fbpx

60 ปีแห่งความฝันของคนผิวดำ: ‘ประวัติศาสตร์แสนสั้น’ ที่มีความหมาย

นึกไม่ถึงว่าวันที่ 28 สิงหาคมนี้ เป็นวันครบรอบ 60 ปีของปาฐกถากลางแปลงเรื่องข้าพเจ้ามีความฝัน‘ (I Have a Dream) ของสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์นักเทศน์โบสถ์แบปทิสต์ในแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ที่เขาเติบโตมา วันนั้นคนผิวดำนับแสนออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่พวกเขาถูกปฏิเสธมาอย่างยาวนาน นับแต่คำประกาศปลดปล่อยทาส (Emancipation Proclamation) ของประธานาธิบดีลิงคอล์นในปี 1863 ระหว่างสงครามกลางเมืองดำเนินอยู่ ไปถึงการประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 13 ในปี 1865 หลังสงครามยุติ

แต่ในทางปฏิบัติอดีตทาสผิวดำที่บัดนี้เป็นพลเมืองอเมริกันแล้วแต่ก็ยังถูกปฏิเสธสิทธิพลเมืองมาอย่างไม่ขาดสาย ยกเว้นระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามกลางเมืองที่คนผิวดำได้ใช้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะถูกคนผิวขาวทั้งในภาคใต้และในภาคเหนือ ผ่านพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือเดโมแครตและรีพับลิกัน ทำสัญญาปีศาจกันในการทำลายบิดเบือนสิทธิพลเมืองของคนผิวดำต่อมาอีกกระทั่งถึงปี 1963 อันเป็นวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษของการประกาศเลิกทาสโดยลิงคอล์น

ในปีนั้นคนผิวดำที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจในอเมริกา เริ่มตระหนักและซึมซับความหมายของ ‘เสรีภาพ’ และ ‘ความเสมอภาค’ ในบริบทของคนผิวดำที่ตกอยู่เป็นเบี้ยล่างของระบบปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เรียกว่าทั้งระบบสังคมในยุคสมัยที่สหรัฐฯ เติบใหญ่และก้าวหน้ากว่ามหาอำนาจเก่าในยุโรปจนเป็นจักรวรรดิใหม่ แต่นโยบายและการปฏิบัติต่อคนผิวดำกลับอยู่ในสภาพตรงกันข้ามกับความก้าวหน้าทั้งหมดอย่างไม่น่าเชื่อ จนพูดได้ว่าคนผิวดำมีชีวิตเหมือนชาวอาณานิคมเมืองขึ้นมากกว่าเป็นพลเมืองของประเทศ

กว่าจะถึงวันเดินขบวนใหญ่เพื่อสิทธิพลเมืองในกรุงวอชิงตันดีซี ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ได้ผ่านการเคลื่อนไหวคัดค้านประท้วงและต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้อย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐผิวขาวจนขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้เลย

ตอนนั้นในขบวนการต่อสู้ของคนผิวดำ มีความคิดสองแนวทาง หนึ่งคือทำตามสิ่งที่คนขาวต้องการคือไม่ต่อสู้-ไม่ทำในสิ่งที่คนผิวขาวไม่ต้องการ นั่นคือการไม่มีอนาคตของคนผิวดำเอง กลายเป็นคนสิ้นหวังและเป็นคนชายขอบสังคมต่อไป กับอีกแนวทางคือใช้หนทางสุดท้ายคือความรุนแรงในการต่อสู้ ดร.คิงบอกว่าเขาอยู่ระหว่างสองหนทางนี้ เขาเสนอแนวทางที่สาม ซึ่งไม่ใช่ทางสายกลาง หากเสนอหนทางที่ใช้ ‘ปฏิบัติการทางตรง’ (direct action) ของประชาชนซึ่งยึดมั่นในสันติวิธี (อหิงสา)

ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองที่นำโดย ดร.คิงและเพื่อนๆ มีวิธีการอันเคร่งครัดในการเคลื่อนไหว เริ่มด้วย 1) ค้นคว้าหาข้อมูลของการต่อสู้และปัญหาสำคัญที่จะสู้ 2) ดำเนินการต่อรองเท่าที่ทำได้ 3) สำรวจและแก้ไขตนเอง มีการประชุมปฏิบัติการเรื่องสันติวิธีแก่สมาชิกก่อน ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าถ้าเคลื่อนไหวแล้วถูกจับจะทนได้ไหม เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมในทุกๆ ด้าน และในประการสุดท้ายคือการปฏิบัติการทางตรงของประชาชน นั่นคือวันออกเดินขบวนใหญ่ในเมือง ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบที่นักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนเรียกว่าการประท้วงแบบ ‘อารยะขัดขืน’ (civil disobedience) นี่คือการเคลื่อนไหวที่มีการจัดตั้งตระเตรียมทั้งทางความคิด จิตใจและวิธีการอันเหมาะสม ไม่ใช่การกระทำแบบเป็นไปเองหรือไปตามกระแสและความรู้สึกชั่วแล่นอย่างปราศความรับผิดชอบ

เมื่อมองกลับไปผมคิดว่าพลังในสารที่ ดร.คิง กล่าวปราศรัยในวันนั้นอยู่ที่การฉายภาพของความขัดกันอย่างแรงระหว่างอุดมการณ์เสรีภาพอเมริกันที่รู้จักกันดีไม่เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น หากโด่งดังไปทั่วโลก นั่นคือวรรคทองของคำประกาศเอกราชที่ยืนยันว่า “เราเชื่อว่าสัจธรรมเหล่านี้เป็นความจริงในตัวมันเอง คนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” ทว่าคำกล่าวนี้และรัฐธรรมนูญที่ให้แก่คนอเมริกันทุกคนทั้งผิวขาวและผิวดำ ไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่เป็นเสมือนเช็กเงินสดได้ โดยเฉพาะต่อคนผิวดำ ซึ่งเมื่อเขาเอาเช็กไปขึ้นเงิน กลับได้รับคำตอบว่าเช็กฉบับนี้ไม่มีเงินให้ถอนได้

ความสามารถในการอุปมาระหว่างอุดมการณ์ความคิดและการปฏิบัติเป็นจริงในชีวิตของคนผิวดำเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังต่อผู้ฟังทั้งผิวขาวและดำที่มีจิตใจรักความเป็นธรรมและความยุติธรรม การใช้ประโยคเปิดซ้ำๆ หลายครั้งเพื่อตอกย้ำความหมายเดียวกันแต่แสดงออกในรูปธรรมที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเข่น

“เราได้มาถึงจุดที่ศักดิ์สิทธิ์ในการเตือนอเมริกาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของปัจจุบันกาล นี่ไม่ใช่เวลาของการทำให้เยือกเย็นเหมือนกินยากล่อมประสาทของลัทธิค่อยๆ เป็นไป บัดนี้คือเวลาของการทำให้ประชาธิปไตยเป็นความจริงตามสัญญา บัดนี้คือเวลาของการตื่นจากความมืดและหุบเขาของการแบ่งแยกที่ทุกข์ทรมาณไปยังหนทางที่รุ่งโรจน์ของความยุติธรรมทางเชื้อชาติ บัดนี้คือเวลาของการยกชาติเราออกจากหลุมทรายดูดแห่งความอยุติธรรมทางเชื้อชาติไปยังก้อนหินอันแข็งแกร่งของภราดรภาพ บัดนี้คือเวลาของการสร้างความยุติธรรมให้เป็นความจริงสำหรับลูกหลานทั้งปวงของพระเจ้า”

ครั้งแรกตอนที่ผมสอนประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเล่าถึงการต่อสู้ของขบวนการสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ ก็ต้องบรรยายถึงการเดินขบวนใหญ่ของ ‘ข้าพเจ้ามีความฝัน’ อันเป็นสุนทรพจน์ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ พร้อมกับเปิดเทปคำปราศรัยนี้ให้นักศึกษาฟัง เมื่อสิ้นคำปราศรัยผมรีบปาดน้ำตาที่ซึมอยู่บนขอบตาออกก่อนบรรยายต่อไป แม้ต่อมาอีกหลายปีเมื่อฟังคำปราศรัยนี้ผมก็ยังสะเทือนใจทุกครั้ง เป็นคำปราศรัยที่ทรงพลังที่สุดที่ผมเคยฟังมา

หากสรุปความคิดทางการเมืองของ ดร.คิง จะได้ว่า “การปฏิวัติของคนผิวดำเป็นการต่อสู้ที่มากกว่าเพื่อสิทธิของคนนิโกร มันเป็นการบังคับให้อเมริกาเผชิญหน้ากับความบกพร่องทั้งหมดของประเทศ ได้แก่การเหยียดหยามทางเชื้อชาติ ความยากจน ลัทธิทหารและลัทธิวัตถุนิยม มันเป็นการเปิดโปงความเลวร้ายที่มีรากเหง้าอันลึกในโครงสร้างทั้งหมดของสังคมเรา …และแนะนำว่าการรื้อฟื้นปฏิสังขรณ์อย่างถอนรากของสังคมคือประเด็นปัญหาที่แท้จริงที่ต้องเผชิญ”

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของวันนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสิทธิพลเมือง รัฐบาลจอห์นสันยอมออกกฎหมายการเลือกตั้งในปี 1964 ให้สิทธิเท่าเทียมกันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกแก่คนผิวสี แต่ในทศวรรษต่อมาการเมืองขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เกิดการแยกขั้วระหว่างฝ่ายซ้ายกับขวา จบลงด้วยการยุติสงครามในเวียดนาม และจากนั้นเข้าสู่ยุคการก่อรูปการเมืองและรัฐบาลเอียงขวาในนาม ‘เสรีนิยมใหม่’ สมัยโรนัลด์ เรแกน และที่นำไปสู่ชัยชนะของการเมืองของคนผิวดำ ได้แก่การเข้าไปยึดทำเนียบขาวของนายบารัก โอบามาในปี 2009-2017 จากนั้นเข้าสู่ยุคเสรีนิยมตกขอบและขวาสุดขั้วของคนขาวเป็นใหญ่ ในที่สุดก็ยกเลิกกฎหมายเลือกตั้งที่ให้ความเสมอภาคแก่คนผิวสีและสิทธิสตรีในการทำแท้งลงไป ในนามของศีลธรรมและความเป็นอเมริกันแท้

นั่นเองที่หากถามคนอเมริกันขณะนี้ว่า ‘ข้าพเจ้ามีความฝัน‘ ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ยังทรงพลังและอิทธิพลทางความคิดต่อคนผิวสีทั้งหลายในอเมริกาหรือทั่วโลกอีกไหม ผมคิดว่าคำตอบที่ได้คงบอกว่าไม่เหมือนก่อนนี้อีกแล้ว สุนทรพจน์นี้เหมือนกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่กลายเป็นความทรงจำที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการลืม ถูกย่อและวาดในหลายแบบเพื่อทำให้ง่ายต่อการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ เรื่องเล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมา ปะทะกับการเกิดอุดมการณ์ขวาใหม่และอนุรักษนิยมใหม่ ปะทะกับผลผลิตทางวัฒนธรรมมวลชนและสื่อดิจิทัลที่ล้อมรอบสังคมไว้ ทั้งหมดนั้นนำไปสู่การบิดเบือนและกดทำลายมัน ในขณะเดียวกันก็เปิดเผยแก่นแกนของมันออกมาอย่างเต็มที่

นี่เองที่ทำให้เราเห็นการเดินขบวนใหญ่ของคนผิวดำในอเมริกาอีกครั้งในขบวนการ ‘ชีวิตคนดำมีความหมาย‘ (Black Lives Matter) ในปี 2020 ทำให้ดูเหมือนสิ่งที่ขบวนการสิทธิพลเมืองได้เรียกร้องใน ‘ข้าพเจ้ามีความฝัน‘ มลายหายไปกับสายลมเสียสิ้นพร้อมกับการขึ้นมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีจุดยืนตรงข้ามกับความใฝ่ฝันของคนดำโดยสิ้นเชิง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนผิวดำและขบวนการต่อสู้ของพวกเขาต้องเผชิญอุปสรรคและการตีกลับจากกลุ่มอำนาจผิวขาว ตลอดประวัติศาสตร์ของพวกเขาคือการต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด นับแต่อดีตสิ่งที่ระบบทาสได้สร้างปัญหาและอุปสรรคในระยะยาวให้กับคนดำ ได้แก่ การทำให้การต่อสู้เพื่อทำลายหรือบั่นทอนระบบทาสนี้ลงไปนั้นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของการต่อสู้และทำลายอำนาจคนขาวเท่านั้น หากทว่าในเวลาเดียวกัน การต่อสู้นั้นกลายเป็นว่าคนดำก็ต้องต่อสู้กับความเป็นคนดำที่ถูกสร้างขึ้นมาในสังคมทาสอเมริกันและต้องสร้างความหมายใหม่ให้กับตนเองขึ้นมาด้วยเหมือนกันตลอดเวลา ดังข้อเขียนของนักคิดปัญญาชนคนผิวดำสำคัญคนแรกๆ วิลเลียม ดูบัวส์ว่า “โลกทั้งสอง (คือคนขาวกับดำ) ทั้งที่อยู่ในผ้าคลุมหน้าและอยู่นอกผ้าคลุมหน้าของสี กำลังเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนอย่างรวดเร็วยิ่ง แต่ไม่ใช่ในอัตราเดียวกัน และก็ไม่ใช่ในหนทางเดียวกันด้วย” (W.E.B. Du Bois, The Souls of Black Folk 1903)

นี่คือปมเงื่อนความซับซ้อนแห่งปัญหาของคนผิวดำในสหรัฐฯ การปฏิเสธและทำลายคนผิวขาวในทุกๆ ด้านออกไปจากชีวิตและความเป็นจริงของคนผิวดำเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันก็จะเป็นการทำลายส่วนหนึ่งของความเป็นคนผิวดำและเป็นอเมริกันออกไปจากชีวิตของพวกเขา แต่การยอมให้มันดำรงอยู่ก็เท่ากับดำรงความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และความไม่เท่าเทียมกันเอาไว้ ผลก็คือกระบวนการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงที่คนผิวดำได้กระทำมานั้น นำไปสู่จุดหมายและทางออกสองอย่าง หนึ่งคือการประนีประนอมกับอำนาจรัฐขาวและวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคนผิวดำเอง สองคือการปฏิเสธอย่างถึงที่สุดในการอยู่ภายใต้หรือร่วมกับอำนาจรัฐขาวนี้ หนทางที่สามของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ใน ‘ปฏิบัติการทางตรงของประชาชน’ จึงเป็นได้เพียงประวัติศาสตร์ที่แสนสั้น

การต่อสู้ของประชาชนที่ถูกกดขี่จึงต้องการ ‘ประวัติศาสตร์ที่สั้น’ หลายอัน จากปฏิบัติการทางตรงของพวกเขาในการสร้างและก่อตั้งสังคมใหม่ในอุดมคติของพวกเขาต่อไป การต่อสู้ครั้งสุดท้ายจึงไม่มี หากแต่ต้องร่วมกันสู้และวางหนทางไปสู่ความเป็นจริงอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ เมื่อนั้นประวัติศาสตร์ฉบับเต็มของทุกสีจึงจะดำรงอยู่ได้อย่างเป็นจริง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save