fbpx

ลิงโลกเก่าในเมืองใหม่: ลิงลพบุรี ปัญหา ‘ลิงแก้แห’ ที่ควรแก้ได้

1

ลพบุรี, 2567

บริเวณหน้าพระปรางค์สามยอด มีวัตถุและสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากคนละช่วงเวลาดำรงอยู่ร่วมกันอย่างน่าประหลาดใจ หากนักข้ามเวลาจากอดีตมีจริง คงใช้เวลาทำความเข้าใจภาพตรงหน้าอยู่หลายวัน

หนึ่ง ปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะบายนที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 800 ปีที่แล้ว ตั้งตระหง่านบนพื้นหญ้าสีเขียว หินที่เก่าคร่ำคร่าและซีดเซียวเป็นเครื่องยืนยันความยาวนานของอายุ

สอง ลิงแสมหลายร้อยตัว นั่ง นอน วิ่ง เดิน ปีน อยู่บนปราสาทศิลาแลงและเกาะตามหน้าต่างของตึกแถวรอบบริเวณนั้น ลิงชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca fascicularis อยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า โดยธรรมชาติมักอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนและบริเวณใกล้น้ำ แต่ภาพที่เห็นตอนนี้ สิ่งที่ใกล้เคียงแหล่งน้ำที่สุดคือน้ำขังบนพื้นปูนเท่านั้น

สาม รถยนต์และรถไฟพลังงานสันดาปสัญจรไปมารอบปราสาทศิลาแลง โดยมีมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์เป็นผู้ควบคุมพวงมาลัย

ในช่วงเวลาไม่ถึงห้านาที มีรถกระบะกว่าสามคันที่ถูกลิงกระโดดขึ้นไปหยิบ ‘ถุง’ ลงมาจากรถด้วยความรวดเร็วระดับเสี้ยววินาที – ไม่สำคัญหรอกว่าในถุงนั้นจะเป็นท่อพีวีซี น้ำมันเครื่อง เสื้อผ้ายับๆ ห่อหนังสือ หรือของกิน เพราะหลักการของลิงคือ ‘เอามาก่อน กินได้หรือไม่ได้ ว่ากันอีกที’

กระบะสีขาวคันหนึ่งไม่ได้ปิดผ้าคลุมด้านหลังเอาไว้ ทำให้โชคดีเป็นของลิงกลุ่มนี้ ถุงพลาสติกนั้นประกอบไปด้วยขนมปังไส้สังขยา นมเปรี้ยวพร้อมหลอด และซองขนมขบเคี้ยว หัวโจกของกลุ่มฉีกทึ้งถุงออกมาอย่างรวดเร็ว ใช้กล้ามเนื้อมือบิดขนมปังออกมาเป็นชิ้นๆ ลิงหลายตัวในกลุ่มวิ่งกรูเข้ามาเพื่อแบ่งอาหารในถุงนี้ด้วย มีบางตัวที่ขยับช้ากว่าใครเพื่อน สุดท้ายได้ถุงพลาสติกขาดรุ่งริ่งเป็นอาหาร – และโชคร้ายของคุณลุงบนรถ ที่อุตส่าห์วิ่งเท้าเปล่าลงมาเพื่อแย่งถุงคืนจากกลุ่มลิง แต่ไม่ทันความเร็วในการแบ่งสันปันส่วนอาหารอย่างหิวโหยนี้ ได้แต่วิ่งกลับขึ้นรถมือเปล่า เดาไม่ได้ว่าในใจเจ็บแค้นหรือเสียดายแค่ไหน

หากขยายภาพออกมามุมกว้าง ลิงกลุ่มนี้เป็นเพียงลิงกลุ่มเล็กๆ ของลิงฝูงใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามบริเวณอาคารพาณิชย์เท่านั้น ยังมีลิงอีกกว่าร้อยตัวที่ปีนป่ายอยู่ตามขอบหน้าต่าง เดินเชื่องช้าบนดาดฟ้า และห้อยโหนอยู่ตามตะแกรงเหล็ก

อาคารพาณิชย์ใจกลางเมืองที่ควรจะเป็นแหล่งการค้าคึกคักของลพบุรี กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ของลิงจำนวนมาก กลุ่มอาคารเหล่านี้เงียบเหงาไปทั้งแถบ ถูกปล่อยให้รกร้าง สีผนังหลุดล่อน ประตูบานเฟี้ยมปิดเงียบ ป้ายชื่อร้านเต็มไปด้วยฝุ่น ส่วนฟุตปาธผุพังและสกปรก มีร้านค้าจำนวนนับนิ้วข้างเดียวที่ยังเปิดในบริเวณนั้นได้ ที่ยังเปิดอยู่คือร้านขายเสื้อผ้า ขายอะไหล่รถยนต์ และขายสี

มีคนพื้นที่หย่อนมุกตลกอันเจ็บแสบไว้ว่า “ร้านที่ยังอยู่ได้ เพราะขายสิ่งที่ลิงกินไม่ได้” ส่วนร้านอาหารที่อยู่บริเวณนั้น ต้องเลือกเปิดตอนเย็นไปถึงกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ลิงหลบเข้ามุมเพื่อพักผ่อนแล้ว

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเดินชมโบราณสถาน หลังจากจ่ายค่าตั๋วเข้าชมไปแล้ว จะได้ไม้เรียวยาวคนละหนึ่งอันเพื่อเตรียมรับมือกับลิงที่อาจเข้ามาแย่งแว่นตา กล้อง หรือโทรศัพท์ นี่จึงนับเป็นประสบการณ์การท่องประวัติศาสตร์ที่เราต้อง ‘เปิดสัมผัส’ มากกว่าครั้งไหนๆ

นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘ลิง’ ที่ดำเนินอยู่ในลพบุรีมาหลายสิบปี และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนของลิงและพื้นที่ที่ลิงกระจายไปอยู่อาศัยในเมือง

หลายคนอาจให้ความเห็นว่าควร ‘set zero’ แต่ในความเป็นจริงไม่อาจทำแบบนั้นได้ และปัญหาก็ไม่ได้เป็นสีขาวกับดำอย่างที่เราเข้าใจ ก่อนจะตัดสิน เราค่อยๆ หาทางออกด้วยการเดินเข้าไปในอาณาจักรลิงลพบุรีพร้อมกัน

2

“ตีห้า ลิงก็ลงจากตึกแล้ว มีคนเอารถมาจอดให้อาหาร มันก็กระโดดแย่งอาหารกันบนหลังรถ” ป้าเพ็ญ คนทำความสะอาดบริเวณอาคารพาณิชย์รอบพระปรางค์สามยอด เล่าวัตรปฏิบัติของลิงให้ฟัง

ปกติป้าเพ็ญจะมาถึงที่นี่พอดีกับที่ลิงตื่น หลังจากลิงกินอาหารเช้าแล้ว ก็เริ่มมีการกวาดพื้นเพื่อทำความสะอาดในรอบแรก หลังจากนั้นลิงก็จะเฝ้าคอยหาของกินทั้งวัน (เช่น ปีนกระบะรถเพื่อขโมยอาหาร) ป้าเพ็ญจะอยู่คอยทำความสะอาดทั้งวันจนใกล้เย็นค่อยกลับบ้าน

สำหรับคนที่ไม่ค่อยชินกับสัตว์ การเดินเข้าไปในฝูงลิงอาจเป็นเรื่องไม่น่าสบายใจนัก แต่ป้าเพ็ญยืนยันว่าลิงลพบุรีไม่ทำร้ายคน ถ้าคนไม่ไปจับมันก่อน

“ถ้าเราไปจับตัวมัน มันจะหาว่าเราทำร้ายมัน แต่ถ้าอยู่เฉยๆ มันจะไม่ทำอะไร อย่าไปจับมันก็แล้วกัน” ป้าเพ็ญว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อควรระวังเลย เพราะคนจำเป็นต้องระวังสิ่งของที่ลิงจะแย่งได้ เช่น แว่นตา โทรศัพท์ และขนม

ความคิดของลิงในการแย่งสิ่งของอยู่ในระดับไม่ธรรมดา เพราะลิงเรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์จนสามารถเข้าใจได้ว่า แม้โทรศัพท์จะกินไม่ได้ แต่สามารถใช้เป็นตัวประกันเพื่อรอให้คนเอาอาหารมาไถ่ได้ นี่จึงเป็นความซับซ้อนเหมือนการรับมือกับเด็กอายุ 3-6 ขวบที่เคลื่อนไหวได้เร็วเหนือมนุษย์

เมื่อถูกถามว่า อยู่กับลิงมาขนาดนี้ ถ้าพูดกับลิงรู้เรื่องจะบอกลิงว่าอะไร ป้าเพ็ญหัวเราะแล้วบอกว่า “อย่าดื้อ อย่าซน” ในจังหวะเดียวกันที่ลิงตัวเล็กของฝูงดึงสายรัดของบนรถมอเตอร์ไซค์ป้าไปแล้ว

“ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนะ ป้าเกิดมาลิงก็อยู่ที่นี่แล้ว” ป้าเพ็ญทิ้งท้ายบทสนทนา ในระหว่างบรรทัด ป้ากำลังหมายถึงว่า เมื่อลิงอยู่มาก่อนคน เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน

หากมาดูที่ตัวเลขจำนวนประชากรลิง มีการสำรวจโดยส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่นับไว้เมื่อปี 2566 ระบุว่ามีลิงในเมืองลพบุรีจำนวน 2,206 ตัว ซึ่งลดลงจากที่นับไว้เมื่อปี 2561 ตอนนั้นนับได้ 3,121 ตัว

ลิงตึกที่เราเห็นกันในยามสัญจรนั้น เป็นเพียงหนึ่งในลิงเจ็ดกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองลพบุรีเท่านั้น โดยทางส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ แบ่งลิงออกเป็นกลุ่มดังนี้ (1) ปรางค์สามยอด (2) มาลัยรามา (3) ตลาดมโนราห์ (4) โรงแรมเมืองทอง (5) ร้านชโยวานิช (6) ร้านเซ่งเฮ็ง (7) วินรถตู้

แต่เมื่อมองในรายละเอียด ในลิงเจ็ดกลุ่มนี้สามารถเคลื่อนตัวหากันได้ จึงสามารถแบ่งออกเป็นสี่โซนหลัก คือ (1) ศาลพระกาฬ (2) ปรางค์สามยอดและมาลัยรามา (3) ตลาดมโนราห์และโรงแรมเมืองทอง (4) ร้านชโยวานิช ร้านเซ่งเฮ็ง และวินรถตู้

ตัวเลขประชากรลิง 2,000-3,000 ตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ขยายตัวขึ้นมาจากในอดีต หากนับตั้งแต่ปี 2543 ก่อนการสร้างโรงพยาบาลลิงในสวนสัตว์ลพบุรีขึ้นมา ตอนนั้นมีลิงในเขตเมืองเก่าประมาณไม่เกิน 600 ตัวเท่านั้น และจำกัดบริเวณอยู่ที่ศาลพระกาฬและปรางค์สามยอด

หากพูดกันตามลักษณะระบบนิเวศ แต่เดิมบริเวณศาลพระกาฬและปรางค์สามยอดเคยเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ย้อนกลับไปนานกว่านั้น มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อพันปีที่แล้วพื้นที่ลพบุรีเคยเป็นทะเลมาก่อน จากการค้นพบแร่ธาตุดินสอพอง ยังไม่นับว่ามีตำนานเรื่อง ‘ทะเลชุบศร’ ที่เป็นชื่อตำบลในอำเภอเมืองของลพบุรี ปัจจุบันยังมีร่องรอยหลงเหลือเป็นคูเล็กๆ ที่ทหารขุดขึ้นใกล้ค่ายเอราวัณ เมื่อลักษณะภูมิศาสตร์เปลี่ยน จังหวัดลพบุรีดำรงพื้นที่เป็นป่าไม้มายาวนานจนกระทั่งถึงยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการพัฒนาเมืองขึ้นตามลำดับ

เมื่อมองไปที่ธรรมชาติของลิงแสม ลักษณะการใช้ชีวิตของมันสะท้อนผ่าน common name ที่ว่า Crab-eating Macaque กล่าวคือเป็นสัตว์กินหอยกินปู ลิงแสมใช้ ‘หางยาว’ ไว้หย่อนลงไปในน้ำเพื่อตกหอย กุ้ง และปูเป็นอาหาร ซึ่งเป็นอาหารในบริเวณป่าโกงกางและทะเล ลิงแสมชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้มากกว่าพื้นดิน แต่พวกมันก็สามารถว่ายน้ำและถึงขั้นดำน้ำจับเหยื่อได้ด้วย

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทั้งหมด จากต้นไม้ใหญ่สู่ตึกแถว จากผืนดินสู่ถนนลาดยาง จากเถาวัลย์สู่สายไฟ จากผลไม้บนต้นสู่อาหารจากมือคน การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่กลับตาลปัตรส่งผลให้วิถีชีวิตของลิงเปลี่ยนไปมหาศาล และแน่นอนว่าลิงต้องปรับตัว แต่การปรับตัวนั้นส่งผลอันตรายต่อทั้งมนุษย์และลิงเอง – โดยเฉพาะ ‘ลิงตึก’ ที่ถูกมองว่าสร้างปัญหาให้คนและเป็นกลุ่มที่หิวโหยมากที่สุด

ลิงตึก หรือลิงที่อาศัยอยู่บริเวณอาคารพาณิชย์รอบปรางค์สามยอด มีองค์ประกอบทุกอย่างที่หมายถึงคุณภาพชีวิตไม่ดี คือ อยู่ในพื้นที่ห้ามให้อาหาร ต้องข้ามถนนหรือปีนขึ้นรถเพื่อหาอาหาร ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และถูกกีดกันจากลิงกลุ่มอื่นที่อยู่ในพื้นที่อนุญาตให้อาหารได้ จนนำไปสู่พฤติกรรมการทำลายข้าวของและแย่งอาหารจากมนุษย์ที่สัญจรไปมาบริเวณนั้น

การ ‘ถูกกีดกัน’ นี่เอง คือที่มาของภาพลิงยกพวกตีกันที่เราเห็นกันบ่อยในหน้าสื่อ เพราะมีการข้ามเขตไปกินอาหารของกลุ่มอื่น และส่วนมาก ลิงตึกจะเป็นกลุ่มที่ต้องทนหิวโหยและเจ็บตัวทุกครั้ง

สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการแนวคิดเรื่องการจัดพื้นที่ให้อาหารลิง ซึ่งมาจากความตั้งใจที่จะจัดระเบียบเมืองให้เรียบร้อยสะอาดตา โดยจัดพื้นที่ให้อาหารลิงไว้หลังปรางค์สามยอดใกล้โรงหนังมาลัยรามา ในศาลพระกาฬ และในซอยตลาดมโนราห์ (กรงใส่อาหารเม็ด) ส่วนพื้นที่ฟุตปาธหน้าปรางค์สามยอดและตามอาคารพาณิชย์นั้นมีป้าย ‘ห้ามให้อาหารลิง’ ติดไว้ โดยคาดหวังว่าจะให้ลิงไปรวมกันกินอาหารที่เดียวให้เป็นที่เป็นทาง

ในความเป็นจริง โลกไม่ได้ง่ายเช่นนั้น – คงไม่ใช่การกล่าวเกินไปนักที่จะบอกว่า ลิงก็เหมือนคน เพราะแม้มนุษย์จะมีทรัพยากรและสินทรัพย์มากมาย แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงสิ่งนั้นได้ ลิงก็เช่นกัน ที่ไม่อาจข้ามเขตไปกินอาหารของกลุ่มอื่นได้ ซึ่งมาจากการ ‘ไม่อนุญาตให้ข้ามเส้น’ ของลิงด้วยกันเอง

“ตรงนี้เป็นจุดให้อาหารใหญ่ของลิงในเมืองลพบุรี” ป้ามาลี คนพื้นที่ลพบุรี ที่ดูแลให้อาหารลิงบริเวณลานหลังปรางค์สามยอดและข้างโรงหนังมาลัยรามามานานกว่า 12 ปี เล่าสถานการณ์ให้ฟัง ไหล่ข้างหนึ่งมีลิงตัวเล็กเกาะอยู่อย่างคนคุ้นเคย

“ลิงวิกมาลัยรามาตรงนี้ไม่ดุ เพราะเขาอิ่ม แต่ที่ลิงตึกในเมืองดุ เพราะเขาหิว” ป้ามาลียืนเล่าท่ามกลางลิงหลายสิบตัวที่กินหัวกะหล่ำปลีอย่างเอร็ดอร่อย ป้ามาลีให้เกร็ดความรู้ว่าลิงชอบกินหัวแข็งๆ ตรงกลางกะหล่ำปลี และของโปรดที่สุดอีกอย่างคือผักชีลาว – ป้ามาลีไปเอาผักเหล่านี้จากตลาดตั้งแต่ตี 4

“ลิงในเมือง น้ำยังไม่มีกินกันเลย ต้องไปกินน้ำแอร์กัน ลิงพวกนั้นก็ไปจากตรงนี้แหละ แต่กลับมาไม่ได้” ป้ามาลีขยายความหิวโหยของลิงให้เห็นภาพ

ลิงหลายตัว เมื่ออยู่ที่ไหนแล้วอาหารไม่พอ ก็มีความพยายามไปหาที่อยู่อื่น เพราะคิดว่าอาจมีอาหารให้กินมากขึ้น ไม่ต้องแย่งชิงกับลิงอีกจำนวนมาก แต่เมื่อไปแล้วกลายเป็นร้างไร้ทรัพยากรมากกว่าเดิม ส่งผลให้ต้องเผชิญความยากลำบาก ครั้นจะกลับมากับกลุ่มเดิม ก็กลายเป็นคนแปลกหน้ากันไปเสียแล้ว

“ลิงผิดกลิ่นกันแล้ว กลับมาก็โดนกัด” ป้ามาลีบอก “ถ้าลิงในเมืองเห็นว่าตรงนี้มีอาหาร เดินมากินด้วยกันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดีสิ ลิงจะได้อยู่ตรงนี้ทั้งหมด จำกัดบริเวณให้เขาอยู่ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ พอลิงในเมืองไม่มีกิน เขาก็เลาะตามบ้านแล้ว เข้าตลาด ไปวัด เลาะตามสายไฟ เขาจะไปเรื่อย ไม่สนโลกแล้ว” ป้ามาลีลงรายละเอียด 

ระหว่างพูดคุยมีคนขับรถมอเตอร์ไซค์เอาอาหารมาให้ลิงเรื่อยๆ ส่วนมากเป็นผักและผลไม้ วัยรุ่นคู่หนึ่งบอกว่า “คนที่อื่นไม่เข้าใจ มักมาด่าว่าทำไมมาให้อาหารลิง แต่ถ้าเราไม่ให้มันก็หิว พอหิวแล้วมันก็ไปสร้างปัญหา”

คำว่า ‘หิวแล้วสร้างปัญหา’ เป็นประเด็นสำคัญที่กลายเป็นข้อขัดแย้งของคนในเมืองลพบุรี ที่มีทั้งกลุ่มที่มองว่าไม่ควรให้อาหารลิง เพราะสร้างนิสัยและความสกปรก ขณะที่อีกกลุ่มก็มองว่าหากไม่ให้อาหารลิง ก็ยิ่งทำให้ลิงหิวและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คน

แม้จะมีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นนี้ แต่หนึ่งในเรื่องที่หลายคนเห็นตรงกันคือลิงที่สร้างความเดือดร้อนจริงๆ คือลิงในเมืองหรือลิงตึก ที่ควรทำหมันและจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้

“เอาลิงตามตึกในเมืองออกไปน่ะดี เพียงแต่เราต้องหาที่อยู่ให้เขา มีที่กินให้เขา เพราะเขาอด เลยไปทำลายข้าวของ รถรา มอเตอร์ไซค์หิ้วอะไรมา ลิงฉกก่อน ไม่เกี่ยวว่ากินได้หรือไม่ได้ เพราะว่าไม่มีจุดให้อาหารในเมืองให้เขากิน” ป้ามาลีกล่าว

พระอาทิตย์ใกล้ตกดิน รถไฟขบวนมุ่งหน้าสู่นครสวรรค์เปิดหวูดมาแต่ไกล แสงแดดเริ่มอ่อนโยน ลิงหลายคู่หลบฉากไปหาเห็บให้กันตรงพื้นที่กำแพงทอดเงาถึง ลิงที่อยู่ในบริเวณปรางค์สามยอดซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาพระพุทธรูปและก้อนศิลาแลง

“มองตาลิงดีๆ ตาเศร้าเหมือนหมา แล้วขี้อ้อนมาก มันก็น่ารักของมัน” ป้ามาลีว่าแล้วก็เพยิดหน้าไปทางลิงที่กินหัวกะหล่ำปลีอยู่ มันมองกลับมาตาแป๋ว ไม่แน่ใจว่ากลัวเราเข้าไปแย่งหรืออยากผูกมิตร

3

ปัญหาของลิงตึกไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องความหิวโหยเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคืออุบัติเหตุรถชน

ถนนกลางเมืองที่มีรถราสัญจรไปมาแทบตลอดเวลา ขณะเดียวกันเหล่าลิงที่หิวโหยก็มุ่งมั่นที่จะหาอาหาร ทำให้ลิงข้ามถนนไปมา จังหวะจะโคนของการปะทะย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

“ถ้าลิงเจ็บป่วยก็เอาไปให้หมอเตย” คือประโยคที่คนในตลาดมักพูดถึง เมื่อมีสถานการณ์ลิงเจ็บป่วย

สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ สุพะนาม หรือที่คนลพบุรีมักเรียกว่า ‘หมอเตย’ คือสัตวแพทย์คนแรกที่ประจำโรงพยาบาลลิงในสวนสัตว์ลพบุรีเมื่อปี 2546 และหลังจากโรงพยาบาลลิงปิดตัวไปในปี 2548 หมอเตยก็ยังทำหน้าที่สัตวแพทย์ดูแลลิงในลพบุรีอยู่ โดยเปิดคลินิกของตัวเองในชื่อ ‘คลินิกหมอเตยสัตวแพทย์’ รับรักษาสัตว์เลี้ยงทั่วไปและดูแลลิงที่ได้รับบาดเจ็บและป่วยไข้

ทันทีที่มีลิงบาดเจ็บ ไม่ว่าจะจากรถชน ตกตึก หรือการทะเลาะวิวาทของลิงด้วยกันเอง คนในชุมชนและหน่วยกู้ภัยจะช่วยชีวิตลิงแล้วนำมาส่งที่คลินิกหมอเตย เมื่อมีลิงเข้ามา หมอเตยจะโทรแจ้งไปที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลลิงในพื้นที่ลพบุรีโดยตรง เพราะลิงแสมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

คลินิกหมอเตยตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่เมืองเก่านัก เป็นคูหาเล็กๆ ในห้องแถว ด้านหลังมีห้องเก็บลิงที่ได้รับบาดเจ็บ โดยมีทีมสัตวแพทย์ทำงานอยู่ด้วยกันประมาณ 3-4 คน

สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ สุพะนาม

“ตัวนี้ชื่อจ๊าบ” หมอเตยพาไปดูห้องเก็บลิงป่วยที่หลังคลินิก ลิงเกือบสิบตัวนอนอยู่ในกรงอย่างโรยรา ทุกตัวมีผ้าพันแผล ยกเว้นเจ้าตัวเล็กที่อยู่กรงรวม มีด้วยกันสองตัว หมอเตยชี้ไปยังตัวที่กำลังเอาจริงกับการดึงแขนเสื้อ

“เราเลี้ยงจ๊าบมาตั้งแต่วันแรกที่คลอด ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่เขา แต่ตัวลูกหล่นพื้นลงมาข้างล่าง ประมาณตีห้า คนกวาดถนนของเทศบาลมาเจอพอดี เลยเก็บมาส่ง สภาพร่างกายที่น้องจ๊าบมาคือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย ยังมีสายรกติดตัวอยู่ คาดว่าแม่อาจจะคลอดแล้วน้องจ๊าบหล่นลงมาจากตึก แม่คงตามหาไม่เจอ ไม่ได้ตั้งใจจะทิ้งลูกหรอก” หมอเตยเล่ารายละเอียด

มาถึงวันนี้ จ๊าบได้รับการดูแลที่คลินิกกว่าหกเดือนแล้ว และถูกจับคู่กับ ‘จอย’ ลิงในวัยไล่เลี่ยกัน เพื่อที่ถึงเวลาส่งคืนฝูงจะได้มีบัดดี้ของตัวเอง โดยมากจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1-2 ปี กว่าลูกลิงจะแข็งแรงจนกลับคืนสู่ฝูงได้

คลินิกหมอเตยต้องรับลิงที่บาดเจ็บหรือป่วยไข้เฉลี่ยเดือนละ 8-10 ตัว ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีลิงป่วยเข้ามาจำนวนมาก

“ลิงพวกนี้อยู่ท่ามกลางการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นในตอนเช้าและตอนเย็น และอยู่ใจกลางเมือง เพราะฉะนั้นอุบัติเหตุจากการถูกรถชนหรือการอดอาหารจะเกิดขึ้นได้ การที่อาหารไม่พอเพียงในแต่ละฝูง ไม่มีที่ให้กินอาหาร ไม่มีน้ำดื่มสะอาด ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้นระหว่างฝูงด้วยกันเอง พอเกิดการทะเลาะกัน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีหลายตัวที่เป็นลิงที่อ่อนแอ หนีไม่ทันจนโดนทำร้าย หรือบางตัวเป็นลิงนักสู้ เป็นกลุ่ม alpha male ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องฝูงอยู่แล้ว พวกนี้ก็จะมีบาดแผลหรือรอยคมเขี้ยวของอีกฝูงหนึ่งกัด ซึ่งเป็นสาเหตุของการนำเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกาย” หมอเตยอธิบาย

อาการบาดเจ็บเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหลังจากโดนกัดแล้วแผลติดเชื้อ มักมีอาการบาดทะยักร่วมด้วย เมื่อผ่านไป 7-14 วัน ลิงจะมีอาการเดินไม่ได้ อ่อนแรง ชักเกร็ง น้ำลายฟูมปาก กลืนอาหารและน้ำไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในท้ายที่สุด

“ลิงตึกเข้ามารับรักษาตัวที่นี่เยอะที่สุด และเป็นลิงที่มีอัตราการตายกับอัตราการรอดเกือบจะเท่าๆ กัน เพราะโดยส่วนใหญ่ลิงตึกมักเกิดอุบัติเหตุ เช่น เขาข้ามฝั่งไปแย่งอาหารลิงฝั่งศาลพระกาฬแล้วโดนจ่าฝูงนั้นวิ่งไล่กัดมา เขาก็จะพยายามวิ่งหนี จนเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจากรถชน เช่น อวัยวะภายในบอบช้ำ เลือดออกในทางเดินหายใจ สมองบวม ฯลฯ ซึ่งบางทีก็ช่วยได้ไม่มาก เนื่องจากการบาดเจ็บของเขาค่อนข้างรุนแรง”

ไม่ใช่แค่เฉพาะรถชนเท่านั้น แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ลิงตึกอยู่นั้น ไม่มีธรรมชาติเช่นต้นไม้หรือผืนหญ้าให้ปีนป่าย ทำให้ลิงตึกจำนวนมากต้องเดินทางด้วยการข้ามเสาไฟ

“ลิงตึกที่ต้องเดินทางไปอีกชุมชนหนึ่งหรือหาอาหารแหล่งใหม่ โดยส่วนใหญ่เขาใช้การเดินทางข้ามสายไฟ บางตัวก็ไปเล่นหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูงจนถูกช็อต เขาก็ตกลงมา ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินมาก พอเขาตกลงมากระแทกพื้น ก็ทำให้อาการบาดเจ็บรุนแรงขึ้น บางตัวก็รอด บางตัวก็ไม่รอด”

หมอเตยเล่าว่า แม้บางตัวจะรอดก็ใช่ว่าจะโชคดีเสมอไป เพราะยังมีความบอบช้ำทางร่างกายและแผลเป็นทิ้งเอาไว้อยู่

“บางทีเนื้อเยื่อเขาเป็นรอยไหม้ ลักษณะท่าทางและรูปร่างหน้าตาผิดปกติไป ทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในฝูงลิงที่หน้าตาปกติได้ยาก ตัวเขาเองก็หวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย ถูกกัดซ้ำ เพราะเขายังจำความเจ็บปวดได้ จนเขาเลือกที่จะแยกตัวเองออกไป หาซอกตึกอยู่ และหากินเองโดยไม่ต้องเดินทางไปกับฝูง”

ลิงตึกกลายเป็นลิงชายขอบโดยสมบูรณ์ ที่เป็นทั้งตัวสร้างปัญหาและเจอปัญหาในเวลาเดียวกัน ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยวนซ้อนทับกันอยู่จนยากจะแก้ไข ดูเหมือนสำนวน ‘ลิงแก้แห’ จะเหมาะสมในการเปรียบเทียบการแก้ปัญหาลิงในลพบุรี

นอกจากการรักษาลิงแล้ว การส่งลิงคืนฝูงก็เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญ ลิงที่มีฝูงอยู่แล้วนั้นไม่ยากนัก เพราะลิงจำกลิ่นกันได้ แต่ลิงที่ต้องรักษาตัวตั้งแต่แรกเกิดที่เพิ่งไปหาฝูงครั้งแรกมีกระบวนการที่ยากกว่านั้น โดยวิธีการคือต้องส่งให้ ‘พ่อรับ-แม่รับ’ ที่รั้วศาลพระกาฬเป็นคนตรวจสอบในด่านแรก โดยลิงตัวโตจะมาดมและจับมือลูกลิง ถ้าถูกชะตาก็จะเล่นอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมปล่อยมือลูกลิง ถ้าเห็นภาษากายแบบนั้นแปลว่าพ่อรับแม่รับ ‘ไฟเขียว’ รับลูกลิงเข้าแก๊ง ส่วนมากจะเอาลูกลิงไปส่งคืนช่วงบ่ายแก่ ก่อนที่ลิงจะกลับเข้า ‘ชายคา’ หรือถิ่นที่อยู่ที่ตัวเองคุ้นเคย

“ถ้าเห็นว่าเขารักกัน เราก็จะเปิดกรงให้ลูกลิงออกมา ตัวพ่อรับแม่รับก็จะรีบคว้าลูกลิงไปกอด เอาขี่หลัง แล้วเดินไปที่พระปรางค์สามยอด ที่นอนของเขา”

นาทีที่ปล่อยลูกลิงออกจากอ้อมอก ในทางหนึ่งก็เท่ากับว่าการทำงานของสัตวแพทย์สิ้นสุดลงไปในเปลาะแรก

“ถ้าเรายังส่งลิงคืนสู่ฝูงไม่ได้ พ่อรับแม่รับยังไม่ยอมรับ เราก็นอนไม่หลับ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ส่งลูกลิงกลับคืนสู่ฝูงได้ เราจะรู้สึกดี ถือว่าเราทำงานส่วนนี้สำเร็จ”

เรื่องราวข้างต้น เป็นเพียงหนึ่งในการทำงานเฉพาะส่วนที่แก้ปัญหาลิงไปทีละส่วนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงปัญหาลิงลพบุรีจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในภาพใหญ่มากกว่านั้น และสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจแก่นของปัญหาให้ทะลุเสียก่อน

“แก่นของปัญหาคือคน” คือคำตอบของหมอเตย เมื่อถูกถามว่าแก่นปัญหาจริงๆ ของลิงลพบุรีคืออะไร

“หนึ่ง คนยังไม่เข้าใจบริบทของความเป็นลิง สอง บางคนยังรักความเป็นตัวเองมากโดยที่ไม่คิดว่าลิงก็คือสิ่งมีชีวิต สาม คนที่ได้รับการยอมรับนับถือว่ามีศักยภาพและมีหน้าที่ต้องดูแลแก้ปัญหา แต่พยายามทำให้ปัญหานี้ถูกคลี่คลายไปอย่างช้าๆ และสี่ ยังมีคนที่พยายามเป่าลมใส่กองไฟให้โหมกระพือ สร้างให้สถานการณ์ดูแย่และรุนแรง ทำให้ลิงถูกมองเป็นผู้ร้าย”

รอยแยกของความเข้าใจนั้นถ่างกว้างออกไปมากขึ้นตามข่าวและพฤติกรรมของลิง ที่นับวันดูเหมือนจะยิ่งสร้างปัญหา จนทำให้ความโกรธถูกใช้มากกว่าความเข้าใจ ซึ่งหากทำความเข้าใจพฤติกรรมลิงให้ถ่องแท้ อาจทำให้แก้ปัญหาถูกจุดมากขึ้น

“อยากให้คนรับฟังงานวิจัยที่หมอพยายามติดตามและดูแลลิงฝูงนี้มา 20 ปี เมื่อลิงกินอิ่มแล้วเขาจะรู้จักพอ เขาก็นอนอยู่บนหลังคาตึก ตามชายคา แต่เมื่อเขาหิวก็จะลงมาขออาหาร ซึ่งถ้าหาไม่ได้หรือถูกทำร้าย ลิงก็ต้องสู้ เพราะชีวิตคือการดิ้นรนเพื่อหาอาหาร” หมอเตยกล่าว

ในสมัยที่ลิงยังไม่เยอะเท่านี้ ไม่กระจายตัวและหิวโหยมากเท่านี้ การอยู่ร่วมกันของคนกับลิงย่อมไม่เป็นปัญหาเท่านี้ แต่เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดที่มีลิง 2,000-3,000 ตัวในพื้นที่ ขณะที่เมืองก็ขยายตัวมากขึ้นทุกวัน ทำให้ต้องมีการจัดสรรประชากรลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการหาที่อยู่ใหม่ให้ลิงจึงเป็นคำตอบที่หลายฝ่ายเห็นด้วย

ก่อนหน้านี้ มีการลงทุนสร้างสถานที่รับรองลิงหรือนิคมลิง ที่ข้างโรงพักท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งได้งบประมาณในการสร้างกว่า 30 ล้านบาท แรกเริ่มทางจังหวัดลพบุรีเป็นคนสร้าง ก่อนจะส่งไม้ต่อให้เทศบาลดูแล เป็นพื้นที่กว้างประมาณ 11 ไร่ มีกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ และมีตะแกรงเหล็กสูงใหญ่คลุมด้านบน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการย้ายลิงที่ทำหมันแล้วไปอยู่ เนื่องจากบริเวณก่อสร้างเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เสียงต่อการถูกน้ำท่วม บางส่วนติดกับทุ่งนา และมีชุมชนอยู่ใกล้ จนเกิดเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ ขณะเดียวกันที่กรมอุทยานฯ ก็มองว่าตาข่ายยังไม่มีความแข็งแรงมากพอที่จะรับมือกับลิงจำนวนมาก สุดท้ายเมื่อลิงเป็นสัตว์คุ้มครองก็ไม่มีใครจับลิงมาไว้ในกรงนี้ได้หากไม่ได้รับอนุญาต ตอนนี้จึงถูกปล่อยรกร้าง มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมบางส่วน

ต่อมามีความพยายามสร้างสถานที่พักลิงบริเวณเขาพญาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ในปี 2561 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติ เหมาะให้ลิงอยู่อาศัย แต่คนที่อาศัยในละแวกนั้นก็ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของชุมชนและการควบคุมดูแลลิงอย่างมีประสิทธิภาพ จนไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ ทำให้ผลลัพธ์ไม่เกิดดังที่คาดหวัง

“ชาวบ้านบริเวณนั้นยังขาดความเข้าใจ แต่ก็ไม่มีใครรับปากชาวบ้านได้ว่าเมื่อย้ายลิงไปตรงนั้นแล้ว จะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ ใช่ไหม เราก็พยายามอธิบายในส่วนของงานด้านการรักษาหรือป้องกันแล้วว่า ลิงที่จะถูกย้ายไปตรงนั้นคือลิงที่เราคุมกำเนิดแล้วทั้งตัวผู้ตัวเมีย ผ่านการตรวจโรคอันตรายแล้ว มีการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนเรื่องพื้นที่ก็ต้องทำให้แน่นหนา ไม่ให้ลิงหลุดออกมาได้ แต่ด้วยความที่ชาวบ้านเห็นการทำงานของข้าราชการทุกระดับมาแล้ว เขาเลยไม่มีความไว้ใจว่าคุณจะทำแบบที่รับปากได้จริงหรือ” หมอเตยกล่าว

ท้ายที่สุดแล้วในเชิงรูปธรรม หมอเตยอธิบายว่าให้มุ่งทำหมันลิงให้ครบทุกตัวและหาพื้นที่ที่เพียงพอต่อการย้ายลิงเร่ร่อนไปอยู่ ซึ่งต้องเป็นทั้งสถานที่ที่ปลอดภัยต่อชีวิตลิง สร้างสภาพแวดล้อมที่ลิงคุ้นเคย และต้องสร้างความมั่นใจกับชาวบ้านบริเวณนั้นว่าจะดูแลลิงให้ดีที่สุด ไม่ให้ออกไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

ทั้งนี้แม้จะมีหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วหมอเตยกล่าวว่าทางออกของปัญหามี “คำตอบเดียวคือความจริงใจของคนทุกฝ่าย”

4

หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาลิง และถูกคาดหวังจากสังคมให้เข้ามาจัดการคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งในทางกฎหมายมีหน้าที่ดูแลสัตว์ป่าคุ้มครองโดยตรง

สัตว์ป่าที่อยู่ในป่านั้น มีการดูแลที่ตรงไปตรงมา แต่เมื่อสัตว์ป่าอยู่ในเมือง การดูแลต้องเพิ่มระดับความซับซ้อนเข้าไปอีกระดับ

ลิงลพบุรีอยู่ในพื้นที่ดูแลของส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) ซึ่งมีการสำรวจประชากรลิงในปี 2561 พบลิงในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ชัยนาท โดยมีลิงมากที่สุดอยู่ในจังหวัดลพบุรี (9,324 ตัว) รองลงมาคือชัยนาท (2,460 ตัว), สระบุรี (1,663 ตัว) และอยุธยา (593 ตัว)

“พื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดคือลพบุรี ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเยอะพอสมควร” สุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูล

กล่าวให้เจาะจงกว่านั้นคือ ‘ลิงในเมือง’ ลพบุรีที่สร้างปัญหาให้คนทุกวันนี้ โดยมีจำนวนประชากรลิงนับเมื่อปี 2566 อยู่ที่ 2,206 ตัว (นับไว้เมื่อปี 2561 ได้ 3,121 ตัว)

สุทธิพงษ์เล่าว่าทางกรมอุทยานร่วมกับกรมปศุสัตว์เริ่มทำหมันลิงในเมืองลพบุรีตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2567 ตอนนี้ทำหมันไปแล้วทั้งหมด 2,757 ตัว

ตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างลิงที่ทำหมันแล้วกับประชากรลิงในเมืองทั้งหมดนี้ สุทธิพงษ์ให้เหตุผลว่ามาจากการที่ยังไม่สามารถทำหมันได้ครบทุกตัวตลอดสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ การขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของลิงเนื่องจากตั้งครรภ์เร็วขึ้น และความยากในการคัดเฉพาะตัวที่ยังไม่ได้ทำหมัน

สุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เขายกตัวอย่างว่า ปีที่แล้วได้งบประมาณมาทำหมันลิง 300 ตัว ซึ่งใช้งบประมาณเฉลี่ยตัวละ 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับราคาของยา ส่วนปีนี้ใช้งบประมาณของปี 2566 ไปพลาง จนสามารถทำได้เพียง 100 ตัวเท่านั้น โดยสามารถทำหมันลิงได้ตั้งแต่ยังเด็ก น้ำหนักประมาณ 1.2 กิโลกรัมก็ทำหมันได้แล้ว

ถ้าพูดตามเป้าหมาย หากจะจำกัดการแพร่พันธุ์ของลิงได้ ต้องทำหมันให้ถึง 80% ของลิงทั้งหมด แต่ปีหนึ่งกรมอุทยานฯ ทำได้ประมาณ 300-400 ตัวเท่านั้น ขณะที่เฉลี่ยลูกลิงเกิดใหม่ในปี 2566 อยู่ที่ 621 ตัว และยังประเด็นปัญหาเรื่อง ‘แม่ลิงที่มีลูกตั้งแต่ยังเด็ก’ มากขึ้นทุกวัน

“ถ้าดูลิงในเมือง อายุของลิงที่ตั้งท้องจะต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อก่อนลิงอายุประมาณ 3-4 ปีถึงจะตั้งท้อง แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ลิงอายุประมาณไม่เกิน 2 ปีก็เริ่มตั้งท้องแล้ว เนื่องจากว่าลิงที่ลพบุรีมีคนเอาอาหารไปให้ แต่ไม่ใช่พืช ไม่ใช่อาหารที่ลิงควรจะกิน ถ้าลิงอยู่ในป่าเขามักกินใบไม้ แมลง สัตว์เล็กๆ พวกนั้นคุณค่าทางอาหารก็เหมาะสมกับเขา แต่ลิงในเมืองกินยาคูลท์ นม น้ำแดง ไข่ต้ม ซึ่งอาหารพวกนี้พลังงานสูง แต่เมื่อเขาไม่ต้องไปหากินในป่า ไม่ต้องไปปีนป่ายเยอะ ก็นั่งรออยู่อย่างนั้น พอมีพลังงานสูง เขาก็ผสมพันธุ์ ทำให้ออกลูกค่อนข้างเยอะ ปกติแล้วลิงตัวหนึ่งจะท้องหกเดือนแล้วออกลูก เพราะฉะนั้นปีหนึ่งเขาจะออกลูกได้สองตัว พวกนี้จะเพิ่มประชากรตามปริมาณและความสมบูรณ์ของอาหาร” สุทธิพงษ์กล่าว

ถ้าพูดกันในหน้ากระดาษ การตั้งเป้าหมายทำหมันลิงให้ถึง 80% ดูน่าจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่นอกจากเรื่องงบประมาณที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องการ ‘จับตัวซ้ำ’ ที่ทำหมันแล้วอีกด้วย

“ในกลุ่มลิงทั้งสี่โซนในเมือง มีลิงที่ทำหมันแล้วเยอะมาก สมมติเราอยากทำหมันลิงร้อยตัว เราไปจับรอบหนึ่งมาได้ประมาณ 60 ตัว แล้วต้องไปคัดลิงว่าเคยทำหมันแล้วหรือยัง บางทีจับได้ 60 ตัว อาจจะเหลือสัก 10 ตัวที่ยังไม่ทำหมัน หลังๆ เจ้าหน้าที่ก็เหนื่อยในการทำเรื่องพวกนี้ แล้วชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมจับลิงไม่ได้ จริงๆ เราจับลิงได้เป็นพันตัว แต่ว่าเวลาคัดแล้วได้ลิงที่ยังไม่ได้ทำหมันค่อนข้างน้อย”

ลิงมีการสักไว้ที่หน้าอก บริเวณริมฝีปาก หรือโหนกแก้ม เพื่อแบ่งกลุ่มเวลาส่งลิงคืนฝูง และลิงที่ทำหมันแล้วจะมีการสักใต้ท้องแขน โดยใส่รหัสจังหวัด สถานที่ทำหมัน ปีที่ทำ และลำดับที่ทำ สัญลักษณ์เหล่านี้จะช่วยทีมจับในการคัดแยกระหว่างลิงที่ทำหมันแล้วกับลิงที่ยังไม่ได้ทำ

“ถ้าลิงหลุดไปที่อื่น หรือที่เมื่อก่อนพูดกันว่าลิงขึ้นรถไฟไปเที่ยว มีคนจับได้ที่นครสวรรค์ เขาก็รู้นะว่าเป็นลิงปรางค์สามยอดหรือมาลัยรามา เขาก็จะโทรประสานให้เราไปรับ เหมือนบัตรประชาชนน่ะ รู้ทันที” สุทธิพงษ์เล่า

เมื่อสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ในเมือง การแก้ปัญหาย่อมซับซ้อนขึ้น สุทธิพงษ์ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นนี้ว่า

“แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ ต้องแก้ไขแบบบูรณาการ หลายหน่วยงานต้องมาช่วยกัน กรมอุทยานก็ดำเนินการกับตัวลิง เช่น การควบคุมประชากร การดูแลสุขภาพลิง ลิงบาดเจ็บเราก็ไปรับมารักษา อย่างท้องถิ่นหรือจังหวัด ตอนนี้เขาก็เริ่มจัดสถานที่ให้อาหารลิงให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อาจมีการควบคุมประชากรลิงด้วยการขยับไปอยู่นอกพื้นที่ ก็ต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ว่าลดความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วย และไม่เสียหายต่อลิงที่เป็นสัญลักษณ์ของลพบุรี ดังนั้นอาจมีการขยับออกไปเฉพาะลิงตึก ถ้าดูจากที่มีการคุยกัน” สุทธิพงษ์กล่าว

เมื่อถามถึงประสบการณ์การทำงานเรื่องลิงมาสิบปี เขามองว่าควรแก้ปัญหาที่ตัวคน

“จากประสบการณ์ที่เห็น ปัญหาที่ต้องแก้ จริงๆ ไม่ควรไปแก้ที่ลิง ต้องแก้ที่ตัวคน ลิงลพบุรีปัญหาเกิดจากอะไร คนให้อาหารไม่เป็นที่เป็นทาง หรือพฤติกรรมที่คนทำกับลิง ผมยกตัวอย่างการให้อาหารลิง ทำไมลิงกัด คนยื่นไปให้แล้วดึงกลับ เหมือนแหย่ลิงเล่น ลิงคิดว่าให้เขาแล้ว เมื่อยื่นให้แล้วดึงกลับก็เป็นของเขาแล้วไง เขาก็หวง เขาก็กัด เขาหิวน่ะ”

สุทธิพงษ์ขยายว่าแต่ก่อนลิงไม่ได้ก้าวร้าวขนาดนี้ แต่เมื่อเรียนรู้พฤติกรรมจากคนจึงทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ขณะเดียวกันเมื่อที่อยู่เดิมไม่ค่อยมีอาหาร จึงทำให้ลิงต้องกระจายตัวออกไปหาอาหารในแหล่งใหม่ จนทำให้ลิงกระจายไปทั่วเมือง

“จริงๆ ลิงไม่ได้มีอะไรเลยนะครับ ชีวิตเขาก็แค่เกิดมา ทำพฤติกรรมทางสังคม ในฝูงก็มีชนชั้นของเขา มีจ่าฝูง รองจ่าฝูง และลูกฝูง เขาก็ผสมพันธุ์ หาเกล็ดเกลือที่ขึ้นตามตัว และสางขนให้กัน”

ในเชิงรูปธรรมการหาที่อยู่ใหม่ให้ลิงนั้น มีประเด็นหลายอย่างที่ต้องศึกษา เขาชี้ว่าป่าในประเทศไทยเป็นป่าที่มีชาวบ้านอยู่ใกล้ชิด ดังนั้นการเอาลิงเมืองไปปล่อย จำเป็นต้องมีการคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจ และให้นักวิชาการเข้าไปศึกษาวิจัยเรื่องความเป็นไปได้และการกระทบกับระบบนิเวศ เช่น ลิงในเมืองอาจมีโรคที่สั่งสมอยู่แต่ไม่แสดงอาการ หรือลิงเคยชินกับการลงมาหาอาหารกับคน จนทำให้ลงมาที่หมู่บ้านเพื่อขออาหารจากคน เป็นต้น

ในด้านหนึ่งมีความพยายามจะทำพื้นที่ทดลองเอาไว้ เช่น ที่วัดพระบาทน้ำพุ ที่เริ่มมีแนวคิดการแก้ปัญหาลิงที่วัดโดยการสร้างสถานที่กักกันลิง กำแพงด้านในเรียบ และด้านนอกตกแต่งแบบหิน ใช้เนื้อที่ประมาณหนึ่งไร่ เพื่อรองรับลิงประมาณ 300-400 ตัวที่มีอยู่ในวัด แล้วก็จัดให้มีร้านขายอาหารลิงในวัด รวมถึงบิณฑบาตกับผู้ที่มาทำบุญ หากทำสำเร็จ ในเฟสถัดไปอาจมีการเอาลิงในเมืองลพบุรีบางส่วนไปไว้ด้วย

ทั้งนี้ยังมีความตั้งใจจะของบประมาณจากกรมอุทยานฯ ไปสร้างกรงสำหรับขังลิงที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก แล้วขยับลิงลพบุรีไปไว้ที่นั่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ประจำอยู่

“วิธีการทำงานแต่ละที่ พฤติกรรมของลิงในแต่ละกลุ่มละฝูง คนในแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำงานในการแก้ไขปัญหาลิง ต้องเฉพาะพื้นที่ แต่ละพื้นที่ในประเทศไทยก็ยังไม่มีที่ไหนทำสำเร็จ ทุกคนก็พยายามหาแนวทางของตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นด้วย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน” สุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

5

รอบศาลพระกาฬและปรางค์สามยอด ลิงยังใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่เคยทำ เช่นเดียวกับที่คนก็เรียนรู้ที่จะไม่เอารถไปจอดทิ้งไว้ข้างถนน หรือเดินกินขนมสบายใจ

ศาลพระกาฬยังมีคนมาไหว้ไม่ขาดสาย ร้องเท้าแตะถูกวางไว้ในกรงเพื่อป้องกันลิงขโมย ต้นไม้มีเหล็กกันเพื่อไม่ให้ลิงขึ้นไปทำลายยอดไม้ ยอดหลังคามีตาข่ายกันลิงปีนขึ้นไปทำลาย

“ถ้าคุณมาสมัยก่อนคุณจะเห็นว่าเสาทีวีเมืองลพบุรีจะมีฝาชีครอบอยู่ข้างบน เป็นเมืองเดียวที่เสาอากาศเป็นแบบนั้น” ผู้จัดการศาลพระกาฬเล่าด้วยสีหน้าเรียบนิ่ง แต่คนฟังไม่อาจกลั้นหัวเราะ

ก่อนจะกลับ เขาให้คำแนะนำว่า ถ้าขับรถผ่านวงเวียนศาลพระกาฬ พยายามอย่าขับชิดทางศาล เพราะอาจมีลิงกระโดดไปรูดขอบยางหลังคาได้

“ทำไมลิงถึงเก่งขนาดนั้น”

“มันจบอาชีวะฯ คุณไม่รู้เหรอ รู้หมดนะว่าต้องแกะตรงไหน รูดตรงไหน” เขาพูดหน้านิ่งเช่นเดิม

ผู้จัดการศาลพระกาฬทิ้งท้ายไว้ว่า “คนที่จะมาที่นี่ คุณต้องเคารพกติกาของที่นี่ หนึ่ง คุณต้องเก็บสัมภาระของคุณให้เรียบร้อย อย่าให้รุงรัง เพราะลิงจะแย่ง สอง อาหารที่จะเอามาให้ลิง ควรจะเป็นพืชผักผลไม้ตามธรรมชาติ – ขนมปังไม่ควร เพราะพวกนี้กินเข้าไปแล้วมีผลสำหรับร่างกายของลิง แต่มันง่ายสำหรับคนที่เอามาให้ และสาม ตรงไหนที่เขาบอกว่าห้ามให้อาหาร ก็ขอความร่วมมือช่วยกันนิดหนึ่ง ก็จะทำให้สังคมของคนและลิงดีขึ้น”

เสียงหวูดรถไฟรอบเย็นดังขึ้นมาอีกครั้ง ลิงวิ่งขึ้นหลังรถกระบะที่ต้องจอดนิ่งรอรถไฟผ่าน มันเดินวนหาอาหารท่ามกลางกระบะที่ว่างเปล่า

บางทีการทำความเข้าใจลิงอาจสำคัญพอๆ กับการทำความเข้าใจมนุษย์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save