fbpx

ฐาปณี หลูสุวรรณ และตำแหน่งแห่งหนของ ‘คนกลางๆ’ สีน้ำเงินครามใน Blue Again (2022)

เอไม่ได้เป็นคนตะวันตกเท่ากับที่ก็ไม่ได้เป็นคนตะวันออก ไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ เท่ากับที่ก็ไม่ได้เป็นคนอีสาน เป็นความครึ่งๆ กลางๆ ที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่เกิด และอยู่กับเธอเรื่อยมาแม้ในโมงยามที่เธอมุ่งหน้าเยียวยาโรงย้อมครามของครอบครัว ท่ามกลางความสัมพันธ์ของคนรอบตัวที่โอบกอดเธอไว้ เช่นเดียวกับบางจังหวะที่ผลักให้เธอเป็นอื่น โลกของคนที่ไม่มีต้นทุนหนายากเย็นเหมือนเดินอยู่ในฝันร้ายหม่นเศร้า

ความลักลั่นทางอัตลักษณ์และความเป็นอื่นปรากฏอยู่ใน Blue Again (2022) หนังไทยที่เพิ่งออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 27 เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่มันปรากฏอยู่ในชีวิตของ ฐา-ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับที่เล่าว่าเธอเกิดที่กรุงเทพฯ และโตในสกลนคร พูดอีสานได้บ้างแต่ก็ไม่มีใครให้พูดด้วย ดูซีรีส์ Autumn in My Heart (2000) ท่ามกลางเด็กเรียนฟิล์มผู้คร่ำหวอดจักรวาลหนังอาร์ต

ความรู้สึกผิดที่ผิดทาง เป็นคนกลางๆ ที่ไม่ได้เก่งแต่ก็ไม่ได้รั้งท้าย รวมถึงสถานะที่ไม่ได้มีทุนรอนมากมายให้ได้ทดลองใช้ชีวิต โดยทั่วไปแล้วก็ดูจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้ใช้ชีวิตไม่ง่ายนัก ยิ่งเมื่ออยู่ในสังเวียนของคนทำหนัง หากไม่หามุมจับให้มั่นหรือเล่นแร่แปรธาตุสิ่งที่ตัวเองถืออยู่ในมือให้แม่นพอ องค์ประกอบเหล่านี้ก็กลายเป็นกำแพงตระหง่านยากจะไต่ปีนข้ามไปยังพรมแดนของความสำเร็จ

การที่ Blue Again ได้เข้าไปฉายยังเทศกาลหนังต่างแดนโดยปราศจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งยังกวาดคำชมมากราวใหญ่ น่าจะเป็นหมุดหมายที่ชวนให้พึงใจอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง หากแต่ถ้ามองในระยะยาว ก็คล้ายการต่อสู้ของฐาปณีในอุตสาหกรรมหนังไทยจะยังรออยู่อีกหลายด่าน -อย่างน้อยที่สุดก็ภายใต้ร่มเงาของรัฐบาลที่ไม่เคยใยดีภาพยนตร์

ดูเหมือนว่าธีมของ Blue Again คือความเป็นอื่น ความผิดที่ผิดทาง ตอนเขียนบทหนังเรื่องนี้คุณไปเจออะไรมา สถานการณ์แบบไหนทำให้คุณอยากเล่าประเด็นนี้

มันขยับขยายมาจากหนังส่งธีสิสของเรา ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณปี 2014 เราไปฝึกงานที่ Eyedropper Fill มีโอกาสได้เจอรุ่นพี่ที่เรียนแฟชั่น เขาเอาสมุดสเก็ตช์มากางให้ดูว่าเขาทำอะไรบ้าง แล้วช่วงนั้นก็เป็นช่วงรัฐประหารพอดี การเมืองรุนแรงมาก พี่เขาก็บอกว่าเขาอยากเล่าเรื่องที่รู้สึกในเวลานั้น มันคือความรู้สึกแปลกแยกกับเพื่อนๆ การถูกตราหน้าว่าเป็นอื่น การที่ตัวเขาเต็มไปด้วยความอัดอั้น หรือที่เขาออกแบบเสื้อผ้าบางคอลเล็กชันจากแง่มุมทางการเมือง ใส่ความเห็นของตัวเองลงในเสื้อผ้า เราเลยให้ตัวละครเอกของเราเรียนแฟชั่นเพราะเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่เขาในแง่ความแปลกแยก และเราเองก็รู้สึกด้วยเหมือนกัน เหมือนว่าตอนนั้นเราพูดอะไรกับใครไม่ค่อยได้

ที่บอกว่าพูดกับใครไม่ค่อยได้ในตอนนั้นเป็นเพราะอะไร

มันเต็มไปด้วยความสับสนและเราเองก็ยังไม่ได้เข้าใจการเมืองมากมาย บวกกับเราสัมผัสสิ่งนี้ได้จากเรื่องราวที่รุ่นพี่ที่เรียนแฟชั่นต้องเผชิญได้ด้วย และช่วงนั้นเรามีโอกาสได้เจอคนหลายคน เช่น เพื่อนสนิทที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่อยากลองศึกษาศาสนาอื่นซึ่งช่วงนั้นเขาแสดงความเห็นเรื่องพวกนี้ไม่ได้เลย ดังนั้นมันเลยไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น ทั้งหมดนี้ทำให้เราสัมผัสและตั้งคำถามว่า ทำไมการที่คนเราคิดต่างไปจากคนอื่นจึงพูดสิ่งที่เขาคิดออกมาไม่ได้ หรือถ้าพูดออกมาแล้วก็กลายเป็นคนผิดไปเลย การไม่เข้าพวกมันทำให้เราถูกคว่ำบาตรได้ง่าย แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เราเชื่อมโยง เข้าอกเข้าใจพวกเขา รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเพื่อนเราและอยากถ่ายทอดเรื่องความโดดเดี่ยวและความแปลกแยกเหล่านี้ลงไปในหนัง เพราะเราจับต้องได้ว่า ในยุค 2014 ที่เกิดรัฐประหาร รอบตัวเรามีคนที่รู้สึกแบบนี้เยอะ ซึ่งพวกเขาพูดไม่ได้ด้วย

ตอนเกิดรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดเป็นเหมือนคนที่ชนะการรบมาน่ะ พูดได้ว่ากูชนะ แล้วคนที่พูดไม่ได้คือคนที่ต่อสู้แล้วเขาไม่ชนะ แล้วพูดไม่ได้กระทั่งแม้คำว่า กูแพ้ เพราะพูดไปแล้วเราจะโดนคว่ำบาตร

เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นอื่นมากน้อยแค่ไหน

เรารู้สึกว่าเราเป็นเด็กเรียนหนังที่เป็นคนกลางๆ ทำอะไรได้กลางๆ ขณะที่เพื่อนที่ไม่เก่งก็จะมีคนสงสารและช่วยเหลือ หรือคนที่เรียนเก่งก็มีแต่คนอยากไปทำงานด้วย แต่คนกลางๆ อย่างเรามันดูเฉยๆ คนรอบตัวก็รู้สึกเฉยๆ กับเรา เลยเหมือนว่าเราไม่เข้ากับจำพวกไหนเลย คนกลางๆ ไม่เคยถูกพูดถึง ไม่มีใครอยากร่วมงานกับคนกลางๆ เท่าไหร่ เราเป็นคนกลางๆ ที่อยากกำกับหนัง ไม่โดดเด่น ไม่มีใครอยากเอาใจช่วย ไม่มีใครอยากผลักดัน

เราเริ่มรู้สึกแบบนี้ตอนเรียนภาพยนตร์นี่แหละ เพราะสังคมที่เราอยู่ทำให้รู้สึกว่า คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้กำกับได้ต้องโดดเด่น เลยชวนให้ตั้งคำถามว่าแล้วไม่มีที่ให้คนกลางๆ อยู่เลยหรือไง อย่างตอนนี้ คนกลางๆ หลายคนก็ไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่การทำหนังแล้ว หรือกระทั่งคนเก่งๆ สมัยเรียนเองก็อาจไม่ได้ทำหนังแล้วเหมือนกัน

การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ควรให้เกิดการแบ่งแยกว่าคนนี้ไม่เหมาะที่จะทำงานนี้ คนนี้เหมาะที่จะทำแบบนั้น เราไม่รู้หรอกว่าอะไรทำให้เกิดมวลแบบนี้ขึ้น อาจจะเป็นสถาบันการศึกษาหรือสภาพสังคมก็ได้ที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องแข่ง ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ มันเลยไม่มีพื้นที่มากพอให้คนพัฒนาตัวเองเลย เหมือนจบมาต้องเป็นคนเก่งสำเร็จรูป พร้อมใช้งาน คนเรียนจบหนังมาโดยตรงจะซวยหน่อย เพราะใครๆ ก็ทำหนังได้ เพราะมันคืองานศิลปะ อันนี้เราต้องยอมรับ แต่ถ้าเรามีอุตสาหกรรมหนังที่เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมหนังได้เต็มปากเต็มคำ ก็คงมีพื้นที่รับรองคนอย่างพวกเรามากขึ้น ไม่ใช่เรียนจบมาก็เคว้ง เรียนจบหมอยังมีโรงพยาบาลรองรับ แต่เรียนจบหนังจะไปเริ่มต้นที่ไหน ไม่มีคำตอบแน่ชัด โดยเฉพาะคนทำหนังได้กลางๆ อย่างเรา

อะไรทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลางๆ

เราเป็นคนธรรมดา ชอบฟังเพลงธรรมดา เราฟังกามิกาเซ่ (หัวเราะ) หนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราก็เป็นหนังทั่วไปอย่างพวก ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2009), สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก (2010) อะไรแบบ ‘น้ำรักพี่โชน’ (หัวเราะ) คือไม่ได้มาจากพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) หรือมาจาก All About Lilly Chou Chou (2001) เราเลยรู้สึกว่า ไอ้เหี้ย เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันนี่ดูแต่หนังอาร์ต กูไม่เข้ากับเขาเลยว่ะ (หัวเราะ) เขารู้จักหนังอาร์ตก่อนที่จะเข้ามาเรียนฟิล์มอีก แต่เรามารู้จักหลังจากเรียนแล้ว มารู้จากอาจารย์ จากคนอื่นๆ บอกว่ามีหนังอาร์ตแบบอื่น เราเลยไปศึกษาหาดูบ้าง และตกผลึกมาเป็นเราในทุกวันนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วเราเป็นคนดูซีรีส์พวก Autumn in My Heart (2000) ที่ออกฉายช่อง ITV แบบนั้น วันหยุดต้องไปดูโทรทัศน์บ้านเพื่อนเพราะบ้านเขาชัดกว่า

อีกอย่างคือเราไม่ใช่คนอ่านหนังสือด้วย มักมีคนบอกเราว่า มึงนี่ไม่น่ามีความรู้อื่นเลยนะ แต่เราก็มีประสบการณ์ชีวิตที่มันไม่เหมือนคนอื่นไง และเราว่าประสบการณ์ชีวิตนี่แหละที่สำคัญต่อการทำหนังมาก และคนกลางๆ นี่แหละที่มีประสบการณ์ชีวิตเยอะ

ประสบการณ์แบบไหนที่จะทำให้คนกลางๆ แข็งแกร่งกว่าคนอื่น

เรารู้สึกว่าเราไม่มีพรสวรรค์อะไรเลย แต่ความพยายามมันก็ไม่ได้แย่อะไร เราอาจจะเป็นคนที่ต้องดิ้นรนมั้งเลยเชื่อเรื่องความพยายาม เพราะบ้านเราไม่ได้รวย แต่เราก็อยากให้สถานะทางการเงินของเราและคนที่รักดีขึ้น เราไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับเพราะอยากโดดเด่นหรืออยากรวย แต่เราอยากกำกับเพราะเราสนุก

สมัยเรียนหนังสือที่ศิลปากร ความที่นักศึกษาเยอะมาก ทางมหาวิทยาลัยเขาก็จะแบ่งออกเป็นสองเซค (Sec) อาจารย์ก็จะสอนต่างกัน แล้วในรายวิชาของเอกฟิล์ม เราจะไปนั่งเรียนรวมกับอีกเซคทุกครั้งเลย แปลว่าเราเรียนมากกว่าคนอื่นสองเท่า เพราะเรากลัวว่าจะไม่รู้เท่าคนอื่น เลยขออาจารย์ไปนั่งเรียนด้วยทุกครั้ง และเราขออาจารย์ให้ตรวจงาน ตัดเกรดให้ด้วยเพราะอยากได้การประเมินความรู้จริงๆ

อีกอย่างคือเพราะเราเป็นคนไม่อ่านหนังสือด้วย เราเลยอยากฟังอาจารย์สอนมากกว่า เหมือนเรามีทักษะในการรับความรู้ผ่านการฟังมากกว่าการอ่าน เราจึงมองว่าตัวเองเป็นคนกลางๆ ที่พยายามมากกว่า แต่ไม่ใช่คนมีพรสวรรค์อะไร

การเป็นคนกลางๆ ที่มีความพยายามมากกว่า มันออกดอกออกผลให้คนต่างจากคนอื่นๆ ยังไง

(คิดนาน) พอเราสะสมความพยายามไว้เยอะ ทำให้เราปัดตกมันไม่ได้ ไหนๆ ก็พยายามมาถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าเรายอมก็แปลว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดเท่ากับศูนย์เลย มันมีความกัดไม่ปล่อยอยู่

ทราบมาว่าคุณเกิดที่กรุงเทพฯ แต่โตที่สกลนคร มันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นอื่นไหม

ใช่ เราเกิดที่กรุงเทพฯ ภาษาแรกที่เราหัดพูดจึงเป็นภาษาไทยกลาง เหมือนที่คนกรุงเทพฯ พูด แต่พออายุสัก 2-3 ขวบก็ย้ายไปอยู่ที่สกลนคร พบว่าตัวเองฟังภาษาอีสานไม่ออกเลย เลยเกิดภาวะเหมือนพวกลูกครึ่งย้ายถิ่น เราก็พยายามฟังนะ แต่ครอบครัวเราไม่พูดภาษาอีสานกับเรา แม้กระทั่งจนเราโตเขาก็พยายามพูดภาษาไทยกลางด้วยเพราะเขาทรีตว่าเราเป็นคนกรุงเทพฯ

การไปอยู่อีสาน เพื่อนพูดภาษาอีสานซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่ใช่อีสานแบบที่เราได้ยินใน รักที่ขอนแก่น (2015) หรือสำเนียงอีสานกระแสหลัก มันเป็นสำเนียงภูไท เราว่ามันฟังยากมาก พูดก็ยาก ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเขาพูดกันยังไง ตอนเรียนชั้นประถมเราเลยพูดภาษาไทยกลางท่ามกลางเพื่อนๆ ที่พูดภาษาอีสาน เพื่อนก็ล้อว่า ‘อีคนไทย’ จนเราเข้ามัธยมถึงพอจะกล้าพูดภาษาอีสานได้บ้าง ทั้งหมดนี้มันเลยมีภาวะปัญหาเรื่องการสื่อสาร สมัยยังเด็กเราเลยเป็นคนพูดน้อยมาก ถ้าจะพูดต้องมีการเตรียมตัวก่อน ต้องมีสคริปต์ถึงจะพูดได้

บวกกันกับที่บ้านเราไม่เคยทรีตเราว่าเป็นคนสกลนครเลยทั้งที่เราโตที่นั่น เพราะเขารู้สึกว่าเราเป็นคนกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา ด้านหนึ่งเขาอาจจะเชื่อว่าการเป็นคนกรุงเทพฯ มันดีกว่า คือเราโตมาในครอบครัวข้าราชการ โตมากับยายที่เป็นคุณครูซึ่งยายพูดอีสานตลอดเวลา แต่เขาจะพูดกับเราด้วยภาษาไทยกลางและพยายามสอนให้เราพูดไทยกลางให้ชัด ไม่ติดสำเนียงอีสานเลย ทั้งที่เราอยากพูดอีสานมาก รู้สึกอยากกลมกลืน อยากเข้ากับเพื่อนๆ ได้

นึกออกไหม เหมือนเราอยู่ในกลุ่มเพื่อนสาวแล้วเขาพูดภาษาภูไทหมดเลย แล้วเราพูดภาษาไทยกลางอยู่คนเดียว จนโตมาแล้วได้เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือ เราพบว่าตัวเองพูดอีสานน้อยมาก พูดเฉพาะเวลาโทรศัพท์คุยกับที่บ้านซึ่งก็จะพูดภาษาไทยกลางกับเรา เขาไม่ยอมพูดอีสานกับเราเลย มันเลยมีภาวะครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ตลอดเวลา เราเลยให้ตัวละครหลักในหนังเราเป็นลูกครึ่งเพราะมันมีภาวะครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้เหมือนกัน

มองด้านหนึ่งก็คล้ายว่ากระทั่งความเป็นอื่นก็อาจมาจากครอบครัวด้วยหรือเปล่า

ใช่ คือเราสนิทกับครอบครัวมากนะคะ แต่เวลาพูดกัน เราพูดคนละภาษา เราเลยอยากให้เขาพูดภาษาอีสานกับเราหน่อย แต่ก็ไม่เคยบอกเขาตรงๆ หรอก แค่พยายามพูดอีสานกับเขาบ่อยๆ แต่เราเป็นเหมือนคนพูดภาษาอีสานที่พูดอีสานได้ประมาณ 2-3 ประโยคแล้วคลังศัพท์หมด ไม่ได้พูดได้ตลอด พูดได้แค่ ‘ยาย กินข้าวหรือยัง’ (สำเนียงอีสาน) แต่ถ้าเป็นศัพท์ยากๆ หรือศัพท์บางคำเราก็ออกเสียงไม่ถูก ‘ซักผ้า – ซักผ่า’ เหมือนเราคลังศัพท์หมด เราเลยมักจะสื่อสารด้วยภาษาอีสานนิดหน่อยแล้วสักพักก็พูดภาษาไทยกลางอยู่ดี นี่เป็นกำแพงเรื่องภาษา

กับเพื่อนที่เราคบในหมู่บ้าน ก็ไม่สนิทกันเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้พูดอีสาน หรือพูดน้อย คือเราไม่ได้ไม่อยากพูด แต่คลังศัพท์เราหมด พูดไปสักพักเราก็คิดไม่ออกแล้วว่าสำเนียงต้องเป็นแบบไหน ไปกล้าพูดได้มากขึ้นหน่อยอีกทีคือตอนมัธยม

พอมาเรียนกรุงเทพฯ รู้สึกว่าตัวเองก็เป็นคนนอกของกรุงเทพฯ ไหม

(พยักหน้า) แปลกมากนะ ตอนอยู่อีสานคนก็ปฏิบัติต่อเราเหมือนเราเป็นคนกรุงเทพฯ แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ คนก็ปฏิบัติต่อเราเหมือนเราเป็นคนอีสาน เช่น เรามาทำงานแล้วมีรุ่นพี่ที่เป็นคนอีสานถามเราว่า ‘ฐาเป็นคนอีสานใช่ไหม เพราะพูดติดเหน่ออีสาน เราว่าไม่ค่อยเวิร์กว่ะ’ คือเราพูดอีสานด้วยกันได้ไง แต่เขาพูดไทยกลางกับเราอย่างเดียว ซึ่งไม่เป็นอะไรหรอก แต่การมาทักกันแบบนี้มันก็นะ (ยิ้ม) เหมือนมาบอกว่าเราปลอม แต่จริงๆ กูแค่พูดอีสานยาวๆ ไม่ได้ กูไม่มีคลังศัพท์โว้ย (หัวเราะ)

เราว่าคนเป็นเด็กกรุงเทพฯ เขารู้เรื่องภาพยนตร์เยอะกว่าเรามาก เราโตมากับหนังกลางแปลง หนังที่เปิดในงานศพ หนังไรต์ลงแผ่น CD พวกหนังพากย์ไทยต่างๆ แต่พอมาเรียนฟิล์มแล้วเห็นเลยว่าพวกเด็กกรุงเทพฯ รู้เยอะ ครูสอนอะไรเขาก็รู้จัก เขามีเวิลด์ฟิล์มให้ดูแต่กูมีกลางแปลง เหมือนเด็กกรุงเทพฯ มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้มากกว่า เราเลยต้องพยายามกว่าเขาหลายเท่าเลยในการได้มาซึ่งความรู้

ตอนเข้ากรุงเทพฯ มา เราไปตระเวนดูหนังเทศกาลเยอะมาก เยอะกว่าเด็กเรียนฟิล์มที่เป็นคนกรุงเทพฯ อีก เพราะเราสนใจใคร่รู้ภาพยนตร์ภาษาอื่น อยากรู้วัฒนธรรม อยากรู้ว่าคนชาติอื่นเขาทำหนังกันยังไง

ความเป็นสกลนครแบบไหนบ้างที่คุณหยิบมาใช้ใน Blue Again

แบ็กกราวด์ของ Blue Again เป็นหมู่บ้านคริสต์คาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือที่ท่าแร่ เราไม่เคยไปรู้จักท่าแร่ในฐานะที่มันเป็นท่าแร่จริงๆ เคยแต่พาญาติไปซื้อของกัน เราเลยอยากเห็นท่าแร่ในมุมมองอื่นบ้าง และอยากรู้จักหมู่บ้านนี้มาก เผอิญว่าเพื่อนสนิทเราที่นั่งเรียนด้วยกันมาตั้งแต่มัธยมปลายจนจบ เขาเป็นคนท่าแร่ที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่สนใจเรื่องศาสนาอื่นด้วย ก็เคยถกกันเรื่องศาสนา แลกเปลี่ยนกันว่ามึงเป็นพุทธมึงทำอะไรบ้าง มึงเป็นคริสต์มึงทำอะไรบ้าง ดังนั้น เราเลยรู้จักท่าแร่ผ่านเพื่อนคนนี้มากกว่า

การไปถ่ายทำหนังเรื่องนี้ที่ท่าแร่ คือการไปเยือนท่าแร่ครั้งแรกของเราในฐานะคนทำหนัง ไปถ่ายท่าแร่ด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นคนนอก แต่พอเข้าไปแล้วรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับที่ดีมาก คนท่าแร่ใจดีกับเรามาก มีคุณครู มีบาทหลวง อนุญาตให้เราได้ถ่ายทำทุกอย่างที่อยากถ่ายเลยแม้ว่าบางประเด็นในหนังมันอาจจะอ่อนไหวนิดหน่อย แต่เรารู้สึกว่าคนท่าแร่เท่าที่เรารู้จักใจกว้างและเข้าใจศิลปะ กองถ่ายเราไม่ได้ใหญ่มาก เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงคริสต์มาส ก็มีคุณครูในหมู่บ้านชวนเราไปกินเค้ก หรือตอนถ่ายทำก็มีชาวบ้านมาถามว่าถ่ายอะไรกันอยู่ หรือมาชวนให้ไปกินขนมบ้านเขา เขามีความเป็นมิตรมากเลย

หนังพูดเรื่องต้นทุนทางสังคมที่ต่างกันของตัวละคร มันสำคัญสำหรับคุณยังไง

การได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ มันเหมือนจะดี มีงานทำ แต่จริงๆ มันยากนะคะถ้าเราไม่มีคอนเน็กชัน การมีคอนเน็กชันไม่ผิดเลย แต่คนที่ไม่มีคอนเน็กชันเลยนี่เท่ากับว่าแค่ ‘ทำงานได้’ มันไม่พอ แต่ต้องการคนที่รู้จักเรา คนที่จะมาแนะนำว่าเราเป็นคนโอเคนะ เช่น บางคนเข้าทำงานได้ผ่านการแนะนำจากรุ่นพี่สถาบันเดียวกัน ซึ่งบางคนก็เข้าไม่ได้แม้จะมีคอนเน็กชันนะ แต่สำหรับบางคน บางสถาบัน มันไม่มีเลย คิดดูสิจะยากสำหรับคนไม่มีคอนเน็กชันขนาดไหน อาจจะต้องสร้างเองใหม่ แต่เอาแค่สำหรับเรา มันไม่ง่าย

การทำหนังขึ้นมาสักเรื่องมันยากนะ เรามีรุ่นพี่และเพื่อนที่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ทำหนังอิสระเหมือนกัน เขายังรู้สึกว่ามันยากเลย คือไอ้เหี้ย ทุนในการทำหนังเรื่องแรกของเขามาจากการยืมเงินแม่น่ะ เหมือนเราเลย เราก็ยืมเงินจากครอบครัว คนรัก มันคือการไปหยิบยืมเงินคนมาเพราะเราไม่มีทุน รัฐบาลชุดนี้เขาไม่สนับสนุนศิลปะ วัฒนธรรมที่เขารู้สึกว่ามันไม่ตรงใจเขาเลย มีแต่สนับสนุนศิลปะที่ผลักดันตัวพวกเขาเอง ดังนั้นมันจึงไม่หลากหลาย

ถ้าอย่างนั้น จนก็คือจบเลยนะ

ใช่ และกูเป็นคนจนที่ไม่อยากจบ มันเลยเจ็บมากๆ

เราว่าถ้าใครไม่อยากพยายามแล้ว อยากไปทำอย่างอื่นแล้ว เราว่าการเลิกทำหนังมันก็ไม่ผิดนะ เลิกได้ ไปทำอย่างอื่นเถอะ แค่เรารู้สึกว่าเราไม่มีทางไป เราชอบการทำหนังมาตั้งนานแล้ว และเราก็ทำเป็นอยู่ไม่กี่อย่าง เราเลยเลือกไม่ได้ขนาดนั้น และต้องพยายามทำมันให้ออกมาดีที่สุด เพื่อให้เป็นอาชีพเลี้ยงชีพได้ แต่ (คิดนาน) มันยากมากแม้กับกระทั่งคนที่มีต้นทุนที่ดีเองก็ตาม

ทุกคนมีแพสชันในการทำหนังหมดแหละ แต่ทำหนังมันยาก ยิ่งทำหนังให้คนออกมาดูในโรงหนังยิ่งยาก เพราะประเทศนี้ไม่เอื้อให้เราออกมาเสพงานบันเทิงเลย

ขอถามแบบใจร้าย ถ้าสมมติเรื่องนี้ไม่ได้ไปฉายที่ปูซาน มองอนาคตอีกแบบไว้อย่างไร

เราตั้งใจว่าเราจะฉายหนังเรื่องนี้เล็กๆ ตั้งใจจะฉายที่ The Reading Room แต่พอบอกเพื่อน บอกคนรัก บอกทีมงานแล้วทุกคนก็บอกว่า มึงทำหนังมาขนาดนี้แล้ว ฉายที่แค่นี้ไม่พอหรอก ต้องฉกฉวยโอกาสจากหนังที่เราทำให้ได้มากกว่านี้เพื่อจะพัฒนาอาชีพ เราพยายามส่งเวอร์ชันธีสิสซึ่งเป็นเวอร์ชันสั้นไปสมัครงาน แต่ไม่ได้อะไรเลย เหมือนไม่มีใครเปิดดู ไม่มีใครสนใจ เว้นแต่ว่าเราจะอยู่ในที่แสงส่องถึง เราเลยต้องพาตัวเองไปอยู่ในสปอตไลต์มั้ง แต่เราไม่รู้หรอกว่าเราจะทำได้ ตอนส่งหนังไปปูซานยังลุ้นอยู่เลยเพราะหนังฉบับเต็มมันยาวสามชั่วโมง ทางปูซานเขาก็ถามเราว่าตัดให้สั้นลงได้ไหม คือเขาไม่ได้ใจร้ายอะไร เพียงแค่พอหนังยาวมันจัดให้ลงตัวยากเพราะการทำเทศกาลต้องจัดวางตารางการฉายด้วย

เราเลยนั่งคิดว่า กูทำมาแปดปี กูต้องตัดไหมวะ และเราตัดสินใจว่าเราอยากซื่อสัตย์กับตัวเองว่าเราชอบหนังเรื่องนี้ และมันก็น่าจะมีคนชอบเหมือนเราสิ ความยาวก็ไม่เคยเป็นอุปสรรคในการดูหนังลาฟ ดิอาซนะ ก็ต้องมีคนที่ผ่านมันไปได้เหมือนกัน (หัวเราะ) และพอเป็นหนังเรื่องแรกด้วยก็เลยอยากทำออกมาอย่างจริงใจที่สุด ไม่ใช่ว่าตัดให้มันได้ไปฉายในเทศกาล

ดังนั้น เราเลยยืนยันกับทางปูซานไปว่าเราไม่ตัดนะคะ เขาหายไปหนึ่งสัปดาห์เต็มเลย จากนั้นค่อยเชิญเราไปร่วมงานถึงได้รู้ว่าหนังเราได้ฉายที่โน่นนะ สามชั่วโมงก็สามชั่วโมง

ต้นทุนชีวิตส่งผลต่อคุณในฐานะคนทำหนังอย่างไรบ้าง

เราถ่ายทำหนังเรื่องนี้เสร็จตั้งแต่อายุประมาณ 25 ที่เหลืออีกหกปีคือการตัดต่อ เราไม่มีเงินมาทำโพสต์-โปรดักชัน เราเลยรู้สึกว่าถ้าเรามีคนสนับสนุนมากขึ้นสักทาง เราก็อาจจะทำหนังได้เร็วขึ้น มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น รุ่นพี่เราที่มีฐานะหน่อย ถามเราว่าแกจะรีบไปทำไม เราตอบเขาไปว่า ถ้าหนูไม่รีบที่จะประสบความสำเร็จ มีงาน มีเงิน มันก็จะกระทบต่อเรา ต่อที่บ้าน มันเหมือนเราต้องเร่งตัวเองให้โตไว เพราะไม่งั้นเราอาจจะไม่รอด ถ้ามันช้าเราก็อาจไม่มีแรงทำอะไรแล้ว เพราะเราไม่ได้ล้มบนฟูก เราล้มบนดินลูกรังตลอด แต่ก็ยังเชื่อนะว่าคนเรามีเวลาขาขึ้นไม่เท่ากัน

เราตัดต่อปีละไม่กี่ซีนเอง เพราะเราไม่มีเงิน เราให้แฟนช่วยตัดให้ เขาก็ต้องทำงานที่เลี้ยงชีพด้วย และเราก็ไม่มีเงินจะไปหยุดเขา หรือจะไปหยุดเขาด้วยความรักก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน (หัวเราะ) ไม่ได้จริงๆ คนเรามันต้องทำมาหากินน่ะ เราเลยต้องรอเขา ซึ่งเขาจะตัดปีละ 2-3 ซีนมาให้เราดู ตัดมาแบบไม่เรียงซีน เหมือนต้องนั่งต่อจิ๊กซอว์ซีนในหัวเอง

แล้วพอจะไปเทศกาลหนัง มันก็เรียกร้องคุณภาพที่ดีซึ่งทำให้เราไปทำเสียง ทำสี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ใช้เงินเยอะมาก หมดตัวเลย หมดจริงๆ แต่ข้อดีของเราคือเราก็ได้รับการสนับสนุนจากที่ทำเสียงและทำสี ลดค่าใช้จ่ายให้เราบ้างเพราะเขาเห็นใจเราอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็รู้สึกว่ามันยังไม่พออยู่ดี เรายังต้องการการสนับสนุนแบบที่ควรจะเป็นจากรัฐในการทำหนังอิสระ โดยเฉพาะเรื่องแรกของคนทำหนัง ที่เขาจะต่อยอดอาชีพเขาได้ในการทำหนังเรื่องต่อๆ ไป

กลายเป็นว่าไม่มีรัฐอยู่ในสมการหรือการเดินทางของหนังเรื่องนี้เลยใช่ไหม

เราว่าการเปลี่ยนชุดรัฐบาลมีผลต่อการเห็นคุณค่าในศิลปะด้วยนะ รัฐบาลแต่ละชุดมีการเห็นคุณค่าทางศิลปะไม่เหมือนกัน ซึ่งรัฐบาลที่เราได้มาเมื่อแปดปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันนี้ไม่ได้เห็นคุณค่าทางศิลปะ วัฒนธรรมมากพอ งบที่เคยจะให้แก่คนทำงานศิลปะที่เราต้องไปเสนอเข้ากระทรวงวัฒนธรรมต่างๆ ก็ลดน้อยลงจนปัจจุบันมันแทบไม่มี เออเหมือนจะไม่มีแล้วนะ ที่เคยให้หนังอิสระขอทุนได้ เราไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่รู้สึกว่าถ้ารัฐบาลสนับสนุนเรามากพอ คนทำหนังคงอยู่ได้ โดยเฉพาะคนทำหนังอิสระที่ต้องการการสนับสนุนมากกว่าคนทำหนังกระแสหลักอยู่แล้ว

(นิ่งไปนาน) เราส่งหนังไปเทศกาลหนังปูซาน มันมีคำว่า Blue Again สิ่งที่ต่อท้ายชื่อหนังคือคำว่า Thailand เราเป็นตัวแทนประเทศไทยไปนะ แต่เราทำกันอยู่ไม่กี่คนเอง ไม่เห็นประเทศให้อะไรเราเลย ไม่มีคนติดต่อกลับมา เราต้องเข้าไปหาสปอนเซอร์ ก็ไม่มีใครให้เงิน เราแค่รู้สึกว่าหนังเราไม่น่าสนใจมากพอเหรอวะ มันดูไม่ทำเงินหรือเปล่า แต่การทำให้เกิดศิลปะชิ้นหนึ่ง มันให้ประโยชน์ต่อคนมากมายนะ อย่างน้อยก็เปิดโลกทัศน์ แล้วการไปเทศกาลหนัง ทุกประเทศเขาจะมีงานเลี้ยงซึ่งเอาไว้แลกนามบัตรกัน เผื่อว่าอนาคตอาจได้ร่วมงานกันสักโปรเจ็กต์ แต่ละประเทศเขาจะจัดงานเลี้ยงซึ่งใช้เงินที่ได้จากรัฐบาลมาจัด เช่น Indonesia’s Night แต่มันไม่มี Thailand’s Night เพราะเราไม่มีเงินทุนจากรัฐบาล เราเหมือนเป็นปลิง ต้องให้เขาเชิญให้ไปเข้าร่วมปาร์ตี้ก่อนแล้วค่อยไปแนะนำตัวกับเขา มันไม่มีงานเลี้ยงที่เป็นของเราจริงๆ ที่จะแนะนำคนทำหนังของประเทศเราได้ว่าเรามีคนทำหนังที่น่าร่วมงานมากแค่ไหน เราอยากเชื้อเชิญเขามาให้รู้จักกันกับเรา เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการทำหนังเติบโตมากขึ้น หรือสามารถเรียกว่าเป็นอุตสากรรมหนังไทยจริงๆ

เราไปเทศกาลหนังปูซาน แทนที่เราจะได้รับการสนับสนุน เช่น ตั๋วเครื่องบินหรือการเดินทาง เหมือนการทำภารกิจอื่นๆ ของประเทศได้รับ แต่เรากลับไม่ได้รับสิ่งนั้นเลย กลายเป็นว่าเทศกาลเป็นฝ่ายให้ตั๋วเครื่องบินเราหนึ่งที่สำหรับผู้กำกับ แต่ทีมงานคนอื่นๆ เขาก็ต้องการไปร่วมงานเหมือนกันในฐานะที่เขาก็เป็นคนทำงาน ฉะนั้น เราอยากให้เกิดการสนับสนุนตรงนี้ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เลย เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเขาไม่รับรู้ว่ามีหนังเรื่องนี้ หรือไม่อยากรับรู้กันแน่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save