fbpx

สันติภาพของยูเครนบนทางเลือกแห่งอาวุธนิวเคลียร์: ‘คงครอบครองไว้’ หรือ ‘สละละทิ้งไป’

จากสถานการณ์ของสงครามรัสเซียยูเครนที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 2022 และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย เช่นเดียวกับความรุนแรงและความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นเหตุของสงครามรัสเซียยูเครนมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ การรับรู้ถึงภัยคุกคาม และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่หนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์ของสงครามให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น คือการมีอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ท่ามกลางปฏิบัติการโต้กลับของยูเครนและการตั้งรับของรัสเซียที่ยังดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยมีประเด็นการขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์จากฝั่งรัสเซียปรากฏขึ้นมาให้ทั้งโลกได้จับตาดูเป็นระยะ จึงชวนให้หลายคนตั้งคำถามว่าหากยูเครน ‘เลือก’ ต่างออกไปจากเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่แล้ว สถานการณ์ในวันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่

บทความนี้จะพาไปสำรวจว่า ‘การครอบครองไว้’ หรือ ‘การสละละทิ้งไป’ ของอาวุธนิวเคลียร์โดยยูเครนส่งผลอะไรต่อการเมืองระหว่างประเทศในโลกยุคหลังสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ย้อนดูบทบาทของมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ต่อการสละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครน สำรวจสงครามที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ว่าส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ของอาวุธนิวเคลียร์ในโลกยุคปัจจุบัน

บทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนาอาวุธและยุทธวิธีการสู้รบรูปแบบใหม่เพื่อนำมาใช้แสดงแสนยานุภาพของรัฐ แต่อาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear weapon) ยังคงมีบทบาทในการแสดงแสนยานุภาพและอำนาจที่สำคัญของรัฐเช่นเดียวกันอาวุธประเภทอื่น

อาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่ถูกจัดอยู่ในประเภทอาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of mass destruction:WMD) โดยเป็นอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างที่รุนแรงมากที่สุด ทั้งในแง่ของขอบเขตการทำลายล้างและการสร้างผลกระทบที่ยาวนานต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อาวุธนิวเคลียร์ เป็นอาวุธรูปแบบหนึ่งที่ปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาในรูปแบบระเบิด ประกอบไปด้วย 2 รูปแบบ คือ

นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) เป็นกระบวนการที่นิวเคลียสสองนิวเคลียสมารวมกันทำให้เกิดนิวเคลียสใหม่ที่ไม่เสถียรและสลายในเวลาอันรวดเร็ว นำไปสู่การปล่อยพลังงานสูงออกมา ระเบิดที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้จะถูกเรียกว่า ‘ระเบิดไฮโดรเจน’ (hydrogen bombs)

ส่วนนิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) เกิดจากนิวเคลียสที่แตกตัวและส่งต่อเป็นปฏิกิริยาลูกโซส่งที่ผลให้เกิดพลังงาน มหาศาลโดยระเบิดที่เกิดขึ้นในกระบวนการดังกล่าวจะถูกเรียกว่า ‘ระเบิดปรมาณู’ (atomic bombs)

ในปัจจุบัน อาวุธนิวเคลียร์ได้ถูกพัฒนาให้สามารถรองรับการปฏิบัติการได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบเชิงยุทธศาสตร์ (strategic) และเชิงยุทธวิธี (tactical) และยังสามารถขนส่งผ่านยานพาหนะหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยขีปนาวุธผ่านเรือดำน้ำหรือแท่นปล่อยขีปนาวุธจากภาคพื้น ดังนั้น อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นระเบิดประเภทหนึ่งที่ใช้พลังงานการแตกตัวของอะตอมโดยมิได้จำกัดลักษณะ ประเภทการขนส่งของอาวุธ และขนาดของอาวุธ

จากแสนยานุภาพที่มหาศาลของอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ในตลอดช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐต่างๆ ล้วนมีความพยายามที่จะครอบครองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนนำไปสู่การแข่งขันระหว่างกันตามมาตลอดช่วงสงครามเย็น แม้ในปัจจุบัน จำนวนของรัฐและอาวุธนิวเคลียร์จะลดลงจากความพยายามในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ ณ ขณะนี้ โลกของเราก็มีรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด 9 รัฐ มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองคิดเป็นจำนวนกว่า 12,900 หัวรบ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ รัสเซีย ที่มีคาดว่าจะครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 5,977 หัวรบ

ในสงครามรัสเซียยูเครนที่เกิดขึ้น อาวุธนิวเคลียร์กลับมาอยู่ในห้วงความสนใจของฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งอีกครั้ง เห็นได้จากเมื่อเดือนมีนาคมในปี 2023 ประธานาธิบดีลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ทำการประกาศแผนการว่าจะนำอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapons) เข้าไปติดตั้งในประเทศเบลารุส เพื่อส่งสัญญาณกดดันไปสู่ชาติตะวันตกที่ให้การสนับสนุนยูเครนในการทำสงคราม เช่นเดียวกัน ฝ่ายยูเครนและชาติพันธมิตรกังวลถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะนำอาวุธนิวเคลียร์อาวุธเชิงยุทธวิธีมาใช้ต่อต้านฝั่งยูเครน

ยูเครนในฐานะผู้ครอบครองและสละอาวุธนิวเคลียร์

ในอดีต ยูเครนเคยเป็นหนึ่งในรัฐเครือสหภาพโซเวียตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากรัสเซีย และคาซัคสถาน ยูเครนนั้นมีความสำคัญทั้งในด้านเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตร และเป็นอุตสาหกรรมทางการทหารของสหภาพโซเวียต ยูเครนยังเป็นที่ตั้งของจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นประตูทางออกทะเลทางใต้สู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและจุดศูนย์กลางของอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคคอเคซัสและบอลข่าน ทำให้ในพื้นที่ของยูเครนกลายเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางทหารของสหภาพโซเวียต เช่น กองทัพเรือทะเลดำ ที่ติดตั้งแท่นขีปนาวุธ ต่างๆ ก่อนจะแยกตัวออกมาและได้รับเอกราชในปี 1991

จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและความขัดแย้งภายในของสหภาพโซเวียต ที่นำไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราชของ 15 รัฐ ในปี 1991 การแยกตัวที่เกิดขึ้นทำให้อาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐเอกราชที่แยกตัวออกไป อันประกอบไปด้วย ยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน และรัสเซีย ในช่วงเวลาดังกล่าวยูเครนครอบครองอาวุธนิวเคลียร์รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile: ICBM) กว่า 5,000 หัวรบ คิดเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมา ทั้งยูเครน เบลารุส และคาซัสถาน ก็ได้ทำการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดไปยังรัสเซีย ทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้สืบทอดอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนนั้นมีปัจจัยหลักสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก ยูเครนไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจและความสามารถที่เพียงพอต่อการปฏิบัติการ เพราะหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนที่อยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์มาอย่างยาวนาน เมื่อต้องเข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีแบบไม่ทันตั้งตัวก็เผชิญกับสภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ทำให้ความเร่งด่วนในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะต้องมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น งบประมาณในการดูแลอาวุธนิวเคลียร์จึงกลายเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูประเทศ เพราะค่าใช้จ่ายในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากปัญหาการรั่วไหลของทรัพยากร ปัญหาเชิงระบบ และการดำเนินงาน นั้นมีมูลค่ามหาศาล

ยิ่งยูเครนเคยเผชิญกับหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 ปัจจัยดังกล่าวยิ่งส่งผลให้หลังจากแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ประชาชนยูเครนมีความต้องการสละอาวุธนิวเคลียร์เพื่อลดโอกาสการเกิดขึ้นของปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ยูเครนต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจากนานาชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก เพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูประเทศ ทำให้การละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์เพื่อลดความตึงเครียดต่อชาติตะวันตกจึงมีความสำคัญต่อสภาวการณ์ของยูเครนในขณะนั้น  

ประการที่สอง การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์นอกจากจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการโจมตีต่อรัฐฝ่ายตรงข้ามในครั้งแรกแล้ว สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย คือความสามารถในการป้องกันการโจมตีโต้ตอบจากฝ่ายตรงข้าม ในช่วงเวลาดังกล่าว ยูเครนเผชิญกับปัญหาด้านขีดความสามารถในการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของบุคคลการ องค์ความรู้ ระบบสั่งการและงบประมาณ ทำให้ยูเครนขาดความสามารถในการโจมตีและรับมือกับการโต้ตอบจากฝ่ายตรงข้าม ยูเครนจึงเผชิญกับช่องว่างเชิงเปรียบเทียบจากระดับความสามารถทางด้านการใช้อาวุธ (Capability gap) โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรัสเซีย และสหรัฐฯ

อีกปัญหาสำคัญอันเป็นจุดบกพร่องในความสามารถการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของยูเครน คือ ถึงแม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะถูกติดตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศยูเครน แต่ระบบการสั่งปฏิบัติการทางอาวุธนิวเคลียร์อยู่ภายใต้ระบบอนุมัติกลไกอาวุธนิวเคลียร์ (permissive action link) ของรัสเซีย ส่งผลให้การยิงขีปนาวุธแต่ละครั้งยูเครนจะต้องพึ่งการสั่งการจากฝั่งรัสเซียร่วมด้วย

ประการที่สาม บทบาทของยูเครนในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในหนังสือ Inheriting the Bomb: Ukraine’s Nuclear Disarmament and Why It Matters โดย Mariana Budjeryn นักวิจัยอาวุโสจาก Harvard Kennedy School ได้ให้ข้อเสนอว่า การสละอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนมาจากความต้องการ “กลายเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป” การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นอีกวิธีในการสร้างการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งแสดงออกถึงการเคารพข้อปฏิบัติของระบอบการควบคุมอาวุธที่โลกได้วางรากฐานเอาไว้ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์อันดีต่อยูเครนในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในช่วงเวลาแห่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยูเครนมีความต้องการที่จะวางสถานะของตัวเองให้มีความเป็นกลาง ในขณะเดียวกันก็พยายามเข้าหายุโรปตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การสละอาวุธนิวเคลียร์จะนำไปสู่การลดความตึงเครียดและช่วยยกระดับความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อรัฐยุโรปตะวันตก รวมถึงประเทศอื่นๆ อีกทั้งช่วยให้เกิดการขยายความร่วมมือระหว่างกันที่มากขึ้นในอนาคต

บทบาทของสหรัฐฯ และรัสเซียต่ออาวุธนิวเคลียร์ของยูเครน

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก รัสเซียก็ต้องปรับตัวกับบทบาทใหม่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเช่นกัน ประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยสร้างความตึงเครียดต่อสังคมระหว่างประเทศในตลอดช่วงของสงครามเย็นเริ่มผ่อนคลายลงพร้อมๆ กับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอดีตรัฐในเครือสหภาพโซเวียต ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้มีการสร้างสนธิสัญญาเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่คลอบคลุมที่มากขึ้น เช่น การลงนามใน Strategic Arms Reduction Treaty  (START II) ในปี 1993

สหรัฐฯ ที่ขณะนั้นอยู่ในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน มีความพยายามที่จะผลักดันให้ยูเครนถ่ายโอนอาวุธนิวเคลียร์ที่ตนครอบครองไปยังรัสเซีย ในฐานะผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอดีตสหภาพโซเวียตเพียงหนึ่งเดียว ในทางหนึ่ง การนำอาวุธนิวเคลียร์ถ่ายโอนไปยังรัสเซียจะเป็นการลดจำนวนรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ นั่นหมายถึงการลดโอกาสการใช้งาน และอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกัน รัสเซียที่อยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน มีท่าทีเปิดกว้างต่อตะวันตกและไม่ได้เป็นภัยคุกคามมากนักต่อยูเครนในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยูเครนสละละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงเวลาต่อมา  

จากการสนับสนุนของทั้งสหรัฐฯ และปัจจัยทางการเมืองของรัสเซียในขณะนั้น ส่งผลให้ยูเครนทำการถ่ายโอนอาวุธไปยังรัสเซียในท้ายที่สุด ซึ่งตามมาด้วยการลงนามในบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ว่าด้วยการรับประกันความปลอดภัย (The Budapest Memorandum on Security Assurances) ระหว่างยูเครน รัสเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เมื่อปี 1994

การลงนามในบันทึกข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจต่อยูเครนที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ว่ารัฐที่ลงนามนั้นจะปฏิบัติตามกฎบัตรของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการเคารพอำนาจอธิปไตยของยูเครน และจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อรัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เว้นแต่รัฐดังกล่าวร่วมมือกับรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์โจมตีรัฐอื่น แต่อย่างไรก็ตาม บันทึกข้อตกลงที่เกิดขึ้นนั้นมิได้มีศักดิ์เป็น ‘กฎหมาย’ ที่มีการบังคับใช้และมีการลงโทษหากมีการฝ่าฝืน ความเปราะบางของบันทึกข้อตกลงที่ปราศจากภาระผูกพันอันเด็ดขาดนี้เอง จะส่งผลต่อความมั่นคงของยูเครนในอนาคต  

ท้ายที่สุด ยูเครนก็ได้ทำการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดไปสู่รัสเซีย ตามมาด้วยการเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) อันเป็นสนธิสัญญาที่รัฐจะต้องไม่กระทำการแพร่กระจาย ครอบครอง ที่สำคัญที่สุดของระบอบการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในระดับโลกในฐานะรัฐปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Nuclear weapon state)

ยูเครนบนทางเลือก ‘การมีอยู่ครอบครองไว้’ หรือ ‘การสละละทิ้งไป’

การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ผ่านกลไกต่างๆ ในโลกหลังยุคสงครามเย็นกลายเป็นหมุดหมายอันดีในการสร้างโลกที่ปลอดภัยจากหายนะของอาวุธนิวเคลียร์ แต่การตัดสินใจครั้งนั้นก็ได้สร้างข้อถกเถียงที่ว่า “การมีอยู่ครอบครองไว้” หรือ “การสละละทิ้งไป” ทางเลือกไหนจะสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับยูเครนได้มากกว่ากัน

เมื่อปี 1993 จอห์น เมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้เขียนวิพากวิจารณ์ถึงการถ่ายโอนอาวุธของยูเครนในบทความ The Case for a Ukrainian Nuclear Deterrent ล้วนมองว่าการละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนไปยังรัสเซียนั้นเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะหากพิจารณาจากแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่ายูเครนรายล้อมไปด้วยอิทธิพลของรัสเซีย มีพรมแดนติดกับรัสเซียกว่า 2,000 กิโลเมตร และราว 1,000 กิโลเมตรนั้นติดกับประเทศเบลารุสที่มีผู้นำคือ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Grigoryevich Lukashenko) พันธมิตรที่แนบแน่นกับรัสเซีย ทางตอนใต้ของยูเครนยังติดกับทะเลดำอันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือรัสเซียอีกด้วย

นอกจากนี้ หากพิจารณาในด้านประวัติศาสตร์ ยูเครนมักเผชิญหายนะที่มาจากรัสเซียเสมอ เช่น สงครามอิสรภาพยูเครนเมื่อปี 1917 – 1921 เหตุการณ์อดอยากครั้งใหญ่ที่มาจากนโยบายของสตาลินระหว่างปี 1932 – 1933 และในปัจจุบัน รัสเซียก็ให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มทางการเมืองต่างๆ ในภูมิภาครอบยูเครน ร่วมถึงเข้าแทรกแซงกิจการภายในของยูเครนอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นแล้วความสามารถในการป้องปรามที่ยูเครนจะได้รับจากการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหลักประกันความมั่นคงแห่งชาติเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถยับยั้งการรุกรานของรัสเซียได้ การพึ่งพาเพียงคำสัญญาของตะวันตก รัสเซีย และสหประชาชาติ รวมถึงการพึ่งพาการใช้กองกำลังทั่วไปนั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงให้แก่ยูเครนจากภัยคุกคามที่มาจากรัสเซีย ทั้งสงครามไครเมียในปี 2014 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวในการรักษาสัญญาของรัฐมหาอำนาจที่มีต่อการประกันความมั่นคงของยูเครน

แต่ในทางกลับกัน ก็มีนักวิชาการได้เสนอข้อถกเถียงข้อเสนอดังกล่าวว่า ต่อให้ยูเครนยังคงครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปก็มิได้ช่วยให้ปลอดภัยจากการคุกคามของรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้นความขัดแย้งกับรัสเซียจะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะรัสเซียจะโหมกระพือความตึงเครียดต่อยูเครนในฐานะรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การแสดงแสนยานุภาพทางด้านนิวเคลียร์ระหว่างกัน และหากพิจารณาจากระบอบการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ในระดับโลกผ่านสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ที่ได้ยอมรับสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ในฐานะรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น[1] การที่ยูเครนยืนกรานจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปจะยิ่งเป็นปัญหาต่อประเทศในด้านกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ยูเครนในฐานะผู้ทำลายระบอบการควบคุมอาวุธในระดับโลก

การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนจึงไม่สามารถการันตีถึงความมั่นคงของประเทศจากการรุกรานของรัสเซียได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากความขัดแย้งระหว่างรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อย่างสหราชอาณาจักร ก็ไม่สามารถป้องกันรัฐไร้นิวเคลียร์อย่างอาร์เจนตินาให้เข้ามารุกรานหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ได้ หรือความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียบริเวณพรมแดนเทือกเขาหิมาลัย ก็เผยให้เห็นแล้วว่าอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถยับยั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้

ดังนั้น “การมีอยู่ครอบครองไว้” หรือ “การสละละทิ้งไป” ของยูเครนว่าทางใดจะช่วยสร้างสันติภาพแก่ยูเครนจากการขยายอำนาจของรัสเซียจึงเป็นเรื่องที่คลุมเครือ เพราะหากยูเครนนั้นเลือกเส้นทางของ “การมีอยู่ครอบครองไว้” ก็เป็นไปได้ว่ารัสเซียอาจยำเกรงยูเครน แต่จากอดีตที่ผ่านมา มนุษยชาติได้เห็นแล้วว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถเป็นเครื่องการันตีว่าจะไม่เกิดการรุกรานหรือสู้รบระหว่างกัน สถานะทางเอกราชของยูเครนที่ตั้งอยู่บนข้อถกเถียง “การมีอยู่ครอบครองไว้” หรือ “การสละละทิ้งไป” ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์จึงต้องนำปัจจัยอื่นมาประกอบการวิเคราะห์ด้วย

สงครามรัสเซียยูเครนต่อสถานการณ์ของอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน

จากการคืนอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนกลับไปอยู่ในมือรัสเซีย เพื่อแลกกับความตกลงการประกันความมั่นคงระยะสั้นและไม่เด็ดขาด นำมาสู่การปฏิบัติตามสัญญาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงหลังรัสเซียรุกรานยูเครน มีเพียงการให้ความช่วยเหลือทางการทหารและทางมนุษยธรรมจากชาติตะวันตกที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างสเถียรภาพและความมั่นคงให้ยูเครน การผนวกดินแดนยูเครนโดยรัสเซียถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่ไครเมีย จนถึง 4 ภูมิภาค โดเนตสก์, ลูฮันสก์, แคร์ซอน และซาปอรีเซีย ที่ทำให้เกิดสงครามอันยืดเยื้อในปัจจุบัน จึงอาจส่งอิทธิพลให้รัฐต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อค้ำประกันเอกราชแห่งรัฐ ชุดความเชื่อดังกล่าวจะเป็นการทำลายปทัสถานและสถาบันระหว่างประเทศที่พยายามควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มาตลอด 70 ปีให้ล่มสลายลงในที่สุด

การเกิดขึ้นของสงครามรัสเซียยูเครนจึงอาจทำให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่เดินหน้าสละอาวุธ เพื่อค้ำประกันความมั่นคงของตน ขณะเดียวกันก็อาจไปกระตุ้นให้รัฐอื่นๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แทนการค้ำประกันความมั่นคงในรูปแบบอื่น การเพิ่มขึ้นของอาวุธในแง่ของศักยภาพและปริมาณของรัฐหนึ่งย่อมก่อให้เกิดความกังวลต่อรัฐอื่นเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันครอบครองอาวุธตามมา ยิ่งทำให้สถานการณ์โลกเปราะบางมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดสงครามและการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในท้ายที่สุด

ด้านยูเครน การเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ยูเครนและรัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต ทวีความต้องการที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงนี้มากขึ้น เพราะหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของนาโต คือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในฐานะเครื่องมือป้องปรามเพื่อค้ำประกับความมั่นคงแก่รัฐสมาชิก เมื่อมีการโจมตีรัฐสมาชิก รัฐใดรัฐหนึ่งจะหมายถึงการโจมตีรัฐสมาชิกทั้งหมด บรรดารัฐสมาชิกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ก็จะพลอยได้รับการคุ้มครองทางความมั่นคงที่ครอบคลุมถึงด้านอาวุธนิวเคลียร์จากรัฐสมาชิกที่มีไว้ในครอบครอง การขยายตัวของรัฐสมาชิกนาโตไปสู่ฟินแลนด์ในปัจจุบัน และสวีเดนในอนาคต ยิ่งเป็นการขยายขอบเขตของการป้องปรามนิวเคลียร์ให้กว้างยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าโอกาสและพื้นที่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็จะมีขนาดที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน  

กล่าวโดยสรุป สถานะทางอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนในโลกหลังสงครามเย็นตั้งอยู่บนทางเลือกระหว่าง ‘คงครอบครองไว้’ หรือ ‘สละละทิ้งไป’ หากยูเครนเลือกการคงครอบครองไว้ ก็อาจเป็นการประกันความมั่นคง ที่มาจากการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็แลกกับการใช้งบประมาณชาติมหาศาลเพื่อรักษาความปลอดภัยและวิจัย พัฒนาขีดความสามารถ อีกทั้งอาจมาพร้อมคำครหาจากรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตกว่าเป็นผู้ทำลายปทัสถานการควบคุมอาวุธในระดับโลก

ในทางกลับกัน ถ้ายูเครนเลือกเส้นทางแห่งการ ‘สละทิ้งไป’ แม้งบประมาณจะถูกนำไปฟื้นฟูประเทศได้อย่างเต็มที่ และได้รับการยอมรับจากชาติอื่นๆ ในระดับระหว่างประเทศ แต่การตัดสินใจดังกล่าว จะทำให้ความมั่นคงของยูเครนตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนจากท่าทีของรัสเซียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แต่เมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่บนโลก การมีอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่ได้การันตีว่าถ้ายูเครนครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไว้ จะช่วยให้ปลอดภัยจากรัสเซีย

‘คงครอบครองไว้’ หรือ ‘สละละทิ้งไป’ จึงเป็นเรื่องของบริบทในห้วงเวลาหนึ่งที่จะต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาประกอบ ทั้งบทบาทสถานะของอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นที่ระหว่างประเทศ หรือบทบาทของสหรัฐฯ และรัสเซีย การเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงกลายเป็นสิ่งตอกย้ำถึงการมีอยู่ของบทบาทอาวุธนิวเคลียร์ทั้งความเป็นไปได้ในการใช้ การครอบครอง และการแพร่ขยาย ที่ยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองระหว่างประเทศเรื่อยมาจนปัจจุบัน


เอกสารอ้างอิง

Center for Arms Control and Non-Proliferation. (2022). Fact Sheet: Russia’s Nuclear

Inventory. Center for Arms Control and Non-Proliferation. Retrieved July 24, 2023, from https://armscontrolcenter.org/fact-sheet-russias-nuclear-inventory/.

Faulconbridge, G. (2023). Explainer: Russia’s plan to deploy nuclear weapons in Belarus. Reuters. Retrieved July 23, 2023, from https://www.reuters.com/world/europe/russias-plan-deploy-nuclear-weapons-belarus-2023-06-13/.

BBC News. (2022). Ukraine war: Could Russia use tactical nuclear weapons? BBC News. Retrieved July 23, 2023, from https://www.bbc.com/news/world-60664169.

MEARSHEIMER , J. J. (1993). The Case for a Ukrainian Nuclear Deterrent. Foreign Affairs. Retrieved July 25, 2023, from https://www.foreignaffairs.com/articles/ukraine/1993-06-01/case-ukrainian-nuclear-deterrent.

Thakur, R. (2014). The Myth of Ukraine’s Nuclear Deterrent. Open Canada. Retrieved July 26, 2023, from https://opencanada.org/the-myth-of-ukraines-nuclear-deterrent/,
https://www.nato.int/cps/en/natohq/topics_50068.htm

[Belfer Center]. Budjeryn, M. (2023, April 14). Book Talk: Inheriting the Bomb: Ukraine’s Nuclear Disarmament and Why It Matters [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=C-So1OVLaJM&t=185s.

References
1 อ้างอิงจากข้อ 9 วรรค3จากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โดยในข้อความได้ระบุไว้ว่ารัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ คือ รัฐที่ผลิตและระเบิดอาวุธนิวเคลียร์หรืออุปกรณ์ระเบิดนิวเคลียร์อื่น ๆ ก่อนวันที่ 1 มกราคม 1967 ซึ่งในช่วงเวลานั้นประกอบไปด้วยสหรัฐฯ ที่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองเมื่อปี1945 โซเวียตในปี 1949 สหราชอาณาจักรในปี 1952 ฝรั่งเศสในปี 1960 และจีนในปี 1964 ตามลำดับ ส่วนรัฐอื่น ๆ ที่มีอาวุธนิวเคลียร์หลังจากปี 1967 เช่น อินเดียที่ได้ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1974 ปากีสถานในปี 1998 จะถือว่าเป็นรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์นอกสนธิสัญญา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save