fbpx

นโยบายสิทธิ ‘UCEP’ ในวันที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (แต่อาจไม่)มีสิทธิรักษาทุกที่?

ucep

ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะประกาศใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ส่งผลให้ชาวไทยได้รับสิทธิรักษาพยาบาลจากหนึ่งในสามระบบหลักตามสิทธิของตน (สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ, ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) แต่สิทธิดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องเข้ารับบริการตามสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น จึงนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งต้องเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิรักษาพยาบาลที่ตนเองมี เกิดเป็นปัญหาค่าใช้จ่ายตามมา

ในปี 2560 รัฐบาลจึงประกาศนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่’ หรือ สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนพ้นระยะวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 6 อาการ ประกอบด้วย

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 

2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 

3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 

4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 

5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ 

แต่ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่นโยบายดังกล่าวถูกประกาศใช้ก็ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าเกณฑ์การวินิจฉัยถึงนิยามของ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน’ หรือการเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิ ไปจนถึงการถูกปฏิเสธการรักษา หลายคนจึงเริ่มหันกลับมามองนโยบายสิทธิ UCEP ใหม่และตั้งคำถามว่า หรือในวันที่พวกเขาเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตอาจจะไม่มีสิทธิ(รักษา)ทุกที่?

‘UCEP’ นโยบายดีที่ยังมีอุปสรรคในสนามจริง

ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนักวิจัยเรื่อง ‘การศึกษากลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการ กรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง’ มองว่า แม้นโยบายดังกล่าวจะเป็นนโยบายที่ดี แต่ก็ยังพบอุปสรรคมากมายในการปฏิบัติใช้จริง โดยมีปัญหาหลักทั้งหมด 3 ประการ ประกอบด้วย

ประการที่ 1 – ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามนโยบาย UCEP และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้สิทธิ์ของตน ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเอกชนหลายที่ไม่พิทักษ์สิทธิของประชาชน กล่าวคือไม่ยอมให้ผู้ป่วยใช้สิทธิ์ และภาครัฐไม่ค่อยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิ์ ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเมื่อพวกเขาป่วยฉุกเฉินวิกฤตแล้ว สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ราวกับนโยบาย UCEP เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

ประการที่ 2 – ปัญหาการควบคุมราคาของการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายค่าบริการราคาแพง และมีแนวโน้มว่าในอนาคตค่าบริการจะสูงมากขึ้น โดยที่ภาคประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก เพราะสินค้าประเภทบริการด้านสุขภาพนับเป็นสินค้าที่ขึ้นกับผู้ขายหรือผู้ผลิตเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้บอกว่าผู้ป่วยคนหนึ่งต้องรับบริการอะไรบ้าง ผู้ป่วยหรือในฐานะอีกอย่างหนึ่งคือผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกวิธีการรักษาได้ไม่มากนัก ดังนั้นที่ผ่านมาการควบคุมราคาจึงเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงอัตราการทำกำไร โรงพยาบาลเอกชนทุกประเภทและทุกระดับล้วนทำกำไรได้ทั้งสิ้น โดยมีอัตราการทำกำไรต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 7 และสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 50 โดยมีค่าเฉลี่ยการทำกำไรอยู่ร้อยละ 30.06

ประการที่ 3 – ความไม่มั่นใจในระบบและการทำงานของภาครัฐ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนต้องทำงานร่วมกับรัฐ เรื่องความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมา ภาคเอกชนหลายแห่งประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่นกับภาครัฐ ดังมีตัวอย่างว่าเมื่อโรงพยาบาลเอกชนต้องการเบิกจ่ายค่าบริการในระบบนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ภาครัฐกลับจ่ายเงินล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ตกลงกัน ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งกังวลว่าจะไม่ได้เงินที่เบิกไป บางที่จึงใช้วิธีให้ผู้ป่วยจ่ายค่ามัดจำไว้ หรือบางที่ก็ไม่อยากเข้าร่วม ปัญหาการดำเนินงานของภาครัฐจึงกลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาของระบบด้วย

จากข้อมูลของสภาองค์กรผู้บริโภค พบว่าตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ถึง 30 มีนาคม 2566 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสิทธิ UCEP ทั้งหมด 232 เรื่องจาก 1,979 เรื่องร้องเรียนทั้งหมด กล่าวคือมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 โดยสามารถแยกกรณีออกเป็น 7 กรณี ประกอบด้วย ได้รับความเสียจากการรักษาพยาบาล 56 เรื่อง, ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิฉุกเฉิน 53 เรื่อง, ไม่ได้รับบริการ 42 เรื่อง, ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร 39 เรื่อง, ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข 35 เรื่อง, ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง 4 เรื่อง และไม่สามารถส่งต่ออีก 3 เรื่อง

ภาพจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค

โรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่ของรัฐ จึงไม่อาจควบคุมราคาค่าบริการ?

“UCEP เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพราะว่าโรงพยาบาลรัฐมีเทคโนโลยีในการรักษาต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะโรงพยาบาลของรัฐมีไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพียง 3-4 แห่งเท่านั้นเอง ที่เหลืออยู่ภายใต้สังกัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย 

“มิหนำซ้ำโรงพยาบาลของรัฐยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีโรงพยาบาลของรัฐ 4-5 แห่งใกล้กัน ขณะที่พื้นที่ลาดพร้าวไม่มีโรงพยาบาลของรัฐแม้แต่แห่งเดียว พูดได้ว่าเมืองขยายออก แต่โรงพยาบาลของรัฐกลับไม่สามารถกระจายออกตามได้ ส่งผลให้เมื่อคนไข้เกิดสภาวะฉุกเฉินวิกฤตและต้องไปถึงโรงพยาบาลในระยะเวลาที่สั้นที่สุด โรงพยาบาลของรัฐกลับมีไม่เพียงพอ” ขวัญประชาอธิบาย

‘โรงพยาบาลของรัฐน้อยและกระจุก’ เป็นคำจำกัดความของจำนวนโรงพยาบาลของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เกิด UCEP ขึ้นมา คือการให้คนไทยสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ในภาวะวิกฤติ ภาครัฐจำเป็นต้องจ่ายค่าบริการแก่โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ‘ค่าบริการ’ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการสำรวจและเจรจาต่อรองระหว่างภาครัฐและเอกชนอยู่บ่อยครั้ง

“ที่ผ่านมา ภาครัฐต้องเจรจาต่อรองเรื่องค่าบริการกับโรงพยาบาลเอกชนโดยที่ไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนมาก่อนเลย ส่งผลให้ภาครัฐมีข้อจำกัดอย่างมากในการเจรจาต่อรอง ผลที่เกิดขึ้นคือ อัตราค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนจึงมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ประจวบเหมาะกับทางสภาองค์กรของผู้บริโภคต้องการศึกษาเกี่ยวกับอัตราค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชน ผมจึงทำงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชน” ขวัญประชากล่าว

“ท้ายที่สุดแล้ว สำหรับการเบิกจ่ายของ UCEP ภาครัฐต้องคำนวนหาอัตราค่าบริการที่พึงพอใจกับทั้งสองฝ่าย คืออัตราค่าบริการที่โรงพยาบาลเอกชนพึงพอใจสำหรับการให้บริการ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องไม่กระเป๋าฉีก เพราะภาครัฐเองก็ประเมินแล้วว่าถ้าหากต้องจ่ายตามอัตราค่าบริการที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บโดยไม่มีเพดานราคาอะไรเลย กระเป๋าฉีกแน่ๆ รัฐไม่เคยมีงบประมาณมากขนาดนั้น ดังนั้นจึงต้องมีการเจรจาต่อรองว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นอัตราที่สามารถไปด้วยกันได้” 

งานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษากลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการ กรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง’ จึงเป็นเหมือนการเติมช่องว่างของข้อมูลเหล่านั้น โดยจากข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน จากฐานข้อมูลของสํานักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ.2561-2563 พบว่าหมวดค่าบริการที่มีมูลค่าการเบิกจ่ายสูงสุด คือค่าบริการวิชาชีพ มูลค่าที่เบิกจำนวนทั้งสิ้น 668,624,220 บาท นับเป็นร้อยละ 45.23 ของการเบิกจ่ายทั้งหมด

“ประเทศไทยมีแต่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่เราไม่เคยมีเพดานของค่าแรง ซึ่งที่ผ่านมาอาชีพแพทย์ก็มีการกำหนดค่าแรงขั้นกลางโดยแพทยสภาเพื่อเป็นอัตราค่าธรรมเนียมกลาง เมื่อสำรวจการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้ป่วยก็น่าตกใจ เพราะการตรวจคนไข้หนึ่งคนซึ่งใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 2-3 นาทีต่อคน จะได้รับเงินประมาณ 1000-1500 บาท ในขณะที่ชนชั้นแรงงานได้ค่าแรกเพียง 328 – 354 บาทต่อวัน”

สำหรับค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ยกข้อมูลการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งส่งข้อมูลแก่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐ พบว่า ต้นทุนการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันสามารถจัดซื้อยาได้ในราคาเดียวกับโรงพยาบาลของรัฐ แตกต่างจากแนวคิดดั้งเดิมที่มองว่าโรงพยาบาลเอกชนซื้อยาแพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าค่าบริการหมวดยาในการเบิกจ่ายภายใต้นโยบายดังกล่าว สามารถชดเชยให้กับโรงพยาบาลเอกชนได้ และการชดเชยดังกล่าวจะไม่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนขาดทุนแต่อย่างใด มิหนำซ้ำโรงพยาบาลเอกชนก็ยังคงได้รับกำไรอยู่

จากข้อมูลข้างต้น ขวัญประชาจึงมองว่าการควบคุมราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนมีความเป็นไปได้  และแนวทางดังกล่าวจะเป็นหนทางแก้ปัญหา ทั้งในฝั่งภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน และประชาชน เพราะในเมื่อวันนี้ภาครัฐไม่มีโรงพยาบาลเพียงพอในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับประกันว่าหากประชาชนเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมากขึ้น พวกเขาทุกคนเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้

“การแทรกแซงราคาเป็นเรื่องจำเป็น เพราะผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบได้ง่ายหากไม่มีกลไกเข้ามาควบคุม ทุกคนจึงเห็นได้ว่าเมื่อไม่มีการควบคุมราคา ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยจะสร้างกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี โรงพยาบาลขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในทางกลับกันกระเป๋าเงินของประชาชนกลับเล็กลงเรื่อยๆ ดังนั้นการแทรกแซงตลาดเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้แก้ปัญหาสังคมไทยได้” ขวัญประชากล่าว

บริการด้านสุขภาพ คือ สินค้าคุณธรรม

“บริการด้านสุขภาพ คือสินค้าคุณธรรม” คือมุมมองของขวัญประชาต่อธุรกิจบริการสุขภาพ ไม่ว่าคนจะยากดีมีจนเพียงใด แพทย์ต้องรักษาชีวิตของเขาไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริการด้านสุขภาพของบางประเทศ ภาครัฐจะเป็นผู้รับประกันสิทธิทั้งหมด สำหรับประเทศไทยที่ภาครัฐไม่มีงบประมาณมหาศาลเพียงพอในการรับประกันสิทธิของทุกคนอย่างไม่จำกัด นโยบายการควบคุมอัตราค่าบริการเพื่อให้สินค้าคุณธรรมอย่างบริการด้านสุขภาพจึงยังคงต้องมีอยู่

“ผมไม่ปฏิเสธว่าโรงพยาบาลเอกชนยังจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แต่โรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องไม่ค้ากำไรเกินควรเช่นในปัจจุบัน จนกระทั่งหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนกลายเป็นหุ้นที่น่าซื้อของเหล่านักลงทุนทั้งหลาย ซึ่งมันสะท้อนว่าธุรกิจเหล่านี้มีกำไรมหาศาล

“หากวันนี้ประเทศไทยมีโรงพยาบาลรัฐเพียงพอ เราก็ไม่ต้องควบคุมอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนหรอก เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลของรัฐได้ และโรงพยาบาลเอกชนจะกลายเป็นทางเลือก แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น รัฐจึงต้องเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจจนเกินไป”

ขวัญประชาเสริมว่าภาครัฐไม่ควรปล่อยให้ตลาดของบริการสุขภาพกลายเป็นทุนนิยมเสรีเต็มที่ แต่การควบคุมนั้นต้องเป็นการควบคุมที่มีข้อมูล กล่าวคือภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อติดตาม ประเมินผล และกำกับให้กลไกดังกล่าวมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลทั้งหมด ตรวจสอบข้อมูลได้ โดยการพัฒนาระบบข้อมูลดังกล่าว ประกอบด้วย

1. ข้อมูลทางบัญชีที่สําคัญสําหรับกิจการบริการประเภทโรงพยาบาล เพื่อเอื้อต่อการติดตาม กํากับควบคุม และกําหนดราคาค่าบริการในอนาคตได้

2. ข้อมูลผลงานการให้บริการผู้ป่วย ตลอดจนข้อมูลทรัพยากรบุคคล และเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน กล่าวคือมีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บให้มีความถูกต้อง และสมบูรณ์ อีกทั้งควรมีการตรวจสอบการจัดส่ง และควบคุมกํากับการจัดส่งให้ตรงตามเวลา อาจพิจารณาให้มีบทลงโทษในกรณีที่ไม่ส่งข้อมูลหรือจัดส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน รวมถึงการนําข้อมูลที่มีอยู่ออกเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลได้

3. ข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยรายบุคคล และราคาเรียกเก็บจากผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการจัดเก็บอยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถเข้าถึงเพื่อนํามาใช้ประโยชน์ในการควบคุมกํากับ และกําหนดราคา เรียกเก็บของโรงพยาบาลเอกชนได้จริง รวมถึงพิจารณาเพื่อหาทางเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้จากผู้ป่วยประเภทอื่นๆ ของโรพยาบาลเอกชนด้วย

“ถึงที่สุดแล้วนโยบายประกันสิทธิการเข้าถึงการรักษานี้ ก็แก้ปัญหาให้คนไทยหลายคนได้ สิ่งที่กลัวคือนโยบายนี้ถูกยกเลิก หรือโรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมรับมัน แต่เมื่อเดินทางมาถึงปัจจุบันคิดว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ เหมือนกับนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่แม้จะผ่านไปกี่รัฐบาลก็ไม่ถูกยกเลิก ดังนั้นการพัฒนาเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล จึงเหลือเพียงว่าทำอย่างไรให้ระบบประกันสิทธิการรักษาของประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด” ขวัญประชาทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save