fbpx

ผู้พิพากษาอาวุโสมีไว้มากมาย… ทำไม

รู้หรือไม่ ในปีงบประมาณ 2565 ศาลยุติธรรมมีผู้พิพากษา 5,156 คน ในจำนวนนี้เป็นพิพากษาอาวุโส 550 คน โดย 445 คน ได้เงินเดือน 83,090 บาท เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท เท่าประธานศาลฎีกา!

ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5,290 คน เป็นผู้พิพากษาอาวุโส 607 คน โดย 505 คน ได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าประธานศาลฎีกา

ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งนับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5,247 คน เป็นผู้พิพากษาอาวุโส 688 คน โดย 568 คน ได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าประธานศาลฎีกา

ปีหน้าและปีต่อๆ ไป น่าจะมีมากกว่านี้

มีผู้พิพากษาอาวุโสไว้ทำไม

ผู้พิพากษาอาวุโสมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 334 (2)

“ภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ตรากฎหมายกําหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมซึ่งจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด ไปดํารงตําแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้พิพากษาผู้นั้นมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และหากผู้พิพากษาอาวุโสผู้ใด ผ่านการประเมินตามที่กฎหมายบัญญัติว่ายังมีสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ให้ดํารงตําแหน่งต่อไปได้จนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้พิพากษาผู้นั้นมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์”

สมัยนั้นผู้พิพากษาเกษียณอายุ 60 กำลังคนไม่มาก คดีความก็เยอะ บางครั้งผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีไม่ครบองค์คณะ จึงเกิดไอเดีย ‘ต่ออายุ’ โดยมองว่าวิชาชีพผู้พิพากษาแม้อายุเกิน 60 ปี ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ทางกฎหมาย อยากให้ทำงานต่อ แต่ให้พ้นจากตำแหน่งเดิม เพื่อให้ผู้พิพากษารุ่นหลังขึ้นสู่ตำแหน่ง แล้วไปเป็น ‘ผู้อาวุโส’ หรือพี่เลี้ยง ‘ผู้พิพากษาเด็ก’ ในศาลชั้นต้น

เนื่องจากตอนนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2543 เปลี่ยนระบบบริหาร ไม่ให้เอาผู้พิพากษาศาลฎีกาลงไปเป็นอธิบดีศาลชั้นต้น อธิบดีศาลแพ่งศาลอาญามาจากผู้พิพากษาชั้น 3 ทั้งหมด เมื่อครบวาระแล้วขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ออกมาในปี 2542 หลังจากนั้น ประธานศาลฎีกา รองประธาน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ เมื่ออายุครบ 60 พ้นตำแหน่งก็ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสต่อที่ศาลชั้นต้น เป็นได้สองขยัก ขยักแรกถึงอายุ 65 ปี และประเมินสมรรถภาพอีกทีก็เป็นได้ถึงอายุ 70 ปี

ฟังเหมือนเข้าที แต่ระบบที่เอาผู้พิพากษาศาลฎีกาพ้นตำแหน่งลงไปอยู่ศาลชั้นต้น ก็มีความลักลั่น ดังที่ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลจังหวัดนนทบุรี แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เขียนบทความไว้ในมติชน 23 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้พิพากษาอาวุโส “เสาหลักหรือกาฝากของสถาบันศาลยุติธรรม”

น.ส.สมลักษณ์บรรยายว่า ผู้พิพากษาอาวุโสไม่ใช่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของอธิบดีศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก็ทำหน้าที่เหมือนผู้บังคับบัญชา เช่นรายงานความดีความชอบ ลาป่วยลาพักลาไปบรรยาย ฯลฯ ก็ต้องยื่นกับหัวหน้าศาล ไม่มีหน่วยราชการพลเรือนที่ไหนทำอย่างนี้ ที่ให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกลับมาได้ตำแหน่งเป็นซี 3-4

แม้ได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าเดิม แต่ก็ถูกงดสวัสดิการทั้งหมด “เช่น รถประจำตำแหน่ง พนักงานขับรถ โทรศัพท์มือถือ” (มีระเบียบภายหลังเมื่อ 8 ตุลาคม 2547 ให้ผู้พิพากษาอาวุโสมีรถประจำตำแหน่ง-เข้าใจว่าเป็นค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่ง ตามมติ ครม. ปี 2547)

นอกจากนั้นมีเรื่องห้องทำงาน มีการส่งงบตามไปท่านละหนึ่งแสนบาท เพื่อให้ตกแต่งห้องทำงาน แต่ปรากฏว่าไม่มีห้องให้นั่ง ต้องนำโต๊ะมาตั้งเรียงกันแบบนักเรียนนั่ง บางศาล ผู้พิพากษาอาวุโสต้องนั่งรวมกันอยู่ในห้องแคบๆ ผู้พิพากษาอาวุโสจึงคืนเงินไปจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งผู้พิพากษาตุลาการมีส่วนร่วมตั้งแต่ ‘เลือกตั้งโมฆะ’ยุบพรรคไทยรักไทย ไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ “รับไปก่อนแก้ทีหลัง” มีการรื้อระบบศาลทั้งในรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม บทบัญญัติอิสระผู้พิพากษาหายไป กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาแต่ละชั้นศาล จากที่เป็น 4-4-4 เท่ากัน ก็แก้เป็นศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน ที่เคยให้อธิบดีศาลชั้นต้น ประธานศาลอุทธรณ์ มาจากผู้พิพากษาชั้นเดียวกัน ก็กลับไปตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาลงมาบริหาร

ที่สำคัญคือ ขยายอายุ ‘เกษียณ’ จาก 60 ปีเป็น 70 ปี แม้ภายหลังลดลงเป็น 65 ปี

ปัจจุบันจึงเปลี่ยนจากเดิมคือ ประธานศาลฎีกา รองประธาน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ดำรงตำแหน่งถึงอายุ 65 ปี แล้วไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสอีกห้าปี

เว้นแต่ ก.ต. ไม่ให้ไปต่อ อย่างกรณี วิชิต ลีธรรมชโย ที่ร่วมม็อบราษฎร หรือไม่ประสงค์ไปต่อ เช่น ชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งออกไปเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษากัลฟ์เอ็นเนอร์จี

เหนือกว่าต่ออายุ

ฟังเผินๆ ก็เหมือนส่วนราชการ มหาวิทยาลัย ต่ออายุหรือจ้างผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทำงานต่อหลังเกษียณ แต่ผู้พิพากษาอาวุโสไม่ได้เป็นอย่างนั้น เนื่องจาก

  1. คนเหล่านี้ไม่นับว่าเกษียณ เพราะยังได้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่ง จนกระทั่งพ้นจากผู้พิพากษาอาวุโส จึงถือว่า ‘เกษียณ’ ไม่ได้เงินประจำตำแหน่ง ไม่ได้ค่ารถ ได้เฉพาะบำนาญ
  2. มีการขึ้นเงินเดือนทุกปี เพราะตามมาตรา 5 พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ถ้าได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุดของชั้นอยู่ก่อนแล้ว เมื่อไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าเงินเดือนเดิมหนึ่งขั้น และในปีงบประมาณต่อๆ ไปให้ปรับทุกปี ปีละหนึ่งขั้น โดยปรับเงินประจำตำแหน่งตามไปด้วย มีอย่างเดียวที่ไม่ได้ขึ้นคือค่ารถ ยังได้เท่าเดิมตอนก่อนเป็นผู้พิพากษาอาวุโส
  3. เออร์ลีไม่รีไทร์ ตามมาตรา 6 (ซึ่งแก้ไขเมื่อปี 2560) ผู้พิพากษาไม่ต้องรอถึง 65 เพียงอายุครบ 60 ปีและปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ก็ขอเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้ (แล้วจะได้ขึ้นเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งตามมาตรา 5)

สรุปง่ายๆ คือถ้าท่านเป็นผู้พิพากษามาเกิน 20 ปี อายุครบ 60 ปี หากอยู่ต่อจนอายุครบ 65 อาจจะได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าเดิม ก็ขอไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสดีกว่า เพราะได้ขึ้นปีละขั้นโดยไม่ต้องแบกความรับผิดชอบเหมือนตอนดำรงตำแหน่ง

เงินเดือนศาลล็อคอาวุโส

เงินเดือนผู้พิพากษามีห้าชั้น ล็อกตามตำแหน่งซึ่งเลื่อนตามลำดับอาวุโสอย่างเคร่งครัด ถ้าอยู่ในชั้นเดียวกัน เช่น ศาลฎีกา ไม่ว่าเป็นรองประธาน ประธานแผนก ผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็ได้เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเท่ากันหมด ศาลอุทธรณ์ก็เท่ากันหมด ส่วนศาลชั้นต้นเรียงตามอายุราชการ

เริ่มตั้งแต่บรรจุเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เงินเดือน 25,000 บาทไม่มีเงินประจำตำแหน่ง แต่เป็นผู้ช่วยปีเดียว ก็เป็นผู้พิพากษาประจำศาล รับเงินเดือนชั้น 1 ซึ่งมีขั้นเดียวเป็นจำนวน 30,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 20,000 บาท

จากนั้นก็เป็นผู้พิพากษาที่ออกไปอยู่ในศาลต่างๆ รับเงินเดือนชั้น 2 ซึ่งมีห้าขั้นตามอายุราชการเป็นเงิน 37,110 บาท, 41,410 บาท, 45,890 บาท, 53,200 บาทและ 58,370 บาท ส่วนเงินประจำตำแหน่งเท่ากันหมดคือ 23,300 บาท

ใช้เวลาเจ็ดปี ขึ้นเป็นผู้พิพากษาชั้น 3 ซึ่งมีสองขั้น ขั้น 3 ต่ำได้เงินเดือน 74,360 บาท เงินประจำตำแหน่ง 30,000 บาท โดยผู้พิพากษาที่รับราชการมาระหว่าง 7-10 ปี ปัจจุบันมีสามร้อยกว่าคน

ขั้น 3 สูง คือผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่รับราชการเกิน 10 ปี ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ปัจจุบันมีสองพันกว่าคน เงินเดือนเท่ากันหมดคือ 76,800 บาท และมีเงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท

ชั้น 4 ก่อนหน้านี้รวมศาลอุทธรณ์ศาลฎีกา ได้เงินเดือนเท่ากันหมด ตอนหลังแยกเป็นสองขั้น ขั้น 4 ขั้น 4 ต่ำ คือศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่รองประธานศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลชั้นต้นบางศาล รองอธิบดีศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ปัจจุบันมีเก้าร้อยกว่าคน ได้เงินเดือนเท่ากันหมดคือ 80,540 บาท โดยมีเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท

ขั้น 4 สูงสูงคือศาลฎีกา ปัจจุบันมีราว 150 คน รวมผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ภาค อธิบดีศาลชั้นต้น ได้เงินเดือนเท่ากันหมดที่ 81,920 บาท มีเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท

ชั้น 5 มีหนึ่งเดียวเท่านั้น คือประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท เท่าประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด (อันที่จริงตอนแรกเท่านายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา เพราะถือเป็นประมุขสามอำนาจ แต่ขยับไปขยับมา ตอนนี้ศาลสูงกว่า)

ผู้พิพากษาชั้น 4 ยังได้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่ง เทียบเท่าปลัดกระทรวง 41,000 บาท ชั้น 3 มีทั้งได้เท่าอธิบดี 31,800 บาท และรองอธิบดี 25,400 บาท หรือบางคนก็ไม่ได้ ขึ้นกับตำแหน่ง (ผู้พิพากษาส่วนหนึ่งสมัครใจไม่อยากย้าย หรือไม่อยากรับเป็นหัวหน้า ก็สละสิทธิรับเงินค่ารถ)

ส่วนประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา มีรถรับรองประจำตำแหน่ง เทียบเท่านายกฯ และรัฐมนตรี

ปีงบประมาณ 2567 ผู้พิพากษาชั้น 4 มี 1,061 คน ศาลยุติธรรมหน่วยงานเดียวจ่ายค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งเท่าปลัดกระทรวง 1,061 คน (โดยยังไม่รวมผู้พิพากษาอาวุโส)

เลื่อนขั้นเคร่งครัด เงินเดือนสูงติดกับ

ผู้พิพากษาเลื่อนขั้นตามอาวุโสเคร่งครัด ตามลำดับรุ่นที่บรรจุเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ไม่มีแซงหน้า เว้นแต่ถูกลงโทษทางวินัยจึง ‘แป้ก’

อย่างที่เคยพูดกันว่า ใครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ที่ 1 ตอนอายุ 25 ถ้าไม่มีอันเป็นมะเร็งเสียก่อน พออายุ 64 จะได้เป็นประธานศาลฎีกา เพราะถือเป็นอาวุโสอันดับ 1 ของรุ่น

เพียงแต่บางคนสอบได้ตอนอายุเกิน 25 กว่าจะถึงคิวรุ่นตัวเอง เกษียณก่อน ลำดับก็เลื่อนไปให้คนที่ยังอยู่

เงินเดือนผู้พิพากษาไม่ขึ้นกับอายุราชการ แต่ขึ้นกับตำแหน่ง มีเพียงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขั้นแรกๆ ขึ้นกับอายุราชการ แต่พอเป็นผู้พิพากษาชั้น 3 สูงเต็มขั้น ต้องรอตำแหน่งในศาลอุทธรณ์ว่าง จึงจะได้ขึ้นตำแหน่งพร้อมเงินเดือน ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ก็เช่นกัน ต้องรอตำแหน่งว่างในศาลฎีกา

ปกติ การขยับลำดับขั้นอย่างนี้ก็ช้าอยู่แล้ว แต่ยิ่งวิบัติเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ขยายอายุดำรงตำแหน่งจาก 60 ปีเป็น 70 ปี แม้ต่อมาลดเหลือ 65 ปี แต่ตอนนั้น ประธานศาลฎีกา รองประธาน ประธานศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาล ฯลฯ ที่เคยดำรงตำแหน่งปีเดียว ก็เป็นกันคนละสองปี

สิ่งที่ตามมาคือตำแหน่งอั้น เงินเดือนตัน ทั้งระบบศาลยุติธรรม จนใช้ช่องทางผู้พิพากษาอาวุโสช่วยระบาย ไม่ว่าจงใจหรือไม่ก็ตาม

ผู้พิพากษาในปัจจุบัน จากผู้ช่วย ขึ้นชั้น 1 ชั้น 2 ใช้เวลาประมาณเจ็ดปี ชั้น 3 ขั้นต่ำอีกสามปี ก็จะขึ้นชั้น 3 สูง แล้วหยุดอยู่ตรงนั้น 15 ปี รอขึ้นศาลอุทธรณ์เมื่อมีตำแหน่งว่าง ทำให้ผู้พิพากษาชั้น 3 สูง มีมากถึงสองพันกว่าคน

โดยตลอด 15 ปี จะได้เงินเดือน 76,800 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท ไม่ขี้นไม่ลงแม้แต่บาทเดียว เว้นแต่จะมีการปรับเงินเดือนทั้งระบบ

เป็นตลกร้ายที่ผู้พิพากษาบ่น เงินเดือน+เงินประจำตำแหน่งสูงลิบ 118,300 บาท แต่ไม่ขยับ 15 ปี ยังกับโดนลงทัณฑ์ทางวินัย

ช่องระบาย?

ภายใต้หลักเกณฑ์ปัจจุบัน เมื่อผู้พิพากษาอายุครบ 60 ปี ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 20 ปี ขอไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสได้ โดยถ้าได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุดของชั้นอยู่แล้ว ให้ได้เงินเดือนสูงกว่าเดิมหนึ่งขั้น และปีต่อๆ ไปให้ปรับทุกปี ปีละหนึ่งขั้น ปรับเงินประจำตำแหน่งตามไปด้วย มีเพียงค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่งเท่านั้น ที่ได้เท่าเดิม

ผู้พิพากษาขั้น 3 สูง หรือแม้แต่ขั้น 4 ต่ำ ซึ่งรู้ตัวว่าไม่ได้อยู่ในลำดับที่จะดำรงตำแหน่งประธาน รองประธาน อาจสอบผู้ช่วยได้ตอนอายุ 30-35 เป็นผู้พิพากษา 25 ปี อายุ 60 เงินเดือนขั้น 3 สูง มองไปข้างหน้าเหลือเวลาแค่ห้าปี อย่างไรก็ไม่มีทางได้ขึ้นชั้น 4 หรือเป็นชั้น 4 ก็ไม่ได้ 4 สูง

แล้วอย่างนั้นจะอยู่ทำไมล่ะครับ ขอเป็นผู้พิพากษาอาวุโสดีกว่า ขั้น 3 สูงเงินเดือน 76,800 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท เป็นผู้พิพากษาอาวุโสปีแรก เงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท เป็นผู้พิพากษาอาวุโสปีที่สอง เงินเดือน 81,920 เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท เป็นผู้พิพากษาอาวุโสปีที่สาม เงินเดือน 83,090 บาท เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท อ้าว เท่าประธานศาลฎีกาแล้ว

ตลกร้ายว่า อดีตประธานศาลฎีกาอย่าง ไสลเกษ วัฒนพันธุ์, ปิยกุล บุญเพิ่ม, โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ พอพ้นตำแหน่งไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสก็รับเท่าเดิมเพราะเป็นขั้นสูงสุด ไม่มีให้เลื่อนแล้ว ที่เคยมีรถรับรองสมัยเป็นประธาน ก็ถอยมารับเงินเดือน 41,000 บาทเท่าชั้น 4

หลักเกณฑ์นี้ทำให้ผู้พิพากษาอาวุโสเพิ่มทุกปี ปีงบประมาณ 2565 ศาลยุติธรรมมีผู้พิพากษา 5,156 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส 550 คน โดย 445 คน ได้เงินเดือน 83,090 บาท เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท 67 คนได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าผู้พิพากษาศาลฎีกา (4 สูง) 38 คนได้เท่าศาลอุทธรณ์ (4 ต่ำ)

ปีงบประมาณ 2566 มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5,290 คน เป็นผู้พิพากษาอาวุโส 607 คน โดย 505 คน ได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าประธานศาลฎีกา 74 คนได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าผู้พิพากษาศาลฎีกา (4 สูง) 28 คนได้เท่าศาลอุทธรณ์ (4 ต่ำ)

ในปีงบประมาณ 2567 มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5,247 คน เป็นผู้พิพากษาอาวุโส 688 คน โดย 568 คน ได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าประธานศาลฎีกา 71 คนได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่าผู้พิพากษาศาลฎีกา (4 สูง) 49 คนได้เท่าศาลอุทธรณ์ (4 ต่ำ)

ผลงานวัดไม่ได้

ประเด็นสำคัญคือ ผู้พิพากษาอาวุโสจำนวนมากนี้ ได้ทำคดีมากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันผู้พิพากษาอาวุโสไม่ได้อยู่แค่ศาลชั้นต้น แต่อยู่ทุกศาล โดยเฉพาะศาลฎีกาศาลอุทธรณ์ เพียงมีข้อห้ามดำรงตำแหน่งในศาลที่สูงกว่าตำแหน่งเดิม เช่น เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขอไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ไม่ได้

ผู้พิพากษาอาวุโสไม่มีตำแหน่งบริหาร ขึ้นกับผู้บริหารคือประธานศาล อธิบดีศาล จะมอบสำนวนคดีให้ทำ หากไม่มอบ ก็ไม่มีงานทำ จนกระทั่งมีเสียงสะท้อนจากผู้พิพากษารุ่นหลังว่า ถ้าไม่มีคดี บางท่านก็ทำงานแค่ ‘สี่จันทร์’

อย่างที่อาจารย์สมลักษณ์เขียนไว้ว่า ผู้พิพากษาอาวุโสไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของอธิบดี ของหัวหน้าศาล บางทีหัวหน้าศาลก็เกรงใจเพราะเป็นผู้ใหญ่ผู้อาวุโส ไม่มีหน่วยราชการพลเรือนที่ไหนทำอย่างนี้ ให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกลับมาเป็น ซี 3-4

หากดูอัตราว่างสำหรับแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส ในวาระ 1 ตุลาคม 2566 ยังพบว่าผู้พิพากษาอาวุโสกระจุกอยู่บางศาลและบางพื้นที่ ขณะที่ศาลจังหวัดในพื้นที่ห่างไกลที่ควรจะมีกลับมีน้อยมาก

ในศาลสูง คือศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศาลอุทธรณ์ภาค อัตรา 308 ตำแหน่ง มีคนครอง 302 ตำแหน่ง เกือบเต็ม (ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ มีเบี้ยประชุม ผู้พิพากษาอาวุโสก็ได้เบี้ยประชุม)

ศาลชั้นต้นในกรุงเทพฯ และศาลชำนัญพิเศษ 267 ตำแหน่ง มีคนครอง 103 ตำแหน่ง

ขณะที่ต่างจังหวัด ศาลภาค 1 (ปริมณฑล) 112 ตำแหน่ง มีคนครอง 75 ตำแหน่ง ศาลเยาวชน 24 ตำแหน่ง มีคนครอง 21 ตำแหน่ง

ศาลภาค 2 (ตะวันออก) อัตรา 57 ตำแหน่ง มีคนครอง 22 ตำแหน่ง เป็นศาลเยาวชน 11 ตำแหน่ง

ศาลภาค 3 (อีสานใต้) 57 ตำแหน่ง มีคนครอง 7 ตำแหน่ง เป็นศาลเยาวชน 3 ตำแหน่ง

ศาลภาค 4 (อีสานเหนือ) 71 ตำแหน่ง มีคนครอง 13 ตำแหน่ง เป็นศาลเยาวชน 12 ตำแหน่ง

ทำไมผู้พิพากษาอาวุโสอัดแน่นอยู่ในศาลสูง ในกรุงเทพฯ และรอบๆ กรุง ทำไมผู้พิพากษาอาวุโสลงไปอยู่ศาลเยาวชนเยอะจัง ศาลเยาวชนงานหนักมากหรืออย่างไร

แล้วผู้พิพากษาอาวุโสแต่ละท่าน แต่ละปีได้ทำกี่คดี ขณะที่ผู้พิพากษาศาลแขวงศาลจังหวัด ปัจจุบันนี้ ทำคดีคนละไม่ต่ำกว่า 500 คดีต่อปี

นี่ไม่ใช่เราถาม แต่ผู้พิพากษาด้วยกันเองก็คาใจ ก.ต. จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไหม ยุติธรรมกับสังคมและยุติธรรมกับผู้พิพากษาด้วยกันเองหรือไม่ มีอภิสิทธิ์ใดเหนือข้าราชการวิชาชีพอื่นหรือเปล่า

ผู้พิพากษาอาวุโส
อายุครบ 60 รับราชการไม่น้อยกว่า 20 ปี ขอเป็นผู้พิพากษาอาวุโส
ขณะได้รับเงินเดือนขั้น 3 สูง 76,800 เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท
เป็นผู้พิพากษาอาวุโสวันที่ 1 ตุลาคม ขึ้นเงินเดือนเป็น 80,450 เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท
วันที่ 1 ตุลาคม ปีถัดไป ขึ้นเงินเดือนเป็น 81,920 เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท
วันที่ 1 ตุลาคม ปีถัดไป ขึ้นเงินเดือนเป็น 83,090 เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท
ใช้เวลา 2 ปี 1 วัน เท่าประธานศาลฎีกา

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save