fbpx

มองสวัสดิการรัฐผ่านบทเพลง :  ‘เพื่อชีวิตกู’ (2565) วงไททศมิตร เพราะเกิดมาจน จะเจ็บจะเหนื่อยก็ต้องทน?

“ร้องบรรเลง ขีดเขียนบทเพลง หล่อเลี้ยงตัวเอง” ท่อนแรกในบทเพลง ‘เพื่อชีวิตกู’ จากวงไททศมิตร พูดถึงชีวิตนักดนตรีกลางคืนที่ฝันว่าสักวันหนึ่งบทเพลงที่เขาแต่งจะมีคนฟังจำนวนมาก และทำให้เขาโด่งดังและมีเงินมากพอมาดูแลคนในครอบครัว เนื้อหาในเพลงขับเคลื่อนด้วยตัวละครหลักคือ ‘กู’ เพียงคนเดียว แต่ทว่าเรื่องราวของ ‘กู’ กลับสะท้อนภาพชีวิตผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้

เพราะเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิต และชีวิตเราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการอย่างเลี่ยงไม่ได้ บทความชิ้นนี้ จึงชวนมองประเด็นสวัสดิการรัฐจากบทเพลง เพราะเรื่องราวของ ‘กู’ นั้นสะท้อนปัญหาสังคมที่เชื่อมโยงกับระบบสวัสดิการของประเทศไทยในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงานเสี่ยง ปัญหาผู้สูงอายุ  รวมไปถึงความยากจนเรื้อรัง 

ไปติดตามพร้อมกันว่าเรื่องราวของ ‘กู’ จะเป็นอย่างไร พบเจออุปสรรคในชีวิตอะไรบ้าง?  และหากเราเจอปัญหาเหล่านั้นบ้าง จะมีหนทางแก้ปัญหาได้หรือไม่?


1. สร้างความสุข แต่ต้องมีความเสี่ยง

“ในเวลากลางคืน ต้องร้องตะโกน ใต้แสงของหลอดไฟ

คนบางคนก็มอง คนบางคนก็ฟัง แต่บางคนไม่เข้าใจ

ไม่เป็นไร ทำต่อไป…ปลอบใจตัวเอง

ไม่เป็นไร หลับตาแล้วลอง ก้มหน้าไปกับเพลง เพลงที่กำลังร้อง


ท่อนแรกของบทเพลงเล่าให้เราฟังว่า ในช่วงเวลากลางคืนตัวละคร ‘กู’ ประกอบอาชีพนักดนตรีที่พยายามแต่งเพลงและเล่นแสดงสดให้คนดู แม้จะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนัก แต่เขาก็ปลอบใจตนเองและพยายามทำต่อไป 

แน่นอนว่าการทำตามความฝันของนักดนตรี เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ต้องเจออุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคลที่แต่ละคนต้องหาหนทางแก้ปัญหากันต่อไป  

แต่ถ้าหากมองในบริบททางสังคม อาชีพของ ‘กู’ มีปัญหาที่ใหญ่มากกว่านั้น

อาชีพนักดนตรีกลางคืนถือเป็นกลุ่มแรงงานเสี่ยง (precariat) ที่มาจากคำสองคำ คือ precarious (เปราะบาง) และ proletariat (ผู้ใช้แรงงาน) รวมกันเป็น แรงงานผู้แบกรับความเสี่ยง เริ่มใช้โดยนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ Guy Standing ในปีค.ศ. 2010

นิยามของแรงงานเสี่ยง คือ กลุ่มคนที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม มีชั่วโมงการทำงานที่ไม่แน่นอน ไม่มีสัญญาการทำงานที่ชัดเจน แถมยังไม่มีอำนาจต่อรอง จะส่งเสียงแสดงความคิดเห็นเรื่องงานก็ทำไม่ได้มาก เพราะต้องพึ่งพาการจ้างงานจากนายจ้าง 

แรงงานเสี่ยงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามแนวทางในหนังสือ General Theory of the Precariat: Great Recession, Revolution, Reaction โดย Alex Foti ได้แก่ 

1.กลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ (creative class) เช่น ศิลปิน,นักเขียน,นักวาด,นักดนตรี 

2.กลุ่มแรงงานกลุ่มใหม่ (new working class) เช่น แรงงานทักษะต่ำ,คนงานก่อสร้าง,คนทำงานภาคการผลิต

3. กลุ่มแรงงานรับจ้าง (service class) เช่น บริกร,เเคชเชียร์,แม่บ้าน

4.กลุ่มคนไม่มีงาน (unemployed class) เช่น ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แรงงานต่างชาติ ผู้ลี้ภัย ฯลฯ

สำหรับชีวิตนักดนตรีกลางคืนที่ ‘กู’ ทำมาหากินอยู่นั้น ตรงกับกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ที่มีชีวิตการทำงานไม่มั่นคง

“อาชีพนักดนตรีกลางคืนไม่มีสัญญาจ้าง ด้วยความที่เป็นดนตรี คนทั่วไปก็จะมองว่าเป็นงานศิลปะ คนสร้างคือศิลปิน มองแบบนั้นถูกครึ่งเดียว แต่ไม่จริงทั้งหมด นักดนตรีในความเป็นจริงก็เป็นแรงงานกลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างไปจากแรงงานในโรงงาน ต่างแค่สถานที่” เสียงจากฮามีร อ่อนทอง นักดนตรีกลางคืนให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความ ‘บางเสียงของ ‘แรงงาน’ ที่ไม่ถูกได้ยิน’ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของอาชีพที่มีแต่ความไม่แน่นอน บางคนถูกยกเลิกงานกลางคัน โดยไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะไม่มีสัญญาการทำงานที่ชัดเจน แถมกฎหมายแรงงานก็ไม่คุ้มครอง ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวไปเล่นดนตรี อีกทั้งเมื่อพวกเขาเจอกับวิกฤติที่ไม่คาดคิดอย่างการระบาดของโควิด-19 ชีวิตของพวกเขาต้องเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นไปอีก

“คิดว่าการเป็นนักดนตรีเพียงอย่างเดียวมันไม่พอ การเกิดโควิดทำให้เห็นว่าการประกอบอาชีพเดียวเราก็อาจจะแย่ได้ในประเทศนี้ เพราะสวัสดิการมันไม่ได้ครอบคลุมทุกคน เวลาไม่มีใครมาช่วยเหลือเราทำอะไรไม่ได้เลย เลี้ยงตัวเองก็ไม่ได้” เสียงจากนักดนตรีวัย 28 ปีให้สัมภาษณ์ในงานวิจัย ‘ผลกระทบ และการปรับตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในกลุ่มอาชีพนักดนตรี’ ทำให้ทราบว่าในภาวะวิกฤติอาชีพนักดนตรีกลางคืนไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐที่มากพอ จนต้องหาอาชีพอื่นรองรับ

“ตอนนี้มีอาชีพที่สองเป็นงานช่างภาพ ทำให้มีรายได้เข้ามาช่วยเหลือในช่วงโควิด 19 และเพื่อน ๆ ที่เล่นดนตรีด้วยกัน ก็เริ่มมองหาอาชีพที่สองกันบ้างแล้ว ไม่งั้นจะไม่มีเงินมาใช้จ่าย ตอนนี้งานไหน ที่ทำแล้วมีรายได้ก็ทำไปก่อน เช่น ขับเดลิเวอรี่ส่งของส่งอาหาร” เสียงจาก กัน(นามสมมติ) นักดนตรีอายุ 26 ปี

เมื่อปัญหาของนักดนตรีมีมากกว่าแค่การทำตามฝัน แต่ยังมีปัญหาระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ เรามาสำรวจกันว่า ในปัจจุบันพวกเขาได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบ้าง?

อาชีพนักดนตรีอย่าง ‘กู’ และเพื่อน ถือเป็นกลุ่มแรงงานเสี่ยงหรือแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองทางสังคมเหมือนกับแรงงานในระบบ และอย่างที่กล่าวไปแล้ว พวกเขามีความเสี่ยงจากปัญหาการตกงานมากที่สุด

เพราะ หากดูภาพรวมของแรงงานในประเทศไทยแล้ว นอกจากจำนวนข้าราชการกว่า 1.6 ล้านคนที่มีความมั่นคงจากการจ้างงานและสวัสดิการค่ารักษาของตนเองและครอบครัวแล้ว แรงงานในระบบประมาณ 19 ล้านคนก็ยังมีความมั่นคงจากการมีสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับเงินประกันการว่างงาน และสิทธิค่ารักษาพยาบาลจากการร่วมจ่ายของนายจ้าง รัฐบาลและลูกจ้าง แต่กับแรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 20 ล้านคน พวกเขาต้องเจอความเสี่ยงจากรายได้ที่ไม่แน่นอน 

หากต้องการหลักประกันให้ชีวิต พวกเขาทำได้แค่เข้าร่วมประกันสังคมแบบสมัครใจหรือมาตรา 40 มี  3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ คือเดือนละ 70 บาท 100 บาท และ 300 บาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 5 กรณี คือ 1.ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2.ทุพพลภาพ 3.เสียชีวิต 4.ชราภาพ และ 5.สงเคราะห์บุตร  ซึ่งแต่ละทางเลือกจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่ากัน ยิ่งจ่ายมากก็ได้รับสิทธิมาก แต่ก็เป็นไปได้ยากเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน แถมยังไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตอนว่างงานเหมือนกับแรงงานในระบบ

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับแรงงานเสี่ยงที่อยากได้รับเงินบำนาญ คือการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานเสี่ยงสามารถส่งเงินสมทบ เริ่มต้น 50 บาทต่อครั้ง โดยใน 1 เดือน สามารถส่งเงินออมได้ 1 ครั้ง และส่งเงินออมทั้งปีรวมไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งรัฐบาลจะช่วยส่งเงินสมทบเพิ่มให้ตามเกณฑ์ที่กำหนด คล้ายกับระบบประกันสังคม แต่ในปัจจุบันมีสมาชิกที่เข้าร่วมเพียง 2 ล้านกว่าคนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามีแรงงานเสี่ยงจำนวนมากที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารหรือมีรายได้ที่ไม่เพียงพอในการส่งเงินสมทบ

สำหรับสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาล ยังโชคดีอยู่บ้างที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ที่สามารถใช้สิทธิที่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียน เบิกยารักษาได้ตามบัญชีที่กำหนดไว้ หากมีส่วนต่างก็ต้องจ่ายเพิ่มเอง แต่ทว่าคนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากยังต้องแบกรับภาระค่าเดินทางไปหาหมอจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล บางครั้งเสียค่าเดินทางมากกว่าค่ารักษาเสียอีก ยิ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอนแล้ว การไปหาหมอแค่หนึ่งวันเท่ากับว่าพวกเขาต้องเสียโอกาสในการหารายได้ รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากจำนวนบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มักจะอยู่ในกรุงเทพและจังหวัดใหญ่มากกว่าจังหวัดที่ห่างไกล

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า ชีวิตนักดนตรีกลางคืน มีเบื้องหน้า คือ การสร้างความสุขให้คนดู แต่เบื้องหลังมีความเสี่ยงในชีวิตมากมาย ทั้งเสี่ยงตกงาน เจ็บป่วย ขาดรายได้ ซึ่งในท่อนแรกของบทเพลงเป็นเพียงแค่ชีวิตในตอนกลางคืนของ ‘กู’ เท่านั้น ท่อนต่อไปเราจะตามไปดูชีวิตของเขาในช่วงเวลากลางวันกันบ้าง


2. เดอะแบก ผู้แบกรับความเสี่ยงของครอบครัว

“ในเวลากลางวัน ที่ฉันนั้นพยายาม ตอบคำถามซ้ำ ๆ

ว่าในการกระทำ ที่ซึ่งหากฉันไม่ทำ ใครเล่าจะดูแลแม่กับยาย

/ เผื่อจะมีสตางค์ที่มากพอ จ่ายค่าหมอค่ายาให้ยาย

จะเจ็บก็ต้องร้อง จะเหนื่อยก็ต้องร้อง ยังไงก็ต้องร้อง”

ในเวลากลางวัน ‘กู’ ต้องใช้เวลาดูแลคนสำคัญในครอบครัวที่เขารักอย่างแม่และยาย – ความรัก คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากจะโด่งดัง เพื่อที่จะมีเงินมากพอในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้สูงอายุในบ้าน

เรื่องราวข้างต้น ไม่ใช่แค่ปัญหาของ ‘กู’ เพียงคนเดียว แต่รวมถึงใครหลายคนในสังคมไทยปัจจุบัน

ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ตามหลักเกณฑ์ของสหประชาชาติ หมายถึง ประเทศที่มีประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสถิติข้อมูลในปี 2565 พบว่า ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นมากถึง 19.21% 

เมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นก็ย่อมส่งผลต่อชีวิตคนทำงานอย่าง ‘กู’ เนื่องจากวัยชราเป็นวัยที่ขาดรายได้ที่เคยได้รับ ทำให้ต้องพึ่งพิงรายได้จากคนวัยทำงาน ซึ่งหากดูสถิติอัตราการพึ่งพิงในวัยสูงอายุ (Old-age dependency ratio) ที่คิดจากจำนวนประชากรสูงอายุเทียบกับประชากรวัยทำงานของประเทศไทย  พบว่าในปี 2564 อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน คือ 30.5 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ซึ่งในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตราการเกิดที่ลดลงแบบนี้แล้ว ทำให้สภาพัฒน์ ฯ คาดการณ์ว่าในปี 2583 อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นถึง 56.2 ต่อแรงงาน 100 คน

คำถามคือ ทำไมคนชราต้องพึ่งพารายได้จากคนทำงาน ? – เพราะสวัสดิการของผู้สูงอายุในไทย สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

กลุ่มที่ 1 ข้าราชการที่ได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต (เงินเดือนสุดท้าย x จำนวนปีที่รับราชการ)

กลุ่มที่ 2 แรงงานในระบบประกันสังคม สามารถรับเงินบำนาญได้เช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จ่ายเงินสมทบ และ

กลุ่มที่ 3 ประชาชนที่ไม่ได้อยู่สองกลุ่มแรก จำนวน 40 กว่าล้านคน รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยจัดสรรให้ผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 600-1,000 บาท 

เห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือกลุ่มที่ 3 ได้รับเงินสวัสดิการที่น้อยกว่าอัตรา ‘เส้นความยากจน’ ของไทยในปี 2565 คือได้รับรายได้ต่ำกว่า 2,997 บาทต่อคนต่อเดือนเสียอีก นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่มีรายได้ที่มากพอในการดำรงชีวิตและต้องพึ่งพาเงินจากลูกหลาน

“ไม่เป็นไร ทำต่อไป…ฉันขอกำลังใจ” เนื้อเพลงที่สะท้อนถึงความเหนื่อยล้าที่ ‘กู’ ต้องแบกรับไว้มากมายทั้งตัวเองและครอบครัว เพราะในสังคมไทย ใคร ๆ ก็อยากจะดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด แต่ในปัจจุบันการจะทำหน้าที่นั้นให้ดีนั้นคงใช้ใจอย่างเดียวไม่ได้ 

สภาพัฒน์ฯ คำนวณค่าใช้จ่ายที่วัยแรงงานต้องหาเงินมาใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ในกรณีที่มีอายุถึง 90 ปี จะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3.1 ล้านบาท ดูแลคนอื่นแล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลตนเอง หากตั้งเป้าหมายว่าจะมีอายุอยู่ถึง 90 ปี จะต้องมีเงินออมในช่วงเกษียณอายุที่ 60 ปี ประมาณ 3.1 ล้านบาทเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอ หากมีลูก จะต้องใช้จ่ายเงินในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นอายุที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงาน โดยใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 1.5  ล้านบาท

รวมทั้งหมดแล้ว นักดนตรีอย่าง ‘กู’ และเพื่อนแรงงานคนอื่น หากต้องดูแลตัวเอง มีลูก และคนชราในครอบครัว จำเป็นต้องเตรียมเงินออมไว้ประมาณ 7.7 ล้านบาท

“จะเจ็บก็ต้องร้อง จะเหนื่อยก็ต้องร้อง ยังไงก็ต้องร้อง” เนื้อเพลงที่อธิบายความรู้สึกของ ‘กู’ และเพื่อนแรงงานไทยจำนวนมากได้อย่างชัดเจน ทั้งปัญหาเรื่องงานและการดูแลคนในครอบครัว ที่เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องอดทนสู้ เนื้อเพลงท่อนต่อไป จะชวนสำรวจถึงสาเหตุหลักของปัญหาในชีวิตพวกเขา


3. เกิดมาจน ก็ต้องจนต่อไป 


“รู้ทั้งรู้ว่าจน รู้ทั้งรู้ว่าคน เขาไม่ค่อยจะยอมรับ

รู้เพราะรู้จึงทำ รักเพราะรักจึงรอ ฝันนั้นยังอีกไกลนัก”

หากจะกล่าวว่า ความจน คือ สาเหตุหลักของปัญหาในชีวิต ‘กู’ ก็คงจะไม่ผิด เพราะนับตั้งแต่เรื่องชีวิตแรงงานเสี่ยงที่มีสวัสดิการไม่เพียงพอ หรือการที่ต้องอดทนทำงานหนักเพื่อดูแลครอบครัว ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินแทบทั้งสิ้น

มองในภาพกว้างระดับประเทศ จาก ‘รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565’ จากสภาพัฒน์ฯ มีจำนวนคนจนในประเทศไทยทั้งสิ้น 3.80 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.43 ของประชาชนทั้งหมด ซึ่งหากดูในระดับครัวเรือนแล้ว พบว่า ครัวเรือนที่มีอัตราการพึ่งพิงสูง (มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุในบ้าน) จะมีความยากจนมากกว่ากว่าครัวเรือนที่ไม่มี ซึ่งชีวิตครอบครัวของ ‘กู’ ในเนื้อเพลงนั้นเข้าข่ายที่จะเป็นคนยากจนในประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อเราย้อนดูสาเหตุของความยากจน มีคนจำนวนไม่น้อยมองความยากจนเป็นเรื่องความขี้เกียจส่วนบุคคล หรือไม่ก็มองเป็นเรื่องโชคชะตาฟ้าดินหรือเวรกรรมในชาติก่อน แต่ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์           ซึ่งมีสถิติตัวเลขที่ผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบ พบสาเหตุสำคัญของความยากจนคือ ฐานะเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อแม่

มีคนจำนวนไม่น้อยติดอยู่ในกับดักของความยากจนตั้งแต่เกิด ข้อมูลจาก ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) พบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีแนวโน้มเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นในประเทศไทย มีจำนวนมากถึง 597,428 ครัวเรือน โดยส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย อัตราการพึ่งพิงสูง ไม่มีเงินออม โดยสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวส่งต่อความจนจากพ่อแม่สู่รุ่นลูก คือ รายได้ครัวเรือน การเข้าถึงการศึกษา สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคม ฯลฯ

ตัวอย่างที่ชัดเจนมาจากงานวิจัยของ ผศ.อลิสา หะสาเมาะ ที่ศึกษาภาวะความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงในพื้นที่ชุมชนประมงขนาดเล็กในจังหวัดปัตตานี พบว่า ผู้หญิงรุ่นแม่ในชุมชนประมงมักป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจากการทำงานหนัก ส่วนรุ่นลูกเข้าถึงการศึกษาน้อยเหมือนกับรุ่นพ่อแม่ แถมยังต้องดูแลแม่ที่ป่วย ผนวกกับระบบการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เข้าไม่ถึงในชุมชนห่างไกล ส่งผลให้เกิดวงเวียนความยากจนข้ามรุ่นไม่รู้จบ

เช่นเดียวกับงานวิจัยของ ผศ.ฐานิดา บุญวรรโณ ที่ลงทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยาใน 10 ครัวเรือนในจังหวัดพิษณุโลก พบว่า ลักษณะของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ การขาดเงินออม มีอัตราการพึ่งพิงกันในครัวเรือนสูงและการศึกษาต่ำ โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่า อัตราการเข้าถึงการศึกษาสัมพันธ์กับความยากจนอย่างชัดเจน

ข้อมูลพบว่า สัดส่วนคนระดับรายได้ 20% ล่าง (น้อยที่สุดในประเทศ) ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 1.2% และ มีสถานะการทำงานที่มั่นคง เช่น การเป็นนายจ้าง ข้าราชการ ฯลฯ เพียง 2% เท่านั้น ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า การเป็นคนยากจนนั้นส่วนหนึ่งมาจากการขาดโอกาสทางการศึกษา คล้ายกับชีวิตของ ‘กู’ ในเนื้อเพลง “ไม่ได้ร่ำได้เรียน แต่มีความฝัน จะโด่งจะดัง”

หากไปดูสวัสดิการคนจนอย่าง ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘บัตรคนจน’ ซึ่งเป็นการให้เงินรายเดือนเพื่อช่วยเหลือค่าอุปโภคบริโภค เช่น ให้เงินช่วยเหลือค่าอุปโภคบริโภค 300 บาท/เดือน ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาท/คน ส่วนลดค่าเดินทาง ฯลฯ โดยผู้มีสิทธิได้รับต้องมีเกณฑ์รายได้ตามที่กำหนด พบว่ามีคนยากจนที่ตกหล่นจากการได้รับสิทธิถึง 2.7 ล้านคน รวมทั้งยังมีการรั่วไหลของสวัสดิการไปยังผู้ที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์อีกด้วย ทำให้ชีวิตคนจนในปัจจุบันยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเท่าที่ควร 

กล่าวโดยสรุป เรื่องราวชีวิตของ ‘กู’ ในบทเพลงนั้น สอดคล้องวิถีชีวิตของผู้คนในครัวเรือนยากจน และครัวเรือนชนชั้นกลางล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และหาก ‘กู’ ซึ่งเป็นดั่งเสาหลักของบ้านล้มป่วยหรือตกงาน และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้สูง เพราะเขาประกอบอาชีพนักดนตรีกลางคืนที่อยู่ในกลุ่มแรงงานเสี่ยง เมื่อนั้นคนอื่นๆ ในครัวเรือนจะได้รับผลกระทบ และทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในวงเวียนของความยากจนตลอดไป

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนอยู่ในบทเพลง ‘เพื่อชีวิตกู’ และเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยในปัจจุบัน หากเราและคนรอบข้างต้องเจอปัญหาแบบเดียวกัน เราจะหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?


4. รวมตัวอยู่ข้าง ๆ กัน ในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ

“ใครสักคนเข้าใจในตัวฉัน อยู่ข้าง ๆ กัน ในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ” เนื้อเพลงในท่อนสุดท้าย แสดงให้เห็นว่า ‘กู’ และเพื่อนแรงงานของเขา ล้วนต้องการกำลังใจและที่พักพิงในยามเหนื่อยล้า คนที่ติดตามปัญหาการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำย่อมทราบดีว่า แรงงานไทยจำนวนมากไม่ได้อ่อนแอหรือไม่ยอมสู้  แต่ความเหนื่อยล้าเกิดจากการทำงานอย่างหนัก แต่ไม่เคยพ้นจากความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมที่สะสมจนเกินที่คนๆ หนึ่งจะรับไหว แรงงานเสี่ยงบางคนต้องทำงานถึง 2-3 อาชีพ เพียงเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวอยู่รอด

แล้วจะทำอย่างไรให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น จำเป็นไหมที่คนจนจะต้องทนเหนื่อยและเจ็บอยู่อย่างเดียว?

คำตอบง่ายๆ ที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ การพัฒนานโยบายสวัสดิการรัฐเพื่อดูแลชีวิตประชาชน เช่น กองทุนประกันสังคมที่ครอบคลุมแรงงานทุกคนอย่างถ้วนหน้า ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาให้เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในทุกพื้นที่ จัดสรรบำนาญให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้าและมากพอในการดำรงชีวิต ฯลฯ

แต่ถ้ารัฐไม่ช่วย เราจะทำอย่างไร?

หากมองจากเรื่องราวชีวิตของ ‘กู’ อาชีพนักดนตรีกลางคืน ซึ่งนับเป็นแรงงานเสี่ยง ปัญหาอย่างแรกคือความไม่มั่นคงจากการจ้างงานและไม่มีสัญญาการทำงานรองรับ แถมสวัสดิการที่ได้รับก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงให้ชีวิต ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยประเทศเดียว ที่ประเทศอังกฤษก็มีนักดนตรีประสบปัญหาเดียวกับ ‘กู’ เช่นกัน

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ กลุ่มนักดนตรีอังกฤษรวมกันก่อตั้งสหภาพนักดนตรี โดยรวบรวมสมาชิกนักดนตรีกว่า 34,000 คน ให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน โดยใช้เงินจากสมาชิกร่วมกันจ่าย เช่น ตั้งกองทุนประกันภัยให้เงินช่วยเหลือหากเครื่องดนตรีเสียหาย ประกันด้านอุบัติเหตุ สุขภาพ ฯลฯ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายหากถูกเอาเปรียบ กองทุนให้เงินช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อน รวมไปถึงมีกองทุนบำนาญให้นักดนตรีในวัยเกษียณ

หน้าเว็บไซต์ https://musiciansunion.org.uk/

เรียกได้ว่า หาก ‘กู’ เกิดที่ประเทศอังกฤษและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เขาจะมีสวัสดิการรองรับในยามเดือดร้อน แถมยังช่วยลดภาระที่ต้องแบกรับในการดูแลครอบครัว

เมื่อมองภาพกว้างในระดับสังคม จะเห็นว่าปัญหาที่ ‘กู’ ต้องเจอล้วนเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการออกแบบระบบประกันสังคม และกฎหมายแรงงานที่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากการทำงานที่ไม่แน่นอน ซึ่งการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ไม่ได้มีประโยชน์แค่แก้ไขปัญหาในอาชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่ายังช่วยผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายหรือออกแบบนโยบายสวัสดิการที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อีกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กลุ่มประเทศนอร์ดิก นับว่าเป็นกลุ่มประเทศอันดับต้นของโลกที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานมากที่สุด (trade union density) ไม่ว่าจะเป็นประเทศเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ที่แรงงานในประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากกว่า 50% ซึ่งเป็นผลจากการต่อสู้เรียกร้องและวางโครงสร้างของสหภาพแรงงานให้แข็งแรงตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว เมื่อพวกเขารวมตัวกันได้มาก อำนาจต่อรองก็มากขึ้นตามไปด้วย

ในปีค.ศ. 1899  กลุ่มสหภาพแรงงานเดนมาร์กกดดันนายจ้างจนต้องยอมทำข้อตกลง ‘การประนีประนอมเดือนกันยายน’ (September compromise) ที่กำหนดให้นายจ้างต้องยอมรับสิทธิของแรงงานในการเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก คล้ายกับที่สวีเดนในปีค.ศ. 1905 แรงงานรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองกับนายจ้าง โดยหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง จนกดดันให้เกิดกฎหมายจากการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน (collective bargaining agreement) ระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้าง เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองทั้งเรื่องค่าแรง ชั่วโมงการทำงาน ฯลฯ มาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวกว่านั้น คือ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 2010 กลุ่มสหภาพแรงงานหลายแห่งและองค์กรไม่แสวงกำไร ร่วมกันทวงสัญญาจากรัฐบาลที่สัญญาว่าจะผลักดันการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมแห่งชาติให้ครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน ซึ่งการประกันสังคมแบบถ้วนหน้านอกจากจะเป็นหลักประกันคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพอีกด้วย

เมื่อคนส่วนใหญ่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ไม่มีท่าทีจากรัฐบาล พวกเขาจึงเริ่มเดินขบวนประท้วง เสนอนโยบาย สื่อสารรณรงค์ให้สังคมตื่นตัว ก่อตั้งคณะปฏิบัติการงานประกันสังคม (KAJS) และองค์กรภาคประชาชนทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบประกันสังคม รวมถึงฟ้องร้องรัฐบาลที่ไม่รักษาสัญญา แรงกดดันของประชาชนที่มีอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมแพ้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องยอมออกพระราชบัญญัติกฎหมายประกันสังคมที่ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 2011

จะเห็นได้ว่า หนทางแก้ไขปัญหาในชีวิตของ ‘กู’ และเพื่อนแรงงานทั้งหลาย ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ทางออกนั้นไม่ใช่นวัตกรรมแปลกใหม่หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์บนโลกนี้ไม่เคยทำมาก่อน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มานานหลายร้อยปี นั่นคือ ‘การรวมตัวกันสู้ของแรงงาน’ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันเองของประชาชน หรือส่งเสียงผลักดันให้รัฐออกแบบนโยบายสวัสดิการที่คำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนรวมอย่างแท้จริง เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันเองของประชาชน หรือส่งเสียงผลักดันให้รัฐออกแบบนโยบายสวัสดิการที่คำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนรวมอย่างแท้จริง

เมื่อ ‘กู’ และแรงงานอย่างเราสามารถรวมตัวกันส่งเสียง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเนื้อหาในบทเพลง ‘เพื่อชีวิตกู’ และปัญหาชีวิตแรงงานในบทความเรื่องนี้ คงเป็นแค่เรื่องราวในอดีตที่ไม่มีวันเกิดขึ้นอีกในอนาคต


อ้างอิง

  1. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565 โดยสํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  2. “ผลกระทบ และการปรับตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในกลุ่มอาชีพนักดนตรี” โดย ธิดาพร สันดี
  3. https://www.thaipost.net/public-relations-news/171652/
  4. https://www.bangkokbiznews.com/business/991610
  5. https://asialink.unimelb.edu.au/insights/thailand-risks-growing-old-and-poor
  6. https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/caring-for-thailand-s-aging-population
  7. https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2678730
  8. https://www.facebook.com/photo/?fbid=378696464514411&set=a.210980394619353
  9. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1073791
  10. https://theactive.net/data/data-across-generations-attacks/
  11. https://www.thaipbs.or.th/now/content/96
  12. https://decode.plus/20211215/
  13. สหภาพแรงงานในการเปลี่ยนแปลง เรื่องเล่าความสำเร็จ 6 กรณี โดย Mirko Herberg (บรรณาธิการ)
  14. https://nordics.info/show/artikel/trade-unions-in-the-nordic-region
  15. https://data.go.th/dataset/0704_01_0004
  16. https://www.the101.world/mistarget-welfare-card/
  17. https://welfare.mof.go.th/

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save