fbpx

หัวคะแนน ‘ไม่’ ธรรมชาติ : ตามล่าหา ‘ไอโอ’ ช่วงเลือกตั้ง 2566

ปรากฏการณ์ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ กลายเป็นสีสันหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปของไทยวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อบรรดาแฟนคลับพรรคการเมืองอาสาหาเสียงให้กับพรรค ใช้กระแสปากต่อปากเชิญชวนคนมาเลือกพรรคที่ตนชื่นชอบ โดยไม่ได้รับการว่าจ้างหรือจัดตั้งขึ้นมาเหมือนอย่างหัวคะแนนแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย แม้โดยเริ่มต้น คำว่าหัวคะแนนธรรมชาตินี้จะหมายถึงกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่จะว่าไปก็เด่นชัดว่าหลายพรรคการเมืองต่างก็มีหัวคะแนนธรรมชาติของตัวเอง เพียงแต่อาจมีชื่อเรียกต่างกันไป หรือบ้างก็ไม่ได้มีชื่อเรียกชัดเจน

กระแสหัวคะแนนธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้แน่นอนว่าเป็นผลพวงมาจากการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ผู้คนมีพื้นที่รวมตัวแสดงออกทางการเมืองได้อย่างง่าย ยิ่งในช่วงการเลือกตั้ง ดังเช่นที่เห็นในครั้งที่ผ่านมา บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในไทยก็เห็นได้ว่าเต็มไปด้วยข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่กองเชียร์แต่ละพรรคการเมืองต่างตั้งใจทำกันขึ้นมาเองเพื่อช่วยโปรโมตพรรคที่ตัวเองสนับสนุน และขณะเดียวกัน เราก็เห็นได้ว่าหัวคะแนนธรรมชาติแต่ละพรรคมีการตอบโต้คารมกันอย่างเผ็ดร้อน โดยที่ต่างฝ่ายต่างทำตัวเสมือนองครักษ์พิทักษ์พรรคที่ตนเชียร์ และเป็นแนวหน้าโจมตีพรรคฝั่งคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสงครามหัวคะแนนธรรมชาติของแต่ละพรรค ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหากันและกันว่า หัวคะแนนธรรมชาติของพรรคฝั่งตรงข้ามตัวเองนั้นแท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นธรรมชาติ เพราะเมื่อดูจากพฤติกรรมแล้วคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็น ‘ไอโอ’ เสียมากกว่า

ไอโอคือคำที่คนใช้โซเชียลมีเดียในไทยค่อนข้างคุ้นหู โดยมาจากคำภาษาอังกฤษ IO ซึ่งย่อมาจาก Information Operation หรือแปลเป็นไทยว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ โดยคนไทยมักคุ้นเคยกันดีในภาพของขบวนการบัญชีผู้ใช้อวตาร ที่ใช้ชื่อและภาพโปรไฟล์ปลอม คอยระดมเผยแพร่ข้อความซ้ำๆ หรือคล้ายๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อโน้มน้าวความคิดคนให้เป็นไปในทางที่ต้องการ ซึ่งโดยมากมักพบว่าไอโอมีจุดประสงค์ในทางการเมือง

เพื่อตรวจสอบว่าไอโอกองเชียร์พรรคการเมือง หรืออาจเรียกว่า หัวคะแนน ‘ไม่’ ธรรมชาติ นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และเคลื่อนไหวหรือไม่ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราเริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อความบทสนทนาในประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียสองแพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Facebook และ Twitter (ปัจจุบันคือ X) ผ่านทางเครื่องมือรวบรวมติดตามความเคลื่อนไหวบทสนทนาของทั้งสองบริษัทแพลตฟอร์มเอง ได้แก่ CrowdTangle และ Twitter API ตามลำดับ โดยเก็บข้อมูลทั้งในช่วงระยะก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง กินกรอบเวลาตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงใกล้เริ่มเปิดรับสมัครผู้ลงเลือกตั้ง ไปจนถึง 14 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบหนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง จนในที่สุดเราสามารถรวบรวมข้อความได้ทั้งสิ้น 662,000 ข้อความบน Facebook และ 5.56 ล้านข้อความบน Twitter ซึ่งเป็นข้อความที่ผลิตหรือส่งต่อมาจาก 7,325 บัญชีผู้ใช้บน Facebook และ 65,925 บัญชีผู้ใช้บน Twitter

จากข้อความทั้งหมดที่เราได้มานี้ เราทำการสแกนหากลุ่มข้อความที่ดูส่อเป็นไปได้ว่าสร้างขึ้นโดยกลุ่มบัญชีไอโอ โดยสังเกตเบื้องต้นได้ในสองรูปแบบ

รูปแบบแรกคือการสังเกตจากข้อความที่มีบัญชีผู้ใช้หลายบัญชีทำการแชร์ (share) หรือรีทวีต (retweet) เป็นจำนวนหลายครั้งในกรอบระยะเวลาสั้นๆ โดยเราตั้งเกณฑ์ไว้ว่า หากพบกลุ่มบัญชีที่แชร์หรือรีทวีตข้อความเดียวกันมากกว่า 10 ครั้งภายในเวลา 10 วินาที ถือเป็นการต้องสงสัยในเบื้องต้นได้ว่าบัญชีเหล่านี้มีพฤติกรรมร่วมมือกันในการแชร์หรือรีทวีต (co-sharing/co-retweet coordination) ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าบัญชีกลุ่มนี้มีความเป็นได้ว่าอาจเป็นไอโอในเครือข่ายเดียวกัน

รูปแบบที่สองคือการสังเกตจากข้อความที่มีบัญชีผู้ใช้หลายบัญชีโพสต์ (post) หรือทวีต (tweet) ในข้อความที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมากๆ ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยเราตั้งเกณฑ์ไว้ว่า หากพบกลุ่มบัญชีที่โพสต์หรือทวีตข้อความหนึ่งๆ มากกว่า 3 ครั้งภายในกรอบเวลาเพียง 10 วินาที ถือเป็นการต้องสงสัยในเบื้องต้นได้ว่าบัญชีเหล่านี้มีพฤติกรรมร่วมมือกันในการโพสต์หรือทวีต (co-post/co-tweet coordination) ซึ่งก็บ่งชี้ได้ว่าบัญชีกลุ่มนี้อาจเป็นไอโอในเครือข่ายเดียวกัน โดยเหตุผลที่เรากำหนดเกณฑ์จำนวนครั้งที่พบข้อความในรูปแบบนี้ไว้ต่ำกว่ารูปแบบก่อนหน้า เป็นเพราะการที่บัญชีหลายบัญชีจะโพสต์หรือทวีตข้อความที่เหมือนกันเป๊ะหรือคล้ายกันมากในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้นเป็นไปได้ยากกว่าการรีทวีตหรือแชร์พร้อมๆ กัน

โดยรวมแล้ว เราพบข้อความที่เข้าข่ายพฤติกรรมทั้งสองนี้อยู่ทั้งสิ้น 1,483 ข้อความ ซึ่งส่วนมากพบบนแพลตฟอร์ม Twitter อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าการสังเกตจากเพียงพฤติกรรมสองรูปแบบนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่าบัญชีที่เผยแพร่ข้อความเหล่านี้คือไอโอที่ทำงานร่วมกัน เช่น การที่หลายบัญชีมักรีทวีตหรือแชร์เหมือนๆ กันในช่วงเวลาใกล้กัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะการรีทวีตหรือแชร์สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่กดปุ่มใต้ข้อความเพียงเท่านั้น หรือต่อให้จะเป็นรูปแบบที่หลายบัญชีโพสต์หรือทวีตข้อความที่เหมือนกันเป๊ะในเวลาใกล้กัน ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นข้อความสั้นๆ เป็นคำเฉพาะ หรืออาจเป็นสโลแกนหาเสียงของพรรคการเมือง เช่น “กาก้าวไกล เบอร์ 31” หรือ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ก็ถือว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การจะบ่งชี้ได้ชัดเจนขึ้นว่าบัญชีเหล่านี้ต้องสงสัยว่าเป็นไอโอ จำเป็นต้องมองเจาะลึกลงไปอีกถึงพฤติกรรมและข้อมูลพื้นฐานของแต่ละบัญชีเพิ่มเติมอีกว่ามีลักษณะบางอย่างร่วมกันหรือไม่ เช่นว่า บัญชีกลุ่มนั้นสร้างขึ้นมาวันเดียวกันหรือไม่ ใช้ภาพโปรไฟล์คล้ายกันหรือเหมือนกันหรือไม่ หรือกดติดตามบัญชีเหมือนๆ กันหรือไม่ เป็นต้น หากพบลักษณะร่วมกันเหล่านี้หลายจุด ก็สามารถสรุปได้อย่างมีน้ำหนักมากขึ้นว่าบัญชีเหล่านี้อาจทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจอีกเช่นกันว่า การพบว่าบัญชีกลุ่มหนึ่งที่ส่อคล้ายว่าเป็นไอโอ มีพฤติกรรมเผยแพร่ข้อความร่วมกัน ในลักษณะที่เป็นการเชียร์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งโดยเฉพาะนั้น ก็ไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าบัญชีไอโอเหล่านี้จัดตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองนั้นๆ การจะรู้ได้ว่าใครหรือหน่วยงานไหนอยู่เบื้องหลังบัญชีเหล่านี้ที่แท้จริงจำเป็นต้องได้รับการสืบสวนอย่างลึกลงกว่านั้นอีก บทความนี้จึงเป็นเพียงการชี้ให้เห็นว่า มีบัญชีบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าเป็นไอโอทำงานปั่นกระแสให้พรรคการเมืองร่วมกันเพียงเท่านั้น โดยยังไม่อาจบอกได้ว่าใครจัดตั้งขึ้นมา

จากการสืบสวนหาพฤติกรรมการเผยแพร่ข้อความร่วมกันทั้งสองรูปแบบ ประกอบกับการวิเคราะห์หาลักษณะและข้อมูลพื้นฐานร่วมกันของแต่ละบัญชีผู้ใช้ เราพบว่ามีบัญชีอยู่ 5 กลุ่ม ที่ต้องสงสัยว่าอาจกำลังเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อพยายามโน้มน้าวชักจูงความคิดทางการเมือง รวมไปถึงการปั่นกระแสนิยมให้พรรคการเมืองบางพรรค และทั้ง 5 กลุ่มที่เราพบนั้น ก็มีทั้งกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเชียร์ลุงและไม่เอาลุง (ลุง หมายถึงอดีตนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรองนายกฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีฉายาว่า ‘ลุงตู่’ และ ‘ลุงป้อม’ ตามลำดับ)

‘ติ่งลุงป้อม’ กองเชียร์พลังประชารัฐ กับข้อความที่เหมือนกันราว copy-paste?

บัญชีกลุ่มแรกที่เราพบมีจำนวนทั้งสิ้น 10 บัญชี ซึ่งพบว่าในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการทวีตข้อความที่ซ้ำกันอยู่มากกว่า 30 ข้อความ ในแต่ละข้อความที่รีทวีตซ้ำกันนั้นมีระยะการทวีตของแต่ละบัญชีที่ห่างกันเพียงในช่วง 1-271 วินาที โดยข้อความที่ทวีตซ้ำๆ กันนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายและข่าวสารทั่วไปของพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค พลเอกประวิตร หรือลุงป้อม และยังพบว่าบัญชีเหล่านี้มักรีทวีตข้อความจากบัญชีผู้ใช้ @THE_STORY_TH ซึ่งเป็นบัญชีที่มักทวีตข่าวสารเกี่ยวกับพลเอกประวิตรอยู่ต่อเนื่อง ดังตัวอย่างในภาพที่ 1

ภาพ 1: ตัวอย่างการทวีตข้อความซ้ำๆ กันของกลุ่มบัญชีต้องสงสัย ที่มีพฤติกรรมเชียร์พลเอกประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ

หากพิจารณาให้ดี การที่หลายบัญชีจะโพสต์ข้อความขนาดยาวอย่างนี้โดยเหมือนกันเป๊ะทุกตัวอักษร และยังทวีตในเวลาที่ห่างกันเพียงหลักวินาทีหรือไม่กี่นาที ย่อมเชื่อได้ยากว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ

นอกจากการทวีตข้อความซ้ำๆ กันแล้ว เมื่อเราเข้าไปดูประวัติการทวีตข้อความของแต่ละบัญชีอย่างละเอียด ยังพบว่ามักมีการทวีตภาพอาหารแทรกอยู่ด้วยเป็นระยะ และบางครั้งก็ใช้ข้อความที่เหมือนพยายามทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นภาพที่ตนถ่ายด้วยตัวเอง โดยภาพอาหารที่โพสต์ในแต่ละบัญชีไม่ได้เป็นภาพเดียวกันก็จริงอยู่ แต่เมื่อเราค้นหาที่มาภาพเหล่านี้โดยใช้เครื่องมืออย่าง Google Reverse Image Search ก็พบว่าหลายภาพเป็นภาพที่นำมาจากแหล่งอื่นๆ เช่น Pinterest ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแหล่งรวมภาพหรือคลิปวิดีโอ คล้ายว่าบัญชีเหล่านี้กำลังพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้คนทั่วไปจับสังเกตได้ว่าเป็นบัญชีไอโอ โดยการทำตัวให้ดูเหมือนเป็นมนุษย์ทั่วไปที่ต้องมีการโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวันบ้าง และขณะเดียวกัน ภาพโปรไฟล์ของหลายบัญชี ก็ยังพบได้จาก Google Reverse Image Search ว่านำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ เช่นกัน

ภาพ 2: ตัวอย่างการทวีตภาพอาหารแทรกสลับกับทวีตเชียร์พลเอกประวิตรและพรรคพลังประชารัฐของกลุ่มบัญชีต้องสงสัย โดยแต่ละคอลัมน์ (แนวตั้ง) คือประวัติการเคลื่อนไหวบน Twitter ของหนึ่งบัญชีผู้ใช้ ซึ่งในภาพนี้แสดงประวัติให้เห็นอยู่ทั้งสิ้น 3 บัญชีผู้ใช้

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพบกลุ่มบัญชีที่ต้องสงสัยว่าเป็นไอโอที่เคลื่อนไหวสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประวิตร เพราะย้อนไปในเดือนพฤษภาคม 2565 ทาง 101 ก็เคยสืบสวนพบเครือข่ายไอโอสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาโลดแล่นหาเสียงให้ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ บางคน ก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึงในวันที่ 22 พฤษภาคมของปีนั้น โดยเราพบว่าบางบัญชีผู้ใช้ที่เราเจอในการสืบสวนครั้งนี้ก็คือบัญชีเดียวกับที่พบในตอนนั้น โดยเฉพาะในเครือข่ายสุดท้ายที่มีจำนวน 14 บัญชี เช่นบัญชี @laaaaaalita และ @NipadaF จึงเห็นได้ว่าบัญชีเหล่านี้ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ภาพ 3: ตัวอย่างภาพโปรไฟล์ของบัญชีต้องสงสัย ที่พบว่านำภาพมาจากแหล่งอื่น โดยด้านขวาคือภาพโปรไฟล์ที่ใช้ ขณะที่ด้านซ้ายคือแหล่งที่มาจริงของภาพ

ล่าสุดในเดือนกันยายน เราได้ย้อนกลับไปสำรวจกลุ่ม 14 บัญชีเดิมที่พบในงานสืบสวนครั้งก่อนหน้า รวมไปถึงกลุ่ม 10 บัญชีที่เราพบครั้งนี้ ทำให้เราพบว่าหลายบัญชีมีการเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายพร้อมๆ กันในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยส่วนมากหยุดเคลื่อนไหวในวันที่ 31 พฤษภาคม และบางบัญชีก็ได้ถูก Twitter ทำการระงับบัญชีไปแล้ว ขณะที่บางบัญชีในกลุ่มนี้ยังมีการรีทวีตและตอบกลับข้อความของบัญชีอื่นอยู่ ทว่าข้อความเหล่านั้นไม่ได้เป็นการโฆษณาให้พลเอกประวิตรและพรรคพลังประชารัฐเหมือนอย่างเดิมมาแล้วพักใหญ่ กลับกลายเป็นการเผยแพร่ข้อความในเนื้อหาทางอื่น เพียงแต่ยังเกี่ยวโยงกับประเด็นการเมือง และยังคงสะท้อนอุดมการณ์ว่าอยู่ฝั่งขวา โดยพบว่าสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมักเผยแพร่ข้อความในเชิงชื่นชมสถาบันกษัตริย์และประชาสัมพันธ์พระกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงกิจกรรมในโครงการจิตอาสาพระราชทาน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งดูเหมือนว่าเน้นเผยแพร่ข้อความโจมตีคนในขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม อย่างไรก็ตาม แต่ละบัญชียังคงพฤติกรรมเหมือนเดิม คือการโพสต์ภาพอาหารหรือภาพอื่นๆ แทรกสลับไปด้วยเรื่อยๆ

ภาพ 4: ตัวอย่างโปรไฟล์ของบัญชีต้องสงสัยที่มีพฤติกรรมสนับสนุนพลเอกประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพบว่ามีการเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 พฤษภาคมพร้อมกัน

นอกจากกลุ่มบัญชีกลุ่มนี้แล้ว ในช่วงระยะของการเลือกตั้ง เรายังพบพฤติกรรมลักษณะ co-retweet coordination ในอีกกลุ่มบัญชีหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนอยู่ 13 บัญชี โดยพบว่าบัญชีเหล่านี้มักทวีตและรีทวีตข้อความเดียวกันในระยะเวลาที่มักห่างกันเพียงไม่ถึง 4 วินาที จึงเรียกได้ว่าแทบจะพร้อมกัน โดยข้อความส่วนมากนั้นมีเนื้อหาเชิงสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และขั้วการเมืองฝั่งอนุรักษนิยม ขณะเดียวกันก็มีการโจมตีขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม และยังสังเกตได้ว่าบัญชีเหล่านี้มักรีทวีตข้อความจากบัญชีผู้ใช้ที่เป็นของนักการเมืองหรืออินฟลูเอนเซอร์การเมืองในฝั่งขวาไม่กี่บัญชี เช่นจากบัญชีของเจ๊จุก คลองสาม (@jjookklong3) อย่างไรก็ตาม บัญชีกลุ่มนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเป็นกองเชียร์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เพียงแต่มีเนื้อหาที่เอนเอียงไปทางบวกต่อฝั่งพรรคของสองลุง

อีกข้อสังเกตสำคัญคือใน 13 บัญชีนี้ มีอยู่ 6 บัญชีที่สร้างโปรไฟล์ขึ้นมาไล่เลี่ยกันในช่วงเดือนกันยายนถึงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2565 และขณะเดียวกัน บัญชีส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่มีการใช้ภาพโปรไฟล์ใดๆ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังพบว่าบางบัญชีผู้ใช้มีการตั้งชื่อที่คล้ายคลึงกันมาก เช่น บัญชีหนึ่งในชื่อว่า @deky(xxx)namtarn และมีอีกบัญชีที่ใช้ชื่อว่า @dekc(xxx)namtarn [(xxx) คือสามตัวอักษรที่เราทำการปิดบัง]

อย่างไรก็ตาม เราพบในล่าสุดว่าบัญชีเกือบทั้งหมดในกลุ่มนี้ได้ถูก Twitter ระงับบัญชีไปแล้ว โดยในกลุ่ม 6 บัญชีที่สร้างโปรไฟล์ขึ้นมาในวันไล่เลี่ยกันนั้น พบว่าเหลือเพียงบัญชีเดียวที่ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ ทำให้ไม่สามารถย้อนกลับไปนำภาพหลักฐานการต้องสงสัยว่าทวีตและรีทวีตร่วมกันมาแสดงให้ดูได้

ภาพ 5: ตัวอย่างโปรไฟล์บัญชีต้องสงสัยในกลุ่ม 13 บัญชี

ฝั่งไม่เอาลุง-ด้อมส้ม-ด้อมแดง มีไอโอไหม?

การพบเครือข่ายบัญชีที่น่าสงสัยว่าเป็นไอโอในฝั่งพรรคการเมืองที่สนับสนุนสองลุง ไม่ว่าจะพลเอกประวิตร หรืออดีตนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักสำหรับใครหลายคน ในเมื่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทยมักรับรู้กันว่าไอโอจำนวนมากมีผู้อยู่เบื้องหลังคือกองทัพ เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปิดโปงหลายครั้งที่มีหลักฐานชี้ตัวถึงกองทัพอย่างค่อนข้างชัดเจน

ทว่าสิ่งที่เราได้พบจากการสืบสวนในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา คือยังมีกลุ่มบัญชีบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายสองลุงในช่วงการเลือกตั้ง ขณะที่บางกลุ่มมีการออกหน้าเชียร์พรรคการเมืองฝั่งไม่เอาลุงบางพรรคโดยเฉพาะ โดยมีความน่าสงสัยในเบื้องต้นว่าบัญชีแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมส่อเป็นการร่วมมือกัน

เครือข่ายบัญชีกลุ่มแรกมีจำนวนนับได้ 15 บัญชี โดยสังเกตได้ในเบื้องต้นว่าอาจมีพฤติกรรมการรีทวีตข้อความร่วมกัน เพราะพบว่ามีหลายข้อความที่บัญชีในกลุ่มนี้มักทำการรีทวีตในเวลาใกล้กันมาก โดยมีระยะห่างในการรีทวีตของแต่ละบัญชีโดยเฉลี่ยเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น จนเรียกได้ว่ารีทวีตแทบจะพร้อมกัน และข้อความที่บัญชีกลุ่มนี้รีทวีตนั้นล้วนมีเนื้อหาเชียร์พรรคก้าวไกล โดยมีทั้งการรีทวีตจากบัญชีทางการของพรรคก้าวไกล ผู้สมัครของพรรค และสมาชิกพรรคเอง รวมไปถึงข้อความจากบัญชีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีของสำนักข่าว หรืออินฟลูเอนเซอร์การเมืองต่างๆ โดยที่หลายบัญชีแทบไม่มีการรีทวีตหรือทวีตในเนื้อหาเรื่องอื่นๆ เลย จนเสมือนว่ามีบัญชีเพื่อติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าบัญชีเหล่านี้ไม่มีการกดติดตามบัญชีทางการของพรรคก้าวไกลเลย ซึ่งค่อนข้างผิดวิสัยของการเป็นแฟนคลับพรรค

ภาพ 6: ตัวอย่างข้อความที่กลุ่มบัญชีต้องสงสัยที่มีพฤติกรรมเชียร์พรรคก้าวไกล รีทวีตในเวลาพร้อมๆ กัน

เช่นเดียวกับอีกเครือข่ายบัญชีหนึ่งซึ่งเรานับได้ว่ามีจำนวน 8 บัญชี ก็พบว่ามักมีการรีทวีตข้อความเดียวกันในเวลาที่ห่างกันโดยเฉลี่ยแค่เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่ต่างกับกลุ่มแรกที่ว่าข้อความที่บัญชีกลุ่มนี้รีทวีตมีเนื้อหาในเชิงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เนื่องจากในช่วงระยะการเลือกตั้งนั้น พรรคเพื่อไทยยังคงมีท่าทีว่าอยู่ฝั่งไม่เอาลุง งานสืบสวนชิ้นนี้จึงยังคงจัดประเภทบัญชีกลุ่มนี้ไว้ในกลุ่มไม่เอาลุงอยู่

ภาพ 7: ตัวอย่างข้อความที่กลุ่มบัญชีต้องสงสัยที่มีพฤติกรรมเชียร์พรรคเพื่อไทย รีทวีตในเวลาพร้อมๆ กัน

แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว การที่บัญชีหลายบัญชีจะรีทวีตข้อความเหมือนกันในเวลาใกล้กันมากๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยาก หลักฐานที่บ่งชี้ว่าบัญชีเหล่านี้มีพฤติกรรมร่วมมือกันจึงไม่ได้มีน้ำหนักชัดเจนมากเท่ากลุ่มบัญชีแรกที่ส่อว่าเคลื่อนไหวสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าข้อความที่บัญชีเหล่านี้รีทวีตพร้อมๆ กันนั้น ไม่ได้มีเพียงข้อความเดียว จึงยังเป็นที่เคลือบแคลงว่าการที่บัญชีเหล่านี้รีทวีตข้อความใกล้กันบ่อยๆ มากนั้นจะใช่แค่เรื่องบังเอิญหรือไม่

เพื่อจะสืบเสาะลึกลงไปกว่านั้น เราจึงดูพฤติกรรมและลักษณะทั่วไปในรายบัญชีต่อ พบว่าบัญชีเหล่านี้มีพฤติกรรมที่ดูเหมือนเป็นมนุษย์ทั่วไปอยู่ เห็นได้จากการมีบทสนทนาโต้ตอบกับบัญชีอื่นๆ ด้วยภาษาที่ยังค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ขณะที่ในส่วนภาพโปรไฟล์ของแต่ละบัญชี แม้จะพบว่าทุกบัญชีล้วนไม่ใช้ภาพที่เปิดเผยตัวตนจริงของตัวเอง โดยบ้างเป็นรูปศิลปินดารา บ้างก็ไม่ใส่รูปโปรไฟล์ หรือบ้างก็เป็นภาพวาดแอนิเมชัน แต่นี่ก็ยังคงไม่เพียงพอเช่นกันที่จะสรุปว่าบัญชีเหล่านี้มีพฤติกรรมคล้ายไอโอ เพราะการสร้างบัญชีไม่เปิดเผยตัวตนของตัวเองก็เป็นสิ่งที่ทำกันอย่างค่อนข้างแพร่หลาย หรือที่มักเรียกกันว่าการสร้าง ‘แอคหลุม’

ภาพ 8: ตัวอย่างโปรไฟล์ของบัญชีต้องสงสัยในกลุ่มที่มีพฤติกรรมสนับสนุนพรรคก้าวไกล

แต่เราก็พบความผิดปกติอีกจุดหนึ่งเมื่อดูวันที่บัญชีเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมา ทำให้เราเห็นได้ว่าบัญชีในแต่ละกลุ่มต่างสร้างบัญชีขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน และยังเป็นวันที่ใกล้เคียงกันมาก โดยในกลุ่ม 15 บัญชีที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลนั้น ทั้งหมดสร้างบัญชีขึ้นมาในระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน 2566 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ปี่กลองศึกเลือกตั้งเริ่มประโคมขึ้น ขณะที่ในกลุ่ม 8 บัญชีที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็พบว่าบัญชีล้วนถูกสร้างขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2565 ที่แม้จะเป็นช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ถึงราวปีเศษแต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมทั้ง 8 บัญชีนี้ ถึงได้บังเอิญสร้างขึ้นมาในช่วงเวลานี้พร้อมๆ กัน

ภาพ 9: ตารางแสดงวันและเวลาที่สร้างบัญชีของกลุ่มบัญชีต้องสงสัยที่มีพฤติกรรมสนับสนุนพรรคก้าวไกลบางส่วน โดยคอลัมน์ซ้ายคือชื่อบัญชี (ปิดบังบางส่วนของชื่อ) และคอลัมน์ขวาคือวันและเวลาสร้างบัญชี

ภาพ 10: ตารางแสดงวันและเวลาที่สร้างบัญชีของกลุ่มบัญชีต้องสงสัยที่มีพฤติกรรมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วน โดยคอลัมน์ซ้ายคือชื่อบัญชี (ปิดบังบางส่วนของชื่อ) และคอลัมน์ขวาคือวันและเวลาสร้างบัญชี

สำหรับบัญชี 2 กลุ่มนี้ เราอาจยังบ่งชี้ไม่ได้อย่างหนักแน่นนักเมื่อเทียบกับกลุ่มบัญชีที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ว่าบัญชีเหล่านี้มีความร่วมมือกันในการเคลื่อนไหวจริงหรือไม่ แต่ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า การที่บัญชีเหล่านี้มักรีทวีตข้อความพร้อมๆ กัน และสร้างโปรไฟล์ขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน จะเป็นแค่ความบังเอิญหรือความตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มบัญชีอีกกลุ่มหนึ่งที่เราพบว่ามีพฤติกรรมส่อว่าร่วมมือกันในช่วงการเลือกตั้งอย่างค่อนข้างชัดเจนกว่า 2 กลุ่มก่อนหน้า โดยเริ่มจากการพบว่า มีข้อความกลุ่มหนึ่งที่เราพบว่าเข้าเกณฑ์มาจากการร่วมมือกันแชร์ของบัญชีบางกลุ่ม คือข้อความที่มีเนื้อหาเป็นการสนับสนุนให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องถูกจำคุกจากประเด็นความบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 โดยพบว่าข้อความเหล่านี้ถูกแชร์ไปตามกลุ่ม (group) ต่างๆ บน Facebook หลายกลุ่ม ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นการแชร์กระจายไปในเวลาไล่เลี่ยกันมาก และพบว่ามีบัญชีผู้ใช้ 8 บัญชีที่เป็นผู้กระจายข้อความเหล่านี้ ทำให้น่าสงสัยว่าบัญชีกลุ่มนี้มีพฤติกรรมลักษณะ co-sharing behavior

ภาพที่ 11: ตัวอย่างข้อความที่กลุ่มบัญชีต้องสงสัย 8 บัญชี แชร์ไปตามกลุ่มต่างๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยชื่อที่ปรากฏในแต่ละรูปนั้นคือชื่อของกลุ่ม Facebook ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีบทสนทนาเรื่องการเมืองเป็นหลัก

เมื่อเราสำรวจลึกลงไปในทั้ง 8 บัญชีนี้ก็พบว่ายังมีอีกประมาณ 30 ข้อความที่บัญชีเหล่านี้แชร์กระจายไปตามกลุ่มต่างๆ ในเวลาใกล้เคียงกันโดยห่างกันเพียงราวๆ 1.5-5.4 วินาทีเท่านั้น โดยที่กลุ่มเหล่านั้นเป็นกลุ่มสนทนาทางการเมืองของกลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบฝั่งสองลุง และเนื้อหาที่บัญชีเหล่านี้แชร์ ก็ล้วนเป็นประเด็นการเมืองที่หลากหลาย โดยเน้นโจมตีฝั่งขวา วิจารณ์สถาบัน ขณะเดียวกันค่อนไปในทางสนับสนุนฝั่งประชาธิปไตย โดยไม่ได้ออกตัวเจาะจงว่าเป็นแฟนคลับพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ แต่ก็สังเกตได้ว่าเนื้อหาค่อนข้างมีภาพบวกต่อพรรคก้าวไกล

นอกจากการแชร์ข้อความเหมือนๆ กันแล้ว จุดหนึ่งที่ทำให้สามารถสงสัยได้ว่าบัญชีเหล่านี้อาจเข้าข่ายร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร คือภาพโปรไฟล์ส่วนตัวของแต่ละบัญชี ที่เราพบว่ามี 5 บัญชีใช้ภาพคล้ายคลึงกันมาก โดยเป็นภาพของตัวการ์ตูนแอนิเมชันเพศชาย ซึ่งเมื่อดูจากรูปแบบภาพแล้ว คล้ายว่าจะเป็นฝีมือการวาดของคนเดียวกันหรือใช้โปรแกรมสร้างภาพเดียวกัน และยังพบว่าภาพเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากเว็บไซต์ Pinterest เหมือนกัน

ภาพ 12: ตัวอย่างภาพโปรไฟล์ของบัญชีต้องสงสัย ที่พบว่านำภาพมาจากแหล่งอื่น โดยด้านขวาคือภาพโปรไฟล์ที่ใช้ ขณะที่ด้านซ้ายคือแหล่งที่มาจริงของภาพ

ไม่เพียงแต่ภาพโปรไฟล์ของบัญชีเหล่านั้น แต่เมื่อดูเข้าไปในคลังภาพของบัญชีเหล่านี้ ก็พบว่ามีการโพสต์ภาพบางภาพเหมือนกัน และยังเป็นการโพสต์ในวันเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก อย่างเช่น ภาพของเมอร์ไลออน ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กดังของประเทศสิงคโปร์ ที่มีการเผยแพร่ใกล้ๆ ในช่วงราว 10-12 ธันวาคม 2565 รวมทั้งยังมีภาพอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศสิงคโปร์

นอกจากภาพแล้ว ความน่าสนใจของบัญชีกลุ่มนี้ยังอยู่ที่ชื่อบัญชี ที่พบว่ามีการใช้ชื่อหรือนามสกุลที่เหมือนหรือคล้ายกัน เช่น บางบัญชีที่ใช้นามสกุลว่า Sentosa เหมือนกัน หรือบางบัญชีใช้นามสกุล Sentosini ขณะที่บางบัญชีก็ใช้ชื่อเหมือนกัน เช่น ชื่อ Phillip

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเราพบว่าทั้งบัญชีต้องสงสัยในกลุ่มนี้นี้ได้ถูกแพลตฟอร์ม Facebook ทำการระงับบัญชีผู้ใช้ไปแล้ว โดยเหลืออยู่เพียงบัญชีเดียวเท่านั้นที่ยังคงเข้าถึงได้อยู่

ภาพ 13: ตัวอย่างบัญชีที่ต่างโพสต์ภาพเมอร์ไลออน สิงคโปร์ ในวันที่ไล่เลี่ยกัน

ไอโอช่วงเลือกตั้ง – ภัยคุกคามยุคสมัยใหม่ต่อประชาธิปไตย

ในปรากฏการณ์ที่หลายพรรคหลายขั้วการเมืองของไทยต่างมีประชาชนผันตัวมาเป็นกองเชียร์ออนไลน์หรือหัวคะแนนธรรมชาติให้นั้น เราเห็นได้ว่าบางส่วนก็ดูไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาตินัก ซึ่งมีทั้งในกลุ่มที่มีพฤติกรรมสนับสนุนฝั่งอนุรักษนิยม และฝั่งตรงข้าม แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว งานสืบสวนชิ้นนี้ยังบอกได้เพียงว่ากลุ่มบัญชีที่เราพบเหล่านี้มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่ากำลังร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลปั่นกระแสทางการเมืองเท่านั้น โดยยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าบัญชีเหล่านี้คือไอโอ และเป็นไอโอที่อยู่เบื้องหลังโดยใคร กลุ่มใด หน่วยงานใด หรือพรรคการเมืองใด สาธารณชนจึงอาจต้องช่วยกันเรียกร้องให้คน หน่วยงาน หรือพรรคที่ต้องสงสัย ออกมาตอบคำถามในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบัญชีที่มีพฤติกรรมคล้ายไอโออาจจะมีมากกว่านี้ และเป็นไปได้ว่ายังอาจมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มหรือพรรคการเมืองอื่น แต่ด้วยวิธีการสืบสวนที่เราใช้ รวมถึงเกณฑ์การตรวจจับพฤติกรรมที่เราตั้งขึ้นมา ที่ดูเพียงว่ากลุ่มบัญชีหนึ่งมีพฤติกรรมโพสต์/ทวีตข้อความเหมือนกันในเวลาไล่เลี่ยกัน หรือแชร์/รีทวีตข้อความเดียวกันในเวลาใกล้กันมาก ทำให้เราสามารถพบกลุ่มบัญชีที่เข้าข่ายได้เพียงเท่านี้ โดยไม่สามารถตรวจจับเครือข่ายที่อาจใช้วิธีการแนบเนียนหรือช่ำชองกว่านั้น เช่น อาจเป็นเครือข่ายที่แต่ละบัญชีโพสต์ข้อความหลากหลาย ไม่ตัดแปะข้อความของกันและกันเป๊ะทุกตัวอักษร หรือมีวิธีการปั่นกระแสแบบอื่นๆ การจะพบได้ว่ามีเครือข่ายอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการสืบสวนเพิ่มเติมต่อไป

หากพูดจำกัดเฉพาะในบริบทการเลือกตั้ง หากในที่สุดปรากฏว่ากลุ่มบัญชีที่เป็นหัวคะแนนไม่ธรรมชาติเหล่านี้คือไอโอจริง และมีพรรคการเมืองหนึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเครือข่ายบัญชีนั้นๆ จริง ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง เพราะการกระทำดังกล่าวควรถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการหาเสียงที่ผู้สมัครจำเป็นต้องแจ้งต่อ กกต ก่อนดำเนินการ อีกทั้งยังต้องระบุชื่อ-สกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตสื่อ กำกับอย่างชัดเจนในข้อความ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

หรือหากว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นฝีมือของพรรคการเมือง แต่เป็นเหล่าหัวคะแนนธรรมชาติของพรรคที่ตั้งใจทำให้พรรคในลักษณะ ‘ไอโอจิตอาสา’ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องถูกต้อง โดยไม่ว่าจะเป็นพรรคหรือคนอื่นใดอยู่เบื้องหลังเครือข่ายเหล่านี้ก็ตาม ก็ล้วนถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานชุมชน (community standards) ของแพลตฟอร์มทั้ง Facebook และ Twitter ที่เรียกการกระทำแบบนี้ว่าเป็น Coordinated Inauthentic Behavior (CIB) หรือแปลเป็นไทยอย่างตรงตัวได้ว่า พฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน ซึ่งอธิบายได้ง่ายๆ ว่าคือการที่หลายบัญชีสร้างตัวตนปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อทำปฏิบัติการปั่นกระแสข้อมูลข่าวสารโน้มน้าวชักจูงความคิดคนร่วมกัน ซึ่งบัญชีที่ถูกแพลตฟอร์มตรวจจับได้ว่าละเมิดมาตรฐานชุมชนข้อนี้จะถูกระงับบัญชีผู้ใช้

อันที่จริง ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่พบข้อสังเกตว่ามีการทำปฏิบัติการปั่นกระแสบนโลกออนไลน์ในช่วงการเลือกตั้ง แต่ถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งหลายประเทศนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2010 ในภาวะที่โซเชียลมีเดียก้าวขึ้นมาเป็นช่องทางการสื่อสารและเสพข้อมูลข่าวสารหลักของผู้คน และในหลายครั้งก็พบว่าการทำปฏิบัติการปั่นข้อมูลข่าวสารลักษณะนี้มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการตัดสินใจของคน จนส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง รวมถึงความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งได้จริง ทำให้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอทางออนไลน์ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ต่อประชาธิปไตยของโลก

ดังนั้น เครือข่ายบัญชีที่เราค้นพบในงานสืบสวนนี้ หากเป็นไอโอที่ร่วมมือกันปั่นกระแสทางการเมืองจริง และไม่ว่าจะมีใครหรือฝ่ายใดอยู่เบื้องหลังก็แล้วแต่ ล้วนถือได้ว่าไม่ใช่แค่การกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือมาตรฐานชุมชนบนแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการบั่นทอนทำลายประชาธิปไตยของประเทศไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้


ผลงานสืบสวนนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง The101.world และโครงการติดตามและวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย (Digital Election Analytic Lab: DEAL)

DEAL เป็นโครงการที่พัฒนามาจากหลักการและกรอบแนวคิดของจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ (The Code of Conduct on Responsible Use of Social Media in 2023 General Election; CoC) โดยพรรคการเมืองจำนวน 30 พรรคลงนามร่วมกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ด้วยการอำนวยความสะดวกโดย Centre for Humanitarian Dialogue (HD)

DEAL มุ่งติดตามว่าพรรคการเมืองและผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งปฏิบัติตามกรอบแนวคิดจรรยาบรรณฯ มากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังเฝ้าระวังปฏิบัติการในโซเชียลมีเดียช่วงเลือกตั้งที่ตัวแสดงอื่นๆ อาจกระทำการที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโซเชียลมีเดีย และผลกระทบต่อความเห็นสาธารณะ รวมถึงพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียง ที่จะกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้ง ความชอบธรรมของผลของการลงคะแนน ตลอดจนผลกระทบต่อบรรยากาศทางการเมืองโดยรวม และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการปลุกระดมรูปแบบต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในโลกออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเลือกตั้ง

โครงการติดตามและวิเคราะห์กระบวนการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดียนี้เกิดจากการรวมตัวแบบเฉพาะกิจของเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดย WeWatch, Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE), คณาจารย์และนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และสื่อดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ และประชาชนอาสาสมัคร ที่เห็นพ้องกันถึงความสำคัญของพื้นที่กลาง พื้นที่การสื่อสารและการถกแถลงทางการเมืองที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งในฐานะของกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ปราศจากความรุนแรง โดยโครงการฯ ทำงานระหว่างเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save