fbpx

ความรักของวัลยา วิวัฒน์ศร “การแปลวรรณกรรมมอบชีวิตที่มีความหมาย”

หากใครเคยอ่านวรรณกรรมฝรั่งเศสเล่มสำคัญอย่าง ก็องดิด (Candide) ของวอลแตร์ ทั้งฉบับแปลไทยที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อและมติชน จะเห็นชื่อของ วัลยา วิวัฒน์ศร บนหน้าปกในฐานะนักแปล

ไม่ใช่แค่ ก็องดิด เท่านั้น แต่ชื่อของวัลยา วิวัฒน์ศรยังปรากฏอยู่บนปกวรรณกรรมฝรั่งเศสอีกหลายเล่ม อาทิ ซาดิก (Zadig), คนเถื่อน (L’Ingénu), ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ (Le Scaphandre et le Papillon), จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร (Lettre des îles Baladar), ซึ่งมิอาจปลอบประโลม (L’inconsolable), มาตา (Génitrix) และ ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ (Les Trois Mousquetaires) เป็นต้น

มากไปกว่าชื่อบนหน้าปก วัลยา วิวัฒน์ศร หรือรองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร เป็นอดีตอาจารย์สังกัดภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2551 ปัจจุบันทุ่มเทเวลาให้กับการแปลวรรณกรรม

วัลยาเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวินจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2541 ในฐานะนักวิชาการและนักแปลผู้เผยแพร่วรรณคดีฝรั่งเศสแก่ชาวไทย และอีกหลายรางวัลนักแปลในประเทศไทย – แน่ว่ารางวัลเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันฝีมือและคุณค่างานแปลของวัลยา วิวัฒน์ศร แต่คงไม่มีสิ่งไหนยืนยันคุณค่าของงานแปลวรรณกรรมได้เท่ากับตัวของงานแปลเอง เรื่องนี้คงต้องให้คนอ่านเป็นผู้ยืนยัน

จากเด็กหญิงที่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก แปลวรรณกรรมเยาวชนภาษาอังกฤษเล่มแรกตั้งแต่อายุ 14 ปี จนเติบโตเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และกลายเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่อักษรศาสตร์จนถึงวันเกษียณ วัลยาบอกว่า หลังจากแปลเรื่อง ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ ที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน ก็ซึมซับในใจว่าการแปลวรรณกรรมคือชีวิต

วันนี้ในวัย 76 ปี วัลยา วิวัฒน์ศรยังทำงานแปลทุกวัน และยังมีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียนรู้เรื่องใหม่จากวรรณกรรมและนักเขียน

ชีวิตที่ผ่านมาหล่อหลอมวัลยามาอย่างไร การแปลวรรณกรรมฝรั่งเศสให้อะไรแก่ชีวิต เราเรียนรู้อะไรได้จากการอ่านวรรณกรรม และแก่นของการแปลวรรณกรรมคืออะไร

บทสนทนาขนาดยาวต่อจากนี้คือคำตอบ

ทุกวันนี้ตื่นเช้ามา ถัดจากกิจวัตรประจำวันแล้วอาจารย์ทำอะไร

ปกติหลังอาหารเช้าครูก็แปล หลังอาหารกลางวันครูก็แปล หลังอาหารเย็นครูก็แปล งานแปลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไปเที่ยวอิตาลี 14 วัน สิ่งที่คิดถึงที่สุดคือการแปลหนังสือ เท่ากับหายไปเลย 14 วันไม่ได้แปล ไปเที่ยวกว่าจะกลับมาก็มืดดึกดื่น

อาจารย์มีวิธีการแปลหนังสือในแต่ละวันอย่างไร

ก่อนแปลเราต้องศึกษาหนังสือเล่มนั้นหมดแล้วทั้งเล่ม เงื่อนไขประการที่หนึ่ง เราต้องชอบหนังสือเล่มนั้น ต้องรู้จักนักเขียนมาก่อนด้วย รู้จักภูมิหลังว่าทำไมเขามาเขียนเรื่องนี้ และเขามีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ กระแสสังคมในสมัยที่เขาเขียนมีส่วนด้วยไหม ความรู้สึกภายในของเขาเป็นอย่างไร ฉะนั้นการหยิบหนังสือแล้วมาแปลต่อ แปลได้เลยเพราะมีความรู้ต่อเนื่องจากการทำงานมาก่อน 

ถ้ารวมๆ เวลาในหนึ่งวัน อาจารย์แปลหนังสือกี่ชั่วโมง

ไม่นับค่ะ เพราะไม่รู้สึกว่าวันหนึ่งฉันจะต้องแปลได้กี่หน้า ไม่ทำงานแบบนั้น ทำงานตามที่อยากจะทำ เพราะการทำงานแปลเป็นความสุข ไม่ใช่ความกดดัน

ถ้าจะพักก็คือลุกไปทำกับข้าวหรืออาหารมาส่ง ขึ้นอยู่กับวัยด้วย อย่างแต่ก่อนทำได้นาน ตอนนี้มีปัญหาแล้วว่าพอทำไปแล้วนัยน์ตาเหนื่อย เหนื่อยก็หยุด เดินไปโน่นมานี่ เก็บผ้ามาพับ อยู่คนเดียวก็เดินร้องเพลง (หัวเราะ) ร้องเพลงที่ตัวเองชอบทั้งฝรั่งเศสทั้งไทย การร้องเพลงเป็นการฝึกเส้นเสียงด้วย ตอนหลังที่อายุมากแล้ว บางเพลงที่เคยขึ้นเสียงสูงได้แต่ตอนนี้ร้องไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่ได้ฝึกเส้นเสียง อันนี้จำมาจากครูสลา คุณวุฒิเวลาวิจารณ์นักร้องในรายการว่าไม่ได้ฝึกมาเพียงพอ ทำให้เสียงขึ้นไปไม่ถึง ซึ่งก็จริง แต่ก่อนเราเคยร้องได้ ตอนหลังร้องไม่ได้

อยากชวนอาจารย์ย้อนเวลาเล่าชีวิตวัยเด็กให้ฟัง

ครูเกิดที่ฝั่งธนบุรี เข้าใจว่าเกิดบางแวก แต่วัยเด็กจำได้ว่ามีบ้านอยู่ที่ซอยรางน้ำ เป็นบ้านไม้สองชั้น มีระเบียงข้างหน้า ที่จำได้เพราะมีรูปถ่ายตอนนั่งอยู่บนม้าหิน แต่บ้านหลังนี้ให้ไปหาตอนนี้ก็หาไม่เจอแล้ว ไม่รู้อยู่ตรงไหน ตอนนั้นเด็กมากประมาณ 2-3 ขวบมั้ง จากนั้นย้ายมาอยู่ซอยอินทรพิทักษ์ที่วงเวียนใหญ่ บ้านหลังนี้ก็อยากกลับไปเยี่ยม เพราะจากมานาน ไม่รู้เป็นอย่างไรแล้ว

ชีวิตช่วงประถมที่ฝั่งธนบุรี เป็นอย่างไร

ครูเรียน ป.1-4 ที่โรงเรียนอรุณศิริวิทย์ และมาต่อ ป.5-7 ที่โรงเรียนสมบูรณ์วิทยา

จำได้ว่าสมัยอยู่ ป.4 น่าจะประมาณปี 2500 เป็นปีแรกๆ ที่โฟร์โมสต์เอานมเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งการจะขายนมได้คือเด็กต้องกิน ฉะนั้นเขาก็มาแจกที่โรงเรียนทุกวันศุกร์ ครูก็บังคับให้เราไปเข้าแถว เป็นครั้งแรกที่เราต้องดื่มนม ซึ่งเป็นเรื่องทารุณมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นคนไทยยังไม่ดื่มนม ฉะนั้นวิธีขายก็คือต้องให้เด็กดื่ม บอกพ่อแม่ว่านมดีอย่างไร เด็กไม่ดื่มก็ไม่ได้ นมที่มาแจกเป็นรสจืด มีนมรสหวานนิดหนึ่ง ตอนหลังเขาก็เปลี่ยนเอานมที่ผสมช็อกโกแลตมา เป็นนมถุงพลาสติก จำได้ว่าวันศุกร์เย็นเป็นวันแห่งความทุกข์ทรมาน เพราะต้องดื่มนม แต่ในที่สุดก็ดื่มเป็น

ที่บ้านมีพี่น้องกี่คน อาจารย์เติบโตมาในครอบครัวแบบไหน

มีพี่น้องหกคน ครูเป็นคนกลาง คุณพ่อตั้งชื่อให้ว่า แจ๋วแหวว จุ๋มจิ๋ม จุ้มปุ๊ก (วัลยา) จิงโจ้ จักจั่น จู๋จี๋

อย่าลืมว่าเด็กเยอะเราก็ต้องตีกันใช่ไหม เล่นกันตีกัน บ้านมีคูเล็กๆ อยู่ในบ้าน เราก็ลงไปเล่นน้ำโคลน สมัยนั้นเราใช้น้ำบ่อ ต้องขุดบ่อและโพงน้ำขึ้นมาใช้ เอามาล้างชาม สนุกมาก

ตอนเด็กๆ ช่วงประถมฯ อาจารย์ชอบเขียนอ่านหรือยัง

ในบ้านมีหนังสือเยอะ จำได้ขึ้นใจ ตอบทุกคนด้วยคำตอบเดิมเพราะเป็นข้อเท็จจริง ตอนปิดเทอมใหญ่จบชั้น ป.4 อ่านขุนช้างขุนแผนจบทั้งเล่ม ก็เข้าใจเรื่องตามที่เด็ก ป.4 จะเข้าใจ แต่พอมาคิดดูแล้ว จริงๆ สะกดตัวหนังสือแตกฉานแล้วนะตอน ป.4 คืออ่านได้ เพียงแต่ว่าถ้ามีบทอัศจรรย์ตอนนั้นเราก็คงไม่เข้าใจว่าคืออะไร และการที่เราอ่านขุนช้างขุนแผนซึ่งเล่มใหญ่มาก อ่านตั้งแต่ต้นจนจบได้ตอนปิดเทอมก็แสดงว่าเราพอใจที่จะอ่าน ในบ้านก็จะมีอิเหนา พระอภัยมณี รามเกียรติ์ อ่านมาตลอด

นอกจากวรรณคดีไทยแล้ว อาจารย์อ่านวรรณกรรมร่วมสมัย ณ ตอนนั้นบ้างไหม

ก็อ่านงานของอิงอรที่เขียน ดรรชนีนาง อ่านศักดิ์เกษม หุตาคม, เสนีย์ เสาวพงศ์, อิศรา อมันตกุล,
ก.สุรางคนางค์, มนัส จรรยงค์ แล้วก็มารู้จัก อ.อุดากรตอนอยู่มัธยม อ่านงานเขียนของนักเขียนเหล่านี้อยู่แล้ว

ทราบมาว่าคุณพ่อของอาจารย์ก็เป็นนักเขียน นามปากกา สิงหเทพ(ธนู ปิยะรัตน์) ตอนนั้นอ่านงานของพ่อตัวเองไหม

อ่านสิ เมื่อสองวันที่แล้วยังเอามาอ่านเลย (หัวเราะ)

ณ ตอนนั้นการที่อาจารย์มีพ่อเป็นนักเขียนก็ส่งผลต่อการชอบอ่าน?

ไม่ใช่แค่อ่าน แต่เขียนด้วย เคยเขียนกลอน เขียนเรื่องสั้น พี่สาวครูก็เขียน แล้วส่งไปยังนิตยสาร เขาลงให้เราก็ภูมิใจกันมาก

เราเป็นบ้านที่มีหนังสืออ่าน อยู่สัก ม.ศ.2 ก็อ่านหนังสือที่เป็นวงศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับเยาวชนได้แล้ว ตอนเรียนภาษาเราต้องท่องศัพท์ จำได้ว่าขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นทองหลางที่บ้านแล้วก็ท่องศัพท์ไป เวลาเรียนศัพท์ใหม่มาจากโรงเรียนเราก็ท่องๆ มันจะจำได้

ครูแปลหนังสือเล่มแรกตอนอายุ 14 ปี เรื่องภาพปริศนา อ่านเป็นภาษาอังกฤษแล้วสนุก เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่นที่ไปแข่งกีฬา แล้วไปเจอเรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องแนวสืบสวนสำหรับเยาวชน ภาษาไม่ยาก อ่านเสร็จแล้วรู้สึกว่าสนุกจึงแปล

ตอนนั้นแปลเสร็จแล้ว ให้ใครอ่าน ใครตรวจ

ให้พ่อดู พ่อเกลาภาษาให้ พ่อก็แก้ให้ ตรงนี้ใช้อย่างนี้ คำบุพบทในภาษาไทยถูกไหม แต่พ่อแก้ไม่เยอะนะคะ เพราะถ้าเราเขียนภาษาไทยไม่เป็นภาษา มันก็แปลออกมาเป็นเรื่องราวไม่ได้ อย่าลืมนะคะว่าอ่านขุนช้างขุนแผนตั้งแต่ ป.4 อ่านหนังสือมาตลอด แล้วสมัยนั้นมีนิตยสารศรีสมัย สยามสมัย ชาวกรุง อยู่ในบ้าน เราก็อ่าน

เล่มแรกที่แปลนั้นแปลจากภาษาอังกฤษ แล้วอาจารย์เริ่มสนใจภาษาฝรั่งเศสตอนไหน

เริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสตอน ม.ศ. 4-5 ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ตอนนั้นมีแยกเป็นแผนกวิทย์กับแผนกศิลป์ แผนกศิลป์ก็เรียนอังกฤษกับฝรั่งเศส หรืออังกฤษกับเยอรมัน ครูเรียนอังกฤษกับฝรั่งเศส แล้วได้ครูดี ครูที่ขยัน ครูที่สั่งให้นักเรียนผันเวิร์บ แจกกิริยา และครูตรวจ จำได้ว่ามีอาจารย์จิรา และคุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ที่ต่อมาท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ที่เตรียมอุดมฯ ระยะหนึ่งก่อนจะเกษียณไป

การสอนภาษาฝรั่งเศสสมัยนั้น สอนกันอย่างไรบ้าง

สมัยนั้นสอนเป็นภาษาเขียนมากกว่าภาษาพูด ยังไม่มีเทคนิคที่สอนให้พูดเป็น สิ่งที่เป็นเทคนิคในการเขียนคือไวยากรณ์ต้องแม่น เมื่อไวยากรณ์แม่น เราก็จะเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ดี เป็นการเรียนที่เน้นไวยากรณ์ เนื่องจากตัวเองเรียนแบบนี้ ตอนหลังที่จะมีการสอนเป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบนะคะ เพราะเด็กที่บอกว่าสื่อสารเป็นนั้นเขียนหนังสือไม่ได้

ภาษาตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน พวกนี้ไวยากรณ์สำคัญ ภาษาที่กฎไวยากรณ์เยอะมากคือรัสเซีย รองลงมาคือเยอรมัน เยอรมันมีกฎภาษามากกว่าภาษาฝรั่งเศสหน่อยหนึ่ง และฝรั่งเศสมีมากกว่าอังกฤษ แต่อังกฤษมีศัพท์สแลงเยอะมาก

ตอนนั้นอาจารย์เรียนทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แล้วทำไมจึงเลือกมาทางภาษาฝรั่งเศสมากกว่า

ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อันดับหนึ่ง อักษรศาสตร์สมทบอันดับสอง และครุศาสตร์อันดับสาม ปรากฏว่า สอบวันที่หนึ่งคิดว่าคงไม่ได้อักษรฯ สอบวันที่สองสงสัยตกสมทบ สอบวันที่สามสงสัยได้ครุฯ แต่พอประกาศมา โอเค ได้อักษรศาสตร์

ตอนนั้นคิดอยากเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยากรับราชการ เพราะคิดว่ามั่นคง ทีนี้ถ้าจะเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ เกณฑ์หนึ่งที่คุณต้องผ่านคือต้องสอบได้ที่หนึ่งในวิชานั้น คุณต้องโดดเด่นอย่างมาก ทีนี้เขาจะรับคุณหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกของคุณด้วย ดูว่าคุณเป็นอาจารย์ได้ไหม เพราะฉะนั้นตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีสาม มีเรียนสามวิชา คือ อังกฤษ ไทย ฝรั่งเศส ก็ดูแล้วว่าหากอยากเป็นอาจารย์ต้องไปทางไหน หนึ่ง ภาษาไทยมีเพื่อนคนหนึ่งเก่งกว่าเรา สอง ภาษาอังกฤษเราสอบได้ที่เจ็ด ซึ่งมีอีกตั้งหกคนอยู่ข้างหน้าเรา ก็มีฝรั่งเศสที่เราพอจะได้ที่หนึ่ง ฉะนั้นเมื่อถึงปีสี่ เขาให้เรียนเหลือสองวิชา ก็เป็นเอกฝรั่งเศสเรียน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โทอังกฤษเรียน 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สมัยนั้นเรียนเยอะ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้นจึงเลือกฝรั่งเศสเพื่อจะได้มีโอกาสเป็นอาจารย์

ถ้าเราเรียนภาษาฝรั่งเศสเบื้องต้นได้แล้ว อ่านเขียนได้แล้ว แล้วการเรียนในระดับสูงที่เจาะลึกลงไปอีกคืออะไร สิ่งที่เป็นสุดยอดในการใช้ภาษาฝรั่งเศสคืออะไร

ถ้าเป็นวรรณกรรมเยาวชนฝรั่งเศส ภาษาที่นักเขียนใช้มักเป็นภาษาที่โครงสร้างประโยคง่าย อ่านเข้าใจง่ายๆ วงศัพท์แค่นี้ แต่พอเป็นวรรณคดีมันไม่ใช่แล้ว นักเขียนบางคน หนึ่งประโยคคือหนึ่งย่อหน้า แต่มีเครื่องหมายวรรคตอนมาช่วยให้เราตามได้

ในวรรณคดีที่เป็นร้อยกรอง ถ้าเป็นฉันทลักษณ์ของเขา เขาจะวางตำแหน่งคำสลับไปหมดเลย แต่ทันทีที่เราอ่านออก หาเจอว่าประธานอยู่ตรงไหน ในประโยคนั้นมีเวิร์บกี่ตัว แล้วเวิร์บตัวไหนเป็นของประธานตัวไหน อันไหนเป็นเวิร์บหลัก-เวิร์บรอง เราจะเข้าใจโคลงบทนั้นหรือกลอนบาทนั้นทันที เป็นความสนุกที่จะหาให้เจอ เพราะผู้ประพันธ์เขาจะไม่เขียนผิด เพียงแต่เขาเขียนสลับตำแหน่งเพื่อรักษาสัมผัส

แต่หากเป็นร้อยแก้ว จะมีส่วนขยายเยอะมาก คำศัพท์อีก วิธีวางรูปประโยค วิธีวางคำในประโยคที่จะทำให้เราเข้าถึงอารมณ์ที่เขาต้องการสื่อสาร ซึ่งลักษณะทั้งหมดที่ครูพูดมา ในภาษาอื่นก็เป็น อังกฤษ เยอรมัน สเปนก็เป็น

สมัยเรียนฝรั่งเศสที่อักษรฯ จุฬาฯ เรียนกันอย่างไร มีเรื่องอะไรที่จำได้บ้าง

ตอนนั้นอยู่ชั้นปีที่หนึ่ง เรียนในห้องใหญ่มีนักเรียนประมาณร้อยคน อาจารย์ผู้สอนคือศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ท่านยืนอยู่บนยกพื้น สอนวรรณคดีที่เป็นบทกลอน เป็นร้อยกรอง แล้วท่านมีความสามารถในการที่จะให้เด็กร้อยคนอ่านและทำความเข้าใจกับบทกลอนนั้น โดยที่ท่านไม่ได้อธิบายทั้งหมด ท่านตั้งคำถามเป็นภาษาฝรั่งเศส คล้ายๆ ว่าในกลอนหนึ่งบาทนี้ขึ้นต้นอย่างนี้ แล้วมันคืออะไร ทำไมเขาเอาคำนี้ขึ้นต้น คำต่อมาที่เขาเขียนเข้าใจอย่างนี้ แล้วทั้งบาทให้ความรู้สึกอย่างไร ให้เด็กคิดเองหมดเลย

อาจารย์ไม่ได้บอกว่านี่เป็นบทกลอนที่น่าประทับใจ กวีพรรณนาถึงความทุกข์ยากในชีวิต แต่ท่านให้ดูจากคำและตำแหน่งคำ ทำให้เราสามารถอ่านบทอื่นหรือย่อหน้าอื่นที่เป็นร้อยกรองก็ได้ ร้อยแก้วก็ได้ การสอนแบบนี้ทำให้เราตั้งคำถามอยู่ในใจและเข้าถึงเนื้อหา

มีงานของนักเขียนฝรั่งเศสคนไหนบ้างที่ต้องเอามาสอนในชั้นเรียน

หลายคนค่ะ คงตอบทั้งหมดไม่ได้ ตอนช่วงที่ครูเรียนปีสี่ คือปีการศึกษา 2511 ช่วงนั้นมีแซ็งเต็กซูเปรี, อัลแบร์ต กามูส์, ฌ็อง-ปอล ซาทร์, ซีมอน เดอ โบวัวร์ ที่เป็นกระแส

แต่คนที่โดดเด่นคงเป็นแซ็งเต็กซูเปรี คนเขียนเจ้าชายน้อย จำได้ว่าตอนครูไปเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศส ครูบอกอาจารย์ว่าอยากทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเกี่ยวกับแซ็งเต็กซูเปรี อาจารย์บอกว่าเสียใจด้วย เพราะทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกอย่างที่เกี่ยวกับแซ็งเต็กซูเปรีคนเขาทำกันหมดแล้ว เธอไปหานักเขียนคนอื่นนะ (หัวเราะ)

พอจบปีสี่ที่อักษรฯ จุฬาฯ อาจารย์ก็ได้ทุนไปเรียนต่อโทที่ฝรั่งเศสเลย?

ใช่ ตอนนั้นสอบได้ทุนของรัฐบาลฝรั่งเศส ตอนก่อนไปศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทรซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตก ท่านยังบอกว่าเธอเด็กมากนะ ไปเรียนปริญญาโทมาก่อนแล้วกัน แล้วค่อยกลับมาเป็นอาจารย์ เรียนจบปี 2514 ก่อนจบท่านให้อาจารย์รุ่นพี่เขียนไปบอกว่าให้กลับมาสมัครงานที่คณะ กลับมาก็เป็นอาจารย์เลย เป็นอาจารย์อยู่สิบปีแล้วถึงไปเรียนปริญญาเอก

ตอนไปเรียนปริญญาโท เป็นอย่างไรบ้าง

สนุก ก่อนไปเราบอกอาจารย์ชาวฝรั่งเศสที่ภาคว่าต้องการไปอยู่ในเมืองมหาวิทยาลัย หมายความว่าเป็นเมืองที่มีแคมปัสและหอพักอยู่ในนั้นด้วย จากหอพักเราเดินไปเรียนตึกนั้นตึกนี้ได้ และอยากไปเมืองที่มีหิมะ อาจารย์ก็บอกว่าให้ไปเมืองดีฌง ซึ่งเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องอาหารด้วย หอยเอสคาร์โกต์ทำที่นี่ มัสตาร์ดทำที่นี่ และเป็นเมืองหลวงของแคว้นบูร์กอญ ก็คือเบอร์กันดี เหล้าองุ่นก็ทำที่นี่

ครูต่างชาติสมัยก่อนก็ดีมาก พออยู่ปีสี่ เขาก็เชิญนักเรียนที่เรียนเอกฝรั่งเศสซึ่งมีไม่กี่คนไปที่บ้าน แล้วเขาก็ทำอาหารฝรั่งเศสให้กิน สอนให้เรากินโยเกิร์ต ซึ่งโยเกิร์ตสมัยนั้นแทบจะไม่มีในท้องตลาด ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ทุกคนกินโยเกิร์ต พอกินเข้าไปคำแรก ตายแล้ว พอๆ กับตอนอยู่ชั้น ป.4 ที่ดื่มนม อาจารย์บอกเธอต้องฝึกกิน เพราะที่นั่นเขากินโยเกิร์ตกันทุกมื้อ และในโยเกิร์ตมีแคลเซียมเยอะ บำรุงกระดูก อาจารย์ก็สอนเสร็จสรรพ ช้อนส้อมวางอย่างไร แก้วไวน์เป็นอย่างไร แก้วแชมเปญเป็นอย่างไร พวกเรานิสิตก็แฮปปี้มาก อาจารย์สอนเพื่อให้เมื่อไปถึงแล้วจะได้กินอาหารที่โน่นได้

ตอนไปเรียนปริญญาโทถือเป็นการเปิดโลกครั้งสำคัญในชีวิตไหม

ไม่ได้คิดว่าสำคัญเป็นพิเศษ คือไปเพื่อต้องการเรียนให้จบ ย้อนกลับไปตอนที่อาจารย์บอกให้ไปหานักประพันธ์มาใหม่เพื่อทำวิทยานิพนธ์ เราก็เข้าห้องสมุดไปอ่านหนังสือรวมวรรณคดีศตวรรษที่ 19-20 มีนักประพันธ์คนไหนบ้าง จนไปเจอนักประพันธ์ในศตวรรษที่ 20 คนหนึ่งชื่อฌอร์ฌ ดูอาแมล ก็กลับไปบอกครูว่าจะทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง Confession de minuit (คำสารภาพเที่ยงคืน) ของฌอร์ฌ ดูอาแมล

พอไปบอกอาจารย์ว่าจะทำเรื่องนี้ อาจารย์ก็ยิ้มแป้นเลย อาจารย์เป็นผู้ใหญ่มากเลยนะคะ อาจารย์บอกว่านี่คือนักประพันธ์ที่ครูชื่นชอบอีกคนหนึ่ง ดูอาแมลมีชื่อเสียงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง งานของเขาพูดถึงคนที่มีปัญหาในการดำเนินชีวิต  

ตัวเอกในเรื่องนี้ เป็นเสมียนต่ำต้อย เขามีหนังสือที่เป็นของเขาเองอยู่เล่มหนึ่ง เขาเดินเข้าไปในร้านหนังสือ พอตอนจะออกมาเขากลัวว่าเจ้าของร้านจะหาว่าเขาขโมยหนังสือเล่มนี้ เขาก็เลยไปจ่ายเงิน คือเป็นคนกลัวสิ่งที่ไม่ควรจะกลัว ความที่ตัวเองเป็นเสมียนต่ำต้อยเงินน้อย เลยมานั่งคิดว่าถ้าเผื่อแม่ตาย เขาก็ควรจะได้เงินบำนาญที่แม่มีอยู่มาเป็นของตัว ชีวิตคงจะสบายขึ้น แต่เป็นความคิดอยู่ในใจ ไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้แม่ตายเลย เสร็จแล้วก็รู้สึกผิดว่าตัวเองเป็นลูกที่ไม่ดี เป็นชีวิตของคนที่ล้มเหลวตลอดในทุกเรื่อง

นอกจากเรื่อง Confession de minuit (คำสารภาพเที่ยงคืน) ของฌอร์ฌ ดูอาแมล แล้ว มีวรรณกรรมฝรั่งเศสเล่มไหนที่อาจารย์ชอบเป็นพิเศษไหม

ชอบทุกเล่มเลยค่ะ พูดถึงนักเขียนสี่เสาหลักของศตวรรษที่ 18 คือ วอลแตร์, ฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ, เดอนีส์ ดิเดอโรต์ และมงเตสกีเยอ ก็มีอิทธิพลต่อสังคมฝรั่งเศสมาก

วอลแตร์เป็นนักประพันธ์ นักปราชญ์ นักคิดคนหนึ่งที่งานของเขามีส่วนก่อให้เกิดปฏิวัติฝรั่งเศส วอลแตร์ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ทุกสถาบันในสังคมของเขา สถาบันพระ พระเห็นแก่เงิน สถาบันหมอ หมอก็รักษาแต่คนมีเงิน สถาบันศาล ศาลตัดสินเพื่อเงินที่ศาลจะได้ สถาบันกษัตริย์ ก็อยู่ห่างไกลจากผู้คนในสังคม

การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเหล่านี้และให้คนเชื่อตามและเกิดความคิดวิพากษ์วิจารณ์ตาม วอลแตร์ใช้อารมณ์ขัน ก็องดิดเป็นเรื่องที่อ่านแล้วหัวเราะทุกประโยคเลย เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ คนคิดวิพากษ์วิจารณ์ตาม

ครูยกตัวอย่างที่เจอมาด้วยตัวเอง ตอนที่เราจะไล่ประภาส จารุเสถียรกับถนอม กิตติขจรไป ตอนนั้นทุกหนทุกแห่งมีแต่คนด่าประภาส-ถนอม ไม่ว่าในร้านอาหารหรือที่ไหน เราจะได้ยินคนพูดสิ่งเหล่านี้ นั่นคือคนไม่กลัวแล้ว ก็เหมือนคนฝรั่งเศสที่เมื่อเชื่อตามวอลแตร์ รุสโซ ดิเดอโรต์ มงเตสกีเยอแล้ว เขาก็ไม่กลัวแล้ว เขาคิดว่าจะต้องทำอะไรเพื่อตัวเขา เพราะฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 มีแต่ความไม่เสมอภาค ขุนนางกับพระไม่ต้องเสียภาษี คนเสียภาษีคือชาวไร่ชาวนาและคนชั้นกลาง ชนชั้นที่ไม่เสียภาษีมีอภิสิทธิ์เยอะมาก ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จะมีจดหมายประทับตราแล้วสั่งฆ่าสั่งจับขังใครก็ได้ ในที่ดินของขุนนางถ้ามีหนุ่มคนไหนแต่งงาน เจ้าสาวต้องมานอนกับขุนนางก่อนในคืนเข้าหอ แต่ก่อนคงต้องจำยอมแหละ แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่คนทนรับต่อไปไม่ไหวแล้ว

พอมาศตวรรษที่ 19 มีวิกตอร์ อูโก, ออนอเร่ เดอ บัลซัค และอเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ พอเปลี่ยนระบอบการปกครองก็ใช่ว่าจะดี บัลซัคเองเขาตั้งตัวเป็นเลขานุการของสังคม เพราะเขาจะเขียนถึงคนทุกประเภททุกอาชีพ บัลซัคเรียนกฎหมายเพื่อไปเป็นทนาย เข้าไปฝึกงานในสำนักงานทนายจนได้เรียนรู้ว่าคนวางแผนเพื่อจะโกงผู้อื่นอย่างไร เห็นความชั่วร้ายของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เขาก็เขียนออกมา ถึงขั้นที่นักประวัติศาสตร์ระดับชาติในสมัยของบัลซัคชื่อฌูลส์ มิเชอเลต์ ยังบอกว่างานทั้งหมดของบัลซัคบันทึกประวัติศาสตร์ได้ดีกว่าตำราประวัติศาสตร์ของเขา

วิกตอร์ อูโกก็มีเรื่อง Les Miserables ตัวเอกแค่ขโมยขนมปังหนึ่งชิ้นเพราะความหิวต้องเข้าคุก สมัยก่อนระบบยุติธรรมแย่มาก คนทำผิดนิดเดียวแต่ต้องเข้าคุกนานมาก แล้วพอออกมาจากคุก เซซังเข้าไปในโบสถ์ พระช่วยเหลือเจือจาน แต่ก็ไม่รู้จะมีชีวิตไปอย่างไร เห็นเครื่องเงินของพระเลยหยิบเพื่อเอาไปขายจะได้มีสตางค์ พอเอาไปขาย เจ้าของร้านก็แจ้งตำรวจเพราะสงสัยว่าเอามาจากไหน จนตามมาถึงโบสถ์ พระบอกว่าฉันให้เขาเอง เรื่องนี้พระดี เข้าใจว่าคนคนนี้ถูกสังคมกระทำ ดังนั้นฌ็อง วัลฌ็องเหมือนเจอหยาดทิพย์ เจอน้ำใจ จริงๆ แล้วตัวก็ไม่ใช่คนเลว ตอนที่ขโมยขนมปังก็เพราะไม่มีจะกิน ฉะนั้นก็ทำให้เห็นเลยว่าระบบยุติธรรมและกฎหมายใช้ไม่ได้ และมีเรื่องโทษประหารด้วย อูโกไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร เพราะคนที่ถูกประหารสมัยนั้น ไม่ควรจะถึงโทษประหาร แค่ไม่ถูกกับผู้คุมก็โดนเล่นงานแล้ว

จะเห็นว่านักเขียนของเขาต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นในสังคมของเขา ดังนั้นชอบหมดทุกคนเลยนะคะ เป็นคนหลายใจในเรื่องนี้ (หัวเราะ) ชอบนักเขียนเต็มไปหมด หรืออย่างฌาคส์ เพร์แวรต์ ที่เขียนเรื่องจดหมายจากหมู่เกาะชเลจร เรื่องนี้ก็โจมตีสังคมที่อุตสาหกรรมเป็นใหญ่ พื้นที่สีเขียวจะไม่เหลือแล้ว ภาษาเขาไพเราะมาก นี่คืองานในศตวรรษที่ 20

การแปลวรรณกรรมคลาสสิกของฝรั่งเศส ต้องมีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง ช่วยยกตัวอย่างได้ไหม

ตอนที่ครูคิดจะแปลเรื่องของบัลซัค ก็ต้องมานั่งศึกษา มาอ่านเองใหม่ คนบอกว่าบัลซัคบรรยายยืดยาด บรรยาย 30 หน้ากว่าจะเริ่มเดินเรื่อง เราก็คิดว่าถ้าเขาไม่ดีจริงแล้วทำไมเขาเป็นนักประพันธ์ใหญ่ของประเทศเขาได้ ครูก็สงสัย ตอนอยู่ฝรั่งเศสมีเวลาตอนกลางคืนเลยเอามาลองอ่าน ตอนแรกอ่าน เออ ยาวจริงๆ แต่พออ่านไป ปรากฏว่ามีเสียงดนตรีในภาษาน่ะค่ะ เราอ่านอยู่ในใจแต่เราได้ยิน ถึงจะยาวแต่มีจังหวะจะโคนที่พาเราไปตามเรื่อง เชื่อไหมว่าครูอ่านถึงตีสองเลย กลายเป็นว่าบัลซัคกล่อมเราให้ตามไปกับบทเพลงของเขา

แล้วต้องแปลเป็นไทยอย่างไร ถึงจะให้เสียงและท่วงทำนองออกมาได้เหมือนตอนอ่านภาษาฝรั่งเศส

ทุกครั้งต้องได้ยินเสียงภาษาฝรั่งเศสก่อนว่ามีเสียงแบบไหน และพอเป็นไทยเราก็ได้ยินเสียงในภาษาไทย เพราะภาษาไทยวิเศษเลอเลิศ ภาษาไทยแปลได้ทุกภาษา ทำให้ไพเราะได้เท่าทุกภาษา ทำให้โกรธแค้นเคืองขุ่นได้เท่ากันทุกภาษา

ครูยกตัวอย่าง สมมติเราพูดว่า “อ้าอะรุณแอร่มระเรื่อรุจี ประดุจมะโนภิรมระตี ณ แรกรัก แสงอะรุณวิโรจน์นะภาประจักษ์ แฉล้มเฉลาและโศภินัก นะฉันใด, หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย สว่าง  ณ กลางกมลละไม ก็ฉันนั้น” บทนี้เป็นเสียงที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดถึงความรักใช่ไหม

ส่วนอีกบทหนึ่ง “เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน ก็มาเป็น ศึกบถึงและมึงก็ยังมิเห็น จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น ประการใด” เชื่อไหมอันนี้เป็นฉันท์เดียวกัน แต่บรรยายคนละความรู้สึก อย่างตรง ‘เอ่ออุเหม่’ ถ้าครูจะมาอ่านช้าๆ ก็ไม่ได้ และทั้งๆ ที่เป็นฉันท์เดียวกัน แต่เสียงสั้นเสียงยาวและคำที่เขาใส่มาทำให้อารมณ์ต่างกัน เช่น ‘อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี’ ก็มีสั้นยาวแต่เสียงของพยัญชนะไปบังคับให้เสียงอ่อนโยน ในขณะที่ ‘เอออุเหม่’ เสียงพยัญชนะบังคับให้ฮึกให้เหี้ยม ถ้าถามว่าครูทำอย่างไรกับภาษาไทย ครูก็ทำแบบนี้แหละค่ะ ในภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างไร ภาษาไทยก็ทำได้

ตั้งแต่อาจารย์แปลวรรณกรรมมา มีเล่มไหนที่รู้สึกว่าแปลยากบ้างไหม

เล่มล่าสุดที่ยังแปลไม่เสร็จ เรื่อง Vol de Nuit (ฝ่ารัตติกาล) เพราะแซ็งเต็กซูเปรีใช้ภาษาไพเราะกว่าเรื่องอื่นๆ ที่ครูอ่าน หมายความว่าภาษาเขาไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ในภาษาฝรั่งเศส poetic มากเลย ฉะนั้นในภาษาไทยครูก็ต้องทำให้เท่า สำหรับครู การแปลคือการทำงานสร้างสรรค์ลำดับที่สองจากนักประพันธ์ เราต้องไปให้ถึงวรรณศิลป์ของเขาให้ได้ และพอจะไปให้ถึงจึงทำให้คิดกลับไปกลับมา ได้คำมาแล้ว แต่จะวางคำนี้ไว้ตำแหน่งไหนในประโยค เพราะมีผลต่อเสียงและมีผลต่อการสร้างภาพพจน์ ภาพเกิดจากพจน์จริงๆ และภาษาต้นฉบับมีภาพพจน์ตลอด

ที่ว่าแปลยาก ทำได้วันหนึ่งเฉลี่ยเท่าไหร่

ขอโทษค่ะ สี่บรรทัดแรก แปลสองชั่วโมง คิดคำได้แล้ว แต่จะเข้าประโยคอย่างไร แล้วเผอิญภาษาไทยวิเศษตรงที่มีสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ ฝรั่งเศสก็มี ไทยก็มี คือก็ไม่ได้แปลยากทั้งเล่ม มียากเป็นช่วงๆ ตอนที่เขาบรรยายพรรณนา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เป็นคำพูดค่อยไปได้เร็วหน่อย หรือที่บอกว่าคนเดินไปทำอะไร มองดูอะไร หยิบอะไร แบบนี้ง่าย แต่ทันทีที่เขาพรรณนาฉากนักบินสู้กับพายุ โอ้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ

ยกตัวอย่างประโยคนี้ ‘ในท้องถิ่นนี้ที่ราบสูงล้วนสุกปลั่งมลังเมลือง และหลังฤดูหนาวก็ยังคงสุกสกาวด้วยประกายหิมะ’ คงจะเห็นสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ซึ่งช่วยสร้างเสียงในภาษา คำว่า ‘มลังเมลือง’ ต้นฉบับคือ lumineux มีเสียง ‘ล’ กับ ‘ม’ เหมือนกัน ‘ที่ราบล้วนสุกปลั่งมลังเมลือง’ คำว่า ‘ล้วน’ ทำให้ที่ราบเป็นพหูพจน์ เพราะเขาเขียนรูปคำเป็นที่ราบพหูพจน์ เพราะนี่คือเทือกเขาแอนดีส

หรือในท่อนนี้ ครูแปลเป็น ‘ในแสงทองยามสายัณห์’ ฝรั่งเศสเขาเขียนเลยว่า dans l’or du soir คือ or แปลว่าทองคำ ส่วน soir แปลว่าตอนเย็น

คำภาษาไทยมีคำเรียกตอนเย็นหลายคำ เช่น ก่อนยามค่ำ หัวค่ำ สายัณห์ อาจารย์รู้ได้อย่างไรว่าจะแปล ตอนเย็นเป็นคำไทยอย่างไร

พอเขาเอาคำว่า ‘ทองคำ’ มาไว้ข้างหน้าคำว่า ‘ตอนเย็น’ ประกอบกับความสั้นยาวของคำ ทำให้คำว่า ‘ตอนเย็น’ poetic ขึ้นมาเลย ดังนั้นทำให้เราเลือกใช้คำไทยได้ตรง

การแปลสมัยก่อน เช่น ฉบับแปลภาษาอังกฤษที่แปลเรื่องของแซ็งเต็กซูเปรีตอนที่เพิ่งออกมาใหม่ๆ มักเป็นการแปลแบบยืดยาวเอาความ ไม่แปลรักษาสำนวนผู้ประพันธ์ แต่นักแปลรุ่นหลังรู้แล้วว่าการแปลนั้นไม่ใช่แปลให้ครบความอย่างเดียว แต่ต้องคงวรรณศิลป์ของผู้ประพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะในภาษาไหน

งานแปลยุคแรกๆ ในไทย มีหลายแบบ เช่น แปลแล้วแต่งเติม แปลให้คนไทยอ่านสนุก สรุปรวบความ จนพัฒนามาถึงตอนนี้ อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่าพัฒนาการขององค์ความรู้เรื่องการแปลเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

แต่ก่อนคนมักบอกว่า ต้องแปลไม่ให้มีกลิ่นนมเนย แปลให้คนไทยอ่านต้องเป็นกลิ่นกะปิ คนรุ่นหนึ่งเขาเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งครูไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเราแปลเรื่องตะวันตกก็ต้องมีกลิ่นอายตะวันตก ต้องมีกลิ่นนมเนย ไม่มีไม่ได้ เพราะฝรั่งไม่ได้กินกะปิ (หัวเราะ)

อย่างหนึ่งที่ต้องระวังคือพวกสำนวน เช่น ‘ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่’ ภาษาฝรั่งเศสจะมีที่บอกว่า ‘พ่อเป็นอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น’ ภาษาอังกฤษก็น่าจะมี แต่คุณจะมาแปลว่า ‘ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่’ ไม่ได้ เพราะในประเทศเขาไม่มีช้าง และในประเทศเขาจะไม่เอาช้างเข้ามาอยู่ในสำนวน หรือ ‘อย่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน’ ก็ใช้ไม่ได้ สำนวนอังกฤษคือ ‘Don’t carry coals to Newcastle’ ก็มีคนแปลว่า ‘อย่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน’ แต่ที่ประเทศอังกฤษเขาไม่มีมะพร้าว คือความหมายตรงกัน แต่คุณต้องคำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม

ในไทยมีการเรียนการสอนเรื่องแปลกันอย่างไร อาจารย์เรียนมาอย่างไร

การแปลเริ่มแรกที่เรียนคือการแปลเพื่อเรียนรู้ภาษา เป็นประโยคง่ายๆ เป็นแบบฝึกหัดสำหรับเด็กปีแรกๆ ที่เรียน ไม่เกี่ยวกับการแปลวรรณกรรม ทีนี้การแปลที่เป็นกิจจะลักษณะที่มีโรงเรียนแปลของฝรั่งเศสคือ L’École supérieure d’interprètes et de traducteurs (ESIT) หรือที่อื่นๆ ครูก็ไปเอาบทความที่พวกอาจารย์เขาเขียนมาอ่าน แล้วดูว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ครูชอบทฤษฎีของครูฝรั่งเศส ครูเห็นด้วยกับสิ่งที่สถาบันฝรั่งเศสสอน และเขาฝึกนักเรียนเขาอย่างมากเลย

คนที่แปลวรรณกรรม คุณควรมีเวลากลับมาดูสำนวนแปลของคุณ คุณแปลเก็บความได้หมดแล้ว แต่คุณต้องกลับมาดูว่าคุณเก็บลีลาภาษาของเจ้าของงานเอาไว้ด้วยไหม ซึ่งครูเห็นด้วยและเป็นสิ่งที่ครูทำ และเรื่องที่ว่าครูจะเก็บนมเนยเอาไว้ไม่เอากะปิ ก็เป็นความคิดของครูเองว่าควรจะเป็นอย่างนั้น

มีครั้งหนึ่งก่อนที่คณะอักษรศาสตร์จะตั้งศูนย์การแปล ก็ขอเงินมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็บอกว่าคุณช่วยทำงานให้ดูหน่อยว่าคุณแปลได้ คณะจึงเอาเรื่องสั้นเรื่อง ‘เมืองหลวง’ ของวาณิช จรุงกิจอนันต์มาให้อาจารย์แปลทุกภาษาที่เราสอนในตอนนั้น

ครูรับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ทีนี้ตอนแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสมีคำหนึ่งที่ครูอยากจะใช้คำไทยว่า ‘ผ้าซิ่น’ พอเขียนว่าผ้าซิ่น ครูก็ต้องทำเชิงอรรถ ฉะนั้นเรื่องสั้นที่ยาวไม่กี่หน้าต้องทำเชิงอรรถเพียงหนึ่งคำเพื่อบอกว่าว่าผ้าซิ่นคืออะไร ซึ่งคำว่าผ้าซิ่นในภาษาฝรั่งเศสเขาใช้คำของมาเลย์คือคำว่า ‘pagne’ แต่ครูคิดว่าทำไมต้องใช้คำมาเลย์ ฉันอยากให้คนอ่านของฉันรู้จักคำว่าผ้าซิ่น พอคิดอย่างนี้ก็เลยแปลทับศัพท์ไป เรื่องนี้ก็พิมพ์ออกมาเป็นเล่มในทุกภาษา ในแง่ของมหาวิทยาลัยก็เห็นว่าคณะอักษรฯ ทำได้ก็ให้สตางค์มาตั้งศูนย์การแปล

ทีนี้สถานทูตฝรั่งเศสไปเชิญอาจารย์ของสถาบันการแปลของฝรั่งเศสมา เพราะตอนนั้นเขาต้องการสนับสนุนการแปลในทุกมหาวิทยาลัย มาจัดประชุมที่จุฬาฯ ก็มีการเอาบทแปลของครูไปให้อาจารย์คนนี้อ่าน อาจารย์เขาก็วิจารณ์ บอกว่าแปลดี โอเคทุกอย่าง ยกเว้นทำไมคุณต้องใช้คำว่าผ้าซิ่น เขาบอกว่าแนวทางการแปลของสถาบันไม่ให้ทำเชิงอรรถ แล้วคิดดู เรื่องสั้นของคุณยาวแค่นี้ทำไมต้องมีเชิงอรรถหนึ่งคำ แล้วคุณก็รู้ใช่ไหมว่าคำว่า pagne นั้นมีให้ใช้

และในเรื่องสั้นมีท่อนที่ว่า ‘รถเมล์แน่นขนัดยัดทะนาน’ ตอนแรกครูก็จะแปลเก็บคำว่า ‘ทะนาน’ แต่ก็มาคิดว่าต้องอธิบายยาวมากว่าทะนานคืออะไร ทะนานคือกะลามะพร้าวซึ่งเป็นมาตราชั่งตวงวัด เอาไว้ตักข้าวสารขาย ถ้าข้าวสารเต็มทะนานก็คือแน่น ครูก็รู้สึกว่าอธิบายยาก จึงยอมใช้สำนวนฝรั่งคือ ‘แน่นเหมือนปลากระป๋อง’ อาจารย์จาก ESIT ก็เลยถือโอกาสเล่นงานครู บอกว่าตรงนี้ก็ไม่ใช่สำนวนในภาษาไทยใช่ไหม ก็ตอบไปว่าใช่ค่ะ ไม่ใช่สำนวนไทย เขาบอกว่าฉะนั้นคุณก็ไม่ควรใช้คำว่าผ้าซิ่น ในเมื่อตรงนี้คุณยังใช้ปลากระป๋องได้เลย พอพิมพ์ครั้งใหม่ครูก็ต้องแก้ เอาผ้าซิ่นออกไป กลายเป็น pagne

อาจารย์เห็นด้วยไหมกับการเอาคำว่าผ้าซิ่นออก

พอเขามาแย้งครูเรื่องปลากระป๋อง ครูก็ต้องยอมรับเหมือนกัน อีกอย่างก็ถูกต้องที่เขาบอกว่าการมีเชิงอรรถทำให้การอ่านสะดุด ในชีวิตการแปลของครูมีหนังสือที่ทำเชิงอรรถและไม่ทำเชิงอรรถเยอะมาก เรื่อง จดหมายถึงแม่ ของแซ็งเต็กซูเปรี เป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นพิเศษเลย คือครูเลิกทำเชิงอรรถไปแล้วนะ ก็องดิด ซาดิก เล่มแรกที่พิมพ์กับผีเสื้อมีเชิงอรรถเต็มไปหมด พอมาพิมพ์กับมติชน ครูเอาเชิงอรรถออกไปหมด ซึ่งถ้าเอาเชิงอรรถออก วิธีการคือเราจำเป็นต้องยอมแปลขยายความ แต่ต้องไม่ให้คำเกิน 2-3 คำ ไม่ให้สำนวนของวอลแตร์ซึ่งแสนจะกระชับนั้นเยิ่นเย้อ และทำอย่างนั้นไม่กี่แห่ง และอะไรที่ต้องอธิบายยาว ครูเอาไปใส่ในคำนำผู้แปล ตอนหลังจะเห็นว่านอกจากมีคำนำแล้ว ครูยังเขียนบทความคำกล่าวตาม เพื่อตัดเอาเชิงอรรถที่ต้องอธิบายไปใส่ไว้ในคำกล่าวตาม เพื่อจะได้ไม่มีเชิงอรรถ

ตอนที่ก็องดิดฉบับแรกออกไป มีเพื่อนอาจารย์สอนภาษาสเปนบอกเขาก็ชอบอ่านก็องดิดมากเลย แต่เขารำคาญตัวเลขลอย แล้วต้องมานั่งหาเชิงอรรถ เกะกะสายตา เหตุผลเดียวกับที่สถาบัน ESIT ไม่เอาเชิงอรรถ

แต่เรื่อง จดหมายถึงแม่ ไม่มีไม่ได้ คนอ่านต้องเดาเอาเองว่าแม่เขียนอะไรถึงแซ็งเต็กซ์ แต่ที่ครูทำเชิงอรรถก็ไม่ได้เกี่ยวกับแม่เขียนอะไรถึงแซ็งเต็กซ์ แต่เกี่ยวกับช่วงชีวิตของแซ็งเต็กซ์ มีประสบการณ์อะไรในชีวิต ซึ่งคนอ่านคนไทยไม่รู้ เป็นเชิงอรรถที่ครูค้นเองทั้งหมด เพื่อจะบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นในปีนั้นๆ แซ็งเต็กซ์ไปเจออะไรบ้าง และทำไมถึงเขียนแบบนี้

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องญาติพี่น้องของแซ็งเต็กซ์จำนวนเยอะมาก ซึ่งภาษาไทยจะแปลก็ต้องใส่พี่ป้าน้าอา เพราะเขาจะเรียกชื่อเฉยๆ เช่น “ผมเจออิวอน” ก็ไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าผมเจอพี่อิวอน ป้าอิวอน น้าอิวอน ค้นเยอะเลยเพราะตระกูลพ่อและแม่แซ็งเต็กซ์สืบเชื้อสายย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 15 และชื่อฝรั่งมีไม่กี่ชื่อ เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อนักบุญ นักบุญก็มีไม่กี่คน ตอนหลังมีชื่อแปลกๆ เพราะคนแต่งงานข้ามชาติกันเยอะ แต่ชื่อฝรั่งเศสจริงๆ มีไม่กี่ชื่อ ชื่อซ้ำ พอไปค้นก็ต้องอาศัย ค.ศ. เป็นหลักว่าควรจะเป็นคนนี้ในช่วงนี้ แต่ก็สนุกนะคะที่ทำเชิงอรรถ เชิงอรรถจะอยู่ท้ายจดหมายแต่ละฉบับ

มาถึงตรงนี้ ความสุขในการแปลหนังสือสำหรับอาจารย์คืออะไร       

สำหรับครู การเรียนรู้คือความสุข เพราะเป็นอาชีพ การได้รู้จักนักเขียนแต่ละคนลุ่มลึกไปเรื่อยๆ ก็เป็นความสุข อย่างภาษาของแซ็งเต็กซ์ในที่ให้อ่านเมื่อสักครู่ ภาษาไพเราะมาก กระทั่งครูต้องเค้นสมองออกมา เชื่อไหมภาษาไทยครูดีขึ้นจากเล่ม Vol de Nuit (ฝ่ารัตติกาล) โอเค เราอาจจะสะสมจากเล่มอื่นมาทีละเล็กละน้อยด้วย

ครูเคยเขียนในเฟซบุ๊กทีหนึ่ง แล้วครูก็งงว่าเขียนไปได้อย่างไร ทำไมภาษาเราเพราะกว่าทุกที (หัวเราะ) แล้วมีคนฟีดแบ็กกลับมาว่า โอ้โหพี่ปุ๊กภาษาเพราะจัง คือเขารู้สึกเหมือนที่ครูรู้สึก เป็นเพราะนักเขียนบังคับให้เราต้องค้นหาคำ จึงเพิ่มพูนความสามารถในการเขียนของเรา ทำให้ชีวิตไม่เฉา ตอนนี้อยากอายุยืนยาวเพราะอยากแปล

ทุกเล่มที่อาจารย์แปลต้องเนี้ยบ ทุ่มเทเวลาให้มากเลย

ครูแปลหนังสือทีละเล่ม แปลหนังสือต้องรักชื่อตัวเอง อย่าทำให้ชื่อตัวเองเสียหาย ทีนี้ชื่อครูมีความเป็นอาจารย์อยู่ข้างหลังด้วย มีสถาบันด้วย เราควรจะทำสิ่งซึ่งคนรุ่นปัจจุบันบางคนอาจจะไม่เห็น แต่สำหรับครู การทำงานให้ละเอียดสมบูรณ์ยังเป็นความดีงามของสังคม

ในแง่วิธีการแปลวรรณกรรม อาจารย์คิดว่าต้องมีการปรับไปตามยุคสมัยใหม่ไหม

ถ้าเราแปลเรื่องปัจจุบัน และเขาใช้ศัพท์สแลงในต้นฉบับ เราก็เอาศัพท์สแลงไทยในปัจจุบันไปใส่ แต่ถ้าเราแปลเรื่องที่เก่ากว่านั้น เขาไม่ได้ใช้ศัพท์สแลงนั้นๆ ก็ไม่ต้องเอาภาษาปัจจุบันไปใส่ ทีนี้จะบอกว่าคนอ่านปัจจุบันไม่ชอบ อยากให้เป็นภาษาปัจจุบัน ใครจะทำก็ทำแต่ครูไม่ทำ เพราะต้นฉบับเขาไม่ได้ทำ แม้กระทั่งคำว่า ‘สน-ไม่สน’ งานที่ครูแปลในสมัยนั้นยังใช้คำว่า ‘สนใจ’ เขาสนใจหรือเปล่า ไม่ใช่เขาสนหรือเปล่า แต่หากแปลเรื่องปัจจุบันที่เพิ่งออกมาเมื่อวานซืนหรือเมื่อห้าปีที่แล้ว ครูก็จะใช้ว่า ‘สน-ไม่สน’ หรือแม้กระทั่งคำว่า ‘คุ้นเคย’ กับ ‘เคยชิน’ ครูจะไม่ใช้ว่า ‘คุ้นชิน’ เพราะคุ้นชินเป็นคำที่เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่กี่ปี เอามาผสมกันใหม่

ข้อไม่ดีของพจนานุกรมไทยคือไม่ระบุ พ.ศ. ของคำที่เกิด ถ้าเป็นของฝรั่งเศสจะบอกเลยว่าคำนี้เกิด ค.ศ. นี้ ความหมายนี้ พอมาถึง ค.ศ. นี้มีความหมายอะไรเพิ่ม คำว่า ‘คุ้นชิน’ มาก่อนครูเกษียณสัก 4-5 ปี ก็คือประมาณ 20 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้ว่ามาเมื่อไหร่

อาจารย์เป็นทั้งนักแปลและอาจารย์ด้วย ในสองสองบทบาทนี้ อาจารย์นิยามตัวเองว่าเป็นอะไรมากกว่ากัน

ก่อนเกษียณอายุราชการก็เป็นอาจารย์ งานแปลมาทำทีหลัง งานแปลเสริมงานสอน ขณะเดียวกันงานสอนที่เราต้องค้นคว้าก็ช่วยงานแปลด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นอาจารย์มาตลอด แต่หลังจากที่เกษียณอายุราชการมาแล้ว ทำงานแปลต่อ ไม่ได้ทำงานสอนแล้ว เพราะรถในกรุงเทพฯ ติด ไม่อยากเดินทางไปสอน (หัวเราะ)

ตอนนี้ถามว่าตัวเองทำอะไรก็ทำงานแปล แต่ถ้าถามว่าตัวเองเป็นอะไร เป็นอาจารย์ค่ะ ทำงานแปลต่อมา 15 ปีแล้วหลังจากเกษียณ และยังหวังจะทำต่อไปเรื่อยๆ ระหว่างทำงานแปลก็คิดตลอดเวลาว่าตัวเป็นอาจารย์ ต้องรักษาชื่อ ไม่ใช่แค่ชื่อวัลยา วิวัฒน์ศร แต่คือวัลยา วิวัฒน์ศรที่เคยเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นอาจารย์สไตล์ไหน

สมัยสาวๆ ดุค่ะ แต่พออายุมากขึ้น อารมณ์ดี สนุก ใจดี ตอนนั้นเป็นวัยหรืออย่างไรไม่ทราบ เราต้องไปสอนเด็กครุศาสตร์ที่เขาเรียนฝรั่งเศสด้วย ชั่วโมงแรกที่เดินเข้าไปเด็กก็อุทานออกมาเลย “โห ใช่เลย อย่างที่คิดเอาไว้” คือเป็นลักษณะอาจารย์ที่จบจากฝรั่งเศส เราก็รู้สึกดี เด็กก็มีความคาดหวังว่าจะได้อาจารย์ที่รู้จริงในภาษานั้นๆ เราก็ทำให้เด็กผิดหวังไม่ได้ ถ้าในประสบการณ์ของเราเอง อาจารย์ที่ดีเราก็ชื่นชม แต่ที่เรียนมาที่คณะอักษรฯ ก็มีอาจารย์สองคนที่รู้สึกไม่ชอบ สมัยเรายังเป็นนิสิต

อาจารย์คนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ขี้เกียจ ทั้งเทอมเรียนชีตแค่ 5 แผ่น ซึ่งควรจะได้เรียนมากกว่านั้น เพราะมันเป็นวรรณคดีสำคัญ เรื่อง À la recherche du temps perdu ของมาร์แซล พรูสต์ ที่จุ่มขนมมาเดอแลนลงไปในถ้วยกาแฟ แล้วก็นึกถึงความหลังครั้งก่อน แล้วเรื่องราวก็ตามมา เป็นนักเขียนใหญ่มากคนหนึ่ง เชื่อไหม อาจารย์ก็เอามาให้อ่านหน้าแรกนั่นน่ะ ตอนที่จุ่มขนมลงในกาแฟ แล้วกว่าอาจารย์จะเดินมาถึงห้องเรียน 15 นาที มาพร้อมกาแฟหนึ่งถ้วยแล้วก็นั่งลง ไขว่ห้าง จิบกาแฟ ให้อ่านชีต 5 หน้าทั้งเทอม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้ เราอยากได้เป็นเล่มๆ จำนวนมาก นักเขียนหลายๆ คน เราไม่ได้อะไรเลยจากอาจารย์คนนี้

พอเทอมปลายเป็นอาจารย์อำพรรณ โอตระกูลที่แปลเจ้าชายน้อยคนแรกมาสอน ก็คงรู้ว่าเพื่อนอาจารย์เป็นอย่างไร ก็ถามว่าพวกหนูเรียนอะไรกันบ้าง เป็นอย่างไร พวกเราก็ฟ้องเลย ไม่ได้เรียนอะไรเลยค่ะ โอ้โห หลังจากนั้นอาจารย์อำพรรณก็อัดให้ อัดๆๆ ซึ่งตอนนั้นเราอยากเรียน เราชอบมากที่อาจารย์อัดความรู้ทั้งหมดมาให้เรา เพราะอ่านเองก็ไม่ได้ เราเพิ่งเรียนภาษาฝรั่งเศสไม่กี่ปี เราต้องการคำอธิบายด้วย

อาจารย์อีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์คนไทย ซึ่งไม่ชอบเพราะอาจารย์เห็นแก่เปลือกนอก เปลือกนอกคืออาจารย์บอกว่าเวลาเขียนงานมาส่งครู กระดาษนี้จะต้องเว้นด้านหน้า เว้นด้านหลัง ข้างบนข้างล่าง ต้องเว้นบรรทัด เขียนตัวบรรจงให้สวยงาม ส่งงานชิ้นแรกครูก็เขียนของครูธรรมดา ได้ 5 จาก 10 ซึ่งครูอุตส่าห์เค้นสมองคิดแทบตายว่าจะเขียนว่าอย่างไร พองานชิ้นที่สอง ครูก็เว้นตามคำสั่งของอาจารย์ แล้วก็ไปลอกอะไรมาใส่ ไม่คิดเลย เชื่อไหมได้ 9 จาก 10 ก็คืออาจารย์คนนี้ไม่อ่านอะไรเลย

ตอนอาจารย์เป็นคนสอนเอง ก็สอนอัดเข้มข้นเลยไหม

เข้มมั้ง ไม่รู้ (หัวเราะ) ก็คงเข้มเพราะมีเรื่องที่อยากให้นิสิตรู้ตั้งเยอะแยะ จำได้ว่ามีคำหนึ่ง คำว่า spirit หรือ esprit ในฝรั่งเศส บอกนิสิตว่าคำในภาษาฝรั่งเศสคำหนึ่งมีหลายความหมาย เด็กก็ถามว่ามากแค่ไหน ครูก็ไปซีร็อกซ์มาให้เลย คำว่า esprit แปลได้ประมาณสี่สิบอย่าง เพื่อให้เด็กรู้แจ้งเห็นจริง

แล้วก็มีเด็กคนหนึ่งมาถามว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ดีขึ้น เด็กที่มาถามเพิ่งเรียนปีสองเทอมต้น ครูก็บอกว่าหนูไม่ต้องไปหาตัวบทใหม่เลย อย่างย่อหน้านี้ที่หนูเรียน ไปนั่งดูว่าในหนึ่งประโยคประธานอยู่ตรงไหน มีกริยาอยู่ตรงไหน ส่วนขยายอยู่ตรงไหน ทำไมเขาวางอย่างนี้ ให้หนูไปจำแนกโครงสร้างประโยคแต่ละประโยค ผ่านไปหนึ่งปี เจอเด็กคนนี้อีกทีปีสามเทอมปลาย แกเขียนเรียงความมาส่งภาษาดีมาก ก็เลยถามแกว่าไปพัฒนาภาษามาอย่างไร เด็กก็บอกว่าก็อาจารย์บอกให้หนูทำ หนูก็ทำตาม เด็กรักเรียนด้วย

ทั้งหมดนี้ความจริงเป็นประสบการณ์ส่วนตัวตอนอยู่ชั้น ม.ศ.5 เรียนเรื่อง A Tale of Two Cities เป็นหนังสือเรียนซึ่งสำหรับครูตอนนั้นมันยาก ประโยคยาวมากเลย มีประโยคซ้อน อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ครูก็มานั่งแยกประโยคเอง พอแยกได้ก็อ่านออก จึงบอกเด็กให้ทำ เด็กก็ไปทำแล้วก็ทำได้

ถ้าเราคุมวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ปริญญาเอก ซึ่งเราเต็มที่กับเด็กอยู่แล้ว หรือถ้าไปเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เด็กแต่ละคน เขาลงแรง ลงทุน ลงสมองในการทำวิทยานิพนธ์ เขาก็คาดหวังว่าอาจารย์ที่เป็นกรรมการสอบจะอ่านละเอียด และตั้งคำถามที่ฉลาดจริงและตรงประเด็น ตอนครูเป็นกรรมการสอบ ครูก็ทำงานเต็มที่ไม่มีปัญหาอะไร แต่ครูมาได้ยินทีหลังว่า มีอาจารย์บางคนตั้งคำถามแบบเลื่อนลอยมาก ไม่ลงลึกถึงแก่นถึงประเด็น อ่านหรือเปล่าก็ไม่รู้ เชื่อไหมว่าเด็กเอามาด่า เข้าใจนะเพราะเด็กเขานั่งทำวิทยานิพนธ์เป็นปี ทำแทบตาย อาจารย์ที่ตั้งคำถามยากๆ หรือตั้งคำถามให้เขาต้องตอบแล้วตรงประเด็น ถึงเขาอาจจะตอบได้ไม่ดี แต่เขา appreciate มากกว่าอาจารย์ที่ออกมาชมว่าหนูดีอย่างนั้นอย่างนี้แบบเลื่อนลอย

แก่นของการแปลหนังสือกับแก่นของการเป็นอาจารย์คือความจริงจังตั้งใจกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่

ก็ต้องรักษาชื่อของเราไงคะ นอกจากเรื่องการเป็นอาจารย์แล้ว มีอีกประเด็นเกี่ยวกับการแปลที่อยากพูดคือ นักแปลต้องไม่มีอัตตา ในความหมายที่ว่าเวลาเราแปลงาน เราควรทิ้งเอาไว้สักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ ถ้าเราตรวจแก้เลย ความเข้าใจของเราในภาษาต้นฉบับยังมีอยู่ ทำให้คิดว่าภาษาไทยที่เราเขียนสื่อความหมายตรงตามนั้น แต่ถ้าทิ้งระยะเอาไว้เจ็ดวันอย่างน้อย ยิ่งเป็นเดือนยิ่งดีจะได้จำภาษาต้นฉบับไม่ได้ ถ้ามาอ่านภาษาไทยของเราแล้วเอ๊ะว่าทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมประโยคนี้แปลกๆ เราแปลถูกหรือเปล่า ที่บอกว่าต้องไม่มีอัตตาคือทันทีที่เราเอ๊ะ เราต้องกลับไปดูต้นฉบับใหม่ แล้วดูว่าภาษาไทยของเราตรงความหมายภาษาฝรั่งเศสหรือเปล่า ถ้าไม่ตรงก็อย่าไปเสียดายคำที่เราอุตส่าห์คิดขึ้นมาแล้ว ต้องแก้ อย่าไปคิดว่าเราวิเศษ แล้วขอให้เชื่อเถอะว่าเราผิด ไม่ใช่นักประพันธ์

อาจารย์บอกว่าการแปลวรรณกรรมคือชีวิต มันเป็นชีวิตแบบไหน

ชีวิตที่มีความหมาย มีความสุขในระหว่างทำ เพราะชีวิตไม่ได้สูญเสียความหมาย ซึ่งก็น่าจะคุ้มกับการมีชีวิต

วรรณกรรมมีความหมายต่ออาจารย์อย่างไร

เอาว่าเป็นความหมายสำหรับคนทั่วๆ ไป เพราะคนที่เป็นนักเขียนนั้นเขาเป็นนักคิด และสิ่งที่เขาคิดโดยทั่วไปก็ทำให้เราฉุกคิดถ้าเรายังไม่ได้คิดแบบเขา ชีวิตคนเราก็จะมีอะไรที่ไม่ใช่ชีวิตเหี่ยวแห้งจนกระทั่งสมองฝ่อ ก็ต้องกระตุ้นให้คิด มีชีวิตชีวา ครูทำงานแปลก็ทำให้ชีวิตครูมีความหมายก่อน และทำให้ชีวิตคนที่มาอ่านอาจจะมีความหมายตาม

ถ้าอาจารย์จะฝากอะไรถึงนักแปลรุ่นหลังอยากจะบอกอะไร อะไรเป็นแก่นของการแปลวรรณกรรมที่เราควรจะยึดถือเอาไว้

บอกสั้นๆ เลยค่ะ ขอให้เขารักชื่อของเขา ถ้าเขารักชื่อของเขา เขาจะทำทุกอย่างอย่างที่ควรทำ เพราะจริงๆ แล้วนักแปลทุกคนก็อยากทำงานให้ดี เพียงแต่จะทำได้หรือไม่ได้ จะพลั้งเผลอไปตอนไหนเท่านั้นเอง


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save