fbpx

เพราะทุกพื้นที่ควรเป็นแหล่งเรียนรู้ – ถอดรหัสการสร้าง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ เพื่อก้าวไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเรียนรู้คือรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงในข้อนี้ เพราะทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดที่จะใช้พัฒนาและต่อยอดไปสู่อนาคต จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ ประเทศมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นพัฒนาและต่อยอดคน รวมถึงส่งเสริมระบบนิเวศโดยรอบให้เอื้อต่อการศึกษาและฟูมฟักพลเมืองของตน

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่ยังมีพื้นที่มากมายที่สามารถกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด ทุกพื้นที่ควรเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่มีประเด็นเกิดใหม่และมีเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการพัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้ (learning space) ที่โอบรับคนทุกกลุ่มให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันด้วย

และเพื่อให้สอดรับกับกระแสการเรียนรู้ที่พัฒนาไป นักการศึกษาจึงเริ่มพูดถึงแนวคิด ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ โดยมองเมืองในฐานะที่อยู่อาศัยและรองรับกระแสการไหลเวียนหมุนเปลี่ยนของพลเมือง รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและเป็นหม้อที่หลอมรวมคนจากต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างอายุและช่วงวัย เข้าไว้ด้วยกัน

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราอาจมองเมืองเสมือนว่าเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ทอดยาวไปไม่รู้จบ ดูดซึมต้นทุนทุกอย่างที่ประกอบกันเข้ามาเป็นเมืองและโอบรับพลเมืองเอาไว้ให้ใช้ต้นทุนเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่ได้จบลงแค่ในห้องเรียนหรือในพื้นที่เรียนรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ความสำคัญของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ยังถูกตระหนักถึงในระดับโลก โดยองค์การยูเนสโกได้จัดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Global Network of Learning Cities: GNLC) ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงมีระบบสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเครือข่ายการทำงานในระดับนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยเมืองจากทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทย

สอดคล้องกับในระดับโลก ไทยยังสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี เมืองแห่งการเรียนรู้ยังมีอีกหลายแง่มุมให้ศึกษาและพัฒนา กล่าวคือ ‘ท้องถิ่น’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองจะสามารถเข้ามามีบทบาทในการสร้างคนและสร้างเมืองได้อย่างไร รวมไปถึงคำถามสำคัญอย่างเรื่องที่ว่าเราจะพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่หนทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร

ชวนหาคำตอบและหนทางการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ ในบรรทัดถัดจากนี้

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงานเสวนา เวที “LEARNING CITY ร่วมก้าวไปสู่เมืองเเห่งการเรียนรู้” จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เมืองแห่งการเรียนรู้คือเมืองที่มีปั๊มน้ำมันเยอะ – วุฒิสาร ตันไชย

สำหรับ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำมองว่า การเปลี่ยนแปลงของประเทศจะต้องมี 4 ความเชื่อหลัก ซึ่งความเชื่อประการแรกซึ่งเป็นจุดตั้งต้นคือเรื่องของการศึกษา

“การที่คนมีความรู้คือกลไกที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ ยกระดับคน และแก้ปัญหารากฐานของประเทศ แต่น่าเสียดายที่ในช่วงเลือกตั้งนี้ คนพูดประเด็นเรื่องการศึกษากันน้อยมาก”

วุฒิสารเน้นย้ำอีกครั้งว่า “ถ้าเราทำระบบการศึกษาให้ดี นั่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของการสร้างคน ทำให้เราไปที่ไหน ทางไหน ด้วยระบบอะไรก็ได้”

ประการที่สอง วุฒิสารชี้ว่าการศึกษายังมีปัญหาและความเหลื่อมล้ำอยู่จริง แม้จะมีหลักประกันด้านการศึกษาอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงระบุให้หลักประกันด้านการศึกษาจากเดิมที่เคยเป็นสิทธิประชาชนกลายเป็นหน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ในความเป็นจริง คุณภาพการศึกษายังไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของตัวระบบการศึกษาและโอกาสของคน

เมื่อพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว วุฒิสารนำไปยังความเชื่อประการที่สาม คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการสร้างโอกาสและทำระบบการศึกษาให้ดี

“ทุกคนมีโอกาสในเชิงข้อกฎหมาย แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้โอกาสนั้นได้เท่ากัน ดังนั้น การสร้างโอกาสและส่งเสริมความสามารถในการใช้โอกาสของคนแต่ละช่วงวัยในการเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

การศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การศึกษาในโรงเรียน แต่ต้องเป็นการศึกษาที่เปิดตลอดชีวิต รวมถึงเกื้อหนุนให้พลเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โอบอุ้มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมไปกับการมีกลไกพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาครู

สำหรับในแง่ของการทำระบบการศึกษาให้ดี วุฒิสารขยายความว่า ต้องเป็นการดำเนินการทั้งในตัวสถานศึกษาและสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา

“ผมไม่เชื่อเรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้วยการเขียนแผน แต่เชื่อว่าคำตอบสำคัญที่สุดอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นคานงัดของการจัดการคุณภาพการศึกษา”

ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญจึงอยู่ที่การเปิดโอกาสให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการตามศักยภาพหรือสภาพภูมิสังคม ถ้าพูดโดยย่นย่อคือ “การระเบิดการจัดการศึกษาจากข้างใน”

“เราอาจจะสร้างนวัตกรรมให้ทุกคนมาร่วมมือกัน รวมถึงสร้างให้เกิดบรรยากาศของความอยากเรียนรู้และมีแหล่งเรียนรู้มากขึ้น”

ทั้งนี้ วุฒิสารชี้ให้เห็นแนวคิดสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การแก้ปัญหาต้องไม่ใช่การเขียนกฎหมาย การใช้นโยบายแบบเดียวกันในทุกพื้นที่ หรือการสั่งการจากบนลงล่าง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีสภาพสังคมและสภาพปัญหาแตกต่างกัน การแก้ปัญหาที่ดีจึงต้องแก้ที่พื้นที่และจัดการแก้ปัญหาตามสภาพการณ์ ซึ่งวุฒิสารมองว่า ควรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่มากที่สุดและสามารถตอบสนองได้รวดเร็วที่สุด

“อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือการทำเมนูของ กสศ. ที่สร้างโอกาสในการค้นหากลุ่มเป้าหมายและค้นหาเด็กที่หลุดออกนอกระบบพร้อมทั้งให้ทุนการศึกษาเขา ซึ่งพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเองได้”

แต่ลำพังการสร้างโอกาสคงไม่เพียงพอ วุฒิสารย้ำอีกครั้งว่าเราต้องสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา หรือสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ (learning cities) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 7 เมืองทั่วประเทศไทย

“ผมขอนิยามว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ของผมคือเมืองที่มีสถานีปั๊มน้ำมันเยอะ”

วุฒิสารเปรียบเปรยพร้อมทั้งอธิบายว่า ในปัจจุบัน พลังงานที่ทำให้พาหนะขับเคลื่อนในพื้นที่มีมากกว่าน้ำมัน หรือแม้แต่น้ำมันเองก็มีหลายชนิด เปรียบได้กับศักยภาพของพื้นที่และคนในพื้นที่ที่มีความหลากหลายและต้องมีช่องทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับ ‘ชนิดน้ำมัน’ ที่ตนเองมี

“ความรู้ ปัญญา และทักษะ คือพลังงานแห่งชีวิต เป็นพลังงานที่ต้องอยู่ในสถานีให้กับคนในเมือง เราต้องเชื่อมต่อจุดแต่ละจุดเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเหมือนสถานีย่อยๆ ของการเติมพาหนะที่มีความหลากหลาย มีหลายโหมดและตอบโจทย์ได้”

การจะเติมน้ำมันให้สถานีเหล่านี้ได้ วุฒิสารเสริมว่าเราต้องเติมน้ำมันผ่าน 3 แนวทางหลัก คือการระบุกลุ่มเป้าหมาย ใส่เนื้อหาสาระให้ตอบโจทย์ และสรรหาวิธีการที่หลากหลาย

“ผมคิดว่าเมืองแห่งการเรียนรู้คือการสร้างความหลากหลายของสถานีพลังงานชีวิตหลายรูปแบบ โดยอาจจะเริ่มต้นจากมุมเล็กๆ ในความสำเร็จบางเรื่องและขยายผลออกไป นี่คือโอกาสของเราในการสร้างการเรียนรู้”

ในตอนท้าย วุฒิสารกล่าวว่า อีกสิ่งสำคัญคือการหมั่นเติมพลังงาน หรือเปรียบได้กับการสร้างความอยากรู้ของคนหรือสร้างกระบวนการที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งสัญญาณให้คนตระหนักและรับรู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ไปได้ไกลขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้สึกอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

“หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้คือการเข้าใจปรัชญาการศึกษาเพื่อปวงชน (education for all) และปวงชนเพื่อการศึกษา (all for education) และเมืองแห่งการเรียนรู้คือการสร้างระบบนิเวศของการเสริมพลังชีวิตและมนุษย์ให้ไปได้ไกลขึ้น” วุฒิสารทิ้งท้าย

จาก ‘บ้าน’ สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ – ดุริยา อมตวิวัฒน์

เพราะพื้นที่เรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่ขยายขอบเขตกว้างออกไปจนอาจถึงขั้นครอบคลุมเมืองๆ หนึ่ง ทำให้มีการจัดเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ขึ้นในระดับโลก

“เพราะโลกเปลี่ยนไปทำให้แนวคิด ‘การศึกษาตลอดชีวิต’ (lifelong learning) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีขีดจำกัด เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเกิดแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ขึ้น”

ดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ฉายภาพกว้างให้เห็น พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า แต่เดิม นักการศึกษาบางกลุ่มมองเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน แต่ด้วยบริบทในแต่ละชุมชนและวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันมาก จึงนำไปสู่แนวคิดการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตามบริบทของตนเอง และนำไปสู่เครือข่ายการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้รวมทั้งมีแนวนำทางกว้างๆ เป็นแนวทางในการเข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว

“การสร้างเครือข่ายจะช่วยสนับสนุนเร่งรัดให้มีการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมคนทุกช่วงวัย คีย์เวิร์ดสำคัญคือ คนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้”

ดุริยาอธิบายเพิ่มว่า ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้อยู่ที่ประมาณ 294 แห่ง โดยมี 7 เมืองในไทยเป็นสมาชิก อาทิ เทศบาลนครเชียงราย จังหวัดพะเยา

หากถามว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องเป็นอย่างไร ดุริยาสรุปสั้นๆ ว่า “ต้องเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์” ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เมืองแห่งการเรียนรู้ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในเมือง ครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังส่งเสริมการมีงานทำและการเป็นผู้ประกอบการด้วย

ถ้าเปรียบเทียบกับภาพสักภาพหนึ่ง ดุริยาอธิบายว่า ลักษณะของเมืองแห่งการเรียนรู้จะอธิบายได้ด้วยแผนผังรูปบ้านที่มี 3 องค์ประกอบหลัก คือหลังคา (ส่วนบน) เสาหลัก และฐาน

(ที่มา: The UNESCO Institute for Lifelong Learning (UIL))

“ส่วนบนหมายถึงฐานของการสร้างเมืองว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างเพื่อจะสร้างวัฒนธรรมให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ให้ได้ โดยมีเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) เป็นองค์ประกอบหนึ่ง เป้าหมายสุดท้ายคือการส่งเสริมให้พลเมืองมีศักยภาพตามศักยภาพของตนเอง สังคมต้องมีความเป็นปึกแผ่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและทุกคน”

ในส่วนของ ‘เสาหลัก’ หรือถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ ‘หลักของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้’ ประกอบด้วยหกเสาย่อย อาทิ การเรียนรู้ที่ต้องครอบคลุมและมีพื้นที่ให้คนทุกกลุ่ม ซึ่งอาจเริ่มจากการใช้กิจกรรมที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ การมีกิจกรรมร่วมระหว่างครอบครัวกับชุมชน มีแหล่งเรียนรู้ในสถานประกอบการ เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงการทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ขณะที่ฐานรากสำคัญที่จะทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้มีความยั่งยืนคือ ระดับผู้บริหารต้องมีข้อผูกพัน (commitment) ในการต่อยอดและสนับสนุนการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ รับฟังเสียงและความต้องการจากคนทุกกลุ่ม อีกประเด็นคือเรื่องทรัพยากรที่ต้องถูกนำมาใช้ให้เต็มศักยภาพ ทั้งคน งบประมาณ หรือทรัพยากรส่วนอื่นๆ

“ทุกภาคส่วนมีความสำคัญที่จะคงความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เอาไว้ ถ้ารากฐานมั่นคงเมืองจะพัฒนาได้ นี่จึงเป็นเรื่องแรกที่เราควรพัฒนาให้เกิดขึ้นก่อน” ดุริยาทิ้งท้าย

Learning Cities Around the World – โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์

“แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้คือเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมการเข้าศึกษาให้พลเมือง และในปัจจุบันนี้ สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาได้ขยายไปถึงเรื่องสิทธิในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว และเมืองแห่งการเรียนรู้ก็ได้เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนวาระการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น”

“เมืองมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงสถานศึกษา ผู้ให้บริการทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่โครงการ EISD ยูเนสโก (UNESCO) พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมถึงเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า ปัจจุบันมีเมืองแห่งการเรียนรู้กระจายอยู่ทั่วโลก หรือ 294 เมือง จาก 76 ประเทศ รวมถึงเมืองในประเทศไทย

ทั้งนี้ โศวิรินทร์ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาเมืองแห่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจในแต่ละด้าน ดังนี้:

ด้านการวางแผนและยุทธศาสตร์เมือง คือเมืองเฉิงตูในจีนที่มียุทธศาสตร์หลัก 6 ประการ อาทิ ฐานรากที่สำคัญซึ่งเกิดจากการตกลงของผู้นำเมืองกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โครงสร้างเมืองที่เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้ และการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้อย่างง่ายดายและไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นต้น

“ยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจคือการให้พลเมืองเดิน โดยเมืองเฉิงตูจะมีแผนที่เดินไปยังจุดเรียนรู้ต่างๆ ในเมือง ซึ่งเป็นทั้งการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับเทคโนโลยีทันสมัย”

อีกเมืองหนึ่งคือเมืองเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ ที่พยายามรวมภาคีเครือข่ายทั้งหมดเข้ามาอยู่ในกรอบของเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศในลาตินอเมริกาที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

ด้านการลงทุนที่มีงบประมาณเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โศวิรินทร์ยกตัวอย่างเมืองแกลร์มง แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ในฝรั่งเศส ที่ลงงบประมาณมากกว่าสองล้านยูโรในการทำโครงการที่สำคัญของเมือง โดยโครงการทั้งหมดต้องถูกคัดเลือกโดยพลเมืองเท่านั้น

ขยับเข้ามาใกล้ประเทศไทย โศวิรินทร์ยกตัวอย่างเมืองสุราบายา อินโดนีเซีย ที่จัดสรรงบประมาณ 30% เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยเฉพาะ รวมถึงเซี่ยงไฮ้ที่ออกกฎหมายให้ทุกบริษัทต้องมีการจัดอบรมให้พนักงานของตนเอง

ด้านการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการเรียนรู้ เมืองเปตาลิง จายา ในมาเลเซีย ที่มีแนวคิดการใช้รถบัสเพื่อรับส่งประชาชนไปยังพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะ อีกเมืองคือเมืองนัมยังจู เกาหลีใต้ ที่มีการสร้าง 1-2-3 Lifelong Learning Infrastructure ให้ประชาชน

“1 หมายถึงการมี learning lighthouse ให้ประชาชนสามารถเดินทางไปอ่านหนังสือจากบ้านได้ภายในเวลา 10 นาที 2 คือการใช้เวลาอีก 20 นาทีในการเดินไปศูนย์การเรียนรู้ และ 3 คือการใช้เวลา 30 นาทีไปยังห้องสมุดประชาชน ซึ่งตรงนี้จะช่วยเรื่องการวางแผนเมืองด้วย”

และสุดท้ายคือเมืองมาร์ราเกซของโมรอกโก ที่มีจุดเด่นตรงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการจัดหายานพาหนะให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ได้

ด้านความเสมอภาคและการรวมทุกคนให้ครอบคลุมอยู่ในเมือง โศวิรินทร์พาเรามาสำรวจเมืองในเอเชียอย่างเมืองฮวาซอง เกาหลีใต้ ที่มีการให้ทุนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนที่ยากจนในเมือง เพื่อให้เข้าถึงโอกาสการเข้าอบรมหลักสูตรดีๆ หรือหลักสูตรที่เมืองจัดหาให้ อีกทั้งยังมีโครงการสนับสนุนอื่นในเมือง อาทิ การเข้าเรียนภาคค่ำสำหรับผู้พิการ โปรแกรมสุขภาพสำหรับคนสูงวัย และการสนับสนุน SMEs สำหรับคนทำงาน

อีกเมืองที่น่าสนใจคือเมืองนิลัมบูรณ์ อินเดีย ที่เคยมีปัญหาด้านชนชั้นวรรณะ เมืองจึงพยายามเน้นให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะตามพื้นที่แหล่งเรียนรู้ต่างๆ

ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสุขภาวะ ได้แก่ เมืองดับลินจากไอร์แลนด์ ที่มีแนวคิดชัดเจนเรื่อง Healthy Dublin City ที่เน้นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก หรือเมืองบัวเก (Bouake) ในโกตดิวัวร์ (Cote d’lvoire หรือที่รู้จักกันในชื่อไอวอรีโคสต์) ที่มีการสร้างชมรมพลังงานในโรงแรมประถมเพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเมืองสีเขียวและเศรษฐกิจสีเขียวตั้งแต่ในโรงเรียน

และด้านสุดท้าย คือ ด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก โศวิรินทร์ยกตัวอย่างเมืองบันดา คามีร์ (Banda Khamir) ในอิหร่านที่มีชนกลุ่มน้อยอพยพหลายกลุ่ม แต่เมืองพยายามออกแบบให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เรืองการเป็นพลเมืองโลกและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยสร้าง social hubs ในแต่ละหมู่บ้านเพื่อจัดเวิร์กช็อป (workshop) การเรียนรู้ที่ครอบคลุมในหลายประเด็น

และสุดท้ายคือเมืองยอนซู เกาหลีใต้ ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติของเมืองแห่งการเรียนรู้ทั่วโลกในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นเมืองที่วางแผนรับมือตอนโควิด-19 แพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งให้การสนับสนุนประชาชนทุกคนในเมือง

พัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ สร้างพลเมืองให้รู้ (และ) เรียนได้ตลอดชีวิต

แม้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย หรือพูดอีกนัยคือเมืองที่รวมเอาความเจริญและโอกาสทุกอย่างเอาไว้ในแบบฉบับของประเทศที่ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง จนหลายคนเปรียบเปรยว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งโอกาส ทว่ากรุงเทพฯ กลับยังไม่ได้เป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้

นี่จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้ให้เห็น โดยศานนท์อธิบายว่า การสร้างเมืองให้มีความพร้อมรับปรับตัว (resilience) เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเป็นเมืองที่ทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

“สำหรับผม เมืองแห่งการเรียนรู้คือเมืองที่มีทรัพยากรทางความรู้อยู่มากมาย ทำให้คนในเมืองสามารถเลือกสิ่งที่สนใจและเรียนผ่านสิ่งที่สนใจได้ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียน”

ศานนท์ชี้ว่า การสร้างความตระหนักรู้ให้พลเมืองรู้ว่า แหล่งเรียนรู้อยู่ที่ไหนบ้าง เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการในเบื้องต้นแล้ว อาทิ 12 เทศกาลต่อ 12 เดือน ซึ่งเป็นการจัดเทศกาลโดยอิงจากจุดเด่นในแต่ละเดือนของกรุงเทพฯ เปิดแหล่งเรียนรู้และเปิดพื้นที่ให้พลเมืองได้แสดงศักยภาพของตนเอง

อย่างไรก็ดี เมืองใหญ่มักมาพร้อมกับปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้อย่างความเหลื่อมล้ำ ศานนท์มองว่า การทำให้เมืองมีพื้นที่การเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มทักษะได้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จึงนำไปสู่ความคิดในการปรับโรงเรียนให้เป็นที่ฝึกอาชีพด้วย

“เรามีนโยบายที่เน้นลดเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสมาตลอด หรือจะเรียกว่าเน้นไปที่เส้นเลือดฝอยเลยก็ว่าได้ แต่เรายังเจอความท้าทายอยู่บ้าง เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่ยังน้อยกว่าจำนวนประชากรเด็กเล็ก ซึ่งเรามีเป้าหมายสร้างเด็กปฐมวัยให้ดีและพร้อมส่งต่อไปสู่สถานศึกษาต่างๆ หรือการตั้งสภาคนเมืองให้เป็นหน่วยงานที่อยู่นอกชุมชน มีการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพและทบทวนหลักสูตรให้เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น ตั้งชมรมผู้สูงอายุ มีลานกีฬาต่างๆ ทำให้คนได้ออกกำลังกาย”

ทั้งนี้ ศานนท์ชี้ให้เห็นจุดแข็งข้อหนึ่งคือ กรุงเทพฯ มีภาคีเครือข่ายในระดับระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงควรเดินทางไปพร้อมทุกคน เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากมีส่วนร่วมเข้ามาร่วมทำงานได้มากขึ้น

“ผมคิดว่า การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ต้องอาศัยความอดทน เราต้องทำสิ่งเดิมที่เรารู้สึกว่าสำคัญไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง โอกาสจะเข้ามาหาเรา และความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริง” ศานนท์ทิ้งท้าย

ขยับจากกรุงเทพฯ มาสู่ภาคเหนืออย่างเมืองพะเยาที่เป็นหนึ่งในเมืองแห่งการเรียนรู้ของไทย คำถามสำคัญคือทำไมเมืองเล็กๆ จากภาคเหนือแห่งนี้ถึงสามารถเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกได้ในปีที่แล้ว

“วัฒนธรรมและประเพณีคือสิ่งที่เชื่อมเราไว้ด้วยกัน” จุฬาสินี โรจนคุณกำจร อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพะเยา ผู้ขับเคลื่อนโครงการพะเยา เมืองแห่งการเรียนรู้ กล่าวนำ พร้อมทั้งฉายภาพการดำเนินการที่น่าสนใจ เช่น การจ้างแฟนพันธุ์แท้ (อาทิ แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่หรือไอน์สไตน์) มาสอนพิเศษเด็กทุกอาทิตย์ หรือการให้ชุมชนร่วมวิจัยและหาอัตลักษณ์ของตนเอง

“เราเปิดไวไฟ (Wifi) ฟรีให้ในหลายจุด อาทิ กว๊านพะเยา หรือตามวัดและโรงเรียนเพื่อให้คนมาใช้ได้และส่งเสริมการเรียนรู้ไปในตัว”

อย่างไรก็ดี จุฬาสินีสะท้อนความท้าทายในเรื่องงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้พะเยาต้องหาทางแก้ด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วน รวมถึงการกระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกอยากเรียนรู้ ซึ่งดำเนินการด้วยการสร้างศูนย์ไว้จัดกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งการเตรียมพื้นที่เมืองเช่นนี้อาจปูทางไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ต่อไป

จากเหนือลงมาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้อีกแห่งของภาคใต้อย่างยะลา โดย พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่มุ่งพัฒนาเมืองด้วยวิสัยทัศน์ ‘สิงค์โปร์ที่สอง’ (The Second Singapore)

“สิ่งที่ผมใช้เสมอคือการสร้างเมืองให้น่าอยู่ สร้างความรู้สู่มวลชน ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป เราเพิ่มเรื่องการสร้างสังคมให้โปร่งใส และสร้างสานใจนครยะลาสู่สากลเข้าไปด้วย”

พงษ์ศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การสร้างความรู้สู่มวลชนในแง่นี้ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ผลจากการสนับสนุนด้านการศึกษาเช่นนี้เองที่ทำให้เทศบาลนครยะลาถือเป็นพื้นที่ 1 ใน 10 เมืองแรกของประเทศที่ได้รับตราเมืองอัจฉริยะ (smart city)

“ต้นทุนของยะลาคือผังเมืองที่ดีที่สุดในไทย เราพยายามรักษาต้นทุนนี้ไว้ ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาให้คำปรึกษาทางการศึกษา ผมจัดให้มีการให้คำปรึกษาเด็กนักเรียนที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แบบรายบุคคล เพื่อให้เขารู้ว่าควรเรียนอะไรจึงจะเหมาะสมกับตนเองที่สุด”

เช่นเดียวกับวิทยากรอีกหลายท่าน พงศ์ศักดิ์เน้นความสำคัญของการเสริมพลังชุมชนให้สามารถจัดการตนเองได้ นำไปสู่ความรู้สึกการเป็นเจ้าของเมืองของเมือง โดยเฉพาะกับเยาวชนที่จะเป็นผู้นำเมืองในอนาคต

“เราต้องการให้เยาวชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเมือง เราจึงกระจายอำนาจกลับไปให้เขา และนี่จะเป็นการสร้างรากฐานประชาธิปไตยที่แท้จริงเพราะเกิดขึ้นในแต่ละชุมชน ไม่ได้เกิดจากการกระจายอำนาจแบบบนลงล่าง”

เช่นเดียวกับพะเยา ยะลาเองก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกัน รวมไปถึงกฎระเบียบที่อาจไม่ได้เอื้อหรือสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ อีกประเด็นสำคัญและเป็นปัญหาที่ค่อนข้างเฉพาะของเมืองคือสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้บั่นทอนทั้งคนในเมืองและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่จะเข้ามาในพื้นที่

“ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย พวกเขาล้วนให้ค่าการศึกษาไม่ต่างกัน แต่คนจนจะยิ่งให้ค่าการศึกษาเพราะนั่นคือการหลุดพ้นวัฏจักรความยากจน และนั่นคือเป้าหมายในระยะยาว”

“เราต้องสร้างคน เหมือนที่สิงคโปร์สร้างประเทศในวันนี้ได้ด้วยการสร้างคนของเขา” พงษ์ศักดิ์ทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save