fbpx

Women In Motion ผู้หญิงในวงการหนังโลก

เคยมีคำกล่าวอยู่กลายๆ ในวงการภาพยนตร์ว่า อาชีพนักแสดงหญิงนั้นไม่ยืนนานนัก เพราะพวกเธอมักเลิกทำหน้าที่ -ไม่ว่าจะด้วยเจตจำนงตัวเองหรือด้วยบริบทอื่นๆ- เมื่อแต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัว และกับบางกรณี ก็น่าเศร้าที่อาชีพนี้ต้องชะงักงันลงเมื่อพวกเธออายุมากขึ้น ในทางกลับกัน นักแสดงชายดูจะต้องเผชิญหน้าอุปสรรคลักษณะนี้น้อยกว่า และนี่ก็ดูจะเป็นหนึ่งในสภาพการณ์ที่ผู้หญิงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หลายแห่งในโลกต้องรับมือ

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 จัดงานเสวนา Kering “Women In Motion” โดยชวนผู้หญิงจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในและนอกญี่ปุ่นมาบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในฐานะทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง นำโดย มิสุคาวะ อาซามิ นักแสดงชาวญี่ปุ่นจาก A Beloved Wife (2019) และเพิ่งมี About a Man (2022) หนังยาวเรื่องแรกที่เธอกำกับออกฉาย, แบ ดูนา นักแสดงชาวเกาหลีใต้ที่เคยแสดงหนังสัญชาติญี่ปุ่นมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้ง Air Doll (2009) ที่กำกับโดย ฮิโรคาสุ โครีเอดะ, Broker (2022) และ วาชิโอะ คาโยะ โปรดิวเซอร์จาก Wowow -สื่อบันเทิงเครือใหญ่ของญี่ปุ่น- เธอเพิ่งไปเปิดสาขาที่ลอสแองเจลิส, สหรัฐฯ Tokyo Vice (2022) ซีรีส์ธริลเลอร์ที่เธอร่วมโปรดิวซ์ด้วยเพิ่งประกาศสร้างซีซั่นที่ 2 ไปเมื่อไม่นานนี้

มิสุคาวะ อาซามิ, แบ ดูนา และ วาชิโอะ คาโยะ

หัวข้อสนทนาของ Women In Motion เริ่มขึ้นจากข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หนังและอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ไม่เพียงแต่ประกาศหลักชัยในดินแดนเอเชียอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงโลกฝั่งตะวันตกด้วย ระดับที่แม้แต่แบ ดูนาซึ่งเกิดและเติบโตในวงการเกาหลีใต้มานับสิบปียังพิศวง “ฉันมักนึกเสมอว่า เพื่อนฉันที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมักชอบหนังเกาหลีหรือ K-Pop มากๆ พวกเขาบอกว่าหนังเกาหลีมีทั้งคอมิดี้, แอ็กชั่นและดราม่า หรืออาจจะมีทุกรสชาติในหนังเรื่องเดียวเลยก็ได้” เธอหัวเราะ “แต่สำหรับฉัน ฉันคิดว่าเรื่องพวกนี้คือความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ คนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจกันมาก ซึ่งฉันว่าคนดูก็สัมผัสถึงความตั้งใจของพวกเขาผ่านตัวหนังที่ได้ดูด้วยค่ะ”

ดูนาเคยร่วมงานกับกองถ่ายต่างประเทศมาตั้งแต่เข้าวงการแรกๆ Linda Linda Linda (2005) หนังสัญชาติญี่ปุ่นโดย โนบุฮิโระ ยามะชิตะ ว่าด้วยกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่ต้องหัดเล่นดนตรีให้เป็นก่อนงานเทศกาลใหญ่จะมาถึง โดยดูนารับบทเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวเกาหลีที่จับพลัดจับผลูให้ต้องไปอยู่ร่วมวง “เรื่องที่ทำให้ประหลาดใจอีกอย่างคือคนในกองถ่ายญี่ปุ่นไม่ค่อยแบ่งอาหารกันกินค่ะ ทุกคนพกเบนโตะหรืออาหารกล่องมาจากบ้านแล้วนั่งกินตัวคนเดียว ในเกาหลี เวลาเรากินข้าวเที่ยงกันช่วงพักกอง เราจะมานั่งกินด้วยกัน กับอีกอย่างคือ เวลาทำงานกับกองถ่ายของเกาหลี นักแสดงและทีมงานอื่นๆ ได้รับอนุญาตให้ดูจอมอนิเตอร์เพื่อตรวจทานผลงานตัวเอง แต่ตอนขอผู้กำกับในกองถ่ายญี่ปุ่นดูมอนิเตอร์แล้วทุกคนดูตกใจมากเลยว่าฉันจะดูไปทำไม” ดูนาหัวเราะ “แต่ก็แน่ล่ะค่ะว่าเขาให้ดู”

“นอกจากนี้ จำได้ว่า ความแตกต่างของกองถ่ายในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้คือ ทุกคนทำงานกับเร็วเหลือเกิน เหมือนว่าหนังทั้งเรื่องนี่ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 28 วันเองมั้ง ถ้าเป็นกองถ่ายเกาหลีใต้คงทำงานรวดเร็วแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ” เธอว่า “ขณะที่กองโปรดักชั่นของสหรัฐฯ ทุกคนมาเข้ากองพร้อมกัน แต่ต้องไปรอในรถเทรลเลอร์ ถ้ามีฉากที่เราต้องแสดงจะมีคนมาเรียกไปหน้ากอง ซึ่งฉันว่ากองถ่ายเกาหลีอยู่ตรงกลางระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกานะ”

คาโยะ ซึ่งร่วมงานกับทั้งฝั่งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แสดงท่าทีเห็นด้วย “ประการแรกคือในอเมริกานั้น เขามีกฎเข้มงวดมากเลยว่าไม่ให้กองถ่ายทำงานเกิน 10 ชั่วโมง หรือถ้าเกินเวลามาก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตซึ่งเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก หลายคนจึงหลีกเลี่ยงการทำงานเกินกำหนด เท่ากับว่า ทุกคนจึงต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในกำหนดการและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ” ซึ่งประเด็นนี้ ดูนาคล้ายจะประทับใจเป็นพิเศษ โดยเธอขยายความว่า “ตอนฉันเริ่มงานแสดงใหม่ๆ ในกองถ่ายเกาหลีใต้ ฉันได้นอน 2-3 ชั่วโมงเองมั้งคะ ต้องทำอะไรก็ตามที่เขาบอกให้ทำ หรือต้องรีบจำบทที่เพิ่งเขียนเสร็จและมาถึงมือร้อนๆ เลย”

การที่ใครสักคนออกมาพูดว่าตัวเองต้องเจอความเลวร้ายอะไรบ้างนั้น มันไม่ควรต้องเป็นเรื่องที่พวกเขาเสี่ยงอะไรสิ

แบ ดูนา

กระนั้น สภาพการณ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็เปลี่ยนไปมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ดูนาตั้งข้อสังเกตว่าตัวอุตสาหกรรมเองก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ด้วยการเดินรอยตามอุตสาหกรรมต่างประเทศที่มีสวัสดิการให้พนักงานและแรงงานตัวเล็กตัวน้อยในกองถ่าย สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการทำงานล่วงเวลา หามรุ่มหามค่ำอย่างที่เธอเคยเผชิญเมื่อเริ่มงานแสดงใหม่ๆ นั้นแทบไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว ขณะที่คนดูหนังเกาหลีใต้เองก็ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปในทิศทางบวก

“ฉันคิดว่าคนดูหนังชาวเกาหลีน่าชื่นชมมากๆ เลยค่ะ” อาซามิเสริม และว่าเมื่อครั้งที่ Beyond the Fog (2023) หนังลำดับล่าสุดที่เธอแสดงที่กำกับโดย มุราเสะ ไดอิจิ และร่วมโปรดิวซ์โดย นาโอมิ คาวาเสะ คนทำหนังหญิงชื่อดังของญี่ปุ่น ได้ไปฉายที่เทศกาลหนังนานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เธอพบว่าผู้คนพากันยกมือถามคำถามในช่วงถาม-ตอบหลังฉายหนังจบ “ฉันว่าพวกเขาถามคำถามยากกว่าคนญี่ปุ่นถามเราอีก และส่วนตัวแล้ว ฉันว่าวิธีที่พวกเขามองหนังสะท้อนผ่านคำถามเหล่านั้น และก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าชาวเกาหลีใต้สนใจภาพยนตร์มากๆ ด้วย”

“ด้านหนึ่งคงเป็นเพราะว่าภาพยนตร์คือส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราน่ะ” ดูนาบอก “เหมือนว่าการไปดูหนังคือกิจกรรมหนึ่งในชีวิตพวกเรา เป็นเรื่องปกติมากๆ เหมือนไปออกเดต ไปกินอาหารกับครอบครัว แล้วเราก็ไปดูหนังด้วย ฉันคิดว่าคนเกาหลีรักภาพยนตร์มากๆ และสิ่งหนึ่งที่ต้องบอกไว้คือ อุตสาหกรรมหนังเกาหลีโตมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีคนดูโดยแท้เลยล่ะ”

อย่างไรก็ดี ประเด็นเริ่มแหลมคมขึ้นเมื่อบทสนทนาขยับจากการแลกเปลี่ยนความเหมือนและความต่างของกองถ่ายหลายๆ ประเทศมาสู่หัวข้อหลักอย่าง ผู้หญิงในวงการหนังโลก ในปี 2020 มีผลสำรวจว่าผู้หญิงมีพื้นที่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับ, เขียนบทหรือหน่วยงานอื่นๆ ในกองถ่าย โดยผู้ที่ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังทำเงินในปี 2019 คิดเป็นผู้หญิง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2018 มา 16 เปอร์เซ็นต์ กระนั้น ตำแหน่งใหญ่ๆ อย่างผู้กำกับหรือผู้กำกับภาพนั้น สัดส่วนของผู้ชายก็ยังสูงกว่ามาก ขณะที่ในญี่ปุ่น รายงานปี 2021 ระบุว่าเทียบอัตราส่วนแล้ว ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีคนทำหนังหญิงชาวญี่ปุ่นเพียง 25 คนเท่านั้นที่ได้กำกับหนังที่ทำเงินมากกว่าพันล้านเยน

สำหรับอาซามิที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น เล่าว่าตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมานั้น เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร “อย่างตอนนี้เราก็มีทีมงานเบื้องหลัง -แม้จะเป็นงานที่ต้องใช้แรงก็ตาม- ที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากเลยเวลาเราเดินไปในกองถ่ายแล้วเห็นความหลากหลายมากกว่าเดิม กระนั้น ฉันว่าช่องว่างระหว่างเพศในอุตสาหกรรมทั้งมวลก็ยังเยอะอยู่ดี ในฐานะนักแสดงหญิง เราพูดกันเสมอว่าพอนักแสดงอายุครบ 40 ก็ไม่ค่อยมีบทอะไรให้แสดงแล้ว”

คาโยะตอบรับต่อข้อสังเกตนี้โดยเร็ว สำหรับเธอที่ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาและร่วมงานกับนักแสดงหลากสัญชาติมานาน เธอพบว่าอายุดูไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนักสำหรับสตูดิโอหลายๆ แห่ง “ฉันสังเกตว่าในญี่ปุ่นนั้น นักแสดงหญิงที่มารับบทนำดูเหมือนอายุจะน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ในสหรัฐฯ ดูจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป “แต่ก็แน่ล่ะว่าก่อนกระแส Metoo (หมายถึงกระแสต่อต้านการคุกคามและกีดกันทางเพศ ระเบิดตัวในฮอลลีวูดราวปลายปี 2017) คนก็พูดกันว่านักแสดงหญิงที่อายุ 40 คงหางานยาก แต่หลังจากการออกมาประท้วงและเรียกร้องความเท่าเทียมต่างๆ ทิศทางค่านิยมนี้ก็เปลี่ยนไป อย่างคุณ รีส วิตเธอร์สปูน ก็เปิดบริษัททำภาพยนตร์ที่มีนโยบายให้เอานักแสดงหญิงอายุมากกว่า 40 ปีมารับบทต่างๆ หรือต้องมีสมาชิกในกองถ่ายที่เป็นผู้หญิงหรือชนกลุ่มน้อยด้วย ตัวเลขช่องว่างทางเพศเลยลดลงไปมาก”

“สมัยที่ metoo เป็นประแส ฉันอยู่ในอเมริกาพอดี เลยได้สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ในระยะใกล้มากๆ เช่น นักแสดงหรือคนในกองถ่ายถูกผู้กำกับคุกคามทางเพศ ที่ผ่านมา คนโดนกระทำนั้นจำเป็นต้องเก็บเสียงไว้ให้เงียบ แต่เมื่อมีคนออกมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น หลายคนจึงกล้าออกมาพูดบ้าง”

ในฐานะนักแสดงหญิง เราพูดกันเสมอว่าพอนักแสดงอายุครบ 40 ก็ไม่ค่อยมีบทอะไรให้แสดงแล้ว

มิสุคาวะ อาซามิ

สำหรับดูนา สถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับช่องว่างทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นถือว่าพัฒนามาไกลมาก โดยเฉพาะหากนับตั้งแต่วันที่เธอเริ่มแสดง “Take Care of My Cat (2001) คือหนังที่กำกับโดย จอง เจอึน และเป็นหนังเรื่องแรกที่ฉันได้ร่วมงานกับคนทำหนังผู้หญิง

“ในเกาหลีใต้ กองถ่ายหนังมีสนมาชิกที่เป็นผู้หญิงไม่มากนัก เราจึงต้องดูแลกันและกันอย่างดี ยังไม่ต้องพูดว่า คนทำงานผู้หญิงต้องรับมือกับปัจจัยและปัญหาหลายอย่างที่คนทำงานชายไม่ต้องเจอ แต่เวลานี้ หลายอย่างก็เปลี่ยนไปมากแล้ว เรามีสมาชิกผู้หญิงในกองถ่ายมากขึ้น ช่างเป็นเรื่องน่าประทับใจเหลือเกินค่ะ” เธอบอก และหลังจากเงียบไปหลายอึดใจ เธอก็เสริมว่า “ฉันคิดว่าเวลานี้เราอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราได้พูด ได้แลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศหรือชาติพันธุ์ สิ่งที่ฉันอยากย้ำคือ การที่ใครสักคนออกมาพูดว่าตัวเองต้องเจอความเลวร้ายอะไรบ้างนั้น มันไม่ควรต้องเป็นเรื่องที่พวกเขาเสี่ยงอะไรสิ”

“อีกอย่างคือ นักแสดงชายในเกาหลีใต้มักได้รับการเสนอบทที่หลากหลายกว่านักแสดงหญิงมากๆ มีหนังไม่กี่เรื่องที่ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง ด้านหนึ่ง ฉันจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องของการขาดโอกาสด้วย และถ้าคนเขียนบทสร้างตัวละครหญิงออกมาให้ดี ไปถึงมือนักแสดง ฉันว่าผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่คนดูอยู่ดีนะ”

ฉากผู้ปกครองไปรับลูกกลับจากโรงเรียน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคุณคงจะเห็นว่ามีแต่คุณแม่หรือผู้หญิงที่มารับ แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นผู้ชายมากขึ้นแล้ว ฉันคิดว่าเราต้องทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นสิ่งปกติ

วาชิโอะ คาโยะ

สำหรับอาซามิ เธอพินิจว่าแม้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นจะมาไกลจากเดิมมาก หากแต่ก็ดูยังไกลกว่าจุดที่เพื่อนข้างๆ ไปถึงแล้ว พิสูจน์จากตัวเลขที่ยังชี้ให้เห็นถึงช่องว่างทางเพศในอุตสาหกรรมที่ยังนับว่ามากเหลือเกิน ตัวคาโยะซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นและได้ร่วมงานทั้งกองถ่ายญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เสนอความเห็นว่า หนทางเดียวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือ คนในวงการเองก็ต้องสู้ยิบตา “ในอเมริกา ทุกคนก็กัดฟันสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองเหมือนกัน และฉันคิดว่าในญี่ปุ่นก็คงไม่ต่าง และแม้เวลานี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว เช่น ฉากผู้ปกครองไปรับลูกกลับจากโรงเรียน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคุณคงจะเห็นว่ามีแต่คุณแม่หรือผู้หญิงที่มารับ แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นผู้ชายมากขึ้นแล้ว ฉันคิดว่าเราต้องทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นสิ่งปกติ เป็นความสามัญในชีวิตคน

“เหนืออื่นใดคือ แม้เราจะดูมากันไกลแล้ว แต่ฉันคิดว่าเราก็ยังมีอีกหลายอย่างให้ต้องทำเพื่อไปให้ถึงจุดที่เราเท่าเทียมกันได้ค่ะ” เธอปิดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save