fbpx

กับดักประชานิยมกับวิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา

เดือนธันวาคมเป็นช่วงเดือนแห่งความสุขที่คริสเตียนทั่วโลกต่างรอคอย เพื่อร่วมเฉลิมฉลองทั้งวันประสูติกาลขององค์พระเยซูต่อเนื่องไปจนถึงวันปีใหม่ แต่ธันวาคมปี 2001 สำหรับชาวอาร์เจนตินานั้นคงเป็นเดือนที่ทุกคนไม่อยากจดจำซักเท่าไรนัก

ในวันที่ 20 ธันวาคมปีนั้นเอง ประธานาธิบดีเฟอร์นานโด เดลารัว (Fernando de la Rúa) ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากเกิดการจลาจลและประท้วงทั่วทุกหย่อมหญ้าในประเทศ แต่การลาออกของเดลารัวเป็นเพียงแค่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาที่หมักหมมมานานในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ประทุขึ้นมาจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอาร์เจนตินา 

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาอาร์เจนตินาประกาศพักชำระหนี้ และภายใน 4 เดือน ค่าเงินเปโซซึ่งเคยผูกติดอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในอัตรา 1 เปโซเท่ากับ 1 ดอลลาร์ เหลือมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจตอนนั้นยังลุกลามกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่ยากจะเยียวยา โดยภายในช่วงเวลาเพียงเดือนเศษมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีถึง 5 คน

วิกฤตครั้งนี้ยังส่งผลให้สัดส่วนของคนยากจนเฉพาะในกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ในปี 1994 เป็นร้อยละ 40 ในปลายปี 2002 และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตามวิกฤตในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ปัญหาการการขาดดุลการค้า และเงินเฟ้อ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในอาร์เจนตินา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในลาตินอเมริกา 

การล่มสลายทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในปี 2001-2002 นำไปสู่กระแสการต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์ และระบบเสรีนิยมใหม่ที่แพร่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะภายใต้การนำของอูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) อดีตประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา แม้กระทั่งนักวิชาการในโลกตะวันตกบางคน อาทิ โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและเจ้าของรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2001 ก็ได้ให้ความเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นผลกระทบโดยตรงจากการที่อาร์เจนตินาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจตามแนวทางฉันทามติแห่งวอชิงตัน (The Washington Consensus) และองค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund – IMF) องค์กรเหล่านี้ไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อหายนะทางเศรษฐกิจครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ถือว่าเป็นบ่อเกิดของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้คือการที่ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 1991 แต่การตัดสินใจครั้งนี้ทำโดยรัฐบาลอาร์เจนตินา หาใช่เป็นการบังคับหรือชักจูงโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลอเมริกัน หรือแม้กระทั่งนักวิชาการที่สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ไม่ แม้กระทั่งประธานาธิบดีเอ็ดวาโด ดูเฮาเด (Eduardo Duhalde) ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2002 ก็ออกมายอมรับผ่านทางบทความในหนังสือพิมพ์ Financial Times ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของชาวอาร์เจนตินาเอง

วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2001-2002 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมเศรษฐกิจการเมืองของอาร์เจนตินา ประชาชนตกอยู่ในภาวะยากจนกว่าครึ่งประเทศ มีคนว่างงานสูงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเกินกว่าร้อยละ 40 ในปลายปี 2002 สวัสดิการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหรือด้านการสาธารณสุข ถูกตัดทอนเป็นจำนวนมาก ความเดือดร้อนแผ่ขยายไปทุกหนแห่งในอาร์เจนตินา ชาวอาร์เจนตินามองว่านี่คือความล้มเหลวของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจตามแนวทางฉันทามติแห่งวอชิงตันในคริสต์ทศวรรษที่ 1990s พวกเขาไม่ลังเลที่จะเหมารวมว่าเสรีนิยมใหม่เป็นสิ่งเลวร้าย โดยขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าความล้มเหลวการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบตายตัวเป็นคนละประเด็นกับสิ่งที่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่เรียกร้องให้อาร์เจนตินาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการผลิตหรือการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ชาวอาร์เจนตินาอาจจะไม่รู้หรือจงใจที่จะลืมว่าความล้มเหลวของระบบการเงินในประเทศเป็นผลมาจากปัญหาทางด้านการคลังและการบริหารตลาดแรงงานที่ผิดพลาด สิ่งที่พวกเขารู้คือรัฐบาลของคาร์ลอส เมเน็ม (Carlos Menem, 1989-1999) สัญญาว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเจริญเติบโต พวกเขาจะอยู่ดีมีสุขขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาได้รับคือตกงาน เงินออมที่สะสมมาทั้งชีวิตละลายหายไปพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยสภาพกดดันและโกรธแค้นเช่นนี้ จึงเป็นการง่ายที่จะกล่าวหาใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ให้เป็นผู้รับผิดชอบกับหายนะครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนพวกเขาต่างชี้มาที่นักลงทุนชาวต่างชาติ ฉันทามติแห่งวอชิงตัน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ประชาชนยังรู้สึกเกลียดชังนักการเมืองที่บริหารประเทศให้ล่มจม มีการเดินขบวนประท้วงตามเมืองใหญ่ๆ มากมาย ที่นอกจากจะเรียกร้องให้คืนเงินดอลลาร์สหรัฐของพวกเขาที่ฝากอยู่ในธนาคาร พวกเขายังตะโกนขับไล่นักการเมืองเหล่านั้น

วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองบวกกับความเสื่อมศรัทธาในนักการเมืองรุ่นเก่าในช่วงต้นปี 2002 ส่งผลให้ชาวอาร์เจนตินาพร้อมที่จะสนับสนุนใครก็ได้ที่ปวารณาตัวเองว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว นี่คือที่มาของนักการเมืองประชานิยมอย่างเอ็ดวาโด ดูเฮาเด ที่ได้รับเลือกจากรัฐสภาในวันที่ 2 มกราคม 2002 ให้เข้ามาจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ถึงแม้ดูเฮาเดจะเป็นอดีตผู้ว่าการจังหวัดบัวโนสไอเรส แต่การที่เขาแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1999 ต่อเฟอร์นานโด เดลารัว ทำให้เสมือนว่าเขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบในปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ดังนั้นในระยะเวลา 16 เดือนที่เขาอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ดูเฮาเดพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ พยายามกระจายรายได้ไปสู่บริษัทท้องถิ่นและประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ประสบปัญหาความยากจน

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2003 ในการลงคะแนนเสียงรอบแรก เนสโตร คิซเนอร์ (Nestor Kirchner) อดีตผู้ว่าการจังหวัดซานตากรุซ ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 22 มาเป็นลำดับที่ 2 ตามหลังอดีตประธานาธิบดีคาร์ลอส เมเน็มที่ได้คะแนนเสียงร้อยละ 24.4 แต่การที่เมเน็มถอนตัวจากการชิงชัยในรอบสอง ทำให้คิซเน่อร์ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม ในขณะนั้นเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศลดลง ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกของอาร์เจนตินา ไม่ว่าน้ำมัน แร่ธาตุ และพืชผลทางการเกษตร ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลาการบริหารงานของคิซเน่อร์ (2003-2007) เขามีนโยบายที่ต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์ มุ่งขจัดปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม เหมือนกับดูเฮาเด คิซเน่อร์มองว่านักลงทุนต่างชาติ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา เขาได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมเพื่อเอาใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้นักลงทุนต่างชาติปรับโครงสร้างหนี้ตามที่รัฐบาลกำหนด

ผลจากนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ ระหว่างปี 2003-2007 รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ต่อปี อัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียงร้อยละ 9 พร้อมกับการลดลงเหลือเพียงร้อยละ 27 ของประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนในปี 2007 ส่งผลให้ความนิยมในตัวคิซเนอร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขาตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2007 แต่ส่งภรรยา คริสตินา เฟอร์นานเดซ เด คิซเนอร์ (Cristina Fernández de Kirchner) ลงแข่งขันแทน โดยเนสโตร คิซเนอร์ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาอดีตประธานาธิบดีที่ลงจากอำนาจในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอาร์เจนตินา

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลคิซเนอร์มีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้การลงทุนจากต่างชาติลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายเนื่องจากอาร์เจนตินาต้องการเม็ดเงินจากต่างชาติในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว ตามรายงานของสถาบันที่ปรึกษาการจัดการ A. T. Kearney ชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ไม่สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในอาร์เจนตินา ซึ่งแตกต่างกับก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง ในปี 1998 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อาร์เจนตินาอยู่ในลำดับที่ 8 ของประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุน แม้กระทั่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อาร์เจนตินายังอยู่ในลำดับที่ 14, 19 และ 25 ระหว่างปี 1999-2001 ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในรัฐบาลอาร์เจนตินาว่ารักษาคำมั่นสัญญาในกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆที่ได้ลงนามกับบริษัทต่างชาติ

A.T. Kearney ได้ระบุว่าปัญหาการเมืองแบบประชานิยม ความไม่แน่นอนในนโยบายทางเศรษฐกิจ และการที่รัฐบาลบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ ซึ่งเริ่มปรากฏชัดในปี 2002 เป็นสาเหตุที่ทำให้อาร์เจนตินาไม่สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติดังเช่นในคริสต์ทศวรรษที่ 1990s

การที่รัฐบาลขาดเงินลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2004 อาร์เจนตินาเผชิญกับปัญหาวิกฤตพลังงานไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนั้นอาร์เจนตินายังยกเลิกสัญญาการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังชิลี ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเสื่อมทรามลง

รัฐบาลทั้งของคิซเนอร์และคริสตินา คิซเนอร์ต่างใช้รายได้จากการเก็บภาษีสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรในการสนับสนุนฐานเสียงที่สำคัญของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ สหภาพครู รวมทั้งกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ นโยบายเช่นนี้ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้งในอาร์เจนตินา อาทิ รัฐบาลประชานิยมของฮวน โดมิงโก เปรอน (Juan Domingo Perón) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950s เพื่อเป้าหมายทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวม บ่อยครั้งที่สหภาพครูในอาร์เจนตินาต่อต้านความพยายามที่จะปฏิรูประบบการศึกษาเพราะเกรงว่าจะถูกเลิกจ้างเป็นต้น นอกจากนี้ต้นทุนสินค้าส่งออกที่สูงขึ้นยังส่งผลให้มีการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อุรุกวัยและบราซิล

การที่รัฐบาลของคริสตินา คิซเนอร์พยายามที่จะเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีสินค้าส่งออกส่งผลให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากเกษตรกรที่มีรายได้ลดลงอันเป็นผลมาจากนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2008 กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศได้รวมตัวกันประท้วงและนัดหยุดงาน ยิ่งไปกว่านั้นการที่ระบบเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวในปี 2008 อาร์เจนตินาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าจ้าง แทนที่รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลับแก้ตัวว่าตัวเลขเงินเฟ้อนั้นไม่ถูกต้อง มีการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคผิด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติถูกไล่ออกพร้อมกับมีการแก้ไขตัวเลขอัตราเงินเฟ้อใหม่ การกระทำดังกล่าวกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเป็นอย่างมาก

บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินาในปี 2001-2002 และสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาร์เจนตินากำลังเผชิญอยู่ ต่างแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร นักการเมืองในอาร์เจนตินาไม่ว่าจะเป็นเมเน็ม, ดูเฮาเด, คิซเนอร์ และคริสติน่า คิซเนอร์ ต่างก็อยู่ภายใต้เงาของประชานิยม ภายใต้เงาของเปรอน หรืออาจจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าประชาชนส่วนใหญ่ของอาร์เจนตินาติดอยู่ใน ‘กับดักประชานิยม’ พวกเขาหลงใหลได้ปลื้มกับบุคลิกที่ห้าวหาญ คำมั่นสัญญาของนักการเมืองที่สัญญาว่าจะนำพาชีวิตพวกเขาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะเชื่อในมายาคติที่ผู้นำประชานิยมชี้นำโดยไม่ลังเล ดังนั้นเมื่อเกิดหายนะทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของนักการเมืองประชานิยม พวกเขาก็พร้อมจะปิดตามองข้ามความบกพร่องของบุคคลเหล่านั้น และหันไปกล่าวโทษใครก็ได้ที่มีบทบาทในขณะนั้นแทน ดังนั้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพและเผด็จการทหารฝ่ายขวาภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมทั่วทั้งลาตินอเมริการวมถึงอาร์เจนตินา ก็กลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องรับผิดชอบในการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของเปรอน ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950s

เมเน็มก็ไม่ต่างจากเปรอน เขาสัญญากับประชาชนในการเลือกตั้งปี 1989 ว่าจะแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม ถึงแม้หลังจากชนะการเลือกตั้ง เขาจะดำเนินนโยบายในการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ แต่ด้วยการบริหารงานที่ผิดพลาดประกอบกับความไม่พร้อมของอาร์เจนตินาในการรับมือกับความอ่อนไหวของระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระบบการเมืองที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของพวกพ้องและระบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้เมเน็มหลีกเลี่ยงที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองอย่างจริงจัง เพราะกลัวที่จะขัดแย้งกับผู้นำรัฐบาลส่วนท้องถิ่นที่คุมฐานคะแนนเสียง จนทำให้อาร์เจนตินาต้องเผชิญกับหายนะทางเศรษฐกิจในปี 2001-2002

แน่นอน ถึงแม้เมเน็มจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องยอมรับว่าเขาเองก็มีส่วนในวิกฤตครั้งนี้ แต่ชาวอาร์เจนตินาก็จงใจที่จะลืมความบกพร่องดังกล่าวของเขา ดังจะเห็นได้จากการได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 1 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในปี 2003 ตรงกันข้ามชาวอาร์เจนตินากลับฝังใจว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจตามฉันทามติแห่งวอชิงตัน องค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลกหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นซาตานที่ทำร้ายประเทศของเขาให้ล่มสลาย ทำให้พวกเขาต้องยากจน ไม่มีงานทำ

มายาคติเกี่ยวกับความเลวร้ายของการพัฒนาตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ถูกตอกย้ำโดยคิซเนอร์ เขาก็ไม่แตกต่างจากเปรอนหรือเมเน็ม คิซเนอร์ โดยปลุกกระแสชาตินิยม วิพากษ์วิจารณ์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ โจมตีสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ว่าขัดขวางการพัฒนาและพยายามครอบงำอาร์เจนตินา ภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงปี 2003-2007 ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากระบบเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ถูกผู้นำประชานิยมอย่างคิซเนอร์นำมากล่าวอ้างว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา คิซเนอร์และคริสตินา คิซเนอร์ เปรียบเสมือนเปรอนและเอวิตาของชาวอาร์เจนตินาในคริสต์ศตวรรษที่ 21

การเมืองที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้นำประชานิยม ดังที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินานับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ได้ฝังลึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอาร์เจนตินาอย่างแยกไม่ออก ชาวอาร์เจนตินาเสพติดประชานิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ขณะที่เสรีนิยมใหม่กลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายรายล่าสุดของความมัวเมาเหล่านั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save