fbpx

ในวันที่ 17 ของทุกเดือน ไม่ปรากฏปี : แบบฝึกหัดของการเขียนสู่ทุ่งหญ้าของวรรณกรรม

“ฉันอยากจะนิยามความเรียงไว้ว่าเป็นงานที่นำเสนอความจริงใจด้วยความตั้งใจจริง คือจริงใจกับการย้อนคิดถึงเรื่องราวที่สิ้นสุดและอาจกำลังดำรงอยู่ด้วยความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และใช้ใจจริงในการสื่อสารความจริงใจนั้นผ่านศิลปะการเรียบเรียงแบบต่างๆ บ้างเปิดเปลือยอย่างหมดจด บ้างแฝงเร้นเรื่องราวไว้ในคราบความกำกวม…” (หน้า 182)

ข้อความดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทที่ชื่อว่า ‘กว่าจะปิดเล่ม ในวันที่ 17 ของทุกเดือนไม่ปรากฏปี’ โดย หัตถกาญจน์ อารีศิลปะ ผู้เป็น ‘อาจารย์’ ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็น ‘อาจารย์’ ผู้สอนในรายวิชา ‘ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว’ ในปีการศึกษา 2564 ผมอยากชวนสนทนากันก่อนว่าบทดังกล่าวนี้ทำหน้าที่คล้ายกับ ‘คำตาม’ ที่ปรากฏในหนังสือทั่วไป ผมไม่แน่ชัดนักว่า คำตามควรจะมีหน้าที่อะไรในหนังสือต่างจากคำนำที่มักจะบอกภาพรวมของหนังสือเล่มนั้นๆ คำตามอาจเป็นได้ทั้งการวิจารณ์ การชี้ให้เห็นในประเด็นต่างๆ ที่ผู้อ่านอาจมองข้ามไป แต่ข้อความที่ผมยกมาไว้เป็นตอนต้นของบทวิจารณ์ในครั้งนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจในบทที่เป็นเสมือนคำตามนี้ก็คือ การให้นิยามกับประเภทของงานเขียนในหนังสือเล่มที่ตัวมันเอง (บท ‘กว่าจะปิดเล่มฯ’) ดำรงอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้ในการนิยามความหมาย (ไม่ว่าจะจำเป็นหรือไม่ก็ตาม) อาจเป็นสิ่งอยู่ส่วนแรกสุด เป็นคำนำหรือเป็นบทนำมากกว่าจะมาอยู่ท้ายเล่มเช่นนี้[1]

อันที่จริงแล้ว บทเสมือนคำตามของหัตถกาญจน์ที่มาปรากฏท้ายเล่มนั้นอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในฐานะที่หัตถกาญจน์คืออาจารย์ผู้สอนวิชา ‘ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว’ ที่ผลงานของลูกศิษย์ในชั้นเรียนคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ การนิยามว่างานเขียนทั้งหมดนี้คืออะไรและมีที่มาและขั้นตอนการทำงานอย่างไรจึงอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ไม่น้อย

‘ในวันที่ 17 ของทุกเดือนไม่ปรากฏปี’ คือหนังสือรวม ‘ความเรียง’ 13 ชิ้นซึ่งเป็นผลงานของนิสิตในรายวิชา ‘ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว’ ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตทั้ง 13 คนได้รับโจทย์เดียวกันนั่นคือการเขียนความเรียงภายใต้หัวข้อ ‘ในวันที่…’ หัวข้อเช่นนี้อาจจะดูเหมือนเป็นหัวข้อที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก แต่สำหรับอ.หัตถกาญจน์ที่เรียกนิสิตนักเขียนของเขาว่า ‘นักเรียนเขียนเรื่อง’ มันคือหัวข้อที่เปิดโอกาสให้ ‘นักเรียนเขียนเรื่อง’ เหล่านี้ได้ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ชีวิตและเรียบเรียงออกมาเป็นความเรียงด้วยกลวิธีที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่

นิยามของความเรียงที่ อ.หัตถกาญจน์พยายามจะชี้ให้เห็นอีกประการหนึ่งก็คือ งานเขียนประเภทความเรียงสำหรับเธอคือ ‘การคุยกับตนเองจนแจ่มใจ’ ในนิยามนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจมาก และเมื่อมาอ่านผลงานของ ‘นักเรียนเขียนเรื่อง’ ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่า ผลงานความเรียงทั้ง 13 ชิ้นนี้เกิดจากการพิจารณาและใคร่ครวญต่อชีวิตของตนเอง ‘จนแจ่มใจ’ ดังนั้นหัวข้อ ‘ในวันที่…’ จึงไม่ใช่สิ่งที่กว้างขวางเกินไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นศักยภาพของ ‘นักเรียนเขียนเรื่อง’ ออกมาได้อย่างแจ่มชัดมากที่สุด

จากห้องเรียนถึงทุ่งหญ้าวรรณกรรม

‘ในวันที่ 17 ของทุกเดือนไม่ปรากฏปี’ เป็นสิ่งที่น่าประทับใจสำหรับผมในแง่ที่ว่า นี่คือหนังสือที่เป็นผลมาจากการฝึกฝนวิธีการเขียนจากในห้องเรียนของนิสิตในรายวิชา “ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลงานที่ออกมาจากนิสิตคณะอักษรศาสตร์ เพราะโดยทั่วไปแล้วคณะอักษรศาสตร์เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับภาษา วรรณกรรม และมุ่งฝึกฝนให้ผู้เรียนมีความสามารถทางด้านภาษาและวรรณกรรมในระดับสูง แต่หากเรากลับไปพิจารณาว่าในประเทศไทยมีนักเขียนกี่คนที่ ‘เรียน’ จบจากคณะอักษรศาสตร์ เราอาจจะพบว่ามีจำนวนที่น้อยมากๆ นั่นอาจเป็นเพราะ การเรียนการสอนที่ผ่านมาอาจไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสร้าง ‘นักเขียน’ อย่างจริงจัง หรืออันที่จริงเราอาจพูดได้ด้วยว่า ไม่มีหลักสูตรใด หรือสถาบันแบบไหนในประเทศไทยที่มีความมุ่งหมายจะสร้างนักเขียนอาชีพขึ้นมาเลย นักเขียนไทยจึง ‘เรียน’ จบจากคณะอื่นๆ มากกว่า หรือไม่ก็ไม่เรียน ไม่จบอะไรเลยแต่สามารถเป็นนักเขียนที่น่าสนใจได้

ผมไม่คิดว่า รายวิชา ‘ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว’ ของอ.หัตถกาญจน์จะเป็นวิชาที่สร้างนักเขียนให้แวดวงวรรณกรรมได้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำทั้งในเวลานี้และในอนาคต นิสิตทั้ง 13 คนนี้อาจไม่ได้ทำงานเขียนอีกต่อไปก็ได้ ความสำคัญของการรวมพิมพ์ความเรียงที่เป็นผลงานของนิสิตทั้ง 13 คนนั้นอาจไม่ได้อยู่ที่เป็นการสร้างนักเขียนหน้าใหม่ แต่มันคือการแสดงให้เห็นความพยายามในการฝึกฝนทักษะในด้านการเขียนภายใต้ข้อจำกัดทางด้านเวลา เพราะการจะเป็นนักเขียนนั้นไม่อาจทำได้จากเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งเพียงสามสี่เดือนเท่านั้นเพราะมันต้องใช้เวลาที่ยาวนานสำหรับบางคนอาจหมายถึงตลอดชีวิตเพื่อทำงานและพิสูจน์ความเป็นนักเขียนของตนเองผ่านการทำงานเขียน

ประเด็นที่ผมอยากชวนให้คิดต่อก็คือ การเรียนการสอน ‘ภาษาไทย’ ในปัจจุบันนั้น ผมคิดว่าอาจต้องพิจารณาใหม่ทั้งระบบ ผมอยากเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งผมเคยคุยกับเด็กนักเรียนมัธยมปีที่ 2 จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เธอถามผม (ในฐานะที่ ‘เคย’ เป็นอาจารย์ทางด้านวรรณกรรมซึ่งก็น่าจะมีความรู้เรื่องภาษาอยู่บ้าง) ว่าเราจะพิจารณา ‘พยางค์ปิด พยางค์เปิด’ ได้อย่างไร ผมฟังแล้วก็อึ้ง เพราะผมไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไมด้วย มันจำเป็นต่อการใช้ภาษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือการสื่อสารหรือไม่ เราจะมานั่งพิจารณากันไหมว่าทุกประโยคที่กำลังจะพูดมันคือพยางค์ปิดหรือเปิด หรือแม้แต่เราเขียนเรียงความ เขียนในชีวิตประจำวัน ทำเอกสารในที่ทำงาน (ห่าเหว) อะไรคือพยางค์ปิดและพยางค์เปิด!!! ผมอยากชี้ชวนให้คิดว่าที่ผ่านมาวิชาภาษาไทยในประเทศไทยสอนอะไรให้กับผู้เรียน!!!

ผมคิดว่าการเรียนวิชา ‘ภาษา’ ใดๆ ก็ตามในประเทศไทยนั้นประสบความล้มเหลวมาตลอด[2] คนที่ประสบความสำเร็จในวิชาภาษาที่ผมพบในชีวิตจำนวนมากล้วนเรียนรู้การใช้ภาษาจากสิ่งที่อยู่นอกระบบการศึกษาทั้งสิ้น ความล้มเหลวที่ว่านั้นมันมาจากการมองไม่เห็นว่าภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร หลักภาษา ไวยากรณ์ในภาษา คือโครงสร้างของภาษาที่ช่วยให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมาย การเรียนภาษาใดๆ ในประเทศไทยนั้นไม่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างเป็นระบบหรือมีความชัดเจนในการสื่อสารมากไปกว่าการเรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษา ‘บ้าๆ บอๆ’

ผมเชื่อว่า การศึกษาภาษาใดๆ ก็ตามจะเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดก็ต่อเมื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รู้จักวิธีการสื่อสารให้ชัดเจนและเป็นระบบ มีความกล้าหาญที่จะใช้ถ้อยคำ ประโยค หรือรูปประโยคใหม่ๆ โดยที่ยังคงสามารถ ‘สื่อสาร’ ได้

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเห็น ‘ในวันที่ 17 ของทุกเดือนไม่ปรากฏปี’ ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ผมจึงรู้สึกว่าการเรียนภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทยนั้นมาถูกทางหรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นไปอย่างที่การเรียนภาษาในสังคมที่เจริญแล้วเขาทำกัน นั่นคือมุ่งเน้นให้เกิดการสื่อสารได้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างที่ดีของการเรียนการสอนในวิชาที่ว่าด้วย ‘การเขียน’ ในสังคมไทย คือไม่ใช่เขียนและอ่านกันแต่ในชั้นเรียนแลกเปลี่ยนกันแค่ผู้เรียนกับผู้สอน แต่หากผู้เรียนมีศักยภาพมากพอที่งานของตัวเองจะสื่อสารกับคนอื่นๆ นอกชั้นเรียนได้มากขึ้นและผู้สอนมองเห็นศักยภาพดังกล่าวนั้น งานเขียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนก็อาจจะกลายเป็นสารตั้งต้นของงานเขียนที่ดีในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม ‘ความเรียง’ ทั้ง 13 ชิ้นที่ปรากฏในเล่มนี้จะไม่ใช่งานเขียนชั้นเลิศ มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ในระดับที่สูงส่งจนผู้อ่านทั่วๆ ไปต้องปีนบันไดไปอ่าน ผมอ่านความเรียงทั้งหมดนี้บนฐานความคิดที่ว่า นี่คือแบบฝึกในชั้นเรียน นี่คือแบบฝึกหัดที่สำคัญของวิชาการเขียน และต้องอาศัยความกล้าหาญของทั้งผู้เรียนและผู้สอนมากๆ ที่ช่วยกันเข็นให้หนังสือเล่มนี้ออกมาสู่สายตาคนอ่านทั่วไป พวกเขาและเธออาจจะได้เจอกับคำวิจารณ์ที่รุนแรง แต่ท้ายที่สุดในฐานะที่ความเรียงทั้งหมดนี้คือ ‘การคุยกับตนเองจนแจ่มใจ’ แล้วจึงค่อยถ่ายถอดออกมาให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ด้วย ผมคิดว่า ‘ในวันที่ 17 ของทุกเดือนไม่ปรากฏปี’ คือตัวอย่างที่ดีของทั้งการเรียนภาษาและเป็นผลลัพธ์ที่ดีของการกลั่นกรองประสบการณ์ของผู้เขียนออกมาเป็นภาษาที่เรียบง่าย สละสลวยและสมบูรณ์ในตัวเอง

(ในบางบทนั้นผมคิดว่ามีความดีเด่นทางด้านภาษามากกว่านักเขียนอาชีพหลายๆ คนเสียอีก ผมแนะนำให้อ่าน  ‘ในวันที่เราทำอาหาร: หรือกวีนิพนธ์บนจาน IKEA สีขาว’ และ ‘ในวันที่ใจไม่ได้กลิ่น’)

ความสิ้นหวัง/เศร้าโศกและการตระหนักถึงตนเอง

หลังจากได้อ่านความเรียงทั้ง 13 ชิ้นของนักเรียนเขียนเรื่องแล้ว สิ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือเกือบทุกเรื่องจะมีสิ่งที่ยึดโยงร่วมกันอยู่ประการหนึ่งนั่นก็คือแก่นเรื่องเกี่ยวกับความหมองหม่น/สิ้นหวัง/และโศกเศร้าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก ‘ความไม่มั่นใจในตัวเอง’ ของผู้เขียนแทบทั้งสิ้น ผมคิดว่านอกจากเราจะได้เห็นว่านักเรียนเขียนเรื่องทั้ง 13 คนนั้นมีวิธีการ เทคนิคที่แตกต่างกันในการนำเสนออย่างไรบ้างแล้ว เราจะได้เห็นด้วยว่าทัศนคติที่เขามีต่อทั้งตนเองและโลกนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความเรียงที่อ่านแล้วชวนให้ผู้อ่านมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปอย่าง ‘แสนสุข’ แต่มันคือความเห็นที่พวกเขาและเธอมีต่อตนเองและโลกมันคือประสบการณ์ที่ถูกกลั่นกรอง คัดสรรและรีดเค้นมันออกมาเป็นความเรียง มันชวนให้ผู้อ่านเข้าใจพวกเขาและเธอมากกว่าที่จะประเมินว่าทำไมนักเรียนเขียนเรื่องเหล่านี้ถึงมีแต่เรื่องเศร้าหมองในชีวิตกันนะ

อนึ่ง เราอาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานเขียนประเภทความเรียงไม่ใช่งานเขียนที่มุ่งเทศนาผู้คน ผมคิดว่าเราอาจต้องกลับไปที่การนิยามความเรียงของอ.หัตถกาญจน์ในตอนต้นที่ผมยกเอามาไว้ก่อน สิ่งที่เรากำลังอ่าน คือการความเข้าใจตนเองของผู้เขียนอย่างซื่อสัตย์และความพยายามในการสื่อสารกับคนอื่นอย่างจริงใจ ดังนั้นมันคือการทำความเข้าใจประสบการณ์ชุดหนึ่งของผู้คน แต่ที่ทำให้ประสบการณ์ชุดนี้น่าสนใจอาจเป็นเพราะพวกเขาคือนิสิตนักศึกษา คือคนรุ่นใหม่ในสังคมของเรา ผมไม่มั่นใจนักว่าความเรียงทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้นไหม แต่หนังสือเล่มนี้ก็อาจเป็นอีกเวทีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่กำลัง ‘ประกาศความรู้สึกและประสบกาณ์ของตนเอง’

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ทัศนคติที่เขามีต่อตนเองและโลกนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกัน แต่เป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่าตัวพวกเขาและเธอในฐานะปัจเจกบุคคลไม่สามารถแยกขาดจากสังคมและโลกที่พวกเขาและเธอดำรงอยู่ได้ ในจุดนี้ผมคิดว่าความเรียงทั้ง 13 ชิ้นทำได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะงานเขียนที่ดีนั้นทั้งรูปแบบและกลวิธีในการนำเสนอกับเนื้อหาหรือสิ่งที่กำลังเสนออยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรแยกขาดออกจากกัน วิธีการเขียนของพวกเขาและเธอมีความกลมกลืนและแนบเนียนไปกับตัวเรื่องที่กำลังเล่าอยู่ มีความพอดิบพอดีในการเล่า ไม่โชว์เทคนิคการเล่ามากไปกว่าความพยายามในการรักษาน้ำเสียงในตัวเรื่องที่สม่ำเสมอ

จุดเริ่มต้นของอารมณ์ทางด้านลบที่ปรากฏในความเรียงแต่ละชิ้นนั้นคือเรื่อง ‘ความไม่มั่นใจในตัวเอง’ ในแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาได้ว่า ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่มีความมั่นอกมั่นใจในการทำอะไรสักอย่างเลยนั้นอาจมาจากความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่มีความปลอดภัยที่จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เช่นในเรื่อง ‘ในวันที่ไม่อยากขยับตัว’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกกลัวที่จะถูกวิจารณ์นั้นเป็นอุปสรรคในการขวางกั้นสิ่งที่อยากจะทำ หรือ ‘ในวันที่ปล่อยให้ลูกโป่งหลุดมือ’ ว่าด้วยความไม่มั่นใจเกิดจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้ดีหรือไม่ดี นอกจากนี้ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยจนนำไปสู่ความไม่มั่นใจในตัวเองนั้นยังถูกบอกเล่าในฐานะที่เป็นเหมือนผี อสูรกาย ที่คอยตามหลอกหลอนเราอยู่ตลอดเวลา ดังปรากฏในเรื่อง ‘ในวันที่ฉันเจอผีอำ’ และ ‘ในวันที่อสูรกายจะกลับมา’ อีกด้วย

ผมอยากชวนผู้อ่านคิดตามต่อไปว่า หากความเรียงทั้ง 13 ชิ้นนี้คือการคุยกับตนเองจนแจ่มใจและนำเสนอออกสิ่งที่ผ่านการสนทนาออกมาเป็นตัวหนังสือแล้ว เราจะเห็นกระบวนการในการตกผลึกกับตัวเอง ใคร่ครวญต่อประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล การเชื่อมโยงตัวเองกับโลกภายนอก การบ่มเพาะโลกทัศน์ที่มีต่อตนเองและโลกที่ดำรงอยู่ การหล่อหลอมตัวตนของพวกเขาและเธออาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในเพียงอย่างเดียวแต่โลกภายนอกหรือโลกของความเป็นจริงที่พวกเขาและเธอดำรงอยู่มีส่วนสำคัญในการสภาวะภายในตัวตนของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ผมเห็นต่อมาก็คือ พวกเขาและเธอต่างเห็นและตระหนักในกระบวนการในการสร้างตัวตนดังกล่าวนี้ทั้งจากภายในและภายนอก จากนั้นพวกเขาไม่ได้มองมันอย่างแยกส่วน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

แม้กระนั้นก็ตาม โลกของพวกเขาและเธอช่างเศร้าหมองและสิ้นหวังเสียเหลือเกิน…

‘ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน’ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่าในสังคมไทยนั้น ความหวังของคนไทยที่จะลืมตาอ้าปากได้ไม่ใช่การทำงานหนัก แต่เป็นวันที่หวยออกทุกวันที่ 1 และ 16 ต่างๆ อาจฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือเป็นการเสียดสีแต่น้ำเสียงที่ผู้เขียนนำเสนอออกมานั้นกลับเป็นเสียงของความสิ้นหวังมากกว่าตลกร้าย

“ก็คงจะจริงที่ว่า ถ้าหวยทำให้รวยได้จริง หลายคนคงรวยไปนานแล้ว แต่ที่น่าจะไม่จริง ก็คงเป็นเรื่องที่สอนกันว่า การขยันทำงานเก็บเงินจะทำให้รวยหรือเปล่าหนอ… ก็ถ้าตั้งใจทำงานเก็บเงินทำให้รวยได้จริง หลายคนที่ขยันทำงานตัวเป็นเกลียวก็คงรวยไปนานแล้ว ไม่ใช่หรือ? …” (หน้า 92)

ผมชอบการทิ้งท้ายของความเรียงชิ้นนี้ที่กล่าวว่า

“ประเทศที่ทำให้คนในชาติตั้งตารอวันออกสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างใจจดใจจ่อมากยิ่งกว่าเทศกาลอื่นใดทั้งหมด ประเทศที่ร้างวันแห่งความหวังของคนในชาติให้มีได้แค่สองวันต่อเดือน ประเทศที่ทำให้คนในชาติให้ความสำคัญกับการเสี่ยงโชคได้ในทุกย่างก้าวของการดำเนินชีวิต เป็นประเทศที่น่าทึ่งมากเลยไม่ใช่หรือ?

   “ก็ประเทศนี้น่ะ ถ้าไม่รวยก็อยู่ไม่สนุกหรอกคุณ” (หน้า 92)

สิ่งที่เราจะเห็นได้จากการอ่านความเรียงทุกชิ้นก็คือคำถามที่พวกเขาและเธอโยนมาให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ท่านๆ ได้ขบคิดว่า ประเทศแบบไหนกันหนอที่บั่นทอนพละกำลังและจิตใจของคนรุ่นใหม่ได้มากมายขนาดนี้? ผมอยากจะเสริมด้วยว่า ไม่ใช่ว่าประเทศนี้ถ้าไม่รวยก็อยู่ไม่สนุกหรอก แต่เป็นประเทศที่การเติบโตมาเป็นคนปกติและมีศักยภาพในด้านต่างๆ ได้ต้องใช้พละกำลังและจิตใจที่เข้มแข็งมากกว่าคนรุ่นก่อนมากนัก เพราะคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความเฮงซวยในทุกย่างก้าวชีวิตตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน และสังคมภายนอก

นี่คือประเทศแบบไหนกันหนอ?

ความส่งท้าย

ความรู้สึกที่ผมมีต่อหนังสือเล่มนี้คือความประทับใจในตัวผู้เขียนและความชื่นชมต่อคณะผู้จัดทำและบรรณาธิการ เพียงแต่ผมคิดว่ามีสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหากับผมในฐานะคนอ่านอยู่พอสมควรนั่นก็คือ ในทุกๆ บทจะมีข้อเขียนสั้นๆ เหมือนเป็นการแสดงความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้อ่านไป ผมมีคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าข้อเขียนเล็กๆ ชิ้นนี้ทำหน้าที่อะไรในหนังสือ ทำหน้าที่เหมือนเป็นคำตามแต่ละบทก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว หรือจะเป็นลักษณะของการสั่งสอน ปลอบประโลม รับฟัง เหมือนกับว่ามีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่คอยอ่านความเรียงทุกชิ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับข้อเขียนทุกชิ้น ผมคิดว่ามันอาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก นั่นเป็นเพราะว่าตัวความเรียงเองมีศักยภาพที่จะสื่อความหมายอยู่แล้ว การมีข้อเขียนตามหลังมาทำให้ผมรู้สึกว่าอาจเป็นสิ่งที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ความเรียงมีความชัดเจนขึ้น (ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นอยู่ดี) ยังทำให้น้ำเสียงของหนังสือเล่มนี้เหมือนหนังสือธรรมมะปลอบประโลมจิตใจของทั้งผู้เขียนและผู้อ่านอีกด้วย ปัญหานี้อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเพียงคนเดียวก็ได้และอาจเป็นเพราะผมนั้นออกจะเบื่อหนังสือธรรมะแบบไทยๆ เสียเหลือเกิน มันเลยไป ‘trigger’ อารมณ์ผมในขณะที่อ่านอยู่พอสมควร


[1] อย่างไรก็ตาม ความสนใจของผมเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของบท ““กว่าจะปิดเล่มฯ” นี้ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรใดๆ ทั้งสิ้น บางทีอาจเป็นการแสดงอภินิหารในการเขียนของผมเฉยๆ อย่างที่นักเขียนไทยมือฉกาจฉกรรจ์ทั้งหลายชอบทำกัน

[2] แน่ล่ะ เรื่องนี้ใครๆ ก็ทราบ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save