fbpx

เอริค ฮ็อบส์บอม: มรดกแห่งการปฏิวัติจากอังกฤษ-ฝรั่งเศส สู่คลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ในระบอบการเมืองไทย

หลายคนอาจคุ้นชินกับคำว่า ‘การปฏิวัติ’ ทั้งจากการร่ำเรียนประวัติศาสตร์ที่บรรจุเนื้อหาของ ‘การปฏิวัติ’ ในเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระในหลายประเทศทั่วโลก ไปจนถึงการถวิลหารอคอยให้สิ่งที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติ’ เวียนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยนี้ และในบรรดาเหตุการณ์การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต นอกเหนือจาก ‘การปฏิวัติ 2475’ นำโดยคณะราษฎรในไทยที่เราต่างคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี การปฏิวัติครั้งใหญ่อย่าง ‘การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789)’ และ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม (1760)’ นับเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ผูกโยงเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองไทยอย่างแนบสนิท และอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด

The Age of Revolution (1789-1848) หรือในพากย์ไทยชื่อ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี 1962 เขียนโดยเอริค ฮ็อบส์บอม (Eric Hobsbawm, 1972-2012) นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ชาวอังกฤษ ผู้ผลิตผลงานอันเป็นหลักหมายสำคัญในแวดวงวิชาการ โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่องการปฏิวัติทวิภาค (dual revolution) – การปฏิวัติฝรั่งเศสในทางการเมืองและการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทางสังคมเศรษฐกิจในอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนส่งต่อกระแสคลื่นการปฏิวัติที่ระบาดลุกลามไปทั่วโลกตะวันตกระหว่างปี 1815-1848 และส่งผลไม่มากก็น้อยมายังประเทศในแทบเอเชียอย่างประเทศไทย

ทว่าเมื่อการปฏิวัติทวิภาคที่ว่านี้เกิดขึ้น ณ ดินแดนตะวันตกอันไกลพ้น ฉะนั้นแล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะเกิดคำถามว่า การศึกษาประวัติศาสตร์เมื่อเกือบสองร้อยกว่าปีที่แล้วในดินแดนแสนห่างไกลกับประเทศไทย จะมีประโยชน์อันใดกับคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเรากัน? แต่เพราะศตวรรษที่ 19 อันยาวนานนี้ คือช่วงเวลาที่โลกพลิกผันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นช่วงเวลาที่ก่อเกิดเสรีนิยม ชาตินิยม สังคมนิยม ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน ประชาธิปไตย และบ่อนเซาะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงที่แม้ว่าจะไม่สิ้นซาก ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรปกลับส่งแรงสะเทือนไปทั่วทั้งโลก ไม่เพียงเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง แต่ยังเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างถึงรากเหง้า

ภายในหนังสือเล่มนี้ ฮ็อบส์บอมยังบรรยายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างละเอียดด้วยการถักทอเชื่อมร้อยองค์ความรู้ขนาดมหึมาและกว้างใหญ่ไพศาลเข้าด้วยกัน เพื่อพยายามชี้ให้เห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า แท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกสมัยใหม่ที่รายล้อมตัวเรา ไม่ว่าทางวัตถุหรืออุดมการณ์ความคิดนั้นมิเคยเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง หรือแม้แต่เกิดจากฟ้าประทาน ทว่าทั้งหมดล้วนเป็นมรดกตกทอดมาจากจินตนาการ ความความใฝ่ฝัน และการลงมือปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงเป้าประสงค์แห่งความเปลี่ยนแปลงของบรรพชนนักปฏิวัติทั้งหลายแห่งการปฏิวัติทวิภาคอันยิ่งใหญ่

ในทัศนะของผู้แปลหนังสือ – ภัควดี วีระภาสพงษ์ การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างปี 1789-1848 มิใช่ชัยชนะของ ‘อุตสาหกรรม’ แต่เป็นชัยชนะของอุตสาหกรรมทุนนิยม มิใช่ชัยชนะของอิสรภาพและความเท่าเทียมอย่างถ้วนหน้า แต่เป็นชัยชนะของชนชั้นกลาง หรือสังคมเสรีนิยม ‘กระฎุมพี’ มิใช่ชัยชนะของ ‘ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่’ หรือ ‘รัฐสมัยใหม่’ แต่เป็นชัยชนะของระบบเศรษฐกิจและรัฐในบางภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ของโลก (บางส่วนของยุโรปและพื้นที่บางหย่อมในอเมริกาเหนือ) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐเพื่อนบ้านสองแห่งอันเป็นคู่แข่งชิงดีชิงเด่นกัน นั่นคือ เกรทบริเตน (Great Britain) กับฝรั่งเศส แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ความพลิกผันของปี 1789-1848 คือทวิภาคของการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินที่เกิดขึ้นในสองประเทศนี้ แล้วจากนั้นก็แผ่ขยายซ่านซึมไปทั่วทั้งโลก

แท้จริงแล้วมรดกการปฏิวัติทวิภาคส่งผลต่อระบอบการเมืองไทยอย่างไร 101 ชวนหาคำตอบและร่วมศึกษาประวัติศาสตร์โลกเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการเมืองการปกครองไทยโดยไม่จมหายไปกับมหาสมุทรแห่งข้อมูล ไปจนถึงการศึกษาวิธีทางประวัติศาสตร์ของเอริค ฮ็อบส์บอม กับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้แปล ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการอิสระ, ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการอิสระ และ เกษม เพ็ญภินันท์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา ‘มรดกการปฏิวัติ มรดกเอริค ฮ็อบส์บอม’ จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566

ฝ่าย ‘ซ้าย’ – ‘ขวา’ นั้นสำคัญไฉน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้แปล ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 แลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะของผู้แปลหนังสือเล่มนี้ว่า ลักษณะเด่นของงานเขียนฮ็อบส์บอม คือการเขียนประวัติศาสตร์ที่เป็นการวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าการเล่าเรื่องเชิงลำดับเหตุการณ์หรือปูพื้นฐานก่อนการวิเคราะห์แบบงานศึกษาประวัติศาสตร์โดยทั่วไป หากจะเปรียบไปแล้ว ภัควดีกล่าวว่า หนังสือชุดนี้คือการมองโลกในช่วงสมัยเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยสายตาของนกที่มองลงไปสลับกับมองไปข้างหน้าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีผลส่งไปยังปัจจุบันและอนาคตอย่างไร โดยใส่แว่นตาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของแนวคิดมาร์กซิสต์  

“แรกเริ่มเดิมทีเราได้พูดคุยกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยมีความเห็นตรงกันว่าอยากจะแปลงานเขียนประวัติศาสตร์การเมืองคลาสสิกสักชิ้น และได้บอกกับทางสำนักพิมพ์ไปว่า หากจะให้ผู้แปลเลือกแปลหนังสือสักเล่มหนึ่ง ขอเพียงว่าหนังสือเล่มนั้นต้องเป็นงานเขียนของฝ่ายซ้าย อาจเป็นงานเขียนของนักสังคมนิยมแนวคิดมาร์กซิสหรือสำนักแนวคิดใดก็ได้ เพียงแต่คงจะไม่สามารถแปลหนังสือจากฝ่ายขวาได้ จึงได้เลือกแปลเล่มนี้” ภัควดีกล่าว

ภัควดียังให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวเธอรู้สึกว่างานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้ล้าสมัยแต่อย่างใด แม้จะเป็นงานเขียนที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนในเล่มสามารถทำให้ผู้อ่านทำความเข้าใจสังคมการเมืองของไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกได้เช่นกัน

ภัควดียังแนะนำเนื้อหาในบทที่ว่าด้วย ‘อุดมการณ์ :ฆราวาส’ ในเล่ม อันเป็นบทเชื่อมโยงความคิดเข้ากับการเมืองไทยได้ดีไม่น้อย เนื่องจากเป็นบทที่มีการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงจากสังคมระบบฟิวดัล (Feudalism) ที่มีศาสนาเป็นอุดมการณ์หลักมาสู่สังคมที่มีอุดมการณ์แบบมนุษยนิยม อันนำมาสู่การเกิดชนชั้นใหม่ในสังคมยุโรป ประกอบกับการก่อตัวขึ้นของระบอบทุนนิยมที่ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านสังคมดั้งเดิม ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้จะคาบเกี่ยวกับแนวคิดของ คาร์ล โพลันยี (Karl Polanyi) ในหนังสือ The Great Transformation (1944) ที่กล่าวว่า เมื่อสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือโครงสร้างทางสังคมแบบเดิมถูกทำลายลง จะนำมาสู่แรงต้านที่ส่งผลกระทบในหลายทางต่อชีวิตประชาชน

ภัควดีอธิบายต่อว่า แรงต้านที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 จากการเกิดขึ้นของเมืองและระบบทุนนิยมที่ทำลายสังคมดั้งเดิมในภาคเกษตร ทำให้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์หรือทัศนคติมนุษย์ที่ใช้ที่มองตัวเอง โลกและสังคม จากเมื่อก่อนที่ชีวิตมนุษย์ถูกผูกติดอยู่กับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ทว่าภายหลังมนุษย์เริ่มแยกหรือปลีกตัวออกจากสังคมนั้น และถูกผลักไปอยู่ในสังคมที่ตัวเองไม่ได้มีรากเหง้ามาก่อน หมายถึงการที่สังคมเกษตรดั้งเดิมถูกทำลายจนคนต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแทน จนทำให้เกิดแรงต่อต้านขึ้นมา ซึ่งในกระแสสังคมที่ว่านั้นจึงทำให้เกิดขบวนการต่อต้านด้วยแนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ไปจนถึงอนาคิสต์ 

มากไปกว่านั้น ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากที่ภัควดีชวนให้เราขบคิดตามคือ หลายครั้งที่มีการตั้งคำถามว่า การที่ใครคนหนึ่งมีแนวคิดทางการเมืองเอนเอียงไปฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวานั้น แท้จริงแล้วเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งฮ็อบส์บอมได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่ใครคนนั้นจะยอมรับแนวคิดเรื่องความเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าในสังคมดั้งเดิมได้มากน้อยแค่ไหน จึงมิใช่ว่าคนเราจะเกิดมามีแนวคิดฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาโดยไม่มีเหตุผล 

ทว่าเมื่อกลุ่มคนใดก็ตามไม่สามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าได้ก็จะถูกผลักไปเป็นฝ่ายขวา แม้แต่ช่วงที่เกิดการปฏิวัติในโลกตะวันตก กลุ่มกวีนักเขียนแนวโรแมนติกจำนวนมากที่ตอนแรกมีแนวคิดแบบฝ่ายซ้าย แต่สุดท้ายก็ย้ายไปเป็นขวา ในขณะที่คนกลุ่มใดก็ตามไม่ว่าจะมีแนวคิดฝ่ายขวาหรือเป็นซ้ายมาก่อน แต่หากสามารถยอมรับต่อความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ พวกเขาเหล่านั้นก็จะอยู่ในลักษณะค่อนมาทางซ้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหลักการวิเคราะห์เช่นนี้นำมาใช้ทำความเข้าใจการเมืองไทยได้ดีไม่น้อย

“ประเด็นนี้ทำให้เราย้อนคิดถึงการเมืองไทยในช่วงที่มีการเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตร กปปส. ระบอบทักษิณ มาจนถึงการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่เราจะฉงนกันว่า ทำไมบางคนที่ดูจะเป็นฝ่ายซ้ายมาก่อนถึงย้ายไปเป็นฝ่ายขวา ทำไมบางคนที่น่าจะเป็นอนุรักษนิยมก็กลายเป็นคนหัวก้าวหน้าหรือเป็นพวกราดิคัล หรือบางคนเป็นอนุรักษนิยมอยู่แล้วตอนนี้ก็ขวาหนักขึ้นยิ่งกว่าเดิม ซึ่งคำตอบทั้งหมดอยู่ที่ว่าคนเหล่านั้นสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมดั้งเดิมได้มากน้อยแค่ไหน และการอธิบายเรื่องการยอมรับการเปลี่ยนแปลงคือจุดตัดที่ทำให้เราเข้าใจว่า กระแสความคิดทางการเมืองของกลุ่มคนเกิดจากอะไร” 

“นี่คือประสบการณ์การอ่านของตัวผู้แปล และเชื่อว่าผู้อ่านแต่ละคนคงมีประสบการณ์การอ่านหนังสือเล่มนี้แตกต่างกันไป และคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ในฐานะผู้แปล เราหวังว่าการศึกษาอดีตผ่านหนังสือเล่มนี้จะช่วยจุดประเด็นให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจโลกและสังคมปัจจุบันได้มากขึ้น” ภัควดีกล่าวทิ้งท้าย

‘การปฏิวัติ’ ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเพื่อรับใช้ปัจจุบันและอนาคต

ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการอิสระ เริ่มต้นด้วยการสรุปแก่นความคิดหลักของหนังสือเล่มนี้ว่า หลักใหญ่สำคัญของแนวคิดที่ฮ็อบส์บอมต้องการนำเสนอผ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ‘การปฏิวัติทวิภาค’ (dual revolution) การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุโรปอันส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก โดยเส้นเรื่องของหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากการย้อนกลับไปยังโลกในศตวรรษที่ 18 จากสองการปฏิวัติใหญ่ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์โลก 

ในแง่ของวิธีวิทยา ปิยบุตรชี้ให้เห็นว่า หนังสือของฮ็อบส์บอมอาจได้อิทธิพลมาจากสำนักคิด ‘Annales School’ ที่มีวิธีการเขียนประวัติศาสตร์แบบ ‘longue durée’ คือการมองประวัติศาสตร์ในระยะยาวทั้งหมด ไม่ใช่เพียงมองในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีวิทยาเพื่อการเข้าใจโครงสร้างเชิงลึกต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ปิยบุตรระบุว่า งานเขียนของฮ็อบส์บอมมีลักษณะการเขียนตามแนวคิดแบบมาร์กซิสที่เน้นการอธิบายปรากฏการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยเนื้อหาในหนังสือ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 มุ่งเน้นกล่าวถึงสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติทวิภาค และกล่าวต่อเรื่อยไปตามบทต่างๆ ว่าการปฏิวัติทวิภาคจะนำไปสู่การก่อเกิดขึ้นของทุนนิยมอุตสาหกรรมที่สร้างสังคมชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมาแทนที่สังคมชนชั้นสูง ซึ่งสังคมกระฎุมพีและแนวคิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้เองที่ทำให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นต่อมา และเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยของระบอบทุนนิยมที่มุ่งสู่การหาผลประโยชน์และกำไรสูงสุด จึงทำให้เกิดอีกชนชั้นหนึ่งที่จะมาต่อต้านอำนาจของชนชั้นกระฎุมพีต่อไป คือชนชั้นกรรมมาชีพหรือชนชั้นแรงงาน จนนำมาสู่การปฏิวัติสังคมนิยมที่เริ่มขึ้นช่วง 1830 เรื่อยมาจนระเบิดขึ้นในปี 1848 ซึ่งเป็นปีที่มีประกาศแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)

ในด้านของผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการเมืองยุคปัจจุบัน การปฏิวัติทวิภาคนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเรื่องที่ดิน ผู้ใช้แรงงาน โลกอุตสาหกรรม การขยับชนชั้นด้วยวิธีแบบใหม่ที่ขึ้นอยู่กับความสามารถไม่ใช่มาจากชาติกำเนิด ไปจนถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และศาสนา เหล่าล้วนนี้เป็นผลลัพธ์จากการปฏิวัติทวิภาคทั้งสิ้น 

“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์แนว ‘history of battle’ หรือการอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เน้นเล่าว่าเกิดสงครามอะไร ใครสู้กับใคร ซึ่งการเขียนลักษณะนี้มักจะเดินเรื่องด้วยการมีมหาบุรุษหรือมหาสตรีเกิดขึ้นในท้องเรื่องตลอดเวลา แต่เป็นการเอาวิธีแบบ ‘longue durée’ มาใช้วิเคราะห์เฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19” ปิยบุตรให้ความเห็น

ปิยบุตรยังเจาะลงลึกถึงรายละเอียดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่บริเตนภายในหนังสือเล่มนี้ ที่ฮ็อบส์บอมระบุอย่างจำเพาะเจาะจงว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ต้องเกิดที่ ‘บริเตน’ เท่านั้น ด้วยบริบทแวดล้อมที่พอเหมาะพอเจาะที่สุด เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของบริเตนสัมพันธ์กับการล่าอาณานิคมในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขวนขวายตามหาทรัพยากรและวัตถุดิบต่างๆ จากดินแดนอาณานิคมเพื่อนำมาทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประเทศอังกฤษหรือบริเตนในเวลานั้นจึงกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ทั้งเปลี่ยนชีวิตคน กำลังการผลิต และความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมการผลิตไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสังคมการเกษตรไปเป็นอุตสาหกรรม เปลี่ยนชาวนาเปลี่ยนแปลงแรงงานรับจ้าง ไปจนถึงการเปลี่ยนเจ้าที่ดินให้กลายเป็นผู้ประกอบการ

ฮ็อบส์บอมอธิบายเหตุการณ์ในศตวรรษที่ 19 ไล่เรียงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เกิดชนชั้นแบบใหม่คือชนชั้นกระฎุมพี จากเดิมที่จะแบ่งจากฐานนันดร ทว่าเมื่อมีการปฏิวัติก็เปลี่ยนเป็นการนับว่าใครถือปัจจัยการผลิตมากที่สุด พร้อมระบุว่า กลุ่มชนชั้นกระฎุมพีมักจะยึดแนวคิดตามสำนักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิก เช่น แนวคิดของอดัม สมิธ ที่มีวิธีคิดด้วยการแสวงหาผลกำไรและประโยชน์สูงสุด

ต่อประเด็นนี้ ฮ็อบส์บอมสรุปแก่นสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไว้ในหนังสือว่า “ซื้อจากตลาดที่ราคาถูกที่สุด และขายอย่างไม่มีข้อจำกัดในตลาดที่มีราคาแพงที่สุด”  จึงกล่าวได้ว่า ความคิดรวบยอดของวิธีคิดในการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือการเดินทางออกไปหาวัตถุดิบที่ราคาถูกที่สุด และใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อมาขายให้แพงที่สุด และส่งต่อไปยังตลาดที่กระจายอยู่ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งต่อมาวิธีคิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ส่งทอดมายังประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้เกิดการยกเลิกระบอบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ที่ผูกติดประชากรไว้กับความเป็นเจ้าที่ดิน ทั้งยังส่งอิทธิพลจนนำมาสู่การสร้างระบบกฎหมายชุดใหม่ที่ฮ็อบส์บอมเรียกว่าเป็น ‘การปฏิวัติทางกฎหมาย’ (label revolution) ที่ยังคงมีผลตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

“เรื่องที่ผมรู้สึกว่าใกล้กับวิชาชีพของผมในฐานะนักกฎหมายมากที่สุดก็คือการปฏิวัติทางกฎหมาย เพราะมันส่งผลมาจนถึงกฎหมายปัจจุบัน ระบบกฎหมายที่พวกเราร่ำเรียนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือประเทศไทยล้วนตั้งพื้นฐานอยู่กับความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ทั้งนั้น เริ่มต้นเรียนกฎหมายปีแรกผมก็ต้องเรียนเลยกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือใครเป็นผู้ทรงสิทธิ์ก่อน”

ปิยบุตรยังอธิบายต่อจากเนื้อหาข้างต้นว่า เมื่อมีการสร้างระบบกรรมสิทธิ์อันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นมา หน้าที่ของ ‘ที่ดิน’ จากยุคก่อนหน้าที่มีไว้เพาะปลูกทำการเกษตรหรือไว้ใช้เป็นอยู่อาศัย และถือเป็นหนึ่งในความจำเป็นของชีวิต ก็ได้แปรสภาพเป็นสินค้า กลายเป็นทรัพย์สินหรือมรดกตกทอด และเกิดกระบวนการการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดินในที่สุด อีกทั้งจากเดิมที่ที่ดินจะเกี่ยวพันกับเรื่องยศฐานบรรดาศักดิ์ ทว่าเมื่อที่ดินเป็นสิ่งที่ค้าขายได้ จึงส่งผลให้เกิดแรงกดดันแกมบังคับให้พัฒนาที่ดินเพื่อให้เกิดการผลิต ส่วนชาวนาทั้งหลายก็จำต้องแปรสภาพจากเกษตกรเป็นผู้ใช้แรงงาน จากที่เคยทำงานเพื่อมุ่งนำผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลตอบแทน ก็กลับกลายเป็นแรงงานทำงานแลกกับค่าจ้างรายวัน

“พอมีวิธีคิดแบบนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ทุกประเทศที่เกิดระบบแบบนี้จะมีภารกิจสำคัญคือการกำจัดชนชั้นชาวนาให้ได้ หรือบางทีถึงขั้นต้องกำจัดพวกเจ้าที่ดินให้หมดไปด้วย จึงทำให้สังคมเกษตรกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมในที่สุด แล้วพอประชากรไม่ต้องผูกติดกับที่ดินก็เกิดการขายแรงงาน ที่ไหนมีโรงงานอุตสาหกรรมก็เดินทางไปทำงานเพื่อแลกเงินกลับมา และพอเดินทางกันมากเข้าก็เกิดเป็น ‘เมือง’ ที่ประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

“ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลที่ทำให้เกิดการ ‘แบ่ง’ ที่ส่งผลมาในปัจจุบัน คือการแบ่งประเทศต่างๆ เป็นประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศยังไม่พัฒนา ด้วยการวัดจากศักยภาพในระบบอุตสาหกรรม” ปิยบุตรขยายความ

จากความเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่อด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศส ในความคิดของฮ็อบส์บอม เขามองว่าการปฏิวัติดังกล่าวคือการปฏิวัติของมวลชน เป็นการปฏิวัติสากลที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่ในประเทศฝรั่งเศส เป็นแม่แบบของการปฏิวัติในพื้นที่อื่นๆ ทั้งยังเป็นการปฏิวัติที่ย้ายศูนย์หรือถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยจากกษัตริย์ไปสู่ชาติหรือประชาชน แม้หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสจะมีการปฏิวัติซ้อน (counter revolution) สลับขั้วอำนาจไปมาอยู่หลายครั้ง แต่ในท้ายที่สุด ฮ็อบส์บอมก็มองว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสสามารถส่งคลื่นแห่งการปฏิวัติออกไปในดินแดนอื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อยอยู่ดี

มากไปกว่านั้น ปิยบุตรยังไล่เรียงให้ฟังว่า ภายในหนังสือเล่มนี้ ฮ็อบส์บอมได้แบ่งเครื่องมือสำคัญในการขยับชนชั้นของชนชั้นกระฎุมพีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมออกเป็น 4 วิธีใหญ่ๆ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะนำมาสู่วิธีคิดที่ทำให้ประชากรต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อยกระดับสถานะและคุณภาพชีวิตของตน 

“วิธีการแรกที่ฮ็อบส์บอมแบ่งไว้คือ ทำธุรกิจให้ตัวเองรวย หาทรัพยากรต่างๆ มาขายเพื่อเอากำไร วิธีที่สองคือ ใช้การศึกษา วิธีที่สามคือ ใช้ผลงานศิลปะให้เกิดประโยชน์สูงสุด และวิธีสุดท้ายคือการสงคราม นั่นคือคุณต้องออกไปรบ” ปิยบุตรกล่าว

อย่างไรก็ดี จากหลักคิดของฮ็อบส์บอม ในขณะที่ชนชั้นกระฎุมดีพยายามอธิบายว่าชนชั้นของตนทำให้ชนชั้นสูงในยุคก่อนหน้าที่ล้วนได้ยศฐาบรรดาศักดิ์จากชาติกำเนิดและต้นตระกูลหมดไป ทั้งยังพยายามจะเผยแพร่แนวคิดที่ว่า ชีวิตและสถานะทางสังคมของคนในสังคมจะดีได้ล้วนอยู่ที่ศักยภาพของบุคคลนั้น ทว่าในยุคสมัยที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชนชั้นแรงงานกลับมีทางเลือกในการใช้ชีวิตอยู่เพียงสามทาง ซึ่งปิยบุตรได้สรุปความให้เห็นภาพโดยง่ายไว้ว่า

“ทางเลือกของชั้นแรงงานมีสามข้อ หนึ่งคือ หาทางไต่เต้าขึ้นไปเป็นกระฎุมพีให้ได้ตามสี่วิธีดังที่กล่าวไปข้างต้น สองคือ ทนต่อไป ใช้ชีวิตไปวันๆ ให้เขากดขี่ตัวเอง และสาม ถ้าทนไม่ไหวก็ลุกขึ้นสู้ ล้มพวกชนชั้นกระฎุมพีให้ได้”

“ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าพีเรียดของชีวิตชนชั้นแรงงานตามข้อ 1-2 จะอยู่ในช่วง 1789-1848 แต่หลังจากปี 1848 เป็นต้นมาก็เกิดจากการจัดตั้งบวนการกรรมกรที่สร้างจิตสำนึกใหม่ว่าการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าไม่ใช่เรื่องความจนความรวย แต่เป็นเรื่องระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนายทุน และตอนนั้นเองที่ทางเลือกที่สามปะทุขึ้นมา”

เมื่อตัดภาพกลับมาที่การเมืองยุคปัจจุบัน ยุคสมัยที่การปฏิวัติทวิภาคจบลงไปหลายร้อยปีแล้ว ทว่าปิยบุตรชี้ให้เราเห็นประเด็นที่น่าสนใจและเชื่อมโยงโลกปัจจุบันกับการปฏิวัติทางการเมืองที่ผ่านพ้นมาหลายศตวรรษได้อย่างดี ปิยบุตรชวนเราสำรวจสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในหลายพื้นที่ทั่วโลก ที่มักจะพบว่าเริ่มมีความพยายามจะเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ทางการเมืองในอดีตเข้ากับวิกฤตการณ์ที่โยงใยกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีแรงต่อต้านทางชนชั้นในแง่มุมใดก็ตาม สุดท้ายผู้คนมักจะกลับไปถวิลหาเรื่องราวของการปฏิวัติในหน้าประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง

“ถ้าเราไปดูการชุมนุมที่ประเทศฝรั่งเศสในหลายๆ ครั้ง บรรยากาศภายในการชุมนุมจะยังคงมีการเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส เช่น มีการถือคุกบาสตีย์ปลอม มีคำพูดประมาณว่า ยังมีคุกบาสตีย์อีกเยอะที่เราต้องเข้าไปพังทลายมัน หรือถือกิโยตินปลอมกันในที่ชุมนุม เป็นต้น”

“แม้จะมีนักวิชาการหลายคนพยายามพูดตลอดเวลาว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสจบลงไปนานแล้ว แต่สุดท้ายความเป็นจริงทุกคนกลับถวิลหาการปฏิวัติครั้งนั้นเสมอ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณสู้กับระบบที่อยู่มานาน คุณก็จะกลับไปเชื่อมโยงถึงมัน ทั้งการวิเคราะห์ทางวิชาการไปจนถึงนำมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และถ้ามองมาถึงประเทศไทย จะมีนักวิชาการบางคนบอกว่า การปฏิวัติ 2475 จบไปแล้ว แต่ก็จะมีคนโยงถึงการปฏิวัตินี้เสมอ โดยเฉพาะหากเป็นขบวนการต่อต้านประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์”

“เวลาเราพูดถึงการปฏิวัติ สำหรับผม การปฏิวัติคือการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างแน่นอน และการปฏิวัติที่ผ่านพ้นหรือจบลงไปแล้วก็คือความทรงจำร่วมกันของมนุษย์และของทั้งโลก เพราะเวลาคุณจะสู้เพื่ออนาคต คุณย่อมคิดถึงอดีต และมนุษย์จะจินตนาการถึงอนาคตได้ ต้องมองย้อนไปยังอดีตก่อนเสมอ เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่าการปฏิวัติต่างๆ จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปเพื่อรับใช้ปัจจุบันและสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้นในอนาคต” ปิยบุตรกล่าวสรุป

อ่าน ‘ยุโรป’ เพื่อเข้าใจ ‘ไทย’

ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นเสริมต่อหนังสือเล่มนี้ว่า ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ยึดเอายุโรปเป็นหลักในการวิเคราะห์ (Eurocentric) และในอีกแง่หนึ่ง ในบางส่วนของเนื้อหายังมองโลกในมุมแคบลงไป คือมีทั้งการมองประวัติศาสตร์ที่ยึดเอามุมมองจากฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลาง (Francocentric) และยึดเอาประเทศอังกฤษเป็นศูนย์กลาง (Anglocentric) โดยเหตุผลหลักเป็นเพราะฮ็อบบอมผู้เขียนเป็นชาวตะวันตกที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุโรปในสองดินแดนนี้ แต่อย่างไรก็ดี ไชยันต์วิพากษ์ว่า การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ยึดเอาแง่มุมจากเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในโลกเป็นศูนย์กลางนั้นอาจทำให้การศึกษาติดอยู่ภายในกรอบของภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คือศาสตร์ของการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและถกเถียง แม้เนื้อหาทั้งหมดใน ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 จะเป็นประวัติศาสตร์ในดินแดนตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปเป็นแกนหลัก แต่ไชยันต์มองว่า อย่างน้อยที่สุด หนังสือเล่มนี้จะช่วยจุดประเด็นเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ และจะเป็นบันไดให้เราได้ถกเถียงและอภิปรายในประเด็นอันหลากหลายกันต่อไปในอนาคต

“การที่ฮ็อบส์บอมอธิบายว่า โลกนี้พลิกไปเพราะการปฏิวัติทวิภาคเท่านั้น ผมมองว่าประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ และถือเป็นตัวตั้งสำคัญให้เราคิดต่อได้อีกไกล ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนมองโลกด้วยแก่นความคิดของมาร์กซิส และแม้แต่แนวคิดของมาร์กซิสต์ก็เปลี่ยนไปมากจากในอดีตจนถึงตอนนี้ ดังนั้น การอธิบายหรือความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน”

“สำหรับคนไทย หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยได้โดยตรง แต่มันคือการส่องกระจกให้เห็นเงาสะท้อนของประวัติศาสตร์ไทย สะท้อนให้เราเข้าใจอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีต่อไทย และสภาพทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่ง ณ ตอนนั้นประเทศไทยยังเป็นสยาม ทั้งยังมีประเด็นมากมายชวนให้เราคิด และในขณะเดียวกันก็จุดประเด็นให้เราถกเถียงได้ต่อไป” ไชยันต์กล่าว

ไม่มีการปฏิวัติใดเกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล

ในฐานะลูกศิษย์ที่เคยได้ร่ำเรียนกับเอริค ฮ็อบส์บอม ด้วยความคิดพื้นฐานที่ว่าการเข้าใจประวัติศาสตร์ยุโรปจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับในการเรียนปรัชญา ในทิศทางเดียวกับที่หลักปรัชญาอาจทำให้เข้าใจการทำงานของประวัติศาสตร์มากขึ้น เกษม เพ็ญภินันท์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความน่าสนใจของงานเขียนฮ็อบส์บอมชิ้นนี้ คือการเน้นวิเคราะห์ความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19-20 

“ถ้าถามว่าฮ็อบส์บอมตระหนักถึงโลกภายนอกยุโรปหรือเปล่า ผมเชื่อว่าเขาตระหนักและรับรู้ และถ้าถามว่าทำไมเขาต้องโฟกัสอยู่ที่ยุโรปเป็นหลัก ครั้งหนึ่งเขาเคยอธิบายในคลาสที่ผมเรียนว่า การทำความเข้าใจเรื่องของยุคเปลี่ยนผ่านของโลกไม่ได้อยู่แค่ในดินแดนฝรั่งเศสหรืออังกฤษเท่านั้น แน่นอนว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพียงแต่ผลกระทบขนานใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มตัว ณ ดินแดนเหล่านั้น แต่ทั้งหมดนี้จะทำให้เราไม่เพียงเข้าใจเรื่องของยุโรปหรือตะวันตก หากเราศึกษามันให้กว้างออกไปมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรป ณ ช่วงเวลานั้น เราจะเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย” 

นอกจากนี้ จุดสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ฮ็อบส์บอมนิยามศตวรรษที่ 19 ว่าเป็น ‘the long century’ ในขณะที่เรียกศตวรรษที่ 20 ว่า ‘the short century’ เกษมชี้ให้เห็นว่านี่คือวิธีการมองยุคสมัยที่แตกต่างกัน อันอ้างอิงจากกระบวนการต่างๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงของโลก และตัวของสังคมที่มองเห็นผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

“งานของฮ็อบส์บอมคือการพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือการพยายามมองศตวรรษที่แตกต่างกัน ฮ็อบส์บอมมองศตรรษที่ 19 ว่าเป็นศตวรรษที่ยาวนาน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกอย่างระยะยาวในหลายแง่มุม ในขณะที่ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษที่สั้น เพราะในศตวรรษนี้เกิดคลื่นการเปลี่ยนแปลงภายใต้ปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองจำนวนหนึ่ง เช่น สงครามโลกทั้งสองครั้ง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20 ไปอย่างรวดเร็ว” เกษมกล่าวเสริม

จากเนื้อหาหลักของหนังสือ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 นำมาสู่คำถามสำคัญของผู้อ่านหลายคน ว่าเหตุใดการวิเคราะก์การเปลี่ยนแปลงของโลกต้องเริ่มต้นจากการมองสองการปฏิวัติใหญ่นี้ และแท้จริงแล้วการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่บริเตนและการปฏิวัติการเมืองที่ฝรั่งเศสก่อให้เกิดอะไรต่อสังคมโลก ต่อประเด็นนี้ เกษมให้ความเห็นว่า ส่วนสำคัญของการการปฏิวัติฝรั่งเศส คือการขีดเส้นแบ่งระหว่าง ‘the new regime’ กับ ‘the old regime’ ซึ่งฮ็อบส์บอมค้นพบว่า การเปลี่ยนของโลกในการปฏิวัติครั้งนี้เริ่มต้นที่ตัวมนุษย์ ตามหลักคิดของมาร์กซิสต์ที่มองว่ามนุษย์เป็นผู้ขับเคลื่อนกงล้อทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งกระบวนการผลิตในส่วนของแรงงาน การขยายคนชนบทเข้าสู่เมือง เหล่านี้ล้วนเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวมนุษย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างทางการเมืองกับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้การปฏิวัติทวิภาค จนกลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง’(political economy) 

“แต่ก่อนเรื่องเศรษฐกิจหรือปากท้องเป็นเรื่องของปัจเจก ในขณะที่การเมืองเป็นเรื่องของสาธารณชน แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มีการเชื่อมกันของเศรษฐกิจและการเมืองจนเป็นเนื้อเดียวกัน ที่ตัวรัฐจะต้องดูแลหรือให้ความสนใจด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจเสมือนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ ไปจนถึงการเกิดขึ้นมาของชนชั้นใหม่ๆ กระฏุมพี กรรมาชีพ หรือแนวคิดเสรีนิยมต่างๆ อันนำมาสู่การบริหารราชการของตัวรัฐโดยตรง”

ในส่วนของการทำงานและวิธีการทางประวัติศาสตร์ของฮ็อบส์บอม เกษมระบุว่า หัวใจสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ของฮ็อบส์บอม คือความเป็นวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ (historical materialism) และไม่เพียงศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานั้นบ้าง แต่พยายามหาสาเหตุปัจจัยที่นำไปสู่เหตุการณ์นั้น ไปจนถึงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้เปลี่ยนแปลงสังคมและชีวิตของผู้คนไปอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ฮ็อบส์บอมยังมองว่า งานประวัติศาสตร์ทุกชิ้นล้วนมีเป้าประสงค์ทางสังคมอันมีเป้าหมายเพื่อพยายามหาเหตุปัจจัยและสร้างความเข้าใจอย่างเป็นภววิสัยต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งยังพยายามมองประวัติศาสตร์ให้เห็นองค์รวม ซึ่งองค์รวมในส่วนนี้ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงการค้นคำตอบลงไปหาในความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นๆ ที่เชื่อมถึงกันคล้ายเป็นเครือข่ายใยแมงมุม 

“พวกคำถามพื้นฐานอย่าง What When Where Why ไม่อยู่ในประเด็นที่ฮ็อบส์บอมเน้นย้ำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เขาต้องการศึกษาว่ามีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นมาจะนำไปสู่อะไรได้อีกบ้าง นี่คือคำถามที่ฮ็อบส์บอมมักจะชวนขบคิดอยู่เสมอแม้แต่ตอนที่ผมได้เรียนกับเขา”

“งานเขียนชิ้นนี้จึงไม่ใช่แค่การไล่เรียงตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พยายามจะหาเหตุต้นตอของมัน ซึ่งสิ่งสำคัญในการเข้าใจการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงของกระบวนการผลิต อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ทำทุกอย่างให้เป็นอุตสาหกรรม เพราะการทำงานด้วยเครื่องจักรไม่ใช่เพียงการนำชิ้นส่วนเหล็กมาทำมาหากินเท่านั้น แต่คุณต้องสามารถทำให้ประสิทธิภาพของการผลิตเกิดขึ้น นั่นคือความจำเป็นในการสะสมทุน การพยายามหาปัจจัยการผลิต การขยายตัวของโลกทุนนิยมและการตามล่าหาทรัพยากร นี่คือปัจจัยที่สำคัญว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไร”

“และสิ่งที่ฮ็อบส์บอมให้ความสำคัญไม่ใช่แค่เหตุการณ์การปฏิวัติเท่านั้น แต่เขามองว่าการปฏิวัติคือภาพสะท้อนของฐานของความขัดแย้งทางชนชั้น พูดง่ายๆ ว่าหากจะอธิบายเรื่องการปฏิวัติ ต้นตอของมันก็คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และการปฏิวัติยังส่งผ่านให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก และในแง่ของความเป็นมาร์กซิสต์ ฮ็อบส์บอมไม่ได้มองแค่เหตุปัจจัยและความสัมพันธ์โดยตรง แต่ยังมองว่าสิ่งเหล่านั้นจะมีส่วนประกอบร่างสร้างโครงสร้างสังคมและโลกได้อย่างไรบ้าง” เกษมกล่าวสรุป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save