fbpx
How to Train Your Supporters: ไวกิ้งปริศนาแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ

How to Train Your Supporters: ไวกิ้งปริศนาแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ข่าวการบุกรุกอาคารรัฐสภาของผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้แพ้การเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นหัวข้อสนทนาออกรสของนักวิชาการและผู้สนใจการเมืองสหรัฐอเมริกา ด้วยเวลากว่าสองสัปดาห์ ผู้อ่านคงได้ยินรายละเอียดของเหตุการณ์และบทวิเคราะห์ของผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองและเศรษฐกิจแล้วไม่มากไม่น้อย อย่างไรก็ตาม อีกมิติหนึ่งของการประท้วงที่สำคัญและน่าสนใจ คือมิติวัฒนธรรมที่กำหนดความคิดและการตัดสินใจของพวกเขา

แม้กลุ่มผู้บุกรุกอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคมจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีผู้หมาย ‘ทวงคืนอเมริกาอันเกรียงไกร’ (Make America Great Again) อัตลักษณ์ซึ่งผูกพันกับความเชื่อและคุณค่าที่พวกเขายึดถือกลับแตกต่าง โดยสังเกตได้จากเครื่องแต่งกาย ธง ข้อความบนป้ายประท้วง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นคิวอะนอน (QAnon) ผู้ศรัทธาในทฤษฎีสมคบคิด หรือผู้ต่อต้านชาวยิว (antisemite) ซึ่งสวมเสื้อที่มีชื่อและคติพจน์ ‘Work Brings Freedom’ ของค่ายกักกันเอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา

 

YouTube video

ประมวลภาพการบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

 

หนึ่งในผู้ประท้วงที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นจนปรากฏในภาพข่าวหลายสำนักคือแจ็ก แอนเจลี (Jack Angeli) หรือ ‘ไวกิ้ง’ ผู้สวมหมวกขนสัตว์มีเขา ไม่สวมเสื้อ เผยรอยสักอันมีที่มาจากเทพปกรณัมนอร์ส ได้แก่ วาลคนุต (Valknut) อิกก์ดราซิล หรือพฤกษาแห่งชีวิตซึ่งเชื่อมต่อโลกทั้งเก้า (Yggdrasil) และค้อนแห่งธอร์ (Hammer of Thor)

 

วาลคนุตที่ปรากฏบ่อยครั้งบนโบราณวัตถุของชาวนอร์ส
นิยมตีความว่าเป็นหัวใจของฮรุงเนียร์ (Hrungnir) หรืออำนาจของโอดิน

 

ดูเผินๆ ชายคนนี้อาจเพียงหลงใหลเทพปกรณัมนอร์ส หรือเป็นแฟนภาพยนตร์ธอร์ตัวยง อย่างไรก็ตาม ชื่อและสัญลักษณ์จากเทพปกรณัมนอร์สไม่ได้เป็นเพียงนิทาน หรือวัตถุดิบสำหรับเทศกาล วรรณกรรม และภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้สมาทานแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่ (white supremacist) อันเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนและได้รับประโยชน์จากการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ด้วย

คนเหล่านี้เป็นใคร และใช้เรื่องราวของเทพเจ้า เอลฟ์ ยักษ์ คนแคระ ตลอดจนโลกทั้งเก้าที่หล่อเลี้ยงจินตนาการของเด็กๆ ทั่วโลกเป็นสัญลักษณ์แห่งความเกลียดชังได้อย่างไร คำตอบของคำถามนั้นอยู่ในบทความนี้แล้ว

 

ใครบ้างเชื่อว่าคนขาวเป็นใหญ่

หากอธิบายอย่างกระชับที่สุด แนวคิดคนขาวเป็นใหญ่ ตลอดจนชาตินิยมผิวขาว (white nationalism) เสนอว่ามนุษย์ถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติโดยธรรมชาติ และคนขาวก็เป็นผู้อยู่สูงกว่าใครในห่วงโซ่อาหารนี้ เป็นเผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่าทั้งกำลังกาย ปัญญา และความรุ่งเรืองแห่งวัฒนธรรม

ด้วยเหตุนั้น คนเหล่านี้จึงแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ ‘เป็นอื่น’ อันหมายถึงผู้มาจากวัฒนธรรมหรือเผ่าพันธุ์อื่นในทรรศนะของพวกเขา ไม่ว่าด้วยการต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา คือกระทำความรุนแรงทางกาย วาจา และจิตใจ หรือด้วยการสถาปนาระบบสังคมที่เอื้อประโยชน์แก่คนขาว และด้วยเหตุนี้ คนกลุ่มนี้จึงเปิดเผยตัวตนตลอดจนความคิดเห็นของตนระหว่างทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และจำนวนไม่น้อยก็สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีคนนี้อย่างออกหน้าออกตา เพราะทิศทางนโยบาย ตลอดจนท่าทีต่อผู้อพยพและความเกลียดกลัวต่างชาติ (xenophobia) ของทรัมป์นั่นเองที่เป็นเชื้อไฟแก่แนวคิด แม้อดีตประธานาธิบดีจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับพวกเขาก็ตาม

ทว่าคนเหล่านี้ผูกตัวเองกับเรื่องปรัมปราที่ดูไร้พิษภัย (โดยเฉพาะหลังเทพปรณัมนอร์สถูกตีความใหม่ในเรื่อง ธอร์: ศึกอวสานเทพเจ้า) กระทั่งนำสัญลักษณ์เหล่านี้ไปใช้อย่างหน้าชื่นตาบานขณะบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อยับยั้งการรับรองชัยชนะของประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

คำตอบของคำถามนั้นสอดคล้องกับคุณลักษณะของพวกเขา คือการเชื่อว่าเชื้อชาติเป็นองค์ประกอบอันจำเพาะของมนุษย์ สืบสาวได้ง่าย ตลอดจนเป็นเครื่องกำหนดสมรรถภาพและคุณสมบัติของมนุษย์ เมื่อกำเนิดในเผ่าพันธุ์อันเลิศกว่าเผ่าพันธุ์ใดแล้ว จึงควรระวังไม่ให้เชื้อสายนั้นแปดเปื้อนด้วยความด้อยกว่าของเผ่าพันธุ์อื่น พวกเขาดำดิ่งลึกลงในประวัติศาสตร์ แสวงหาหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อนั้น เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ที่ครั้งหนึ่งเป็นใหญ่…

ใช่แล้ว กลุ่มคนที่พวกเขาเลือกคือชาวนอร์ส (Norsemen) แห่งสแกนดิเนเวีย ผู้ถูกเรียกว่า ‘ไวกิ้ง’ เมื่อเริ่มขยายอำนาจในศตวรรษที่ 8-11 จนไพศาล จากนิวบรันสวิกในแคนาดาจรดทะเลแคสเปียน ผู้ขับขานลำนำแห่งโอดินซึ่งปราบอีเมียร์ยักษาและสร้างโลก ราชันแห่งสายฟ้า โลกิผู้ฉ้อฉล งูยักษ์  สุนัขป่า และพฤกษาศักดิ์สิทธิ์ คนเหล่านี้เชื่ออย่างสนิทใจว่าไวกิ้งมีเชื้อสายสะอาด ไม่ปะปนด้วยเชื้อชาติหรือสายเลือดอื่น ตำนาน ตัวอักษร และสัญลักษณ์ของชาวนอร์สจึงเป็นอนุสรณ์แห่งยุคทองของคนขาวในโลกตะวันตก เทพปกรณัมนอร์สจึงเป็นศาสนาใหม่ของพวกเขา เพราะเป็นศาสนาของ ‘คนขาว’ ที่แข็งแกร่ง ไม่ถูกกัดเซาะด้วยผู้เป็นอื่นดังศาสนาคริสต์

 

แผนที่แสดงการขยายอำนาจของชาวนอร์สระหว่างศตวรรษที่ 9-11

 

แจ็ก แอนเจลี ไม่ใช่คนแรกที่ใช้เทพปกรณัมนอร์สเป็นอาภรณ์แห่งความเกลียดชัง หากปรากฏหลายต่อหลายครั้งตลอดศตวรรษที่ 21 โดยชื่อกลุ่มผู้เชื่อว่าคนขาวเป็นใหญ่ในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย มักผูกพันกับตำนานดังกล่าว เช่น กลุ่มนักรบโอดิน (Soldiers of Odin) ในฟินแลนด์ และโวทานส์โฟล์ก (Wotansvolk – Odin’s Folk) ในสหรัฐอเมริกา ฯลฯ คนเหล่านี้ยังหวงแหนเทพปกรณัมนอร์ส โดยเชื่อว่าต้องสงวนเทพปกรณัมนี้เฉพาะสำหรับคนขาว จนเป็นที่มาของการพยายามคว่ำบาตรภาพยนตร์ ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า ในปี 2011 เพราะนักแสดงผิวดำ ไอดริส เอลบา (Idris Elba) ได้รับบทไฮม์ดัล ผู้พิทักษ์สะพานไบฟรอสต์

กรณีที่ร้ายแรงที่สุดนำไปสู่การคร่าชีวิต ปี 2017 ซีไออาร์ (Center for Investigative Reporting) องค์กรสื่อในแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยในรายการวิทยุว่านับแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ผู้บูชาเทพเจ้าเหล่านี้อย่างน้อย 6 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการร้ายหรือเจตนาก่อการร้าย นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญในนอร์เวย์และนิวซีแลนด์ยังแสดงความเกี่ยวพันกับเทพปกรณัมนอร์ส โดยแอนเดอร์ส เบห์ริง ไบรวิก (Anders Behring Breivik) ผู้ก่อเหตุกราดยิงในนอร์เวย์ ปี 2011 ให้การต่อศาลว่าไรเฟิลของเขาคือ ‘กุงเนียร์’ หรือหอกของโอดิน ปืนสั้นคือ ‘มโยลเนียร์’ หรือค้อนของธอร์ พร้อมประกาศตนว่าเป็น “โอดินนิสต์ (Odinist) ผู้ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวคือโอดิน” ทั้งนี้ ในจดหมายที่เขาเขียนถึงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แอนเดอร์สยังระบุด้วยว่าเขารังเกียจ “ความอ่อนแอและการโอบรับชนชาติอื่น” (weakness and the internationalism) ของคริสตจักรเหลือเกิน[i]

ขณะที่ผู้ก่อเหตุกราดยิงในเมืองไครสต์เชิร์ช ปี 2019 นั้น นอกจากอ้างว่าตนเคยติดต่อกับแอนเดอร์ส ไบรวิก และสรรเสริญทรัมป์ว่าเป็น “สัญญาณแห่งการฟื้นฟูอัตลักษณ์คนขาว” (renewed white identity) แล้ว[ii] ยังโพสต์ข้อความว่า “ลาก่อน ขอพระเจ้าอำนวยพร แล้วพบกันที่วัลฮัลลา”[iii] ขณะก่อเหตุด้วย โดยวัลฮัลลาคือโถงมหึมาในสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเหล่าอินแฮร์ญาร์ (Einherjar) หรือนักรบผู้พลีชีพในสมรภูมิ โอดินเป็นผู้คัดเลือกนักรบเหล่านี้ให้มีชีวิตนิรันดร์ในแอสการ์ด เพื่อร่วมศึกอวสานโลก (Ragnarök) ในภายหลัง

มายาคติความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์ในศตวรรษที่ 21 นี้มีที่มาจากประวัติศาสตร์บาดแผลในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยระหว่างนาซีเยอรมนีเรืองอำนาจ ได้ประโคมความเชื่อข้างต้นผ่านงานเขียนประวัติศาสตร์ที่เสนอว่าชาวเจอร์มานิก (Germanic) หรือบรรพบุรุษคนขาวซึ่งสืบเชื้อสายจากไวกิ้งนั้น ต้องตกต่ำเพราะพัวพันกับแนวคิดสังคมนิยม ชาวยิว และการปฏิวัติชนชั้น (class revolution) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเหยียดเชื้อชาติของพรรคซึ่งทำลายล้างชีวิตผู้บริสุทธิ์ และสร้างบาดแผลแก่ผู้เหลือรอดอย่างไม่อาจประเมินได้ อย่างไรก็ตาม งานเขียนประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเชื้อชาติ เพราะอ้างอิงจากบันทึกโบราณซึ่งถูกรื้อฟื้นในยุโรปต้นสมัยใหม่ โดยหนึ่งในบันทึกที่มีอิทธิพลที่สุดคือเจอร์มาเนีย (Germania) ของทาสิทัส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน[iv]

เจอร์มาเนียเป็นหนึ่งในงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณาที่มุ่งอธิบายลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมของชาวเจอร์มานิก ซึ่งขณะนั้นหมายถึงกลุ่มคนที่ตั้งรกรากบริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์ถึงแม่น้ำวิสตูลาในโปแลนด์เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงชาวนอร์สในสแกนดิเนเวียซึ่งพูดภาษาตระกูลเจอร์มานิกแต่อย่างใด นอกจากนี้ บันทึกดังกล่าว ตลอดจนงานเขียนร่วมสมัยอื่นๆ ยังมีจุดอ่อนสำคัญ คือผู้เขียนบันทึกนั้นมักไม่เคยเดินทางไปดินแดนที่ตนอ้างถึง ไม่ได้คลุกคลีกับคนกลุ่มนั้นๆ หรือเข้าใจวัฒนธรรมของคนเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ (ผู้อ่านอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่บทความก่อนหน้าของผู้เขียน) บางชิ้นยังมุ่งส่งเสริมอำนาจทางการเมืองและการทหารของนักการเมืองในอดีต ด้วยการสาธยายความเหี้ยมโหดหรือแข็งแกร่งของเผ่าพันธุ์หนึ่งๆ อย่างเหนือจริงด้วย เมื่อบันทึกเหล่านี้ถูกรื้อฟื้นและผนวกกับองค์ความรู้ในยุโรปต้นสมัยใหม่ อาทิ พันธุศาสตร์ จึงนำมาซึ่งอคติทางเชื้อชาติและโศกนาฏกรรมในศตวรรษที่ 20

 

Varusschlacht (1909) โดยศิลปินชาวเยอรมัน
เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของแฮร์มานน์ (Hermann) ผู้นำชาวเจอร์มานิก
โปรดสังเกตเครื่องแต่งกายของแฮร์มานน์

 

นอกจากข้อบกพร่องดังกล่าว ไวกิ้งยังไม่ใช่เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์อย่างที่หลายคนทึกทัก โดยนอกจากไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่อาศัยบนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียแล้ว ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนกระดูกร่วมสมัยยังแสดงให้เห็นการผสมผสานทางชาติพันธุ์อย่างชัดเจน

แคลร์ ดาวน์แฮม (Clare Downham) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ กล่าวถึงไวกิ้งในบทความของเธอว่า ไวกิ้งซึ่งรอนแรมในทะเลตลอดหลายศตวรรษเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างยิ่ง คนเหล่านี้ไม่ใช่เพียงขุนศึกกระหายสงคราม หากยังเป็นวาณิชผู้โอบรับและใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมต่างถิ่น เพราะขณะเดินทางนั้น ไวกิ้งย่อมสูญเสียกะลาสีและต้องหากะลาสีใหม่จากดินแดนอื่น ดังปรากฏข้อเขียนโบราณในบริเตนและไอร์แลนด์ซึ่งประณามคนพื้นเมืองที่ร่วมเดินทางกับไวกิ้ง

บทกวีของไวกิ้งและชาวนอร์สยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความละเอียดอ่อนของคนเหล่านี้ เพราะไม่ได้กล่าวถึงสงครามและการขยายอำนาจเท่านั้น ทว่ากล่าวถึงการประลองคารม (flyting) เชือดเฉือนคู่ต่อสู้ด้วยวาทศิลป์อันแยบคายด้วย โลกิผู้มากเล่ห์มีวาจาเผ็ดร้อนกว่าใคร และวาจาของเขานั่นเองที่มักกระตุ้นโทสะของเทพเจ้าผู้แตกต่างหลากหลายเช่นกัน เทพเจ้าของชาวนอร์สประกอบด้วยวงศ์ต่างๆ ซึ่งผูกไมตรีตลอดจนแลกเปลี่ยนภูมิปัญญากับทั้งเอลฟ์ ยักษ์ และคนแคระ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ กลุ่มเพแกน (Pagan) อันรวมถึงโอดินนิสต์และผู้บูชาเทพเจ้าโบราณเหล่านี้จึงออกแถลงการณ์ประณามผู้นำตำนานและสัญลักษณ์จากเทพปกรณัมไปใช้เพื่อสนับสนุนความรุนแรง โดยเฉพาะหลังมีภาพของแจ็ก แอนเจลี ในข่าวการบุกรุกอาคารรัฐสภา[v] ว่าสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความเกลียดชัง และพวกเขาจะพยายามยิ่งขึ้นเพื่อเผยแพร่สาส์นดังกล่าวต่อสาธารณชน

นอกจากปฏิกิริยาของกลุ่มเพแกน ผู้ผลิตสื่อและศิลปินที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวยังพยายามตีความเทพปรณัมนอร์สใหม่โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และต่อต้านการผูกขาดตำนานของกลุ่มหัวรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อยืนยันว่าเทพปกรณัมอันมีชีวิตชีวานี้จะโอบรับเด็กๆ ทุกชาติพันธุ์โดยไม่ผลักไสใคร ไม่ว่าจะเป็น ธอร์: ศึกอวสานเทพเจ้า ซึ่งทำลายค้อนของธอร์ที่กลุ่มหัวรุนแรงนิยมใช้เสีย โดยไทกา ไวทีที (Taika Waititi) ผู้กำกับ ไม่เพียงไม่แยแสกระแสต่อต้านไอดริส เอลบา แต่ยังให้นักแสดงเชื้อสายแอฟริกัน-ปานามารับบทวัลคีรี และตีความเส้นทางของราชันแห่งสายฟ้าใหม่ จนได้รับคำชมจากกลุ่มแบล็กยูธโปรเจกต์ (The Black Youth Project) ว่าสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของธอร์โดยปราศจากกลิ่นอายความเหนือกว่าของชาติพันธุ์ใดชาติพันธ์หนึ่ง

นีล เกแมน (Neil Gaiman) ผู้เขียน เทพปกรณัมนอร์ส (Norse Mythology) และ อเมริกัน ก็อดส์ (American Gods) ที่โอดินเป็นตัวเอก ก็ทวีตตอบนักอ่านที่ไม่พอใจกลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้ว่าคนเหล่านั้น “ไม่ได้ครอบครองปกรณัมนอร์ส ไบเบิล หรือรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แต่อย่างใด แม้พวกเขาบางคนจะเชื่อเช่นนั้นก็ตาม”

ริก ไรออร์แดน (Rick Riordan) ผู้โด่งดังจากนวนิยายชุดเพอร์ซีย์ แจ็กสัน และเผชิญกระแสวิจารณ์ว่านวนิยายของเขามีแนวคิดเชิดชูคนขาวก็ได้ปรับปรุงงานเขียนของตน กระทั่งตัวละครในนวนิยายชุด แม็กนัส เชส (Magnus Chase and the Gods of Asgard) ซึ่งกล่าวถึงการผจญภัยของแม็กนัส บุตรแห่งเฟรย์ เทพเจ้านอร์สพระองค์หนึ่ง มีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เพศสภาพ และวิถีชีวิต โดยตัวเอกในนวนิยายชุดแม็กนัส เชส มีทั้งคนไร้บ้าน ผู้มีความลื่นไหลทางเพศ (gender-fluid) คนผิวดำ ผู้พิการทางการได้ยิน และมุสลิม โดยทุกตัวละครได้รับความสำคัญเท่าเทียมกัน และมีความผูกพันกับเทพเจ้าโบราณแตกต่างกัน ในบทสุดท้ายของเรื่อง แม็กนัสก็ไม่ได้กำราบโลกิผู้หมายนำโลกทั้งเก้าสู่แร็กนาร็อกด้วยกำลังหรือการรบพุ่ง เขาเพียงมีชัยเหนือโลกิในการประลองคารมกับอีกฝ่ายเท่านั้น

แจ็ก แอนเจลีอาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของกลุ่มหัวรุนแรงที่ใช้ตำนานอันเจิดจรัสนี้สร้างความชอบธรรมแก่ความชิงชังของตน เท่ากับที่คนเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของนักวิชาการ ศิลปิน และผู้ตระหนักรู้ที่พยายามตอบโต้มายาคตินั้น หากตลอดธารประวัติศาสตร์ของโลก ผู้อ่านย่อมเห็นแล้วว่าความคิดและวัฒนธรรมมีอำนาจอย่างไร วิจิตรพิสดาร และโหดร้ายได้ปานใด จึงเป็นพันธกิจของมนุษย์ที่จะร่วมกันสอดส่อง ตลอดจนระวังไม่ให้เมล็ดพันธุ์แห่งโศกนาฏกรรมงอกงาม ไม่ให้ความไม่รู้นำไปสู่การทำลายล้าง เท่ากับที่ไม่ให้ตำนานอันจรรโลงใจและหลอมรวมมนุษย์ในวันวาน นำไปสู่การล้างผลาญชีวิตมนุษย์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าในดินแดนห่างไกล หรือเทพเจ้าที่อยู่ใกล้… เพียงปลายนิ้วของพวกเราเอง

 

หมายเหตุ: หากผู้อ่านต้องการตรวจสอบว่าสัญลักษณ์ใดบ้างถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนความเกลียดชัง สามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูลในเว็บไซต์ของกลุ่มเอดีแอล (Anti-Defamation League)

[i] ที่มา: White supremacists are killing in the name of an ancient Nordic religion

[ii] ที่มา: New Zealand mosque attacks suspect praised Trump in manifesto

[iii] ที่มา: White supremacists are misappropriating Norse mythology, says expert

[iv] ที่มา: White Supremacists Have Weaponized an Imaginary Viking Past. It’s Time to Reclaim the Real History

[v] ที่มา: Heathens respond to “Q-Shaman” and Norse Imagery in Capitol Riot

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save