fbpx

โลก 20 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร? มองการเมืองโลกแบบมองไกล และมองประเทศไทยแบบจงเตรียมพร้อม

หากเราเปรียบโลกใบนี้คือโรงละคร แสงไฟที่สาดส่องไปบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศก็กำลังฉายไปยังตัวแสดงที่เป็นรัฐ (state actor) อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะ ‘รัฐมหาอำนาจ’ ในด้านหนึ่ง มหาอำนาจอย่างรัสเซีย ซึ่งมีเครื่องมือในการดำเนินนโยบายหลากหลาย แต่กลับเลือกใช้เครื่องมือสุดคลาสสิกอย่างการทำสงครามแบบดั้งเดิม (conventional warfare) ที่ใช้กำลังทหารรบรากัน ขณะที่ในโลกใบเดียวกัน มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับจีนก็กำลังแข่งขันฟาดฟันกันในทุกทุกสมรภูมิ ยกเว้นการใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบ

บทบาทของมหาอำนาจปรากฏอยู่ในแทบทุกฉากของโรงละคร แม้แม่น้ำ Potomac ของสหรัฐฯ ห่างไกลจากแม่น้ำโขงออกไปกว่าหมื่นกิโลเมตร แต่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็กลายเป็นสนามแข่งขันพลังทางการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอีกพื้นที่หนึ่ง คำถามมีอยู่ว่า ประเทศไทยซึ่งต้องเข้าไปมีบทบาทในฉากเหล่านี้จะอยู่ตรงไหน มีบทบาทเช่นไร และบทบาทนี้จะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างไร?

คำตอบนี้ยึดโยงอย่างแยกไม่ออกกับการเมืองโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลที่คณะผู้เขียนได้ทำวิจัยเรื่อง ‘โครงสร้างขั้วอำนาจโลกในอนาคต 20 ปี’ ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา และต่อไปนี้ก็คือบางส่วนของผลงานวิจัยชิ้นนี้ที่อยากนำเสนอ (ขอรับงานวิจัยได้จากลิงก์ท้ายบทความ)

การเมืองโลกใน 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ?

การคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องปกติธรรมดาของแวดวงความมั่นคงระหว่างประเทศ และอนาคตที่ถูกคาดการณ์ไว้ก็มีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าใครใช้ ‘แว่นตา’ แบบไหนในการคาดการณ์ และ ‘แว่นตา’ นั้นใกล้เคียงและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันมากแค่ไหน

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักสภาพจริงนิยมใหม่ (Neorealism) คิดเห็นว่าการจับกลุ่มจับขั้วของรัฐมหาอำนาจเป็นปัจจัยที่กำหนดสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศว่าจะเป็นเช่นใด และการเข้าใจโครงสร้างอำนาจโลก (global power structure) และความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจแต่ละขั้ว จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจ และเชื่อว่าจะทำให้มองเห็นโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อการแสดงบทบาทของรัฐมหาอำนาจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สภาพแวดล้อมด้านการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันอยู่ในยุคสมัยของการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ ในสภาวะที่มหาอำนาจหลักและผู้นำระเบียบโลกเสรีนิยมอย่างสหรัฐฯ กำลังอยู่ในเส้นกราฟขาลง และผู้ท้าชิงอย่างจีนก็แสดงตัวออกมาชัดเจนว่าจะขึ้นมาแข่งขันแย่งตำแหน่งผู้นำโลกในทุกๆ ด้าน การแข่งขันรุนแรงของมหาอำนาจจึงครอบคลุมกว้างขวาง ทั้งในมิติของพื้นที่ที่ไม่มีตารางนิ้วไหนของโลกจะหนีพ้น และจะแข่งขันกันในทุกเรื่อง ขัดแย้งกันในทุกประเด็น 

การแบ่งขั้วอำนาจโลก และ ผลประโยชน์แห่งชาติ

แนวคิดระบบขั้วอำนาจ  (polarity) พัฒนามาจากแนวคิดที่ว่ารัฐคือตัวแสดงสำคัญที่สุดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และอำนาจ (power) คือพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของระบบระหว่างประเทศ เนื่องจากพฤติกรรมต่างๆ ของรัฐไม่ว่าจะกระทำการใด สุดท้ายแล้วก็มีจุดหมายปลายทางคือการแสวงหาอำนาจ ซึ่งจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดในสังคมระหว่างประเทศที่มีสภาพอนาธิปไตย อันเป็นสภาพที่แต่ละรัฐเป็นอิสระต่อกัน และทุกรัฐต้องช่วยเหลือตัวเองให้อยู่รอด เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จมาควบคุม

แม้นักวิชาการจะนิยามคำว่ามหาอำนาจต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วก็จะเกี่ยวพันกับกำลังอำนาจและการครอบครองทรัพยากรในทุกมิติที่ประเทศนั้นๆ มี เหนือกว่าประเทศอื่น เช่น กำลังการผลิต กำลังทหาร เทคโนโลยี และความมั่งคั่งและขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ แต่การกำหนดนิยามของความเป็นมหาอำนาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการครอบครองทรัพยากรในบางมิติเป็นสิ่งที่วัดได้ยากในเชิงปริมาณ การกำหนดสถานะมหาอำนาจจึงเป็นความท้าทายสำคัญและหาฉันทามติได้ยาก โดยเฉพาะในห้วงของการเปลี่ยนผ่านที่สถานะขั้วอำนาจโลกยังไม่ชัดเจน (ซึ่งก็รวมถึงห้วงเวลาปัจจุบัน)

นอกจากนี้ ‘อำนาจ’ ยังซับซ้อนขึ้นอีกถ้าพิจารณาว่า ในบางทีบางประเทศก็ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจแต่เพียงบางมิติและในบางช่วงเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนีในยุคสงครามเย็นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ขาดอำนาจทางการทหาร รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในยุคโลกาภิวัตน์ ก็เพิ่มความซับซ้อนให้กับการอธิบายระบบโลกด้วยแนวคิดระบบขั้วอำนาจด้วยเช่นกัน

การเมืองโลกในยุคสงครามเย็นคือตัวอย่างของสภาวะที่แนวคิดระบบขั้วอำนาจโลกใช้อธิบายระบบโลกได้ชัด ในตอนนั้นการเมืองโลกอยู่ในสภาพที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจสองขั้วชัดเจน และแข่งขันกันเข้มข้นในทุกมิติ ส่วนยุคหลังสงครามเย็นสิ้นสุด สหรัฐฯ ก็เป็นมหาอำนาจครอบโลกในระบบ ขั้วอำนาจเดียวอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน แต่สถานะที่ว่าก็ค่อยๆ เสื่อมคลายลง ขณะที่จีนที่เริ่มต้นจากการสะสมอำนาจในด้านเศรษฐกิจ ก็เริ่มเพิ่มพูนอำนาจในทุกมิติ รวมทั้งด้านการทหาร จนท้าทายตำแหน่งอำนาจขั้วเดียวของสหรัฐฯ

ขั้วอำนาจโลกในปัจจุบันเป็นแบบใด? คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบที่เป็นฉันทมติ บ้างก็ว่าโลกยังอยู่ในยุคของมหาอำนาจเดี่ยว เพราะสหรัฐฯ ยังเข้มแข็งกว่าจีนในทุกมิติ บางคนเห็นว่าโลกปัจจุบันเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ เพราะไม่มีประเทศใดเพียงประเทศเดียวที่มีอำนาจครอบงำในทุกภูมิภาคและทุกมิติได้อีกแล้ว แต่จะมีผู้เล่นที่หลากหลายแข่งกันเป็นผู้กำหนดระเบียบโลกในแต่ละภูมิภาคและแต่ละมิติที่แตกต่างกันออกไป

แต่เสียงส่วนใหญ่มองคล้ายๆ กันว่า โลกกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบสองขั้วอำนาจ ข้อสรุปนี้เป็นการพิจารณาระบบโลกในสถานะของการเป็น ‘กระบวนการ’ ที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง และขณะนี้กระบวนการดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบบขั้วอำนาจเดียวหลังยุคสงครามเย็นสู่ระบบสองขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯ และจีนเป็นสองขั้วหลัก จึงเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ดุเดือดเข้มข้นระหว่างมหาอำนาจเดิมและผู้ที่ต้องการก้าวขึ้นมาท้าทาย

สหรัฐฯ พยายามรักษาบทบาทมหาอำนาจครอบโลกของตนและสกัดกั้นการก้าวขึ้นมาของจีน โดยชูค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ ส่วนจีนพยายามแข่งขันด้วยการเสนอแนวคิดทางเลือกที่เน้นการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน หลักผลประโยชน์ร่วมกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นอันดับแรก

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าตัวแสดงอื่นจะปล่อยให้สหรัฐฯ กับจีนแข่งกันอยู่แค่สองประเทศ โลกยุคนี้เป็นยุคที่ทุกตัวแสดงพยายามเพิ่มพูนกำลังอำนาจและส่งเสริมสถานะข้าราชการให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ภาพที่ปรากฏออกมาในตอนนี้ จึงเป็นภาพของโลกที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว โดยมีประเทศระดับรองลงไปพยายามแสดงบทบาทนำในเรื่องที่ตัวเองถนัด และคอยสนับสนุนมหาอำนาจผู้นำในแต่ละขั้วตามแต่ว่าจะมีผลประโยชน์ร่วมกันในเรื่องใด นั่นหมายความว่า ประเทศระดับรองส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เลือกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างทุ่มเทสุดตัวเหมือนในยุคสงครามเย็น แต่เลือกที่จะร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และถอยห่างออกมาในเรื่องที่อาจไม่ได้ประโยชน์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือนโยบายของอินเดียที่แม้จะส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ก็พยายามรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซีย และไม่กระตุ้นความขัดแย้งกับจีน  

‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ คือคำสำคัญที่สุดของการเลือกขั้วในยุคสมัยของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาพันธมิตรดั้งเดิม ควบคู่กับการแสวงหาและช่วงชิงพันธมิตรเพิ่ม ส่งผลให้ประเทศระดับรองส่วนใหญ่พยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองฝ่าย เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเองเอาไว้เป็นสำคัญ

แม้จะยังไม่มีฉันทามติว่าปัจจุบันโลกนี้มีกี่ขั้ว แต่คำตอบที่เป็นเอกฉันท์คือโลกกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นรวดเร็วและหลากหลาย การแข่งขันของมหาอำนาจมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นและจะนำไปสู่การปรับดุลอำนาจใหม่ กลายเป็นสภาพขั้วอำนาจโลกแบบใหม่ (ที่อาจไม่เหมือนเดิมเลย หรือวนกลับไปซ้ำรอยอีกก็เป็นได้)

ปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลง  5 มิติ

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลง (drivers of change) ที่ไปก่อกวนสภาพเดิมให้สลายตัวก่อนจะคลี่คลายออกเป็นสภาพใหม่ ตลอดช่วงปี 2565 เวลาเกือบ 1 ปีของการศึกษา เราจึงโยนคำถามให้ประชาชนกลุ่มตัวอย่างช่วยกันระดมความเห็น ว่าอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยแยกออกเป็น 5 มิติของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ล้อไปกับ 5 มิติของอำนาจที่ประเทศผู้ใฝ่ฝันจะเป็นมหาอำนาจจะต้องแสวงหามาครอบครองให้ได้ คือ เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร เทคโนโลยี และสังคม-วัฒนธรรม

เมื่อประมวลคำตอบออกมาจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยที่เราคัดเลือกมา ให้ร่วมกันมองและอธิบายนั้น ปรากฏว่าปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของทั้ง 5 มิติ ล้วนเป็นผลจากการแข่งขันและความขัดแย้งรุนแรงของรัฐมหาอำนาจสองขั้ว

ด้านเศรษฐกิจ คือมิติที่ภาพของความเป็นขั้วชัดเจนที่สุด การแข่งขันและขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองขั้วเป็นไปอย่างเปิดเผย สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเกิดขึ้นแล้วและยังคงดำเนินอยู่ ผู้นำของทั้งสหรัฐฯ และจีนพูดถึงการแยกตัวออกจากกัน (decoupling) ของระบบเศรษฐกิจสองขั้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าเศรษฐกิจโลกยุคหลังสงครามเย็นได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบอบทุนนิยมเสรี และกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้เชื่อมโยงโลกไว้ด้วยกันจนเกิดสภาวะการพึ่งพากันอย่างสลับซับซ้อนของตัวแสดงต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก

แต่ปัจจุบันนี้ภาพเริ่มคลี่คลายออกมาแล้วว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ผลประโยชน์สูงสุดเพียงอย่างเดียวที่รัฐยึดมั่นถือมั่น ทั้งสหรัฐฯ และจีนแสดงให้โลกเห็นว่าพร้อมจะสู้กันด้านเศรษฐกิจอย่างไม่ยอมกันแม้จะต้องลงเอยด้วยการเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย ปัจจัยสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงในระยะ 20 ปีข้างหน้าจึงน่าจะเป็นการแข่งขันและความขัดแย้ง (รวมถึงร่วมมือกันในบางประเด็น) ของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจสองขั้วที่จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งภายใน ลดการพึ่งพาภายนอกเพื่อลดความเสี่ยง หรือการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิต (supply chain) ที่จำกัดเฉพาะกลุ่มมิตรประเทศของตัวเอง ตามแนวร่วมทางการเมืองที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเดียวกัน

ด้านการเมือง ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกระแสหวาดกลัวโลกาภิวัตน์ก่อตัวขึ้นทั่วทั้งโลกจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นและผู้พ่ายแพ้ถูกทอดทิ้ง ความเคลือบแคลงและเกลียดชังต่ออำนาจครอบโลก ทำให้กลไกความร่วมมือพหุภาคีและองค์การระหว่างประเทศเริ่มเสื่อมบทบาทลง การถอนตัวจากสหภาพยุโรปที่เป็นผลจากกระแสความกังขาต่อสหภาพยุโรป (Euroscepticism) คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ประกอบกับองค์การระหว่างประเทศหลัก ๆ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ก็ไม่สามารถธำรงรักษากติการะหว่างประเทศหรือแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศใดๆ ได้

เมื่อกลไกพหุภาคีตัวเล็กลง รัฐก็จะยิ่งตัวใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะรัฐมหาอำนาจที่สามารถใช้อำนาจแสดงบทบาทและแสวงผลประโยชน์จากกลไกพหุภาคี ทั้งการพยายามเพิ่มบทบาทในกลไกเดิมที่มีอยู่ หรือสร้างกลไกใหม่ที่ตัวเองสามารถครอบงำได้ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคีขนาดเล็ก (minilateralism) ที่คล่องตัว และยืดหยุ่นได้ง่ายตามความต้องการของประเทศที่มีอำนาจครอบงำ

ด้านการทหาร เมื่อการแข่งขันของมหาอำนาจเกิดขึ้นในทุกมิติ กองทัพของประเทศมหาอำนาจจึงต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารให้ครอบคลุมการปฏิบัติการทุกสมรภูมิ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ อวกาศ และไซเบอร์ รวมทั้งผสมผสานเอาศักยภาพและทรัพยากรทุกมิติมาสร้างความได้เปรียบ เราจึงได้เห็นการขยายตัวของการทำสงครามในรูปแบบผสมผสาน (hybrid warfare) และเมื่อการทำสงครามไม่ได้เป็นแค่การใช้อาวุธรูปแบบเดิมสู้กันอีกต่อไป เราจึงได้เห็นตัวแสดงอื่นๆ นอกจากกองทัพและผู้มีอำนาจในรัฐบาลเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางทหารมากขึ้น

ด้านเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือประเทศมหาอำนาจต้องการเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีแต่เพียงผู้เดียว เพราะศักยภาพด้านเทคโนโลยีจะหมายถึงอำนาจด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจที่จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย โลกของเทคโนโลยีจึงแบ่งขั้วล้อกันไปกับขั้วทางการเมืองโลก การพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มเป็นไปในลักษณะจำกัดเฉพาะกลุ่มตามอุดมการณ์ทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันอีกเวทีหนึ่งที่น่าสนใจคือการแข่งขันระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ทั้งบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หรือปัจเจกบุคคลที่ท้าทายการผูกขาดอำนาจของรัฐด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ที่เป็นแกนของนวัตกรรมกระจายอำนาจอย่าง Cryptocurrency Web3 หรือ Decentralized Autonomous Organization (และในปีนี้ 2566 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ผู้กุมอำนาจแห่งความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ก็ท้าทายอำนาจรัฐได้อย่างเด่นชัด)

มิติสุดท้ายคือด้านสังคม-วัฒนธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งเวทีที่มหาอำนาจแข่งขันกัน ประเทศมหาอำนาจยังคงเชี่ยวชาญและแข่งขันกันในการใช้สื่อรูปแบบเก่า และต่างพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการใช้สื่อใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในระดับของการสร้างเนื้อหาที่อำนวยประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนอำนาจทั้ง hard power และ soft power ไปจนถึงระดับการควบคุมหรือเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม

ในสภาวะที่มหาอำนาจใหม่ก้าวขึ้นมาท้าทายสถานะของมหาอำนาจเดิม เป็นธรรมดาที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นจากการที่มหาอำนาจเดิมจะพยายามสกัดกั้นการท้าทายนั้น และส่วนใหญ่ความขัดแย้งจะคลี่คลายด้วยการทำสงครามที่ส่งผลให้ระเบียบโลกเปลี่ยนไปจากเดิม

ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้นแล้ว และเส้นกราฟของความขัดแย้งก็อยู่ในช่วงไต่ระดับชันขึ้น ขณะที่เรายังมองไม่เห็นเพดานของความขัดแย้ง และยังมองไม่เห็นตัวแปรที่จะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลง

เมื่อเอาภาพอนาคตของขั้วอำนาจที่เป็นไปได้ในอนาคต 20 ปี มาจัดเรียงลำดับความเป็นไปได้ เราประเมินว่าอนาคตระยะ 20 ปี เป็นอนาคตระยะกลางที่ความขัดแย้งจะยังไม่คลายตัวอย่างสมบูรณ์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่ว่าสงครามเต็มรูปแบบมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากจากความย่อยยับที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งสองฝ่ายหากมีสงครามเต็มรูปแบบระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น ระยะ 20 ปีจึงจะยังไม่ใช่ระยะเวลาที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้แพ้อย่างสมบูรณ์จนอีกฝ่ายหนึ่งผูกขาดอำนาจเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวได้

ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ของสภาพขั้วอำนาจโลกในระยะ 20 ปี

การศึกษาพบว่า ฉากทัศน์ในอนาคตจะอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันกันระหว่างสองขั้วอำนาจ แต่อาจแตกต่างออกไปได้ใน 3 ลักษณะ    

ฉากทัศน์ที่ 1 ระบบโลกแบบสองขั้วอำนาจ (A World with Two Systems) เป็นระบบโลกแบบสองขั้วที่สหรัฐฯ และจีนเป็นผู้นำ การแข่งขันของขั้วอำนาจทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างเข้มข้นในทุกด้านเพื่อรักษาผลประโยชน์เพิ่มพูนอำนาจของแต่ละฝ่ายให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เวทีระหว่างประเทศจึงเป็นเวทีของการแข่งขันกันรักษาและช่วงชิงพันธมิตร ซึ่งจะเป็นความท้าทายของประเทศระดับรองลงมาว่าจะเอาตัวรอดหรือหาประโยชน์จากสภาวการณ์เช่นนี้อย่างไร

ฉากทัศน์ที่ 2 ระบบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ (Fragmented World) เป็นฉากทัศน์ที่ประเทศมหาอำนาจทั้งสองยังมีบทบาทนำ แต่ไม่สามารถบงการท่าทีและทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศอื่นภายในขั้วได้เบ็ดเสร็จ แต่ละขั้วประกอบด้วยการจับกลุ่มอย่างหลวมๆ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในแต่ละประเด็น (issue-based cooperation) เป็นการจับขั้วที่พร้อมจะยืดหยุ่นไปตามผลประโยชน์ในแต่ละบริบท ทำให้ประเทศต่างๆ อาจจะทั้งขัดแย้ง แข่งขัน และร่วมมือกันไปพร้อมๆ กันก็ได้

สองฉากทัศน์แรกนี้เป็นระบบขั้วอำนาจโลกที่อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันระหว่างสองรัฐ มหาอำนาจใหญ่คือ สหรัฐฯ กับจีน แล้วถ้าถามว่าระบบโลกแบบนี้จะกระทบอย่างไรกับไทย? เราพยายามขยายภาพฉากทัศน์ให้ชัดเจนขึ้นด้วยการพยายามมองหากรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ประเทศไทยอันเป็นผลจากนโยบายการแข่งขันกันของประเทศมหาอำนาจ

เสียงจากนักธุรกิจท่านหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบอกกับเราว่า “โครงการรถไฟลาว-จีน ที่อยู่ในกรอบนโยบาย Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีน จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับจีนและลาว ซึ่งเป็นความท้าทายของนักธุรกิจท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเกาะเกี่ยวได้ประโยชน์ไปด้วย โดยเฉพาะต้องวางแผนระยะยาวว่าเมื่อมีการเชื่อมโยงกับรถไฟไทย-จีนในอนาคต จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองคายจะต้องไม่เป็นเพียงเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ” พร้อมยกตัวอย่างความน่าเสียดายที่ไทยเพิ่งมาเร่งทำเรื่องขออนุญาตส่งออกผลไม้ไปยังจีน หลังจากรถไฟเปิดใช้งานแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก็ได้รับความใส่ใจจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างผิดธรรมชาติที่เป็นผลจากการสร้างเขื่อน (โดยเฉพาะของจีน) ถึงขนาดลงทุนนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ เพื่อเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำโขง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ Mekong Data Monitor ที่ใช้เทคโนโลยีภาพดาวเทียม ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และ remote sensing ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลถึง 7 ภาษาเลยทีเดียว ได้แก่ อังกฤษ จีน ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ฉากทัศน์ที่ 3 คือระบบโลกแบบแบ่งสรรอำนาจ (Global Condominium of Power) โครงสร้างขั้วอำนาจโลกประกอบด้วยตัวแสดงหลากหลาย กระจายอยู่ในลำดับชั้นของอำนาจ แต่ละตัวแสดงมีบทบาทและอิทธิพลลดหลั่นแตกต่างกันทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม ซึ่งสามารถคานอิทธิพลและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนทั้งในลักษณะการแข่งขันและร่วมมือบนพื้นฐานของผลประโยชน์

ภาพตัวอย่างของฉากทัศน์นี้ปรากฏให้เห็นชัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่สหรัฐฯ กับจีนแข่งขันกันในระดับโลกอยู่นั้น มหาอำนาจโลกมุสลิมก็แข่งขันกันขยายบทบาทในลำดับชั้นถัดลงมาคือ แข่งขันกันเป็นมหาอำนาจในโลกมุสลิม โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่มุ่งพัฒนาและลงทุนเศรฐกิจในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพี่น้องมุสลิม เช่น การสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในหลายประเทศ รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นักวิชาการในพื้นที่ท่านหนึ่งประเมินให้เราฟังว่า ยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ทำให้เชื่อได้ว่าบทบาทซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มขึ้นในเชิงสร้างสรรค์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกันประเทศมหาอำนาจในโลกมุสลิมอื่นๆ เช่น ตุรกี ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่มากขึ้น

ทั้งสามฉากทัศน์มีภาพเดียวกันที่ซ้อนกันอยู่ คือภาพของรัฐมหาอำนาจที่เข้มแข็ง ขยายขอบเขตการปฏิบัติการออกไปอย่างไร้พรมแดน แน่นอนว่าผลกระทบคงไม่ได้มีแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียว ความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทยและประชาชนไทยในสมรภูมิการแข่งขันนี้ จึงเป็นความท้าทายที่ว่า ทำอย่างไรจะเตรียมตัวเองให้พร้อมเปิดรับเอาผลประโยชน์ได้ทันท่วงที และเตรียมหลีกหนีผลเสียได้อย่างรู้ทัน


มาร่วมมองภาพโครงสร้างขั้วอำนาจโลกในอนาคต 20 ปี ไปด้วยกัน

และผู้ที่สนใจลงชื่อรับเอกสาร “โครงสร้างขั้วอำนาจโลกในอนาคต 20 ปี” โดย Foresight Team

สามารถลงชื่อรับเล่มย่อได้ที่ https://forms.gle/94R9w2nE159FAepN8

หรือลงชื่อรับเล่มเต็มได้ที่ https://forms.gle/AudzYZ6T9rKP2QZC7

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save