fbpx
ปล่อยหมัด ขัดศอก ตอกเข่า - วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย

ปล่อยหมัด ขัดศอก ตอกเข่า – วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

‘ปล่อยหมัด – ขัดศอก – ตอกเข่า วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย’ เป็นหนึ่งในสี่ตอน ของสกู๊ป ‘ม้า-มวย-หวย-หม้อ’ ที่ลัดเลาะไปตามพื้นที่แห่งความบันเทิงและการพนัน ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจรดสนามหลวง สถานที่เหล่านี้เป็นมาและเป็นไปอย่างไร มีอะไรอยู่ในนั้น ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ลงไปดูวิถีชีวิตของผู้คนที่สะท้อนภาพบางมุมของสังคมไทย

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน

“do you have a ticket?” สาวเสื้อชมพูพุ่งตรงเข้ามา พร้อมแผ่นราคาค่าเข้าสนามมวย

“คนไทยค่ะ”

“อ้าวเหรอ แล้วคนข้างหลังล่ะ ต่างชาติใช่มั้ย” เธอชี้ไปที่เพื่อนหนุ่มผมทรงสกินเฮด

“อ๋อ ผมก็คนไทยครับ”

จบประโยคนี้ เธอก็ถอยทัพกลับ รอคอยนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ที่จะเดินเข้ามาในราชดำเนินต่อไป

ฉันกับเพื่อนยืนงงในดงมวย มองผู้คนอออยู่หน้าสนามก่อนมวยต่อย เซียนมวยสองสามคนจับกลุ่มยืนดูใบฟอร์ม คุยราคาว่าตัวไหนน่าแทง และสูบบุหรี่ไปด้วย บางคนแอบเอาเบียร์กระป๋องยัดในเสื้อเผื่อไปกินข้างใน การ์ดตัวสูงใหญ่ยืนคุมหน้าทางเข้า ตำรวจจอดรถคุมเชิงอยู่หน้าสนาม มองขึ้นไปบนป้าย มีรายชื่อโปรโมเตอร์ เจ้าของค่ายและนักมวย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นชายล้วน

นั่งกินน้ำอยู่หน้าสนามสักพัก เห็นการ์ดหลายคนเดินออกมารอหน้าสนาม รถแวนสีดำเอี่ยมวับขับเข้ามาจอดตรงที่กั้น คนยืนรอรับประมาณ 4-5 คน กุมมือและก้มหัว ก่อนประตูรถจะเปิด ทุกคนผายมือต้อนรับอย่างนอบน้อม

“ลูกชายนักการเมือง” ป้าขายน้ำพูดกับฉัน “แขกพิเศษของสนาม วันไหนมีรายการมวยใหญ่ๆ เขาก็จะเชิญมา”

ฉันตอบรับแล้วมองตาม ซื้อน้ำจากป้าอีกแก้วนึง ตั้งใจจะนั่งกินให้หมด แล้วค่อยเข้าไป

ทุกอย่างหน้าสนามมวยดูมีพิธีกรรม มีชนชั้น และมีศัพท์วงในที่คนวงการรู้กันเอง แต่ขณะเดียวกัน มวยไทยก็ถูกยกให้เป็นศิลปะประจำชาติ และทำเงินมหาศาลจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดูมวยไทย

จากฉากหน้า ดูเหมือนว่าใครๆ ก็สามารถเดินเข้าไปดูได้ แต่ฉากหลังยังมีเบื้องลึกอีกมากมายที่เรายังไม่รู้

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน

ในหนังสือ คิดเล่นเห็นต่าง โดยคำ ผกา และ อรรถ บุนนาค กล่าวว่า มวยไทยเป็นวัฒนธรรมที่ย้อนกลับไปสู่ Popular Culture ของชาวบ้านท้องถิ่นจริงๆ ไม่ใช่สมบัติเฉพาะชนชั้นนำ “ในสังคมไทย มวยไทยถูกมองว่าเป็นสิ่งบันเทิงสำหรับชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน แต่อีกสถานะหนึ่งมวยไทยก็เป็นภาพเสนอของความเป็นไทย และฝรั่งที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยก็ต้องซื้อตั๋วเข้าไปดูมวยไทยที่สนามมวยลุมพินี ซื้อกางเกงมวยไทยกลับไปเป็นที่ระลึก…”

ถ้าย้อนกลับไปมองมวยไทยในยุคก่อน มวยไทยไม่ได้เป็น ‘กีฬาของชนชั้นล่าง’ เหมือนปัจจุบัน แต่ในยุครัฐจารีตอย่าง สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ที่มีศึกสงครามมาก มวยไทยเคยเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่พระมหากษัตริย์และขุนนางต้องฝึกหัด เพื่อกลายเป็นนักรบที่สมบูรณ์พร้อม แต่เมื่อบ้านเมืองไม่มีศึกสงครามแล้ว มวยไทย ก็ค่อยๆ กลายเป็นการละเล่นหรือมหรสพ ที่ชาวบ้านร้านตลาดเข้าถึงได้ง่าย

แม้จะมีชนชั้นสูงเข้ามาดูมวยอยู่ แต่ก็แทบไม่มีใครฝึกมวยเป็นเรื่องเป็นราวอีกแล้ว พวกเขาหันไปสนใจกีฬาสมัยใหม่จากตะวันตก เช่น โปโล ฟุตบอล แข่งม้า รักบี้ ฯลฯ จนท้ายที่สุด มวยไทย ก็กลายเป็นความบันเทิงในรูปแบบของกีฬาและการพนัน และค่อยๆ พัฒนาเป็น ‘สินค้าส่งออก’ ที่แสดง ‘ความเป็นไทย’ ไปสู่นานาชาติ

ทั้งที่มีเสน่ห์ดึงดูดขนาดนั้น มีความมันและออกอาวุธกันขนาดนั้น มีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืนขนาดนั้น ทำไมมวยไทยจึงยังยึดโยงอยู่กับแค่นักพนันและชาวต่างชาติที่แวะเข้ามาดูเป็นครั้งคราว

“ที่น้องคิดมันก็ถูก แต่ฟังพี่นะ มวยอยู่ได้ก็เพราะการพนันนี่แหละ ถ้าไม่มีเซียนมวยมาดู ก็ไม่มีใครมาดูแล้ว” เซียนมวยคนหนึ่งพูดกับฉัน

ยกที่ 1 – บนสังเวียนราชดำเนิน

 สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน สังเวียน

คู่แรกเริ่มชกไปแล้ว เสียงกลองแขก ปี่ชวา และฉิ่ง บรรเลงร่วมกันคุมบรรยากาศทั้งสนาม เมื่อไหร่ที่มวยเริ่มต่อยดุเดือด เสียงเพลงก็จะรัวเร็วไปด้วย เช่นเดียวกับเสียงเฮของคนดูที่ทำให้มวยบนสังเวียนสนุกขึ้น

ตรงส่วนริงไซด์ ราคาตั๋ว 1,500-2,000 บาท ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ สั่งเบียร์แก้วละ 150 มานั่งดื่ม แล้วถ่ายรูปกันอย่างสบายอกสบายใจ มองขึ้นไปตรงที่นั่งชั้นราคา 400-500 บาท เซียนมวยรวมกลุ่มกันชูไม้ชูมือบอกราคาต่อรอง

“เป็นภาษามือที่น่าจะมีมูลค่าที่สุดแล้วล่ะ” พี่ช่างภาพพูดกับฉันแล้วหัวเราะร่วน

ในสนามมีตัวหนังสือเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเล่นการพนันโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม สนามมวยราชดำเนินได้รับอนุญาตให้เล่นพนันได้ถูกต้องตามกฎหมายหากเล่นไว้ในที่ที่จัดไว้ให้ นั่นหมายความว่า หากเราก้าวออกมาจากสนามมวยแม้แต่ก้าวเดียวแล้วแทงมวย เรามีโอกาสโดนจับได้ทันที

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน

สองยกแรก นักมวยยังเต้นฟุตเวิร์ก ดูเชิงกันอยู่ มีปล่อยหมัดแย้บแค่ครั้งสองครั้ง เตะกันบ้างพอให้ตื่นเต้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าเร้าใจอะไร จนพอเข้าสู่ยกที่สาม เซียนมวยเริ่มตะโกนเชียร์อย่างออกรสออกชาติ จากที่มุมแดงเป็นต่อ กลายเป็นราคาของมุมน้ำเงินที่ขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ สังเกตได้จากมือไม้ของเหล่าเซียนมวยและเสียงตะโกน

ทั้งที่มวยก็ดูสูสีดี พอเข้ายกที่สี่ มุมน้ำเงินเตะซี่โครงมุมแดงเข้าเต็มรัก เสียงดังอั้กชัดเจน ฝ่ายแดงไม่ยอมแพ้ ซัดหมัดเข้าหน้าฝ่ายน้ำเงินจนหน้าหัน ทั้งคู่ผลัดกันออกอาวุธ คลุกวงใน ใส่เข่า เดินวนรอบหาจังหวะซัดแรงๆ จนเซียนมวยทวีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า “น้ำเงินๆๆๆๆ” สนั่นสนาม

ฉันเดาเอาว่าราคาของน้ำเงินน่าจะพุ่งขึ้นสูง ต่อกันเหมือนมวยขาด รอดูว่ายกสุดท้าย มุมแดงจะหาไม้เด็ดอะไรมาสู้ได้ไหม ช่วงพักยก ทั้งสองฝ่ายต่างหอบแฮ่ก พี่เลี้ยงกระซิบข้างหู นวดน้ำมันมวยให้ นักมวยได้แต่พนักหน้าหงึก พอเสียงระฆังดัง ก็ชนนวมเตรียมพร้อม ดวลกันในยกที่ห้า แต่แทนที่มวยยกห้าจะเป็นมวยยกที่สนุกที่สุด เหมือนช่วงฟุตบอลทดเจ็บที่ยังลุ้นว่าจะมีการทำประตู แต่มวยไม่ใช่อย่างนั้น นักมวยทั้งแดงและน้ำเงินเดินดูเชิงกันวนไปวนมา แย้บหมัดไปสองสามที และออกมาเดินวนกันอีกรอบ ครบสามนาทีระฆังดังหมดเวลา กรรมการยกมือให้ฝ่ายน้ำเงินเป็นผู้ชนะ

เสียงประกาศคะแนนว่า กรรมการทั้งสามคนให้คะแนนฝ่ายน้ำเงิน 49 และให้ ฝ่ายแดง 48 (คะแนนเต็ม 50 ยกละ 10 คะแนน) พูดให้เข้าใจตามภาษามวยก็คือ แบบนี้คือมวยสูสี ชนะกันยกเดียว และส่วนมากมวยมักจะตัดสินกันตั้งแต่ยกที่สี่แล้ว นั่นตรงกับเสียงที่เซียนมวยร้องตะโกนลั่นสนาม คือฝั่งน้ำเงิน

“พี่พูดก็พูดนะ กรรมการออกคะแนนตามเสียงเซียนมวยทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีเซียนมวยชี้ทาง กรรมการก็ไปไม่เป็น” เซียนมวยที่นั่งใกล้กันอธิบายให้ฟัง  ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็แปลว่าผลการแข่งขันมวยแทบจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือนักมวยร้อยเปอร์เซ็นต์

“งั้นแปลว่าซ้อมมาให้เก่งแค่ไหน ก็ไม่ได้การันตีว่าจะชนะเหรอคะ”

“เรื่องเก่งก็สำคัญ แต่ก็ต้องเล่นให้เซียนมวยชอบด้วย พอราคามา ต่อยยังไงก็ชนะ ทุกวันนี้เขาไม่ได้ดูที่ลีลาแล้วนะ เขาดูการออกอาวุธโจ่งแจ้ง ศิลปะมวยไทยเลยหายไปเยอะ อาวุธหลายอย่างไม่ได้เอามาใช้ เหลือแค่ท่าเบสิก”

จากนักมวยที่เหมือนจะกุมชะตาชีวิตตัวเองได้ เพราะบนสังเวียนมีเพียงเขาเท่านั้นที่จะต่อสู้กับคู่แข่งตรงหน้า แต่ในความเป็นจริง ทั้งเสียงเชียร์ของเซียนมวย กรรมการ เจ้าของค่าย และโปรโมเตอร์มีผลต่อการแพ้ชนะพอๆ กับการออกอาวุธของนักมวย

“ตอนจะเริ่มยกห้า พี่เลี้ยงเขากระซิบอะไรฝ่ายแดงเหรอคะ”

“ถ้าตามสเต็ป ก็น่าจะบอกว่าแพ้แล้ว ให้ถนอมร่างกายไปชกนัดหน้า”

ยกที่ 2 – นอกสังเวียน

จบคู่แรก เสียงดนตรีเงียบลง นักมวยคู่ต่อไปเตรียมเข้าสนาม ฉันนั่งมองรอบๆ เห็นทีมงานนอกสังเวียนอยู่มากมายที่ทำให้องค์ประกอบของสนามมวยสมบูรณ์ เช่น นักดนตรีไทย การ์ดคุมสนาม คนขายเบียร์ (ที่ขายในราคาสูงกว่าข้างนอกสามเท่า)

บรรยากาศผ่อนคลายแบบนี้ทำให้สนามมวยกลายเป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยว และยังมีดนตรีไทยทำให้ความขรึมขลังของสนามยังคงอยู่ วงปี่และกลองนั่งอยู่ในมุมของตัวเอง คุณลุงที่ตีกลองแขกบอกว่า เล่นที่ราชดำเนินมากว่า 50 ปี ด้านหลังเป็นมือปี่ชวา หน้าตายังหนุ่มแน่น เรียนดนตรีไทยมาโดยตรง และตอนนี้อายุยังไม่ถึง 30  ข้างๆ กัน เป็นมือฉิ่งยังดูอายุไม่มาก เห็นเขาแอบหันไปดูฟุตบอลโลกบนจอยักษ์ที่ฉายอยู่ในสนามมากกว่าดูมวยที่ต่อยกันบนสังเวียน

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน ดนตรี

การ์ดในสนาม เน้นตัวใหญ่ หน้านิ่ง และทีเด็ดทีขาด หากมีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล เซียนมวยทะเลาะวิวาท การ์ดต้องเข้าเคลียร์เหตุการณ์อย่างรวดเร็ว

ผู้ชายเหล่านี้วนเวียนและควบคุมสนามมวยให้เป็นไปตามครรลอง แม้จะไม่ได้มีสปอตไลต์ส่องเหมือนนักมวยก็ตาม

ฉันได้ยินมานานเรื่องที่ว่า มวยเป็นกีฬาลูกผู้ชาย ซึ่งถ้าพูดในความหมายของเพศสภาพก็คงถูกต้องอย่างที่เห็น แม้จะมีนักมวยหญิงขึ้นต่อย แต่ก็ได้รับความนิยมน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด  ขณะเดียวกันความเป็นชายก็ถูกกดทับด้วยเงินและอำนาจอีกชั้นหนึ่ง ห่อหุ้มด้วยศิลปะการต่อสู้ แต่ภายในคือความซับซ้อนของอำนาจที่ทับถมกันไปมา

มวยผ่านไปหลายคู่ จนมาถึงสิ่งที่ฉันอยากเห็น คือการชนะน็อคในคู่ที่ห้า ภาพปลายเท้ากวาดเข้าปลายคางยังติดตา นักมวยที่แพ้ล้มลงไปนอน กระตุกสองครั้ง ก่อนที่แพทย์สนามจะยกลงไปปฐมพยาบาล เสียงเฮในสนามดังขึ้นอย่างอึกทึกครึกโครมอีกครั้ง

คงเป็นเรื่องชินหูที่ว่า วงการมวยเป็นเรื่องของพรรคพวก นักมวยเด็กตามเวทีวัดต่างจังหวัดต้องหาค่ายมวยดีๆ เพื่อปลุกปั้นเขา เจ้าของค่ายก็ต้องรู้จักโปรโมเตอร์มวยที่จัดรายการแข่งดังๆ เพื่อที่จะดึงเอานักมวยในค่ายเข้าไปในสายของโปรโมเตอร์ ขณะเดียวกันที่โปรโมเตอร์ก็เปิดค่ายเพื่อผลิตนักมวยเองด้วย

ด้วยความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้ทำให้อำนาจการจัดการอยู่กับโปรโมเตอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่นักมวยที่ฝีมือเก่งกาจก็สำคัญ เพราะทำให้โปรโมเตอร์อยากดึงเอามาไว้ในสายแข่งขัน เพื่อที่จะดึงเซียนมวยเข้ามาในสนามเยอะๆ นั่นหมายถึงยอดค่าเข้าชมอีกมหาศาล

นักมวยที่อยากเติบโตและทำเงินจากอาชีพนักมวย จึงไม่ใช่แค่ต้องเก่งกาจ แต่ต้องมีพรรคพวกและมีหัวหน้าค่ายที่จะหารายการแข่งให้เขาได้ตลอดด้วย นักมวยที่เป็นดาวเด่นในสังเวียนจึงแทบจะเป็นทั้ง ‘ผู้ควบคุม’ และ ‘ผู้ถูกควบคุม’ ในห่วงโซ่วงการมวยไทย

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน ดนตรี

 ยกที่ 3 – มวยตู้และการพนันขันต่อ

เซียนมวย ไม่ใช่แค่มาดูมวยสดในสนามราชดำเนินเท่านั้น แต่ยังมีรายการมวยอีกมากที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ หากไล่เรียงดู ประเทศไทยมีมวยออกอากาศตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน วันเสาร์มีศึกจ้าวมวยไทยช่อง 3 ตอนเที่ยง  ไปจบที่ศึกลุมพินีเกริกไกร ช่อง 5 หลังห้าทุ่ม  ส่วนวันอาทิตย์ เริ่มที่ศึกมวยดีวิถีไทย ช่อง NBT ตอนเที่ยงครึ่ง ต่อที่มวยไทยช่อง 7 สี ช่วงบ่ายสอง จบด้วยศึกแม็กซ์มวยไทยหลังสองทุ่ม รวมๆ แล้ว เฉพาะเสาร์อาทิตย์มีรายการมวยให้ดูกว่า 10 รายการ

เอาจริงๆ ถ้าเทียบรายการมวยกับรายการประกวดร้องเพลงในประเทศไทย น่าจะกินกันยากพอดู

แม้ว่า ‘มวยตู้’ หรือมวยที่เล่นกันผ่านหน้าจอจะผิดกฎหมาย แต่การถ่ายทอดสดมวยตู้นี้เองที่สร้างเรตติ้งให้ทีวีดิจิตอลช่องเล็กๆ อย่างมหาศาล เช่น ช่อง 8 ที่มี 4 รายการมวยต่อสัปดาห์ และเป็นช่วงเวลาที่คนเปิดชมช่อง 8 มากกว่าช่วงเวลาอื่น หรือมวยถ่ายทอดสดที่เก่าแก่ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ก็ยังคงเรตติ้งอันดับต้นๆ  มวยจึงแทรกซึมเข้าไปถึงผู้คนเกือบทุกพื้นที่ เมื่อรวมกับความนิยมในระดับสากล และค่าเข้าสนามของนักท่องเที่ยว มวยไทยจึงยังอยู่ได้ แม้ว่าจะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางว่าเป็นกีฬาที่มีไว้เพื่อการพนันเท่านั้น

“จะว่าเสพติดความรุนแรงก็ไม่เชิงนะ ผมมองในเชิงศิลปะมากกว่า คนตีกันแบบมีศิลปะ มีกติกา แล้วเรายังวางเดิมพันได้ด้วย จะมีอะไรสนุกกว่านี้อีก” บางเซียนมวยว่าไว้

“ผมดูมวยมาตั้งแต่อายุ 17 ถึงตอนนี้อายุ 80  ถ้าเอาเงินค่าเข้าดูมาวางเรียงจากหน้าราชดำเนิน ผมว่ายาวถึงสนามหลวง”

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน ดนตรี

ความหลงใหลคลั่งไคล้ในกีฬามวยของเหล่าเซียนพนัน มักถูกยึดโยงกับความเมามันแบบนี้ บางคนบอกว่าชอบดูลีลาของนักมวย แต่ถ้าได้ ‘เล่น’ เกมบางอย่างไปด้วย ความสนุกของการดูมวยก็เปลี่ยนรูปแบบไป

จะว่าไป ‘มวย’ ก็คล้าย ‘ม้า’ อยู่ตรงที่คนที่เข้ามาเล่นส่วนมากสูงอายุ เป็นผู้ชาย ชอบความลุ้นระทึก และมองว่าการมาเล่นที่สนามคือการมาเจอเพื่อน

ฉันคงไม่สามารถเข้าใจความสุขของเหล่าคุณลุงได้ทั้งหมด แต่ถ้าจะให้ลองเปรียบเทียบกับฟุตบอล กีฬายอดนิยมของคนรุ่นใหม่ ก็ดูมีบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น การไปดูบอลที่สนามคือการไปเจอเพื่อน ขณะเดียวกัน การดูบอลในร้านเหล้าที่เป็นการ ‘ดูสดแบบเสมือน’ ก็ไม่ทำให้มิตรภาพเสื่อมคลายไปไหน เหมือนที่เบียร์หลายยี่ห้อใช้คำโฆษณา

ฉันมองเห็นความแตกต่างอยู่สองข้อ ข้อแรก การดูบอลของคนรุ่นใหม่ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผู้ชาย เพราะผู้หญิงก็สามารถดูได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของ #นักบอลหล่อบอกต่อด้วย หรือเพราะว่าชอบดู ‘เกม’ ฟุตบอลจริงๆ

ข้อสอง หากฟุตบอลไม่ยึดโยงกับการพนัน ก็ไม่ทำให้อรรถรสของการดูบอลสูญเสียไป การได้เชียร์ทีมรัก และดูนักฟุตบอลเก่งๆ โชว์ลีลาพลิ้วไหวบนยอดหญ้า เป็นเสน่ห์ดึงดูดได้ด้วยตัวเอง และราคาพนันไม่สามารถชี้เป็นชี้ตายผลฟุตบอลได้ขนาดนั้น หลายครั้งผลบอลออกมาแบบหักปากกาเซียน แม้ว่าจะมีเรื่องการโกงอยู่เบื้องหลังในหลายลีกฟุตบอลทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้เข้ามาส่งผล หรือสามารถกุมชะตาของผลการแข่งขันได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนมวย

การจะเริ่มเข้าไปดูมวยไทยให้สนุกและรู้เรื่องได้ จึงอาจต้องเริ่มจากการมีพรรคพวกและรู้ราคาก่อน

“วันนี้ผมเชียร์คนนี้ พอต่อยอีกรอบก็ไม่จำเป็นว่าผมต้องเชียร์คนเดิม เพราะผมเชียร์ตามราคา” เซียนมวยว่า ซึ่งราคาที่พูดถึงนั้นสามารถพลิกกลับไปมาได้ตามแต่เสียงของเซียนมวยส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงแทบไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับคนดูมือใหม่ แต่ตรงกันข้าม การพนันแบบนี้ทำให้เหล่าเซียนมวยสามารถควบคุมผลได้ด้วยตนเอง ถ้ารู้เกมและมีพรรคพวกมากพอ

ยกที่ 4 – ความเสี่ยง

 

ฉันไม่ใช่คนเคร่งครัดในศีล แต่ก็ไม่ใช่คนเล่นพนันมืออาชีพ เวลาได้ยินคนเล่นพนันคุยกันว่า “พนันมันก็โกงกันทั้งนั้นแหละ” ก็ได้แต่สงสัยว่า ถ้าโกงแล้วจะไปเล่นด้วยทำไม

“มันเหมือนได้วัดเหลี่ยมกันน่ะ” คือคำตอบของเซียนมวย

มักมีคำพูดที่ว่า คนไทยเป็นนักพนันโดยสายเลือด แต่ก็ยังน่าสงสัยอยู่ดีว่า แล้วสายเลือดที่ว่านั้นมาจากไหน เกี่ยวข้องกับสภาพสังคมการเมืองบ้างไหมและอย่างไร

รศ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาผู้ล่วงลับ เคยให้สัมภาษณ์ว่า การพนันนั้นผูกพันกับระบบสังคมในฐานะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ใช่แค่เฉพาะ ‘คนกับคน’ หรือ ‘คนกับรัฐ’ เท่านั้น แต่ยังเป็น ‘คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ’ ที่คนเรามองว่ามีอำนาจ เช่น ภูติผีปีศาจ กฎแห่งกรรม ชะตาชีวิต ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมอำนาจคือ ‘ความเสี่ยง’ กล่าวคือ อำนาจเป็นสิ่งไม่แน่นอน เช่น สังคมเกษตรกรรมต้องฝากชีวิตไว้กับฟ้าฝน ดังนั้นผู้คนจึงต้องหาวิธี ‘จัดการความเสี่ยง’ เพื่อให้อยู่รอด

เมื่อเปลี่ยนความเสี่ยงในธรรมชาติมาเป็นการพนัน พบว่า ความเสี่ยงแปรผันตามอำนาจ พูดให้ชัดกว่านั้นคือ คนจนมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะมีอำนาจในการคุมเกมน้อยกว่า และคนรวยมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะกุมอำนาจไว้เด็ดขาด เช่น เจ้ามือหวย เจ้าของบ่อนคาสิโน โปรโมเตอร์มวย เป็นต้น

ยิ่งในสังเวียนมวย ที่มีอำนาจหลายระดับ ยิ่งทำให้เห็นภาพอำนาจกับความเสี่ยงชัดเจนขึ้น

ในการเล่นพนันมวยมีคนที่ไร้เงิน (ไร้อำนาจ) และไร้พรรคพวก แต่กล้าเสี่ยงชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู โดยการเข้าสนามมาแบบกระเป๋าแบน ยื่นราคาต่อรองและลงเดิมพันกับเซียนคนอื่นในราคาสูงลิบลิ่ว พอผลออกไม่เป็นอย่างที่แทงไว้ เขาก็ไม่มีเงินสักแดงพอจะให้

“เดินออกมาเหลือแต่หนังสือพิมพ์ปิดเป้า กับรอยช้ำทั้งตัว” พี่คุมแท็กซี่หน้าสนามเล่าเรื่องคนจับเสือมือเปล่าในการพนันมวยให้ฟัง  “เงินไม่มีสักบาทยังไปแทง กะว่าจะกินนิ่ม หวังรวยทางลัด เจอนักเลงรุมกระทืบ การ์ดก็จับล็อคด้วย คนแบบนี้ไม่มีใครต้อนรับ มันผิดกติกา”

เซียนมวยส่วนมากไม่ได้เล่นเพื่อหวังรวย เป็นคำที่ฉันได้ยินจากเซียนมวยเกือบทุกคน ไม่แน่ใจว่าเพราะไม่ได้พูดความจริง หรือ เพราะเขามองว่าการหวังรวยเป็นเรื่องของคนจนและการไร้อำนาจกันแน่

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน ดนตรี เซียนมวย

การเข้ามาดูมวยที่มีพรรคพวก รู้ราคา รู้จักกรรมการ และมีเงินมากพอที่จะเสียไปโดยไม่ได้รู้สึกอะไร จึงเป็นเหมือนความสุขและสิ่งเสพติดที่ทำให้คนเล่นรู้สึกมีอำนาจจัดการความเสี่ยงได้ ยิ่งกับกีฬามวยที่จับคนมาต่อยกัน เห็นเหงื่อ เห็นเลือด กระตุ้นอะดรีนาลินถึงขีดสุด ก็ยิ่งทำให้มวยสนุกขึ้นอีกโข แต่วัฒนธรรมเชิงอำนาจที่แฝงตัวอยู่ในวงการมวยยังทำงานต่อไปอย่างแข็งแกร่ง เป็นทั้งน้ำหล่อเลี้ยงและทำลายในเวลาเดียวกัน

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ดูมวยแล้วสนุก ฉันก็อยากดูมวยแบบที่ไม่มีลับลมคมใน คิดถึงคำที่เพื่อนหนุ่มพูดว่า “การเชียร์ของเราจะมีผลอะไรวะ ถ้าเขารู้ผลกันอยู่แล้ว”

นั่นน่ะสิ แล้วเราจะเชียร์ไปทำไม

ยกที่ 5 – มวยฝีมือแพ้มวยเข่า มวยเข่าแพ้มวยหมัด มวยหมัดแพ้มวยฝีมือ

หลังชกเสร็จ นักมวยที่ชนะเดินออกด้านหลังสนาม ยืนหน้าแบ็คดรอปให้สื่อถ่ายรูป แสงแฟลชกะพริบรัว มีแฟนมวยทั้งต่างชาติและชาวไทยรอเข้าไปขอถ่ายรูปด้วย  ในเวลาเดียวกัน นักมวยที่แพ้เดินกะเผลกออกมา มีแฟนสาวใส่ชุดนักศึกษาเดินตาม ไร้แสงแฟลชและผู้คนสนใจ เพื่อนสองสามคนยืนรอรับหน้าสนาม เห็นเขาแวะซื้อน้ำใบบัวบก ข้างกันมีเซียนมวยซื้อน้ำใบบัวบกดื่มด้วยรอยยิ้ม

“นักมวยกินน้ำใบบัวบกเพื่อแก้ช้ำใน แต่เซียนมวยกินเพื่อฉลอง” พี่ช่างภาพปล่อยคำที่เฉียบขาดอีกครั้ง

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน ดนตรี เซียนมวย

สนามมวย เวทีราชดำเนิน กีฬาต่อยมวย การพนัน นักมวย เยาวชน ดนตรี เซียนมวย

วงจรของนักมวยไม่มีผู้ชนะเสมอไป ไม่มีใครยืนอยู่เหนือผู้อื่นได้ตลอดกาล เหมือนคำที่ว่า  ‘มวยฝีมือแพ้มวยเข่า มวยเข่าแพ้มวยหมัด มวยหมัดแพ้มวยฝีมือ’  ถ้าหากนักมวยกลับมาเจอคู่ต่อสู้ที่แพ้ทาง เขาก็อาจกำชัยชนะไว้ได้ (และด้วยการสนับสนุนราคาจากเซียนมวย) แต่ถ้าวันไหนที่เจอตัวโหดเข้าก็อาจพ่ายแพ้ และกลับไปฝึกมาใหม่อีกครั้ง

“ต่อจากนี้ ผมนอนพักอาทิตย์นึง ไม่ทำอะไรเลย อีกเดือนนึงเดี๋ยวขึ้นสังเวียนใหม่ครับ” นักมวยที่แพ้น็อคพูดกับฉันก่อนกลับบ้าน

อ้างอิง

คำ ผกา, อรรถ บุนนาค. (2555). คิดเล่นเห็นต่าง. กรุงเทพฯ : มติชน.

ทิฆัมพร เอี่ยมเรไร. (2554). การสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นชาติในกีฬามวยไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แนวหน้า. บทความ สังคมไทยกับวัฒนธรรมการพนัน”.

อ่านตอนแรกของซีรีส์ ม้า มวย หวย หม้อ ในตอน ‘ใครใคร่ค้าม้า ค้า ใครใคร่เล่นม้า เล่น’

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save