fbpx

เงินบำนาญถ้วนหน้า ภาระของรัฐสวัสดิการยุโรปยุคสังคมสูงวัย

ตั้งแต่ต้นปีใหม่เป็นต้นมา มีข่าวต่างประเทศรายงานกันอย่างคึกโครม กรณีชาวฝรั่งเศสนัดหยุดงานและจัดชุมนุมประท้วงกันทั่วประเทศ เกิดเหตุปะทะรุนแรงในหลายจังหวัด โดยเฉพาะเมืองหลวงกรุงปารีส ผู้ประท้วงจุดไฟเผาร้านค้า ขณะที่ตำรวจก็ตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา นักท่องเที่ยวที่เริ่มทยอยเข้าไปเที่ยวต้นฤดูใบไม้ผลิต่างก็ได้รับผลกระทบกันระนาว 

ผู้ชุมนุมซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ และต่างรุ่นต่างวัยหลายหมื่นคนนัดประท้วงในกรณีที่รัฐบาลจะออกกฎหมายยืดเวลาสิทธิการเบิกเงินบำนาญหลังเกษียณอายุทำงานจากอายุ 62 ปีให้ยาวออกไปเป็นอายุ 64 ปี โดยกำหนดเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ฝรั่งเศสสนับสนุนยูเครนในสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างที่มีบางสื่อในประเทศไทยโฆษณาชวนเชื่อกันแต่อย่างใด และนอกจากสหภาพแรงงานแล้ว กลุ่มที่ออกมาคัดค้านครั้งนี้คือกลุ่มการเมืองขวาจัดและซ้ายจัดที่อุดมการณ์ขัดแย้งกันเอง

Unionists and protesters hold flags and banners during a protest in front of “La Grande Arche de la Defense” (The Great Arch of La Defense) , a month after the government pushed an unpopular pensions reform act through parliament, in La Defense district, near Paris, on April 20, 2023. – Opposition parties and trade unions have urged protesters to maintain their three-month campaign against the law that will hike the retirement age to 64 from 62. (Photo by Geoffroy Van der Hasselt / AFP)

การชุมนุมประท้วงดำเนินอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงต้องเลื่อนหมายกำหนดการเสด็จเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการด้วยปัญหาด้านการถวายอารักขา สร้างความอับอายให้กับทำเนียบเอลิเซ่เป็นอย่างยิ่ง และในสัปดาห์ที่ประธานาธิบดีมาครงเดินทางเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ก็ยังมีการปะทะกันระหว่างตำรวจและขบวนประท้วง เมื่อมีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งวางเพลิงร้านอาหารโปรดของประธานาธิบดีในกรุงปารีส

อย่างไรก็ตามมาครงก็ไม่ยอมถอยเช่นกัน เพราะเป็นนโยบายสำคัญตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งในวาระแรก แต่ยังทำไม่สำเร็จ คราวนี้เขาเชื่อว่าแม้จะไม่ถูกใจประชาชน แต่มีความจำเป็นต้องผลักดันให้สำเร็จ ในเมื่อเขาไม่ต้องห่วงคะแนนเสียงตัวเองแล้ว เพราะไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งในวาระที่สาม เขาจึงทิ้งทวนใช้อำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ได้แล้วเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประท้วงโกรธแค้นมากขึ้น

นักวิเคราะห์อย่างอีริก อัลเบิร์ต (Eric Albert) ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เลอมง (Le Monde) ประจำลอนดอนให้ความเห็นแก่ the101world (สัมภาษณ์โดยผู้เขียน) ว่า มาครงอาจจะรู้สึกว่ามีชัยชนะในระยะสั้นนี้ แต่การใช้อำนาจพิเศษผลักดันนโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจแบบนี้ ทำให้มาครงสูญเสียความน่าเชื่อถือทางการเมือง ต่อจากนี้ไปจะผลักดันนโยบายสำคัญๆ ก็จะยากลำบากมากขึ้น พรรคฝ่ายค้านจะรวมหัวกันป่วนตลอดวาระการเป็นรัฐบาลที่เหลืออยู่ การใช้อำนาจแบบนี้เท่ากับเป็นการให้ของขวัญแก่คู่ต่อสู้ทางการเมืองฝ่ายขวาจัดอย่างมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของมาครงสองสมัย และคาดว่าจะเป็นผู้สมัครตัวเก็งในปี 2027 ซึ่งเรียกว่าเป็นข่าวร้ายของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยในฝรั่งเศสและยุโรป

อัลเบิร์ตให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าแม้คนจำนวนหนึ่งยอมรับว่า มีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบกองทุนบำนาญ เพราะบัญชีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้คนอายุยืนยาวมากขึ้น รับบำนาญนานมากขึ้น ส่วนบัญชีรายรับมิได้เพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วน ทำให้บัญชีติดลบ แต่มาครงไม่ยอมพิจาณาข้อเสนอที่เป็นทางเลือกอื่นๆ เขาเชื่อว่าการยืดเวลาเบิกบำนาญจะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด เมื่อมองรอบๆ ประเทศในยุโรป ต่างก็มีการขยายเวลาสิทธิการเบิกบำนาญกันแทบทุกประเทศ 

อัลเบิร์ตยอมรับกับผู้เขียนว่าสำหรับบุคคลภายนอกอาจจะสงสัยว่าทำไมชาวฝรั่งเศสจึงเป็นฟืนเป็นไฟกับนโยบายของมาครง ทั้งนี้เป็นเพราะระบบบำนาญของฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ชาวฝรั่งเศสมีความผูกพันหวงแหน ถ้าจะเทียบก็คงคล้ายๆ กับระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าหรือ NHS ของอังกฤษ 

อัลเบิร์ตกล่าวว่าโดยธรรมชาติของชาวฝรั่งเศสแล้วพวกเขาต้องการรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตไว้เมื่อทำงานหนักมาแล้วควรจะได้เกษียณออกมารับบำนาญใช้ชีวิตสบายๆ ในขณะที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ ไม่ใช่แก่เฒ่าป่วยไข้ต้องหมดเวลาไปกับการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จึงต้องการเบิกบำนาญใช้ชีวิตหลังเกษียณให้ยาวๆ โดยยังไม่แก่เฒ่าเกินไปนัก

สำหรับประชาชนในสหราชอาณาจักรที่ติดตามข่าวจากฝรั่งเศสคงจะรู้สึกแปลกประหลาดใจกับการลุกฮือประท้วงอย่างรุนแรงที่ฝรั่งเศส เพราะในอังกฤษได้ขยายเวลารับเงินบำนาญหลวงจากอายุ 60 ปีขยับเป็นอายุ 62 และอายุ 65 ปีไปแล้ว และกำลังขยายเป็นอายุ 67 ปีตามลำดับ มีข่าวล่าสุดด้วยว่าอาจจะเพิ่มขึ้นถึงอายุ 70 ปีจึงมีสิทธิเบิกบำนาญสำหรับชาวอังกฤษที่เกิดหลังปี 1980

ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่กำหนดให้เบิกรับเงินบำนาญได้เมื่ออายุ 65 ปี มีฟินแลนด์และนอร์เวย์ที่เบิกเงินบำนาญเมื่ออายุ 67 ปี โดยในแต่ละประเทศต่างก็มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป แต่ทุกประเทศมีกฎหมายกำกับที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจัดเงินเข้าบัญชีกองทุนบำนาญ เมื่อถึงเวลาลูกจ้างก็จะเบิกเงินบำนาญดังกล่าวไปเลี้ยงชีพ มากน้อยเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนและจำนวนปีที่ส่งเข้าไปสะสม ส่วนพวกอาชีพอิสระไม่มีนายจ้างก็จะเปิดบัญชีเอาไว้ในกองทุนแล้วรัฐบาลก็จะจัด pension credit ให้ไว้ในกองทุน เมื่อถึงเวลาก็มีสิทธิเบิกไปใช้ได้ 

เมื่อเทียบระยะเวลาการส่งเงินเข้าสมทบกองทุนบำนาญระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสแล้วจะแตกต่างกันมาก กล่าวคือในอังกฤษกำหนดไว้ให้สะสมเงินเข้ากองทุนบำนาญไม่ต่ำกว่า 35 ปีจึงสามารถเบิกบำนาญหลวงที่เรียกว่า full pension ได้ ถ้าส่งเงินเข้ากองทุนน้อยกว่านี้ก็จะถูกลดเงินบำนาญลง แต่สำหรับฝรั่งเศสจะต้องส่งเงินเข้าสะสมกองทุนบำนาญถึง 43 ปีถึงจะเบิกเงินบำนาญ full pension ได้ หมายความว่าต้องรีบทำงานหาเงินส่งกองทุนบำนาญตั้งแต่อายุน้อยๆ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี ดังนั้นชาวฝรั่งเศสจึงไม่พอใจหากจะยืดเวลาการเบิกบำนาญออกไปอีก

ประเด็นสำคัญที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือระบบของฝรั่งเศสเป็นกองทุนหลวงขนาดใหญ่ เป็นระบบที่นายจ้าง-ลูกจ้างทุกคนต้องส่งเงินเข้าสะสมในกองทุนนี้ แต่ของอังกฤษนั้น แต่เดิมก็เป็นระบบกองทุนคล้ายๆ ฝรั่งเศส ต่อมารัฐบาลหลายยุคพยายาม outsource แบ่งเบาภาระมาให้ภาคเอกชนตามลำดับ

รัฐบาลอังกฤษยังคงมีบำนาญหลวงรองรับประชาชนส่วนใหญ่อยู่ แต่ต่อมาออกกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจัดระบบบำนาญให้กับลูกจ้างทุกคน โดยนายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างส่วนหนึ่ง นายจ้างสมทบส่วนหนึ่ง และรัฐบาลลดหย่อนภาษีให้ส่วนหนึ่ง ลงในบัญชีบำนาญของลูกจ้างสะสมเป็นกองทุนบำนาญหลังเกษียน มีธนาคารและบริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ทำหน้าที่ pension provider มาเสนอให้บริการแก่ธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่ไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการเอง

สำหรับลูกจ้างที่เข้าร่วมกองทุนบำนาญของนายจ้าง สัดส่วนที่ต้องส่งให้กับกองทุนบำนาญหลวงที่เรียกว่า national insurance ซึ่งถือว่าเป็นภาษีรูปแบบหนึ่งก็จะลดสัดส่วนลง แต่ยังคงรักษาสิทธิเบิกเงินบำนาญหลวงเมื่ออายุครบ 65 ปี หรือ 67 ปี แล้วแต่ปีเกิด ซึ่งถือว่าเป็น safety net รองรับในระบบรัฐสวัสดิการ สำหรับผู้ที่อาชีพการงานไม่ค่อยจะแน่นอน ป่วยไข้ พิการ ทำงานไม่ได้ หรือพวกที่มีอาชีพอิสระที่เรียกว่า self-employed หรือ ฟรีแลนซ์ก็ยังสามารถเบิกเงินบำนาญหลวงพอเลี้ยงชีพได้ในยามชรา ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วในอังกฤษประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นกลางจะมีบัญชีบำนาญกับนายจ้างซึ่งเป็นเงินเลี้ยงชีพหลักยามเกษียณ และยังมีเงินบำนาญหลวงเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

การเบิกเงินบำนาญของประชากรในยุโรปจึงเป็นการจัดสวัสดิการภาครัฐแบบถ้วนหน้า กล่าวคือประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเบิกเงินบำนาญชราภาพเป็นรายได้ตลอดชีวิตหลังจากพ้นวัยทำงาน จะได้มาก-น้อยก็ตามสัดส่วนที่ส่งเข้าสมทบ ซึ่งเป็นประเด็นหาเสียงแบบคอขาดบาดตายของแทบทุกพรรคการเมืองยุโรปในช่วงฤดูเลือกตั้ง 

ในขณะที่ประเทศไทย เรื่องสวัสดิการดูไม่ค่อยมีผลต่อการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ขณะนี้มีการหาเสียงกันอย่างดุเดือด แต่ประเด็นการจัดสวัสดิการเงินบำนาญให้ผู้ถึงวัยเกษียณไม่ค่อยมีพรรคใดใส่ใจมากนัก ส่วนใหญ่จะหาเสียงประเด็นเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คงอาจจะเป็นเพราะว่าระบบครอบครัวไทยลูกหลานจะมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าทำงานไม่ได้แล้ว

ส่วนระบบประกันสังคมในประเทศไทยที่จัดเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนนั้นยังถือว่ากระท่อนกระแท่นมาก ไม่เคยเป็นประเด็นการหาเสียงอย่างจริงจัง ซึ่งผิดไปจากยุโรปที่มีประเด็นหาเสียงเรื่องใหญ่สุด ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้า การศึกษา และระบบบำนาญผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงขั้นที่วัดผลได้เลยว่าจะแพ้หรือชนะเลือกตั้งก็อยู่ที่เรื่องพวกนี้เป็นหลัก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save