fbpx

สหภาพแรงงานครูสหรัฐฯ: อำนาจต่อรองอันเข้มแข็งและปัญหาของระบบการศึกษาคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

สหภาพแรงงานครูในสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นกำลังที่สำคัญในระบบการศึกษาอเมริกัน พวกเขาช่วยปรับรูปโฉมโรงเรียนรัฐในสองทิศทาง นั่นคือ จากล่างขึ้นบนด้วยการต่อรองทางแรงงาน และจัดรูปจากบนลงล่างผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองระดับมลรัฐและระดับชาติอย่างเข้มข้น ส่วนผสมของอำนาจนี้ทำให้สหภาพแรงงานสหรัฐอเมริกามีความโดดเด่นในสนามการแข่งขันแห่งการศึกษาขึ้นมา[1]

เริ่มแรกแห่งการรวมตัว กลุ่มวิชาชีพครูในสหรัฐอเมริกา

ช่วงแรกอำนาจการจัดการศึกษาสาธารณะอยู่ในมือของผู้บริหารมืออาชีพโดยเฉพาะผู้ควบคุมท้องถิ่น เช่นเดียวกับคณะกรรมการโรงเรียนที่เกิดจากการเลือกตั้งในท้องถิ่น[2] ขณะที่มีการจัดตั้งสมาคมครูแห่งชาติ (National Teachers Association: NTA) เมื่อปี 1857 ในช่วงแรกเปิดรับสมาชิกเฉพาะนักการศึกษากลุ่มเล็กโดยไม่นับผู้หญิง ก่อนจะควบรวมกับ สมาคมศึกษานิเทศก์แห่งชาติ (National Association of School Superintendents), สมาคมโรงเรียนสามัญอเมริกัน (American Normal School Association) และสมาคมวิทยาลัยกลาง (Central College Association) และเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมการศึกษาแห่งชาติ (National Education Association: NEA) ในปี 1870 อันถือเป็นยุคหลังสงครามกลางเมือง (1861-1865) แล้ว ทำให้ NEA ถูกนำโดยคนระดับผู้จัดการโรงเรียนมาหลายปี

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ NEA จะถูกมองว่าเป็นสมาคมวิชาชีพที่ถูกควบคุมโดยผู้บริหารและถือว่าอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับฝ่ายสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม (collective bargaining) ดังนั้น ในเวลาเช่นนี้ พวกครูยังไม่มีองค์กรที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตน และมีอำนาจน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ต้องรอเวลากว่าทศวรรษก่อนที่ขบวนการแรงงานจะระดมพลังไปสู่การปฏิรูปกฎหมายเพื่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรองร่วม และอำนาจทางการเมือง[3]

สหพันธ์ครูอเมริกัน (American Federation of Teachers: AFT) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1916 ในฐานะ ‘craft union’ (หรือสหภาพแรงงานช่างฝีมือ ตรงกันข้ามกับ industrial union) ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิชาชีพของครูในโรงเรียน ในฐานะสมาชิกของสหพันธ์แรงงานอเมริกัน (American Federation of Labor: AFL) ที่มีฐานอยู่ที่ช่างฝีมือช่างก่อสร้าง หรืออาจเรียกได้ว่ามีความเป็นชนชั้นกว่า NEA ที่มีลักษณะกลุ่มทางวิชาชีพมากกว่า กลุ่มครูที่ก่อตั้ง AFT มาจากโรงเรียนในเขตเมืองใหญ่อย่างชิคาโก (Chicago) และแกรี่ (Gary) ในมลรัฐอินเดียนา ทางฝั่งตะวันออกที่อยู่ใต้ทะเลสาบมิชิแกน และเน้นการขยายสมาชิกไปตามเมืองใหญ่ในฝั่งตะวันออก

ขณะที่ฐานที่มั่นของ NEA อยู่ในเขตชานเมือง และชนบทในฝั่งตะวันออกของประเทศ ช่วงแรกสมาชิกเพิ่มอย่างเชื่องช้า เนื่องจากเหล่าครูต่างปฏิเสธแนวคิดที่จะเข้าร่วม ทั้งกฎหมายก็ยังไม่สนับสนุนการเจรจาต่อรองร่วมในนามครู AFT ต้องต่อสู้กับสัญญาที่เรียกว่า ‘yellow-dog’ (สุนัขเหลือง) ที่ครูจะต้องทำสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน ต่อมามีกฎหมาย Norris-LaGuardia Act 1932 ออกมาว่า สัญญาประเภทนี้ถือว่าผิดกฎหมาย[4] 

ความเข้มข้นของความเป็นแรงงานและพลังของกฎหมาย

เหตุการณ์ที่เป็นสันปันน้ำสำหรับแรงงานภาคเอกชนเกิดขึ้นในปี 1935 จากการที่มีพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Act: NLRA) มาจากนโยบาย New Deal ของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ กฎหมายนี้ทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองง่ายขึ้น ทำให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานทวีขึ้นอย่างสูง นำไปสู่การเข้าถึงอำนาจต่อรองทางการเมืองของสหภาพแรงงานในภาคเอกชนและทำให้พรรคเดโมแครตได้รับแรงสนับสนุนอย่างประเมินค่ามิได้ [5] ด้วยกฎหมายที่เอื้อทำให้ AFT ได้สร้างข้อตกลงผ่านเจรจาต่อรองร่วมสำเร็จครั้งแรกที่เมืองบัตต์ (Butte) มลรัฐมอนแทนา ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในปี 1936[6]

ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จนถึงช่วงสงคราม ความวิตกเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานเกี่ยวพันกับความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ และการแทรกซึมของสายลับสหภาพโซเวียต AFT ได้เป็นฐานสำคัญของฝ่ายซ้าย การจัดตั้งสาขาโดยโรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) และมิตรสหายของเขาที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย ในนาม Local 349[7] แสดงให้เห็นว่า AFT ครอบคลุมถึงแรงงานในมหาวิทยาลัยอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ต้นทศวรรษ 1940 ที่การเมืองรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ AFT ได้ขับสมาชิกระดับสาขาในนครนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียออก ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด เนื่องจากพวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกที่ถูกคอมมิวนิสต์ครอบงำจากการกวาดล้างสมาชิกระดับสาขาที่นิยมคอมมิวนิสต์ที่ นครนิวยอร์ก จึงเหลือเพียงกลุ่ม ‘Teachers Gulid’ ที่ก่อตั้งโดย จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่เป็นสมาชิกของ AFT เท่านั้น[8]

ปี 1955 AFL ได้รวมตัวกับสภาองค์กรอุตสาหกรรม (Congress of Industrial Organizations: CIO) กลายเป็นสหพันธ์แรงงานอเมริกัน และสภาองค์กรอุตสาหกรรม (American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations: AFL-CIO) ทำให้กลายเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตกที่มีถึง 141 กลุ่มจากทั้งสหภาพแรงงานช่างฝีมือและสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม [9] แสดงให้เห็นถึงยุคเบ่งบานของสหภาพแรงงานในสหรัฐอเมริกาต่อไปอีกกว่า 20 ปีก็ว่าได้

เวลาผ่านไป พรรคเดโมแครตและขบวนการสหภาพแรงงานได้ผนวกกันออกกฎหมายแรงงานในแต่ละมลรัฐสำหรับแรงงานภาครัฐผู้ซึ่งถูกกีดกันจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เดิม เริ่มต้นที่มลรัฐวิสคอนซิน ในปี 1959 นั่นทำให้รัฐส่วนใหญ่ยกเว้นรัฐทางใต้ ได้รับเอากฎหมายแรงงานสำหรับภาครัฐในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 นำไปสู่การเติมเชื้อไฟของจำนวนสมาชิกสหภาพและการต่อรองร่วม ในสายการศึกษา AFT มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากจนแตะระดับ 59,000 คน นั่นทำให้ NEA ต้องทำการแข่งขันและจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานในปี 1962 หลังจากการสไตรก์ใหญ่ในปี 1962 ที่นิวยอร์ก จนมีสมาชิกถึง 750,000 คน NEA มีสมาชิกมากและกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในเขตภูมิศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ไม่เพียงเป็นสหภาพแรงงานการศึกษาที่ใหญ่ที่สุด แต่ยังเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาไปด้วย[10]

ขณะที่ AFT เป็นสหภาพแรงงานที่มีความโดดเด่นในเรื่องสิทธิพลเมือง (civil rights) ตั้งแต่การสนับสนุนให้มีการจ่ายเงินเดือนอย่างเท่าเทียมสำหรับคนดำอเมริกันในปี 1918 และยังเป็นองค์กรเดียวที่ยื่นเอกสารบันทึกความเห็นทางกฎหมาย (amicus brief) ในคดี Brown v. Board of Education (ที่ว่าด้วยการแบ่งแยกโรงเรียนตามสีผิว ปี 1954) และขับสมาชิกที่ไม่ให้ความร่วมมือออก ส่งผลให้สูญเสียสมาชิกไปกว่า 7,000 คน ในปี 1957 ทั้งยังเป็นเพียงสหภาพแรงงานไม่กี่แห่งที่สนับสนุนการเดินขบวนของนักเคลื่อนไหวผิวดำอย่าง ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ในปี 1963 ที่วอชิงตันเพื่อเรียกร้องด้านเสรีภาพและการทำงาน[11]

ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงประกอบด้วยสหภาพแรงงานครูระดับชาติถึง 2 แห่ง แต่ละแห่งก็มีสมาชิกระดับรัฐและระดับท้องถิ่นเป็นของตัวเอง สมาชิกเหล่านี้มีผลต่อการจัดรูปภูมิประเทศทางการศึกษาซึ่งได้รับการสนับสนุนการผูกขาดมาจากกฎหมายการเจรจาต่อรองร่วมซึ่งต้องการตัวแทนของสหภาพในแต่ละเขต ทั้ง NEA และ AFT ต่างก็อยู่ในเขตของตน ไม่ล้ำเส้นกัน[12]

เปอร์เซ็นต์ของครูที่ครอบคลุมการเจรจาต่อรองร่วมก้าวกระโดดจากแทบจะเป็นศูนย์ในปี 1960 ไปเป็น 65% ในปี 1978 ดินแดนตอนใต้และรัฐชายแดนมักจะเป็นข้อยกเว้น ตัวเลขดังกล่าวยังคงขยับขึ้นลงไม่มากในทศวรรษ 2000 ในยุคใหม่ ระดับสมาชิกสหภาพมีความคงที่อยู่ที่ราว 75% แต่มีแนวโน้มจะลดลงในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละมลรัฐ เช่น วิสคอสซินและมิชิแกนที่ถูกควบคุมโดยพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม จำนวนสมาชิกที่ลดลงยังแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรอเมริกาในรัฐทางใต้และชายแดนที่สหภาพอ่อนแออยู่แล้ว[13]

ทศวรรษ 1980 จุดเริ่มต้นของความถดถอยของสหภาพแรงงาน

ต้นทศวรรษ 1980 สหภาพแรงงานครองอำนาจสูงสุดในระบบการศึกษาอเมริกา ด้วยสมาชิกหลักล้านและนักกิจกรรมทางการเมือง และความมั่งคั่งจากการรณรงค์และการล็อบบี้ การผงาดของอำนาจสหภาพได้เปลี่ยนโลกของการศึกษาแห่งรัฐ โดยการสร้างระบบการศึกษาใหม่ซึ่งยังส่งผลมาอีกราว 30 ปีต่อมา ระบบใหม่นี้คล้ายกับระบบดั้งเดิมเมื่อราวร้อยปีก่อน อันประกอบด้วย คณะกรรมการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และแนวคิดประชาธิปไตยท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยนักปฏิรูปหัวก้าวหน้า แต่ยุคก่อนนั้นระบบเดินหน้าด้วยสถาบันทางวิชาชีพ ไม่ใช่สหภาพแรงงานที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของการทำงานของลูกจ้าง จึงถือว่าเป็นความแตกต่างเชิงคุณภาพเมื่อเทียบกับระบบเดิม[14]

แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้นำมาซึ่งตลกร้ายใหญ่ในประวัติศาสตร์ การเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาอเมริกันในรายงานโดยคณะกรรมาธิการของประธานาธิบดีชื่อ ‘A Nation at Risk’ (เมื่อชาติเผชิญภัย) เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 รายงานฉบับนี้ออกเตือนกระแสของคุณภาพแบบกลางๆ ในโรงเรียนระดับชาติ และพยายามให้เกิดการปฏิรูปจากฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นประสิทธิภาพการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ความย้อนแย้งคือ A Nation at Risk มาพร้อมกับการที่สหภาพแรงงานครูผนึกกำลังอำนาจของพวกเขา และนำมาสู่การเผชิญหน้ากันและการต่อต้านนโยบายดังกล่าว[15]

การเจรจาต่อรองร่วมเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญในการเจรจาระดับท้องถิ่น สหภาพแรงงานจะใช้อำนาจเพื่อเรียกร้องสภาพการจ้างงานโดยการเสนอรูปแบบองค์กรที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก แต่ก็ไม่มีการการันตีว่าวิธีการนี้จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในความเป็นจริง มันอาจจะเป็นในทางตรงกันข้ามก็ได้ อย่างไรก็ดี จุดยืนของสหภาพแรงงานครู ก็คือกลุ่มผลประโยชน์พิเศษที่ต้องการคุ้มครองงานของครู เพิ่มเงินเดือน และสวัสดิการ ขยายสิทธิ์และจำกัดการใช้ดุลยพินิจในการบริหาร ดังนั้น การเจรจาต่อรองจึงมีบทบาทสำคัญในหลายทศวรรษและภายใต้เขตโรงเรียนนับพัน สหภาพแรงงานครูถือว่ามีบทบาทต่อการปรับรูปโฉมของโรงเรียนแบบอเมริกัน[16]

การปฏิรูปการศึกษาในกระแสหลัก

ทศวรรษ 1980 ขบวนการปฏิรูปถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มธุรกิจและผู้ว่าการรัฐ กลุ่มธุรกิจเห็นถึงการเติบโตและผลิตภาพที่ต่ำในการแข่งขันระดับนานาชาติ จึงต้องการให้ฝ่ายการเมืองทำอะไรสักอย่าง พวกเขามีพันธมิตรคือเหล่าผู้ว่าการรัฐในระดับชาติที่เป็นผู้บริหารที่มีเขตอำนาจกว้างขวาง มีความอ่อนไหวน้อยต่อกลุ่มผลประโยชน์กว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และรับผิดชอบความกินดีอยู่ดีในระดับมลรัฐ ทั้งยังมีความกระหายที่จะมีบทบาทนำในการปรับปรุงโรงเรียน[17]

ในช่วงต้น แนวคิดปฏิรูปมาจากสามัญสำนึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยวางแผนที่จะจ่ายเงินมากขึ้น ยกระดับเงินเดือนครู เปลี่ยนหลักสูตใหม่ อบรมครูให้ดีขึ้น ซึ่งไปกันได้กับระบบที่เป็นอยู่ โดยไม่มีภัยคุกคามต่อสหภาพแรงงานครู อันที่จริงสหภาพฯ เห็นว่านี่สภาพแวดล้อมของการปฏิรูป เป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายเรื่องเงินที่จ่ายเข้าโรงเรียนและการเพิ่มเงินเดือนไปด้วย[18]

ดังนั้นการปฏิรูปเช่นนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างและสร้างแรงจูงใจอะไร รัฐบาลกลางใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น 75% ระหว่างปีการศึกษา 1982-1983 และ 1989-1990 ทำให้โรงเรียนได้รับเงินเพิ่ม 35% (เมื่อปรับเงินเฟ้อแล้ว) และเงินต่อหัว ยังถูกใช้ในเขตเดียวกันที่ไม่ได้มีผลงานที่ดีนัก แรงจูงใจจึงยังอ่อนแรงมาก เงินเดือนครูได้ถูกยกระดับเพิ่มขึ้นกว่า 52% เมื่อคิดตามการปรับเงินเฟ้อถือว่าขึ้นเงินเดือน 17% ซึ่งครูที่ผลงานดีและไม่ดีต่างได้รับเงินเท่ากัน โดยไม่มีใครจำต้องรับผิดชอบผลการเรียนของเด็กที่คะแนนแม้จะออกมาไม่ดี[19]

ในทศวรรษ 1990-2000 ก็มีความพยายามปฏิรูปแบบเดิมที่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างรัฐซึ่งลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก การลดขนาดชั้นเรียนเป็นที่นิยมกันมากในปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูป ผู้บุกเบิกคือแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่เริ่มต้นช่วงปี 1996 ที่ฟลอริดาในปี 2002 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหภาพแรงงานครู เพราะลดภาระงานและเพิ่มการจ้างงาน อีกทั้งนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของสมาชิกและอำนาจต่อรองไปด้วย แต่เช่นเดียวกับการปฏิรูปอื่นๆ วิธีการนี้ไม่ได้ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น[20] ปัญหาคือ เหตุใดเมื่อรัฐอัดฉีดเงินมหาศาลแต่การปฏิรูปไม่ได้ช่วยอะไร และคำตอบก็คือ การไม่ท้าทายโครงสร้างเดิมทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อใคร ไม่มีการขัดขวางจากสหภาพ จึงมีแต่ด้านบวก ไม่มีแง่ลบต่อระบบเดิม ที่ลบอย่างเดียวคือ ผลการเรียนของนักเรียน[21]

มลรัฐ-รัฐส่วนกลาง และการเมืองของการปิดกั้น

ในระดับรัฐบาลแล้ว กฎหมายระบุว่าโรงเรียนของรัฐ (public school) จะถูกปกครองแต่ละมลรัฐ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1800 ถึงกลางทศวรรษ 1900 มลรัฐเป็นผู้อนุญาตให้มีการจัดการศึกษาผ่าน local school district (เขตโรงเรียนท้องถิ่น) เห็นได้ว่า ขอบเขตอำนาจ องค์กร การให้ทุน โปรแกรม และการเจรจาต่อรองล้วนอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ กลุ่มที่ต้องการจะเข้าถึงอำนาจเหนือโรงเรียนของรัฐจำต้องเข้าร่วมกับการเมืองระดับมลรัฐ

รัฐบาลกลางได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เครื่องมือหลักของพวกเขาคือรัฐบัญญัติการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา (Elementary and Secondary Education Act 1965: ESEA) ที่ให้อำนาจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการสนับสนุนเด็กผู้ด้อยโอกาส และอัดฉีดเงินกว่าพันล้านดอลลาร์ผ่านมลรัฐไปยังเขตต่างๆ จนถึงปี 2001 เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคปฏิรูปอย่างเข้มข้นด้วยนโยบาย ‘ไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง’ (No Child Left Behind: NCLB) ถือเป็นการทบทวนกฎหมาย ESEA อย่างถึงแก่น อันนำไปสู่การสร้างระบบตรวจสอบโรงเรียนทั้งประเทศ แต่รัฐยังคงเป็นอำนาจหลักในระบบการศึกษาสาธารณะ[22]

สำหรับสหภาพแรงงานครู การเมืองสามารถเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม รัฐบาลระดับสูงสามารถเลือกระเบียบการทำงาน โปรแกรมการศึกษา และการจัดงบประมาณตามที่พวกเขาต้องการสำหรับโรงเรียนของรัฐ และการตัดสินใจมักจะเป็นการประยุกต์ใช้กับทุกเขตและโรงเรียนอย่างอัตโนมัติ เมื่อสหภาพแรงงานมีอำนาจที่เข้มแข็ง จุดแข็งเหล่านี้จะเอื้อให้พวกเขา แต่ฝ่ายปฏิรูปก็สามารถโต้กลับด้วยการผลักดันการตรวจสอบ การสร้างโรงเรียนทางเลือก (school choice) การจ่ายเงินเดือนตามผลงาน และอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสหภาพ โดผลักดันข้อเสนอให้เป็นกฎหมาย แต่นั่นก็คือว่าเป็นการเดิมพันที่สูงยิ่ง[23]

ผ่านมากว่า 25 ปี NEA และ AFT เป็นกลุ่มที่ทรงอำนาจที่สุดในการเมืองแห่งการศึกษา พวกเขามีสมาชิกเรือนล้าน มีเงินที่จะสนับสนุนการรณรงค์และการล็อบบี้ และยังมีนักกิจกรรมที่มีความรู้สูงคอยควบคุมสนามการเลือกตั้งผ่านการเคาะประตู และโทรศัพท์ประสานงาน อีกทั้งมีความสามารถในการจัดการรณรงค์ผ่านสื่อในประเด็นต่างๆ องค์กรพวกเขาเสมือนเป็นผืนผ้าที่ห่อคลุมทั้งประเทศทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อบรรลุเป้าหมายได้

แต่การมีอำนาจมากก็มิได้หมายความว่า สหภาพแรงงานจะได้ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ เกมของสหภาพแรงงานครูไม่ได้เป็นการเสนอนโยบาย เท่ากับการปิดกั้นนโยบายที่เป็นภัยต่อพวกเขา นั่นคือการปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่ พวกเขาพึ่งพาพันธมิตรอย่างพรรคเดโมแครตและพรรคฝ่ายซ้าย (ที่เมื่อเทียบความเข้มข้นแล้วอาจถือได้ว่าเป็นเพียงพรรคกลางในยุโรปเท่านั้น) ผู้สมัครของเดโมแครตรับเอาแคมเปญ คะแนนเสียง และการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ของสหภาพแรงงานครูไปด้วย การเดินเกมเช่นนี้ทำให้สหภาพสามารถพึ่งพานโยบายได้ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องการจ้างงาน งบประมาณที่เพิ่มขึ้น เงินเดือนสูงและมีสวัสดิการ และผลประโยชน์อื่นๆ ของสหภาพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการต่อต้านการปฏิรูป[24]

การตรวจสอบและวัดผลโรงเรียน เกมรุกฆาตสหภาพแรงงาน

สำหรับนักปฏิรูปแล้ว การตรวจสอบและวัดผลถือเป็นเรื่องสำคัญ หากโรงเรียนต้องการจะแสดงความเป็นเลิศ จะต้องมีการนิยามมาตรฐานในสิ่งที่นักเรียนจะต้องรู้ วัดผลตามมาตรฐานที่วางไว้ ตรวจสอบผลและให้แรงจูงใจกับผู้ที่ทำคะแนนได้ดี กระบวนการเหล่านี้คือหลักการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ที่ผู้นำธุรกิจทั้งหลายคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมาย การประเมินสมรรถนะ การติดตามผล การสร้างแรงจูงใจ Moe ชี้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ และไม่ใช่วาระของเสรีนิยมใหม่อย่างที่เคยคิดกัน เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วในองค์กรขนาดใหญ่เพื่อที่จะนำไปสู่ปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในที่นี้หมายถึงเขตโรงเรียน[25]

ที่ผ่านมา ครูได้รับอิสระในห้องเรียน ได้รับเงินเดือน และการจ้างงานที่มั่นคง ไม่ว่าผลการเรียนนักเรียนจะเป็นอย่างไร การตรวจสอบและวัดผลที่แท้จริงหมายถึงความต้องการวัดและประเมินผลใหม่อย่างจริงจัง การวัดผลที่ส่งผลต่อการให้คุณให้โทษครูได้ทำให้การจ้างงานไม่มั่นคง ซึ่งนี่คือข้อเสนอที่ถอนรากถอนโคนอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการปฏิรูปอันเหยาะแหยะที่ผ่านมา กระนั้น พวกครูยังมีพันธมิตรอยู่ในผู้ควบคุมดูแลและคณะกรรมการโรงเรียนที่เห็นว่านี่คือการคุกคามต่ออำนาจระดับท้องถิ่น ทั้งยังรวมไปถึงกลุ่มสิทธิพลเมืองที่เป็นห่วงว่าจะนำไปสู่ความล้มเหลวของเด็กชายขอบที่ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อว่าการทดสอบมีอคติทางวัฒนธรรม หรือกระทั่งผู้สร้างนโยบายฟากพรรครีพับลิกันที่ต้องการจะปกป้องการควบคุมท้องถิ่นเอาไว้[26]

แต่การต่อสู้เช่นนี้ก็ยังถือว่าไม่สามารถแสวงหาพันธมิตรได้มากนัก เพราะสุดท้าย เหล่าศึกษานิเทศก์ก็ได้กลายมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนระบบตรวจสอบและวัดผล เนื่องจากมันนำมาสู่การสร้างอำนาจต่อรองเพื่อพัฒนาโรงเรียนได้ การสำรวจความเห็นพบว่าผู้ปกครองและพลเมืองล้วนสนับสนุนระบบดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่า การทดสอบสามารถทำได้และเชื่อใจได้ และฝ่ายรีพับลิกันจำนวนมากเริ่มเชื่อว่านักการศึกษาควรที่จะถูกตรวจสอบและวัดผลบ้างแล้ว[27] ฝ่ายต่อต้านระบบใหม่จึงเหลือเพียงสหภาพแรงงานครูที่ยังเป็นฐานที่มั่นสำคัญ การปฏิรูปแนวนี้เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง พวกเขาได้เลือกใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น นั่นคือ แม้จะเห็นด้วยกับการตรวจสอบการสอนของครู แต่ก็พยายามจะเป็นผู้กำหนดวิธีการประเมินให้ผ่อนน้ำหนักลง พวกเขาซื้อเวลาเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงนโยบาย No Child Left Behind ทศวรรษ 2000 [28]

กลยุทธ์ของฝ่ายสหภาพแรงงาน คือการเสริมแรงของการสร้างมาตรฐานหลักสูตรให้เข้มแข็ง ที่ไม่ได้คุกคามต่อครู ส่วนที่เน้นการสอบและการติดตามผลการเรียนที่ย่ำแย่เป็นสิ่งที่สหภาพพยายามโจมตีและชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ส่งผลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์แห่งการสอบเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในปริมณฑลของการศึกษา ความห่วงใยของสหภาพแรงงานคือการสอบนั้นเป็นหลักฐานแสดงผลการสอนของครูไปด้วย หากผลสอบไม่ดีก็เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะถูกกดดันเพื่อจะปรับปรุงและเกิดผลต่อเนื่อง ระบบทดสอบที่เข้มงวดได้เปิดเผยให้เห็นว่าครูบางส่วนทำได้ดีกว่าคนอื่น และบางคนก็ทำได้ย่ำแย่ เมื่อข้อมูลถูกเปิดเผย ครูที่แย่จำเป็นต้องถูกนำออกไปจากห้องเรียน และครูที่มีผลงานก็ควรได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า[29] เช่นเดียวกับการประเมินในองค์กรธุรกิจ

สหภาพแรงงานครู ได้พยายามป้องกันไม่ให้คะแนนสอบถูกใช้มาประเมินครูอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น ที่นครนิวยอร์กในปี 2008 มีความพยายามนำคะแนนสอบของนักเรียนมาใช้ในการประเมินครูในระบบสัญญาจ้าง ขณะนั้น UFT ได้ใช้ไพ่ตายคือ การร่วมกับพันธมิตรในสภานิติบัญญัติท้องถิ่นเพื่อออกกฎหมายห้ามมิให้เขตการศึกษาในนิวยอร์กใช้คะแนนสอบเพื่อประเมินสัญญาจ้างครู แม้ข้อมูลจะเปิดกว้าง แต่สหภาพแรงงานได้ป้องกันตัวได้สำเร็จ ด้วยการทำให้การนำข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจสอบเป็นเรื่องผิดกฎหมาย[30]

กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า ความท้าทายของข้อมูลดังกล่าวทำให้สหภาพแรงงาน ได้เผชิญหน้าในระดับชาติ เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารได้ทำให้รัฐบาลระดับมลรัฐรวบรวมข้อมูลนักเรียน โรงเรียน ครู การเงิน และด้านการศึกษาอื่นๆ จัดเก็บในคลังข้อมูล ฝ่ายปฏิรูปมองว่าไม่มีอะไรจะเรียบง่ายเท่ากับใช้ข้อมูลเพื่อการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน แต่สหภาพแรงงานยังเห็นว่าข้อมูลที่ดีก็ยังเป็นภัยคุกคามเพราะถูกมลรัฐและเขตนำไปใช้ในการประเมินผล การจ่ายเงินเดือน และการรับประกันการจ้างงานผ่านผลการเรียนของนักเรียน การต่อต้านที่จะนำคะแนนไปประเมินครูยังพบในมลรัฐเท็กซัส โคโลราโด และแคลิฟอร์เนีย เมื่อสู้ในระดับนโยบายไม่ได้ ก็พยายามออกกฎหมายห้ามเช่นเดียวกัน[31] 

เป้าหมายใหญ่ของสหภาพแรงงานไม่ใช่การลบล้างข้อมูลหรือการสอบโดยตัวมันเอง แต่เพื่อรับรองว่าจะไม่มีผลกระทบทางลบต่อครู ดังนั้น วิธีการนี้จะไม่มีใครตกงานหรือไม่มีใครได้ค่าจ้างที่ย่ำแย่ และไม่มีโรงเรียนที่ถูกปิดเมื่อมีผลการสอบนักเรียนแย่ๆ ออกมา สหภาพแรงงานโจมตีคะแนนสอบและระบบข้อมูลเพราะมันได้จัดเตรียมหลักฐานที่พร้อมจะถูกใช้ให้เกิดผลกระทบทางลบ แต่การยื้อดังกล่าวก็ยื้อมาได้จนถึงปลายทศวรรษ 2010 การปฏิรูปเริ่มเกิดขึ้น บางรัฐเริ่มใช้กฎหมายที่ยอมให้ปลดครูที่ผลงานต่ำออกจากห้องเรียน เคยมีเคสที่จอร์เจีย ผู้ว่าการรัฐได้ปลดครูออกในปี 2000 เขาถูกสหภาพแรงงานครูหมายหัวในการเลือกตั้ง 2002 จนทำให้เขาไม่ได้รับเลือกตั้ง[32]

การปิดกั้นการปฏิรูปของสหภาพแรงงานครูไม่ได้ผลในมลรัฐทางใต้ ทำให้การประเมินผลเกิดขึ้นในมลรัฐอย่างเท็กซัส นอร์ทแคโรไลนา เคนทักกี และฟลอริด้า ในบริเวณนี้ อำนาจของสหภาพแรงงานมีแนวโน้มจะอ่อนแอกว่าในระดับชาติ เมื่อเทียบกับระดับรัฐ เพราะนักการเมืองระดับชาติมีเขตอำนาจที่มากกว่า และสหภาพแรงงานมีคู่แข่งมากกว่า ด้วยมีกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย[33]

ข้อเสียเปรียบของการเมืองระดับชาติของสหภาพฯ บวกกับข้อเท็จจริงที่ว่านักการเมืองผู้โดดเด่นได้อยู่เคียงข้างการปฏิรูป จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชฝ่ายรีพับลิกันเป็นผู้นำพร้อมกับฝ่ายเดโมแครตที่ร่วมหัวจมท้ายด้วย สหภาพแรงงาน สิ้นอำนาจในการเมืองของนโยบาย No Child Left Behind เมื่อผ่านกฎหมายดังกล่าว สหภาพแรงงานพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในยุคของการปฏิรูป[34]

นโยบาย No Child Left Behind เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสูการเปลี่ยนแปลงบทบาทการศึกษาของรัฐบาลกลางอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ นำไปสู่การเรียกร้องให้โรงเรียนของรัฐทดสอบนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านในรอบปี โดยมีเป้าหมายที่จะให้นักเรียนทั้งหมดมีความสามารถภายในปี 2014 แต่เมื่อแยกคะแนนตามกลุ่มต่างๆ แล้ว พบว่ามีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังขัดกับแคมเปญดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีการประเมินโรงเรียนบนฐานความก้าวหน้าในรอบปีที่มากพอ (adequate yearly progress) สำหรับกลุ่มย่อยทั้งหลาย และการที่ควบคุมโรงเรียนที่มีผลงานย่ำแย่[35]

ดังนั้น ระเบิดความอ่อนแอที่ถูกฝังอยู่ภายใน ทำให้นี่คือจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ความวุ่นวายจาก No Child Left Behind สหภาพแรงงานได้พยายามต่อสู้กับการโหวตระดับรัฐสภาโดยการรณรงค์เพื่อยุติกฎหมายนั้น NEA ยื่นฟ้องศาลเพื่อที่จะทำให้นโยบาย No Child Left Behind ผิดกฎหมาย ในเวลาเดียวกัน AFT ก็เดินเกมทางสื่อเพื่อต่อต้านกับการสอบที่มากเกินไป และโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันเห็นว่า No Child Left Behind เป็นนโยบายที่เลวร้าย และพยายามกดดันพรรคเดโมแครตเพื่อล้มนโยบายนี้ พวกเขาได้พรรครีพับลิกันมาสนับสนุนสหภาพแรงงาน ทั้งที่ในปี 2001 หลายคนของพรรคยังสนับสนุนกฎหมายนี้ ในเวลาหลายปีต่อมาพวกเขาได้ย้ายฝั่ง ต่อมาทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างก็วิจารณ์นโยบาย No Child Left Behind แต่ยังไม่มีฉันทามติร่วมกันว่าควรจะแทนที่นโยบายนี้ด้วยอะไร[36]

สมัยของบารัก โอบามา แม้จะมีการพยายามปฏิรูปด้วยการสนับสนุนการประเมินครูและการออกแบบหลักสูตรแกนกลางของชาติ แต่ก็มิได้เป็นส่วนหนึ่งของ No Child Left Behind แต่อย่างใด ในสมัยที่ 2 ของเขา นโยบายที่เน้นการตรวจสอบระดับชาติผ่านดุลยพินิจของประธานาธิบดี มิใช่แค่เพียงทำให้ฝั่งรีพับลิกันโกรธแค้น เช่นเดียวกับสหภาพแรงงานที่ไม่พอใจต่อการปฏิรูปของเขา[37] การแทรกแซงของโครงการ Race to the Top[38] ซึ่งผลักดันโดยรัฐบาลกลางในปี 2012[39] ให้ใช้ในระดับเขตก็ส่งผลเช่นเดียวกัน

เมื่อรีพับลิกันเข้ามาคุมสภาด้วยการเลือกตั้งในปี 2014 การยกเลิก No Child Left Behind กลายเป็นเรื่องแรกๆ ที่ถูกจัดการ พันธมิตรระหว่างรีพับลิกันและสหภาพแรงงานครูนำไปสู่การออกกฎหมาย Every Student Succeeds Act (ESSA: รัฐบัญญัติเด็กทั้งมวลประสบสำเร็จ) ตามกฎหมาย นักเรียนจะต้องสอบในรอบปี และคะแนนจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่หัวใจของการตรวจสอบที่มาตรฐานทางวิชาการควรจะเป็น หรือสมรรถนะเช่นใดที่ควรจะถูกวัด โรงเรียนควรจะถูกประเมินอย่างไร หรือผลที่ย่ำแย่ควรจะจัดการอย่างไร จะกลายเป็นอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในระดับมลรัฐ ตามกฎหมายนี้ รัฐบาลกลางยังถูกห้ามจากการสนับสนุนมาตรฐานวิชาการระดับชาติ และเรียกร้องให้หน่วยงานระดับมลรัฐเป็นผู้ประเมินสมรรถนะของครู[40]

ESSA ถูกมองว่าจะเป็นการปลดปล่อยกระแสธารของความตื่นเต้นและนวัตกรรม รวมไปถึงความสำเร็จของนักเรียนอย่างที่ไม่เห็นมานานแล้ว และยังเป็นการดำเนินการจากชุมชน และมลรัฐ มากกว่าการสั่งตรงมาจากวอชิงตันดีซี การโค่นล้มนโยบายดังกล่าวได้สร้างพันธมิตรที่น่าแปลกประหลาดระหว่างรีพับลิกันและสหภาพแรงงานครูเกิดขึ้น มันได้ทำให้การสร้างระบบตรวจสอบโรงเรียนของรัฐที่ใช้งานได้และเป็นรูปแบบเดียวกันจึงไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น[41]

ทางเลือกโรงเรียน ในระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา กับ ทางเลือกเพื่อสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส

นโยบาย School choice (ทางเลือกโรงเรียน) มีเป้าหมายที่จะย้ายการควบคุมของรัฐแบบบนลงล่างไปสู่ระบบที่กระจายอำนาจให้อิสระกับโรงเรียนที่แต่ละครอบครัวเป็นผู้เลือก[42] ตรงข้ามกับโรงเรียนของรัฐแบบเดิมที่ถูกบริหารด้วยนโยบายที่ใกล้เคียงกัน สำหรับผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ ตัวเลือกคือข้อได้เปรียบที่ชัดเจน และสิ่งสำคัญที่สุดคือได้ให้โอกาสผู้ปกครองย้ายนักเรียนออกจากโรงเรียนแย่ๆ เพราะโรงเรียนของรัฐมักจะได้รับการการันตีว่า ไม่ว่าผลการสอนจะเป็นอย่างไรก็จะได้รับงบประมาณเหมือนเดิม แต่ในระบบ school choice ที่มีลักษณะการบริหารแบบธุรกิจเอกชน ไม่มีการันตีเช่นนั้น ถ้าพวกครูทำงานไม่เป็นไปตามเป้า พวกเขาจะสูญเสียนักเรียนและทรัพยากรไป ได้รับผลกระทบจากการสอนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้จะทำให้โรงเรียนมีแรงจูงใจเพื่อที่จะสร้างการเรียนการสอนที่ดี และมีความเป็นนวัตกรรม[43]

School choice ได้ถูกนำเสนอในทศวรรษ 1950 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องอย่าง Milton Friedman ผู้เสนอบัตรกำนัลการศึกษา (voucher) และนำหลักการตลาดเสรีเข้ามาในระบบการศึกษา แต่ต้องใช้เวลากว่าที่ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจุดติดในราวปี 1990 พวกเสรีนิยมได้สนับสนุนแนวคิดนี้ แต่กระนั้นก็มีผู้ตระหนักว่า จะสร้างปัญหาความเท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น การเข้าถึง ข้อมูลผู้ปกครอง การเดินทาง และการตรวจสอบ รวมไปถึงการจัดการหากระบบนี้เกิดขึ้น[44]

สำหรับสหภาพแรงงานแล้ว นโยบายเช่นนี้เป็นการคุกคามพวกเขาอย่างมาก เมื่อผู้ปกครองเลือกโรงเรียนได้ โรงเรียนทั่วไปก็จะมีนักเรียนและงบประมาณที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อสมาชิกสหภาพแรงงงาน ทรัพยากรและอำนาจ เส้นทางอาชีพของครูก็ถูกทำให้ชะงักกัน สหภาพแรงงาน จึงไม่ต้องการให้มีการสร้างระบบดังกล่าว แม้ว่าโรงเรียนจะมีปัญหาเรื้อรังเพียงใดก็ตาม[45]

สหภาพแรงงานครูยังมีพันธมิตรก็คือ school district (เขตโรงเรียน) เนื่องจากพวกเขาต้องการคุ้มครองอำนาจการรับสมัครครู การจัดการงบประมาณ และอำนาจการควบคุม สำหรับด้านชาติพันธุ์ สมาคมคนผิวสีก้าวหน้าแห่งชาติ (National Association for the Advancement of Colored People: NAACP) เห็นว่านโยบายนี้ยังทำให้คนขาวมีโอกาสจะหลีกหนีไปจากนักเรียนคนดำ นอกจากนั้นเนื่องด้วยระบบโรงเรียนยังเป็นแหล่งงานสำคัญของคนชายขอบและการเลื่อนสถานะ ทำให้ต้องมีการปกป้องฐานที่มั่นนี้ด้วย

สหภาพเสรีนิยมพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union) และประชาชนเพื่ออเมริกันชน (People for American) เห็นว่าระบบบัตรกำนัล (voucher) สำหรับโรงเรียนเอกชน (ซึ่งส่วนใหญ่คือโรงเรียนศาสนา) คือกำแพงแห่งการแบ่งแยกระหว่างโบสถ์และรัฐ ขณะที่พวกเสรีนิยมที่น่าจะสนับสนุนรัฐบาล กลับตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตลาด และเป็นห่วงว่าผู้ยากไร้จะไม่สามารถมีทางเลือกได้ ส่วนฝ่ายเดโมแครตผู้ปิดกั้นนโยบายอย่างจริงจังก็มีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายเสรีนิยมทั้งในความเชื่อและในการเลือกตั้ง ที่ขึ้นกับสหภาพแรงงาน[46]

ความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดัน School choice นั้นถือว่าไม่สามารถต่อกรกับฝั่งตรงข้ามได้ ต่างจากการตรวจสอบและวัดผล มีเพียงปัจเจกผู้มั่งคั่งไม่กี่คนที่สนับสนุนโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งธุรกิจเสียด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะว่าผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่มองแค่ว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียงแค่ปัญหาของการบริหารการจัดการ ตลอดทศวรรษ 1980 การผลักดัน School choice ได้รับการสนับสนุนโดยนักกิจกรรมอนุรักษนิยม โบสถ์ โรงเรียนเอกชน ซึ่งไม่สามารถเอาชนะฐานอำนาจสำคัญอย่างสหภาพแรงงานครูและกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ได้[47]

ทศวรรษ 1990 เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการสนับสนุนจากฝ่ายซ้ายที่เน้นด้านเสรีนิยมมากขึ้น ผู้ปกครองกลุ่มชาติพันธุ์ในตัวเมืองมิลวอกกี้ (Milwaukee) ได้เรียกร้องระบบ voucher เพื่อย้ายออกจากโรงเรียนของรัฐด้วยการสนับสนุนจากผู้ว่าการมลรัฐวิสคอนซินผู้มาจากรีพับลิกัน ท้ายสุด พวกเขาได้รับสิทธิ์นั้น ทำให้ระบบ school choice ได้สนับสนุนคนชายขอบและนักเรียนผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายในเขตเมือง ข้อถกเถียงในยุคนี้คือ ระบบเช่นนี้จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคมกัน มากกว่าจะสร้างปัญหา และโพลแสดงความคิดเห็นได้แสดงให้เห็นว่านโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนโดยคนดำและผู้ปกครองเชื้อสายเม็กซิกัน[48]

โครงการมิลวอกกี้ได้ขยายออกไปยังเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนครอบครัวที่รายได้ต่ำ เช่นในคลิฟแลนด์, วอชิงตัน ดีซี, โอไฮโอ, หลุยเซียน่า, อินเดียน่า และ ราซีน และยังมีโครงการ voucher สำหรับเด็กพิเศษในมลรัฐฟลอริดา, โอไฮโอ, ยูทาห์, จอร์เจีย, โอกลาโฮมา และหลุยเซียน่า (ส่วนใหญ่จะเป็นมลรัฐทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งโครงการเหล่านี้มาจาก tax credits (เครดิตภาษี) และมูลนิธิที่เสนอทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่บ้านครอบครัวรายได้ต่ำ ยังมี ‘บัญชีออมทรัพย์ทางการศึกษา’ ที่ยอมให้ผู้ปกครองใช้เงินของรัฐเพื่อจ่ายเงินสนับสนุนทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกวดวิชา อย่างเช่นในมลรัฐอาริโซนาและเนวาดา[49]

แต่สงครามยังไม่จบลงง่ายๆ เนื่องจากสหภาพแรงงาน ต้องการจะต่อต้านระบบ voucher และเครดิตภาษี เมื่อมลรัฐยูทาห์ผ่านกฎหมายระบบ voucher ในปี 2007 เหล่าสหภาพแรงงานพยายามจะคว่ำกฎหมายโดยนำไปสู่การลงประชามติ และพยายามอย่างหนักเพื่อชนะ พวกเขายังโจมตีโครงการที่มิลวอกกี้ มลรัฐวิสคอนซิน และคลิฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ ผ่านการฟ้องศาล นำไปสู่คำพิพากษาที่เป็นแลนด์มาร์คของ Zelman ในปี 2002 ที่ยอมรับให้มีการใช้ระบบ voucher ในโรงเรียน รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนที่สนับสนุนโดยโบสถ์ต่างๆ ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พวกเขายังทำให้ศาลสั่งให้ระบบดังกล่าวปราศจากความชอบธรรมทางกฎหมายในมลรัฐโคโลราโดและฟลอริดา และทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงกฎหมายในอีกหลายที่ เมื่อพรรคเดโมแครตกลับมามีอำนาจในรัฐสภาและในตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2009 พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนปฏิบัติการไปสู่พื้นที่วอชิงตัน ดีซี เพื่อทำลายโครงการคูปองสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส[50]

โครงการ voucher ยังคงดำรงอยู่ด้วยชัยชนะอันน่าประทับใจเหนือคู่แข่ง กระนั้นโครงการก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง นักเรียนราว 55 ล้านทั้งในระดับประถมและมัธยมทั้งของรัฐและเอกชน มีเพียง 3-4 แสนคนที่ได้รับบัตรกำนัล หรือทุนจากเครดิตภาษี ผู้ได้ประโยชน์จึงเป็นเพียงส่วนน้อย ในระดับชาติ ระบบบัตรกำนัล และเครดิตภาษีมีทางเลือกเล็กน้อย การแข่งขันของโรงเรียนก็มีอยู่น้อย เช่นเดียวกับแรงจูงใจใหม่ๆ ก็น้อยเช่นกัน ผลลัพธ์ของทั้งมวลก็คือสหภาพแรงงานครูยังคงป้องกันความพยายามปฏิรูปไว้ได้[51]

ชาร์เตอร์สคูล: โรงเรียนแบบเอกชนในกำกับของรัฐ

นอกจากนั้นยังมีโครงการอื่นอีก ประมาณปี 1990 มีแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ชาร์เตอร์สคูล’ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ดำเนินการโดยเป็นอิสระจากการควบคุมของเขตและรัฐ สำหรับผู้สร้างนโยบายแล้ว โดยเฉพาะพรรคเดโมแครต นโยบายดังกล่าวมีความน่าสนใจทางการเมือง เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวสามารถสนับสนุนทางเลือกภาครัฐสำหรับครอบครัวผู้ด้อยโอกาส ทั้งยังเอาใจสหภาพแรงงาน โดยการต่อต้านระบบ voucher เพราะสำหรับสหภาพแรงงานแล้ว พวกเขาเห็นว่าระบบชาร์เตอร์สคูลดีกว่าระบบ voucher เพราะควบคุมได้ง่ายกว่าผ่านการเมือง กระนั้นภัยคุกคามก็ถือว่าไม่ต่างกัน เนื่องจากระบบนี้ยอมให้เด็กออกจากโรงเรียนของรัฐ มีความเป็นไปได้ที่จะนำเอาเงินและงานไปจากพวกเขาเช่นกัน[52]

ในที่สุดสหภาพแรงงานก็หันมาต่อต้าน แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่สามารถต้านทานกระแสได้ ปี 1991 มลรัฐมินิโซต้าได้ประกาศใช้กฎหมายชาร์เตอร์สคูล ตามมาด้วยแคลิฟอร์เนียในปี 1992 (มีชาร์เตอร์สคูล 100 แห่ง จากโรงเรียนของรัฐทั่วไปที่ 7,000 แห่ง) มาถึงปี 2003 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 40 รัฐ (รวมวอชิงตัน ดีซี) ระบบดังกล่าวกลายเป็นการเปิดหนทางสู่ school choice อย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ปกครองและนักเรียน โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองที่โรงเรียนของรัฐมีผลการสอนตกต่ำ ระบบใหม่ยังได้รับความสนใจในสื่อ และในหนัง Waiting for Superman (2010) ที่ให้ความสนใจกับชาร์เตอร์สคูล ดังนั้น พวกเขาจึงได้รับความสนใจจากผู้นำรีพับลิกันช่วงทศวรรษ 1990 อย่างบิล คลินตัน และอัล กอร์ หรือในยุคบารัก โอบามา ทำให้การปฏิรูปชาร์เตอร์สคูลเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Race to the Top[53]

การพัฒนาอย่างสำคัญยิ่งนี้ ทำให้สหภาพแรงงานที่พยายามสู้อ่อนแรง แม้แต่พันธมิตรเดโมแครตของพวกเขาก็ทำได้เพียงพูดเพื่อ ‘สนับสนุน’ มากกว่าการปฏิบัติจริงจัง ผลก็คือการปฏิรูปกฎหมายที่เป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่าแก่นสารสาระ นั่นคือ การควบคุมจำนวนเพดานที่ต่ำของการอนุญาตให้มีชาร์เตอร์สคูลในแต่ละรัฐ การสนับสนุนนักเรียนต่อหัวที่ต่ำกว่าโรงเรียนธรรมดา (โดยเฉลี่ย 23%) เขตโรงเรียนเป็นอำนาจเดียวที่พอจะควบคุมชาร์เตอร์สคูลได้ ผลลัพธ์ก็คือ ระบบชาร์เตอร์สคูลถูกออกแบบให้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างทางเลือกให้กับครอบครัวที่มีอยู่น้อย ขณะที่โรงเรียนรัฐเองก็มีการแข่งขันกันน้อยมาก[54]

สหภาพยังพยายามโจมตีระบบนี้อยู่เนืองๆ กระทั่งฟ้องศาลว่าระบบนี้ละเมิดธรรมนูญของรัฐ แต่ในบางเมืองระบบชาร์เตอร์ได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวเมือง เช่น นิวออร์ลีนส์ มีนักเรียนในระบบนี้กว่า 90% ดังที่เสนอมาข้างต้นว่ามีเหตุมาจากพายุแคทาริน่า และส่วนแบ่งการตลาดก็ยังสูงในที่ต่างๆ เช่น 44% ในวอชิงตัน ดีซี, 53% ในดีทรอยต์, 41% ในแคนซัส ซิตี้, 33% ในฟิลาเดเฟีย และ 30% ในคลีฟแลนด์[55]

แต่นักปฏิรูปก็ยังอยู่ห่างไกลความสำเร็จในระดับประเทศ ยังมีอีก 8 มลรัฐที่ไม่ยอมรับกฎหมายระบบชาร์เตอร์ และในบางมลรัฐที่มีกฎหมายชาร์เตอร์ยังมีเด็กที่เข้าเรียนในชาร์เตอร์สคูลน้อยมาก เช่น 1.3% ในคอนเนกติคัท, 0.1% ในไอโอวา, 0.5% ในแคนซัส, 0.2% ในเมน, 0 ใน เวอร์จิเนีย, 2.0% ใน โอกลาโฮมา,  2.1% ในมิสซูรี และ 1.6% ในเทนเนสซี หลังจากความพยายามราว 25 ปี ทั่วประเทศมีโรงเรียนชาร์เตอร์เพียง 6,000 แห่ง ขณะที่โรงเรียนของรัฐมีอยู่ 95,000 แห่ง ด้วยจำนวนนักเรียนเรียนเพียง 6%[56]

แต่จำนวนนักเรียนน้อยมิได้เป็นตัวชี้วัดของความต้องการเข้าเรียน เพราะมีบัญชีรายชื่อที่รอเข้าเรียนอยู่ไม่น้อย เช่นใน Harlem ชาร์เตอร์สคูลเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง โดยรับสมัคร 25% ของเด็กในโรงเรียนของรัฐ และไม่สามารถรับได้มากกว่านี้เพราะชาร์เตอร์สคูลไม่เพียงพอ ในฤดูใบไม้ผลิปี 2010 มีนักเรียนสมัครกว่า 14,000 แต่มีเพียง 2,700 ที่นั่ง ดังนั้นกว่า 11,000 คนจึงไม่ได้เข้าเรียนโรงเรียนชาร์เตอร์ ว่ากันว่าทั้งประเทศมีนักเรียนกว่า 920,000 คนอยู่ในบัญชีสำรอง[57]

เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะคิดว่าระบบใหม่นั้นนำมาซึ่งความก้าวหน้า แต่ก็ยังห่างไกลความจริง กฎหมายชาร์เตอร์ทั้งหลายมักเต็มไปด้วยระเบียบข้อบังคับเพื่อจะจำกัดการขยายตัวของโรงเรียนและลดจำนวนรับนักเรียน สำหรับ Moe แล้ว ผู้ชนะในครั้งนี้มิใช่ขบวนการชาร์เตอร์สคูล หรือครอบครัวอเมริกันที่หาทางเลือกใหม่ให้ลูกๆ แต่เป็นการเมืองแห่งการปิดกั้นของสหภาพแรงงานครู[58]

NEA กับ AFT สหภาพแรงงานบนเส้นขนาน

ทุกวันนี้ NEA มีสมาชิกมากกว่า 3 ล้านคน[59] ขณะที่ AFT มีประมาณ 1.72 ล้านคน[60] ตัวเลขเหล่านี้ของ AFT รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นครูในชั้นเรียน อาจรวมถึงครูเกษียณ เลขานุการ ภารโรง และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ครู AFT ยังมีฐานอยู่ที่เมืองใหญ่อย่างนครนิวยอร์ก ชิคาโก้ บอสตัน และ 30% ของสมาชิกที่เป็นครูตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์ก[61] เคยมีความคิดที่จะหลอมรวม NEA กับ AFT เข้าไว้ด้วยกัน แต่ผลการตัดสินใจผ่านการโหวตของสมาชิก NEA ในปี 1998 ไม่ผ่าน จึงทำงานผ่านสิ่งที่เรียกว่า NEAFT Partnership และได้รวม NEA-AFT ระดับสาขาในมลรัฐฟลอริดา, มินิโซต้า, มอนทานา และนิวยอร์ก[62] AFT เองก็อยู่ภายใต้สมาชิกร่มใหญ่ของ AFL-ICO ขณะที่ NEA ไม่ได้อยู่ในนั้นด้วย แต่ทั้งคู่เป็นสมาชิกขององค์กรนานาชาติด้านการศึกษา (Education International: EI)

เมื่อคุณภาพการศึกษาของสหรัฐอเมริกาถูกตั้งคำถาม ความชอบธรรมของสหภาพแรงงานการศึกษาก็ลดลงเรื่อยๆ ไม่เพียงปัญหาที่รุมเร้าจากปัจจัยภายนอก หรือภายในเอง สหภาพแรงงานที่มียุทธศาสตร์ในการต่อต้านนโยบายรัฐที่คุกคามการดำรงอยู่ของสหภาพแรงงาน ทำให้พวกเขาเองกลายเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ และถูกโจมตีได้อย่างง่ายดายว่าเป็นผู้ทำให้ระบบการศึกษาล้มเหลว แม้ในความเป็นจริงปัญหาการศึกษามีความซับซ้อนอยู่มาก ไม่ว่าจะโดยมิติทางการเมืองในรูปแบบพรรคและอุดมการณ์ การกระจายอำนาจ การผลิตครู และอื่นๆ ดังที่อาจเห็นและเรียนรู้ได้จากประเทศอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเดินหน้าแบบเสรีนิยมใหม่


[1] Terry M. Moe, “Teacher Unionism in the United States: The Politics of Blocking”, Terry M. Moe and Susanne Wiborg, ed., The comparative politics of education: teachers unions and education systems around the world (Cambridge: Cambridge Press, 2017), p.24

[2] Terry M. Moe, Ibid., p.25

[3] Terry M. Moe, Ibid., p.25

[4] Sandra Mathison and Wayne Ross, “Social Studies Education,” Ibid., pp.632

[5] Terry M. Moe, Ibid., p.25

[6] Sandra Mathison and Wayne Ross, “Social Studies Education,” Ibid., pp.632

[7] Gregg Herken, Brotherhood of the Bomb: The Tangled Lives and Loyalties of Robert Oppenheimer, Ernest Lawrence, and Edward Teller (New York: Henry Holt and Company, 2002), pp.29-30

[8] Sandra Mathison and Wayne Ross, “Social Studies Education,” Ibid., pp.632

[9] Timothy J. Minchin, Labor Under Fire: A History of the AFL-CIO Since 1979 (North Carolina: University of North Carolina Press, 2017), p.14

[10] American Federation of Teachers. “About Us”. Retrieved on 13 August 2023 from https://www.aft.org/about, Terry M. Moe, Ibid., pp.25-26

[11] Sandra Mathison and Wayne Ross, “Social Studies Education,” Ibid., pp.632

[12] Terry M. Moe, Ibid., p.26

[13] Terry M. Moe, Ibid., p.26

[14] Terry M. Moe, Ibid., p.27

[15] Terry M. Moe, Ibid., p.27

[16] Terry M. Moe, Ibid., pp.28-29

[17] Terry M. Moe, Ibid., p.37

[18] Terry M. Moe, Ibid., p.37

[19] Terry M. Moe, Ibid., pp.37-38

[20] Terry M. Moe, Ibid., p.38

[21] Terry M. Moe, Ibid., p.38

[22] Terry M. Moe, Ibid., p.33

[23] Terry M. Moe, Ibid., p.33

[24] Terry M. Moe, Ibid., pp.34-35

[25] Terry M. Moe, Ibid., p.39

[26] Terry M. Moe, Ibid., p.39

[27] Terry M. Moe, Ibid., p.39

[28] Terry M. Moe, Ibid., p.40

[29] Terry M. Moe, Ibid., p.40

[30] Terry M. Moe, Ibid., pp.40-41

[31] Terry M. Moe, Ibid., p.41

[32] Terry M. Moe, Ibid., p.41

[33] Terry M. Moe, Ibid., p.42

[34] Terry M. Moe, Ibid., p.42

[35] Terry M. Moe, Ibid., p.42

[36] Terry M. Moe, Ibid., p.43

[37] Terry M. Moe, Ibid., p.43

[38] Terry M. Moe, Ibid., p.41

[39] The White House, President Barack Obama. “Race to the Top”. Retrieved on 13 August 2023 from https://obamawhitehouse.archives.gov/issues/education/k-12/race-to-the-top

[40] Terry M. Moe, Ibid., p.43

[41] Terry M. Moe, Ibid., p.44

[42] Terry M. Moe, Ibid., p.44

[43] Terry M. Moe, Ibid., pp.44-45

[44] Terry M. Moe, Ibid., p.45

[45] Terry M. Moe, Ibid., p.45

[46] Terry M. Moe, Ibid., p.45

[47] Terry M. Moe, Ibid., p.45

[48] Terry M. Moe, Ibid., pp.46-47

[49] Terry M. Moe, Ibid., p.47

[50] Terry M. Moe, Ibid., p.47

[51] Terry M. Moe, Ibid., p.47

[52] Terry M. Moe, Ibid., p.47

[53] Terry M. Moe, Ibid., p.47

[54] Terry M. Moe, Ibid., pp.47-48

[55] Terry M. Moe, Ibid., p.48

[56] Terry M. Moe, Ibid., p.48

[57] Terry M. Moe, Ibid., p.48

[58] Terry M. Moe, Ibid., pp.48-49

[59] National Education Association. “Home”. Retrieved on 13 August 2023 from https://www.nea.org/

[60] American Federation of Teachers. “About Us”. Retrieved on 13 August 2023 from https://www.aft.org/about

[61] Terry M. Moe, Ibid., p.26

[62] Sandra Mathison and Wayne Ross, “Social Studies Education,” Ibid., pp.630

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save