fbpx

17 ปีสันติภาพที่อาเจะห์: สำรวจมุมมองและท่าทีของฝ่ายต่างๆ  

วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2005 รัฐบาลอินโดนีเซียและขบวนการอาเจะห์เอกราช (Gerakan Aceh Merdeka) บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการยุติความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำเนินในพื้นที่จังหวัดอาเจะห์มาเกือบสามทศวรรษตั้งแต่ค.ศ. 1976 โดยได้ลงนามใน Memorandum of Understanding หรือที่ทั้งชาวอินโดนีเซียและอาเจะห์เรียกกันย่อๆ ว่า MoU หรือ MoU Helsinki ตามชื่อสถานที่ที่มีการลงนามกันที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยมีอดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ มาร์ตติ อาห์ติซารี (Martii Ahtisaari) เป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและเจรจาสันติภาพ MoU นี้นำสันติภาพและความสงบมาสู่อาเจะห์ อย่างน้อยที่สุดคือการสู้รบระหว่างทหารอินโดนีเซียและขบวนการ GAM ยุติลง อาเจะห์ไม่ใช่ ‘พื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร’ ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษอีกต่อไป ด้วย MoU ฉบับนี้ทำให้อาเจะห์มีสถานะเป็นจังหวัดปกครองพิเศษ มีกฎหมายเฉพาะสำหรับจังหวัดอาเจะห์ และที่อาเจะห์ยังเป็นจังหวัดเดียวในประเทศอินโดนีเซียที่สามารถก่อตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นและลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับชาติได้

วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2022 มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 17 ปีสันติภาพที่อาเจะห์ที่สวนราตูซาเฟียตุดดิน (Taman Ratu Safiatuddin) เมืองบันดา อาเจะห์ จังหวัดอาเจะห์ ในงานรำลึกถึงวันสันติภาพที่อาเจะห์ในปีนี้ไม่มีผู้เจรจาสันติภาพที่เป็นตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเหมือนช่วงปีแรกๆ ที่มีจัดงานรำลึกวันสันติภาพ ยกเว้น มาลิค มะห์มุด (Malik Mahmud) ที่ในปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ‘วารี นังโกร’ (Wali Nanggroe)[1] เข้าร่วม ในงานดังกล่าวมีการมอบโฉนดที่ดินให้แก่บรรดาอดีตนักรบ GAM และเหยื่อความรุนแรงที่อาเจะห์จำนวน 1,400 คน ที่ดินรวม 2,800 เฮคตาร์ การจัดสรรที่ดินให้แก่บรรดาอดีตนักรบ GAM อดีตนักโทษการเมือง และพลเรือนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นหนึ่งในข้อตกลงใน MoU Hensinki[2] ผ่านไป 17 ปีหลังกำเนิด MoU ผู้เขียนอยากชวนมาสำรวจว่าแต่ละฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสันติภาพที่อาเจะห์ให้ความสำคัญกับสิ่งใดในห้วงเวลาที่สันติภาพดำเนินมาเป็นเวลาถึง 17 ปีแล้ว

เสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ชาวอาเจะห์ที่เมื่อ 17 ปีที่แล้วยังโตไม่ทันพอจะรู้ความมากนักสะท้อนความคิดเห็นของเขาต่อ 17 ปีหลังการลงนามในสัญญาสันติภาพอาเจะห์ด้วยการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด ทั้งที่มี MoU Helsinki มาถึง 17 แล้วอาเจะห์ยังถูกบันทึกว่าเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในเกาะสุมาตรา สาเหตุนั้นเป็นเพราะเนื้อหาใน MoU ไม่ถูกดำเนินการอย่างจริงจังหรือเปล่า และยังตั้งคำถามต่อไปว่าพื้นที่อาเจะห์มีสันติภาพแล้วจริงๆ หรือสำหรับสามัญชนอาเจะห์ เพราะสถิติต่างๆ บ่งบอกว่าอาเจะห์กำลังมีปัญหา ตัวเลขการว่างงานที่อาเจะห์สูงมาก ไม่มีตำแหน่งงาน ชาวอาเจะห์ต้องทำงานในที่ดินของคนอื่น และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปขายแรงงานที่ต่างประเทศ[3]

ท่าทีของฝ่ายรัฐบาล: อินโดนีเซียต้องเป็นหนึ่งเดียว[4]

รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงมีความเห็นว่าสันติภาพที่อาเจะห์ไม่ได้เป็นแค่ความพยายามที่จะหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น หากเป็นการสร้างอินโดนีเซียในรูปแบบของรัฐเดี่ยวที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตด้วย นอกจากนั้นเขายังอธิบายเพิ่มเติมว่าสำนึกของชาวอาเจะห์ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียเสียด้วยซ้ำ ในปี 1930 เกิดคำว่า ‘อินโดนีเซีย’ ในเพลงพื้นถิ่นอาเจะห์และเพลงในพื้นที่อื่นๆ เช่นกันที่สะท้อนถึงการมองภาพอินโดนีเซียอันมีความเป็นหนึ่งเดียว

          ท่าทีฝ่ายนักการเมืองท้องถิ่นอาเจะห์: สันติภาพที่อาเจะห์คือชัยชนะของพวกเราทุกคน

ในงานรำลึกครบรอบ 17 ปีประธานสภาผู้แทนประชาชนอาเจะห์ซึ่งเป็นอดีตนักรบ GAM กล่าวว่าวันที่ 15 สิงหาคมเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวอาเจะห์ เป็นวันที่สองฝ่ายที่เป็นศัตรูกันเห็นพ้องต้องกันที่จะยุติความขัดแย้งทางอาวุธแล้วหันไปหาการเจรจา เขายังได้เชิญชวนอดีตนักรบ GAM รวมทั้งอดีตทหารอาเจะห์และพลเรือนขบวนการ GAM ให้ตระหนักว่า ตอนนี้อาเจะห์ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หลังสัญญาสันติภาพจะไม่มีความคิดเรื่องเป็น ‘เอกราช’ อีก และเน้นย้ำว่าวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งถือเป็นวันเกิดสันติภาพถือเป็นวันแห่งชัยชนะของทุกคน[5]

ท่าทีของอดีตนักรบGAM: สันติภาพต้องไปต่อ

วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2022 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ MoU อดีตนักรบ GAM พร้อมกับประธานคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอาเจะห์ (KPA) และตัวแทนพรรคอาเจะห์ (PA) ของเมืองล็อคเซอมาเว (Lhokseumawe) ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจเมืองล็อคเซอมาเวเพื่อส่งมอบธงตราพระจันทร์และดาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ GAM, สำเนากฎหมายรัฐบาลอาเจะห์หนึ่งฉบับ และสำเนา MoU ให้แก่ตำรวจ[6] อดีตนักรบและตัวแทนจาก KPA และ PA (ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คืออดีตสมาชิกขบวนการ GAM) ยังได้แถลงว่าส่งการมอบสิ่งของต่างๆ นี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของพวกเขาที่สนับสนุนสันติภาพที่อาเจะห์อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม อดีตนักรบขบวนการ GAM ไม่ได้มีความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด มีบางส่วนที่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของอินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงต้องการให้อาเจะห์เป็นเอกราชไม่ใช่จังหวัดปกครองพิเศษดังเช่นในปัจจุบัน แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์สุมาตรา (Acheh-Sumatra National Liberation Front) หรือ ASNLF ซึ่งเป็นอีกชื่อของขบวนการ GAM ในปัจจุบันยังเคลื่อนไหวต่อในเวทีระหว่างประเทศเรียกร้องเอกราชของอาเจะห์ ในขณะที่ขบวนการ GAM ถูกยุบไปแล้วตามข้อตกลงใน MoU Helsinki

          “อย่าว่าแต่ฟื้นกลับคืนมา, แม้แต่จำยังไม่จำเลย”: เสียงจากเหยื่อสงครามอาเจะห์[7]

“ฉันถูกลาก, ถูกตะคอก, ถูกทุบตีด้วยอาวุธ, ถูกล่วงละเมิดต่อหน้าลูกฉันด้วยซ้ำ”, “ฉันเศร้ามากในช่วงเวลาดังกล่าว (ช่วงความขัดแย้ง), สิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อฉัน” ส่วนหนึ่งของจดหมายนับสิบฉบับที่ถูกเขียนโดยเหยื่อความรุนแรงในโครงการ ‘Letter of Hope’ ที่ริเริ่มโดยเยาวชนอาเจะห์เพื่อรำลึกถึง 17 ปีของ MoU Helsinki ซึ่งพวกเขายอมรับว่าไม่พอใจกับสันติภาพอาเจะห์ที่ดำเนินมา 17 ปี รวมถึงทิศทางสันติภาพที่จะไปต่อในอนาคต พวกเขาเห็นว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิง, เยาวชน และเหยื่อความรุนแรงในกระบวนการสันติภาพอาเจะห์นั้นยังน้อยเกินไป

ท่าทีจากฝ่ายนักสิทธิมนุษยชน

นักสิทธิมนุษยชนค่อนข้างผิดหวังกับกระบวนการสันติภาพที่อาเจะห์โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การอภัยโทษ และการนำสมาชิกขบวนการ GAM กลับคืนสู่สังคม ตลอดจนการคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างทุกฝ่าย ปี 2013 มีการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเจะห์เพื่อพิจารณากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทุกฝ่ายซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ระบุไว้ใน MoU Helsinki ปี 2017 เริ่มมีกิจกรรม แต่จนถึงปี 2022 ก็ยังไม่มีการความก้าวหน้าในเรื่องการพิจารณาคดีโดยศาลสิทธิมนุษยชนอาเจะห์ นอกจากนี้คณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดองก็ตั้งขึ้นมาได้จากการผลักดันของประชาชนเช่นเดียวกับศาลสิทธิมนุษยชน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจและจริงจังในการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามความขัดแย้งในอาเจะห์ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลท้องถิ่นอาเจะห์เอง ทั้งนี้เนื่องจากว่าในช่วงความขัดแย้งนั้นทั้งสองฝ่ายมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรง ทรมาน และสังหารฝ่ายตรงข้าม หนึ่งในเสียงสะท้อนจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนว่า รัฐบาลอาเจะห์ไม่เพียงแค่ไม่ชดเชยให้กับบรรดาเหยื่อความรุนแรงหากแต่ดูเหมือนไม่ต้องการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้น ทั้งเวลาผ่านมาถึง 17 ปี เรื่องทั้งหมดควรได้รับการสะสางเรียบร้อยแล้ว[8]

ประเด็นความขัดแย้ง ความรุนแรง และจำนวนเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นปมที่ยังสางไม่ออกสำหรับกระบวนการยุติธรรมที่อาเจะห์ ในรายงานของ ‘ฟอรั่มใส่ใจสิทธิมนุษยชน’ (Forum Peduli Ham) ระบุว่าในช่วงที่อาเจะห์ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร (Daerah Operasi Militer) มีพลเรือนอาเจะห์ถูกสังหารอย่างน้อย 15,000 คน มีผู้ถูกบังคับสูญหาย 1,958 คน มีผู้หญิงและเด็กถูกข่มขืน 128 ราย มีผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 81 ราย บ้านเรือนประชาชนถูกเผา 597 หลัง มีผู้พิการทุพพลภาพซึ่งรวมถึงเด็ก 16,375 คน และมีสุสานฝังศพที่ถูกสังหารหมู่ 23 แห่ง[9] นี่คือตัวเลขที่เป็นทางการ แต่เสียงจากเหยื่อเองและบรรดานักสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีมากกว่านี้และเหยื่อหลายรายบอกว่าพวกเขาเองไม่เคยได้รับการชดเชยใดๆ อีกทั้งกรณีของพวกเขาไม่เคยถูกนับรวมเข้าเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นที่อาเจะห์

กระบวนการสันติภาพอาเจะห์ไม่ได้เริ่มต้นหลังจากเกิดเหตุกาณ์คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มอาเจะห์ราบเป็นหน้ากลองเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 หากแต่มีการเจรจากันลับๆ อย่างต่อเนื่องระหว่างฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียและฝ่ายขบวนการ GAM ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานหลายปี สึนามิช่วยย่นเวลาของสันติภาพให้มาถึงเร็วขึ้น กระบวนการสันติภาพว่ายาวนานแล้ว แต่กระบวนการรักษาสันติภาพอาจจะยาวนานกว่า แม้จะผ่านมาถึง 17 ปีแล้ว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ระบุใน MoU ยังไม่ได้ถูกปฏิบัติตามข้อตกลง ข้อเรียกร้องซึ่งถือเป็นธีมหลักในการรำลึกวันสันติภาพในปีนี้คือชาวอาเจะห์ต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซีย (และรัฐบาลท้องถิ่นอาเจะห์ป ใส่ใจและมีความจริงจังกับข้อตกลงต่างๆ ที่ระบุใน MoU ให้มากกว่านี้เพื่อให้อาเจะห์สามารถพัฒนาและมีอนาคตที่ดีกว่านี้


[1] ตำแหน่ง ‘วารี นังโกร’ เทียบได้กับตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นตำแหน่งทางจารีตดั้งเดิมและเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าชาวอาเจะห์มีสิทธิพิเศษในการปกครองตัวเอง อย่างไรก็ตามที่อาเจะห์มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ทำหน้าที่บริหารงานราชการในจังหวัดอาเจะห์ ตำแหน่งวารี นังโกรธจึงเป็นเพียงผู้นำตามขนบประเพณีและวัฒนธรรมอาเจะห์ ไม่มีบทบาททางการเมือง

[2] Daspriani Y. Zamzami, “17 Tahun Peringatan Damai Aceh, 1.400 Eks KOmbatan Terima Lahan 2.800 Kektar,” Kompas.com, https://regional.kompas.com/read/2022/08/15/181134478/17-tahun-peringatan-damai-aceh-1400-eks-kombatan-terima-lahan-2800-hektar

[3] Akhyar, “Merenungi Sejenak 17 Tahun Perdamian Aceh dan Arti MoU Helsinki di Tengah Himpitan Kemiskinan,” Dialeksis.com, https://www.dialeksis.com/aceh/merenungi-sejenak-17-tahun-perdamaian-aceh-dan-arti-mou-helsinki-di-tengah-himpitan-kemiskinan/

[4] Riana Rizkia, “Peringati 17 Tahun Aceh Damai, Mahfud MD Bicara Keutuhan Bangsa,” Sindonews.com, https://nasional.sindonews.com/read/856835/12/peringati-17-tahun-aceh-damai-mahfud-md-bicara-keutuhan-bangsa-1660561726

[5] Agus Setyadi, “17 Tahun Damai Aceh, Ketua DPRA: Ini Hari Kemenangan Kita Bersama,” Detik.com,  https://www.detik.com/sumut/berita/d-6235002/17-tahun-damai-aceh-ketua-dpra-ini-hari-kemenangan-kita-bersama

[6] Masriadi, “17 Tahun Damai Aceh, Eks Kombatan GAM Serahkan Bendera Bulan Bintang ke Polisi,” Kompas.com, https://regional.kompas.com/read/2022/08/15/182219778/17-tahun-damai-aceh-eks-kombatan-gam-serahkan-bendera-bulan-bintang-ke

[7] Rino Abonita, “Setelah 17 tahun perdamaian di Aceh: ‘Jangankan pulih, diingat pun tidak,’ BBC News Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/articles/c04kjelld98o

[8] Akhyar, “17 Tahun Damai Aceh, KontraS Tegaskan Pemerintah Harus Buat Pengakuan Akui Korban Konflik,” Dialeksis.com, https://www.dialeksis.com/aceh/17-tahun-damai-aceh-kontras-tegaskan-pemerintah-harus-buat-pengakuan-akui-korban-konflik/

[9] Rino Abonita, “Setelah 17 tahun perdamaian di Aceh: ‘Jangankan pulih, diingat pun tidak,’ BBC News Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/articles/c04kjelld98o

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save