fbpx
หนึ่งฝันอันหลากหลาย: เปิดเบื้องหลังวิธีคิด วิธีทำงาน ของขบวนการนักศึกษา 4.0

หนึ่งฝันอันหลากหลาย: เปิดเบื้องหลังวิธีคิด วิธีทำงาน ของขบวนการนักศึกษา 4.0

กองบรรณาธิการ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และ Thai News Pix ภาพ

 

“ม็อบมีท่อน้ำเลี้ยง” “เผด็จการม็อบ”  “ม็อบมีเบื้องหลัง” “ต่างชาติแทรกแซงม็อบ” “ม็อบชังชาติ” “ม็อบล้มเจ้า”

สารพันคำด่าและข้อวิจารณ์จำนวนมากที่มีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษา และนักเรียน ดูราวกับหลุดมาจากยุคสงครามเย็น ทั้งที่โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มา 20 ปีแล้ว

กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของ ‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ เป็นสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หากแต่ควรทำบนฐานของข้อเท็จจริงและธรรมชาติของยุคสมัย

ในทางทฤษฎีและวิชาการ เป็นที่รู้กันมานานกว่าทศวรรษแล้วว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มเป็นลักษณะ ‘แกนนอน’ มากกว่า ‘แกนนำ’ และมีความหลากหลายมากเกินกว่าจะเหมารวมเป็นก้อนเดียวที่เหมือนกันได้ โดยมีเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือช่วยให้พวกเขายังพอเกาะเกี่ยวกันได้ แต่ละกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีอิทธิพลถึงกันแน่ แต่ยากที่จะมีใครสั่งใคร หรือใครนำใครแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากติดตามข่าวสารรอบโลกจะพบว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองอันทรงพลังในรอบหลายปีหลังล้วนแต่เป็นแนวทางนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ออคคิวพายวอลล์สตรีท อาหรับสปริง ขบวนการดอกทานตะวันในไต้หวัน การประท้วงในฮ่องกง ฯลฯ

กองบรรณาธิการ 101 ชวนสำรวจวิธีคิดและเบื้องหลังขบวนการนักศึกษาไทยในยุค 4.0 ผ่าน ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ และ ‘นักเรียนเลว’ เพื่อทำความเข้าใจหนึ่งความฝันอันหลากหลายของพวกเขา และภาพใหญ่ของการเมืองไทย

 

#แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

 

รุ้ง ปนัสยา

 

“เจอนอกเครื่องแบบบ้างไหมคะ เพื่อนหนูบอกว่าตอนเช้ามีมาสองคน” นี่คือประโยคแรกที่ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาในนามกลุ่ม ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ถามขึ้นมาหลังจากกล่าวทักทาย ‘สวัสดี’ ตามธรรมเนียม ดูจากรอยยิ้มบนหน้าของรุ้งแล้ว แม้จะพอเดาได้ว่าเจ้าของคำถามมีเจตนาหยอกเย้า แต่ทุกคนที่ยืนอยู่ตรงนั้นต่างรู้ดีว่าเนื้อหานั้นคือข้อเท็จจริง

ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 บนเวที ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ รุ้งคือผู้อ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อหน้าผู้ชุมนุมราว 2,500 คน นับแต่นั้นมา ชื่อของรุ้ง เพนกวิน (พริษฐ์ ชีวารักษ์) และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมก็ปักหมุดลงบนการเมืองไทยร่วมสมัย

และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนี้เองที่เป็น ‘แม่งาน’ ในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ท่ามกลางการจับตามองจากทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด

“ตื่นเต้นและเครียดเหมือนกัน อุปสรรคเยอะมาก แต่เชื่อว่าคนจะมาเยอะนะ” รุ้งตอบเมื่อถูกถามว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อนัดหมายใหญ่กำลังจะมาถึง เมื่อถามว่าจะมีอะไรบนเวที เธอบอกให้รอดู แต่ยืนกรานว่า ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะยังคงเป็นประเด็นหลักที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมผลักดันต่อไป

ย้อนกลับไปคืนวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2563 เวลาตีหนึ่งกว่า รุ้งได้รับแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เพิ่งร่างเสร็จจากเพื่อนแกนนำคนหนึ่ง พร้อมคำถามว่า “จะอ่านไหม”

“ยอมรับว่าอ่านตอนแรกก็รู้สึกว่ามันแรงมากๆ เหมือนกัน แต่หนูรู้สึกว่ามันต้องพูด” รุ้งย้อนความหลังให้ฟัง “ต้องบอกก่อนว่า ถึงแถลงการณ์จะเขียนคืนก่อนหน้าการชุมนุม แต่ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นที่เราคุยกันมาสักพักแล้ว เพราะถ้าต้องการศึกษาการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง อย่างไรเราก็ไม่สามารถเลี่ยงประเด็นนี้ไปได้เลย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำประกาศของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม เขย่าดุลการเมืองไทยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะฟังไลฟ์หรือฟังย้อนหลัง คนที่ฟังแทบทุกคนล้วนแต่ต้องตกตะลึงกับสิ่งที่ได้ยิน คำถามที่หลายคนอาจยังสงสัยคือ ‘มูฟการเมือง’ ที่แหลมคมขนาดนี้ คนทำงานเบื้องหลังมีวิธีการทำงานอย่างไร

มองจากข้างนอก คอการเมืองคงเดาได้ไม่ยากว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่รุ้งอ่านมีฐานมาจากความคิดของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยคนสำคัญที่ปัจจุบันลี้ภัยการเมืองอยู่ฝรั่งเศส รุ้งไม่ปฏิเสธในประเด็นนี้ แต่ยืนยันว่า เธอและเพื่อนใช้วิจารณญาณอย่างยิ่งยวดในการนำเสนอประเด็นนี้สู่สังคม

“ถ้าถามว่าที่มาของแถลงการณ์ 10 ข้อมาจากไหน ส่วนใหญ่ได้อิทธิพลมาจากข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ อีกส่วนมาจากการที่เราถกและคุยกันเองมาตลอด หนูอยากจะย้ำว่า ไม่ใช่ว่าเราไปลอกข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์มาเฉยๆ เพราะเราอ่านงานวิชาการกันจริงจัง มีการ คิด ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ เยอะมาก ดังนั้นถ้าข้อเสนอเราจะคล้ายกับอาจารย์สมศักดิ์ นั่นเพราะเราเชื่อว่า นี่เป็นแนวทางในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง” รุ้งเล่าถึงเบื้องหลังของแถลงการณ์ 10 ข้อ

แน่นอนว่า การพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยคุ้นชินมากนัก แม้แต่ในขบวนการนักศึกษาที่ดูก้าวหน้าก็มีความกระอักกระอ่วนใจอยู่ไม่น้อย เพราะทุกคนก็ไม่ได้เห็นตรงกันหมดเสียทีเดียว

“กลุ่มโดมปฏิวัติเป็นกลุ่มที่ทำงานด้วยกันมานาน ฐานวิธีคิดไม่ต่างกันมากก็สื่อสารง่ายหน่อย การคุยกันจะเถียงกันเรื่องแนวทางการทำงานมากกว่า แต่สำหรับกลุ่มเพื่อนที่ไม่ใช่โดมปฏิวัติ ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยกับการถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องคุยเพื่อทำให้เขาเห็นว่าทำไมเราถึงควรที่จะพูดในประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา เช่น กลุ่มเพื่อนที่ทำงานในสภานักศึกษา ตอนแรกยังคิดเลยว่าเขาคงไม่เอาด้วย เพราะในสภาก็อยู่คนละข้างกัน เขาอยู่ฝั่งรัฐบาล เราอยู่ฝ่ายค้าน แต่พอคุยเสร็จแล้วปรากฏว่าเขากลับเห็นด้วยว่าควรทำ”

อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นตรงกันในหลักการใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้กำหนดการบนเวทีทั้งหมด รุ้งยอมรับว่า คนที่รู้ว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 10 ข้อบนเวทีนั้นจำกัดอยู่ไม่กี่คน

“วันนั้นสังคมส่วนใหญ่จับตามองการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ในขณะที่คนทำงานส่วนใหญ่รู้กันแค่ว่าจะมีวิดีโอจาก อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นเซอร์ไพรส์ แต่คนที่รู้ว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์มีไม่กี่คน ซึ่งหนูรู้สึกผิดกับเพื่อนอยู่พอสมควรที่ไม่ได้บอกเขาว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ แต่ในภาพใหญ่ของเวที พวกเรายืนยันกับคนที่ร่วมงานทุกคนว่าบนเวทีจะมีการพูดคุยในประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างซีเรียส ตรงไปตรงมา แบบใช้เหตุใช้ผล ซึ่งสำหรับหลายคนเขาก็คงคิดไม่ถึงว่าจะเป็นรูปแบบนี้”

“ฟีดแบ็กจากเพื่อนมีหลายแบบ ส่วนใหญ่ไม่โกรธ ยังซัพพอร์ตเรา แต่ก็เป็นห่วง กลัวว่าเราจะเป็นอันตรายหรือถูกจับ มีอยู่บ้างที่โกรธและต้องมาเคลียร์กัน ก็สามารถเคลียร์กันได้และยังทำงานด้วยกันต่อเหมือนเดิม มีบางคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางแล้วถอนตัวออกไปก็มี ซึ่งเราก็ยอมรับและเข้าใจทั้งหมด” รุ้งนึกทบทวนเหตุการณ์วันนั้นด้วยสีหน้าผ่อนคลาย

หากใครติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักเรียนอย่างใกล้ชิด คงพอทราบดีว่า การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มนั้นเป็นอิสระจากกันและกัน ไม่มีใครนำใคร และไม่มีใครสั่งใครได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยมักเข้าใจผิดว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียนนักศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นพวกเดียวกัน มีแกนนำสั่งการ หากใช้วิจารณญาณน้อยก็อาจเผลอคิดไปถึงขั้นว่า ‘ม็อบนักศึกษามีคนชักจูงอยู่เบื้องหลัง’

“กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นเพื่อนที่พอรู้จักและทำงานกันมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว แต่ว่าในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ละกลุ่มต่างก็เคลื่อนไหวในแนวทางของตัวเอง อย่างเวทีการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม หรือ 19 กันยายน เราก็ไม่ได้คุยในรายละเอียดกับกลุ่มอื่นเลยว่าจะจัดอย่างไร เพราะโดยสภาพการทำงานไม่มีความจำเป็นต้องคุยอยู่แล้ว หากมีประเด็นยิบย่อยที่ต้องสื่อสารหรือประสานกันบ้าง ก็คุยกันเป็นครั้งๆ ไป”

“การที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมีข้อดีคือทำให้เราหาแนวร่วมได้ง่ายขึ้น ใครที่เห็นคล้ายกับเราก็เข้าร่วมได้เลย คุยง่ายมาก ส่วนใครที่เห็นไม่ตรงกันก็อาจไม่ได้เข้ามาร่วม แต่ละกลุ่มเวลาคุยกันก็คุยกันแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน การเห็นไม่ตรงกัน ไม่พอใจกัน บางกลุ่มเห็นว่าเราแรงไปก็บอกกันตรงๆ เราก็พยายามอธิบายว่าทำไมเราถึงต้องทำ ถึงที่สุดแล้ว แต่ละกลุ่มเคารพจุดยืนและการตัดสินใจของกันและกัน”

แม้ม็อบนักศึกษาแต่ละกลุ่มจะแยกกันทำงาน มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ในฐานะตัวละครทางการเมืองที่เล่นอยู่บนเวทีเดียวกัน บทบาทที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมืองเลือกเล่นย่อมส่งผลต่อกลุ่มอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสียงเตือนจำนวนมากจะไปถึงรุ้งและเพื่อนทั้งด้วยความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพส่วนตัว และการเคลื่อนไหวในภาพใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตย

“เรากังวลและคิดกันมากนะว่าการเคลื่อนไหวของเราจะทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภาพรวมเสียไหม มีเสียงเตือนเข้ามาเยอะมาก ซึ่งเราดีใจและรับฟัง หนูรับรู้ได้จริงๆ ว่าคนที่เข้ามาคุยกับเราหลายคนที่มาเตือน ทั้งอาจารย์ พี่ เพื่อน และครอบครัว ทุกคนหวังดี เป็นห่วง และเอาใจช่วยเรา แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็กลับมาคุยกันและเลือกตัดสินใจด้วยตัวเราเอง บางครั้งก็เอามาปรับ บางครั้งก็ไม่ได้ทำตาม แล้วแต่เรื่องแล้วแต่สถานการณ์”

“หนูดีใจนะที่มีคนเป็นห่วงและให้คำแนะนำ แต่พวกเราก็ต้องรักษาระยะห่างเพื่อให้ยังเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ให้คำแนะนำของใครเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป โดยเฉพาะกับอาจารย์และผู้ใหญ่ที่เราเคารพ”

“หนูชอบการเคลื่อนไหวแบบต่างคนต่างทำ แต่เคารพกันและให้กำลังใจกันแบบที่เป็นอยู่นะ ถ้าลงไปดูจะเห็นว่า ข้อเรียกร้องของนักศึกษามีความหลากหลายมาก ไม่ได้มีแค่แบบของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือแบบประชาชนปลดแอกอย่างเดียว กลุ่มเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดก็มีประเด็นเฉพาะของเขา หนูว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้เมกเซนส์มาก และหนูอยากให้เกิดขึ้นจริงทั้งหมด อย่างข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มประชาชนปลดแอกนี่หนูหนุนเต็มที่เลย เพราะหนูรู้ดีว่า ถ้าทำ 3 ข้อเรียกร้องนั้นไม่ได้ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อก็ไม่มีวันเกิด ถึงแม้แต่ละกลุ่มจะไม่ได้เคลื่อนด้วยกัน ต่างคนต่างทำ แต่หนูเชื่อว่า เรามีจุดที่เห็นเหมือนกันมากกว่าจุดที่ต่างกัน”

หนึ่งในข้อวิจารณ์ที่มีต่อข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมือง คือ ข้อเสนอมีความแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่ประนีประนอม ซึ่งทำให้การบรรลุข้อเสนอเป็นจริงได้ยากในทางการเมือง รุ้งรับรู้ข้อวิจารณ์นี้เป็นอย่างดีและมองต่างว่า ข้อเสนอที่ยืดหยุ่นเกินไปอาจทำให้เราไม่ได้อะไรเลย

“จริงๆ แล้วข้อเสนอทั้ง 10 ข้อในรายละเอียดสามารถปรับได้ ถ้าเห็นว่าข้อเสนอผิดพลาดก็มาถกเถียงกัน แต่หลักการใหญ่เรื่อง ‘ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ ต้องไม่เปลี่ยน สมมติมีการปรับเปลี่ยนในบางเรื่อง แต่ยังมีข้อยกเว้นอีกหลายเรื่อง สุดท้ายปัญหาที่แท้จริงก็จะไม่ถูกแก้ไข วนไปวนมา ไม่รู้จบ”

แม้การสนทนาจะผ่านไปกว่าหนึ่งชั่วโมง แต่รุ้งก็ไม่ได้มีท่าทีเหน็ดเหนื่อยและเครียดอย่างไร จนอดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่กล้าคิด กล้าฝัน และกล้าลงมือทำเช่นนี้ มีฝันอื่นที่อยากทำไหม หากไม่ต้องมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“หนูอยากไปเรียนต่อปริญญาโทด้านอาชญาวิทยา ความฝันของหนูคืออยากปฏิรูประบบคุก อยากให้คุกไม่ใช่ที่ลงโทษผู้คน แต่เป็นที่สำหรับเตรียมพร้อมผู้ที่กระทำผิดให้พร้อมกลับสู่สังคมจริงๆ หนูมีความเชื่อว่า โดยพื้นฐานไม่มีใครอยากทำผิด ไม่มีใครอยากทำร้ายคนอื่นหรือทำผิดหลักความดีทางสังคม คนทำผิดส่วนใหญ่ถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้ทำ ดังนั้นหากมีใครที่พลาดพลั้งกระทำผิดมา เราควรมีกระบวนการที่ทำให้เขาสามารถปรับตัวเพื่อคืนสู่สังคมได้ ทุกวันนี้คุกไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น คนที่เคยติดคุกต้องเข้าๆ ออกๆ เสมอ กลายเป็นวงจรไม่รู้จบ”

“ทุกวันนี้ก็ยังฝันอยู่นะ แต่ก็รู้ว่ายากมากขึ้น การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทำให้เกรดหนูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะขาดเรียนเยอะ สุดท้ายแล้ว ถ้ายังทำได้อยู่ หนูก็อยากทำนะ” รุ้งทิ้งท้าย

 

#ประชาชนปลดแอก

 

ประชาชนปลดแอก 

หลังจากบ้านเมืองอยู่ในความ ‘สงบ’ ของช่วงล็อกดาวน์มาประมาณ 2-3 เดือน ในขณะที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแก้ปัญหาในช่วงโควิด-19 อย่างหนักในโลกออนไลน์ ทันใดนั้นก็เกิดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) มีผู้ชุมนุมหลักหลายพันคนรอบบริเวณอนุสาวรีย์ แม้จะเป็นการนัดหมายอย่างฉุกละหุกก็ตาม

การประท้วงของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นการจุดประกายไฟให้เกิดการประท้วงของแต่ละกลุ่มตามมาในต่างวาระและต่างรูปแบบ เช่น ม็อบวิ่งแฮมทาโร่ ม็อบมุ้งมิ้ง ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน ขอนแก่นพอกันที และม็อบทั่วประเทศ ฯลฯ ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อแกนนำของ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ตามมา และจัดการประท้วงใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563

ระยะเวลาเพียง 2 เดือนมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย จนแม้แต่คนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดก็ยังมองภาพไม่ชัดเจน 101 นัดสัมภาษณ์ ฟอร์ด – ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอก และเลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก มาคุยถึงเบื้องหลังการทำงานของขบวนการประท้วงและแนวคิดทางการเมือง

ทัตเทพเล่าว่าในการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีการวางแผนก่อนวันงานแค่ 2-3 วันเท่านั้น โดยติดต่อ อั๋ว – จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย มาวางแผนร่วมกันกับทีมจนเกิดเป็นการชุมนุมขึ้น

“หลังจาก 18 กรกฎาคม พอคุยกันในกลุ่มเราเห็นแล้วว่าสเกลมันใหญ่ ข้อเรียกร้องของเราค่อนข้างจะใหญ่มาก เราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเป้าหมายที่คงไม่เสร็จในเดือนสองเดือนแน่ๆ และคงไม่ได้ม้วนเดียวจบ ประกอบกับการเรียกร้องใหญ่เราต้องการคนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เยาวชน ไม่ใช่แค่นิสิตนักศึกษา แต่คือประชาชน เราก็เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาร่วมกับเรามากขึ้น จนตัดสินใจตั้งองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำสามข้อเรียกร้องแรกให้บรรลุผล ตัดสินใจตั้งคณะประชาชนปลดแอก หรือ Free People ขึ้นมาเพื่อรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม” ทัตเทพเล่าถึงการขยับจาก ‘เยาวชนปลดแอก’ สู่ ‘ประชาชนปลดแอก’

ทั้งนี้มีรูปแบบชัดเจนว่าแกนนำของคณะประชาชนปลดแอกมาในนามบุคคล แม้จะมีกลุ่มของตัวเองอยู่แล้วก็ตาม ทัตเทพอธิบายว่า ตัวเขาเองก็ยังเป็นเลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอกอยู่ และกลุ่มเยาวชนปลดแอกก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน เช่นเดียวกับแกนนำคนอื่นที่อยู่กับกลุ่มอื่นๆ ด้วย

“หลังจากการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม ก็มีการจัดม็อบขึ้นหลายๆ ที่ ที่ใหญ่หน่อยก็คือม็อบของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งเขาก็จัดของเขา คณะประชาชนปลดแอกไม่ได้เป็นคนบอกให้ทำ ไม่ได้ไปวางแผนหรือตัดสินใจด้วย เขาทำกันเองทั้งหมด เราแยกกันมาตั้งแต่ต้น แต่เราก็มีเป้าหมายเดียวกัน เพียงแต่วิธีการเคลื่อนไหวและการนำเสนออาจจะแตกต่างกันไปบ้าง” ทัตเทพเล่าถึงวิธีการทำงานของแต่ละกลุ่ม

แม้ต่างคนต่างทำ แต่การประท้วง ‘เล็กๆ น้อยๆ’ ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม ก็มีเนื้อหาที่ทรงพลังและมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนเกิดการชุมนุมใหญ่วันที่ 16 สิงหาคม ที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 2-3 หมื่นคน ในครั้งนั้นมีเจ้าภาพเป็นคณะประชาชนปลดแอก ที่ชวนหลายองค์กรร่วมขึ้นเวทีปราศรัยในหลากหลายประเด็น เช่น ประเด็นภูมิภาค ประเด็น LGBT ประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มแรงงาน ฯลฯ จนทำให้เนื้อหาและกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมขยายไปไกลขึ้นกว่าแค่วงนักศึกษา ในแนวทางการต่อสู้แบบนี้ ทัตเทพมองว่าเป็นลักษณะธรรมชาติของประชาธิปไตย

“เป็นปกติที่ในกระบวนการเคลื่อนไหวมันจะมีหลากหลายแนวทาง หลากหลายข้อเรียกร้อง แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน อันนี้เป็นเสน่ห์ของความหลากหลาย ซึ่งเป็นคุณค่าหนึ่งของประชาธิปไตย เราจะบังคับให้คนทำเหมือนกัน เดินบนถนนเส้นเดียวกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”

แต่ถึงอย่างนั้น ลักษณะการต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองของไทยในยุคก่อน ซึ่งหลายคนอาจยังไม่คุ้นชินและตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ถ้ามองในมุมของผู้นำการประท้วง ทัตเทพเองก็เห็นหลายมิติในการเดินเกมชุมนุมเช่นนี้

“ข้อดีของการแยกกลุ่ม คือการมีคนหลากหลายเข้ามา ทำให้ขบวนการไม่ล้มง่ายๆ สมมติผมถูกสอยไป อั๋วถูกสอยไป แกนนำคนอื่นถูกสอยไป ขบวนการก็ไม่หยุด ไปต่อแน่นอน เพราะมีคนพร้อมจะทำตรงนี้เยอะมากๆ จนนับไม่ถ้วนเลย ทำให้รัฐงง รัฐไม่รู้จะจัดการอะไร รัฐหัวหมุน ทำได้แค่ปูพรมคุกคาม เพราะทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว นอกจากจะตอบสนองข้อเรียกร้องเรา ซึ่งเขาก็คงไม่ยอมง่ายๆ

“ส่วนข้อเสียคือ ประเทศไทยคุ้นชินกับการเคลื่อนไหวที่มีองค์กรนำองค์กรเดียวมาตลอด พอเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนทำอะไร เขาก็จะเหมารวมไปหมด ประชาชนอาจจะสับสนได้ว่ากลุ่มไหนจัด มีจุดประสงค์อะไร อันนี้ใครพูด อันนู้นใครพูด ผมว่าก็คือการเรียนรู้แหละ ไม่ใช่ข้อเสียที่เลวร้าย แค่สร้างความสับสนในชั่วขณะเท่านั้นเอง”

นอกจากข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก 3 ข้อที่ว่า 1.รัฐบาลต้องหยุคคุกคามประชาชน 2.รัฐบาลต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.รัฐบาลต้องยุบสภา ยังมีประเด็น ‘1 ความฝัน’ ที่อยากเห็นประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มประท้วงอื่นก็พูดถึงเช่นกัน แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงประเด็นที่เปราะบางในสังคมเช่นนี้ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย จนหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การชุมนุมไปไม่ถึงฝัน

“ไม่มีข้อเรียกร้องของกลุ่มไหนเลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม คณะประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นการล้มล้างหรือจาบจ้วง นี่เป็นข้อเสนอของรอยัลลิสต์ด้วยซ้ำ รอยัลลิสต์ที่หวังดีต่อสถาบัน หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง หวังดีต่อประชาธิปไตย เราต้องทำความเข้าใจ ต้องวางอคติลงแล้วคุยกันด้วยเหตุด้วยผลว่าบ้านเมืองเราก้าวมาถึงทุกวันนี้มันผิดปกติมากๆ เราต้องการให้เป็นปกติตามครรลองประชาธิปไตย” ทัตเทพยืนยันถึงแนวทางการเรียกร้อง

ท่ามกลางดอกไม้และก้อนหินที่โยนเข้ามา หลังจากผ่านช่วงเดือนที่หนักหน่วงทางการเมือง ทัตเทพมองเส้นทางการต่อสู้ไว้อย่างชัดเจนว่าอยากให้จบภายใน 6-9 เดือน นั่นหมายถึงต้องได้ตาม 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝันแล้วทั้งหมด

“เท่าที่วางไว้ ผมไม่ได้คิดถึงหลักปีเลยนะ ส่วนตัวอยากให้จบภายใน 6 เดือน อย่างมากก็ 9 เดือน เราเริ่มนับหนึ่งเดือนกรกฎาคม พอสิงหาคมมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปแล้ว กันยายนจะเริ่มพิจารณาวาระที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าบางเนื้อหาจะไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่เราสามารถกดดันต่อไปให้มีการแปรญัตติข้างในได้ และเราต้องเร่งกระบวนการด้วย อย่าให้กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. เป็นการซื้อเวลา และอย่ายอมให้ ส.ส.ร. กลายมาเป็นกลไกในการยึดอำนาจอีกครั้ง”

ต่อคำถามสุดท้าย ถ้าภายใน 6 หรือ 9 เดือนการต่อสู้ยังไม่จบ พวกเขาจะทำอย่างไร เขาตอบเร็วว่า “ก็ต้องไปต่อครับ ไล่จับแกนนำไม่มีประโยชน์ อย่างไรขบวนการก็ไปต่อ คุณจะออกหมายจับคนเป็นล้านๆ คนได้มั้ยล่ะ คุกขังพอรึเปล่า”

 

#นักเรียนเลว

 

นักเรียนเลว

 

“การต่อต้านเผด็จการเชื่อมโยงกับการศึกษาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่มีทางแยกการเมืองออกจากการศึกษาได้เลย”

ย้อนกลับไปราวเดือนมิถุนายน ภาพของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมถูกปิดปากมัดมือ ติดป้ายเชื้อเชิญให้คนเข้ามาหยิบกรรไกรเพื่อตัดผมลงโทษเธอกลางย่านศูนย์การค้าสยาม ได้กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ และทำให้ชื่อของ ‘นักเรียนเลว’ เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษา

ไม่มีใครคาดคิดว่าอีก 2 เดือนถัดมา – ท่ามกลางกระแสการเมืองอันเข้มข้นร้อนระอุ พวกเขาจะถูกจับตามองในฐานะผู้นำการชุมนุมของนักเรียนหลายร้อยคน เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา ชนิดที่ว่ามีอุดมการณ์หนักแน่น ชัดเจน และทำงานเป็นระบบระเบียบไม่แพ้นักศึกษา หรือกระทั่งผู้ใหญ่

นิ้ง – ธญานี เจริญกูล หนึ่งในแกนนำวัย 16 ปียังจำได้ดีถึงตอนที่ตัดสินใจสร้างกลุ่มนักเรียนเลวขึ้นมา “แกนนำของกลุ่มมีกันอยู่ 4 คน คือ นิ้ง พลอย มิน บอส เราเคยทำงานด้วยกันในองค์กรหนึ่ง แต่องค์กรเดิมของเราขนาดค่อนข้างใหญ่ จะทำอะไรจึงค่อนข้างใช้เวลา ไม่สามารถคิดปุ๊บแล้วทำได้เลย แล้วเราชอบเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ทำอะไรได้ไวมากกว่า เมื่อวิธีการทำงานของเราไม่ตรงกับเขา เลยแยกตัวออกมา 4 คนเพื่อทำกันเอง

“ด้วยความที่เรามีทรัพยากรบุคคลน้อยมาก เลยเน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนเป็นหลัก อย่างเช่นตอนแรกจะเห็นว่าเราเน้นเรื่องทรงผม แต่ช่วงหลังมานี้ที่มีประเด็นการเมือง เริ่มมีนักเรียนถูกคุกคาม เราจึงขยายไปถึงสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงความเห็น และเรื่องอื่นๆ มากขึ้น”

จำนวน ‘น้อยมาก’ แบบที่นิ้งเอ่ยเน้นอย่างชัดถ้อยชัดคำ เธอหมายความตามนั้นจริงๆ เพราะถึงแม้จะมีเครือข่ายนักเรียนเข้าร่วมกับนักเรียนเลวมากถึง 50 โรงเรียน ซึ่งได้มาจากการประกาศหาแนวร่วมบนโซเชียลมีเดีย และการชักชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักกัน แต่สำหรับทีมงานหลักที่ติดต่อ ลงมือจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมแกนนำแล้วก็มีเพียง 10 กว่าคน

“พวกโซเชียลมีเดีย ไลน์ออฟฟิเชียล 4 แกนนำจะเป็นคนดูแล นอกนั้นเรื่องการประสานงาน ติดต่อฝ่ายต่างๆ คือช่วยกันทำทั้งหมด เราไม่ได้แบ่งฝ่ายกันชัดเจน พอมีงานเข้ามา ใครสะดวกตรงไหนก็ไปทำตรงนั้น” นิ้งอธิบายเบื้องหลัง “ช่วงแรกที่เราอยู่กัน 4 คนจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการคุยงานอะไรเท่าไหร่ ไปนั่งร้านอาหาร หรือม้านั่งที่ไหนก็ได้ แต่พอมีคนเยอะขึ้น เราก็ไปจองห้องประชุมใน co-working space หรือโทรประชุมกันผ่านไลน์ ใครไม่สะดวกเข้าประชุมก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้าย เราจะมีสรุปการประชุมในไลน์กลุ่มทีหลัง”

การประชุมทีมของนักเรียนเลวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเพื่อวางแผนกิจกรรมสำคัญๆ และเพื่อทบทวนผลลัพธ์ จุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลังกิจกรรมเหล่านั้นเสร็จสิ้นลง “เราไม่ได้วางแผนในระยะยาวเท่าไหร่ เพราะหลายๆ อย่างเปลี่ยนไปตลอด และต้องรอดูท่าทีจากกระทรวง ผู้มีอำนาจด้วย”

แล้วการจัดการชุมนุมที่ผ่านมาล่ะ วางแผนกันอย่างไร? นิ้งไล่เรียงอย่างฉาดฉานโดยยกตัวอย่างการชุมนุมใหญ่ #หนูรู้หนูมันเลว วันที่ 5 กันยายนว่า พวกเธอจะเริ่มจากคิดกิจกรรมบนเวทีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะพูดเรื่องอะไร จัดเรียงกิจกรรมอย่างไร และต้องการให้มี ‘อารมณ์’ ของงานอย่างไรบ้าง

“สิ่งที่เราจะไม่ทำเด็ดขาด คือการทำให้งานทั้งงานมีแค่อารมณ์เดียว ทั้งงาน 3 ชั่วโมงโกรธอย่างเดียว หรือเศร้าอย่างเดียว เราพยายามทำให้มีทั้งโกรธ แทรกเศร้าบ้าง ฮึกเหิมบ้าง การเอนเตอร์เทนเองก็เป็นส่วนสำคัญ ต้องทำให้มีความสนุกสนานเกิดขึ้นบ้าง” นั่นคือกฎเหล็กที่มินพยายามเตือนเพื่อนอยู่เสมอ นิ้งย้ำ

“กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มาจากการรวมไอเดียกัน ใครคิดอะไรได้ก็โยนๆๆ มากองไว้ แล้วค่อยพิจารณา มินจะมีแผนผังอันหนึ่ง มีแกน 2 แกน คือ impact น้อย หรือ impact มาก กับ เป็นไปได้ง่าย หรือ เป็นไปได้ยาก เราจะนำกิจกรรมมาแปะบนแผนผังนั้น เพื่อเลือกว่าจะทำอะไร”

ถัดจากนั้นเป็นเรื่องของรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์บนเวที เครื่องเสียง สถานที่ที่ใช้จัด ประเมินจำนวนคนที่เข้าร่วม อาหาร น้ำดื่ม วันเวลาที่ใช้จัดชุมนุม ไปจนถึงการสร้างทีมรักษาความปลอดภัย ดูแลความเรียบร้อยภายในงานและทีมสวัสดิการ ซึ่งนิ้งและเพื่อนๆ อาศัยกองหนุนจากแนวร่วม 50 โรงเรียนมาช่วยเสริมทัพในส่วนหลัง

“แต่เราก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพ เราไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้” เธอพูด น้ำเสียงแฝงการจิกกัดเล็กๆ น้อยๆ ชวนให้คนฟังนึกถึงประโยคที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการพูดในสภาหลายวันก่อน “บางอย่างก็มีข้อจำกัดที่เด็กทำไม่ได้ เช่น ขับรถห้องน้ำเข้ามาเอง หรือหาเวทีใหญ่ๆ ทำแบ็กดรอปต่างๆ เราก็ใช้วิธีประสานงานกับพี่ที่รู้จักกันให้ช่วยเหลือ บางทีก็มีคนติดต่อเข้ามาว่าอยากให้ช่วยอะไรไหม เราบอกเขาไป แล้วเขาก็สนับสนุนมา”

แต่ถ้าไม่ได้เป็นมืออาชีพ แล้วเรียนรู้วิธีจัดการชุมนุม กิจกรรมต่างๆ มาจากไหน? เด็กสาวเฉลยว่าก็เรียนรู้มาจากม็อบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้นั่นละ เธอและเพื่อนๆ สังเกตว่าแต่ละที่ออกแบบกิจกรรมกันอย่างไร ต้องใช้อะไรบ้าง แล้วนำมาปรับให้เข้ากับม็อบในสไตล์ของพวกเธอเอง

สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือแนวทางกำหนด ‘3 ข้อเรียกร้อง 1 เงื่อนไข’ ซึ่งคล้ายคลึงกับรูปแบบ ‘3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน’ ของคณะประชาชนปลดแอก นิ้งบอกว่าพวกเธอก็ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากการชุมนุมที่นักเรียนเลวไปขึ้นเวทีพูดเรื่องการศึกษา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม

“เราคิดข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ไม่นานเลย เพราะเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วจากที่ผ่านๆ มา

“อย่างข้อแรก การหยุดคุกคามนักเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่คุกคามเรื่องการแสดงออก แต่หมายรวมถึงการคุกคามสิทธิมนุษยชน การตัดผม การลงโทษที่รุนแรง การล่วงละเมิด ก็ถือว่าเป็นการคุกคามนักเรียน ข้อเรียกร้องที่หนึ่งเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่ควรจะทำได้ตั้งนานแล้วให้ได้ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น

“ข้อสอง การยกเลิกกฎระเบียบ ประกาศต่างๆ ที่ล้าหลัง ไม่เข้ากับยุคสมัย เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าข้อหนึ่ง แต่ก็ยังง่ายกว่าข้อสาม คือการปฏิรูป ที่เป็นประเด็นค่อนข้างกว้างมาก และเรายอมรับว่ามันยาก เพราะมีปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ถ้าถามว่าทำได้ไหม มันทำได้ ถ้าคิดจะทำจริงๆ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลวก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ เสียทีเดียว แม้พวกเธอจะมีคนรู้จักในกลุ่มเหล่านั้นอยู่บ้าง และอาจขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่สนิทสนมเป็นครั้งคราว แต่การปรากฏตัวบนเวทีต่างๆ ในนามองค์กร ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในทำนอง “เขามาชวน เราก็ไป” ตามภาษาของนิ้ง

สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงกลุ่มนักเรียนเลวและกลุ่มชุมนุมต่อต้านเผด็จการอื่นๆ ไว้จึงมีเพียงความเชื่อและความฝัน

อย่างที่นิ้งได้บอกเราไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม เธอเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองและการต่อต้านเผด็จการ ชนิดที่ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

“เพราะนโยบายการศึกษามาจากรัฐบาล ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ย่อมอยากให้ประชาชนของเขามีความแตกต่างหลากหลาย มีการยอมรับซึ่งกันและกัน แต่ในบางประเทศที่ผู้นำมีความเป็นเผด็จการ สิ่งที่เขาต้องการ คือพลเมืองที่ปกครองง่าย พลเมืองที่สั่งให้ไปซ้าย ก็ไปซ้าย สั่งให้ไปขวา ก็ไปขวา หรือแม้แต่สั่งให้เดินไปกระโดดไป ก็ยอมทำตามโดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษากำลังทำอยู่ และทำมาตลอด

“ประเทศจะไปทิศทางไหน พลเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา แล้วการศึกษาจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขึ้นอยู่กับการเมือง” นั่นจึงกลายมาเป็นความฝันของพวกเธอ ฝันอยากจะเห็นระบบการศึกษาที่ดีขึ้นพร้อมๆ กับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

และเพื่อให้ความฝันนั้นเป็นจริง เธอและเพื่อนๆ จึงตัดสินใจลงมือทำ ตอนนี้ ชั่วขณะนี้ ในห้วงวัยและช่วงเวลาที่พวกเธอคิดว่าไม่อาจจะเหมาะสมไปมากกว่านี้อีกแล้ว

“ผู้ใหญ่บางคนอาจบอกว่าทำไมไม่รอให้โตกว่านี้ก่อน ทำไมไม่รอจนขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วค่อยทำ แต่ถ้าเราเรียนมหาวิทยาลัย เราก็อาจจะเจอปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตมหาวิทยาลัย หรือตอนทำงาน ก็จะเจอปัญหาเรื่องงาน มันไม่มีช่วงชีวิตตอนไหนที่ได้สัมผัสปัญหาการศึกษามากเท่าตอนนี้อีกแล้ว เรารู้สึกว่าเราเป็นนักเรียนอยู่ ไม่พูดตอนนี้ จะไปพูดตอนไหนได้ มันเป็นช่วงเวลาของเรา เป็นช่วงเวลาที่เราควรออกมาทำอะไรแบบนี้ รวมกับกระแสสังคมด้วยที่ทำให้เรารู้สึกพร้อม และมีพลังมากขึ้นในการออกมาทำอะไรต่างๆ

“อย่างน้อยก็ขอให้ได้เริ่ม ถึงจะไม่สำเร็จ สัมฤทธิ์ผลประจักษ์ชัดในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.0001 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save