fbpx

‘ฮีโร่ผู้กู้ชาติ’ หรือ ‘คนนอกของสังคม’? ปรากฏการณ์อคติทางเชื้อชาติต่อฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส

“ฟังนะ ใครๆ เขาก็รู้ ถึงคนพวกนี้แข่งขันในนามทีมชาติฝรั่งเศส แต่จริงๆ แล้ว พวกมันมาจากแองโกลา สวยงามจริงๆ ตอนที่มันลงไปวิ่ง ไปเอากับตุ๊ดเหมือนไอ้***เอ็มบัปเป้ แม่มันมาจากไนจีเรีย พ่อมาจากแคเมอรูน แต่ในเอกสารทางการเป็นสัญชาติฝรั่งเศสเฉยเลยว่ะ”

เสียงร้องเพลงเยาะเย้ยและดูแคลนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก้องกระหึ่มในระหว่างการถ่ายทอดสดผ่านช่องกีฬาชั้นนำของอาร์เจนตินา TyC เมื่อมาตีอาส เปลิโชโน ผู้สื่อข่าวขอให้แฟนบอลทัพฟ้าขาวหรือ ‘ทีมชาติอาร์เจนตินา’ ร้องเพลงให้กำลังใจนักเตะในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด แต่สถานการณ์ชื่นมื่นกลับพลิกผันไปสู่ความชุลมุนวุ่นวาย หลังจากกลุ่มกองเชียร์เริ่มร้องเพลงที่มีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาตินักเตะทีมชาติฝรั่งเศส โดยเฉพาะการแสดงความเกลียดชังต่อนักเตะผู้เป็นอนาคตของชาติอย่าง ‘คิลิยัน เอ็มบัปเป้’ และแฟนสาวของเขา แม้ว่าผู้สื่อข่าวขัดขวางการออกอากาศได้ทันท่วงที รวมถึงสถานีโทรทัศน์สั่งห้ามการเผยแพร่การสัมภาษณ์ครั้งนี้ลงในเว็บไซต์ แต่กลับมีผู้โพสต์คลิปดังกล่าวในโซเซียลมีเดียจนมียอดวิวถึง 7.4 ล้านวิว

ภายหลังที่การแข่งขันฟุตบอลโลกจบลงด้วยชัยชนะของทีมชาติอาร์เจนตินา บรรยากาศการฉลองในบัวโนสไอเนสยังปรากฏความเกลียดชังต่อนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสเช่นเดิม เมื่อวิดีโอของแฟนบอลตะโกนโห่ร้อง ชูแบนเนอร์กระดาษรูปฝาโลงศพที่มีใบหน้าของเอ็มบัปเป้กำลังถูกไฟเผา และหุ่นถุงดำที่เขียนชื่อของเขากลายเป็นไวรัลในแอปทวิตเตอร์ ไม่เพียงแต่แข้งดังแห่งสโมสรปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ที่ตกเป็นประเด็นเพียงเท่านั้น นักเตะคนอื่นๆ อย่างคิงสลีย์ โกม็อง และโอเรลีแย็ง ชูอาเมนี ก็ตกเป็นเป้าโจมตีด้วยประเด็นทางเชื้อชาติ เพราะทั้งคู่พลาดจุดโทษในการแข่งขัน

พฤติกรรมที่ดูหมิ่นเชื้อชาติต่อนักเตะถิ่นน้ำหอมทำให้เกิดกระแสตอบโต้ต่างๆ รวมถึงสโมสรสมาคมฟุตบอลแห่งฝรั่งเศสก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “คำพูดที่เหยียดเชื้อชาติ รวมถึงเผยแพร่ความเกลียดชังในโลกออนไลน์” อาเมลี-อูเดอา คาสเตร่า รัฐมนตรีแห่งกระทรวงกีฬาแห่งฝรั่งเศสแสดงความคิดเห็นต่อการเฉลิมฉลองของแฟนบอลทัพฟ้าขาวเช่นกันว่าหยาบคายและไม่สมฐานะของผู้ชนะในครั้งนี้ เธอวิจารณ์ว่า “ทีมชาติฝรั่งเศสเรียนรู้ที่จะพ่ายแพ้อย่างสวยงาม ในขณะที่สิ่งที่ทีมชาติอาร์เจนตินาได้กระทำลงไปไม่สมศักดิ์ศรีเหมือนกับการแข่งขันของพวกเขาเลย” อีกทั้งยังไม่พอใจการกระทำของ ‘เอมิเลียโน มาร์ติเนซ’ ผู้รักษาประตูทีมชาติอาร์เจนตินาที่เผยแพร่รูปถ่ายของตนถือตุ๊กตาเด็กที่มีใบหน้าของเอ็มบัปเป้ และได้วิพากษ์วิจารณ์มาร์ติเนซว่า “เขาก็ไม่ได้แตกต่างเท่าไหร่หรอก มันค่อนข้างน่าสมเพช”

ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าทีมชาติฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากอคติทางชาติพันธุ์ในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดมากเพียงใด

‘ไม่มีผู้อพยพ ไม่มีทีมชาติฝรั่งเศส’

จุดกำเนิดความยิ่งใหญ่ของทีมชาติฝรั่งเศสที่มาจากการอพยพ

คำกล่าวที่ว่า “ทีมชาติฝรั่งเศสในฐานะทีมที่ดีที่สุดในโลกเกิดจากการอพยพของผู้คน” นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกินจริง เมื่อพิจารณาพื้นเพครอบครัวของผู้เล่นในทีมชาติตราไก่ ซึ่งส่วนมากมักมาจากครอบครัวผู้อพยพ นับตั้งแต่ ‘เอ็มบัปเป้’ ผู้ได้รับรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยม ‘Golden Boy’ ในปี 2017 และนักเตะยอดเยี่ยมของฟุตบอลโลกปี 2018 มีเชื้อสายแคเมอรูนและแอลจีเรียผสมกัน ครอบครัวของ ‘เอ็นโกโล่ ก็องเต้’ นักเตะที่รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในกองกลางตัวรับที่ดีที่สุดในโลกมาจากประเทศมาลี หรือผู้ได้รับรางวัลบัลลงดอร์ (Ballon D’or) ปี 2022 อย่าง ‘คาริม เบนเซม่า’ ก็มีเชื้อสายแอลจีเรีย เช่นเดียวกับตำนานของชาวฝรั่งเศสตลอดกาลอย่าง ‘ซิซู’ หรือ ‘ซีเนดีน ซีดาน’

ความเชื่อมโยงระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสและผู้อพยพเริ่มปรากฏตั้งแต่การก่อตั้งสโมสรภายในประเทศช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เช่น สโมสร RC Lens และ AS Saint-Étienne มีจุดกำเนิดจากชุมชนเหมืองแร่ที่มีผู้อพยพชาวโปแลนด์และอิตาลี สโมสรมาร์กเซยมีผู้เล่นหลากหลายสัญชาติ เนื่องจากเป็นแคว้นเมืองท่าที่ใกล้ชิดกับการอพยพของผู้คนมาตั้งแต่อดีตจนมีคำพูดว่า “คุณสัมผัสได้บนอัฒจันทร์แห่งนี้เลยว่าปัญหาการเหยียดเชื้อชาติจะไม่มีในหมู่แฟนบอลมาร์กเซย” การเติบโตของผู้อพยพในวงการลูกหนังดำเนินมาเรื่อย ๆ จนปรากฏผู้เล่นผิวดำครั้งแรกอย่าง ‘ราอูล ดียาญ’ เจ้าของฉายา ‘แมงมุมดำ’ กองหลังเชื้อสายเซเนกัลในฟุตบอลโลกปี 1938

นักเตะที่มีเชื้อสายจากผู้อพยพปรากฏอย่างเด่นชัดในทีมชาติฝรั่งเศสช่วงปี 1950-1960 เมื่อผู้อพยพจากประเทศอดีตอาณานิคมและรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ต่อมาทีมชาติฝรั่งเศสเริ่มปรับโครงสร้างภายในองค์กรหลังจากมีผลงานการแข่งขันที่แย่ในปี 1970 จนนำมาสู่การสร้างและพัฒนาระบบอคาเดมีหรือศูนย์ฝึกนักเตะระดับเยาวชน หลายคนมาจากย่านที่มีผู้อพยพหนาแน่น กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติฝรั่งเศสและประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เช่น มาริอุส เตรซอร์ ผู้มีรากเหง้าจากกวาเดอลุป ได้รับการขนานนามว่ากองหลังที่ดีที่สุดตลอดกาล หรือ ฌอง ติกาน่า หนึ่งในกองกลางที่ดีที่สุดของโลกในยุค 1980

จุดสูงสุดของทีมชาติฝรั่งเศสเกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1990-2000 เมื่อฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1998 โดยสามารถเอาชนะยอดทีมอย่าง ‘บราซิล’ ที่มีนักเตะซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่างสามประสาน ‘3R’ โรนัลโด้ ริวัลโด้ และโรแบร์โต้ คาร์ลอสได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่ชัยชนะในครั้งนี้พลิกโฉมวงการฟุตบอลของฝรั่งเศส แต่ยังพลิกชีวิตของชายผู้มาจากครอบครัวอพยพเชื้อสายแอลจีเรียอย่าง ‘ซีดาน’ ผู้เล่นตำแหน่งกองกลางที่สามารถทำประตูในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศได้ 2 ใน 3 ประตู เขาถูกยกให้เป็น ‘ฮีโร่แห่งชาติ’ และ ‘ความภาคภูมิใจของฝรั่งเศส’ ภายในชั่วข้ามคืน ซึ่งสะท้อนผ่านบรรยากาศฉลองชัยชนะในถนนชองเซลิเซ่ ภาพของซีดานถูกฉายลงบนประตูชัยพร้อมกับคำว่า “พวกเรารักคุณ ซิซู” (“Zizou On t’aime”) และ “ประธานาธิบดีซีดาน” (“President Zidane”) เป็นที่ประจักษ์ของทั่วโลก

ทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกยังถูกขนานนามว่า ‘Black, Blanc, Beur’ (ดำ, ขาว, น้ำเงิน) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับสีของธงชาติฝรั่งเศส โดยสีดำหมายถึง คนผิวสีที่อพยพมาจากดินแดนอื่นๆ สีขาวแทนที่คนยุโรปผิวขาว และสีน้ำเงินคือคนฝรั่งเศสเชื้อสายอาหรับ ดังนั้น ‘ดำ, ขาว, น้ำเงิน’ จึงเป็นสัญลักษณ์ของทีมชาติฝรั่งเศสยุคใหม่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อคว้าชัยชนะจากศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้สำเร็จ ฌัก ชีรัก อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสแสดงความเห็นอันน่าสนใจว่า “สีทั้งสามที่มีความหลากหลายนี้สร้างภาพจำที่แสนงดงามของฝรั่งเศสและมนุษยชาติ” ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ผู้อพยพคือรากเหง้าของฟุตบอลฝรั่งเศส และเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้ทัพตราไก่อยู่ในจุดสูงสุดตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจุดกำเนิด สีผิว วัฒนธรรมหรือความเชื่อแตกต่างกันก็ตาม

“พวกเราคือหนึ่งเดียวกันภายใต้สีดำ, ขาว, น้ำเงิน”

โฆษณาชวนเชื่อที่สวนทางกับความเป็นจริงอันโหดร้าย

ปฏิกิริยาเชิงบวกต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติของทีมชาติฝรั่งเศสเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งหมดเท่านั้น ความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทีมชาติฝรั่งเศสในเรื่องเชื้อชาติยังคงเกิดขึ้น เพราะความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศสยุคใหม่ทำให้กลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งระส่ำระสาย โดยเฉพาะพรรค National Front นำโดย ฌอง มารี เลอ เปน ที่ใช้ประเด็นการต่อต้านความหลากหลายทางเชื้อชาติเพื่อเพิ่มความนิยมบนเวทีการเมือง เขาด่าทอทีมชาติฝรั่งเศสในปี 1996 ว่าเป็น “ทีมชาติจอมปลอม” ไม่คู่ควรในฐานะตัวแทนของประเทศ เพราะไม่น่าจะไม่รู้จักเนื้อร้องของเพลงชาติ หลังจากที่มีนักเตะบางคนไม่ร้องเพลง ‘La Marseillaise’ ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร รวมถึงโจมตีซีดานและครอบครัวว่าเป็นกลุ่มแอลจีเรียที่ต่อต้านฝรั่งเศส (Harki) จนเรื่องราวบานปลายกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทั้งสองประเทศในการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร

ความขัดแย้งนี้กลายเป็นสัญญาณสำคัญว่า การกีดกันทางเชื้อชาติในวงการฟุตบอลไม่สามารถจบลงอย่างง่ายดายดังที่หลายคนคิด ในปี 2000 มีการสำรวจความคิดเห็นของชาวฝรั่งเศสต่อนักเตะทีมชาติ พบว่าจำนวน 36% ว่ามีนักเตะต่างชาติในทีมมากจนเกินไป[19] ต่อมา มีรายงานในปี 2011 ออกมาว่า มีการเจรจาลับในสมาชิกอาวุโสแห่งสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสเพื่อจำกัดสัดส่วนนักเตะเยาวชนที่มีเชื้อชาติอาหรับและแอฟริกันให้เหลือเพียง 30% รวมถึงโลร็องต์ บล็องก์ อดีตผู้จัดการทีมชาติฝรั่งเศสถูกกล่าวหาถึงนโยบายห้ามจัดหาอาหารฮาลาลให้กับนักเตะมุสลิม อีกทั้งยังมีคลิปเสียงรั่วไหลของบล็องก์ที่มีเนื้อหาการเหยียดนักเตะผิวดำออกมา หนึ่งในอดีตนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส ปาทริช เอฟร่า นักเตะสัญชาติฝรั่งเศส-เซเนกัล ตำนานกองหลังแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและอดีตกัปตันทีมชาติฝรั่งเศส ออกมาเปิดเผยถึงการถูกเลือกปฏิบัติภายในรั้วตราไก่ในฐานะผู้มาจากครอบครัวผู้อพยพ นับตั้งแต่การได้รับจดหมายเหยียดเชื้อชาติในศูนย์ฝึกว่า “กลับไปเล่นฟุตบอลกับลิงที่แอฟริกาของมึงเหอะ!” การจัดผังที่นั่งของนักฟุตบอลให้มีแต่คนผิวขาวเมื่อต้องถ่ายรูปร่วมกับนักการเมือง ในขณะที่ไม่มีคนผิวดำที่ยืนข้างประธานาธิบดีเลย อีกทั้งมีบางคนแสดงความคิดเห็นในระหว่างการถ่ายรูปว่า “มีนักเตะที่ดูเป็นคนฝรั่งเศสมากขึ้นแล้วแฮะ”

การเชิดชูคุณค่าความหลากหลายทางเชื้อชาติในทีมชาติฝรั่งเศสยุคใหม่ผ่านวาทกรรม ‘ดำ, ขาว, น้ำเงิน’ กลับกลายเป็นเพียงเปลือกที่บดบังความเน่าเฟะในความเป็นจริง และเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเพื่อสร้างแสวงหาความชอบธรรมในการเมือง เพราะการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในวงการลูกหนังยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผู้เล่นมักประสบพบเจออคติทางเชื้อชาติจากทั้งแฟนบอล สื่อและองค์กรระดับสูงเมื่อผลการแข่งขันไม่เป็นใจ ปาทริช เอฟร่าแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เคยพบเจอในฟุตบอลโลกปี 2010 หลังจากทีมชาติฝรั่งเศสตกรอบแรกว่า ถ้าคุณชนะ คุณคือคนฝรั่งเศส แต่ถ้าคุณแพ้ คุณจะไม่ใช่ทันที เมื่อนักเตะชุดนี้ถูกประณามจากสาธารณชนว่าขาดความรักชาติ เพราะไม่ใช่คนฝรั่งเศสอย่างแท้จริง แต่เป็นพวกกลุ่มอพยพที่มีสีผิวดำและน้ำตาล แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ทำให้ฝรั่งเศสตกรอบแรกของการแข่งขันคือความขัดแย้งระหว่างนักเตะกับแรมง ดอแมแน็ก ผู้จัดการทีมชาติฝรั่งเศส ณ เวลานั้น ทั้งหมดนี้ กล่าวได้ว่าสถานะผู้กอบกู้ของนักเตะที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติภายใต้สโลแกนปลุกใจอย่าง ‘ดำ, ขาว, น้ำเงิน’ ในปี 1998 กลับกลายเป็นฝันร้ายอันน่าสยดสยองไม่ถึงศตวรรษ เมื่อพวกเขาถูกผลักให้เป็นอื่นทุกครั้งที่พ่ายแพ้ลง

จากการเหยียดเชื้อชาติในกีฬาฟุตบอล สู่ปัญหาทางสังคม:

อคติทางเชื้อชาติในฝรั่งเศสที่ยังไม่จางหายไป

ถึงแม้องค์กรระดับสูงและภาครัฐมีมาตรการตอบโต้ต่อการเหยียดเชื้อชาตินักเตะอย่างเข้มงวดมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น การฟ้องร้องและดำเนินคดีทางกฎหมายในโลกโซเซียลต่อการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) แก่นักเตะในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงของการเหยียดเชื้อชาติต่อนักฟุตบอลเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความเป็นจริงทั้งหมด โดยเฉพาะในสังคมฝรั่งเศสที่ยังคงเต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติ นับตั้งแต่ปรากฏการณ์นักการเมืองพรรค National Rally (ซึ่งจริงๆ คือพรรค National Front เดิมที่ผ่านการ rebrand มาแล้ว) อย่างเกรกัวร์ เดอ ฟูร์นาส ตะโกนในสมัชชาแห่งฝรั่งเศสเพื่อต่อว่า ส.ส.คนหนึ่งที่พูดถึงผู้อพยพว่า “กลับไปแอฟริกาซะ!” จนถึงการเสียชีวิตลงของอาดามา เทราเร่ ชายผิวดำที่เสียชีวิตเพราะการจับกุมของตำรวจจนทำให้เขาขาดอากาศหายใจในปี 2016 และปลุกกระแส ‘Black Lives Matter’ ในฝรั่งเศสเวลาต่อมา

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งฝรั่งเศส Commission Nationale Consultative des Droits de l’Homme (CNCDH) รายงานว่าการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Discrimination) และความเกลียดชังคนต่างชาติ (Xenophobia) ยังคงมีอยู่ในสังคมและควรได้รับการรับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งการแสดงออกของกลุ่มต่อต้านความเท่าเทียมมีแนวโน้มแปลกใหม่และรุนแรงยิ่งขึ้น แม้จะมีข้อสรุปว่าความตึงเครียดเหล่านี้ลดลงแล้วก็ตาม นอกเหนือจากนั้น กระทรวงมหาดไทยแห่งฝรั่งเศสยังค้นพบว่าการเหยียดเชื้อชาติในปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 16% จากปี 2020 โดยรูปแบบของอาชญากรรมส่วนใหญ่เป็นการใช้ความรุนแรง การดูหมิ่น การยั่วยุและการหมิ่นประมาทในสาธารณะ รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย คือ ชายชาวแอฟริกันหรือชนกลุ่มน้อยในสังคม แต่ไม่ถูกรายงานเท่าที่ควร เนื่องจากพฤติกรรมนี้มีลักษณะกำกวม ทำให้เหยื่อเคลือบแคลงว่าตนกำลังถูกเลือกปฏิบัติอยู่หรือไม่

ในขณะเดียวกัน ต้นปี 2023 เอลีซาเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส เปิดตัวแผนระดับชาติเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ อคติต่อชาวยิว การเลือกปฏิบัติ โดยกำหนดให้ครูและนักเรียนจะมีกิจกรรมเรียนรู้ เช่น การไปเยี่ยมชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีช่องโหว่ในการดำเนินงานขนาดใหญ่ ในขณะที่รัฐบาลพยายามปรับปรุงการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนก็จริง แต่กลับละเลยการจัดการกับการเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบที่ฝังรากลึกนับตั้งแต่อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่อคติทางเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติในเวลาต่อมา

หากนิยามความเป็น ‘พลเมือง’ ถูกผูกโยงไว้กับชาติพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในสังคมโลกนับตั้งแต่ยุคแห่งการสำรวจที่ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของผู้คน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมสู่ดินแดนใหม่ ทั้งในรูปแบบการแสวงหาความเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มใจและโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายอย่างการล่าอาณานิคม ไม่ใช่แค่เพียงทีมชาติฝรั่งเศสจะไม่ประสบความสำเร็จจนถึงจุดสูงสุดในการคว้าแชมป์โลก 2 สมัย และเป็นรองชนะเลิศในการแข่งขันครั้งล่าสุดแต่เพียงเท่านั้น แต่นั่นยังรวมไปถึง ‘ความเป็นชาติของฝรั่งเศส’ ในทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save