fbpx

ส.ส. อังกฤษสอบตกเพราะแก้ปัญหาหนี้สินการศึกษาให้ประชาชนไม่ได้

ปัญหาเรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลายเป็นประเด็นโต้เถียงกันเมื่อมีนักการเมืองไทยและนักเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาบางคนจุดประเด็นเรื่องการปลดหนี้ กยศ. ซึ่งมีความคิดเห็นและข้อโต้แย้งแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ใครจะให้น้ำหนักไปทางรายละเอียดด้านใด หาข้อยุติได้ยาก

การจัดสรรเงินสนับสนุนระดับอุดมศึกษาในประเทศต่างๆ ก็มีหลักการและเงื่อนไขแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศไทย แต่รูปแบบการจัดการ คงต้องตอบคำถามที่ว่า ‘การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นต่ออนาคตของประเทศชาติหรือเป็นเพียงสินค้าหรูหราประเภทหนึ่งสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น’

เมื่อนักการเมืองแก้ปัญหาหนี้การศึกษา
แต่มี ส.ส. สอบตกที่รักษาสัญญาไว้ไม่ได้

เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคมที่สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศมาตรการยกเลิกหนี้เพื่อการศึกษา มูลค่า 10,000 ดอลลาร์สำหรับผู้กู้ที่จบการศึกษาออกมาทำงานแล้วมีรายได้ต่ำกว่า 125,000 ดอลลาร์ต่อปี และยกเลิกหนี้มูลค่า 20,000 ดอลลาร์ ให้แก่ผู้กู้ตามโครงการที่เรียกว่า Pell Grants ซึ่งจัดให้สำหรับผู้กู้เพื่อการศึกษาที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำมาก โดยไบเดนถือว่าหนื้การศึกษาเป็นหนี้ครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย 

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า มีผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอเมริกาเป็นหนี้เพื่อการศึกษากว่า 43 ล้านคน รวมยอดหนี้สะสมเป็นแสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 5 ติดหนี้เพื่อการศึกษาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อคน และประมาณ 1 ใน 3 ติดหนี้เพื่อการศึกษาแต่เรียนไม่จบ ไม่มีปริญญา หางานที่มีรายได้ต่ำต้องตกอยู่ในวงจรความยากจนไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้การศึกษา 

ภายในพรรคเดโมแครตเอง ก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายเสรีนิยมภายในพรรค เรียกร้องให้เพิ่มเพดานยกเลิกหนี้ให้สูงขึ้นอีกถึง 50,000 ดอลลาร์ เพื่อจะเป็นการปรับความสมดุลให้โอกาสนักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำหรือลูกหลานผู้อพยพ ให้สร้างความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งนักบริหารจัดการด้านการศึกษาอเมริกันหลายคนเชื่อว่า การจัดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างอนาคตให้กับประเทศชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย แต่อีกฝ่ายหนึ่งเชี่อว่าการยกเพดานปลดหนี้สูงขนาดนั้น จะมีเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน (ผู้เสียภาษี) มากเกินไป 

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อสองปีก่อน ไบเดนประกาศนโยบายว่าจะผ่อนปรนหนี้สินเพื่อการศึกษาให้กับคนหนุ่มสาวหลายสิบล้านคนได้ลืมตาอ้าปากหลังจบการศึกษา โดยอ้างว่าการปลดเปลื้องหนี้สินเพื่อการศึกษา เป็นการบรรเทาหนื้ครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย จะช่วยให้ผู้คนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีกำลังซื้อบ้านซี้อรถ และมีเงินจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงโควิด-19 ระบาดให้ฟื้นเร็วขึ้น และเพื่อจะได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นการปลดหนี้การศึกษาครั้งนี้ก็เป็นการปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้ 

สำหรับในอังกฤษนั้นถือหลักการว่าเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่ใช่หนี้สินโดยตรง แต่เป็นภาษีที่เรียกเก็บตามระดับรายได้ของผู้กู้ และจะปลดหนี้ไปทั้งหมดภายในเวลา 30 ปีแม้ว่าจ่ายหนี้ไม่หมด  แม้กระนั้น เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นที่เจ็บปวดที่ทำให้นักการเมืองระดับรองนายกรัฐมนตรีสอบตกแพ้เลือกตั้งมาแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยรุ่งโรจน์ แต่ต้องหมดอนาคต เพราะไม่สามารถรักษาสัญญาที่หาเสียงกับประชาชน  จนต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคการเมือง เลิกเล่นการเมืองแล้วไปเป็นลูกจ้างของมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก เจ้าของกิจการเฟซบุ๊กที่อเมริกา 

นิก เครก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีปี 2010 / ภาพจาก Number 10

นิก เครก (Nick Clegg) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าพรรค Liberal Democrats พรรคใหญ่อันดับ 3 นำลูกพรรคเข้าร่วมตั้งรัฐบาลผสมกับเดวิด แคเมอรอนจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2010 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เครกประกาศนโยบายว่า จะไม่ยอมให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ขึ้นค่าเล่าเรียนเป็นภาระหนักต่อนักเรียนนักศึกษา และจะเสนอโครงการใหม่ที่ยุติธรรมแก่นักศึกษามาทดแทนโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (student loans) อันเป็นประเด็นหาเสียงร้อนแรงที่ทำให้พรรค Liberal Democrats ได้ ส.ส. เข้าสภาถึง 57 คน 

เพียงสองปีถัดมา รองนายกรัฐมนตรีนิก เครก ต้องยอมประกาศขอขมาผู้ออกเสียงไปเลือก ส.ส. พรรค Liberal Democrats ว่าไม่สามารถผลักดันนโยบายเรื่องระงับการขึ้นค่าเล่าเรียนและผ่อนปรนหนื้สินเพื่อการศึกษาตามที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากเงื่อนไขของการทำงานในรัฐบาลผสม

ความจริงก็ไม่บ่อยนักที่นักการเมืองจะยอมประกาศขอขมาประชาชนแบบนี้ แต่เวลานั้นเครกกำลังเตรียมตัวเข้าประชุมใหญ่พรรคประจำปี และคงต้องตอบคำถาม ส.ส. ลูกพรรค ที่ประชาชนเลือกเข้าสภาแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสัญญา ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหลายเขตเลือกตั้งและคะแนนนิยมในบรรดาสำนัก

โพลต่างๆ ก็บ่งชี้ว่า เครกมีคะแนนลดลงเรื่อยๆ 

ที่ปรึกษาหลายคนของเขาแนะนำว่าไม่ต้องขอโทษก็ได้ เพราะว่าทำดีที่สุดแล้วในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อย แต่เขาเชี่อว่ามีความจำเป็น เพราะประชาชนไม่ลืมคำสัญญา หลังจากที่เขาตระเวนพบปะหยั่งเสียงกับผู้สนับสนุนในหลายเขตเลือกตั้งทั่วประเทศแล้วถอดบทเรียนได้ว่า นักการเมืองไม่ควรให้คำมั่นสัญญาในสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นจริงได้ 

หัวหน้าพรรคอันดับ 3 ของอังกฤษ คำนวณว่าการยอมออกมาขอโทษประชาชนในที่สาธารณะ อาจจะผ่อนคลายความไม่พอใจในหมู่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและเรียกความไว้วางใจกลับมาได้บ้าง แต่ปรากฏว่า ประชาชนชาวอังกฤษไม่อภัยให้แก่นักการเมืองที่ไม่รักษาคำพูด ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 พรรค Liberal Democrats พ่ายแพ้ย่อยยับ สูญเสียที่นั่งไปเป็นจำนวนมากกลายเป็นพรรคต่ำสิบ ได้เข้าสภาเพียง 8 เสียง เขาต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และอีกสองปีถัดมามีการเลือกตั้งทั่วไปกลางเทอม เขาแพ้เลือกตั้งสอบตกไม่ได้เป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งที่เมืองเชฟฟิลด์ (Sheffield) ทำให้เขาต้องอำลาจากวงการเมืองอังกฤษไปหางานทำในอเมริกา 

การศึกษาเป็นประโยชน์ต่ออนาคตชาติ
หรือเป็นเพียงสินค้าหรูหราสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น?

ย้อนดูประวัติของโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษาในหลายประเทศ เท่าที่ค้นหามาได้ จุดเริ่มต้นเกิดที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในอเมริกาเมื่อปี 1840 เป็นกองทุนให้กู้ยืมที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดให้ ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1944 รัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Government) จัดตั้งกองทุนการศึกษาให้กับทหารผ่านศึกที่ไปรบในต่างประเทศแล้วเสียโอกาสทางการศึกษาในวัยหนุ่ม จึงตอบแทนพวกเขาด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

จวบจนกระทั้งปี 1958 จึงมีการตั้งกองทุน Federal Student Loans ที่มุ่งผลิตครูและวิศวกรเป็นการพิเศษ และต่อมา ปี 1965 มีการออกกฎหมาย The Higher Education Act เรียกว่าเป็นการเริ่มโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นการทั่วไป หลังจากนั้นก็มีการออกกฎหมายปรับปรุงลักษณะการให้กู้ยืมตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เมื่อสิ้นปี 2021 สรุปยอดหนี้สินกองทุนเพื่อการศึกษาในอเมริกากองสูงถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์ 

ในประเทศอังกฤษองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดหางบประมาณให้บริการจัดการศึกษาฟรีถึงมัธยมศึกษาตอนปลายและจัดตั้งกองทุนสนับสนุนคัดเลือกเด็กเรียนดีเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา จนกระทั่งปี 1962 เมื่อมีการขยายสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้น จึงมีการออกกฎหมายให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดหาเงินทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งและให้พ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนส่วนหนึ่ง จนกระทั่งปีการศึกษา 1990/91 มีการออกกฎหมายจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans Company Ltd.) เริ่มให้บริการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้เป็นการทั่วไป จัดค่าเล่าเรียนและค่ากินอยู่อาศัยแก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ทำคะแนนได้ดีในระดับที่มีสถาบันอุดมศึกษารับเข้าเรียนได้แล้ว ในปีแรกมีผู้สมัครได้ทุนถึง 180,000 คน 

ระหว่างทศวรรษ 1990-2000 สถาบันการศึกษาในอังกฤษมีการขยายเปิดรับสมัครนักศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาทั้งภายในและจากต่างประเทศเข้ามาสมัครเรียนกันล้นหลาม จึงมีการปรับขึ้นค่าเล่าเรียน (tuition fees) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติจะถูกเรียกเก็บค่าเล่าเรียนมากเป็นสามเท่า 

เงื่อนไขและหลักการการใช้หนี้คืนให้แก่บริษัทกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในอังกฤษ (SLC) จะมีลักษณะคล้ายๆ การเรียกเก็บภาษีมากกว่าการใช้หนื้คืนเจ้าหนี้ เพราะหากยังไม่มีงานทำ ยังไม่มีรายได้ก็ยังไม่ต้องชำระคืน  เมื่อเริ่มมีรายได้ก็มีการกำหนดเกณฑ์รายได้จ่ายคืนเป็นขั้นๆ มีรายได้น้อย-จ่ายน้อย มีรายได้มาก-จ่ายมาก เหมือนกับระบบภาษี จนกว่าอายุถึง 65 ปี (หรือ 30 ปีนับตั้งแต่ปีที่กู้ยืม) แม้ว่ายังจ่ายหนี้ไม่หมดก็ถือว่าปลดหนี้ที่เหลือทั้งหมดไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นคัดค้านเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงเกินเหตุ และอัตราดอกเบี้ยราคาตลาดที่คิดทบต้น ทำให้หนี้สินพอกเป็นทวีคูณ 

สำหรับเรื่องโต้เถียงเรื่องการปลดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในประเทศไทย ก็คงต้องตอบคำถามในแง่หลักการที่ว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างอนาคตประเทศชาติให้เป็นสังคมอุดมปัญญา มีทักษะมากพอแข่งขันกับต่างชาติได้ หรือจะให้อนาคตของไทยจมปลักอยู่ในทักษะล้าสมัยและวงจรอุบาทแห่งความยากจนต่อไป  

หรือว่าการศึกษาเป็นสินค้าหรูหราที่หาซื้อได้เฉพาะในกลุ่มคนจำนวนน้อยที่ได้เปรียบอยู่แล้ว แล้วปล่อยให้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมถ่างขยายมากขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save