fbpx
วัคซีนและเรื่องราวของสองนครา

วัคซีนและเรื่องราวของสองนครา

1.

เช้าวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวียดนามได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เป็นจำนวน 117,600 โดส ซึ่งถือเป็นการส่งมอบล็อตแรกจากสัญญาการซื้อขายวัคซีนทั้งหมด 30 ล้านโดส ที่รัฐบาลเวียดนามทำไว้กับ AstraZeneca เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เครื่องบินลำดังกล่าวได้บินมาส่งวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศไทยด้วย โดยจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลไทยได้รับเท่ากับจำนวนที่เวียดนามได้รับพอดีคือ 117,600 โดส

อนึ่ง ประเทศไทยทำสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก AstraZeneca ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีการลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ดูเสมือนว่า รัฐบาลไทยและเวียดนามมีเส้นทางการจัดหาวัคซีนที่ไม่แตกต่างกันนัก

อย่างไรก็ดี ความคล้ายคลึงของทั้งสองประเทศหยุดอยู่เพียงแค่การส่งมอบล็อตแรกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์



2.

ตั้งแต่ 8 โมงเช้าของวันจันทร์ที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เวียดนามเริ่มฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ และเมืองไฮดอง และมีแผนจะกระจายวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มฉีด AstraZeneca ล็อตแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม

นอกจากนี้ เวียดนามคาดว่าจะได้รับวัคซีนอีกราว 30 ล้านโดสผ่านทางโครงการโคแวกซ์ (COVAX) โดยจะได้รับล็อต แรกจำนวน 1.3 ล้านโดสภายในเดือนนี้  

เราคงจำกันได้ว่า ประเทศไทยได้เคยลงชื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วม COVAX ไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แต่ก็กลับลำถอนตัวจากโครงการในที่สุด ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติเคยให้เหตุผลถึงการถอนตัว โดยมีทั้งเรื่องต้นทุนที่สูง การกำหนดปริมาณขั้นต่ำที่ต้องซื้อ อีกทั้งตัววัคซีนที่เราจะได้นั้นก็เป็นตัวเดียวกันกับที่ประเทศเราได้สั่งซื้อไว้อยู่แล้ว ซึ่งก็คือวัคซีนของ AstraZeneca

เวียดนามอาจแตกต่างจากไทย ตรงที่เวียดนามถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและมีสิทธิ์รับวัคซีนจาก COVAX ในต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย แต่เวียดนามไม่ได้เกี่ยงงอนว่าจะได้รับวัคซีนจากผู้ผลิตรายใด

COVAX ช่วยให้เวียดนามสามารถจัดหาวัคซีนสำหรับประชากรได้ร้อยละ 16 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (98 ล้านคน) หรือคิดเป็นราว 15.6 ล้านคน และเมื่อรวมวัคซีนจำนวนนี้เข้ากับจำนวนที่รัฐบาลเวียดนามจัดซื้อเอง ทำให้ในที่สุด เวียดนามได้รับวัคซีนของ AstraZeneca รวมทั้งสิ้น 60 ล้านโดส

ส่วนในประเด็นการส่งมอบวัคซีน หลังจากที่เวียดนามเพิ่งได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca 117,600 โดสมาแล้ว คาดว่าเวียดนามจะได้รับล็อตต่อไปอีก 4.9 ล้านโดสภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และจะได้อีก 33 ล้านโดส (รวมทั้งจากช่องทาง COVAX และ ซื้อเอง) ในไตรมาสสาม

การมีกำหนดการส่งมอบที่ชัดเจนช่วยให้เวียดนามสามารถวางแผนการกระจายวัคซีนให้ประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และในสาขาที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งสิ้น 616,000 รายในไตรมาสแรกของปีนี้ และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มอื่นๆ รวม 1.8 ล้านคนในไตรมาสสอง ซึ่งบุคลากรในกลุ่มนี้ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศุลกากร 9,200 ราย เจ้าหน้าที่การทูต 4,080 ราย บุคลากรฝ่ายทหาร 1.03 ล้านราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 304,000 ราย และผู้มีวิชาชีพครู 550,000 ราย

เมื่อสิ้นไตรมาสที่สาม รัฐบาลตั้งเป้าที่จะให้ประชากรอีก 16 ล้านคนได้รับวัคซีน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี จำนวน 7.6 ล้านรายรวมอยู่ด้วย

วัคซีน 60 ล้านโดสที่รัฐบาลเวียดนามจัดหาได้นี้เพียงพอสำหรับหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด ดังนั้น ในช่วงนี้ รัฐบาลเวียดนามจึงเดินหน้าเจรจาหาวัคซีนเพิ่มอีกจากทั้งฝั่งอเมริกา คือวัคซีนของบริษัทโมเดิร์นนา (Moderna) และจากฝั่งรัสเซีย คือสปุตนิก วี (Sputnik V) และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สาธารณสุขเวียดนามได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ไปแล้ว

The Economist Intelligence Unit (EIU) ประมาณการว่า ภายในกลางปีหน้า ประชากรเวียดนามจะได้รับวัคซีนทั้งหมดร้อยละ 80 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในประเทศได้ ดังนั้นเวียดนามจะเป็นประเทศที่สองในภูมิภาค ต่อจากสิงคโปร์ที่ EIU คาดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้

ส่วนประเทศไทยเรา EIU เชื่อว่า กว่าจะกระจายวัคซีนได้แพร่หลายถึงขั้นนั้นก็น่าจะเป็นช่วงสิ้นปี 2565 เลย

ไม่เพียงแต่มาตรการการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศที่ชัดเจนและครอบคลุมเท่านั้น เวียดนามยังดำเนินการพัฒนาวัคซีนของตัวเองได้อย่างรุดหน้าอีกด้วย

วัคซีนนาโน โคแวกซ์ (Nano Covax) ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทนาโนเจน ฟาร์มาซูติคอล ไบโอเทคโนโลยี (Nanogen Pharmaceutical Biotechnology) ได้เริ่มทดลองเฟส 2 ไปแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และหากการทดลองในขั้นนี้ประสบความสำเร็จ ทางบริษัทจะขอขึ้นทะเบียนเพื่อนำมาใช้เป็นการฉุกเฉินในเดือนพฤษภาคมนี้เลย

เมื่อหันมามองวัคซีนที่ทีมแพทย์ไทยกำลังพัฒนาอยู่นั้น ข่าวระบุเพียงแค่ว่า กำลังจะเริ่มทดลองเฟสแรกในเดือนนี้

ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนไม่เพียงมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการป้องกันโรคระบาด แต่ยังมีนัยต่อภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย โดยนักรัฐศาสตร์ต่างมองว่า ขณะนี้ จีนกำลังใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือแผ่อำนาจ สร้างอิทธิพลต่อนานาประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่จีนส่งวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ให้บรูไนและสิงคโปร์ใช้ฟรีๆ และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนจากจีน ไม่ว่าจะเป็นจาก Sinovac หรือซิโนฟาร์ม (Sinopharm)

สำหรับเวียดนามแล้ว วัคซีน Nano Covax จึงเป็นทั้งภูมิคุ้มกันโรคและภูมิคุ้มกันการตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนในเวลาเดียวกัน



3.

เวียดนามตั้งเป้าว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลไทยวางแผนไว้

เป็นที่ทราบกันดีว่า รายได้จากการท่องเที่ยวมีความสำคัญยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ดังจะเห็นได้จากการหดหายของนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้ผลผลิตมวลรวม (GDP) ประเทศไทยหดตัวลงไปถึงร้อยละ 6.1

นักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่า ผลผลิตมวลรวมของไทยจะไม่สามารถกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้ จนกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยดังที่เคย นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต่างก็ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยิ่งรัฐบาลสามารถกระจายวัคซีนได้มากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วเท่าใด เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นกลับมาโตดังเดิมเร็วขึ้นเท่านั้น

และจากการคาดการณ์ของ EIU ประเทศไทยก็คงต้องรอถึงสิ้นปี 2565 กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาโตเหมือนเดิม

วันนี้รายได้เฉลี่ยของคนไทยสูงกว่าคนเวียดนามถึง 3 เท่าตัว โดยรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของไทยอยู่ที่ 6,501.6 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ของเวียดนามอยู่ที่ 2,082.2  เหรียญ (ข้อมูลจากธนาคารโลก โดยเปรียบเทียบรายได้ต่างสกุลเงินด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่คงมูลค่าดอลลาร์สหรัฐไว้ที่ปี 2553)

แต่ในขณะเดียวกัน เวียดนามมีอัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวสูงกว่าประเทศไทยตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ยของอัตราเติบโตของรายได้ต่อหัวช่วงปี 2556-2562 ของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 5.37 ต่อปี ในขณะที่ของไทยอยู่เพียงแค่ ร้อยละ 2.6 ต่อปี



หากรายได้ของคนไทยและคนเวียดนามเติบโตต่อไปในอัตราเฉลี่ยดังกล่าว คนไทยต้องใช้เวลาราว 27 ปี เพื่อที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากตอนนี้ ขณะที่คนเวียดนามจะใช้เวลาเพียงแค่ 13 ปี และคาดได้ว่าเวียดนามจะมีรายได้ต่อหัวเท่ากับไทยภายในทศวรรษหน้านี้

และหากนำการจัดหาวัคซีนของเวียดนามเข้ามาในสมการด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีความพร้อมที่จะทะยานออกจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ก่อนไทย ซึ่งจะส่งผลให้เวียดนามสามารถเร่งสร้างรายได้ให้เท่าทันกับไทยได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save