fbpx
ผ่ามายาคติชาตินักรบ จริงหรือที่ ท.ทหารต้องอดทน

ผ่ามายาคติชาตินักรบ จริงหรือที่ ท.ทหารต้องอดทน

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

รัตนากร หัวเวียง ภาพประกอบ

 

ความเชื่อหนึ่งซึ่งแพร่หลายและหยั่งรากลึก คือความเชื่อว่าความป่าเถื่อนและสภาพแวดล้อมอันบีบคั้นรุนแรง จะสร้าง ‘ชายชาติทหาร’ ผู้เข้มแข็ง เป็นที่ครั่นคร้ามของศัตรูทั้งหลาย และเป็นฟันเฟืองแห่ง ‘ทัพไร้พ่าย’ อันไร้ผู้ต้านทาน

หากผู้อ่านพยักหน้า อาจถึงเวลาต้องทบทวนว่าความเชื่อนี้มาจากที่ใด คำบอกเล่า นิทาน ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือวาทะของ ‘บิ๊ก’ ทั้งหลาย ขณะสาธยายการฝึกฝนและความทรหดของตนเมื่อไร้อำนาจ (ซึ่งจะนับเป็นนิทานก็ได้) หรือทั้งหมดที่กล่าวมา

เพราะเช่นเดียวกับความเชื่ออื่นๆ ในโลก คือไม่ว่ามีผู้ศรัทธามากน้อย โอกาสที่ความเชื่อนั้นจะมีมูลหรือเหลวไหล เป็น ‘มายาคติ’ ก็สูงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และเพราะเรื่องเหลวไหลสร้างความเสียหายได้มากกว่าความเชื่ออันมีหลักฐานรองรับ ทุกความเชื่อจึงควรถูกชี้ชัดว่ามีมูลหรือไม่ ด้วยการสืบสาวถึงต้นตอของความเชื่อนั้น

แล้วความเชื่อว่าความลำเค็ญกล่อมเกลี้ยงขุนพลไร้พ่ายเป็นอะไรน่ะหรือ

คำตอบคือเป็น ‘มายาคติ’

 

เบร็ต เดเวโรซ์ (Bret Devereaux) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการทหารโรมันผู้เขียนบทความ Hard Time Don’t Make Strong Soldiers อธิบายว่า สาระสำคัญของมายาคติดังกล่าวคือความเชื่อว่ากลุ่มเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์หนึ่งๆ พร้อมต่อการรณรงค์สงครามโดยธรรมชาติ (predisposed to war) ด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และการฝึกฝนอันทารุณ ขณะที่ความรุ่มรวยและความละเอียดอ่อนแห่งวัฒนธรรมนำมาซึ่ง ‘ความเสื่อมแห่งสมรรถภาพ’ และนักรบที่อ่อนแอ มายาคติดังกล่าวถูกผลิตซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าด้วยวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือนโยบายด้านการทหาร

เบร็ตเสนอว่าที่มาของความเชื่อดังกล่าวอาจสืบย้อนได้ถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์กรีกโดยเฮโรโดตัสผู้เลื่องชื่อ โดยเฉพาะในการกล่าวถึงสงครามระหว่างดาริอุสที่ 1 แห่งจักรวรรดิอะคีเมนิดและชาวไซเธีย (Scythian) ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยเฮโรโดตัสกล่าวว่าชาวไซเธียนั้น “ยากต่อกร” เพราะเป็นชนเร่ร่อนที่อาศัยในที่รกร้างกันดาร จึงเชี่ยวชาญยุทธวิธีสกอร์ชเอิร์ธ (Scorched Earth) หรือการเผาทำลายยุทธปัจจัยและเสบียงที่อาจเป็นประโยชน์ต่อข้าศึกขณะเคลื่อนกองกำลังต่อไป

 

Ovid among the Scythians (1862)
ภาพเขียนสีน้ำมันโดยเออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) เป็นภาพโอวิด กวีชาวโรมัน ผู้ถูกเนรเทศสู่ไซเธีย

 

กระนั้น เฮโรโดตัสผู้บรรยายวิถีชีวิต วัฒนธรรม และถิ่นที่อยู่ของชาวไซเธียได้วิจิตรพิสดาร กลับไม่เคยเดินทางไปไซเธีย หรือดินแดนอันแผ่ขยายจากทิศเหนือของทะเลดำถึงทิศตะวันออกของทะเลแคสเปียน นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังจึงเห็นพ้องกันว่าบันทึกของเฮโรโดตัสไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หากเป็นงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณนาที่มุ่งสร้างและจำแนก ‘ความเป็นกรีก’ จาก ‘ความเป็นอื่น’

ประวัติศาสตร์นิพนธ์รุ่นหลังที่ได้รับอิทธิพลจากบันทึกของเฮโรโดตัส อาทิ อรรถกถาสงครามกอล (Commentaries on the Gallic War) โดยจูเลียส ซีซาร์ มีสำเนียงคล้ายคลึงกัน โดยซีซาร์บรรยายว่าชาวเบลเก (Belgae) เป็น “เชื้อไขชาวกอลที่แข็งแกร่งที่สุด เพราะเหินห่างขนบธรรมเนียมและอารยธรรม พบพานพ่อค้าวาณิช และสัมผัสเครื่องบั่นทอนความเป็นชาย (effeminate the spirit) น้อยครั้งกว่าเผ่าพันธุ์ใด” ก่อนพรรณนาความยากเข็ญของการกำราบชาวเบลเก เพื่อขยายความสำเร็จทางการทหารของตนจนใหญ่โต ทั้งที่เชื้อไขชาวกอลที่สร้างความเสียหายแก่กองทหารโรมันที่สุดคือชาวโอแวร์นี (Arveni) ในแคว้นโอแวร์ญ-โรนาลด์ของฝรั่งเศส ผู้ตั้งรกรากบนเส้นทางการค้าและได้สัมผัส ‘เครื่องบั่นทอนความเป็นชาย’ บ่อยครั้งต่างหาก

ประวัติศาสตร์นิพนธ์กรีก-โรมันอื่นๆ ที่กล่าวถึงศัตรูเช่นนี้มักมีข้อบกพร่องในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์เดียวกัน คือผู้เขียนไม่รู้จักผู้คนหรือเคยไปดินแดนเหล่านั้นจริง หรือเขียนด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองบางประการ เพื่อโฆษณาความสำเร็จทางการทหาร เพื่อสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมแก่การใช้อำนาจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและคำบรรยายในบันทึกเหล่านี้กลับถูกพิจารณาโดยแยกจากบริบทดังกล่าว และได้รับการเชิดชูเป็น ‘ภูมิปัญญา’ กรีก-โรมันที่ถูกรื้อฟื้นในยุโรปต้นสมัยใหม่

 

The Sack of Rome by the Barbarians in 410 (1890)
สะท้อนความเข้าใจของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 19 เกี่ยวกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ผ่านภาพการรุกรานศูนย์กลางวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนโดยอนารยชน[i]

 

ภูมิปัญญาดังกล่าว ผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ เช่น พันธุศาสตร์ บูรพคดีศึกษา ฯลฯ ให้กำเนิดแนวคิดชาตินิยมในศตวรรษที่ 19 โดยขณะที่บันทึกโบราณเหล่านี้ชี้ว่าถิ่นที่อยู่คือที่มาความแข็งแกร่ง นักชาตินิยมในศตวรรษที่ 19 กลับเชื่อว่าเชื้อชาติต่างหากที่กำหนดความพร้อมต่อสงคราม

ในที่สุด มายาคติข้างต้นจึงเป็นรากฐานการศึกษาประวัติศาสตร์ในยุโรป เติบโต และถูกหอบหิ้วไปทั่วโลกด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ตลอดจนถูกผลิตซ้ำ โดยเฉพาะหลังการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อหล่อหลอมการรับรู้ต่อศัตรูต่างชาติหรือต่างวัฒนธรรม ว่าพวกเขาเป็นศัตรูที่ยากต่อกรโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นยูโกสลาเวีย อัฟกานิสถาน โซมาเลีย หรืออิรัก นำความชอบธรรมมาสู่นโยบายการต่างประเทศและการทหารที่โอบอุ้มความเชื่อนั้น รวมถึงการทุ่มสรรพกำลังเพื่อปราบปราม

ครั้นเถาไม้ขึ้นเรื้อ ไร้ผู้แผ้วถางนานวัน สิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ มองผาดๆ ย่อมเหมือนหินผาธรรมชาติ คนหลงคิดว่ามายาคติเป็นความจริงได้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน กระแสโลภาภิวัตน์พัดพามายาคตินั้นไปทั่วโลก แม้ต้นธารความเชื่ออยู่ห่างไกล ผลลัพธ์อันเกิดจากการผนวกมายาคติชาตินักรบ กับอคติทางเพศและวัฒนธรรม ระบอบอำนาจนิยม ตลอดจนลำดับช่วงชั้นทางสังคมในไทยไม่ได้ให้ผลลัพธ์เลวร้ายยิ่งหย่อนกว่ากัน

ผลลัพธ์หนึ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด คือการสร้างความชอบธรรมแก่การละเลยความเป็นอยู่ของทหารชั้นผู้น้อย ให้เผชิญความลำบากและคับข้องใจ ดังเป็นหัวข้อถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง ตลอดจนสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรงในกองทัพ ให้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ที่สามารถกระทำได้ และพึงกระทำด้วย

ความรุนแรงในกองทัพไทยเป็นที่เลื่องลือ โดยภายใน 10 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2550-2560) มีทหารเกณฑ์และนายทหารเสียชีวิตระหว่างการฝึกฝนหรือขณะประจำการถึง 12 คน[ii] และแม้จะมีผู้เสียชีวิตโดยไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมมากเท่านี้แล้ว ความรุนแรงในกองทัพไทยกลับดำเนินต่อไป โดยยังมีรายงานผู้เสียชีวิตในปัจจุบัน

รายงาน We were just toys to them โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ทหารเกณฑ์จำนวนมากประสบ “ความรุนแรง ความอับอาย และการละเมิดทางเพศ” โดยระหว่างการฝึก “ผู้บังคับบัญชาอาจตบ ตี เตะ กระทืบ และซ้อมทหารเกณฑ์ใหม่” ขณะที่การบังคับให้ใช้กำลังกายอย่างเกินขีดจำกัดมักถูกอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การซ่อม’ หรือ ‘การธำรงวินัย’

กรณีการเสียชีวิตจากการธำรงวินัยที่อื้อฉาวที่สุดคือกรณีของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อันนำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาในกองทัพ กระนั้น นอกจากการปัดความรับผิดชอบในบทสัมภาษณ์ของนายทหารสัญญาบัตร รวมถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี สำเนียงหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้คือความพยายามเปลี่ยนการลงโทษโดยเกินขีดจำกัดร่างกายเป็น ‘ความจำเป็น’ ต่อการเป็นทหารที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากประโยค “ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย” ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง อีกสองคำตอบที่สะท้อนมายาคติดังกล่าวในกองทัพ ได้แก่ คำตอบของพลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“บางครั้งการซ่อมเป็นเรื่องของการอบรมวินัย ซึ่งนักเรียนเตรียมทหารเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องมีการซ่อม เพราะเป็นการสร้างวินัยในการแปรสภาพ จากพลเรือนไปสู่การเป็นทหาร” พลเอกธารไชยยันต์ระบุ

ขณะที่คำตอบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อถูกถามว่าควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกทหารในกองทัพหรือไม่ คือ “ถ้าฝึกแบบธรรมดาก็จะได้คนธรรมดาออกมา” จนชวนฉงนว่า ผลลัพธ์ที่กองทัพไทยต้องการจากการเคี่ยวกรำอย่างหนักนั้นเป็นอย่างไร จึงจะสมเป็น ‘ทหาร’ ที่มิใช่ ‘พลเรือน’ และยังเป็นทหารที่ไม่ ‘ธรรมดา’ เสียด้วย[iii]

ผลลัพธ์ระดับบุคคลยังเหลือรับ ระดับนโยบายย่อมสร้างความเสียหายยิ่งกว่า แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจที่เผชิญภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย และมีบทบาทสำคัญในหลายภูมิภาคทั่วโลก (อย่างที่หลายคนเชื่อ) อคติทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่มายาคติดังกล่าวได้ส่งเสริม มีอิทธิพลไม่น้อยต่อการกำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อรับมือ ‘ผู้เป็นอื่น’ ในทรรศนะกองทัพไทย

 

YouTube video

การบรรยายพิเศษ ‘บทบาทกองทัพในการดูแลความมั่นคง’

 

การบรรยายพิเศษ ‘บทบาทกองทัพในการดูแลความมั่นคง’ โดยพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก ตอบชัดเจนว่าใครบ้างคือ ‘ผู้เป็นอื่น’ เหล่านั้น การบรรยายเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงภัยคุกคามราชอาณาจักรไทยในปลายศตวรรษที่ 19 โดยมหาอำนาจตะวันตก (แม้ขณะนั้นยังไม่มีราชอาณาจักรไทย) ประกอบเสียงรบพุ่งปลุกใจ ก่อนพลเอกอภิรัชต์เน้นความสำคัญของกองทัพ ด้วยการสรรเสริญบิดาผู้เสี่ยงชีวิตปะทะกับ ‘ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่จังหวัดราชบุรี’ เพื่อ “ปกป้องผืนแผ่นดินไทยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ที่อดีตผู้บัญชาการทหารบกอ้างว่า สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล (นาทีที่ 12:50-25:05)

การเน้นความสำคัญของกองทัพในลักษณะเดียวกันปรากฏอีกครั้ง ขณะพลเอกอภิรัชต์กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกล่าวว่าสถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมาก ทหารถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความตึงเครียดและกดดัน

“ผมนอนผวาถึงขั้นกระโดดลงจากเตียง นี่คือเรื่องจริง และอีกหลายท่านก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าคนที่เดินเข้ามาหาเราจะเอาปืนมายิงเราไหม คนที่ขับรถผ่านเราจะเอาระเบิดมาใส่เราไหม มันแยกไม่ออก ฉะนั้นจึงต้องใช้หน่วยรบพิเศษ เข้ามาเสริม เพื่อหาข่าว และปฏิบัติการรบนอกแบบ” เขาพรรณนา “ถ้ามันไม่มีเหตุการณ์อะไรก็คงไม่จำเป็นต้องใช้ทหารตำรวจเข้ามาดูแล เหตุการณ์แบบนี้มันไม่ได้แก้ไขง่ายๆ ” (นาทีที่ 35:00 เป็นต้นไป)

เพราะ “ทหารคือหลักแห่งความมั่นคง เป็นหลักในการรักษาอธิปไตย” ในทรรศนะพลเอกอภิรัชต์นั่นเอง “จึงมีวาทกรรมต่างๆ เกิดขึ้นทุกครั้ง เอาใจเด็กๆ น้องๆ วัยรุ่น ไม่ต้องเกณฑ์ทหารบ้างล่ะ ลดงบประมาณกองทัพบก ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม จัดซื้ออาวุธทำไม หนักแผ่นดิน! ”

อาจกล่าวได้ว่า การบรรยายพิเศษของอดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นการตอบกลับของกองทัพไทย ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณในกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายงานวิเคราะห์งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงกลาโหม โดยสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา ชี้ว่ากระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์ คือยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยคิดเป็นรายจ่ายภายใต้ยุทธศาสตร์แรกเกือบทั้งหมด (เกินร้อยละ 99) และหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือกองทัพบก หรือเกือบร้อยละ 50 ของงบประมาณทั้งหมด (หน้า 3)

นอกจากนี้ หากจำแนกงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมตามแผนงาน นอกจากแผนงานพื้นฐาน แผนงานบุคลากรภาครัฐ และแผนงานยุทธศาสตร์แล้ว ยังมีแผนงานบูรณาการที่ต้องร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่นๆ โดยแผนงานบูรณาการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

รายงานวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายฯ แผนงานบูรณาการดังกล่าว ระบุว่าแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีจุดประสงค์ “เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม” นอกจากนี้ยังเน้น “สันติวิธี” และ “ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาที่สาเหตุอย่างแท้จริง ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง เป็นธรรม รวมทั้งการขยายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

กระนั้น สำนักงานงบประมาณของรัฐสภากลับมีความเห็นต่อการดำเนินการของกองทัพบก เรือ อากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทยว่า งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานดังกล่าวถูกใช้เพื่อจัดหายุทโธปกรณ์เป็นหลัก โดยคิดเป็นร้อยละ 46.51 ของงบประมาณ ขณะที่การดำเนินการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนในพื้นที่ อันเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวมีเพียงเล็กน้อย หรือเพียงร้อยละ 3.76 จึงไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของแผนงาน และแม้งบประมาณรายจ่ายที่ถูกใช้เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะสูงเป็นอันดับสอง ก็ยังน้อยกว่าเม็ดเงินสำหรับจัดหายุทโธปกรณ์มาก (หน้า 7-8)

จากโรมถึงกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกป้ายสีว่าเสื่อมทรามยังไร้ปากเสียงแก้ต่าง การกระพือความเดียดฉันท์ผู้โอบอุ้มวัฒนธรรมอื่นไม่เคยเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์แห่งมวลชน ต้นคดจนงอหงิก จะหวังให้ปลายตรงได้อย่างไร

เพราะเรื่องเหลวไหลสร้างความเสียหายได้มากกว่าความเชื่ออันมีหลักฐานรองรับ และบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความเสียหายใดบ้างงอกงามได้จากภาพลวงตาศัตรูผู้พร้อมประจัญบาน กระทั่งผู้รับมือต้องละทิ้งมนุษยธรรม และขัดเกลาตนเองด้วยความทารุณมิให้น้อยหน้า

งาช้างไม่งอกจากปากสุนัข มายาคติเพื่อความผาสุกของคนกลุ่มน้อยย่อมไม่ยังประโยชน์แก่คนหมู่มาก ไม่ว่าการเข่นฆ่าผู้ไร้ปากเสียงในนามแห่งการเคี่ยวกรำ หรือการผลิตซ้ำความชังผู้เป็นอื่น เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การตักตวงประโยชน์และแสวงอำนาจ ก่อความเสียหายเรื้อรังไม่รู้สิ้น

เพียงปลิดผลกล้อนใบไม่อาจขจัดความบิดเบี้ยวนี้ได้ตลอด เพราะเมื่อฟ้าฝนเป็นใจก็อาจแตกกอขึ้นใหม่ ดีที่สุดคือถอนรากถอนโคนเสีย และจะทำเช่นนั้นได้ต้องรู้แน่ว่ารากนั้นมีรูปร่างอย่างไร เริ่มต้นที่ใด

เป้าหมายของบทความนี้เป็นเช่นนั้นเอง

 

[i] John Weisweiler, “The Sack of Rome in 410 AD,” eds. Johannes Lipps, Carlos Machado, and Philipp von Rummel, sehepunkte 14, no. 11 (2014), https://doi.org/10.15463/rec.1189720810.

[ii] ที่มา: รวมความไม่ควรตายของทหารหนุ่มรอบ 11 ปี เมื่อทหารแก่ไม่เคยตาย

[iii] ที่มา: ทหารใหญ่ดาหน้าบอก “ซ่อมสร้างวินัย” แต่ ชาวเน็ตถามทำไมทำลายชีวิต และ ประยุทธ์ชี้ ทหารต้องไม่ “ฝึกแบบธรรมดา” ส่วนพ่อน้องเมยบอก “ตีราคาลูกผมต่ำไป”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save