fbpx

ทำไม ‘จังหวะเวลา’ การให้ทุนการศึกษาจึงสำคัญ?: ข้อค้นพบจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ในบทความเรื่อง จากห้องทดลอง สู่โลกจริง: เศรษฐศาสตร์เชิงทดลองกับการใช้ Growth Mindset และมุมมองด้านอาชีพเพื่อเปลี่ยนอนาคต ได้เล่าถึงการออกแบบทดลองด้วยวิธีการ randomized controlled trials (RCTs) และแสดงผลว่าการได้รับหลักสูตร growth mindset สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการคิดรู้และด้านอารมณ์ของนักเรียนได้ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่เราทำ โครงการวิจัยนี้ได้ตั้งคำถามด้วยว่า ‘จังหวะเวลา’ หรือ ‘timing’ ในการให้ทุนของโครงการจัดสรรทุนอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash transfer – CCT) มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ปกครองและนักเรียนที่รับทุนหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบว่าการให้ทุนกับผู้ปกครองในช่วงเวลาไหนจึงจะส่งผลต่อการนำเงินไปใช้จ่ายในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็กโดยตรง

คำถามนี้นำไปสู่การทดลองเรื่อง ‘จังหวะเวลา’ คู่ขนานไปกับการดำเนินงานในโครงการ CCT ของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทำไมต้องพิจารณา ‘จังหวะเวลา’?

เศรษฐศาสตร์ตามขนบ (conventional economics) วางอยู่บนสมมติฐานว่ามนุษย์มีพฤติกรรมที่มีเหตุผล (rational) โดยจะตัดสินใจ ‘เลือก’ กระทำกิจกรรมที่เห็นว่าได้ประโยชน์มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงินที่เผชิญอยู่ พอมาปรับใช้กับกรณีของการให้ทุน CCT อาจสามารถตีความได้ว่า ผู้รับทุนย่อมนำเงินไปใช้จ่าย (หรือเก็บออม) ตามกิจกรรมต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ตามลำดับความสำคัญ ถ้าหากปริมาณเงินที่ได้รับมากขึ้น ข้อจำกัดก็ลดลง จึงทำให้บรรลุระดับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หากผู้ปกครองในครัวเรือนยากจนคิดแบบมีเหตุผล เขาก็จะสามารถประเมินจำนวนของรายได้ที่เขาจะได้รับในห้วงเวลาหนึ่ง (เช่น รอบ 6 เดือน หรือ 1ปี) ได้แม่นยำและทำการ ‘จัดสรร’ รายได้นั้นเพื่อการบริโภคในกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้แล้วอย่างสมดุล (consumption smoothing) ซึ่งถ้าหากครัวเรือนยากจนคิดแล้วว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าผู้ปกครองจะได้รับทุนตอนไหน ผลลัพธ์ก็ไม่น่าจะต่างกัน เพราะพวกเขาย่อมจัดสรรเงินไปยังกิจกรรมด้านการศึกษาที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าอยู่ช่วงไหนของห้วงเวลาได้อย่างตรงวัตถุประสงค์

แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนยากจนต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายทั้งด้านรายได้และสังคม ซึ่งอาจทำให้พวกเขาตัดสินใจแบบติดกรอบ สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) และ เอสเธอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) อธิบายว่า คนจนมักมีการตัดสินใจที่ไม่เป็นเหตุผล (ในสายตาของชนชั้นกลาง) เช่น เมื่อมีเงินเพิ่มขึ้นก็จะไปใช้จ่ายในอาหารที่ไม่ได้ประโยชน์และสารอาหารเพิ่มขึ้นในราคาที่แพงขึ้น หรือไปซื้อสิ่งบันเทิง แทนที่จะนำเงินส่วนเพิ่มไปใช้กับสิ่งจำเป็นอื่น (ทั้งๆ ที่ในหมู่บ้านไม่มีแม้แต่สุขาภิบาลและน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะ) หรือ คนจนหลายคนพึ่งไสยศาสตร์ในการรักษาโรคมากกว่าการรักษาตามหลักการแพทย์ ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่รู้เรื่อง หากแต่เป็นความเคยชินกับข้อจำกัดที่ตนเองเผชิญ

แบเนอร์จีและดูโฟลให้คำอธิบายว่า สำหรับคนที่ตกอยู่ในกับดักความจนและมีชีวิตที่แสนลำบาก  การได้กินอาหารที่มีรสชาติจัดๆ ที่แม้ไม่เป็นประโยชน์นัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ชีวิตได้รับรู้ถึงรสชาติ หรือการมีสิ่งบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจบรรเทาชีวิตน่าเบื่อในหมู่บ้าน และฆ่าเวลาจากการไม่มีงานทำได้ ในขณะที่การพึ่งไสยศาสตร์เพื่อรักษาโรคก็เป็นเหมือนกับความหวังที่ยังพอหาซื้อได้ เพราะการไปหาหมอที่โรงพยาบาลต้องใช้ทั้งเวลาและเงินอย่างมาก[1]  

พูดอีกแบบคือ เมื่อใดที่ผู้คนตกอยู่ในกับดักความจน สิ่งที่ให้ประโยชน์ในระยะยาวอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาในระยะสั้น

สำหรับกลุ่มผู้ปกครองยากจนในโครงการ CCT ที่ต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก พวกเขาย่อมไม่คุ้นชินและอาจไม่สามารถประเมินรายได้และการใช้จ่ายได้อย่างแม่นยำ และบ่อยครั้งก็มีพฤติกรรมใช้จ่ายที่เอนเอียงมายังปัจจุบันมาก (present bias) ดังนั้น ผู้ปกครองกลุ่มนี้อาจนำรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นจากทุนการศึกษาไปใช้จ่ายกับอะไรก็ตามที่เห็นว่าจำเป็นหรือเดือดร้อน ณ ตอนนั้นมากกว่าการวางแผนระยะยาว ถึงแม้จะตระหนักดีว่า หากเขาจัดสรรเงินเหล่านั้นไปยังกิจกรรมทางการศึกษาโดยตรงจะเกิดประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า

จริงอยู่ที่ปัญหาการจัดสรรที่ไม่เหมาะสมอาจแก้ไขได้ ถ้าหากผู้ปกครองได้รับทุนในปริมาณที่ ‘มากพอ’ จนทำให้พวกเขาใช้จ่ายได้ตามความต้องการอย่างครบถ้วน และยังเหลือพอสำหรับการศึกษาของบุตรหลาน หากแต่ว่า นโยบายสนับสนุนใดๆ ย่อมมีงบประมาณจำกัด ซึ่งการให้ทุนโดย กสศ. ก็จำกัดอยู่ที่ 3,000 บาท/ปี/ครัวเรือน เท่านั้น คงไม่สามารถช่วยครัวเรือนยากจนทุกครัวเรือนให้มีเงินใช้สอยเหลือเฟือได้

แน่นอนว่า ผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะนำทุน กสศ. ไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นอื่นๆ (ตราบที่บุตรหลานยังเข้าเรียนตามเงื่อนไขของทุน) ทุนก้อนที่ได้นี้จะมีส่วนช่วยปลดเปลื้องภาระได้บ้าง แต่งานวิจัยที่ผ่านมาชี้ไว้ชัดว่า การที่ผู้ปกครองสามารถจัดสรรเงินที่ได้รับเพื่อการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของเด็กมากกว่า และส่งเสริมให้เกิดการสร้างและลงทุนในทุนมนุษย์ในระยะยาวได้อีกด้วย

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะเพิ่มจำนวนเงินทุนให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ ตัวแปรเรื่องจังหวะเวลา  จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าสนใจ เพราะเป็นปัจจัยที่ผู้วางนโยบายสามารถจะปรับเปลี่ยนได้อยู่บ้าง 

ให้เร็ว ให้ช้า

ทีมวิจัยออกแบบการทดลองโดยเลือกผู้ปกครองที่อยู่ในโครงการ CCT จำนวน 502 คน ที่มาจากกลุ่มการทดลองที่ได้รับหลักสูตรส่งเสริมพัฒนาการของลูก (หรือ Parents ที่กล่าวถึงในบทความที่แล้ว) ดังนั้น นอกเหนือจากคุณลักษณะทางประชากรที่ใกล้เคียงกันระหว่างกลุ่มตัวอย่างด้วยกันแล้ว ผู้ปกครองยังอยู่ภายใต้ intervention ในด้านหลักสูตรแบบเดียวกันด้วย  

จากการสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคการศึกษา เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว เราจัดให้ผู้ปกครองแต่ละคนได้รับเงิน 500 บาท เพื่อเป็นทุนเสริมจากส่วนของที่ได้รับจาก CCT โดยแบ่งผู้ปกครองเป็น 2 กลุ่มให้ได้รับเงินคนละช่วงเวลากัน เรียกว่า ‘ให้เร็ว’ และ ‘ให้ช้า’

กลุ่มทดลองแบบให้เร็ว คือ ผู้ปกครอง 226 คน ที่ได้รับเงิน 500 บาทภายในสองสัปดาห์หลังจากกิจกรรมของหลักสูตรเสร็จสิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างกลางเดือนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ปกครองกลุ่มนี้ได้รับเงิน ‘ก่อน’ การเปิดภาคเรียนของบุตรหลานพอสมควร ข้อสันนิษฐานหลักคือ ผู้ปกครองกลุ่มนี้อาจไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องการศึกษาก็ได้ เนื่องจากยังมีเวลาเหลืออยู่พอควรก่อนเปิดภาคเรียน

กลุ่มทดลองแบบให้ช้า คือ ผู้ปกครอง 276 คน ที่ได้รับเงิน 500 บาท ใกล้การเปิดภาคการศึกษา (ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นมิถุนายน 2564 หรือประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเปิดภาค) ด้วยความที่ช่วงเวลาดังกล่าวใกล้กับการเปิดภาคการศึกษามาก ข้อสันนิษฐานคือผู้ปกครองกลุ่มนี้อาจนำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน

ทีมวิจัยวัดผลการทดลองด้วยสมการถดถอยกับ 2 ผลลัพธ์คือ สมการที่ 1 วัดมูลค่าการใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ ‘ไม่เกี่ยว’ กับการศึกษาของผู้ปกครอง ส่วนสมการที่ 2 เป็นการวัดมูลค่าการใช้จ่ายที่ ‘เกี่ยวข้อง’ กับการศึกษา การประมาณค่าพารามิเตอร์ของสมการมีลักษณะของกลุ่มทดลอง (ให้เร็ว ให้ช้า) เป็นตัวแปรหลัก ร่วมด้วยตัวแปรควบคุมอื่นๆ (เช่น เพศ รายได้ รายจ่าย ฯลฯ)  

ให้ถูกเวลา เพื่อการศึกษา

ผลการวิเคราะห์พบว่า โดยเฉลี่ยผู้ปกครองในกลุ่มให้เร็ว (ได้เงินก่อนการเปิดเทอมนานพอสมควร) ใช้จ่ายประมาณ 105 บาท ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่า ผู้ปกครองในกลุ่มให้เร็วมีการใช้จ่ายเงินที่ได้รับไปยังด้านการศึกษาของบุตรหลานต่ำกว่ากลุ่มให้ช้า โดยกลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับเงินแบบให้เร็ว (ล่วงหน้านาน) ใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นจำนวน 262 บาท (ร้อยละ 52.4 ของเงิน 500 บาท ที่ได้รับ) และกลุ่มให้ช้า (ได้เงินตอนใกล้เปิดเทอม) ใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นจำนวน 315 บาท (รูปที่ 1) คิดเป็นร้อยละ 62.4 ของเงินที่ได้รับ

เมื่อดูรายละเอียดของรายจ่ายเปรียบเทียบกันพบว่า ผู้ปกครองกลุ่มให้ช้า มีการใช้จ่ายในเรื่องอาหารและการซื้ออุปกรณ์การเรียนมากกว่ากลุ่มให้เร็ว แต่ทั้งสองกลุ่มมีภาระการใช้จ่ายในเรื่องชุดนักเรียนไม่แตกต่างกันโดยคิดเป็นมูลค่า 190 บาท หรือ ร้อยละ 38 ของเงินที่ได้รับ

รูปที่ 1 การใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง

ผลการศึกษาแสดงว่า ‘จังหวะเวลา’ ให้เงินมีผลทำให้การใช้จ่ายเงินของผู้ปกครองในเรื่องการศึกษาแตกต่างกัน ตรงนี้อาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะว่าผู้ปกครองครัวเรือนยากจนมีความลำบาก จึงมักมีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ เมื่อได้รับเงินมาพวกเขาก็นำไปใช้จ่ายตามความจำเป็นเฉพาะหน้า และหากความจำเป็นเฉพาะหน้าที่ว่าคือช่วงเปิดเทอม การรับเงินในเวลาดังกล่าวก็ย่อมทำให้ผู้ปกครองนำไปใช้ในกิจกรรมด้านการศึกษา

แม้ข้อค้นพบข้างต้นจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ (เพราะทฤษฎีได้กล่าวไว้แล้ว) แต่มันคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันสภาพความจริงนี้ ที่สำคัญกว่านั้นคือผลการศึกษาจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการคิดและถกเถียงเชิงนโยบายต่อว่า การจัดสรรเงินช่วยเหลือต่างๆ (รวมทั้งในโครงการ CCT ของ กสศ.) อาจจำเป็นต้องคำนึงถึงจังหวะเวลาเป็นพิเศษหรือไม่ อย่างไร  

จังหวะเวลาที่ดีของใคร?

การให้ทุนตามจังหวะเวลาอาจฟังดูง่าย แต่ไม่ง่ายที่จะทำ เพราะการขับเคลื่อนโครงการ CCT หนึ่งๆ ย่อมเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลายฝ่าย ดังนั้น การให้ทุนตามจังหวะของผู้รับทุนอาจไม่สอดคล้องกับจังหวะที่ดีของผู้ดำเนินนโยบายได้ เช่น การให้ทุนตามโครงการ CCT ของ กสศ. มักจะเกิดขึ้นหลังเปิดเทอมมาแล้วสักระยะหนึ่ง (2-3 สัปดาห์) เพราะมีความสะดวกสำหรับโรงเรียนและครูในการสำรวจข้อมูลความยากจนของนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้ติดตามผู้ปกครองมารับทุนได้ง่ายและตกหล่นน้อย ในขณะที่ผู้ปกครองเองก็มีความสะดวก เพราะต้องมารับ-ส่งบุตรหลานที่โรงเรียนอยู่แล้ว แต่หากยึดผลการศึกษาเป็นแหล่งอ้างอิง การให้ทุนด้วยกรอบเวลานี้อาจมองได้ว่า ‘ให้ช้าเกินไป’ ซึ่ง เป็นการได้รับทุนที่อาจเลยจังหวะเวลาที่คิดถึงความจำเป็นด้านการศึกษาในช่วงเตรียมเปิดเทอมไปแล้ว เป็นต้น

ด้วยเงื่อนไขต่างๆ นี้ การปรับเวลาให้ทุนจึงไม่อาจทำได้ดั่งใจในทันที แต่ไม่อยู่ในวิสัยที่ทำไม่ได้ โจทย์สำคัญที่ต้องคิดต่อคือ จะออกแบบการจัดการอย่างไรเพื่อให้โครงการ CCT สามารถให้ทุนใน ‘จังหวะเวลา’ ที่เหมาะสม โดยที่ไม่เพิ่มต้นทุนธุรกรรมในการดำเนินนโยบายเกินไป

สิ่งที่ควรทำต่อเพื่ออนาคต

แม้เราจะทราบว่า ‘จังหวะเวลา’ มีผลต่อพฤติกรรมการจัดสรรทุนของผู้รับทุน แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาต่ออีกมาก การเพิ่มกลุ่มทดลองให้ใหญ่ขึ้นและกระจายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆ น่าช่วยให้ผลลัพธ์หนักแน่นขึ้น รวมถึงการติดตามผลการรับทุนของผู้ปกครองแบบให้ช้า (ใกล้กับช่วงเวลาที่ต้องใช้จ่าย) และให้เร็ว (ไกลจากช่วงเวลาที่ต้องใช้จ่าย) ในระยะยาว โดยตรวจสอบเปรียบเทียบผลที่มีต่อพัฒนาการของบุตรหลานด้านทักษะการคิดรู้ และ/หรือ อารมณ์ของแต่ละกลุ่มก็เป็นสิ่งที่ควรติดตามต่อไป

องค์ความรู้เกี่ยวกับผลลัพธ์ต่างๆ ในระยะยาวนี้จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยทำให้การออกแบบนโยบาย CCT มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการทำหลักสูตรสร้างเสริมทักษะที่ได้ผลและจังหวะเวลาการให้ทุนที่ลงตัว


[1] อภิจิต เบเนอร์จี และ แอสเตร์ ดูโฟล (2563). เศรษฐศาสตร์ความจน แปลจาก [Poor Economics] (ฉันทวิทย์ ตัณฑสิทธิ์ ผู้แปล). กรุงเทพฯ. SALT.

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save