fbpx

อหังการของดอกไม้ Women Talking

หนังเรื่อง Women Talking เพิ่งมาเข้าฉายใน prime video เมื่อไม่นานมานี้ ผมดูโดยไม่ทราบความเป็นมาใดๆ ทั้งสิ้น รู้จำกัดเพียงว่าเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุด 2 สาขา คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทดัดแปลงยอดเยี่ยม โดยเป็นผู้ชนะในสาขาหลัง รวมถึงการได้รับเลือกติดกลุ่ม ‘หนังเยี่ยมแห่งปี 2022’ จากหลายสำนัก

พ้นจากนี้แล้ว ก็ต้องร้องเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ว่า ‘หนูไม่รู้’ นะครับ

ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้นทั้งปวง ระหว่างการดูหนังเรื่องนี้ ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรก ผมจึงอยู่ในสภาพสับสนงุนงง จับต้นชนปลายแทบไม่ติด

มีคำย่อตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5W1H ซึ่งใช้เป็นคำสอนในหลายสาขาวิชา รวมถึงการนำเสนอรายงานข่าว และเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของ ‘เรื่องเล่า’ รายละเอียดประกอบไปด้วย who, what, when, where, why และ how สรุปความย่นย่อคือ ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? ทำไม? และอย่างไร?

ครึ่งชั่วโมงแรกของ Women Talking เล่าเรื่องและเหตุการณ์ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นไปตามหลักข้างต้น แต่ก็ปรุงแต่งด้วยลีลาทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงบรรยายเล่าเรื่องเหมือนผู้ชมกำลังอ่านงานวรรณกรรม เต็มไปด้วยวรรณศิลป์ภาษาไพเราะสวยงาม การเปรียบเปรยสละสลวย ไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แสดงผลลัพธ์ให้คาดคะเนไปสู่สาเหตุต้นทาง หรือการเล่าเรื่องในลักษณะเหตุการณ์นำหน้ามาก่อนคำอธิบาย ปราศจากการปูพื้นให้ผู้ชมรู้จักตัวละคร (ซึ่งปรากฏขึ้นพร้อมเพรียงเป็นหมู่คณะ) ว่ามีชื่อเรียงเสียงไร? ใครเป็นใคร? แต่ละคนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร?  อีกทั้งจากภาพที่เห็น การแต่งกายของตัวละคร และฉากหลังห้อมล้อม (เป็นชนบท) ก็ไม่บ่งชัดว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่ในยุคสมัยใด? เกิดขึ้นที่ไหน?

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ตลอดเวลายังเต็มไปด้วยบทสนทนายาวเหยียด ตัวละครมากหน้าหลายตาโต้ตอบปะทะคารมกันอย่างรวดเร็วน้ำไหลไฟดับ ชวนให้สับสนอลหม่านฝุ่นตลบ

พูดให้ฟังดูยอกย้อน การเล่าเรื่องของหนังเป็นไปตามหลัก 5W1H พร้อมๆ กันนั้นก็ตั้งใจทำทุกวิถีทางเพื่อละเมิดหักล้างกันทุกวิถีทาง จนผู้ชมไม่รู้ว่า ใคร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? ทำไม? อย่างไร?

อย่างเดียวที่พอทราบและเข้าใจในเบื้องต้นก็คือ ‘อะไร?’ แต่ความเข้าใจที่เกิดขึ้น ก็มาจากการแสดงให้เห็นผลลัพธ์ ไม่ใช่ตัวเหตุการณ์โดยตรง (ซึ่งเมื่อติดตามไปจนจบ ก็ยิ่งตอกย้ำเด่นชัดว่า หนังตั้งใจละเว้นไม่ให้เห็น ‘การลงมือก่อเหตุ’)

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ หลังจากติดตามไปครึ่งชั่วโมง ผมก็เกิดอาการลังเลว่าควรจะหยุดหรือไปต่อ (นี่เป็นข้อเสียของการดูหนังแบบสตรีมมิงนะครับ)

รางวัลและคำชื่นชมสรรเสริญจากนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ มีประโยชน์ตรงนี้นี่เอง มันช่วยให้ผมกัดฟันกลั้นใจลุยต่อไปจนจบ

บรรดาย่อหน้าข้างต้น ดูจะเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่ควรนำมาเล่าให้ข้อเขียนนี้เยิ่นเย้อรกรุงรัง แต่คิดในอีกมุมหนึ่ง ผมเชื่อว่าเป็นคำเตือนอันควรต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ผู้ชมทุกท่านต้องพบเจอและรู้สึกเช่นเดียวกัน นี่ยังไม่นับรวมว่า เรื่องเล่าชั้นดีจำนวนไม่น้อยมักเริ่มต้นเป็นยาขม กลืนยาก ย่อยยาก จากนั้นจึงค่อยคลี่คลาย เผยแสดงความยอดเยี่ยมออกมาทีละน้อย จนกระทั่งนำพาไปสู่ประสบการณ์สุดวิเศษในบั้นปลาย

หนังเรื่อง Women Talking เข้าลักษณะตามนี้ทุกประการ

ยอดเยี่ยมอย่างไร? ผมขออนุญาตกดปุ่ม pause หยุดไว้ชั่วคราว เปลี่ยนไปเฉไฉเล่าเรื่องอื่น

ระหว่างปี 2005-2009 เกิดเหตุการณ์น่าตระหนกและสะเทือนใจที่เรียกกันว่า Bolivian Mennonite gas-facilitated rapes

สรุปโดยย่นย่อคือ ใน Manitoba Colony ชุมชนของผู้เคร่งศาสนานิกายเมนโนไนท์ ที่ประเทศโบลิเวีย ซึ่งดำรงชีวิตตัดขาดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่และความเจริญ รวมถึงห่างไกลจากโลกภายนอกรายรอบ ได้เกิดเหตุข่มขืนต่อเนื่องขนานใหญ่ ด้วยการพ่นยากล่อมประสาท (ซึ่งใช้ทำให้ฝูงวัวสงบ) ผ่านทางหน้าต่างบ้านเรือน เพื่อทำให้คนในบ้านหมดสติ จากนั้นก็เข้าไปทำการข่มขืนอย่างโหดร้าย

สตรีผู้ตกเหยื่อ มีครบทุกวัย ตั้งแต่เด็ก หญิงสาว จนถึงคนชรา จำนวนสรุปขั้นต่ำคือ 151 คน ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมในเวลาต่อมา กลายเป็นข่าวอื้อฉาวสะเทือนขวัญ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้มีเรียม โทวส์ นักเขียนชาวแคนาดา นำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับนิยายเรื่อง Women Talking ในปี 2018

ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การพยายามถ่ายทอดเบื้องหน้าเบื้องหลังความเป็นไปต่างๆ ในลักษณะเจาะลึกค้นหาความจริง ไม่ใช่งานในท่วงทำนอง based on true story แต่ป่าวประกาศนิยามตนเองไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป็น ‘จินตนาการตอบสนองเหตุการณ์จริง’ เป็น ‘ปฏิกิริยาโต้ตอบผ่านเรื่องแต่ง’ และเป็น ‘การกระทำในจินตนาการของเหล่าสตรี’

พูดง่ายๆ คือนิยายนำเหตุการณ์ข่มขืนต่อเนื่องในชุมชนที่ตัดขาดไม่ข้องเกี่ยวกับโลกภายนอก มาเป็นเงื่อนไขเริ่มต้น จากนั้นก็สร้างตัวละคร เรื่องราวขึ้นมาใหม่อย่างเป็นอิสระ เพื่อสะท้อนเนื้อหาแง่คิดที่ผู้เขียนตั้งใจสื่อสารกับผู้อ่าน

ตัวหนังซึ่งเขียนบทและกำกับโดยซาราห์ พอลลีย์ ประกาศเจตจำนงก่อนเริ่มเรื่อง เหลือเพียงแค่ ‘เหตุการณ์ต่อจากนี้ เป็นจินตนาการของสตรี’

ผมเดาเอานะครับว่า หนังน่าจะมีเจตนาไม่ผูกติดกับเหตุการณ์จริง ไม่มีการเอ่ยนามชื่อชุมชน สถานที่ รวมทั้งไม่ได้กล่าวพาดพิงไปถึงนิกายเมนโนไนท์แต่อย่างไร (ขณะที่ฉบับนิยายเรื่องเกิดในชุมชนสมมติที่เรียกขานกันว่า Molotschna ซึ่งยังมีเค้าร่องรอยข้องเกี่ยวกับสถานที่ในเรื่องจริง) แต่เป็นโลกในภาพยนตร์ ซึ่งเข้าลักษณะ ‘เป็นที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้’

ตรงนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมรู้สึกเมื่อเริ่มดู ด้วยความเข้าใจว่า Women Talking เป็นหนังพีเรียดย้อนยุค จากเสื้อผ้า หน้า ผม ของตัวละคร ก่อนมีการเฉลยในเวลาต่อมาว่าเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นปี 2010 (ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากแจ้งเวลาให้ทราบ หนังก็ยังคงรักษาบรรยากาศให้รู้สึกว่าเป็นพีเรียดย้อนยุคไปจนจบ)

เช่นเดียวกับจุดเด่นอีกอย่างของหนัง คือการงานกำกับภาพ ซึ่งมีการจัดองค์ประกอบภาพ เหมือนละครเวทีผสมกับงานจิตรกรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการคุมโทนสีและบรรยากาศให้ภาพออกมาซีดจางไร้สีสัน ใกล้เคียงกับภาพขาวดำ ให้อารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับภาพถ่ายเก่าๆ โบร่ำโบราณ

ความไร้กาลเวลา และเป็นสถานที่ไม่เจาะจงตำแหน่งบริเวณแน่ชัดตายตัว ส่งผลให้เรื่องราวและปัญหาที่ตัวละครหลักๆ ทั้งหมดต้องประสบพบเจอ กลายเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ (ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต) นั่นคือ ความทุกข์ทรมานของผู้หญิง จากการกดขี่ข่มเหงกระทำทารุณในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีอำนาจ และเป็นฝ่ายสร้างกฏเกณฑ์ต่างๆ

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ Women Talking นั้นเรียบง่าย ในชุมชนของเหล่าผู้เคร่งศาสนา เกิดเหตุมอมยาแล้วลงมือข่มขืนนับครั้งไม่ถ้วน ผู้หญิงทุกคนตกเป็นเหยื่อ

เรื่องเริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้ก่อเหตุถูกจับได้ หญิงผู้หนึ่งที่โกรธจนเกรี้ยวกราด บุกเข้าไปแก้แค้น ทำร้ายชายชั่วผู้นั้นจนบาดเจ็บ

ผู้ชายทั้งหมดในชุมชน จึงคุมตัว ‘คนร้าย’ ไปส่งตำรวจในเมือง ไม่ใช่เพื่อให้รับโทษชดใช้กรรมที่ก่อ แต่เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัย ห่างไกลจากการถูกผู้หญิงในชุมชนรุมทำร้าย

ก่อนเดินทางจากไป ผู้อาวุโสของชุมชน (ซึ่งเป็นเพศชาย) ยื่นเงื่อนไขให้แก่บรรดาสตรีทั้งหมด ว่าพวกเธอมีทางเลือก 2 ประการ และมีเวลา 2 วันในการไตร่ตรองตัดสินใจ ก่อนที่พวกเขาจะกลับมา

เงื่อนไขนั้นคือ จะต้องยินยอมให้อภัยต่อคนลงมือข่มขืน ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกขับไล่ให้ไปพ้นจากชุมชน

เรื่องราวใจความหลักของหนังคือ การที่เหล่าสตรีทั้งหมดต้องเลือกว่าจะตัดสินใจอย่างไร?

พวกเธอสรุปได้ 3 หนทาง อย่างแรก อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเช่นที่เคยเกิดขึ้น ทางเลือกต่อมา อยู่เพื่อต่อสู้ไม่ยอมจำนน และสุดท้ายคือ จากไปเพื่อเริ่มต้นสร้างชุมชนใหม่ชีวิตใหม่

ผู้หญิงทั้งหมดในชุมชนลงมติเลือก ผลลัพธ์คือ คะแนนเสียงเท่ากันระหว่างการอยู่เพื่อต่อสู้ และการไปจากชุมชน (ในความหมายว่าพวกเธอเลือกที่จะไปเอง ไม่ใช่การหลบหนีหรือถูกอัปเปหิขับไล่)

2 ครอบครัวจึงได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทน ประชุมเจรจาหาข้อยุติว่าจะเลือกเส้นทางใด

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ประมาณ 5 นาทีแรกในหนัง เรื่องราวส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นเหตุการณ์ในที่ประชุม ซึ่งเต็มไปด้วยการแสดงความเห็นของแต่ละฝ่าย การถกถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก การโต้เถียง ทะเลาะขัดแย้ง

พูดอีกอย่างได้ว่า การประชุมสภาสตรีนี้เป็นหัวใจสำคัญของหนังในการเผยแสดงแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ปัญหา ความทุกข์ระทมขมขื่นที่พวกเธอได้รับ ความเชื่อ ความหวัง ความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของพวกเธอ ความอยุติธรรม ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้าและความดีงาม ความโกรธเกลียด ความรักและการให้อภัย

ชัดเจนตรงตามชื่อหนัง Women Talking หนังเรื่องนี้สะท้อนถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้หญิงประสงค์จะกล่าวถึง เป็นปากเสียงและคำประกาศของอิสตรี เป็นเนื้อหาสาระที่เด่นชัด เข้มข้น ตรงไปตรงมา รวมทั้งเต็มไปด้วยแง่มุมมากมายชวนให้ครุ่นคิดต่อหลังจากดูจบ

จากเนื้อหาที่หนังนำเสนอ Women Talking มีท่วงทีเหมือนหนังสะท้อนปัญหาสิทธิสตรีแบบ ‘ชูธงท้ารบ’ แบบเปิดหน้าแลกหมัด แต่ความยอดเยี่ยมของหนังก็คือการสร้างเงื่อนไขสถานการณ์ห้อมล้อมที่เอื้อต่อการ ‘ระบายความในใจ’ ต่างๆ ออกมาอย่างแนบเนียน เต็มไปด้วยชั้นเชิงทางศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเห็น ‘แตกต่าง’ และ ‘ไม่ลงรอย’ ต่อแง่มุมต่างๆ ทำให้การถกเถียงของตัวละครในหนังนำพาผู้ชมไปสู่ความเห็นและเหตุผลรอบด้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการชี้ขาดว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก และผู้ชมในฐานะเป็นประจักษ์พยาน ร่วมรับรู้ฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ก็มีการบ้านขนานใหญ่ให้ต้องไตร่ตรองคิดตามไปด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด การสนทนาโต้เถียงของตัวละคร นำพาเนื้อหาสาระไปเกินกว่าความขัดแย้งระหว่างเพศ แต่แตะต้องไกลลึกถึงความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว

มีบทสนทนาดีๆ และคมคายอยู่เต็มไปหมดในหนังเรื่องนี้ และนำเสนอออกมาได้เข้มข้น ทรงพลังมาก แต่คุณงามความดีต่างๆ เหล่านี้ เด่นชัดแบบดูแล้วรู้เข้าใจได้ จนไม่จำเป็นต้องนำมาเล่าซ้ำอีกในที่นี้

สิ่งที่น่าสนใจมากสุดสำหรับผม คือวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการอำพราง ทุกสิ่งทุกอย่างชุลมุนสับสน ปราศจากความชัดเจน แต่แล้วในระหว่างการโต้แย้งสนทนามากมายนั้นเอง  คำอธิบายที่ละเว้นไว้ในตอนเริ่มเรื่อง ก็ค่อยๆ คลี่คลายออกมาตามลำดับ จนสามารถจำแนกแยกแยะและเกิดความเข้าใจทุกอย่างได้ตามลำดับ ทั้งการทำความรู้จักและผูกพันกับตัวละคร ความเป็นมาเรื่องราวหนหลังในชีวิตของตัวละครแต่ละคน  ทำให้หนังที่มีพล็อตจำกัดว่าด้วยการถกเถียงกัน เกิดเนื้อเรื่องย่อยๆ จำนวนมาก ร้อยเรียงกันอย่างน่าอัศจรรย์

และที่น่าทึ่งมากคือ การเล่าเรื่องแบบ ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ นำเสนอเหตุการณ์เพียงแค่น้อยนิดต่อผู้ชม เชื่อมโยงไปสู่รายละเอียดมากมายที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโหดร้ายทารุณที่ผู้ชายในชุมชนกระทำต่อผู้หญิง (ในแง่นี้ หนังเก่งมากในการทำให้ผู้ชมรู้สึกสะพรึงกลัวตลอดเวลาถึงการคุกคามของบรรดาผู้ชาย)

ผมควรเล่าไว้ด้วยว่า เกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ผู้ชมแทบไม่ได้เห็นตัวละครฝ่ายชายเลย ยกเว้นเฉพาะบรรดาเด็กๆ ที่ไม่มีบทพูด และตัวละครชายเพียงหนึ่งเดียวชื่อออกัสต์ ซึ่งมีสถานะแตกต่าง ไม่ได้เดินทางเข้าเมืองร่วมกับคนอื่นๆ เขาได้รับคำเชิญ เพื่อทำหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดของการประชุม เนื่องจากเป็นผู้เดียวที่อ่านออกเขียนได้ (ในฉบับนิยาย เรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของตัวละครนี้ ขณะที่ในฉบับหนัง เรื่องเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเด็กหญิงชื่ออ็อตเชอร์)

ออกัสต์เป็นตัวละครสำคัญ ในแง่เป็น ‘ภาพอีกแบบ’ ของผู้ชาย อ่อนโยน สุภาพนุ่มนวล ขี้อาย แปลกแยกจากบุรุษส่วนใหญ่ รวมทั้งเป็นตัวละครที่ขับเคลื่อนสะท้อนไปสู่อีกแง่มุมสำคัญ นั่นคือ สภาพชั่วร้ายของโลกที่เป็นอยู่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน เขาไม่สามารถเป็นฝ่ายเดียวและอยู่ร่วมกับผู้หญิงได้อย่างราบรื่น ต้องเป็นโลกอีกแบบในอุดมคติที่ ‘ตัวละครผู้หญิงทั้งหมด’ ใฝ่ฝันว่าจะสร้างขึ้นเท่านั้น จึงจะมี ‘พื้นที่’ สำหรับการอยู่ร่วมระหว่างชายหญิงอย่างสงบสุข

ฃจากที่ผมเล่ามาอาจชวนให้เข้าใจได้ว่า Women Talking เป็นหนังที่หนักหน่วงตึงเครียด เป็นเช่นนั้นจริงครับ แต่ความยอดเยี่ยมก็คือ พร้อมๆ กับการเล่าเรื่องที่ระดมแง่มุมหนักๆ มากมายถาโถมเข้าสู่ผู้ชมอย่างไม่บันยะบันยังร่วมๆ ครึ่งเรื่อง ตั้งแต่ช่วงท้ายไปจนถึงบทสรุปตอนจบ หนังก็แทรกใส่จังหวะวิเศษไปสู่อารมณ์อื่นๆ มีทั้งดรามาทรงพลัง ซาบซึ้งตื้นตันใจ อารมณ์ขัน ตื่นเต้นลุ้นระทึกโรแมนติกนุ่มนวล

รวมความคือ กลายเป็นหนังหนักๆ ที่ดูสนุกชวนติดตามด้วยความบันเทิงหลากรสขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ จากเรื่องราวที่เริ่มต้นอย่างโหดร้าย หดหู่หม่นหมอง หนังนำพาผู้ชมไปสู่บทสรุปสุดท้ายที่สวยงาม อิ่มเอิบ และพบแสงสว่าง เปี่ยมไปด้วยความหวัง

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งดีและยอดเยี่ยมเหลือเกิน คือการแสดง ดูจากรางวัลที่หนังได้รับ หนังไม่ได้ประสบความสำเร็จจากสาขาดารานำหญิง ดาราสมทบหญิง หรือ ดาราสมทบชาย สักเท่าไร

เหตุผลนั้นเข้าใจได้ง่ายมากครับ นั่นคือในหนังเรื่องนี้ นักแสดงทุกคนเล่นดีมากแบบเป็นหมู่คณะ โดดเด่นน่าประทับใจกันอย่างทั่วถึง จนเลือกไม่ถูกว่าจะให้รางวัลใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง

คำเชิญชวนสุดท้าย คือ Women Talking เป็นหนังไม่ฮิต ไม่อยู่ในกระแสความสนใจวงกว้าง แต่ผมดีใจและมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสแนะนำเล่าสู่กันฟัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save