fbpx

แล้วการเมืองนี่มันวิเศษวิโสมาจากไหน ทำไม ‘ตระบัดสัตย์’ แล้วต้องไม่โดนด่า

ในช่วงเวลาการจัดตั้งขั้วรัฐบาลอันแสนอลหม่าน หนึ่งในประโยคที่น่าจะติดหูคนฟังและติดตัวคนพูดไปอีกนาน คือเมื่อครั้งที่ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงการเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลว่า แคมเปญหาเสียง ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ นั้นเป็นการ “รณรงค์เพื่อให้ได้มาของคะแนนเสียงเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดขึ้นบนวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ” แถมด้วยภาพอันแสนจะเซอร์เรียลเมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งฟังแถลงการณ์นั้นอยู่ข้างๆ กัน

หรือกระทั่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจำเป็นต้องลืมวาทกรรม “มีเราไม่มีลุง” และจำเป็นต้องกลืนเลือดเพราะคณิตศาสตร์การเมืองพื้นฐานก็บอกชัดอยู่แล้วว่าจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง

มีทั้งคนที่มองว่าท่าทีและการให้สัมภาษณ์ของทั้งชลน่านและเศรษฐานั้นนับเป็นการ ‘ตระบัดสัตย์’ โกหกต่อประชาชน ขณะที่อีกหลายคนก็มองว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ ในสภาพการเมืองที่เครียดเขม็ง ขั้วอำนาจเก่าก็ยังต้องหาทางลง (แต่จำนวนไม่น้อยก็หาทาง ‘อยู่ต่อ’ ผ่านโครงสร้างทางการเมืองที่เอื้อผลประโยชน์ให้) การจับไม้จับมือกันเพื่อตั้งรัฐบาลก็ดูจะเป็นทางออกเดียว ใจคอจะเล่นบทคุณธรรมเอาหล่อเอาสวยไปถึงไหน

สารพัดเหตุผลมากมายประดามีที่อ่านแล้วมีทั้งที่ขมวดคิ้วไม่เข้าใจไปจนพยักหน้าพอถูไถ แม้ใจหนึ่งจะอดนึกไปไม่ได้ว่า ลองได้รับปากบรรณาธิการว่าจะส่งต้นฉบับวันนี้พรุ่งนี้แล้วเล่นแง่ไม่ยอมส่ง ปลายทางไม่แคล้วตั้งแต่โดนสาปไปจนถึงโดนหักเงิน มากมายไปกว่านั้น -และสำคัญที่สุด- จะส่งผลระยะยาวถึงความน่าเชื่อถือในฐานะคนทำงาน สัญญิงสัญญาอะไรเขาไว้แล้วไม่ทำตาม ใครจะอยากร่วมงานด้วยอีก -นี่เป็นกฎพื้นฐาน และก็ดูเหมือนจะเป็นเงื่อนไขทั่วไปที่เราใช้ในชีวิตประจำวันด้วย นับตั้งแต่นัดเพื่อน รับปากคนรู้จัก ลำพังป้าร้านข้าวหรือน้าๆ ร้านกาแฟอนุญาตให้ ‘เซ็น’ ไว้ก่อนได้เพราะไม่มีเงินสดในมือไปจ่าย วันรุ่งขึ้นก็รีบกำเงินไปจ่ายเขา สื่อสารกันบนความไว้วางใจที่เขามอบให้ นี่ก็เป็นเรื่องที่อธิบายว่าความไว้วางใจทำงานอย่างไรในสังคม ยิ่งกับในจักรวาลการทำงานที่ความน่าเชื่อถือนับเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ด้วยซ้ำไป

พอเห็นการพยายามปกป้อง ร้องขอไม่ให้ด่านักการเมืองซึ่งทำอย่างที่รับปากไว้ไม่ได้ของใครหลายคนผ่านตา ก็ชวนให้สงสัยว่า แล้วการเมืองมันวิเศษวิโสมาจากไหน ทำไมการ ‘ทำตามที่พูดไม่ได้’ แล้วจะได้รับการยกเว้น ได้รับการเข้าอกเข้าใจ ไม่ต้องโดนด่าว่าโกหกหรือปลิ้นปล้อน

ชวนนึกถึง บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีฝั่งอนุรักษนิยมของสหราชอาณาจักรที่ได้ชื่อว่าพูดจาเหลี่ยมจัด จริงบ้างไม่จริงบ้างจนขาดความน่าเชื่อถือ หนึ่งในกรณีที่อื้อฉาวคือเมื่อเขาเดินหน้าทำแคมเปญ Brexit -การที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป- โดยอ้างว่าหากสหราชอาณาจักรไม่ถอนตัวออกมา จะต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยหนึ่งในแคมเปญที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือแคมเปญในปี 2016 กับสโลแกน “เราส่งเงินให้สหภาพยุโรปสัปดาห์ละ 350 ล้านปอนด์ -เอาเงินนี้มาใช้กับบริการสุขภาพแห่งชาติกันเถอะ” โดยหลีกเลี่ยงไม่ระบุถึงเงินส่วนลดที่จะได้หลังจากนั้น ตัวจอห์นสันเคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศว่า “หากทุกอย่างลงตัวแล้ว เราจะเป็นฝ่ายถือสิทธิควบคุมเงิน 350 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์นั้น มันก็คงจะดีนะ -เพราะก็อย่างที่หลายคนเล็งเห็น- หากว่าเงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้กับบริการสุขภาพแห่งชาติ”

เรื่องของเรื่องคือ แม้จำนวนเงิน 350 ล้านปอนด์นั้นจะมีอยู่จริง แต่ก็เป็นจำนวนที่ปรับลดได้ ทั้งตามเงื่อนไขแล้ว สหราชอาณาจักรยังมีสิทธิในการลดหรือเพิ่มจำนวนเงินที่จะให้แก่สหภาพยุโรปได้ด้วย และขณะที่ตัวสโลแกนแคมเปญเน้นย้ำถึงการ ‘ส่งเงิน’ (we send) แต่หลังจากนั้น จอห์นสันกลับเลือกใช้คำว่า ‘ถือสิทธิควบคุม’ (take back control) แทน ซึ่งไม่ได้ให้น้ำเสียงของการเป็นผู้เสียผลประโยชน์เท่าตอนแรก มากไปกว่านั้น สโลแกนที่ระบุชัดเจนว่าจะเอาเงิน 350 ล้านปอนด์ไป “ใช้กับบริการสุขภาพแห่งชาติ” กลายเป็น “ก็คงดี” ถ้าหากว่า “เงินดังกล่าวถูกนำไปใช้กับบริการสุขภาพแห่งชาติ” (“It would be a fine thing, as many of us have pointed out, if a lot of that money went on the NHS.”)

สิ่งนี้บานปลายถึงขนาดว่า มีคนร่วมระดมทุนจะฟ้องจอห์นสันและนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ทำแคมเปญสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป “ไม่เกี่ยวหรอกว่าคุณจะมาจากพรรคแรงงาน, พรรคอนุรักษนิยม หรือพรรคเสรีประชาธิปไตย จะยังอยู่ในพรรคหรือออกมาแล้วก็ตาม แต่ประชาธิปไตยนั้นเรียกร้องผู้นำที่มีความรับผิดชอบและซื่อสัตย์จากหน่วยงานต่างๆ” ทนายของกลุ่มผู้ฟ้องร้องกล่าวต่อศาล “การกระทำของ บอริส จอห์นสัน ทั้งขาดความรับผิดชอบและไม่ซื่อสัตย์ จนเรากล่าวได้ว่านับเป็นอาชญากรรมเลยทีเดียว”

“เมื่อนักการเมืองโกหก ประชาธิปไตยก็ตายลง ความยุติธรรมและหลักนิติธรรมต้องถูกนำไปปรับใช้กับทุกเรื่องโดยไม่คำนึงถึงจุดยืนของพวกเขา”

รวมทั้งความอื้อฉาวที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นจุดอังปางของจอห์นสันคือช่วงกลางปี 2021 โดยสื่อมวลชนลงข่าวว่า เดือนธันวาคม 2020 อันเป็นช่วงที่อังกฤษยังอยู่ภายใต้คำสั่งล็อกดาวน์เข้มงวดจากการระบาดใหญ่ ทีมงานของนายกฯ จัดงานเลี้ยงเล็กๆ ในสวนหลังทำเนียบนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดกฎที่พวกเขาประกาศต่อประชาชน ขณะที่จอห์นสันให้สัมภาษณ์ว่างานปาร์ตี้ดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพื่อจะพบว่าอีกไม่นานหลังจากนั้น ข้อมูลต่างๆ เริ่มทยอยถูกปล่อยออกสู่สายตาสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนจอห์นสันต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อกรณีนี้โดยเฉพาะ และกล่าวคำขอโทษในที่สุด ทว่า ความแค้นเคืองของทั้งฝั่งประชาชนและเพื่อนนักการเมืองด้วยกันก็ไม่จบลงแค่นั้น เมื่อผู้แทนจากพรรคอนุรักษนิยมจำนวนมากแสดงความเห็นให้จอห์นสันลาออกเสีย เพราะด้านหนึ่งการประพฤติตัว ‘ต่อหน้าอีกอย่าง ลับหลังอีกอย่าง’ ถือเป็นสิ่งที่ตัวพรรคเองพิจารณาว่ารับไม่ได้ในมาตรฐานของความเป็นพรรคอนุรักษนิยม

ดัฟฟ์ โคนาเชอร์ ผู้สื่อข่าวเผยแพร่บทความของเขาทางเว็บไซต์ The Globe and Mail กล่าวถึงท่าทีของจอห์นสันว่า “หากบางคำสัญญากลายเป็นสิ่งโกหก เราก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าคนที่เล่นโป๊กเกอร์ เดาว่าอีกฝ่ายกำลังบลัฟอะไรเรา”

“ตัวนักการเมืองเองก็เป็นผู้ผ่านกฎหมายที่เรียกร้องความซื่อสัตย์จากประชาชน นับตั้งแต่การออกงบให้ผู้ถือหุ้นโดยผู้บริหารองค์กร, บริษัทต่างๆ ที่ต้องระบุตัวเลขเมื่อมีโฆษณาเข้า, คนที่ต้องจ่ายภาษี, ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ยื่นเรื่องเข้าเป็นพลเมืองของรัฐ, ประชาชนที่เข้ารับสวัสดิการ และใครก็ตามที่ขึ้นเป็นพยานในศาล หากไม่ปฏิบัติตามกฎก็มีบทลงโทษหนัก แน่นอนว่ากฎหมายเหล่านี้มิได้ทำงานโดยสมบูรณ์แบบหรือยับยั้งทุกข้อผิดพลาดได้ แต่พื้นฐานคือมันเป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านความไม่สัตย์จริง”

จะมองว่าการพูดไม่จริง พูดไม่หมด ฯลฯ นั้นเป็นหนึ่งใน ‘กลยุทธ์’ ทางการเมืองก็อาจพอถูไถมองไหว และในบางกรณีก็อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ กระนั้น การโดนตำหนิหรือก่นด่าจากประชาชนที่เสียใจและผิดหวัง ก็ดูเป็นสิ่งที่เข้าใจได้อยู่เหมือนกันไม่ใช่หรือ เพราะเอาแค่ในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน รับปากใครไว้แล้วทำไม่ได้ (ทั้งที่รู้หรือไม่รู้แต่แรก) จะโดนอีกฝ่ายสวนกลับมาให้ยอกหัวใจก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินคำนึงเสียเมื่อไหร่ เอาไปเอามาป้าร้านข้าว น้าร้านกาแฟจะคว่ำบาตรไม่ให้เข้าร้านอีก

หรือหากมองว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพราะมันคือการเมือง อยากรู้เหมือนกันว่ารับมือกันไหวหรือไม่หากชีวิตประจำวันพบเจอแต่คนที่พลิกแพลงคำสัญญาจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ขนาดนี้

การโดนตำหนิหรือด่าทอ ก็อาจจะนับเป็นราคาที่ต้องจ่ายอย่างถูกที่สุดเท่าที่ต้องเจอแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save