fbpx

‘ละครแห่งชีวิต’ ความล้าหลังและศิวิไลซ์กับมุมมองแบบเจ้าอาณานิคม

อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ผู้มีฐานันดรระดับหม่อมเจ้า ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 27 ปี (เกิดเมื่อปี 2448) ในปี 2475 ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติไม่นาน ด้วยเชื้อสายแล้ว เขาอยู่ในสายสกุลรพีพัฒน์ เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นักกฎหมายชื่อดังในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชีวประวัติของอากาศดำเกิงดูเหมือนเป็นการล้อไปกับชีวิตของ ‘วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา’ ตัวเอกของเรื่อง ละครแห่งชีวิต (2472)[1]

ในคำนำของ ผิวเหลืองหรือผิวขาว (2474) เขาได้เล่าในลักษณะที่คล้ายกับคึกฤทธิ์พูดถึงแม่พลอยในสี่แผ่นดิน นั่นคือ ผู้อ่านนึกว่า ผู้คนในเรื่องมีตัวตนจริงๆ วิสูตรในเรื่อง ทำให้ผู้อ่านตีความไปว่า เขาคือ อากาศดำเกิงตัวเป็นๆ[2] แต่ผู้เขียนก็ได้ออกตัวว่า นั่นคือนิยาย ไม่ใช่เรื่องจริง ในยุคที่การเขียนนิยายที่มีฉากหลังสมจริง ผู้คนจำนวนมากอาจยังแยกไม่ออกระหว่างเรื่องแต่งกับอัตชีวประวัติ หรือไม่อีกด้านก็คือ ศิลปะการประพันธ์ของผู้เขียนที่ไต่เส้นอยู่บนเรื่องจริงและเรื่องแต่งที่อาจจะสนิทแนบกันอย่างไร้รอยต่อ

เมื่อถอยออกมาดูห้วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ นับแต่เกิดปี 2448 จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตในปี 2474 ก็นับได้ว่าเขามีชีวิตอยู่ถึง 3 แผ่นดิน นับแต่รัชกาลที่ 5 มาจนถึงรัชกาลที่ 7 หากฝ่ายหญิงมีหม่อมราชวงศ์กีรติเป็นตัวแทนความเสื่อมถอยของชนชั้น วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา ก็เป็นตัวแทนของฝ่ายชาย เพียงแต่ละครแห่งชีวิตเขียนขึ้นในยุคสมัยที่ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอันใด

ผู้เขียนให้ชื่อภาษาอังกฤษของ ละครแห่งชีวิต ว่า ‘The Circus of Life’ นอกจากคำแปลแล้ว เขายังย้ำว่า “ข้าพเจ้าเห็นชีวิตของเราเหมือนโรงละครสัตว์ มีวงให้สัตว์วิ่งรอบๆ วิ่งวนไปมาไม่หยุดหย่อน” [3]

ท้องเรื่องละครแห่งชีวิตได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่พึงใจของตัวเอกที่เล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ผ่าน ‘วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา’ นามสกุลของเขาเป็นชื่อสมมติขึ้นก็จริง แต่การห้อยท้ายด้วยอยุธยานั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือการสร้างจุดอ้างอิงว่าตนเกี่ยวพันกับเชื้อสายราชวงศ์จักรี

รอยปริแตกแรกของชีวิต สังคมหลายเมียและลูกผู้ดีที่ว้าเหว่

วิสูตรมีชีวิตที่ไม่มีความสุข เขาไม่ใช่ลูกรักของบิดา เมื่อเทียบกับพี่น้องคนละแม่ที่มักได้รับโอกาสที่ดีกว่าเสมอ การที่พ่อเขามีหลายแม่นำไปสู่การชี้ให้เห็นถึงความล้าหลังในสังคมไทยที่ผู้ชายมีหลายเมีย ดังที่พอทราบกันว่าชุดความสัมพันธ์แบบหนึ่งของครอบครัวไทยยุคก่อนปฏิวัติ 2475 การมีหลายเมียถือเรื่องธรรมดา[4] ขณะเดียวกันแนวคิดการแต่งงานแบบต่างเพศและผัวเดียวเมียเดียว คือรูปแบบมาตรฐานที่แสดงความศิวิไลซ์และก้าวหน้าของรัฐสมัยใหม่ของยุโรปอย่างช้าในศตวรรษที่ 19

แต่สำหรับชนชั้นสูงของสยามแล้ว ระบบการมีหลายเมียสำคัญต่อระบบการเมือง เพราะเป็นอำนาจในการสร้างเครือข่ายทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจต่างๆ ทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองสำคัญ ลูกหลานของพวกเขายังจะเป็นที่ไว้ใจให้เข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ การก่อร่างสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นอาศัยฐานระบบการแต่งงานดังกล่าวอยู่ไม่น้อย[5] แต่อุดมการณ์ใหม่ว่าด้วยการแต่งงานแบบเมียเดียวก็เป็นที่ครุ่นคิดกันในหมู่ปัญญาชนสยามก่อนปฏิวัติว่า การมีหลายเมียคือความล้าหลัง อากาศดำเกิงที่พูดจากปากของวิสูตรก็น่าจะรับสมาทานความเชื่อแบบหัวก้าวหน้าในด้านการแต่งงานในสมัยนั้น

ชีวิตส่วนตัวของวิสูตร แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้รับความรักจากพ่อและครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น ดังที่เล่าว่า “ข้าพเจ้าเกิดมาไม่เคยได้รับความรัก ความเสมอหน้าจากใคร นอกจากยายพร้อม” ยายพร้อมไม่ใช่ยายจริงๆ แต่เป็นเพียงพี่เลี้ยง ตอนเด็กโลกของเขาอยู่ที่แพริมน้ำแถบปากคลองผดุงฯ ของเจ๊กตี๋หลานเขยของยายพร้อม พร้อมกับบุญเฮียง เด็กหญิงที่เป็นลูกเจ๊กอีกคนหนึ่งเท่านั้น วิสูตรเป็นตัวแทนของลูกชายในตระกูลชนชั้นสูงที่พ่อมีหลายเมีย และมีลูกหลานจำนวนมากที่หัวหน้าครอบครัวไม่อาจหยิบยื่นความสัมพันธ์ที่รักใคร่กลมเกลียวได้มากพอ ยายพร้อมอาจทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรัก แต่ก็เป็นคนที่อยู่คนละชั้นกับเขา

ในแต่ละวันของวิสูตรจึงน่าเบื่อและดูไม่มีความหวังใดๆ อาจจะมีบ้างที่หนีไปเล่นพนัน ทำตัวเกเร แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้วิสูตรหายว้าเหว่ จนกระทั่งความแปลกใหม่ของความสัมพันธ์ได้เข้ามาในชีวิตของเขา คือการได้เจอกับประดิษฐ์ และลำจวน ผู้เป็นน้องสาว ทั้งคู่ได้มอบความรักความห่วงใยให้กับเขาอย่างที่ไม่เคยได้รับ ประดิษฐ์เป็นเพื่อนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ที่แลกมิตรภาพมาด้วยกำปั้น ส่วนลำจวนได้แสดงความห่วงใยในลักษณะน้องสาวที่เสมือนเป็นเส้นบางๆ เต้นรำอยู่บนหน้าผาของความสัมพันธ์ที่ไม่ถึงกับชู้สาว ซึ่งเส้นแบ่งตรงนั้นเองที่เขาไม่กล้าจะก้าวข้าม วิสูตรได้เห็นความหวังและอนาคตที่สุกสกาวอยู่ตรงหน้า เขาถึงกับแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับชีวิตและความสัมพันธ์ในอุดมคติว่า เขาจะไม่มีวันมีบ้านเล็กบ้านน้อยแบบที่ผู้ใหญ่ในยุคของเขานิยมกัน ดังที่เขากล่าวว่า

จริงนะ ฉันเป็นคนที่เกลียดการมีเมียมาก มากที่สุดคนหนึ่ง ฉันเห็นเป็นของ ‘บาเบเรียน’ สิ่งเหล่านี้อาจดีเมื่อสมัยยี่สิบสามสิบปีมาแล้ว แต่มาเดี๋ยวนี้เราควรจะดูอย่างญี่ปุ่น เขาเจริญได้เพราะอะไร เมืองอินเดียเป็นเมืองนรก ผู้ชายฮินดูทำประเทศของเขาให้เป็นนรก มีการข่มขืนให้หญิงมีเรือนตั้งแต่อายุ 11-12 เขาเก็บฮาเรมเป็นของประดับบ้าน – เป็นของเก๋ แล้วปล่อยให้บ้านเมืองเป็นขี้ข้าอังกฤษเพราะความระยำของตน

อุดมคตินี้ยังเสียดแทงความเป็นจริงที่ตัวเขาและแม่ได้เผชิญความทนทุกข์อยู่ด้วย บ้านของประดิษฐ์จึงเป็นพื้นที่พัก เป็นพื้นที่ลี้ภัยทางอารมณ์ของวิสูตรเป็นอย่างดี

แต่ความสุขมักอยู่ได้ไม่นาน ประดิษฐ์สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อที่อังกฤษ จำต้องแยกจากเขาไป ส่วนลำจวนมีคู่หมั้นหมาย ทั้งยังพยายามตีห่างออกจากเขาไปในที่สุด ความสัมพันธ์ที่เคยแน่นแฟ้น แบบที่เขาไม่คิดว่าจะแปรผัน แต่แล้วก็ถูกตีจากอย่างน่าขมขื่น

อังกฤษ เมืองสวรรค์ กับ ความสัมพันธ์ของครอบครัวในอุดมคติ

ไม่นาน วิสูตรก็ตัดสินใจที่จะเดินทางไปเรียนต่ออังกฤษ อย่างน้อยก็มีเพื่อนรักของเขาอยู่ที่นั่น แต่แรกเขาสนใจที่จะเรียนกฎหมาย ในขั้นต้นเขาจะต้องไปฝึกพื้นฐานภาษาก่อน และด้วยค่าเช่าที่พักราคาแพงมากทำให้เขาใช้วิธีเดียวกับที่นักเรียนไทยทำกันคือ ไปพักอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ โชคดีของวิสูตรที่ได้พักอยู่กับครอบครัวที่เคยมาไทยและได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยเป็นอย่างดีในครั้งนั้น หัวหน้าครอบครัวคือนายร้อยแอนดรู ครอบครัวนี้สนิทสนมกับเขาจนวิสูตรสามารถเรียกเขาว่า ‘แด็ดดี’ และเรียกมิสซิสแอนดรูว่า ‘แม่’ ได้ และที่บ้านหลังนี้เองเขาได้ชื่ออังกฤษว่า ‘บ๊อบบี้’ เพราะชื่อเขาในภาษาไทยออกเสียงได้ยากเกินไปสำหรับคนอังกฤษ

เขาเรียกบ้านหลังนี้ว่า ‘กระท่อมนางพญา’ (The Queen’s Cottage) กระท่อมแห่งนี้ วิสูตรได้รับความรักความหวังดีจากครอบครัวใหม่ ไม่ใช่ความเฉยชาจากครอบครัวโดยกำเนิด หรือคนที่มอบความรักให้ แต่อยู่ในชนชั้นที่ไม่คู่ควรอย่างยายพร้อม ครอบครัวแอนดรูจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นครอบครัวที่เข้ามาเติมเต็มหลุมว่างในจิตใจของวิสูตร แน่นอนว่า ครอบครัวนี้ คือภาพแทนการแต่งงานในระบบผัวเดียวเมียเดียวที่วิสูตรใฝ่ฝันและวางไว้เป็นอุดมคติ นับว่า นี่คือจุดบรรจบของประสบการณ์ที่เขาวาดหวังไว้ไปด้วย

แม้กระทั่งยามที่เขาต้องย้ายบ้านเข้าลอนดอน แล้วปรากฏว่าเจ้าของบ้านได้หลอกลวงถึงสภาพความเป็นอยู่เพื่อที่จะรับวิสูตรเข้าเป็นผู้เช่า เมื่อแด็ดดีรู้ข่าว เขากลับเอาเป็นธุระ และกุลีกุจอที่จะจัดการย้ายที่พักแห่งใหม่ให้ นี่คือความเป็นพ่อ และน้ำใจในอีกลักษณะที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อนจากบิดาแท้ๆ

นอกจากนั้นความเป็นอยู่จากกระท่อมแห่งนี้ ยังหล่อหลอมตัวตนใหม่ๆ ของเขา ผ่านการแต่งกาย การพูด และการเขียน ให้มีลักษณะเทียบเท่ากับสุภาพบุรุษชาวอังกฤษอันจะทำให้เขามีจุดยืนและมุมมองบางประการคล้ายคลึงกับเหล่าเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย ดังเช่นมุมมองต่อนักเรียนนอกบางคนว่า “บางคนเมื่อก่อนไปเมืองนอกมีนิสสัยเป็นเจ๊กชั่ว ถ่มเศลษม์ไม่ว่าที่ไหน สบถสาบาลพูดจาหยาบคายไม่หยุดหย่อน พอกลับจากนอกก็มีนิสสัยเช่นเดียวกัน ไม่เปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย”

“เพราะฉันเขียน ฉันจึงมีอยู่” นักหนังสือพิมพ์-สื่อมวลชน สิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในโลกศิวิไลซ์

ที่ ‘กระท่อมนางพญา’ แห่งนี้เองทำให้เขาพบได้กับผู้หญิงที่เขารักและรักเขา เธอชื่อว่า ‘มาเรีย เกรย์’ นักข่าวสาวผู้ทรงเสน่ห์และใจกว้าง เขาผูกสัมพันธ์กับเธออย่างรวดเร็ว เธอยังเปิดโลกให้เขาพบว่า ยังมีเส้นทางอีกสายหนึ่งที่จะทำให้เขาเห็นและรู้จักโลกได้มากขึ้นก็คือ ‘อาชีพนักหนังสือพิมพ์’

ความน่าสนใจคือ ผู้เขียนได้ให้ความสำคัญกับวิชาชีพนี้ โดยพยายามเปรียบเทียบกับสภาพชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ไทยที่ขณะนั้นยังมีความไม่มั่นคงและแทบจะไร้เกียรติ ผู้เขียนอยู่ไม่ทันการเกิดของคณะสุภาพบุรุษที่ตั้งโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ในอังกฤษแล้ว วิสูตรมีโอกาสเขียนบทความและได้รับการตีพิมพ์ และได้รับเงินตอบแทนเป็นจำนวนกว่า 30 ปอนด์ จนขนาดที่เขาออกเงินซื้อรถเบ็นตเลย์ให้กับครอบครัวที่กระท่อมนางพญาของเขาได้

แต่แรกเขาต้องเลือกระหว่างการเรียนกฎหมายให้จบการศึกษา กับการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นมาเรีย ผู้ที่ให้กำลังใจและสนับสนุนให้เขาเป็น ‘พวกหนังสือพิมพ์’ เพื่อจะเที่ยวไปให้เห็นโลกแล้วเล่าในสิ่งที่ได้ไปพบมาเขียนเรื่องนั้นว่า ‘ละครแห่งชีวิต’ อันเป็นที่มาของชื่อเรื่องนี้ ในที่สุดวิสูตรก็ตัดสินใจไม่เรียนต่อและกระโจนเข้าสู่ความเป็นนักหนังสือพิมพ์โดยตรง ความงดงามและชีวิตอันน่าอภิรมย์ของนักหนังสือพิมพ์นอกจากนำมาซึ่งเงินทองและอาชีพแล้ว ยังทำให้เขาได้เดินทางไปพบโลก ตั้งแต่ตรอกอันโสมมในลอนดอน ไปจนถึงนครหลวงปารีส มอนติคาร์โล และที่อื่นๆ  

นักหนังสือพิมพ์เป็นผู้เชื่อมต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันล้วนผ่านข่าวสารที่ไหลเวียนจากหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะเมื่อเขาได้เดินทางไปฝรั่งเศสถึงกับกล่าวว่า “ลอนดอนปลูกนิสสัยคนให้เป็นพลเมืองของประเทศอังกฤษ ส่วนปารีสปลูกนิสสัยเราให้เป็นพลเมืองของโลก เพราะที่นั่นมีแต่ชาวต่างประเทศเต็มไปหมดไม่ว่าที่ไหน” เช่นเดียวกับชีวิตหญิงสาวอันเป็นที่รักของเขาที่ผลุบโผล่อยู่ในมหานครต่างๆ ของโลกอยู่เป็นประจำ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นพลเมืองโลก และตัวแทนปากเสียงของคนของโลก ในนามเจ้าอาณานิคมตะวันตก ดังจะกล่าวถึงต่อไป

การให้ตัวละครมีความเกี่ยวพันกับงานหนังสือพิมพ์ การผูกเรื่องว่าด้วยความรักกับแรงบันดาลใจในงานเขียน สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏในตัวบทละครแห่งชีวิตจึงเป็นเสมือนการดำรงอยู่ของตัวตนของวิสูตรและอากาศดำเกิงไปในเวลาเดียวกัน

เชื้อชาติและความเป็นอาณานิคม

อันที่จริง ตั้งแต่เขาเดินทางออกจากสยามมาทางเรือ การแวะเมืองท่าต่างๆ ล้วนสะท้อนถึงการจ้องมองแบบอาณานิคมไปยังดินแดนต่างๆ ที่ล้วนอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมตะวันตกที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกแล้วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงการนั่งรถยนต์เที่ยวดูทิวทัศน์ในเกาะปีนัง หรือเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ ดูละครโอเปร่าในสิงคโปร์ซึ่งล้วนเป็นส่วนที่เจริญหูเจริญตาเพราะเป็นเขตอาณานิคมที่ชาวยุโรปอาศัยอยู่ วิสูตรบรรยายว่านั่นอาจเป็นเมืองสวรรค์ ขณะที่เมืองนรกในมุมเขาแล้วนั่นคือ ‘เมืองแขก’ เนื่องจากในเมืองเหล่านี้ เขาล้วนถูกจับต้องที่จะล่อลวงและโกง ยังไม่พอผู้คนยังไม่น่าไว้วางใจ วลีที่บรรยายก็ชัดแจ้งว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างแรงกล้า นั่นคือ

ผู้คนที่เราพบนอกจากจะมีรูปร่างหน้าตาพึงเกลียดกลัวแล้ว ยังมีนิสสัยใจคอเหี้ยมโหดทารุณไม่ผิดสัตว์ เมื่อเห็นนักเดิรทางหน้าตาเรียบร้อยและท่าทางไม่รู้จักอะไรก็คอยแต่จะจับมาเป็นภักษาหาร” ในทางตรงกันข้าม เมื่อย่างกรายเข้าสู่ดินแดนยุโรปกลับมีลักษณะเป็นแดนสวรรค์ “เมื่อเรือใกล้จะถึงยุโรป อากาศดูยิ่งเย็นสดชื่นเข้าทุกที ท้องฟ้าปลอดโปร่งปราศจากเมฆ ดวงจันทร์ส่องแสงอยู่กระจ่าง ท้องทะเลก็ยิ่งทำให้ภาพต่างๆ อันอยู่รอบเรางดงามยิ่งนัก พวกคนโดยสารต่างจัดแจงแต่งกายกันเสียอย่างงดงาม

หรือการที่เขาได้เดินทางไปปักกิ่งก็ไม่ต่างกับนรก “ไม่ว่าจะเดิรไปที่ไหนก็มีแต่คนทุพพลภาพ อดอยากเดิรโซเซและนอนเกลื่อนกลาดอยู่ทุกหนทุกแห่ง ประเดี๋ยวๆ ก็มีเสียงยิงกันสนั่นหวั่นไหวเสียคราวหนึ่ง ชาวต่างประเทศก็เป็นที่เกลียดชังของชาวพื้นเมืองโดยมาก ถ้าเราผลัดเข้าไปอยู่ในหมู่ชาวเมืองแล้ว ก็เป็นอันว่ามีความหวังที่จะรอดชีวิตกลับมาได้น้อยเต็มที”

ชีวิตของวิสูตรแม้จะไม่หรูหราฟุ้งเฟ้อแต่ไม่ลำบากแน่ ไม่ว่าจะอยู่ไทยหรืออังกฤษ บ้านที่เขาอยู่ล้วนมีคนรับใช้ หากเชื่อในการตีความว่าเจ้าสยามก็คือเจ้าอาณานิคมภายใน ที่จัดความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไว้เหนือกว่าคนในประเทศแล้ว วิสูตรถือว่าเป็นผู้หนึ่งที่จัดอยู่ว่าเป็นคนในฝั่งเจ้าอาณานิคมไม่ว่าจะในมิติชาติตระกูลหรือความมั่งคั่ง ดังที่เขาได้เล่าไว้จากปากคำบุญเฮียงว่า “ดูซีคะ คุณวิสูตร์ เรือเอี้ยมจุ๊นใหญ่บรรทุกเข้าเพียบทุกลำเป็นของคุณทั้งนั้น และไปที่โรงสีคุณด้วย คุณเป็นเศรษฐีใหญ่แล้วยังไม่รู้สึก”

เมื่อเขาต้องย้ายบ้านจากกระท่อมนางพญาเข้าไปพักอยู่ในลอนดอน บ้านหลังใหม่ที่เข้าไปมีสภาพย่ำแย่ ผู้คนไม่เป็นมิตรในสายตาเขา หรืออาจมองว่า อยู่ในสภาพของคน ‘อีกชนชั้นหนึ่ง’ กับเขา ไม่ว่าจะแลนด์เลดี้ที่งกและขี้โกหก และยังมี “รูปร่างคล้ายเปรต หน้าตาเหี้ยมคล้ายอยากจะกินเลือดเนื้อ” จึงเป็นนรกดีๆ นี่เอง

ยิ่งมีเพื่อนร่วมบ้านเช่าที่เป็นแขกฮินดูที่ไม่น่าไว้ใจเข้าไปอีก ดังที่กล่าวว่า “แขกฮินดูพวกนี้เป็นคนชั้นเลว ปราศจากกิริยามารยาทอันเป็นสิ่งที่ควรสำหรับนักเรียนที่ดี มีพูดภาษาของตนเองสนั่นไปหมดโดยไม่แคร์ว่าข้าพเจ้าผู้เป็นคนต่างชาติต่างภาษาอยู่ที่นั่นด้วยอีกคนหนึ่ง ส่วนผู้ที่พูดกับข้าพเจ้านั้นเล่าก็ล้วนเป็นคนทะลึ่งมีกิริยาก้าวร้าว ถามถึงฐานะของข้าพเจ้า ถามถึงบิดามารดา รวยหรือจน ล้วนเป็นปัญหาที่แสลงหูที่สุด” ทำให้วิสูตรแทบจะทนไม่ได้ สวรรค์ของเขาจึงคือที่ที่อยู่รายล้อมไปด้วยชาวยุโรปที่มีการศึกษามีความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

การเมือง บอลเชวิค กษัตริย์ ความจงรักภักดี และชาตินิยม

แม้วิสูตรจะพูดทางการเมืองไม่มากนัก แต่เมื่อเขาย้ายไปปารีสก็มีเรื่องจำให้เขาต้องสาธยายการเมืองออกมาอย่างน่าสนใจ สองเดือนในฝรั่งเศสก็เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ตลาดการเงินมีปัญหา ค่าเงินตกต่ำ ราษฎรก็ก่อม็อบ แน่นอนว่าเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้น โดยมองการชุมนุมประท้วงว่า เป็น “ความบ้าของชาวเมือง” ว่ากันว่า แอริโอต์ อัครมหาเสนาบดี (คือ นายกรัฐมนตรี) ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนใน “คณะบอลเชวิค” ที่รับสินบนจากรัสเซียมาให้ทำลายประเทศ ในนามของม็อบเขาคือ ผู้ทรยศชาติ อนึ่ง คณะบอลเชวิคหรือพรรคบอลเชวิค คือ พรรคที่ล้มล้างการปกครองของรัสเซีย นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต รัฐคอมมิวนิสต์แห่งแรกของโลก ในใจของวิสูตรเห็นเป็นอย่างไรนั้น เขาไม่ได้พูดโดยตรง แต่เนื้อหาต่อไปน่าจะพอประเมินได้ว่าเขาคิดอย่างไร

วิสูตรพบปัญหาสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ต่อไป ขณะเดียวกัน เขาได้รับแจ้งว่าราชทูตต้องการจะพบตัว ราชทูตได้เล่าว่านโยบายของในหลวง ซึ่งขณะนั้นคือ รัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์จะชุบเลี้ยงคนขยันมีวิชาความรู้ และราชทูตทราบดีว่าวิสูตรได้ทำอะไรมาบ้างและเห็นว่าอาจจะเป็นประโยชน์จึงถวายรายงานและมีพระราชดำริว่าจะให้รับเป็นนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งไปเรียน ‘วิชชาต่างประเทศ’ (Foreign Service) ในมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง และเปรียบตนเองว่าเป็นคนป่าที่ไม่รู้จักเจ้านาย และนั่นทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อไปทำภารกิจเพื่อ ‘พระราชาของชาติไทย’ ดังที่เขากล่าวว่า

ในเมืองไทยข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงตัวตุ่นอะไรตัวหนึ่ง มาอยู่เมืองนอก เมืองไทยเขาก็ลืม ไม่มีใครเคยเชื่อว่าตัวตุ่นเช่นข้าพเจ้าจะทำอะไรได้ แต่มาบัดนี้-พระราชาของชาติไทย-พระราชาของข้าพเจ้า-ทรงเชื่อว่าข้าพเจ้าจะเป็นผู้มีความสามารถจะทรงรับข้าพเจ้าเข้าเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ด้วยอีกคนหนึ่ง สำหรับพระราชาที่ดีแล้วใครเลยจะไม่สมัครเป็นข้าเล่า-

การตัดสินใจเช่นนั้นไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุผลหลักหรือไม่ เพราะมีอีกเหตุผลหนึ่งของวิสูตรก็คือ การตัดใจเขาเองจากมาเรีย เกรย์ เพื่อให้เธอพบกับความสุขให้พบกับคนที่เธอรักมากกว่า แต่กลายเป็นว่า วิสูตรเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงว่ามาเรียรักอาร์โนลด์ ทั้งที่มาเรียรักแต่เขาเพียงคนเดียวเท่านั้น

แต่การไปสหรัฐอเมริกาก็ล้มเหลวอีก ไม่ใช่เพราะความสามารถแต่เพราะปัญหาสุขภาพดวงตา สุดท้ายเขาก็ยอมแพ้ และเดินทางกลับเมืองไทย กลับมาพร้อมกับเลือดรักชาติ ไม่เคยรู้สึกสักวินาทีเดียวที่เห็นว่าชาติอื่นดีกว่า แม้เทียบความเจริญเราจะไม่เท่า แต่ “เพราะเราไม่มีวาสนา ไม่มีโอกาสเช่นเขา”

ยิ่งการลงท้ายว่า “การที่เราสามารถดำรงตนเป็นอิสสรไม่เป็นขี้ข้าใคร และเป็นสุขอยู่ได้ถึงเพียงนี้ นั้นก็แสดงให้เห็นผลแห่งความสามารถของเรา-คนไทย-เพียงไหน ดูแต่อินเดีย เขมร ญวน พะม่า เพื่อนบ้านของเราซีท่าน” ยิ่งเป็นการมองด้วยเลนส์แบบเดียวกับที่คนไทยจำนวนมากยุคนี้รับรู้และแสดงออก ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ดูล้าหลัง อาจจะเหมาะสมแล้วที่จะถูกยึดครองและตกเป็นเมืองขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่เห็นว่า ในประเทศของตนนั้นมีปัญหาเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และอำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนเลย ความหมกมุ่นเรื่องความศิวิไลซ์ของเขาที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศสยามในอุดมคติ จึงมิใช่เรื่องอื่น เท่ากับเรื่องของเขาเองอย่างการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว

นี่คือ นิยายที่เขียนขึ้นก่อนปฏิวัติสยาม 2475


[1] “ประวัติผู้เขียน หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์”, ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก (กรุงเทพฯ : ชมนาด, 2548), หน้า 149 เนื้อหาจากบทความนี้อ้างอิงจาก อากาศดำเกิง รพีพัฒน์. ละครแห่งชีวิต. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566 จาก https://vajirayana.org/ละครแห่งชีวิต/บทที่-๑-ปฐมวัย เป็นหลัก

[2] อากาศดำเกิง รพีพัฒน์. ผิวเหลืองหรือผิวขาว. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566 จาก https://vajirayana.org/ผิวเหลืองหรือผิวขาว/คำนำ

[3] อากาศดำเกิง รพีพัฒน์. ผิวเหลืองหรือผิวขาว. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566 จาก https://vajirayana.org/ผิวเหลืองหรือผิวขาว/คำนำ

[4] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม (กรุงเทพฯ : มติชน, 2561)

[5] สมชาย ปรีชาศิลปกุล. “ผัวเดียว หลายเมีย”. The 101.World. สืบคืนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.the101.world/polygamy เมื่อ 13 มกราคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save