fbpx
พรุ่งนี้ใครรวย? : หวย - ความหวังในช่องว่างของชนชั้น

พรุ่งนี้ใครรวย? : หวย – ความหวังในช่องว่างของชนชั้น

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

‘พรุ่งนี้ใครรวย? : หวย – ความหวังในช่องว่างของชนชั้น’ เป็นหนึ่งในสี่ตอน ของสกู๊ป ‘ม้า-มวย-หวย-หม้อ’ ที่ลัดเลาะไปตามพื้นที่แห่งความบันเทิงและการพนัน ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจรดสนามหลวง สถานที่เหล่านี้เป็นมาและเป็นไปอย่างไร มีอะไรอยู่ในนั้น ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ลงไปดูวิถีชีวิตของผู้คนที่สะท้อนภาพบางมุมของสังคมไทย

หวย - ความหวังในช่องว่างของชนชั้น

“ป้าไม่เคยเห็นใครดวงดีขนาดนี้มาก่อน”

คุณป้าแปลกหน้าในบาร์แถวลาดพร้าว กำลังยืนพูดกับฉันอย่างเอาจริงเอาจัง

“ถ้าไม่ใช้ดวงตอนนี้ อาจจะไม่มีมาอีกแล้ว” จบประโยคนี้ทุกคนในวงดูสนใจขึ้นมาจนเห็นได้ชัด

“ใช้ยังไงคะ” ฉันถาม

“หนูมีเลขในใจมั้ยล่ะ ลองมาดูในแผงป้าก็ได้” พูดจบก็ควักเอาแผงขายลอตเตอรี่ออกมากางโชว์ สลากวางเรียงรายอัดแน่น ฉันยิ้มด้วยความทึ่งในเทคนิคการเข้าทำสุดอัจฉริยะของคุณป้า

“ไม่เป็นไรค่ะ หนูไม่มีดวงทางนี้” จบประโยค ป้ายังพยายามคะยั้นคะยอต่อ ก่อนจะเปลี่ยนเป้าหมาย ชมทุกคนในโต๊ะว่าโหงวเฮ้งดี คืนนั้นจบลงด้วยการที่เพื่อนคนหนึ่งในวงซื้อลอตเตอรี่มา 1 ใบ จนถึงทุกวันนี้เงิน 80 บาทก็ยังไม่เคยได้คืน

1

“พรุ่งนี้รวย” คำคลาสสิกตลอดกาลที่เราได้ยินกันจนชินหูก่อนถึงวันที่ 1 และ 16 ของเดือน

พรุ่งนี้หมายถึงอนาคต ที่ทำให้ผู้คนยอมควักเงินเกือบร้อย มาซื้อ ‘ความหวัง’ ที่มีโอกาสเพียง 1 ในล้าน

มีคำพูดที่ว่า หวยเป็นของคู่คนไทย และการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอเลขก็เป็นอะไรที่ ‘ไท๊ย ไทย’ การเสี่ยงโชคและเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นนิสัยที่ติดอยู่กับสังคมไทยอย่างแนบแน่น สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนี้ ธรรมชาติของสังคมไทยตอนนี้ก่อร่างขึ้นมาจากอะไร

ฉันเห็นภาพจำลองสังคมไทย ในสนามม้าและสนามมวย จนเมื่อเดินมาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตรงราชดำเนิน ก็พอจะเห็นภาพสังคมไทยที่ใหญ่ขึ้นได้อีก

หลังจากย้ายกองสลากไปที่สนามบินน้ำ ที่เก่าตรงราชดำเนินก็ดูเหมือนจะยิ่งเงียบเหงา แต่ก็ยังมีแม่ค้าพ่อค้าขายหวยมาตั้งแผงขายอยู่พอสมควร ทุกวันที่ 7 และ 22 ของเดือน กองสลากฯ จะแบ่งลอตเตอรี่ล็อตใหม่ออกขายสำหรับคนขายหวย ช่วงอาทิตย์ก่อนหวยออกจึงมีเหล่าคอหวยมาออแน่น กลายเป็นแหล่งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเลขกัน

“มีเลขอะไรเด็ดบ้าง”

“งวดนี้คิดว่า 13 มามั้ย”

“แทงน้อยๆ ก่อนแล้วกัน ไม่อยากโดนกินเยอะ”

“เมื่อคืนฝันถึงแม่ที่เสียไป เลยซื้อวันเกิดแม่ซะหน่อย”

ฯลฯ

หลากหลายประโยคที่คุณลุงคุณป้ายืนคุยหน้าแผง เห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากความหวังแล้ว หวยยังมาพร้อมความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนเต็มใจจะกระโจนลงไปเล่น

หวย ลอตเตอรี่

ฉันนั่งคุยกับคนซื้อหวยหลายคน ร้อยทั้งร้อยไม่เคยคิดว่าตัวเองจะถูกรางวัลใหญ่ แต่ก็เล่นด้วยความคาดหวังว่าสักวันจะเข้าเป้า และได้ขยับเลื่อนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาบ้าง

“อย่างแรกก็คงใช้หนี้ให้หมดก่อน” คำตอบของคุณลุงคุณป้า ที่วางเป้าหมายไว้ว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 แล้วจะเอาเงินไปทำอะไร นอกนั้นก็ไม่พ้นเรื่องซื้อบ้าน ซื้อรถ และเอาเงินไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ

เงินรางวัลที่ได้จากหวย กลายเป็นเงินก้อนที่ลอยอยู่ในอนาคตและอากาศ จับต้องไม่ได้ แต่หวังว่าสักวันต้องเข้ามาในชีวิต

“ป้าหาเช้ากินค่ำ จะหาเงินก้อนได้จากไหน จะซื้อรถเข็นมาขายของสักคันป้าก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เอาเงินมาซื้อหวย ก็ยังพอได้หวังบ้างว่าจะมีเงินก้อนเข้ามา”

ไม่ใช่แค่ป้าขายน้ำคนเดียวที่พูดแบบนี้ หลายคนที่หาเช้ากินค่ำ และถูกจัดว่าเป็นชนชั้นล่างเมื่อวัดจากรายได้ ก็คิดแบบเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไม่ขยัน ไม่ใช่ว่านอนอยู่บ้านรอรัฐมาช่วย ไม่ใช่ว่าไม่ประหยัด แต่ทำทุกอย่างแล้ว ขวนขวายทุกอย่างแล้ว สถานะทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้เลื่อนขึ้นมาง่ายๆ

หวยจึงกลายเป็นความหวัง ถึงแม้พวกเขาจะรู้ว่าไม่มีหวังก็ตาม

2

หวย ลอตเตอรี่ แผงขายลอตเตอรี่

ที่ว่า “พรุ่งนี้รวย” คงมีคนรวยเพิ่มขึ้นไม่กี่คนในฝั่งคนเล่น แต่ฝั่งที่รวยแน่ๆ คือกองสลากฯ ผู้ออกสลากมาขายงวดละประมาณ 70 ล้านฉบับ ตามราคาหน้าสลาก 80 บาท แบ่งเข้ารัฐ 70.40-74.40 บาท ส่วนต่างที่เหลือเป็นของคนขาย

“ขายไม่หมด ก็ลุ้นเอง” พี่คนขายลอตเตอรี่เล่าให้ฉันฟัง แผงที่เราเห็นคนเดินถือไปมา มีมูลค่ากว่า 20,000 – 50,000 บาท นั่นหมายความว่า คนขายหวยลงทุนทุก 15 วัน ถ้าขายหมดจะกินกำไรส่วนต่างได้หลายพันบาท โดยไม่ต้องลุ้นผลให้เมื่อย

มีตัวเลขที่น่าสนใจบอกว่า ในรอบ 20 ปี (ปีงบประมาณ 2539-2558) คนไทยจ่ายเงินซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบำรุงการกุศลทั้งหมด 909,433 ล้านบาท มีคนถูกรางวัลที่ 1 มาแล้วประมาณ 11,500 คน หรือปีละประมาณ 575 คน มีคนเอาสลากไปขึ้นเงินกับกองสลากฯ 552,202 ล้านบาท ส่วนที่ ‘ถูกกิน’ หรือไม่ถูกรางวัลนั้นมีน้อยกว่าคือ 357,229 ล้านบาท[1]

เงินที่ ‘ถูกกิน’ ถูกส่งให้รัฐบาลเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ 175,374 ล้านบาท คิดเป็น 19.28 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายสลากทั้งหมด ที่เหลือแบ่งให้ตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๊ว คนขายหวยทั่วไป มูลนิธิ องค์กรการกุศล ฯลฯ และแบ่งเป็นค่าดำเนินงานของกองสลากฯ อีกประมาณ 27,577 ล้านบาท ที่เหลืออีก 679 ล้านบาท สำนักงานสลากฯ เก็บเข้า ‘กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม’ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่กองกลาง และถูกแจกจ่ายไปตามคนขาย เป็นรายได้ที่ได้จากการซื้อความหวังของประชาชน

หลายคนอาจมองว่าการซื้อลอตเตอรี่นั้นมีโอกาสถูกรางวัลยากมาก ต้องซื้อถึง 80 บาทต่อเลขที่อยากได้ ยิ่งคนที่มีเลขในใจหลายตัว ต้องซื้อหลายใบ กลายเป็นว่าการลงทุนกับลอตเตอรี่อาจเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า

หวย ลอตเตอรี่ แผงขายลอตเตอรี่

การเล่นหวยใต้ดิน หรือแทงกับเจ้ามือโดยไม่ต้องเสียเงินให้รัฐบาล จึงเป็นทางออกที่ง่ายและสบายกว่า เพราะสามารถเลือกเลขได้เอง ไม่ต้องจำกัดการเลือกเฉพาะเลขที่มีอยู่บนแผง และยังกำหนดราคาซื้อได้เองด้วย

แน่นอนว่าหวยใต้ดินผิดกฎหมาย ไม่มีการเสียภาษี และไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาล มีเพียงเจ้ามือ คนเดินโพย และคนซื้อ เป็นวงล้อเสี่ยงโชคที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และมีผู้คนนิยมเล่นพอๆ กับหวยบนดิน

“มันถูกกว่า” คนเดินโพยหวยใต้ดินบอกฉัน

“มีเงิน 10 บาทก็ซื้อได้ ถ้าถูกก็ได้เป็นพัน”

ฉันตาลุกวาวทันที ในกรณีที่เราทายถูกตรงเป๊ะนี่แทบจะเรียกได้ว่าจับเสือมือเปล่า แต่ก็นั่นแหละ ใครมันจะไปถูกได้ตลอด

ลูกค้าของหวยใต้ดินมีตั้งแต่แม่ค้าที่เป็นหนี้รายวัน ไปจนถึงคนรวยในชุมชนที่ลงทุนซื้อหวยครั้งละหลายหมื่น เพื่อกวาดต้อนความเป็นไปได้ทั้งหมดเข้ามาไว้ที่ตัวเอง

“คนที่แทงเยอะๆ เวลาเขาถูกก็ถูกเยอะ แล้วส่วนมากพวกนี้มีเงินอยู่แล้ว เอาเงินมาลงทุนกับหวย ไม่ได้ซีเรียสอะไร”

ตรงกันข้ามกับแม่ค้าผู้เป็นหนี้รายวัน หาเช้ากินค่ำ ที่ต้องลุ้นว่าเงินก้อนจะเข้ามางวดไหน แต่สิ่งที่ไม่ต้องลุ้นเลย คือหนี้ที่ต้องจ่ายทุกวัน เอาแค่ดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ก็แทบจะหมดกระเป๋าตังค์แล้ว

“คนเป็นหนี้นอกระบบหลายคน เขาจะซื้อหวยตลอด คงคิดว่าแทงไปเรื่อยๆ ยังไงก็เข้า แต่ที่จริงคือยากมาก ถูกอย่างน้อยก็หลักพัน แต่ที่ผ่านมาเขาเสียมาเป็นหมื่นๆ แล้ว” คนเดินโพยว่า

“คนจนกับคนรวยมองหวยต่างกัน วิธีในการซื้อก็ต่างกัน อีกคนหวังเปลี่ยนชีวิต ส่วนอีกคนมองเป็นการลงทุน”

3

ถ้าเดินตามถนนหนทางหรือฟังข่าว เราอาจรู้สึกว่าประเทศไทยยังมีคนจนอยู่มาก แต่ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2531-2556 บอกว่าสถานการณ์ความยากจนในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ในด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สถานการณ์กลับแย่ลง ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่รวยที่สุดและจนที่สุดมีสูงถึง 34.9 เท่าในปี 2556[2]

ในปี 2554 ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน มีค่าดัชนีจีนี (สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค เลขยิ่งใกล้ 1 แปลว่ามีความไม่เท่าเทียมมาก) อยู่ที่ 0.484 จากที่แต่ก่อนเมื่อปี 2523 มีตัวเลขเท่ากับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ อยู่ที่ระดับ 0.4 กว่าๆ[3]

ผาสุก พงษ์ไพจิตร เขียนไว้ในหนังสือ สู่สังคมไทยเสมอหน้า ว่า “ความไม่เท่าเทียมนั้นมักจะขึงตัว นำไปสู่การก่อตัวของทัศนคติที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และยิ่งเวลาผ่านไปก็จะส่งผลต่อเนื่องให้ความต่างถ่างออกไปเรื่อยๆ ผู้มีรายได้มากก็มีช่องทางสะสมได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในด้านความมั่งคั่งอันได้แก่การมีทรัพย์สินต่างๆ”

มีข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า เงินฝากในธนาคารที่มีเงินในบัญชีต่ำกว่า 50,000 บาทมีจำนวนกว่า 80 ล้านบัญชี คิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์จากบัญชีทั้งหมด เงินฝากในธนาคารประมาณกึ่งหนึ่งของเงินฝากทั่วประเทศ มาจากประมาณ 122,000 บัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทต่อบัญชี คิดเป็น 0.13% ของบัญชีทั้งหมดในประเทศ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2561)

ผาสุกยังอธิบายต่ออีกว่า “ความไม่เท่าเทียมในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านี้ เป็นมูลเหตุของความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ ด้านสังคม และด้านอำนาจที่แท้จริง” ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุป ความไม่เท่าเทียมจึงอาจมีส่วนสำคัญที่แยกผู้คนออกจากกัน ไม่รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน จนเกิดความขัดแย้งในท้ายที่สุด

หวย ลอตเตอรี่ แผงขายลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน

ในบ้านเมืองที่ห่างไกลคำว่าเท่าเทียม โอกาสเปลี่ยนฐานะของผู้คนก็เป็นได้ไปได้ยาก เพราะอำนาจทางการเงินถูกคุมด้วยคนจำนวนเพียงหยิบมือ เราถูกบังคับให้ซื้อหวยกลายๆ เพราะอย่างน้อยก็มีช่องทางให้หวัง ในขณะที่บางคนก็มีกินมีใช้โดยแทบไม่ต้องรอความหวังว่าจะเป็น 1 ในล้านที่ถูกรางวัล

คิดถึงประโยคที่คนเดินโพยหวยบอกว่า “คนที่ได้แน่ๆ น่ะคือเจ้ามือ” หมายความว่า ไม่ว่าหวยจะออกเลขไหน เขาก็ยังรับทรัพย์จากยอดซื้อหวยอยู่ดี เจ้ามือแทบจะไม่แสดงตัวว่าเป็นใคร เพื่อไม่ให้ใครสาวถึงตัวได้ คนที่จัดการซื้อขายหวยให้ทั้งหมดคือคนเดินโพย ที่กินเปอร์เซ็นต์จากยอดซื้อ

“บางทีเราก็เก็บเงินไว้เอง ในกรณีที่คนซื้อไม่ถูก เจ้ามือก็ไม่รู้ว่ายอดซื้อเท่าไหร่” ความสลับซับซ้อนในวงการหวยใต้ดิน ต้องอาศัยเหลี่ยมมุมและมีทางหนีทีไล่อยู่พอสมควร โดยเฉพาะตอนที่เลขเด็ดเลขดังมา แล้วคนแห่แทงเลขเดียวกันทั้งหมู่บ้าน วิธีการที่เจ้ามือจัดการก็คือ ‘จ่ายแค่ครึ่งราคา’ สำหรับเลขดัง ทำให้คนแทงรู้สึกไม่คุ้มค่า และหันไปแทงเลขอื่นแทน

คล้ายกับแทงบอล ที่บริษัทรับพนันหั่นราคาทีมเต็งไว้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพื่อลดอัตราการแทงลง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องคำนวณได้ และไม่ใช่การเสี่ยงดวงแต่อย่างใด

4

ที่หน้ากองสลากฯ ราชดำเนิน ช่วงวันที่ 7 และ 22 กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทุกคนถอยทัพกลับไปลุ้นหวย และผ่านพ้นความผิดหวัง มาเฝ้ารอความหวังในงวดใหม่

คุณลุงบางคนเดินผ่านโชว์รูมรถหรู ไม่ได้หันไปมองแม้แต่หางตา ขณะที่บางกลุ่มก็กลุ้มรุมแผงหวย เพื่อหวังว่า 1 ในเลข 999,999 ตัว จะนำโชคมาให้

เราหวังกับอนาคตที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ตั้งคำถามว่าจะขยับไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ถ้าการอยู่แบบหาเช้ากินค่ำยังต่อยอดชีวิตไม่ได้

แม้เรามองเห็นบันไดให้ทะยานขึ้นไป แต่การเลื่อนขั้นก็ช่างเลือนราง คล้ายว่าต้องหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตลอดชีวิต

ฉันซื้อหวยมา 1 ใบ แล้วเดินไปหาข้าวกินแถวถนนพระอาทิตย์ ระหว่างที่กำลังนั่งซดก๋วยจั๊บญวนริมถนน จู่ๆ ก็มีเสียงตะโกนบอกว่า “พรุ่งนี้รวย”

ฉันได้แต่ยิ้ม หวังว่าดวงดีจะสถิตอยู่กับเราตลอดไป

หวย ลอตเตอรี่ แผงขายลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน

เชิงอรรถ

[1] 20 ปี ใครรวยจากสลากกินแบ่งรัฐบาล! – คนไทยซื้อ ”ลอตเตอรี่” 9 แสนล้าน ถูกหวย 5.5 แสนล้าน ถูกกิน 3.5 แสนล้าน 

[2] ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจกรณีศึกษาประเทศไทย 

[3] หนังสือ สู่สังคมไทยเสมอหน้า ผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรณาธิการ

อ่านสองตอนแรกของซีรีส์ ม้า มวย หวย หม้อ ได้ที่ ‘ใครใคร่ค้าม้า ค้า ใครใคร่เล่นม้า เล่น’

และ ปล่อยหมัด ขัดศอก ตอกเข่า – วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save