fbpx
ถึงเวลาต้องขึ้นภาษี..เพื่อสร้างอนาคต

ถึงเวลาต้องขึ้นภาษี..เพื่อสร้างอนาคต

อนาคตที่ไม่ง่าย

ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาการแพร่ระบาดของรัฐบาลโจ ไบเดน กล่าวในการสัมมนาออนไลน์ที่จัดโดย Harvard T.H. Chan School of Public Health เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ จะสามารถกลับสู่สภาพปกติได้ในช่วงปลายปี 2021 แต่ในระดับโลก การระบาดจะยังไม่หยุดภายในสิ้นปีอย่างแน่นอน และสหรัฐฯ ยังคงต้องอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส ซึ่ง ดร.เฟาซี ประเมินว่า ถ้าสหรัฐฯ สามารถเพิ่มการฉีดวัคซีนได้ 3 ล้านโดสต่อวัน ภายในไม่กี่สัปดาห์ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนให้แนวโน้มการติดเชื้อลดลง (แต่)ไม่ใช่ปราศจากการติดเชื้อ

สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ได้วันละ 2.4 ล้านโดส และสามารถฉีดไปแล้ว 44% ของประชากร (3 พฤษภาคม 2564) หากเป็นดังที่ ดร.เฟาซี กล่าว และหากอ้างอิงสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะประเมินอนาคตประเทศไทยได้ว่า สถานการณ์โรคระบาดในไทยน่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ แม้จะฉีดวัคซีนได้ครบ 50 ล้านคนในสิ้นปี ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจจะต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายครั้ง ซี่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อคนระดับกลางและระดับล่างอย่างรุนแรง

ประเทศไทยจึงน่าจะต้องจัดหาวัคซีนมากกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เหมือนอย่างหลายประเทศชั้นนำในโลกที่จองวัคซีนมากกว่าจำนวนพลเมือง เพื่อรองรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส หรือมีการแพร่ระบาดและยังคงมีการเสียชีวิตอยู่

หากไม่นับวิกฤตสุขภาพ อันที่จริงสังคมเศรษฐกิจไทยก็กำลังเผชิญความท้าทายแห่งยุคสมัยอยู่แล้ว ได้แก่ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาชีพจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายกว้างมากขึ้น เพราะคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี ทำงานที่เน้นใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งได้รับเงินเดือนค่าจ้างมากกว่า จะสามารถร่วมมือ (Complement) กับเทคโนโลยี ในขณะที่แรงงานไร้ทักษะหรืออาชีพที่ทำงานใช้ทักษะไม่ค่อยซับซ้อน กำลังจะโดนแทนที่ (Substitute) จากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

อีกทั้งภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะมีผลต่อมนุษยชาติ ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยธรรมชาติทั้งคลื่นความร้อนและอากาศแปรปรวน ผลผลิตการเกษตรถูกทำลาย ความต้องการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ และ ผลกระทบต่อเนื่องอื่น ๆ อีกมากมายมหาศาล ซึ่งคนจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่า เพราะความสามารถในการปรับตัวที่จำกัดและการขาดความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection)

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ผู้สูงอายุมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยภายในอีก 20 ปีข้างหน้า คือปี 2583 ไทยจะมีคนแก่ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากร ถ้านิยามผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรหากนิยามด้วยอายุ 60 ปีขึ้นไป

ประชากรที่เกิดในช่วงปี 2506-2526 ยุค Baby Boom ที่มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนต่อปีกำลังเข้าสู่อายุ 60 ปี ซึ่งหมายความว่า คนอายุ 60 ปีขึ้นไป กำลังจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ด้วยโครงสร้างประชากรแบบนี้ คนในวัยทำงานสร้างชาติในยุคสมัยถัดไป จะเผชิญสถานการณ์ที่ลำบากกว่าคนทำงานรุ่นปัจจุบัน โดยจะต้องรับภาระเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ซึ่งย่อมส่งผลต่อความสามารถที่จะลงทุนด้านการศึกษาหรือลงทุนทำธุรกิจ

คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากประเมินอนาคตของตนเองในประเทศนี้ไม่สดใสนัก จึงเกิดเป็นกระแส ‘ย้ายประเทศ’ ในโซเชียล ความเป็น ‘พลเมืองโลก’ ของคนกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขามองเห็นและสามารถเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าหากไปใช้ชีวิตทำงานจ่ายภาษีในประเทศพัฒนาแล้ว  

ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอัปลักษณ์มาก

ปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19 ได้เปลื้องเปลือยความอ่อนแอและความเปราะบางในระดับโครงสร้างของสังคมไทย และทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนรวยสุดๆ และประชากรส่วนใหญ่ ยิ่งแผ่ขยายมากขึ้น

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ติดอันดับแรกๆ ของโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 50 ตระกูลรวยที่สุด มีทรัพย์สินเพิ่มเฉลี่ยต่อปี 20-30% หรือรวยขึ้นเฉลี่ย 6 เท่า โดย 50 ตระกูลนั้นมีทรัพย์สินรวมกัน 5 ล้านล้านบาท หรือ มากกว่างบประมาณแผ่นดินซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท เกือบ 70 %

หากจำแนกการครอบครองที่ดินตามขนาดเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน สัดส่วนการของกลุ่มมีที่ดินมากสุด ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มมีที่ดินน้อยสุด 300 กว่าเท่า

ผู้ที่ถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุดมักเป็นบุคคลไม่กี่ตระกูลที่เป็นอภิมหาเศรษฐี และมีมูลค่าการถือครองหุ้นทั้งหมดสูงเสียดฟ้า โดยในปี 2553 และ 2554 ผู้ถือครองหุ้นมีมูลค่ามากที่สุด 10 อันดับแรก ถือครองหุ้นมีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 ล้านบาท

ในขณะที่ข้อมูลต้นปี 2564 ชี้ว่า ผู้ถือครองหุ้นมีมูลค่ามากที่สุด 10 อันดับแรก ถือครองหุ้นมีมูลค่ารวมกันเกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งรวยขึ้นกว่า 30,000 ล้านบาท จากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

ความเหลื่อมล้ำส่งผลลบต่อสังคมอย่างมิต้องสงสัย งานวิจัยนานาชาติด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาสรุปว่า ความเหลื่อมล้ำไม่เพียงแต่จะกดทับศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ยังทำให้ประเทศมีความเสี่ยงกับความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองอีกด้วย

ประเทศไทยสามารถสร้างความเสมอภาคได้มากขึ้น โดยจัดสรรการถือครองทรัพย์สินใหม่ ใช้ภาษีทรัพย์สินในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะได้ผลมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ค่อนข้างยากและมีฐานภาษีแคบ จึงมีผลน้อยมากต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้

นอกจากนี้ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีจะช่วยยกระดับการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลให้ใกล้เคียงกับ ‘ศักยภาพในการเสียภาษี’ มากขึ้นด้วย และยังทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมและเสมอภาคมากขึ้น

ประเทศไทยยังไม่ได้เก็บภาษีอย่างเต็มศักยภาพ

การที่บริการสาธารณะและระบบรัฐสวัสดิการมีไม่เพียงพอและคุณภาพย่ำแย่ ดังที่สะท้อนให้เห็นตั้งแต่ก่อนยุคโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะว่ารัฐมีงบประมาณจํากัด ซึ่งเกิดจากการเก็บภาษีได้น้อย (ยังไม่รวมที่ถูกโจรกรรมไปอีกมูลค่ามหาศาล)

ประเทศไทยมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียงร้อยละ 18 ของจีดีพี ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยสาเหตุของการจัดเก็บภาษีได้น้อยมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น อัตราภาษีที่ต่ำเกินไป การลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุน

ในการลดหย่อนภาษีและการมีข้อยกเว้นต่างๆ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดมักเป็นกลุ่มคนรวย ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคคล อากรขาเข้าและขาออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีบาป ซึ่งทำให้บรรดาเจ้าสัวที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตปลอดอากร และนิคมอุตสาหกรรม หรือกระทั่งการโอนมรดกให้ลูกแฝด 2 คนๆ ละ เกือบ 100 ล้านบาท ก็ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก เพราะมูลค่าที่รับโอนน้อยกว่า 100 ล้านบาท เป็นต้น เพราะฉะนั้นการลดหย่อนและยกเว้นภาษีเหล่านี้ทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง เสียรายได้มหาศาล

ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐศาสตร์และทางศีลธรรม – ภายในระยะสั้น ผู้เขียนเสนอว่า นโยบายที่สามารถทำได้ คือ ‘Earmarked VAT‘ ซึ่งก็คือ ‘การเพิ่ม VAT โดยกำหนดให้ใช้สำหรับสวัสดิการเท่านั้น’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนระดับกลางและระดับล่าง และป้องกันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ

ส่วนในระยะยาว รัฐควรจะเร่ง ‘ปฏิรูประบบภาษี‘ เพื่อหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากกลุ่มคนที่รวยที่สุดของประเทศ

ทั้ง 2 วิธี จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีรายได้สำหรับงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละเป็นแสนล้านบาท

ความหวังเพื่อคุณภาพชีวิต

ผลจากโควิด-19 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อจำกัดในการจ่ายหนี้สาธารณะในอนาคต และทำให้ศักยภาพในการเติบโตของประเทศสูญหายไปอย่างมหาศาลจากเศรษฐกิจติดลบ ในขณะที่ประเทศกำลังต้องการงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อเยียวยาประชาชน (ไม่ต้องพูดถึงว่า แต่เดิมงบประมาณสำหรับสวัสดิการคุ้มครองประชาชนก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว)

ดังนั้น จึงได้เวลาแล้วที่ประเทศไทยต้อง “ปฏิรูปภาษีทั้งระบบ” และ “เพิ่ม VAT โดยกำหนดให้นำรายได้ส่วนนี้ไปใช้สำหรับการจัดสรรสวัสดิการเท่านั้น” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้สนับสนุนมานานแล้ว และเป็นนโยบายปกติที่ทำกันในประเทศพัฒนาแล้ว

แนวนโยบายนี้สอดคล้องรายงาน Fiscal Monitor ของ IMF ประจำเดือนเมษายน 2021 ที่เสนอให้เพิ่มงบประมาณด้านสังคม เพื่อพัฒนามาตรการรองรับทางสังคม ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาการเข้าถึงที่เป็นธรรมสำหรับระบบสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว  

ทั้งนี้ IMF ได้เสนอให้เก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจที่ได้โอกาสทำกำไร ในช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 เพื่อการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและความปรองดองในสังคม

ในต่างประเทศก็เริ่มมีการขยับนโยบายแล้วเช่นกัน โดยรัฐบาลโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยไม่ขึ้นภาษีประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่จะเน้นขึ้นภาษี 2% สำหรับเศรษฐีที่ครอบครองทรัพย์สินมูลค่า 50-1,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มภาษี 3% สำหรับเศรษฐีที่รวยระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป

Earmarked VAT:  บททดลองเสนอเชิงนโยบาย

ในระยะสั้น ผู้เขียนคิดว่า ประเทศไทยสามารถทำ Earmarked VAT เช่น เพิ่ม 0.5% เพื่อนำรายได้มาใช้กับสวัสดิการของประชาชนโดยตรง แต่เนื่องจากการขึ้น VAT นั้นส่งผลกระทบต่อ ‘ผู้บริโภค’ โดยตรง ผู้เขียนเห็นว่า นโยบายนี้จึงควรที่จะได้รับความเห็นชอบจากประชาชน โดยเป็นโอกาสดีที่จะทดลองหยั่งเสียงประชาชนในการทำนโยบายสาธารณะด้วย เช่น ถ้าต้องการทราบเสียงจากประชาชน ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็น่าจะสามารถขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้บริการ SMS ฟรี เพื่อการโหวตลงความเห็น

ถ้าประชาชนเห็นด้วย จนนำไปสู่การขึ้นอัตรา VAT จริง เพื่อนำไปสร้างประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้จ่ายภาษี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน จะต้องควบคุมการฉวยโอกาสไม่ให้นายทุนผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภคทั้งหมด

หากนโยบายนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าในระยะยาว การจะผลักดันนโยบายภาษีเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการนั้น จะต้องมาจากความต้องการของประชาชนผู้เสียภาษี ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองแข่งขันกันนำเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก อย่าลืมว่า ในการเลือกตั้งครั้งก่อน พรรคการเมืองหลายพรรคได้เสนอฝันรัฐสวัสดิการ โดยยกมือไหว้ แทบจะก้มลงไปกราบขอคะแนนจากประชาชน แต่พอเข้าไปอยู่ในสภาแล้ว กลับไม่สามารถทำได้อย่างที่หาเสียงไว้ ในคราวถัดไป ประชาชนควรที่ใช้คะแนนแสดงเจตจำนงและลงโทษพรรคเหล่านั้นเสีย

อย่างไรก็ตาม การได้เงินงบประมาณมากขึ้นไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย เมื่อได้เงินมาแล้ว การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ จะต้องมุ่งเป้าไปที่ด้านสวัสดิการซึ่งมีประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน เช่น การลงทุนแบบถ้วนหน้าให้กับเด็กปฐมวัย การขยายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การเพิ่มเงินชดเชยรายได้การตกงาน การอนุมัติให้งบรายหัวบัตรทองตามที่ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ และการเพิ่มการจัดบำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่นอกระบบ เพื่อรองรับคนจนสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเดิมจากวิกฤติโควิด-19

บทสรุป

เมื่อ 20 ปีก่อน สมัยที่กำลังจะก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีผู้ที่คัดค้านและไม่เชื่อว่า ประเทศไทยจะมีงบประมาณเพียงพอ แต่ความก้าวหน้าของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นข้อพิสูจน์ว่า “การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นบวกใดๆ สำหรับประเทศไทย สามารถที่จะเกิดขี้นเป็นจริงได้” และยังเป็นตัวอย่างความภาคภูมิใจในระดับโลก เป็นแรงบันดาลใจให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลายเป็นเป้าหมายและเจตนารมณ์ร่วมกันของมนุษยชาติในปัจจุบัน

ดังนั้น ประชาชน ข้าราชการ นักวิชาการ และนักการเมือง ที่มีความฝันอยากจะเห็นการจัดสรรทรัพยากรจากเงินภาษี เพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำสุดขีด และจัดลำดับความสำคัญงบประมาณใหม่ (Budget Reprioritization) โดยมุ่งให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลงทุนให้กับอนาคตของประเทศ จึงควรที่จะมีความหวัง และ ช่วยกันขับเคลื่อนเรียกร้องเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งสมเหตุผลทั้งทางเศรษฐศาสตร์และศีลธรรม


อ้างอิง

‘Very strong degree of normality’ likely by year’s end

Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand

งานวิจัย เผยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่สูงกว่าประวัติศาสตร์ที่เคยมีมากว่า 8 แสนปี

ปี 64 ลานีญาแผลงฤทธิ์ แล้งกระจุกท่วมกระจาย

Climate change hits the poor hardest. Here’s how to protect them

คนรวยสุดขีดมันเป็นยังไง

เปิด10 อันดับเศรษฐีหุ้นไทยQ1 มั่งคั่งเพิ่มกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ภาษีที่ดินฯ กระเทือนใคร?

ภาษีที่ดินและมรดก: ใครมี ใครจ่าย ใครได้ประโยชน์

นักวิชาการชี้ความมั่งคั่งของไทยอยู่ที่ใคร! คน 20% ครองทรัพย์สินสุทธิเกินครึ่งประเทศ

5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความเหลื่อมล้ำและภาวะโลกร้อน โอกาสและความท้าทายใหม่ของไทย ปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เส้นทางสู่ความ(ไม่)เสมอหน้า ‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’

โครงการวิจัยการประมาณการงบประมาณสําหรับผู้สูงอายุและแหล่งที่มาของเงิน

เปิดงานวิจัย ความยากจนและขัดสน อุปสรรคต่อความพร้อมเด็กปฐมวัย

การพัฒนาประสิทธิภาพทางการคลังที่ยั่งยืนสำหรับระบบประกันสุขภาพ

ชี้แจกเงินคนจนไม่เลวร้าย แต่ต้องยั่งยืน ที่ทำอยู่คือหาเสียง ให้ครั้งเดียวก่อนเลือกตั้ง

เปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทยด้วยการปฏิรูปภาษี

ภาษีลดความเหลื่อมล้ำ โดยสมหมาย ภาษี

การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยมาตรการทางการคลัง

ระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

รายงาน: ความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีไทย (1)

รายงาน: ความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีไทย (2)

ความเหลื่อมล้ำอันรุนแรง

‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ ลดเหลื่อมล้ำยังต้องดูอีกยาว

ส.ส.เดโมแครตเสนอแผนขึ้นภาษีคนรวยล้นฟ้าชาวอเมริกัน หวังลดความเหลื่อมล้ำ

เก็บภาษีกำไรหุ้น เพิ่มหรือลด ความเหลื่อมล้ำ ?

ภาษีกำไรขายหุ้น

การเสนอให้จัดเก็บ “ภาษีกำไรขายหุ้น” หรือ Capital Gains Tax ของสภาพัฒน์

คอลัมน์ : ลูบคมตลาดทุน

ยิ่งลดหย่อน…ยิ่งเหลื่อมล้ำ?: บทเรียนจากการให้สิทธิลดหย่อนภาษี LTF และ RMF

ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save