fbpx

เราหลับใหลจนกว่าจะตกหลุมรัก Anxious People (ยอดมนุษย์วายป่วง)

เพลง Auld Lang Syne หรือในพากย์ภาษาไทยว่า ‘สามัคคีชุมนุม’ เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ประกอบนิยายเรื่อง Anxious People หรืออย่างน้อยก็หยิบมาเปิดฟังเฉลิมฉลองหลังจากอ่านจบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุการณ์ยุ่งเหยิงอลหม่านสารพัดสารเพในนิยายเกิดขึ้นจบลงในวันที่ 30 ธันวาคม และเรื่องราวในนิยายนำผู้อ่านไปสู่จุดหมายปลายทาง สอดคล้องใกล้เคียงกับเนื้อหาในบทเพลง (ต้นฉบับ) ว่าด้วยการให้อภัยและลืมเรื่องบาดหมางต่างๆ ที่ผ่านมา (ส่วนเนื้อร้องในพากย์ภาษาไทยก็ยังพอใช้การได้อยู่ แต่จะเหมาะเหม็งตรงเผงเลย ถ้ามือซนเติมชื่อเพลงเพิ่มอีกนิดว่า ‘ไร้สามัคคีชุมนุม’)

พูดอีกแบบคือนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยการชุมนุมรวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย (ซึ่งอาจจะพอกล้อมแกล้มเรียกได้ว่า ‘วันมาคะหรือมาค่ะบูชา’ เนื่องจากส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง) แต่ละคนที่มามีชีวิตวายป่วงคนละอย่างสองอย่าง หรือหลายๆ อย่างต่างกัน มิหนำซ้ำแต่ละคนยังทะเลาะถกเถียงจิกกัดกันอีรุงตุงนัง จนไม่อาจแบ่งฝ่ายได้ชัดเจนว่าใครเป็นพวกใคร

วายป่วงเพียงไร? พูดเลียนแบบตัวละครในเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ของแดนอรัญ แสงทองได้ว่า แต่เราจะยังไม่พูดถึงมันในตอนนี้

ส่วนคำโปรยข้อเขียนชิ้นนี้ที่ว่า ‘เราหลับใหลจนกว่าจะตกหลุมรัก’ ผมไม่ได้คิดขึ้นเอง มันปรากฏอยู่ในหน้า 360 ของนิยาย ผ่านเรื่องเล่ารำลึกอดีตของตัวละครหญิงชรานามว่าเอสเตล ข้อความดังกล่าวเป็นชื่อของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งสามารถหยิบยืมมาใช้อธิบายหนึ่งในประเด็นสำคัญของ Anxious People ได้ว่า มันสะท้อนถึงผู้คนที่ ‘หลับใหล’ โดยการดำเนินชีวิตให้อยู่รอดผ่านพ้นไปวันต่อวันกับเรื่องพื้นฐานทั่วๆ ไป เช่น การทำงาน มีครอบครัว เสียภาษี จำรหัสผ่านไวไฟ ฯลฯ จนกระทั่งนานวันเข้า ปัญหาเบื้องลึกมากมายก็ค่อยๆ สะสม จนเกิดอาการหลับใหลในจิตใจ ไม่ทันได้ตระหนักถึงแง่มุมสำคัญบางอย่างที่มีอยู่

เหตุการณ์รวมพลคนวายป่วงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บรรดาตัวละครผู้หลับใหลทุกคนมีโอกาส ‘ตื่น’ ขึ้นมาอีกครั้ง และแน่นอนว่า สิ่งที่เป็นนาฬิกาปลุกก็คือความรัก

แต่เราจะยังไม่พูดถึงมันในตอนนี้

Anxious People ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2018 นอกเหนือจากที่ระบุไว้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคมแล้ว ตัวนิยายไม่ได้บอกชัดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในปีใด (รวมถึงสถานที่ ซึ่งกล่าวไว้เพียงแค่ ในเมืองไม่ใหญ่ไม่โตแห่งหนึ่ง) อย่างไรก็ตาม เฟรียดิค บัคมัน ผู้เขียน ก็แจกแจงพื้นเพเหตุการณ์ทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือวิกฤตเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลพวงสืบเนื่องมาจาก ‘ภาวะถดถอยครั้งใหญ่’ (the Great Recession) ซึ่งเริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2007-2008 แล้วก็ล้มระเนระนาดไปทั่ว รวมถึงในสวีเดน

ข้างต้นนั้นเกี่ยวข้องโยงใยไปสู่เหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าเรื่องราวในนิยายเป็นเวลา 10 ปี ชายคนหนึ่งสิ้นเนื้อประดาตัวจากเศรษฐกิจเป็นพิษ เขาเขียนจดหมายหนึ่งฉบับเพื่อส่งให้กับใครบางคน พาลูกไปส่งที่โรงเรียน จากนั้นก็ปีนขึ้นไปบนราวสะพานเพื่อฆ่าตัวตาย เด็กชายคนหนึ่งมาพบเข้า พยายามทัดทานให้ชายผู้นั้นเปลี่ยนใจ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

เหตุการณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงผูกพันไปถึง 3 (หรือ 4 หรือ 5) ตัวละครที่จะมีบทบาทสำคัญในอีก 10 ปีต่อมา รวมถึง 1 สะพาน ซึ่งจะไม่ใช่จุดเกิดเหตุอีกต่อไป แต่มีความหมายใหญ่หลวงและเป็นที่มองเห็นของทุกคน

Anxious People เป็นผลงานของเฟรียดิค บัคมัน นักเขียนหนุ่มชาวสวีเดนวัย 41 ปี และเป็นเล่มล่าสุดที่มีฉบับแปลภาษาไทย 3 เล่มก่อนหน้านั้น (เรียงลำดับตามปีที่เขียนและแปลเป็นภาษาไทย) ประกอบไปด้วย A Man Called Ove (ชายชื่ออูเว), My Grandmother Asked Me to Tell You She’s Sorry (ยายฝากบอกว่าขอโทษ), Britt-Marie Was Here (บริทท์มารีอยู่ตรงนี้)

ถ้าใครได้อ่านแล้วชอบงานเล่มใดเล่มหนึ่งของบัคมัน ก็น่าจะชอบเล่มอื่นๆ ที่เหลือได้ครบหมด เนื่องจากมีคุณภาพและมาตรฐานคงเส้นคงวา มีจุดเด่นและเสน่ห์ในท่วงทำนองใกล้เคียงกัน

พูดอีกแบบคือเขาเป็นนักเขียนที่มี ‘ทาง’ เฉพาะตัว หรือมีสูตรสำเร็จในการเขียน

คำว่า ‘สูตรสำเร็จ’ เมื่อใช้กับเฟรียดิค บัคมัน ผมใช้ในฐานะที่เป็นคำชมนะครับ เป็นสูตรสำเร็จหรือแบบแผนตายตัวในลักษณะที่ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้หรือทำได้ดีเทียบเท่า มีความลงตัวกลมกล่อมระหว่างส่วนผสมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงคิดพล็อตได้สนุกสนานชวนติดตาม (แน่นอนครับว่าเป็นพล็อตแบบสูตรสำเร็จที่เราท่านคุ้นเคยกันมาช้านาน) การดำเนินเรื่องที่เต็มไปด้วยลีลาและกลวิธีดึงดูดความสนใจจากผู้อ่าน (และทำให้เรื่องแบบสูตรสำเร็จที่คาดคะเนล่วงหน้าได้ มีความสดใหม่จนเดาไม่ถูกว่าจะลงเอยอย่างไร) การสร้างตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนตัวการ์ตูน (แต่เต็มไปด้วยปัญหาชีวิตที่หนักหน่วงจริงจัง) แพรวพราวไปด้วยอารมณ์ขันแสบๆ คันๆ และแม่นยำเมื่อถึงคราวต้องซาบซึ้งประทับใจ (และที่เก่งกาจมากคือการแสดงอารมณ์โรแมนติกของตัวละครปากแข็ง)

ถัดมาคือมีสถานการณ์ชุลมุนอลเวง วุ่นวายโกลาหล โฉ่งฉ่างอึกทึกครึกโครม ซึ่งควรจะทำให้ผู้อ่านรำคาญหรือรู้สึกว่าเลอะเทอะไร้สาระ (มีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นจริงในนิยายทุกเรื่องของเขา แต่ก็เกิดขึ้นโดยความตั้งใจของผู้เขียน ซึ่งต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกเช่นนั้นในเบื้องต้น เพื่อที่จะได้พบเจอกับอารมณ์ความรู้สึกที่ตรงกันข้ามในเวลาต่อมา)

อีกอย่างที่ผมคิดว่าคล้ายกันคือ เรามักจะเริ่มอ่านนิยายของเขาด้วยความไม่ชอบตัวละคร เพราะเปลือกนอกนิสัยร้ายกาจที่ปรากฏ แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นหลงรักและเอาใจช่วย เมื่อจิตใจอันดีงามเบื้องลึกของผู้คนเหล่านี้ค่อยๆ เผยแสดงออกมาทีละน้อย

ทั้งความสับสนอลหม่านของเหตุการณ์และนิสัยภายนอกของตัวละครที่ไม่น่าคบหา เป็นวิธีที่เฟรียดิค บัคมัน ช่ำชองชำนาญมากและใช้อย่างได้ผลทุกครั้ง ด้วยการเริ่มต้นนิยายให้แลดูติดลบทุกๆ ด้าน แล้วจึงค่อยคลี่คลายพาผู้อ่านไปสู่แดนบวก

เฟรียดิค บัคมันเป็นเจ้าพ่อแห่งนิยาย feel good ที่เก่งเข้าขั้นฉกาจฉกรรจ์คนหนึ่งของยุคนี้เลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจังหวะคลี่คลายเรื่องราว การเผยความลับของตัวละคร การเชื่อมโยงรายละเอียดจำนวนมากที่หว่านโปรยเอาไว้แต่แรก จนดูกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง โดยเล่นกับความบังเอิญประจวบเหมาะได้อย่างอยู่มือและชาญฉลาด

ช่วงคลี่คลายในนิยายของเขาทุกเรื่องเป็นการประกอบรวมอย่างลงล็อก และเปี่ยมด้วยสัมผัสถึงความมหัศจรรย์ในแบบเทพนิยาย แน่นอนว่ามันเบาหวิว พาฝัน และดีแบบเหลือเชื่อเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ในชีวิตจริง เป็นนิยายประโลมโลกย์เต็มๆ เลยเชียว แต่ผมก็รักและชอบที่จะได้อ่านอะไรทำนองนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝีมือปรุงของนักเขียนที่ ‘ทำถึง’ จนทำให้นิยายของเขาเต็มไปด้วยความปีติอิ่มเอมและจรรโลงใจ อีกสิ่งที่สำคัญยิ่งไม่แพ้กันก็คือแง่คิด บทเรียน ปัญหาต่างๆ ที่ตัวละครพบเจอ ไม่ได้เบาหวิวหรือหน่อมแน้มง่ายดาย ตรงข้าม มันพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่ทุกคนต้องเจออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงตามครรลองชีวิต มีความเป็นสากล อย่างเช่นความรัก ครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก สามีภรรยา ความกลัว ความวิตกกังวล ความทรงจำ การสูญเสียพลัดพราก ความรู้สึกผิดในใจ ฯลฯ

นี่ยังไม่นับรวมการเสียดสีถึงวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่หรือปัจจุบันขณะแบบเชือดเฉือนนิ่มๆ อ่านแล้วชวนยิ้ม (ตัวอย่างประเด็นนี้ใน Anxious People ก็เช่น การพูดถึงโซเชียลมีเดีย เป็นต้น)

เนื้อหาสาระและประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนไว้ในนิยายทุกเรื่องของเฟรียดิค บัคมัน เป็นแง่มุมที่มีความเป็นสากล ตัวบัคมันเองก็เป็นนักสังเกตที่สายตาแหลมคมมากๆ  ในการจับสังเกตแง่มุมปลีกย่อยเหล่านี้ แล้วนำมาบอกเล่าขยายความได้ลึกซึ้งถี่ถ้วน และในขณะที่ตัวละคร สถานการณ์ ตลอดจนเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยการปรุงแต่ง มีสีสันฉูดฉาด หวือหวา จัดจ้าน กระทั่งกลายเป็นเรื่องแต่งที่ห่างไกลจากความสมจริง เนื้อหาสาระกลับตรงกันข้าม มีความสมจริงเอามากๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวผู้อ่าน จนสามารถคล้อยตามหรือรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างพ้องพานกับชีวิตของเรา

ผมควรต้องรีบบอกไว้ก่อนว่านิยายของเฟรียดิค บัคมัน สะท้อนเนื้อหาได้อย่างลงลึก หนักแน่น แต่ก็นำเสนอออกมาแบบพยายามย่อยเรื่องยากให้เข้าใจง่าย และเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้าง รวมความแล้ว นิยายของเขาเป็นงานเขียนในกลุ่มเบสต์เซลเลอร์เต็มตัว เอาใจตลาด และชนะใจผู้อ่าน แต่ก็เป็นงาน ‘ตลาดจ๋า’ หรือ ‘พาณิชย์ศิลป์’ ชั้นดี

นอกจากความรื่นรมย์ในการอ่านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมติดอกติดใจมาก จนถึงขั้นปวารณาตัวเป็นแฟนคลับของเฟรียดิค บัคมันก็คือความเก่งกาจในทางวรรณศิลป์

บัคมันเป็นคนที่เขียนหนังสือดีมากๆ มีสำนวนโวหารคมคาย แพรวพราวไปด้วยลูกล่อลูกชน ร่ำรวยอารมณ์ขัน ปากคอเราะราย ช่างเสียดสีเย้ยหยัน แต่บทจะสละสลวยอ่อนโยนนุ่มนวล ก็ทำได้ดีไม่แพ้ตอน ‘ปากร้าย ใจดำ’ และเป็นนักเปรียบเปรยที่คมคาย (มีประโยคดีๆ จำพวก ‘คำคม’ อยู่แทบทุกหน้า)

พูดง่ายๆ คือเขียนหนังสือได้น่าอ่านเหลือเกิน

เล่าสู่กันฟังมายืดยาว ผมยังไม่ได้เข้าเรื่องเสียที ว่า Anxious People เป็นนิยายที่มีเค้าโครงคร่าว ๆ เช่นไร? และเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? (แง่มุมนี้ เฟรียดิค บัคมันตอกย้ำเอาไว้ในช่วงเริ่มต้นของหลายๆ บท ซึ่งสนุกและคม จนผมไม่กล้าคิดสู้และต้องหลบเลี่ยง)

ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า นิยายเรื่องนี้ไม่เหมาะที่จะเล่าเรื่องย่อ และไม่ควรเล่า

สิ่งที่ผมอยากเล่ามากกว่า ปรากฏในหนังสือประมาณแค่ 3-4 หน้าแรก คือเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นอย่างไร?

เช้าวันหนึ่ง มนุษย์วัย 39 พกปืนออกจากบ้านไปปล้นธนาคาร แล้วล้มเหลว เนื่องจากเป็นธนาคาร ‘ไร้เงินสด’ โจรจึงหลบหนีวิ่งข้ามถนน พุ่งเข้าสู่ประตูบานแรกที่เปิดอยู่  ภายในมีแต่บันไดและไม่มีทางออกอื่น จึงตัดสินใจวิ่งขึ้นถึงชั้นบนสุด พบประตูอพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่งเปิดอยู่

ห้องนั้นอยู่ระหว่างประกาศขาย เช้าวันนั้นมีผู้สนใจซื้อหลายคนแวะมาเยี่ยมชม โจรพุ่งเข้าไปในห้อง ยกปืนชูขึ้นฟ้า เสี้ยววินาทีนั้นเอง การปล้นธนาคารก็เปลี่ยนเป็นการจี้ตัวประกัน

ในเวลาต่อมา ตำรวจปิดล้อมอาคาร นักข่าวมุ่งตรงมายังที่เกิดเหตุ เรื่องราวกลายเป็นข่าวออกทีวี

หลายชั่วโมงผ่านไป ท้ายที่สุดตัวประกันเจ็ดคนและนายหน้าขายอพาร์ตเมนต์ถูกปล่อยตัวออกมา ประตูห้องปิดล็อกดังเดิม

ไม่กี่นาทีต่อมา เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ตำรวจบุกเข้าไปในห้อง มีรอยเลือดนองอยู่บนพื้น แต่ไม่มีใครอยู่ในนั้น ไม่มีศพ และไม่มีร่องรอยใดๆ ของโจร

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้น ตามความน่าจะเป็น ควรต้องขยายความว่าเกิดอะไรขึ้นภายในห้องระหว่างโจรและตัวประกันทั้งหมด การสืบสวนสอบสวนของตำรวจเพื่อคลี่คลายปริศนาในคดีที่เกิดขึ้น รวมถึงการแจกแจงว่าโจรเป็นใคร มีแรงจูงใจอันใดในการลงมือก่อเหตุอาชญากรรม รวมถึงบทสรุปว่าเรื่องราวทั้งหมดจะลงเอยอย่างไร

นิยายเรื่อง Anxious People ก็ทำหน้าที่บอกเล่าทุกอย่างตามย่อหน้าข้างต้นทุกประการ เสียแต่ว่าเป็นการเล่าตามวิธีลีลาของเฟรียดิค บัคมัน ซึ่งเจตนาขัดใจผู้อ่าน หรือมิฉะนั้นก็จงใจเล่าแบบไม่เป็นไปตามขนบปกติทั่วไป

Anxious People มีความยาวเกือบๆ 400 หน้า ช่วง 100 หน้าที่เริ่มเรื่อง เหมือนการทุบวัตถุชิ้นหนึ่งจนแตกกระจาย แล้วหยิบเศษต่างๆ เหล่านั้นมาเผยแสดงทีละชิ้น ไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เล่าหลายเหตุการณ์สลับไปมาแบบไม่เรียงตามลำดับเวลา สถานที่ และตัวละคร มีทั้งเหตุการณ์บนสะพาน 10 ปีก่อนหน้านั้น, เรื่องราวของคู่ตำรวจสองพ่อลูกยิมกับยัก, เรื่องของโจร ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือเป็นการดำเนินเรื่องแบบไม่มีรูปทรง ไม่มีเส้นเรื่องเค้าโครงให้จับต้อง ซ้ำร้ายกว่านั้น ฉากเหตุการณ์ที่ผู้อ่านคาดว่าจะพึ่งพาอาศัยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวได้ คือการสอบปากคำพยานแต่ละคนที่มีส่วนร่วมเกี่ยวข้อง ทุกรายยังพูดจาแบบถามอย่าง ตอบอย่าง เต็มไปด้วยการชักใบให้เรือเสีย ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย จนทั้งตำรวจในเรื่องและผู้อ่านจับใจความอันใดไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น? (ฉากสอบปากคำหลายๆ บทนี้ ตลกยียวนมากและชวนให้หงุดหงิดรำคาญใจ จนอยากเอามือทึ้งผมให้หายแค้นในขณะอ่าน อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างคลี่คลาย ผู้อ่านจะทราบถึงเหตุผลว่าทำไมพยานทุกคนจึงกวนตีนอย่างถึงที่สุด และเกิดความประทับใจเข้ามาแทนที่)

วิธีการทุบให้กระจาย แล้วค่อยมาประกอบรวมในภายหลัง เป็นกระบวนท่าเก่งที่เฟรียดิค บัคมันใช้อย่างได้ผลเสมอมาในนิยายทุกเรื่อง

หลังจากก่อกวนผู้อ่าน พร้อมๆ กับการปูพื้นฐานสำคัญจำเป็นที่ควรรู้จนครบถ้วนเสร็จสรรพ เมื่อเรื่องราวที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้น ความลับต่างๆ ค่อยๆ เผยเแสดงออกมา เศษชิ้นส่วนที่โดนทุบแตกละเอียดถูกนำมาทากาวประกอบเข้าด้วยกัน กลับคืนเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง ความยอดเยี่ยมสารพัดสารพันก็เดินเรียงรายออกมาอย่างต่อเนื่องระลอกแล้วระลอกเล่า

ผมกล่าวถึงสะพานเอาไว้ช่วงต้นๆ ของบทความ และรู้สึกอยู่ตลอดการอ่านว่ามันถูกเน้นย้ำจนน่าจะมีความหมายสำคัญ ยังไม่ทันจะได้คิดหรือตีความ ตอนหนึ่งในนิยายก็กล่าวถึงสะพานเอาไว้ว่า “…โรเกร์เป็นวิศวกรเคยสร้างสะพานมามากมาย เขาไม่ได้สร้างสะพานที่เกิดเหตุนะ แต่ถ้าคุณสนใจเรื่องสะพานมากเท่าๆ กับโรเกร์ จะเป็นสะพานไหนคุณก็สนใจ พวกเขาเอาเรื่องของชายคนนั้นไปคุยทางทีวี ทำเหมือนมันเป็นความผิดของสะพาน ซึ่งนั่นแหละที่ทำให้โรเกร์หัวเสียมาก เขาบอกว่าสะพานถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนใกล้กันมากขึ้น”

ตลอดทั้งเรื่องใน Anxious People พูดถึงคนที่มีชีวิตวายป่วงหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในจุดร่วมที่คนเหล่านี้มีตรงกันก็คือ การใช้ชีวิตเพื่อสร้างระยะห่างจากผู้คนรอบตัว

ถึงตรงนี้ ผมก็พอจะพูดได้แล้วว่า Anxious People เป็นเรื่องของการสร้างสะพาน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save