พัฒนาทักษะวัยแรงงาน เปิดกว้างให้ท้องถิ่น: ถอดรหัสการพัฒนาทุนมนุษย์ ในยุคที่ความรู้ไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไป

หากย้อนกลับไปราว 3-4 ทศวรรษก่อน คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่าการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ล้วนหมุนวนอยู่รอบการพัฒนาทักษะความรู้และกิจกรรมในห้องเรียน และยึดโยงอยู่กับผู้เรียนที่อยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา ทว่าเมื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาขยายขอบเขตไปไกลกว่าความรู้และทักษะที่สอนในห้องเรียน เป้าหมายไม่ใช่แค่เติมความรู้ทางวิชาการให้เข้มข้น แต่มุ่งเติมคนให้เต็มด้วยทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังขยายขอบเขตไปถึงประชากรกลุ่มที่นอกเหนือจากวัยเรียนในสถาบันการศึกษาอีกด้วย

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด โจทย์ของการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนและนักเรียนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาในระบบ แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ (foundation skill) รวมไปถึงโจทย์ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่โอบรับประชากรทุกเพศทุกวัยเข้ามาในพื้นที่ของการเรียนรู้

แนวทางที่กำลังได้รับความสนใจเพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ของยุคสมัยคือการเสริมบทบาทให้ ‘ท้องถิ่นและจังหวัด’ เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ เพราะคนที่ทำงานในระดับพื้นที่คือคนที่เข้าใจบริบทในพื้นที่นั้นๆ ได้ดีที่สุด จึงสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

แต่โจทย์สำคัญมีอยู่ว่า พื้นที่และจังหวัดจะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ได้อย่างไร เมื่อการพัฒนาทักษะเหล่านี้ถูกดำเนินการโดยส่วนกลางเป็นหลักมาโดยตลอด

101 ชวนอ่านสรุปความบางส่วนจากการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติ “ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่: การพัฒนาพื้นฐานทักษะและบทบาทในระดับจังหวัด” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมทำความเข้าใจการพัฒนาทักษะพื้นฐานทุนมนุษย์ให้มากขึ้น และถอดบทเรียนพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์อย่างครอบคลุมและยั่งยืนโดยมีท้องถิ่นเป็นผู้นำ

มองโจทย์ใหญ่ประชากรวัยแรงงาน – ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

เพื่อฉายให้เห็นภาพทิศทางเวทีเสวนาในวันนี้ชัดขึ้น ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. อธิบายว่า เรากำลังมองโจทย์เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ ของประชากรวัยแรงงาน ที่ตอบโจทย์ ‘จังหวัดและพื้นที่’

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานนอกระบบมากกว่า 20.2 ล้านคน และส่วนใหญ่จบการศึกษาไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประชากร 67% เป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งฝีมือ ซึ่งยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีปัญหาด้านความคุ้มครองทางสังคม” จึงนำมาสู่โจทย์ใหญ่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ในจังหวัดและพื้นที่

ขณะเดียวกัน เมื่อขยับจากกลุ่มประชากรวัยแรงงานมาโฟกัสที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ธันว์ธิดาอ้างอิงถึงงานวิจัยที่ยูนิเซฟ (UNICEF) ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาที่น่ากังวลว่า ไทยมีจำนวนเยาวชนที่ ‘ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม’ หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม NEETs สูงถึง 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมด อีกทั้งกลุ่ม NEETs ยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1%

เมื่อเป็นเช่นนี้ ธันว์ธิดาจึงชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะเยาวชนที่อยู่นอกรั้วสถาบันการศึกษาและพร้อมที่จะทำงาน แต่โจทย์สำคัญที่ควรช่วยกันขบคิดคือ ต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ได้

“โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนและไม่สามารถให้หน่วยงานเดียวทำได้ แต่เราต้องดึงภาคส่วนอื่นมาร่วมด้วย โดยเฉพาะในระดับจังหวัดและพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรจำนวนมากและเอื้อให้เราทำงานร่วมกันได้ รวมถึงหน่วยงานระดับระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก (World Bank)”

“สถานการณ์เกี่ยวกับเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในระดับจังหวัดและพื้นที่เป็นโจทย์ร่วมและมีความซับซ้อน เราต้องช่วยกันหาทางแก้ว่าจะช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ให้ออกจากการตกหลุมทางการศึกษาและทักษะอย่างไร” ธันว์ธิดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านบทเรียนการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ผ่านสายตาธนาคารโลก – โคจิ มิยะโมโตะ

“ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานประมาณ 50% ที่ไม่ใช้ทักษะทางดิจิทัลเลย และมีอีกประมาณ 18% ที่ใช้ทักษะดิจิทัลพื้นฐานเท่านั้น”

โคจิ มิยะโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก อ้างอิงถึงผลการสำรวจจากแอมะซอน (Amazon) และแกลลัพ (Gallup) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยทำการสำรวจประเทศต่างๆ 19 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และไทย

“ถ้าเราไปสอบถามคนในตลาดแรงงานว่าพวกเขาทำงานอะไรบ้าง เราจะพบว่ามีคนจำนวนไม่มากที่ต้องใช้ทักษะดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของทุนมนุษย์ นี่จึงหมายความว่านายจ้างไม่ต้องการทักษะดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เลย”

แต่ในทางกลับกัน ผลสำรวจกลับชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้นายจ้างอาจไม่ต้องการทักษะดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตหรือสร้างนวัตกรรม ทว่าพวกเขากลับเห็นว่าการขาดทักษะดิจิทัลของแรงงานเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการขาดทักษะด้านอื่นๆ อาทิ ทักษะการสื่อสารและการวิเคราะห์-วิพากษ์ ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ทั้งสิ้น

“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า ‘ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์’ เป็นคำที่มีนิยามหลากหลายมาก แต่ถ้าให้สรุป ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์เป็นทักษะพื้นฐานและมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป สามารถพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ จากพื้นฐาน และสามารถถ่ายทอดได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากในการนำไปใช้ในบริบทต่างๆ ของชีวิต”

“ถ้าลงลึกไปอีก ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์มีหลายองค์ประกอบ แต่หลักๆ คือทักษะด้านดิจิทัล คือมีความสามารถในการจัดการ เข้าใจ และประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ ทักษะการรู้หนังสือ ซึ่งต้องไม่ใช่แค่อ่านรู้เรื่อง แต่คือการนำเอาข้อมูลที่ได้รับหรือได้อ่านไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะมีหลายแง่มุม หลายมิติ เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ตนเองและ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ รวมไปถึงการสำรวจแง่มุมใหม่ๆ และโลกใบใหม่เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ”

โคจิอธิบายต่อว่า สามทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่สำคัญมาก มีผลการศึกษาที่บอกว่าทักษะดังกล่าวสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน มีผลต่อการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลผลิตของแรงงานในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

“อีกแง่มุมหนึ่งที่อาจคิดไม่ถึงคือ ทักษะเหล่านี้ยังมีผลทางสังคม เช่น ด้านสุขภาพ เพราะคนที่รู้หนังสือจะมีความสามารถมากขึ้นในการเข้าใจปัญหาสุขภาพตนเอง และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างถูกต้อง”

ทั้งนี้ โคจิอธิบายเพิ่มว่า ทักษะดังกล่าวยังถือเป็นตัวขับเคลื่อนความเป็นพลเมืองของแต่ละคน ทั้งการลงคะแนนเลือกตั้งหรือการทำงานอาสาสมัคร เมื่อทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์มีความสำคัญเช่นนี้ คำถามต่อมาที่สำคัญคือ ทักษะดังกล่าวสามารถได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมให้ดีขึ้นได้ไหม?

คำตอบของโคจิคือ ‘ได้’ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า มีวิธีมากมายที่จะเพิ่มพูนทักษะดังกล่าว ทั้งการศึกษา การฝึกอบรมพื้นฐานในช่วงการเรียนต่างๆ รวมถึงการฝึกฝนในกิจกรรมตามหลักสูตรและนอกหลักสูตร ขณะที่ประชากรวัยแรงงานสามารถฟื้นฟูทักษะดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาตลอดชีวิตและการอบรมต่างๆ ทั้งโครงการอบรมแบบในระบบและนอกระบบ

อีกประเด็นสำคัญคือ เมื่อขยับจุดเน้นลงมาที่ระดับจังหวัดและเมือง ผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่นจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาหรือสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดีได้อย่างไร โดยโคจิเสนอแนวทางไว้ ดังนี้

ข้อแรก คือการมีมาตรฐานการเรียนรู้ ข้อที่สอง คือการปรับปรุงหรือนำหลักสูตรใหม่ๆ เข้ามา รวมถึงกิจกรรมนอกหลักสูตรการศึกษา และข้อสุดท้าย คือ การปรับปรุงรวมถึงเสริมสร้างสมรรถนะของครูในการส่งมอบทักษะต่างๆ โดยต้องมีมาตรฐานการเรียนรู้และมาตรฐานของครู

“มาตรฐานที่ว่าเป็นการระบุว่า สิ่งที่นักเรียนควรจะรู้และทำได้คืออะไร ซึ่งต้องมาพร้อมตัวชี้วัดและเกณฑ์การวัด เป็นการนำทางให้ครูในการบ่มเพาะการเรียนรู้ทักษะต่างๆ สร้างพลังการพัฒนาตลอดเส้นทางการศึกษา”

โคจิเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้คือ ‘ความสม่ำเสมอ’ ตลอดเส้นทางการเรียนรู้ รวมถึงความเชื่อมโยงและสอดประสานกับการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ด้วย

“อีกหัวใจสำคัญคือคุณครู ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ การพัฒนาศักยภาพของครูเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาการเรียนรู้ในระบบท้องถิ่น แต่ถ้าเราดูผลการสำรวจจากทั่วโลก ครูมักสะท้อนว่าตนเองไม่ค่อยมีโอกาสหรือได้รับการฝึกอบรมความรู้ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์มากเพียงพอ”

โคจิกล่าวสรุปว่า “ฝั่งหนึ่งมีความคาดหวังกับครูมากๆ ขณะที่ฝั่งครูก็มองว่าตนเองไม่มีศักยภาพ ความรู้ และทักษะที่เพียงพอ” ดังนั้น การฝึกทักษะให้ครูจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เช่น มลรัฐโคลัมเบียของสหรัฐฯ ที่ได้นำเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดคุณวุฒิการสอนของครู หรือฟิลิปปินส์ที่ถือว่าความสามารถในการสอนทักษะศตวรรษที่ 21 เป็นมาตรฐานวิชาชีพครู ขณะที่ในสิงคโปร์ได้นำแนวทางการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experimental learning) มาใช้ในการฝึกอบรมครูก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ขณะที่อีกหนึ่งองค์ประกอบในการเพิ่มพูนศักยภาพครูในการสอนทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์คือ ‘ทัศนคติและบรรทัดฐาน’ ของครูที่มีต่อการสอน เนื่องจากครูบางคนจะมองว่าภาระงานของตนเองมากเกินไปสำหรับการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ รวมถึงการให้เครื่องมือแนะแนวต่างๆ เพื่อให้ครูสามารถสอนทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ผสมผสานกับหลักสูตรการศึกษาได้

ในตอนท้าย โคจิขมวดประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ทำไมทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ถึงมีความสำคัญในระดับจังหวัดและเมือง

“ฝ่ายปกครองหรือรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ที่สามารถสร้างความแตกต่างในการเสริมพลังให้ครูและนักเรียนในการเรียนรู้ต่างๆ ได้” โคจิกล่าว พร้อมทั้งอธิบายเสริมว่า “ฝ่ายปกครองในท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการปรับและใช้ประโยชน์จากโครงการการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของท้องที่ และออกนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของท้องที่ได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น สิงคโปร์ ที่มีประชากรน้อย แต่มีระบบการเรียนรู้และฝึกอบรมที่น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นตัวผลักดันหลักของสิงคโปร์”

โคจิกล่าวทิ้งท้ายว่าประเทศไทยมีเมืองที่อยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ดีในการผลักดันการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่ และยังเป็นแหล่งพัฒนาระบบนิเวศการเรียนได้ นอกจาก ยังมีโครงการนำร่องมากมายที่เน้นในระดับพื้นที่และจังหวัด แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะใช้เพิ่มพูนประโยชน์ในงานด้านการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ได้

ถอดบทเรียน 4 จังหวัด – รากฐานการพัฒนาพื้นฐานทักษะทุนมนุษย์ สู่การพัฒนาประเทศไทย

1. พัฒนา ‘ลำปาง’ ด้วยการประสานกันจากทุกภาคส่วน

ในฐานะของคนที่คร่ำหวอดในวงการการศึกษา วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า การมุ่งพัฒนาการศึกษาควรเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ล้วนแต่เป็นทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ วิยดายังฉายภาพให้เห็นว่า แนวโน้มการจัดการศึกษาในช่วงแรกมุ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 และพิจารณาความต้องการแรงงานร่วมด้วย ปัจจุบันการศึกษาในระบบมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี อีกทั้งยังมีการกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของโคจิในเรื่องการจัดมาตรฐานการเรียนรู้

“แต่ละระดับมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น ระดับปฐมวัยจะเน้นเรื่องพัฒนาการสมวัย แต่ยังไม่เน้นเรื่องการอ่านหรือการเขียน ส่วนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาจะเน้นเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดูได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้มีจังหวัดนวัตกรรมนำร่อง และมีแนวโน้มขยายการดำเนินการเรื่องนี้ออกไปทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ดี วิยดาชี้ให้เห็นความท้าทายในระดับอุดมศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ กล่าวคือต้องมีการประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการ จัดทำหลักสูตรที่บูรณาการการทำงานกับการเรียนการสอน (work-integrated learning) โดยอาจส่งผู้เรียนออกไปฝึกประสบการณ์กับผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาส่วนอื่นๆ

เมื่อขยับภาพลงมาที่จังหวัดลำปาง วิยดาชี้ให้เห็นว่า ลำปางมีภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันเป็นสมัชชาการศึกษานครลำปางซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน ทั้งภาคราชการและผู้เกษียณอายุราชการ หรือหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำโครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางในฐานะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ประสานทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันโดยใช้ข้อมูลสารสนเทศของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา

“ข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยคือบุคลากรด้านการศึกษาเป็นศิษย์เก่าของเรา และเราจะรู้จักคนในแวดวงการศึกษาในจังหวัดทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเราขอความอนุเคราะห์ในนามมหาวิทยาลัยออกไป ทุกคนก็พร้อมที่จะมาร่วมมือกันหมด”

อีกหนึ่งจุดเด่นคือการใช้ฐานข้อมูล ปัจจุบันฐานข้อมูลหลักที่เก็บรวบรวมข้อมูลเด็กและเยาวชนอยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัดลำปาง วิยดาเน้นย้ำว่า การทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ต้องไม่ใช่การเพิ่มภาระงาน แต่เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เสมือนเป็นหนึ่งโซ่เชื่อมต่อข้อมูลที่กำลังกระจัดกระจายอยู่

“ตอนนี้ เรามีโครงการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education Management Information System: ABE) ที่ กสศ. เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งช่วยให้เราเชื่อมโยงฐานข้อมูลโดยยึดของศึกษาธิการจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งเพิ่มส่วนอื่นๆ เข้าไป แต่เราต้องหาตัวชี้วัดที่จะช่วยคัดกรองและเก็บรวบรวมข้อมูลในตัวระบบฐานข้อมูล ซึ่งอันนี้น่าจะได้ประโยชน์และทำให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ด้วย” วิยดาทิ้งท้าย

2. ขับเคลื่อน ‘ปัตตานี’ ด้วยวิถีที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัด

ขยับมาที่จังหวัดใหญ่ในภาคใต้อย่างปัตตานี เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ชี้ให้เห็นว่าปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนอยู่มาก ทั้งต้นทุนทางสังคม ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือทางปัญญา แต่ยังไม่มีใครนำต้นทุนเหล่านี้มาบริหารจัดการให้เกิดมูลค่าและรายได้ต่อจังหวัด

“ประเด็นที่น่าขบคิดคือ เรามีคนที่จบออกมาว่างงานจำนวนค่อนข้างเยอะ แต่ทำไมเรายังไม่สามารถดึงคนกลุ่มนี้มาช่วยจัดการทรัพยากรในจังหวัดได้ ยังไม่นับว่ามีเยาวชนที่ต้องออกนอกระบบโดยต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ความยากจน อีกด้วย”

เศรษฐ์กล่าวว่า อบจ. ปัตตานี ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนไม่มีงานทำและต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน จึงเป็นที่มาของการวางแผนการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา จัดระบบให้เด็กจบออกมามีงานทำ

“เราต้องไปดูทรัพยากรต้นทุนของจังหวัดว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้รับการจัดการ เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป เราต้องค้นหาตัวตน ต้นทุน และทักษะความสามารถของเด็ก โดยร่วมมือกับผู้ปกครองและส่งไม้ต่อให้ผู้จัดการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น ดูว่าเขามีจุดเด่นตรงไหนและสนับสนุนในเรื่องนั้น”

ในฐานะของคนที่คลุกคลีกับพื้นที่ เศรษฐ์ชี้ให้เห็นปัญหาคลาสสิก ‘อยากให้ลูกรับราชการ’ ที่ผู้ปกครองจำนวนมากต้องการให้บุตรหลานของตนรับราชการ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานีที่มีตัวชี้วัดด้านคุณภาพการศึกษาที่อยู่ในเกรดต่ำมาก จึงเป็นหน้าที่ของคนทำงานในการเปลี่ยนวิธีคิด

“เราเห็นแล้วว่าเด็กต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน หรือแม้แต่เข้าระบบไม่ได้ตั้งแต่แรกเพราะความยากจน เราจึงต้องพยายามแก้ปัญหาโดยดูว่าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาที่ตรงไหน และหานวัตกรรมรวมถึงวิธีการในการช่วยเหลือและดึงเขาเข้าสู่ระบบ ขณะที่กลุ่มเด็กจบออกมาแล้วเราก็หาแผนงานสร้างรายได้ให้กับเขา”

ทราบกันดีว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะด้านข้อมูลที่เป็นลักษณะ ‘เบี้ยหัวแตก’ ต่างหน่วยงานต่างถือข้อมูลของตนเองและไม่ได้เชื่อมโยงเป็นข้อมูลเดียวกัน เศรษฐ์จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการหาเจ้าภาพแก้ปัญหาเรื่องนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่อาจเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่คือ เรื่องศาสนา ซึ่งทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีระบบการศึกษาที่แตกต่างจากที่อื่น กล่าวคือมีทั้งการศึกษาในระบบสามัญและการศึกษาเกี่ยวกับศาสนา มีโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนามากพอๆ กับโรงเรียนรัฐ เพราะฉะนั้น เด็กจะต้องเรียนหลักสูตรทั้งด้านศาสนาและสามัญ การที่จะเน้นหลักสูตรสามัญเพียงอย่างเดียวจะกระทบความเชื่อและความศรัทธาเรื่องศาสนาของผู้ปกครอง และนำไปสู่ข้อจำกัดด้านคุณภาพการศึกษา

“เราเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้มีการเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านวิชาการออกมาในรูปแบบแผนงานโครงการเพื่อเพิ่มทักษะด้านวิชาการให้เด็กเข้าถึงวิชาความรู้ และสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครองกับเด็กได้”

ในระดับพื้นที่ มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับเด็กยากจน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของทุกภาคีเครือข่าย และในแต่ละปีจะมีการบริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าว เศรษฐ์ขยายความว่ากองทุนนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะศาสนา “เรามีพี่น้องมุสลิมในพื้นที่มากถึง 85% และหลักการของศาสนาอิสลามคือจำเป็นต้องบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและเพื่อการศึกษา แต่กองทุนนี้ยังเป็นการบริจาคช่วยเหลือแบบปีต่อปี จึงไม่ได้ยั่งยืนขนาดนั้น” เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานได้อย่างยั่งยืน เศรษฐ์เน้นย้ำว่าต้องมีกองทุนเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ประชาชนมีความมั่นคงขึ้นมาได้ด้วย

ขยับขึ้นมาในระดับจังหวัด เศรษฐ์กล่าวว่า จังหวัดมีภารกิจหน้าที่ครอบคลุมเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำลังจัดทำศูนย์ข้อมูลภาพรวมของจังหวัด โดยใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนมาอยู่กับทาง อบจ. ซึ่ง อบจ. จะพยายามรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลกลางและขับเคลื่อนแก้ปัญหาในทุกมิติ

“ถ้าบอกว่าปัญหาคือเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นความยากจน หรือเด็กบางคนต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านจนเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้ก็มี ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลที่เราได้รับมาจากในพื้นที่ และเราใช้งบประมาณแก้ปัญหาตรงนี้”

“หน่วยงานใดที่เจอปัญหาแต่ขับเคลื่อนไม่ได้ เราจะนำมาปัญหามากำหนดในแผนงานและดำเนินการตามกระบวนการต่อไป รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลกลางเพื่อกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาต่างๆ ต่อไป” เศรษฐ์กล่าวสรุป

3. ร่วมพัฒนา ‘สภาวะแวดล้อมขอนแก่น’ ด้วยพลังภาคีเครือข่าย

“ขอนแก่นถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ ในแง่ของแผนงานกิจกรรมและแนวทางเพื่อผลิตต้นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพ ขอนแก่นถือว่ามีความพร้อมทุกอย่าง แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่จบจากขอนแก่นกลับทำงานในขอนแก่นน้อยมาก”

เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า จังหวัดขอนแก่น กล่าวนำ พร้อมทั้งอธิบายบทบาทของมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าว่ามูลนิธิฯ ถือเป็นภาคประชาสังคมที่มาประสานเรื่อง ABE ในระดับจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ภาคส่วนต่างๆ เกิดความร่วมมือกัน จนนำไปสู่ความร่วมมือกับ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที)

“บทเรียนหนึ่งที่เราได้ในการทำงานด้านการพัฒนาคือ ถ้าเรารอภาครัฐจะมีข้อจำกัดในการตัดสินใจและติดกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ ความร่วมมือกับบริษัทเอกชน (เคเคทีที) ที่จดทะเบียนเป็นกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) จึงจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วย”

เจริญลักษณ์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน เราไม่สามารถสร้างแรงงานเพื่อรองรับเศรษฐกิจแบบเก่าได้อีกต่อไป มูลนิธิฯ และเคเคทีที จึงเน้นให้ความสำคัญกับทักษะด้านดิจิทัล ผลักดันแนวคิดขอนแก่นสมาร์ทซิตี้เป็นแนวทางการพัฒนาจังหวัดในอีก 20 ปีข้างหน้า ตัวอย่างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมคือ การจัดทำแพลตฟอร์ม KGO (Knowledge Governance Token) เป็นดิจิทัลโทเคนของชาวขอนแก่น และได้มีการเชื่อมโยงไปที่กรุงเทพฯ และระยองแล้ว

“ผมว่าขอนแก่นมีต้นทุนที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ‘สภาวะแวดล้อมขอนแก่น’ ที่ผมคิดว่าเอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่ในเชิงทักษะดิจิทัล ผมเห็นภาคเอกชนขยับมาทำแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมดิจิทัลต่างๆ มากมาย ดังนั้น ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างมาก”

เมื่อขยับไปพูดถึงอีกหนึ่งทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ที่สำคัญอย่าง ‘ทักษะทางอารมณ์และสังคม’ เจริญลักษณ์มองว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการเรื่องนี้ในเชิงรุก แต่ยังเป็นการทำงานแบบแก้ปัญหาอยู่ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่น่าจะกลับมาทบทวนว่าระบบ ABE จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้อย่างไร

เจริญลักษณ์กล่าวสรุปว่า “ผมประเมินว่าทักษะดิจิทัลคือทิศทางของเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะเศรษฐกิจแบบเก่าที่ลงทุนในอุตสาหกรรมถึงทางตันไปแล้ว ตอนนี้ภาคเอกชนก็พูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) กันอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าขอนแก่นเรามีศักยภาพ ความพร้อม โดยเฉพาะแผนสมาร์ทซิตี้ที่เราจะขับเคลื่อนต่อ”

4. แนวทาง ‘3 ร่วม’ สู่การพัฒนาระยอง

หากจังหวัดใหญ่อย่างขอนแก่น รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานต้องเจอกับปัญหาแรงงานไหลออกจากจังหวัดเยอะ จังหวัดระยองซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Economic Corridor Development: EEC) ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่แรงงานจากภาคอีสานหลั่งไหลเข้ามาทำงานอย่างไม่ขาดสาย

“เราต้องเข้าใจว่านี่คือลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในพื้นที่ เพราะเดิม ระยองมีพื้นฐานทั้งภาคการเกษตร การทำประมง ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานของจังหวัด ก่อนจะโดนทุนอุตสาหกรรมเข้ามาโดยการกำหนดทิศทางจากส่วนกลาง สิ่งสำคัญคือเราต้องประสานให้ทุกภาคส่วนอยู่ด้วยกันให้ได้ต่อไป”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก สมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง สมศักดิ์ฉายภาพให้เห็นว่า การที่ระยองอยู่ในโครงการ EEC ทำให้ระยองถูกกำหนดหมุดหมายให้เป็นเมืองทันสมัยและน่าอยู่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งหมายความว่าระยองต้องเอาชนะสิงคโปร์ให้ได้ แต่ด้วยต้นทุนของระยองในปัจจุบัน สมศักดิ์มองว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายมาก

“แต่ระยองโชคดีที่มีการสนับสนุน” สมศักดิ์กล่าว พร้อมทั้งอธิบายเรื่องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด ซึ่งเริ่มจากการสอบถามผู้ประกอบการในจังหวัดว่า ต้องการแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับใด

“ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่มีวุฒิระดับ ปวช. หรือ ปวส. มากกว่า 70% แต่พอมาสำรวจว่าแล้วคนระยองอยากส่งลูกเรียนระดับไหน เกินครึ่งอยากให้ลูกจบปริญญาตรี ยังไม่นับว่านโยบายที่เกี่ยวกับ EEC พูดถึงการพัฒนาที่หลากหลาย แต่กลับพูดถึงการพัฒนาคนน้อยมาก”

ความคาดหวังที่สวนทางกับตลาดแรงงานเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาการจบมาแล้วว่างงาน ทำให้คนระยองลุกขึ้นมาตื่นตัวกับปัญหาดังกล่าว มองว่าระยองต้องมีนโยบายที่เป็นของตนเอง นำไปสู่ ‘3 ร่วม’ คือ มีความเชื่อร่วม มีแผนร่วม และการกระทำร่วม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จ

ประการแรก ‘เชื่อร่วม’ สมศักดิ์มองว่าเป็นการหาภาคีเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของระยอง มุ่งจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยให้สอดคล้องกับบริบทที่คนระยองเป็น คือมีความสมดุล เท่าทัน เท่าเทียม และทั่วถึง สมศักดิ์กล่าวเสริมว่า “เราอยากเป็นทั้งต้นแบบการพัฒนากำลังคนที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตอบโจทย์ภาครัฐที่ทำให้ระยองเป็นเมืองน่าอยู่ และเราจะตอบโจทย์ดังกล่าวด้วยการศึกษา” สมศักดิ์อ้างถึงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่สร้างคนด้วยการศึกษา ดังนั้น ระยองต้องทำให้คนระยองเชื่อว่าการศึกษาสามารถทำให้เมืองทันสมัยและน่าอยู่ได้

ประการที่สอง ‘แผนร่วม’ เป็นการเคลื่อนแผนให้สอดคล้องกับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนแต่ละช่วงวัยที่ผสมกลมกลืนกันในเมืองระยอง

“ระดับปฐมวัย เราเริ่มทำโครงการศูนย์เด็กเล็กที่รับตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงสองขวบครึ่ง เพราะศูนย์ทั่วไปรับตั้งแต่สองขวบครึ่ง โดยมี อบจ.ระยองเป็นผู้นำร่อง สำหรับวัยเรียน ระยองได้เข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มุ่งเปลี่ยนการจัดการศึกษา ถือเป็นพลังแรงบวกที่มาช่วยเราจัดการเรียนการสอน”

“วัยทำงาน ระยองมีทั้งคนระยองดั้งเดิมและคนจากที่อื่นที่เข้ามาทำงาน ดังนั้น ถ้าระยองไม่อยากเข้าสู่อุตสาหกรรม ระยองต้องเตรียมตัวรับแรงงานอพยพที่เข้ามาในพื้นที่ แต่เราก็เจอปัญหาอีกว่าแรงงานที่อพยพเข้ามายังขาดทักษะอยู่ ดังนั้น การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ต้องมุ่งไปที่การพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้ว ฟื้นฟูทักษะเดิม และเสริมสร้างทักษะใหม่”

ประการสุดท้าย ‘การกระทำร่วม’ สมศักดิ์เชื่อว่า มีคนอยากทำเรื่องการศึกษาอยู่จำนวนมาก แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำงานของตัวเองและยังหาไม่เจอ จึงต้องมีศูนย์รวมที่เป็นศูนย์ยุทธศาสตร์จังหวัดและมีตัวกลางระดับจังหวัดและการเรียนรู้ที่ระยองกำลังดำเนินการ

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ การจัดตั้งสถาบันเพื่อการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย (Rayong Intensive Learning Academy: RILA) เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และทำให้ระยองเป็นเมืองน่าอยู่และจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย

“เราค้นพบอย่างหนึ่งว่า ระยองยังเน้นเรื่องความรู้ ซึ่งไม่ได้ไปกับความต้องการของจังหวัดขนาดนั้น เราขอเรื่องทัศนคติและทักษะที่ดี เด็กคิดวิเคราะห์เป็น มีความรับผิดชอบ และทำงานเป็นทีมได้ โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะปูพื้นฐานอย่างไร เพราะแม้พื้นที่นวัตกรรมจะทำหลักสูตรการศึกษาเองได้ แต่ในพื้นที่ยังมีบริบทที่หลากหลายอยู่เลย เราเลยคิดว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือ การที่ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 มีทั้งทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัลและทักษะทางอารมณ์-สังคม”

สำหรับสมศักดิ์ เรื่องนี้เชื่อมโยงกับการปูพื้นฐานของเด็กคนหนึ่งอย่างมาก และสอดคล้องกับที่โคจินำเสนอในตอนต้นว่า หัวใจสำคัญในการสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่อยู่ที่คุณครูและกิจกรรมหลังเลิกเรียนมากกว่า

“ถ้าเราทำงานในระดับประเทศอาจจะต้องใช้งบเป็นสิบล้าน แต่ในพื้นที่อาจจะใช้งบหลักหลายแสน จะเห็นว่ามันย่อยสเกลลงไปได้เยอะและช่วยเชื่อมโยงแต่ละพื้นที่เข้าหากันได้ ผมว่าถ้าเราทำแบบนี้จะทำให้เราได้ผลสำเร็จในแง่การจัดการเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกัน ได้ทักษะอย่างที่เราต้องการ” สมศักดิ์กล่าวปิดท้าย

ก้าวแรกเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ สู่ก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาประเทศไทย

ในตอนท้าย นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวสรุปโดยเน้นย้ำความสำคัญของ 3 ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ อันได้แก่ ทักษะด้านการรู้หนังสือ ด้านดิจิทัลสกิล และด้านอารมณ์สังคม รวมไปถึงทักษะอื่นๆ อย่างการใฝ่เรียนใฝ่รู้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานในปัจจุบัน

“เราจะเห็นว่าในองค์กรหนึ่งๆ มีพนักงานที่จบปริญญามาเหมือนกัน แต่บางคนทำงานเก่ง บางคนทำงานไม่ได้เลย เพราะทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่นอกเหนือไปจากความรู้ด้วย ถ้าคุณไม่มีทักษะเหล่านี้ พอโลกหมุนไปเรื่อยๆ ความรู้ที่ได้มาจากตอนเรียนก็จะไปไม่รอดในที่สุด แต่ทักษะเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดได้เรื่อยๆ และเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในอนาคตด้วย”

ศุภกรชี้ว่าโจทย์สำคัญในตอนนี้ไม่ได้อยู่กับวัยเรียนในสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ขยับมาอยู่กับกลุ่มประชากรวัยแรงงานด้วย เพราะการพัฒนาประชากรวัยแรงงานถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้

“โจทย์สำคัญอยู่ตรงนี้ ในเมื่อเรานำประชากรวัยแรงงานกลับเข้าสู่โรงเรียนไม่ได้ เราก็ต้องหาโอกาสให้คนทำงานอยู่มีโอกาสเรียนรู้โดยไม่ต้องกลับเข้าสู่รั้วสถาบันการศึกษา หรือสร้างระบบนิเวศให้คนอยากเรียนสามารถเรียนรู้ได้แม้ยังทำงานอยู่”

ศุภกรยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม SkillsFuture จากสิงคโปร์ ที่เปิดโอกาสให้คนแต่ละกลุ่มเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่กลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาและเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนที่ทำงานใหม่ๆ และสอนวิธีการปรับตัวในการทำงาน กลุ่มที่ทำงานมาแล้วประมาณ 10-20 ปีที่จำเป็นพัฒนาความรู้ทักษะของตนเอง กลุ่มผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวถือว่าช่วยสร้างกำลังแรงงานให้สิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี

“ถ้าเรารอส่วนกลางมาจัดการปัญหานี้ก็คงเห็นผลช้า เลยอยากเชิญชวนจังหวัดมาร่วมเป็นเจ้าภาพดูแลคนในจังหวัดเอง ยิ่งถ้าเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือส่วนจังหวัดที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพ และเป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขด้วย นี่เป็นทั้งรางวัล ความก้าวหน้า และความรับผิดชอบซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนจะได้รับ”

ทั้งนี้ ศุภกรเน้นย้ำว่า สิ่งที่ทำต้องไม่ใช่การสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ แต่ต้องวางแผนและให้หน่วยงานที่ยังต่างคนต่างทำงานมาแบ่งปันข้อมูล รวมถึงมีแผน มีความเชื่อ และมีเป้าหมายร่วมกัน และทั้งหมดต้องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของจังหวัดด้วย

ขณะที่ในตอนท้าย พัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ฉายภาพให้เห็นการดำเนินการต่อไป ซึ่งจะมีการทำงานต่อเนื่องเป็นเอกสารทางวิชาการ และการทำงานกับทีมธนาคารโลกที่จะค้นหาเด็กยากจนที่อยากเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา ทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะทางอารมณ์สังคม และทักษะการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าวต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save