fbpx

ไม่ใช่โหวตให้พิธา แต่โหวตเพื่อประชาธิปไตย

ครูบาอาจารย์ด้านการเมืองการปกครองและรัฐธรรมนูญมักจะให้คำอธิบายว่าต้นแบบของระบบการเมืองของไทยมาจากอังกฤษอันเป็นประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีกษัตริย์อยู่ในตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

แต่ก็คงเห็นๆ กันอยู่แหละว่าความเข้าใจดังกล่าวคลาดเคลื่อนไม่น้อย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ควรจะต้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่อาจปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม แม้จะรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคุณพิธา จะสามารถกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้หรือไม่

อุปสรรคสำคัญเฉพาะหน้าในขณะนี้ก็คือว่า การลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งหมายถึงจำนวนที่ไม่น้อยกว่า 376 เสียง

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้มีเสียงเรียกร้องต่อบรรดาเหล่า ส.ว. ว่าควรจะต้องลงคะแนนให้กับบุคคลที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงย่อมเป็นการสะท้อนออกถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง

ข้อเรียกร้องเช่นนี้วางอยู่บนหลักการอันเป็นที่ยอมรับกันในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ (และในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา) สมาชิกของวุฒิสภาจะมีบทบาทสำคัญในด้านของการกลั่นกรองกฎหมายหรือทำให้การออกกฎหมายมีความรอบคอบมากขึ้น เมื่อไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือประชาชนไม่ได้ให้ความเห็นชอบ การคัดเลือกบุคคลที่มาเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารก็จะต้องเป็นขององค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนเป็นหลัก

แม้บรรดา ส.ว. ของไทยจำนวนหนึ่งจะให้เหตุผลว่าอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อันนั้นก็เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่คงไม่มีใครโง่งมจนไม่รู้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปเพื่อทำให้ คสช. สามารถแปลงร่างเข้ามาอยู่ในระบบการเมืองผ่านกติกาการเลือกที่บิดเบี้ยวอย่างสำคัญ อันหมายรวมไปถึงการคัดเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก ซึ่งมาถึงห้วงเวลาปัจจุบันก็แทบจะไม่ต้องสาธยายถึงคุณสมบัติหรือความรู้ความสามารถของบุคคลเหล่านี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่ามุ่งปกป้องอำนาจนำดั้งเดิมทางการเมืองโดยปราศจากหิริโอตัปปะอย่างสิ้นเชิง

ในความเห็นของผม วุฒิสมาชิกเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั้งหลายไป ‘ร้องขอ’ ส.ว. เป็นใคร มีคุณสมบัติและผลการปฏิบัติงานอย่างไร นอกจากเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจนิยม และรวมถึงก็คงเป็นไปได้ยากต่อการเรียกร้องให้พวกเขามีท่าทีหันมาสนับสนุนต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

บรรดากลุ่มคนที่ควรต้องตระหนักถึงภารกิจสำคัญของตนเองในช่วงเวลานี้อีกกลุ่มสำคัญก็คือ เหล่า ส.ส. เฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่ได้อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล

การเรียกร้องให้บรรดา ส.ส. ที่กำลังกลายเป็นฝ่ายค้านต่อไปให้มาสนับสนุนคุณพิธานั้นคงเป็นเรื่องอาจดูพิกลไม่น้อย แน่นอนว่าหากระบบการเมืองดำเนินไปตามบรรทัดฐานแบบที่ควรเป็นในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ กล่าวคือนายกรัฐมนตรีมาจากผู้ที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ข้อเรียกร้องเช่นนี้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอย่างมาก

แต่สิ่งที่ต้องสำเหนียกเป็นอย่างมากก็คือ ภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. ได้ส่งผลให้ระบบการเมืองดำเนินไปอย่างวิปริตผิดเพี้ยน การใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง การช่วงชิงคนในระหว่างพรรคการเมืองด้วยการแจกกล้วย การลอยตัวอยู่เหนืออำนาจการตรวจสอบ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐ เป็นต้น ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อการทำลายความสำคัญและความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองให้ลดน้อยลงไป แทนที่แต่ละพรรคจะสามารถระดมสติปัญญาในการนำเสนอทิศทางการพัฒนาประเทศ กลับต้องมาพะวงและคอยตอบคำถามว่า ‘จะเอาลุง’ หรือไม่

มาจนถึงห้วงเวลานี้ก็เห็นกันได้ว่าระบบการเมืองอันพิกลพิการนี้มีอนาคตที่ไม่ไกล ไม่ว่าการสกัดกั้นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากจะมีความเข้มแข็งเพียงใด แต่อีกไม่นานนัก ส.ว. ชุดนี้ก็ต้องยุติลง เมื่อการเมืองเดินเข้าสู่ภาวะที่ปกติมากยิ่งขึ้น การต่อสู้ช่วงชิงคะแนนความเห็นชอบจากประชาชนจะวางอยู่บนหลักการ นโยบาย และความสามารถในการบริหารบ้านเมืองมากกว่า

พรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ หรือที่เป็นแค่การรวมตัวของเหล่าโจร ก็ล้วนต้องเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้

ระบบการเมืองอันเป็นปกติล้วนแต่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ละพรรคต้องมาแข่งขันกันด้วยสติปัญญาและนโยบาย ไม่ใช่การเกาะรองเท้าบูตหรือด้วยการห้อยโหนดังที่เคยเป็นมาอดีต ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้แต่ละพรรคการเมืองสามารถสร้างจุดเด่น จุดยืน จุดขายของตนเอง ในความเห็นของผม การโหวตในครั้งนี้จึงจะไม่ใช่เป็นเพียงการลงคะแนนให้กับคุณพิธา แต่จะเป็นการสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องสะดุดอีกครั้ง

หากโหวตให้กับคุณพิธา บรรดาสมาชิกพรรคการเมือง รวมถึง ส.ส. ของทุกพรรคก็จะสามารถพูดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ระบอบการเมืองพัฒนาต่อไปได้ ด้วยการทำให้ยุติระบอบ คสช. ลงได้อย่างสิ้นเชิง  

พรรคการเมืองทั้งหลาย ระลึกไว้ให้ดีนะครับว่าบรรดาผู้ออกเสียงออกตั้งที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็จะเป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นๆ โลกในวันนี้และวันข้างหน้ากำลังจะอยู่ในมือของคนเหล่านี้ มุมมองและความปรารถนาของพวกเขาจะเป็นหนทางของสังคมในยุคต่อไป การจงรักภักดีอยู่กับบรรดาผู้นำการเมืองแบบอำนาจนิยมก็ไม่ต่างอะไรไปจากการหาเสียงกับคนที่กำลังจะสิ้นลมหายใจ

หากยังคงเกาะกินกับระบอบอำนาจนิยมที่กำลังพ้นไป ก็ไม่แน่ใจว่าบางพรรคการเมืองที่กำลังมีอาการร่อแร่อยู่ในขณะนี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ยาวนานกว่าบรรดาลุงๆ หรือว่าอาจจะต้องถึงแก่กาลไปก่อนกันแน่

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save