดถึงแนวทางในการหาความยุติธรรมต่อไปว่าจะขอให้ตัวแทนครอบครัวผู้สูญเสียทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจ สภ. ตากใบและตำรวจ สภ. หนองจิก ไปตอบคำถามว่าหลังจากรับเรื่องและส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว ขณะนี้สถานะของคดีเป็นอย่างไร ในหนึ่งปีที่เหลือนี้ หากสำนวนของพนักงานสอบสวนยุติแล้ว ประชาชนก็มีสิทธิฟ้องเอง เพื่อเป็นทางออกให้เหตุการณ์ตากใบจนถึงนาทีสุดท้าย

นอกจากนี้อีกช่องทางหนึ่งคือ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย เพราะในกลุ่ม 1,370 คนที่ถูกขนย้ายจาก สภ.ตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหารมีคนที่ถูกซ้อมทรมาน อาดิลันจึงมองเห็นว่าเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้มีการดำเนินคดีได้

“อย่ากลัวตากใบ”

แม้จะผ่านมาถึง 19 ปีแล้ว แต่การพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังทำได้ไม่สะดวกนัก เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ตากใบยังเป็นผู้ควบคุม ‘ความสงบ’ ในพื้นที่

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชวนคิดว่า สังคมจะจัดการอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงจนผู้คนและสังคมเกิดบาดแผล โดยประชาชนมีสิทธิที่จะจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ รัฐไม่ควรพยายามทำให้ประชาชนลืม สุชาติหวังจะเห็นรัฐบาลไทยเป็นตัวอย่างในการมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะยืนหยัดสนับสนุนให้รัฐจดจำเรื่องราวเหล่านี้ การเรียนรู้จากความสูญเสียเป็นเรื่องสำคัญ

สุชาติยังยกว่ามีตัวอย่างในหลายประเทศเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียอย่างกว้างขวางในสังคม การจะเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถจบได้ด้วยการจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการจัดการเชิงโครงสร้างที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำแบบเดิมอีก นอกจากนี้คือต้องจัดการเชิงความสัมพันธ์ ทำให้คนในสังคมเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งแยกกันด้วยความแตกต่าง

“อยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า เราไม่ได้จดจำเพื่อไปล้างแค้น เราเป็นมุสลิม เราถูกสอนว่าให้ยุติการอาฆาตมาดร้าย เราถูกสอนว่าต้องให้อภัย ไม่ว่าคุณทำสิ่งเลวร้ายอย่างไร แต่ขอให้คุณยอมรับในความผิดพลาด ให้ตระหนักว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์บาดแผลเกิดขึ้นอีก อย่ากลัวตากใบเลย มายอมรับความผิดพลาดดีกว่า”

สุชาติบอกว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้าม เขาเคยไปงานเสวนาเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย ก็มีทหารพูดว่า “พ.ร.บ. นี้ทำร้ายเจ้าหน้าที่” แต่ที่จริงแล้วสุชาติชวนมองว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต่างหากที่ทำร้ายชาวบ้าน อีกทั้งยังลอยนวล จึงเป็นเหตุให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

เขายืนยันว่าการพูดถึงเรื่องตากใบได้อย่างเปิดเผยเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การค้นหาความยุติธรรม

“เวทีการพูดเรื่องตากใบต้องมีต่อไป สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้การจัดงานยังเป็นที่หวาดระแวงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของคน นี่คือสิทธิที่จะจดจำ เราไม่ได้ต้องการล้างแค้นผู้คน แต่ต้องการทวงถามถึงความจริงและความยุติธรรม” สุชาติกล่าว

(จากซ้าย) ติชิลา พุทธสาระพันธ์ (ผู้ดำเนินรายการ), พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ, สุชาติ เศรษฐมาลินี และเอกรินทร์ ต่วนศิริ

ถึงเวลาคืนความเป็นปกติให้ชายแดนใต้

หนึ่งปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ความยุติธรรมไม่เกิดในคดีตากใบคือเจ้าหน้าที่สร้างความกลัวแก่ครอบครัวผู้สูญเสียและชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยสถานะพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ทำให้การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย

ในฐานะผู้ที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่าที่ผ่านมารัฐพยายามทำให้เรื่องตากใบเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ไม่อยากให้มีการสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้าน มีการปิดกั้นสื่อมวลชน

ในปีเดียวกับที่เกิดเหตุตากใบก็มีกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไปและเกิดกรณีกรือเซะ เมื่อเกิดเหตุตากใบกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจึงรวมตัวกันมาทำงานในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและหาทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การเข้าถึงการรักษาของผู้ได้รับบาดเจ็บ การระบุตัวตนผู้เสียชีวิต

“มีคนที่เห็นเหตุการณ์บอกว่า คืนวันนั้นฝนตก เขาเห็นน้ำที่ไหลออกมาจากรถที่ขนคน สีน้ำเหมือนสีจากรถขนปลา”

พรเพ็ญบอกว่ามีคน 1,370 คนต้องนอนทับกันเป็นชั้นอยู่บนรถบรรทุกหลายชั่วโมง คนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่าคนเหล่านั้นพยายามขอความช่วยเหลือ แต่ถูกปฏิเสธ จึงทำให้พวกเขาเสียชีวิต

“หากรัฐสามารถยุติการขนส่งบุคคลได้เราจะไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้น จนบัดนี้ยังไม่มีการค้นหาความจริงว่าเป็นการกระทำของใคร เหตุใดไม่มีการดูแลการส่งผู้ต้องสงสัย ใครเป็นผู้สั่งการวิธีการขนส่งแบบนั้น ที่ผ่านมา ทีมทนายพยายามอย่างมาก นำเสนอหลักฐานทุกอย่างที่มี แต่อัยการไม่นำคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันนั้นขึ้นให้การ ทหารที่ไปให้การคือพลขับที่บอกว่าไม่เห็นอะไร ไม่ได้หันหน้าไปมองข้างหลัง

“การเยียวยาที่ดีที่สุดคือการได้รับความจริงจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ แต่มันก็ไม่เกิด การเยียวยาต้องไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถยืนในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีการนำคนผิดมาลงโทษ มีการขอโทษ มีการเยียวยาระยะยาวทั้งต่อบุคคลและสังคม เพื่อให้เหตุนี้ไม่เกิดขึ้นอีก” พรเพ็ญกล่าว

ส่วนเรื่องการเดินหน้าในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พรเพ็ญเสนอว่าในเมื่อตอนนี้เรามีรัฐบาลพลเรือนแล้วก็ต้องคุยกันว่ารัฐบาลใหม่จะริเริ่มเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถทำได้ทั้งเรื่องการเยียวยาและการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ทั้งด้วยคำสั่ง นายกฯ หรือมติ ครม. และควรทบทวนเรื่องเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตที่เคยให้มาหนึ่งครั้งนั้นเพียงพอต่อสภาพความบอบช้ำของชุมชนตลอด 19 ปีนี้หรือไม่

เรื่องอายุความคดีนั้น เธอชี้ประเด็นว่ากรณีตากใบคือเหตุการณ์ที่รัฐมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าคน 1,370 คนที่ถูกลำเลียงเป็นผู้เสียหายจากการซ้อมทรมาน “จนถึงตอนนี้ผู้รอดชีวิตหลายคนยังพูดถึงความเจ็บปวด กลิ่นเลือด กลิ่นฝน เสียงร้องขอความช่วยเหลือของคนอื่นบนรถ เป็นบาดแผลทางจิตใจที่ยังเกิดขึ้น” พรเพ็ญจึงเห็นว่าควรมีการพูดคุยกันว่าในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงไม่ควรมีอายุความ

“ประเทศไทยไม่เคยก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งเลย ตราบใดที่เรายังไม่ก้าวผ่านอำนาจรัฐเดิมไปได้ การจะทำให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศก้าวพ้นอายุความที่ตัวหนังสือระบุไว้ก็คงยาก แต่เรามีตัวอย่างในหลายประเทศที่มีการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงได้ ทั้งที่เวลาผ่านมานานแล้ว”

เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดในสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีคนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่าเจ็ดพันคน โดยมีกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ละเมิดประชาชนได้

“พื้นที่นี้ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามสี่แยกไฟแดงติดภาพประกาศบุคคลที่มีหมายจับโดยไม่มีความจำเป็น เหล่านี้คือการข่มขู่ไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพ จะไปไหนมาไหนก็มีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจคอยถามสร้างความหวาดกลัว เราเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐไม่ปล่อยมือจากกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถ้ากฎหมายเหล่านี้ยังไม่ยุติ เราก็ไม่สามารถเชื่อใจว่ารัฐบาลนี้มีความจริงใจหรือไม่ หรือว่าทหารปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนทำหน้าที่อย่างเต็มที่จริงหรือไม่”

พรเพ็ญยืนยันว่าทางออกสำคัญคือการเจรจาสันติภาพ “ตอนนี้เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ลดลงแล้ว ทุกคนต้องการการเจรจาสันติภาพ ซึ่งเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันจะมีความสำคัญมากต่อการหาทางแก้ปัญหา”

เมื่อตากใบไม่ใช่แค่เรื่องตากใบ

ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาการพูดถึงเรื่องตากใบเกิดขึ้นหลายแง่มุม แต่ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น เช่น ช่วงนั้นใครเป็นรัฐบาล ช่วงนั้นทหารขยายอำนาจมากน้อยเพียงใด แต่จากความพยายามของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมก็ทำให้เรื่องเล่าตากใบเข้าไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆ และเริ่มมีการนับรวมตากใบเข้ากับเรื่องเล่าการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ไม่ถูกตัดขาดเหมือนที่ผ่านมา

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชวนมองว่าที่ผ่านมามีการพูดถึงตากใบในสามระดับ

หนึ่ง ระดับพื้นที่พูดถึงความทรงจำบาดแผลเรื่องตากใบที่รัฐไทยกระทำต่อชนกลุ่มน้อย

สอง ระดับประเทศ ซึ่งคนในสังคมไทยก็มองเรื่องการจัดการชุมนุมแตกต่างกัน เช่น ในช่วงแรกคนที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกมองว่าเข้าข้างโจรใต้ องคาพยพของรัฐพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคนเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ เป็นขบวนการต่อสู้

สาม ระดับนานาชาติ มองเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ในปีที่เหตุการณ์ตากใบครบรอบ 17 ปี การชุมนุมของเยาวชนที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ มีการพูดถึงตากใบเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ทำให้เหตุการณ์ตากใบไม่ใช่เรื่องของคนตากใบอีกแล้ว แต่ถูกนับรวมกับบาดแผลของคนทั้งประเทศ น่าสนใจว่าคนที่พูดคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมาตากใบ แต่ความเจ็บปวดของคนที่นี่เป็นบาดแผลของเขาเช่นเดียวกัน เขาพูดด้วยความเคารพและต้องการทวงความยุติธรรมให้ที่นี่ นี่จึงเป็นหน้าที่ร่วมกันของคนในสังคมที่จะต้องทวงความยุติธรรม”

เอกรินทร์มองว่าตากใบกลายเป็น ‘มรดก’ ที่ทิ้งไว้ให้สังคมต้องจัดการกับความจริง มรดกนี้ประกอบไปด้วยความตายและความอยุติธรรม และยิ่งเวลาผ่านไปเรื่องนี้ก็ยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้น

“เรื่องความยุติธรรม การชดใช้คืนมีหลายแบบ คนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้จะเรียกร้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ชีวิตแลกชีวิต แต่สิ่งที่เขาอยากได้ที่สุดคือความจริง ผมคิดว่าความจริงมีราคาที่สูงมาก แล้วใครจะจ่าย สังคมไทยพร้อมจ่ายไหม รัฐแบบไหนที่จะพูดถึงความจริงที่เจ็บปวดนี้ ความกล้าหาญที่จะพูดความจริงของรัฐเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้คนที่เหลืออยู่ได้ ให้เขาได้รับคำตอบว่าเขาจะอยู่อย่างไร พี่ชายเขาตายอย่างไร ใครเป็นคนฆ่า ชื่อบุคคลเหล่านี้ต้องถูกเรียกขานในฐานะคนที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และคนที่ต้องรับผิดชอบ อาจไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นหน่วยงานที่ออกมาบอกว่าเขามีวิธีคิดแบบใดและจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด ให้มองประชาชนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ว่ามองประชาชนที่นี่เป็นสิ่งด้อยกว่าแล้วต้องจัดการให้เป็นไทย”

เอกรินทร์เห็นว่าการจัดการเรื่องตากใบไม่ใช่เพียงเรื่องอดีต แต่ยังต้องเป็นการจัดการที่เดินหน้าไปสู่อนาคตที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อไม่ให้ทหารกระทำกับประชาชนแบบเหตุการณ์ตากใบได้อีก

“ถ้าระบบทหารยังมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอยู่ ก็ไม่มีความหวังจะทำให้เรื่องตากใบเป็นที่ยอมรับได้ ถ้าเราต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทหารต้องอยู่ใต้ประชาชน”

เอกรินทร์มีสามข้อเสนอที่จะต้องทำต่อไป

1. ต้องมีผู้ตรวจการกองทัพที่มาจากภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และมีการรายงานผล โดยต้องไม่เป็นกรรมการที่ตั้งมาจากฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียว ต้องมีสัดส่วนให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อความโปร่งใส สง่างาม และความเป็นมืออาชีพของทหาร ซึ่งต้องมีการกำกับโดยประชาชน

2. การใช้กลไกอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารสามารถรื้อฟื้นคดีนี้ได้ โดยทำให้คดีตากใบเป็นคดีที่ต้องได้รับการเปิดเผยความจริง เราต้องอาศัยระบบทางการเมือง โดยเฉพาะระบบรัฐสภาเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง

3. การดำเนินการกรณีที่คดีตากใบจะหมดอายุความต้องอาศัยการมีส่วนร่วมดังต่อไปนี้ 1) คนที่ตากใบจะอาสามามีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้ต่อหรือไม่ ถ้าคนตากใบเอาด้วย สังคมไทยก็เอาด้วย อย่าลืมว่าเรามีเพื่อนอีกมหาศาลที่อยากให้สังคมมีความยุติธรรม 2) การเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นแหล่งสถิตของอำนาจประชาชนเพียงแหล่งเดียว เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง 3) การทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในชุมชนนานาชาติถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับการอยู่ร่วมกันของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุมเช่นนี้อีก

เอกรินทร์บอกว่า ในแง่มุมของ ‘เวลา’ หนึ่งปีสุดท้ายที่เหลืออยู่นี้สร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่างมุมมองของเหยื่อและมุมมองของภาครัฐที่กำลังนับถอยหลังเวลาหมดอายุความ และในแง่มุมของ ‘พื้นที่’ ตอนนี้พื้นที่ความทรงจำเรื่องตากใบเปลี่ยนไป คนในพื้นที่อื่นพูดถึงเรื่องตากใบมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์

“เรื่องตากใบไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ตากใบเท่านั้นอีกแล้ว เรื่องนี้อนุญาตให้คนอื่นๆ ในสังคมมารู้สึกร่วมทุกข์ด้วย แล้วคนตากใบหรือคนใต้จะรู้สึกร่วมทุกข์กับประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ไหม เช่น กรณีบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ หรือการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เราจะรู้สึกทุกข์และเดือดร้อนกับเรื่องที่เกิดขึ้นนอกชุมชนมุสลิมได้ไหม เพื่อให้สังคมในอนาคตมีความเสมอหน้า ไม่ว่าคนชาติพันธุ์หรือศาสนาใด ไม่ว่าที่กรุงเทพฯ หรือชายแดน”

เอกรินทร์กล่าวทิ้งท้าย “เวลาหนึ่งปีที่เหลือนี้จะทำงานกับเราและเราจะได้เรียนรู้ร่วมกัน”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save