fbpx

ตากใบ (ยัง) ไม่ให้อภัย จนกว่าเสียงร่ำไห้ใต้ฮิญาบจะสิ้นสุด

1

ตอนนั้น ดา เพิ่งสูญเสียสามี เขาจากไปโดยที่เธอไม่ทันตั้งตัว ครั้งสุดท้ายที่เธอเห็นเขามีชีวิต เขาถอดเสื้อยื่นให้ดาเก็บไว้ระหว่างเหตุจลาจลหน้าสถานีตำรวจตากใบ จากนั้นเขาก็ถูกเอาตัวไปและจากเธอไปตลอดกาล

หลังพิธีศพ ดาพบว่าของต่างหน้าชิ้นสำคัญที่สามีทิ้งไว้คือนกกรงห้าตัว เสียงนกร้องเป็นเสียงที่ครอบครัวของดาเคยชินยามอยู่บ้าน แต่เมื่อสามีซึ่งเป็นเจ้าของนกฝูงนี้ไม่อยู่ พวกมันส่งเสียงร้องไม่หยุด ความผิดเดียวของเจ้าสัตว์สองขานี้คือเสียงของมันทำให้ดาคิดถึงสามี ดาตัดสินใจจบปัญหา เธอเปิดประตูกรงนกทั้งห้าพร้อมกล่าวอำลา

“หลังจากนี้ต่างคนต่างมีชีวิตนะ เจ้าของเธอไม่อยู่แล้ว”

ในวัยไม่ถึงสี่สิบปี ดาสูญเสียคนรักในสภาพที่เธอไม่อาจยอมรับได้ น้องชายถูกดำเนินคดี ลูกชายถูกจับแต่รอดจากคืนนรกนั้นได้ หลังถูกปล่อยตัว ลูกชายของดาไปเป็นทหารเกณฑ์ ไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ทำให้สามีของดาตาย

หลังเรื่องเลวร้ายทั้งหมดเกิดขึ้น มีทหารเวียนมาหาดาที่บ้านโดยไม่มีสาเหตุเป็นระยะ บอกว่ามาเยี่ยม มานั่งคุย ลงเอยด้วยการสอบสวนแม่หม้าย ประหนึ่งว่าเธอเป็นจำเลยในศาล พร้อมคำถามที่เธอแทบไม่เชื่อหูตัวเอง

“ทำไมให้ลูกชายไปเป็นทหาร ทำไมไม่ให้ไปเป็นโจร”

ดา (ถ่ายภาพที่ De’ Lapae Art Space Narathiwat ระหว่างการจัดนิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’)

2

ประสบการณ์เลวร้ายของดาทาบทับกับเรื่องราวเลวร้ายที่อีกกว่า 1,370 ครอบครัวต้องเผชิญจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 25 ตุลาคม ปี 2547 เรื่องเล่าของพวกเขาแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด บางครอบครัวสูญเสียพ่อ บางครอบครัวสูญเสียสามี บางครอบครัวมีคนพิการจากเหตุการณ์วันนั้น บางครอบครัวถูกดำเนินคดี ชายหนุ่มหลายคนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ถูกทหารคุกคามจนอยู่บ้านตัวเองไม่ได้ หลายคนเลือกหนีออกนอกประเทศ เพื่อไม่ให้ครอบครัวต้องโดนคุกคามไปด้วย

แทบทุกคนถูกทหารไทยมองว่าเป็น ‘โจรใต้’

เหตุการณ์นี้ทำให้มีคนตาย 85 คน ส่วนมากเกิดจากการขนย้ายคนจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ด้วยการให้คนนอนซ้อนกันสี่ชั้นบนรถบรรทุก ถูกกดทับและขาดอากาศหายใจ การผ่านเหตุการณ์นั้นโดยรอดชีวิตมาได้ของ เลาะห์ จึงถือเป็น ‘โชคดี’ อย่างตลกร้าย

เลาะห์ย้อนความทรงจำเกือบสองทศวรรษแล้วเล่าเรื่องวันนั้นให้ฟังว่า ตอนนั้นเป็นเดือนรอมฎอน ใกล้จะถึงวันฮารีรายอ จึงเป็นช่วงที่ผู้คนจะซื้อของ หาเสื้อผ้าใหม่มาให้คนในครอบครัวใส่ เลาะห์ก็อยากมีชุดใหม่ให้ลูกๆ จึงรวมตัวกับคนแถวบ้านติดรถกระบะเข้าไปซื้อของในตัวตลาดกันตั้งแต่เก้าโมงเช้า จนรู้เรื่องว่ามีคนไปประท้วงหน้าโรงพัก เพราะไม่พอใจที่ตำรวจจับตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ไปหกคน โดยต้นเรื่องคือ ชรบ. ทำปืนหาย แล้วตำรวจระแวงว่าแอบเอาปืนไปให้ผู้ก่อเหตุไม่สงบ ท่ามกลางบริบทที่ว่าหกเดือนก่อนนั้นเพิ่งเกิดเหตุกรือเซะไป

เลาะห์สังเกตว่าเช้าวันนั้นมีคนมารวมตัวกันหน้าโรงพักหลายพันคน มากอย่างผิดปกติ คล้ายมีการปลุกระดมมา เลาะห์กับเพื่อนก็รอดูว่าจะเกิดอะไรต่อไป จนตกบ่ายซึ่งเป็นเวลาละหมาด เลาะห์จึงไปละหมาดริมแม่น้ำตากใบ แถวหน้าโรงพัก เลาะห์ได้ยินเจ้าหน้าที่บอกว่า “กลับไปเถอะ เดี๋ยวเกิดอะไรขึ้น”

จากนั้นราวบ่ายสามเจ้าหน้าที่ก็กราดยิงใส่ฝูงชนจนมีคนเสียชีวิต ผู้หญิงถูกจับแยกออกไป ผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลังและนอนคว่ำกับพื้นปูนร้อนๆ

ตกเย็นทหารเอารถบรรทุกมาขนพวกผู้ชายไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี เลาะห์ก็เป็นหนึ่งใน 1,370 คนที่ถูกจับไป คนถูกสั่งให้นอนเรียงกันเป็นชั้นจนครบสี่ชั้นในรถแต่ละคัน เลาะห์อยู่ชั้นบนสุด คือชั้นที่สี่

“ตอนนั้นผมคิดว่าเกิดอะไรกับเราวะ ใครทำวะ แล้วก็ได้ยินเสียงคนข้างล่างตะโกน ‘แม่ ช่วยด้วย’ ‘ช่วยด้วย จะตายแล้ว’ ‘อยากดื่มน้ำ’ เจ้าหน้าที่ก็ด่า ‘เงียบ เดี๋ยวโดน กูเกลียดมานานแล้ว’ ”

โดยไม่ต้องสงสัย ‘ความเกลียด’ ที่เจ้าหน้าที่เผยออกมา คือความเกลียดชังคนมุสลิมซึ่งก่อตัวขึ้นจากความแตกต่างและไม่เข้าใจกันที่มีมายาวนาน

เลาะห์บอกว่าหลายคนฉี่ราดกางเกงทั้งที่นอนทับกันอย่างนั้น ต้องไม่ลืมว่าตอนนั้นคือช่วงถือศีลอดที่คนเหล่านี้ไม่ได้กินดื่มมาทั้งวัน

จากตากใบไปค่ายอิงคยุทธฯ ระยะทางราว 150 กิโลเมตร แต่ทหารกลับใช้เวลาเดินทางถึง 5-6 ชั่วโมงอย่างผิดปกติ แต่นั่นอาจเป็นเรื่องผิดปกติเล็กน้อยที่สุดที่เกิดขึ้นในคืนนรกนั้นที่ทำคนตายมหาศาล

หลังเหตุการณ์เลาะห์กลับถูกดำเนินคดีในฐานะแกนนำการประท้วงร่วมกับชายหนุ่มอีกหลายสิบคน เขาบอกว่าช่วงนั้นหวาดกลัวทหารมาก เพราะรู้ว่าทหารบุกไปข่มขู่ตามบ้านชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เขาล็อกประตูอยู่แต่ในบ้านถึงสองปีจนมีการถอนฟ้อง

แทนคำขอโทษที่ถูกกระทำอย่างอมนุษย์ ต้องต่อสู้คดี ใช้เงินทองจนหมด จิตใจกระทบกระเทือน เลาะห์ได้เงิน 32,000 บาท พร้อมวัวสองตัว แต่ปราศจากคำขอโทษจากคนทำ

เลาะห์

3

ค่ำคืนนรกของคนตากใบผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีตัวละครเพิ่มเติม ไม่มีการลงโทษคนทำ เป็นเรื่องเล่าที่ไม่ถูกรัฐไทยจดจำ แต่คนถูกกระทำไม่ลืมเลือน เรื่องน่าเศร้ากว่านั้นคือคนตากใบซึ่งผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงอาศัยอยู่ในพื้นที่กฎหมายพิเศษที่ทหารมีอำนาจมาก ทำให้การออกมาพูดเรื่องตากใบเป็นเรื่องต้องห้ามถึงปัจจุบัน น้อยคนที่พร้อมจะเปิดหน้าพูดเรื่องที่ถูกกระทำ เพราะต่างรู้ดีถึงผลกระทบที่จะถูกทหารคุกคามเพ่งเล็งอย่างหนัก

ไม่ใช่ความลับ แต่ก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นความลับ ทุกคนต่างรู้ดีถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ไม่อยากให้พูดถึง ไม่อยากให้เรียกร้อง เพราะไม่มีใครอยากรับผิด ที่ผ่านมามีการจ่ายเงินเยียวยาก็จริง แต่นั่นไม่มีความหมายเลยตราบใดที่คนกระทำไม่เคยขอโทษและไม่เคยรับผิดชอบ

กระทั่งในเวลาที่อายุความคดีตากใบเหลือเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งปี เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังถูกทำเหมือนเป็นความลับ

ในวันครบรอบ 19 ปีตากใบ ฉันไปนราธิวาสพร้อมเพื่อนสื่อมวลชนจากหลายสำนัก ขณะไปถ่ายภาพหน้าสถานีตำรวจตากใบ จุดเกิดเหตุเมื่อ 19 ปีก่อน เพียงอึดใจเดียวก็มีตำรวจตรงเข้ามาหาอย่างไม่เป็นมิตรพร้อมถามจุดประสงค์ของการถ่ายภาพในที่สาธารณะ เมื่อแจ้งว่าเป็นนักข่าว ตำรวจอีกหลายนายก็มาสมทบโดยยืนมองอย่างระแวดระวังจากในรั้วสถานีตำรวจ หนึ่งในนั้นเดินตรงมาหาด้วยท่าทีเป็นมิตรกว่าตำรวจรายแรกเพียงเล็กน้อย ในมือถือโทรศัพท์มือถือ เห็นชัดเจนว่ากำลังถ่ายวิดีโอเพื่อเก็บใบหน้าของผู้มาเยือนทีละคน พร้อมถามคำถามเดิมซ้ำๆ เพื่อให้พวกเราพูดใส่กล้องและเดินเข้ามาประชิดตัวมากขึ้นๆ

ฉันเข้าใจว่านี่เป็นแนวปฏิบัติที่ทำกันในพื้นที่นี้ที่มีความเปราะบางและหวาดระแวงหลายด้าน แต่การกระทำเพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้เรารู้สึกอึดอัดได้ ฉันนึกไม่ออกว่าคนที่นี่รับมืออย่างไรกับการเจอเจ้าหน้าที่ทุกหนแห่ง ในตลาด ตามสี่แยก ตรงทางเข้าบ้าน หรือกระทั่งบุกเข้ามาในบ้านของคุณเอง แน่นอนทั้งหมดนี้กระทำตรงข้ามกับคำว่าเป็นมิตร

วันเดียวกันนั้น คนในพื้นที่พาพวกเราไป ‘แคมป์ปิ้ง’ ที่ชายทะเลในเขตอำเภอตากใบ ในแคมป์มีการตั้งเต็นท์ ดริปกาแฟ ยิงธนู ฉายหนัง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมุสลิมหลากหลายวัย คุณสมบัติร่วมอย่างหนึ่งของคนที่มาแคมป์ปิ้งคือการเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ

ที่ผ่านมากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จะจัดกิจกรรมรำลึกในพื้นที่ นำโดยแยนะ สะแลแม แต่ในปีนี้แยนะล้มป่วย ครอบครัวผู้สูญเสียจึงทำได้แค่มารวมตัวกันแคมป์ปิ้งและเข้าร่วมฟังเสวนาวิชาการที่ภาคประชาสังคมจัด

ฉันไปนั่งร่วมวงกับผู้หญิงที่นั่งจับกลุ่มพูดคุยอยู่ริมทะเล ทุกคนบอกว่าพร้อมจะเล่าถึงเหตุการณ์ให้ฟัง ในวงนั้นมีผู้หญิงนับสิบคนในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กสาวจนถึงหญิงชรา เป็นเพราะในวันเกิดเหตุมีการแยกผู้หญิงออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วปล่อยกลับบ้าน ส่วนผู้ชายล้วนถูกควบคุมตัวจนเสียชีวิตจำนวนมาก ผู้หญิงทุกคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าฉันจึงเป็นภรรยา แม่ ลูกสาว พี่สาว น้องสาว หลานสาวของผู้เสียชีวิต

ฉันเริ่มคำถามแรกว่ามีใครบ้างที่สูญเสียคนในครอบครัวไปในเหตุการณ์นั้น

ทุกคนมองหน้ากันก่อนตอบ “ทุกคนค่ะ” และบอกว่าที่มารวมตัวกันนี้ต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์

ผู้หญิงแต่ละคนในวงค่อยๆ เล่าเรื่องของตัวเองเป็นภาษามลายู โดยมีหญิงสาวอายุน้อยช่วยทำหน้าที่ล่ามแปลให้ฉันฟัง แม้เวลาผ่านมาแล้วถึง 19 ปี แต่ความรู้สึกของพวกเธอยังสดใหม่ ความเสียใจในการสูญเสียนั้นไม่เคยลดน้อยลง บางคนเพียงแค่ย้อนนึกถึงก็ไม่สามารถพูดอะไรต่อได้ เช่นแม่เฒ่าร่างใหญ่ในชุดอาบายะห์และฮิญาบสีดำ หลังแกงองุ้ม แววตาขุ่นมัว แม่เฒ่าพูดภาษามลายูออกมาไม่กี่คำแทบไม่เป็นประโยคแล้วซุกหน้ากับชายฮิญาบเพื่อซ่อนน้ำตา หญิงสาวข้างๆ ลูบหลังปลอบใจ ยื่นกระดาษให้ซับน้ำตา มีเพียงเท่านี้ที่พวกเธอทำให้กันได้

ฉันบอกแม่เฒ่าว่าไม่เป็นไร หากมันเจ็บปวดเกินไป แต่ไม่นานหลังจากนั้น ระหว่างที่ฉันคุยกับผู้หญิงคนอื่นๆ แม่เฒ่าก็ยื่นหน้าเข้ามาใกล้พร้อมพูดภาษาไทยกระท่อนกระแท่น

“สามคน”

เป็นคำสั้นๆ ที่หญิงแก่พอจะพูดได้อย่างยากลำบากพร้อมน้ำตาอาบแก้มเหี่ยวย่น หญิงในฮิญาบสีชมพูที่นั่งข้างแม่เฒ่าสบตาฉันแล้วอธิบาย “บ้านแกเสียไปสามคน สามีกับลูกชายสองคน แล้วยังมีลูกชายอีกหนึ่งคนบาดเจ็บจนตอนนี้ขาลีบทำงานไม่ได้”

วันนั้นลมทะเลพัดเย็นสบาย แต่ขอบตาฉันร้อนผ่าว พูดไม่ออก ถ้าเป็นนักสัมภาษณ์ที่ดีคงไม่ปล่อยให้ความเงียบเข้ายึดครองยาวนานขนาดนี้ แต่ครั้งนี้ฉันทำไม่ได้

แม่เฒ่าเล่าว่าหลังจากที่สามีและลูกแกตายไปสามคน แม่เฒ่ากลัวจนไม่กล้าอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่บุกไปที่บ้านหลายครั้ง เมื่อไม่เจอเจ้าของบ้านก็พังแม่กุญแจเข้าไปเพื่อตามหาลูกชายอีกคนที่รอดชีวิต

“ลูกตายก็เสียใจแล้ว เจ้าหน้าที่ยังมาทำแบบนี้อีก”

ตามปกติหากมีเหตุการณ์ที่ครอบครัวหนึ่งถูกฆ่าตายสามคนพร้อมกัน เราคงเรียกมันว่าอาชญากรรมที่โหดเหี้ยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่เฒ่านั้น เจ้าหน้าที่เรียกมันว่า ‘ปฏิบัติการ’

4

วิธีการหนึ่งในการอยู่กับการสูญเสียที่เลวร้ายนี้ไปตลอดชีวิตคือการวางหัวใจไว้กับศาสนาและมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคือลิขิตจากพระเจ้า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีใครรับผิดชอบ หรือทำให้เรื่องนี้เงียบลงราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

“เมื่อก่อนเรากลัวที่จะพูดเรื่องนี้ สามีเราก็กลัวจนไม่มางานรำลึก เจ้าหน้าที่เขาจับตาว่าจะเกิดการชุมนุมอีก เขาไม่อยากให้พูด ทหารกลัวว่าคนที่เสียลูกเสียสามีจะแก้แค้น แต่เราไม่คิดอย่างนั้น เราเชื่อในอัลลอฮ์

“ตอนนี้เราไม่กลัวแล้ว คิดว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเรา ลูกจะรอเราอยู่ในสุสาน”

คือคำบอกเล่าของ ฟา ระหว่างคุยกับฉันที่ริมทะเล เธอเสียลูกชายไปในเหตุการณ์ตากใบ ตอนนั้นลูกชายของเธอถูกเรียกไปเกณฑ์ทหารและกำลังรอเรียกตัวเข้ากรม แต่ก็มาตายเสียก่อน

หลังเหตุการณ์ฟาได้ค่าทำศพมาหนึ่งหมื่นบาท พร้อมมีทหารมาแวะเวียนที่บ้านเป็นระยะ ทั้งที่ไม่เคยมีใครมาตรวจที่บ้านเธอมาก่อน พวกเขาบอกเธอและสามีว่าแค่มาเยี่ยมและพูดคุยเฉยๆ โดยไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ลูกเธอเสียชีวิตเลย

ฟาไม่สามารถลืมทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นได้เลย คำพูดสุดท้ายที่ได้ยิน ภาพศพลูกชาย อาหารงานศพที่ทำมาจากข้าวที่ลูกชายปลูกเอง ภาพที่ลูกคนรองเป็นลมล้มลงเมื่อรู้ว่าพี่ชายตาย

“อยากให้มีความยุติธรรม ที่ผ่านมาภาครัฐไม่สนใจเลย ถ้าเราสามารถพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยได้คงดีกว่านี้ เราจะได้ระบาย ที่ผ่านมาคดีไม่เดินเลย แต่เราเป็นคนธรรมดา ทำอะไรเขาไม่ได้หรอก ลูกๆ ของเรากลัวมาก คนที่บ้านไม่มีใครอยากให้เรามาร่วมงานรำลึก แต่เราต้องมา”

ฉันถามว่าการมีทหารอยู่ในพื้นที่ส่งผลอย่างไรบ้าง เธอตอบอย่างไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่พูดได้ “…เอาจริงๆ ก็ไม่อยากให้มีทหารในพื้นที่ จะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก มีด่านเต็มไปหมด แล้วการมีทหารก็ใช่ว่าจะทำให้สงบ ยังมีระเบิดอยู่เรื่อย”

ฟา

ความกลัวถูกสร้างให้แทรกซึมอยู่ในชีวิตคนชายแดนใต้ ยิ่งสำหรับครอบครัวผู้สูญเสียยิ่งถูกจับตาเป็นพิเศษ สำหรับรีนที่สูญเสียพ่อไปในเหตุการณ์ตากใบตั้งแต่เธอยังอยู่ชั้นประถม เธอบอกว่าแม้ตัวเธอจะมีความกล้าที่จะพูด แต่เธอกลัวผลกระทบที่อาจเกิดกับคนในครอบครัว

“เรากล้านะ แต่กลัวว่าพูดเรื่องนี้แล้วเจ้าหน้าที่จะไปทำร้ายคนในครอบครัว เราเป็นผู้สูญเสีย เราอยากได้ความยุติธรรม อยากพูดให้ทุกคนเข้าใจว่าความรู้สึกของคนที่สูญเสียเป็นอย่างไร พ่อเราไม่ได้ตายเพราะอุบัติเหตุ แต่เป็นความจงใจ

“เราอยากหาคำตอบว่า 19 ปีทำไมคดีไม่คืบหน้า ทั้งที่ชีวิตคนเสียไปหลายชีวิต อยากให้มีความยุติธรรมกับคนมุสลิมมากกว่านี้ คนที่นับถือศาสนาอิสลามก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน”

รีนมองว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของมลายู การเข้ามาในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จึงไม่สร้างความเชื่อมั่น แต่เป็นการสร้างความหวาดกลัว

“อยากให้มีความยุติธรรมกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้ อยากให้ทุกคนรู้ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและยังไม่มีความยุติธรรม” รีนบอก

รีน

5

ก่อนกลับกรุงเทพฯ พวกเราไปเยี่ยม แยนะ สะแลแม ที่บ้านของเธอในตำบลไพรวัน บ้านชั้นเดียวกลางสวนเงาะและลองกองร่มรื่น ในบ้านเป็นลานโล่งมีเตียงผู้ป่วยตั้งอยู่ข้างเปลเด็กทารกซึ่งเป็นหลานของแยนะ บนเสื่อที่ถูกปูต้อนรับผู้มาเยือนเต็มไปด้วยภาพของแยนะในโอกาสสำคัญต่างๆ ทั้งให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ ไปรับรางวัลที่ต่างประเทศในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ลูกชายของแยนะเคยถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ตากใบในข้อหาแกนนำการชุมนุม เมื่อต้องขึ้นศาลบ่อยเข้าก็มีชาวบ้านผู้สูญเสียมาขอความช่วยเหลือ แยนะจึงรับหน้าที่ช่วยประสานงานและสื่อสารกับสื่อและองค์กรภาครัฐตลอดมา รวมถึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานรำลึกแต่ละปี

เมื่อช่วงต้นปีนี้แยนะล้มป่วยจนเป็นอัมพาตครึ่งซีก แม้ขยับร่างกายและพูดได้ไม่ถนัด แต่แววตาของเธอยังแจ่มใสและพยายามพูดคุยกับผู้มาเยือน

แยนะ สะแลแม

เมื่อก่อนนี้แยนะพูดแต่ภาษามลายูเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ แต่พอต้องติดต่อเรื่องคดีตากใบทำให้เธอค่อยๆ ฝึกภาษาไทยจนคล่องและกลายเป็นตัวแทนชาวบ้านในการออกหน้าพูดคุยกับองค์กรอื่น แต่ที่สุดแล้วอุปสรรคไม่ใช่เรื่องภาษา แต่เป็นเรื่องความเข้าใจ โดยเฉพาะการพูดคุยกับภาครัฐที่แยนะบอกว่ายากที่สุด

“ยากสุดคือคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถ้าเราไม่ลดละความพยายามก็จะหาทางแก้ไขได้ รัฐเข้าใจที่เราพูด แต่เขาต้องการให้เราทำตามที่เขาต้องการ ซึ่งเราก็ทำไม่ได้ รัฐต้องการให้เราทำใจยอมรับความตายในเหตุตากใบ เราทำไม่ได้หรอก มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำใจยอมรับได้ ดังนั้นเราต้องพยายาม ถ้าวันนี้ยังไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องทำให้ได้ ความพยายามเราไม่สูญเปล่า”

แยนะบอกว่า ช่วงแรกที่เธอออกมาพูดก็ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ แต่ตอนหลังทหารไม่กล้าทำอะไรเธอแล้ว เคยมีทหารจะเข้ามาจับตัวเธอ แต่หัวหน้าที่มาด้วยกันช่วยห้ามไว้ ทุกวันนี้ทหารก็ปฏิบัติต่อเธอดี บางครั้งเมื่อมีเหตุระเบิดในพื้นที่ทหารก็จะยกกันมาหาเธอที่บ้านเพื่อเช็กข่าว หลายครั้งทำให้ตกใจ แต่เธอไม่กลัว

ชีวิตที่ผ่านมาหลายปีของเธอวนเวียนอยู่กับการพูดเรื่องเหตุการณ์ตากใบ มาจนถึงวันนี้คนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเริ่มให้ความสนใจและต้องการร่วมเรียกร้องความยุติธรรม แยนะบอกว่าเธอดีใจที่มีเด็กๆ มาสนใจเรื่องนี้และเข้าใจพวกเธอ

“เด็กๆ เขาเข้าใจพวกเราแค่นี้ก็ดีแล้ว ส่วนเรื่องคดีถ้าเอามาทำใหม่ก็ดี ไม่ใช่ว่าชาวบ้านเขาไม่เอาเรื่องคดีแล้วนะ แต่เขากลัว ชาวบ้านที่สูญเสียจะอุ่นใจถ้ามีเรา พอไม่มีเรา เขาก็ไม่รู้จะไปต่อยังไง ไม่รู้จะทำยังไง จะสู้ยังไง เพราะทุกคนกลัว”

เมื่อถามถึงการหมดอายุความคดีในปี 2567 แยนะตอบ “ไม่รู้ปีหน้าเราจะมีชีวิตอยู่ไหม แต่ฝากคนอื่นไว้แล้ว ให้ทุกคนทำต่อ” อีกเรื่องที่แยนะต้องการฝากคนรอบข้างให้ค้นหาความยุติธรรมคือเหตุการณ์ที่สามีของเธอถูกยิงเสียชีวิตที่ปากทางเข้าบ้านเมื่อปี 2550

ส่วนปลายทางที่อยากเห็นของคดีตากใบ แยนะบอกว่าเธอพูดแทนคนอื่นไม่ได้ “เราตอบถึงทางออกไม่ได้ เพราะพูดแทนคนที่สูญเสียไม่ได้ว่าที่จริงเขาต้องการอะไร ยังมีคนที่เขาสูญเสียจนต้องสู้กลับ รัฐก็ควรพูดคุยกับเขา เราอยากให้เรื่องกระบวนการยุติธรรมได้รับการสานต่อ เราพูดแทนคนที่เสียสามีหรือลูกไม่ได้หรอก มันติดอยู่ในใจเขาตลอดมา”

ถามว่าภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ที่แยนะอยากเห็นคือแบบไหน เธอตอบอย่างไม่แน่ใจนัก

“เราอยากให้สามจังหวัดเป็นเหมือนเดิม …แต่ในอดีตก็มีความอยุติธรรมไม่ต่างกัน เลยไม่รู้ว่าสามจังหวัดที่ฝันเห็นมันจะเป็นแบบไหน”

แยนะบอกให้ลูกสาวยกลองกองสดๆ จากสวนมาให้แขกชิม ผลไม้ที่ถูกเตรียมใส่ตะกร้าไว้ถูกยกมาวาง แยนะยกหัวขึ้นจากเตียงเล็กน้อย “ปีนี้มีแค่นี้ เดี๋ยวมาปีหน้าจะเยอะกว่านี้นะ” เธอพูดพร้อมรอยยิ้ม

ฉันไม่รู้ว่าปีหน้าลองกองในสวนแยนะจะออกผลมากกว่านี้ไหม เหมือนกับที่ไม่รู้ว่าในปีหน้าที่คดีตากใบจะหมดอายุความจะเกิดปาฏิหาริย์หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร ไม่ว่าปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป ผู้คนในสังคมไทยจำเป็นต้องวนเวียนมาชิมผลไม้ที่สวนแถวนี้ นั่งลงพูดคุยกับผู้คนที่นี่ ฟังเรื่องเล่าของพวกเขา เข้าใจความเจ็บปวดที่พวกเขาเผชิญ เพื่อไม่ให้ตากใบกลายเป็นความลับ ไม่ให้เครื่องจักรแห่งความกลัวทำงานสำเร็จ ไม่ให้คนตากใบต้องร้องไห้ในความเงียบเพียงลำพังอีกต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save