fbpx
ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง ?

ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง ?

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

1

 

ทีวีตรงหน้าบาร์ฉายภาพเหตุการณ์ชุลมุนด้านนอก รถตำรวจวิ่งเป็นขบวน แสงเลเซอร์วิบวับจากผู้ชุมนุม ควันขาวคลุ้งจากแก๊สน้ำตา กองไฟจากระเบิดน้ำมัน ตำรวจกับประชาชนหันหน้าเข้าหากัน วิ่งห้ำหั่นราวกับเป็นคู่แค้นกันมาแสนนาน ภาพทั้งหมดนี้ไร้เสียง มีเพียงเสียงเพลงจีนกวางตุ้งที่บาร์เทนเดอร์หนุ่มเปิดดังลั่นร้าน กลายเป็นเสียงประกอบภาพสงครามขนาดย่อมที่ให้อารมณ์ไปคนละทาง

ข้างนอกฝนยังตกไม่ขาดสาย ละอองหนาวเย็นเกาะกุมกระจกหน้าร้าน แสงไฟจากรถตำรวจหมุนเป็นวงพร่าเลือน บาร์เทนเดอร์ยืนสูบบุหรี่ตรงหน้าร้าน เป็นบาร์เดียวที่เปิดในย่านนี้ยามนี้ และฉันก็เป็นลูกค้าคนเดียวของร้าน

 

 

หลังจากผู้ชุมนุมนัดเดินขบวนประท้วงจาก Kwai Chung Sports Ground ไปที่ Tsuen Wan Park ตั้งแต่ช่วงบ่าย ล่วงเลยมาจนถึงหัวค่ำ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด และยิ่งดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตำรวจกับผู้ชุมนุมยืนเผชิญหน้ากันคนละฝั่งถนน ก่อนที่ตำรวจจะค่อยๆ รุกคืบเข้าไปหาทีละน้อย พร้อมอาวุธปราบปรามครบมือ

การประท้วงของคนฮ่องกงยาวนานกว่า 12 สัปดาห์แล้วในวันที่ฉันไปถึง และสุดสัปดาห์นี้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแก๊สน้ำตาลูกแล้วลูกเล่าปล่อยออกมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับกุม

“คุณอยากออกมาถ่ายรูปไหม” บาร์เทนเดอร์เปิดประตูจากด้านนอกเข้ามาถาม “ตำรวจกำลังเดินมาแล้ว” เขาพูดต่อ ฉันพยักหน้า หยิบกล้อง แล้วออกไปยืนหน้าร้าน

ห่างกันเพียงประตูกั้น มวลอากาศและเสียงรอบตัวต่างกันราวฝ่ามือกับหัวเข่า ในบาร์ เย็นและอึกทึก แต่ข้างนอกเหนอะหนะด้วยมวลอารมณ์และร้อนระอุจากเสียงโห่ร้องของมวลชน แม้ฝนยังคงโปรยปราย

ตำรวจถือเกราะเดินเป็นขบวนมาหยุดที่หน้าร้าน บางคนมาขอเข้าห้องน้ำ บางคนยืนคุยกับบาร์เทนเดอร์ พูดกันด้วยภาษาจีนกวางตุ้ง แอบถามทีหลังได้ความว่า ตำรวจถาม “ไม่มีลูกค้าเลยใช่มั้ย” คล้ายตีกระทบผู้ชุมนุมว่าทำให้เกิดความเดือดร้อนกันไปหมด

พวกเขายืนอยู่ตรงนี้ไม่นาน ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งผ่านตรงแยกถนนไม่ไกลนัก เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมเพรียงกันโห่ร้องใส่ผู้ชุมนุม แล้วค่อยๆ เดินรุกคืบไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็ขยายเป็นการปะทะกันทั่วทุกแยกในย่าน Tsuen Wan

 

 

 

“คุณเห็นด้วยกับการชุมนุมครั้งนี้มั้ย” ฉันถามบาร์เทนเดอร์หลังจากตำรวจเดินไปแล้ว เขาตอบอย่างไม่ปิดบังว่า “ไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ถ้าให้เลือกก็เอียงไปทางผู้ชุมนุม” เหตุผลหลักๆ เพราะม็อบกระทบร้านที่เขาทำอยู่ และเขาก็ไม่ชอบที่เห็นบ้านเมืองเป็นแบบนี้

มีข้อความปรากฏหลายจุดในเมืองฮ่องกงว่า ‘We are not Chinese, We are Hong Kongers’ ฉันเลยลองถามเขาต่อว่ามองตัวเองเป็นคนจีนหรือคนฮ่องกง

“ผมว่าก็เป็นทั้งสองอย่างนั่นแหละ เป็นคนฮ่องกง มีเชื้อชาติจีน แต่ผมชอบระบบของฮ่องกงมากกว่า”

‘ระบบ’ ที่เขาพูดถึง หมายถึง ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ นโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงที่เริ่มใช้หลังสิ้นสุดสัญญาเช่าฮ่องกง 99 ปี ของสหราชอาณาจักร แล้วมีการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า ฮ่องกงจะเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน แต่มีอิสระในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ การค้า การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเศรษฐกิจเสรี และมีระบบกฎหมายเป็นของตัวเอง เป็นเวลา 50 ปี

ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าเท่านั้นที่เสรี แต่คนฮ่องกงสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิล ฯลฯ ได้อย่างอิสระ มีแบบเรียนเป็นของตัวเอง และมีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ กลายเป็นเมืองที่มีพลวัตปรับผู้คนให้เคลื่อนในวิถีที่ต่างไป ด้วยเหตุผลนี้ความแตกต่างระหว่างคนฮ่องกงกับคนจีนจึงค่อยๆ ถ่างออกจากกันเรื่อยๆ

แม้จะเป็น 1 ประเทศ แต่คนฮ่องกงหลายคนก็ยืนยันว่า ‘ฮ่องกงไม่ใช่จีน’

ภาวะฮึ่มๆ กันระหว่างฮ่องกงและจีนมีมาตลอด ตั้งแต่เริ่มนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ มาได้ 22 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงปฏิวัติร่มเหลืองในปี 2014 เริ่มต้นจากการคัดค้านเรื่องการบรรจุหลักสูตรการศึกษาพลเมืองจีนเข้าสู่ระบบการศึกษาของฮ่องกง ก่อนจะพัฒนาข้อเรียกร้องมาเป็นการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย

ก่อนที่ฟางเส้นสุดท้ายจะขาดผึง เมื่อจีนมีความพยายามจะผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน โดยอ้างคดีฆาตกรรมของคู่รักฮ่องกงที่เกิดขึ้นในไต้หวัน

“เราไม่เชื่อใจระบบยุติธรรมของจีน” หนึ่งในผู้ชุมนุมบอกกับฉัน ความหวาดกลัวนี้กำลังจะกลายเป็นจริง ถ้าเมื่อไหร่จีนใช้ช่องกฎหมายนี้ในการส่งผู้ต้องหาคดีการเมืองไปตัดสินที่จีน — อันที่จริง แม้ในตอนที่ยังไม่มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็มีการ ‘อุ้มหาย’ พนักงาน 5 คนของร้านหนังสือ Causeway Bay Books ข้ามไปฝั่งจีน สืบเนื่องจากการขายหนังสือต้องห้าม จนกลายเป็นกรณีลือลั่นเมื่อปลายปี 2015

 

หนังสือเกี่ยวกับสีจิ้นผิงวางขายอยู่ทั่วไปตามแผงหนังสือริมทางและร้านหนังสือของฮ่องกง — ไม่ใช่หนังสือต้องห้าม

 

ในภาวะไม่มั่นคงแบบนี้ ผู้ชุมนุมจึงออกมาประท้วงให้ถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน และให้แครี่ แลม ผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่การประท้วงจะยืดเยื้อบานปลาย มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการจับกุมผู้ชุมนุม และคณะบริหารเรียกการกระทำของการประท้วงครั้งนี้ว่าเป็นการก่อจลาจล โดยแครี่ แลม ปฏิเสธที่จะทำตามคำขอของม็อบ

ต่อมาผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องสำคัญ 5 ข้อคือ

  1. ถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ใช่แค่พักการพิจารณา
  2. ยกเลิกข้อหาก่อจลาจล
  3. นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว
  4. สอบสวนการใช้อำนาจในทางที่ผิดของตำรวจอย่างละเอียด
  5. การเมืองเป็นสากล คนฮ่องกงมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง ในการเลือกผู้แทน และผู้ว่าการสูงสุดต้องมาจากการเลือกตั้ง

จนในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม คนฮ่องกงกว่า 1.7 ล้านคนออกมาชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ตลอดช่วงอาทิตย์หลังจากนั้น ดูเหมือนเหตุการณ์จะสงบ ช่วงปลายสัปดาห์มีการยืนจับมือกันทั่วเกาะเป็นโซ่มนุษย์เพื่อแสดงพลัง ภาพที่ปรากฏเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี ก่อนที่วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม จะมีการปะทะกันที่ฝั่งเกาลูน สถานีรถไฟ Kowloon Bay เต็มไปด้วยร่องรอยของสีสเปรย์ คำสบถและด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ แก๊สน้ำตาลูกแรกในรอบ 8 วันปรากฏขึ้นในวันนั้น นักข่าวหลายคน รวมทั้งฉันต้องวิ่งหนีแก๊สน้ำตาและการขว้างปาอิฐโต้ตอบกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

 

 

 

เช้าวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวการปะทะกันที่ฝั่งเกาลูน ตอนเช้าวันนั้นเหตุการณ์ดูสงบเรียบร้อย ก่อนที่ตอนบ่ายจะมีการเดินประท้วงขนานใหญ่ในย่าน Tsuen Wan

ผู้ชุมนุมหลายคนบอกกับฉันว่า ที่ออกมาประท้วงเพราะไม่พอใจที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน “ดูเหมือนตำรวจจะกลายเป็นศัตรูกับประชาชนไปแล้ว” คู่แม่ลูกพูดกับฉันระหว่างการเดินประท้วง

“คิดว่าข้อเรียกร้องของคุณจะเป็นไปได้มั้ย การประท้วงครั้งนี้จะสำเร็จหรือ” ฉันถาม

“ไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก ได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”

ท่ามกลางฝนชุมฉ่ำ และเสียงตะโกน “Free Hong Kong” ดังลั่นตลอดทาง ประโยคถัดจากนี้ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ฉันถามต่อไปว่า  “You want freedom for Hong Kong, right?”

หญิงสาวตอบสั้นกระชับว่า “Not me, but we.”

 

 

 

 

เราแยกจากกัน ก่อนที่ฉันจะเข้าไปนั่งในบาร์ช่วงหัวค่ำ หลังบทสนทนากับบาร์เทนเดอร์จบลง ฉันเดินออกมาจากร้านท่ามกลางฝนที่ยังโปรยปราย และมีการปะทะกันเกือบทุกหัวมุมถนน กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกเรียกว่า Black T-Shirt สวมชุดดำ ผ้าปิดปาก และหน้ากากกันแก๊สน้ำตา ยืนจับกลุ่มกัน บ้างหยุดนิ่งแล้ว บ้างยังเผชิญหน้ากับตำรวจ

กระสุนจริงนัดแรกดังขึ้นในคืนนั้น แม้ตำรวจจะยิงขึ้นฟ้า แต่สัญญาณความรุนแรงก็สร้างความประหวั่นไปทั่วเกาะฮ่องกง และทั่วโลก

 

2

 

“ตอนที่ผมตายไปแล้ว ประชาธิปไตยในฮ่องกงอาจจะเพิ่งเดินมาถึงครึ่งทางก็ได้” ช่างภาพหนุ่มคนหนึ่งบอกฉัน ที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการจะแบ่งประเทศ เพียงแต่ต้องการเสรีภาพในการเลือกตั้งและกฎหมายที่เป็นธรรมเท่านั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ฮ่องกง และเสรีภาพของคนฮ่องกง ขึ้นลงตามนโยบายของผู้นำจีน ในยุคของหูจินเถ่า รัฐบาลปักกิ่งให้เสรีภาพกับฮ่องกงมากกว่ายุคอื่นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะเมื่อปี 2007 รัฐบาลปักกิ่งสัญญาว่าจะให้ฮ่องกงมีการเลือกตั้งแบบ 1 สิทธิ 1 เสียงในปี 2017 แต่พอถึงปี 2014 ในการนำของสีจิ้นผิง จีนก็เพิ่มเงื่อนไขในการเลือกตั้งแบบ 1 สิทธิ 1 เสียงนี้ว่า ให้รัฐบาลปักกิ่งคัดเลือกผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้บริหารก่อน แล้วค่อยให้ประชาชนเลือกจากคนที่ผ่านการคัดเลือกนั้น

แน่นอนว่าคนฮ่องกงไม่พอใจ ท้ายที่สุดกฎหมายการเลือกตั้งนี้ก็ไม่ผ่านสภานิติบัญญัติของฮ่องกง ไฟที่ปะทุมาเรื่อยๆ นี้ ยิ่งปะทุแรงขึ้นในการประท้วงครั้งล่าสุด การประท้วงฮ่องกงในปี 2019 จึงเต็มไปด้วยข้อเรียกร้องที่หลากหลาย ไม่ได้หยุดอยู่แค่ประเด็นเดียว เพราะผู้ประท้วงก็ยังกลับไปพูดถึงการแก้กฎหมายเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งด้วย

“พวกเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี เรามีวิถีชีวิตในแบบของคนฮ่องกง นั่นทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนจีน” ช่างภาพคนเดิมพูดย้ำในประเด็นเรื่องความเป็นจีนกับฮ่องกง

 

 

 

ไม่ใช่แค่ช่างภาพคนนี้เท่านั้น แต่พนักงานบริษัทอีกคนก็บอกกับฉันว่า ไม่เห็นด้วยซะทีเดียวกับประโยค ‘ฮ่องกงคือจีน’

“แน่นอนว่า พลเมืองจีนและรัฐบาลก็อยากจะพูดว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนในทุกๆ มิติอยู่แล้ว แต่ในฐานะชาวฮ่องกงผมไม่ต้องการและไม่เห็นด้วยเสียทีเดียวกับประโยคที่ว่า ฮ่องกงคือจีน ผมไม่สามารถใช้เครื่องหมายเท่ากับ ระหว่างสองคำนี้ได้”

“ภายใต้ธรรมนูญการปกครอง (Basic Law) ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามหลักภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณทำตาม 1 ประเทศ 2 ระบบ ฮ่องกงยังมีสกุลเงิน ระบบกฎหมาย และระบบรัฐสภาของเราเอง เรามีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกันอย่างสิ้นเชิง และไม่ต้องการให้คนทั้งโลกคิดว่าฮ่องกงกับจีนเหมือนกัน เราต้องการให้คนแยกออกระหว่างฮ่องกงกับจีน ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นสำคัญมากที่จะให้คนตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ และผมคิดว่าชาวต่างชาติและคนฮ่องกงต่างเข้าใจเหตุผล แต่คนจีนอาจจะไม่เข้าใจ”

หลังคำตอบนี้ เมื่อถามถึง ‘ฮ่องกงในฝัน’ ของเขา เขาตอบไว้น่าสนใจว่า

“ในอนาคต ผมหวังว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยของฮ่องกงจะดีขึ้น และหวังว่าจีนจะไม่ควบคุมเสรีภาพ ทางเลือก ระบบยุติธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา ถ้าพวกเขายังต้องการให้ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนในทางภูมิศาสตร์ ผมต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ไม่ต่าง — คู่รักคู่หนึ่งที่เข้าร่วมประท้วงก็บอกว่า “เราต้องการเสรีภาพในการเลือกตั้ง ในการพูด แล้วเราก็ไม่ต้องการให้จีนมาควบคุมฮ่องกง คนฮ่องกงควรจะมีอิสระ เราเคยมีเสรีภาพมาก่อน และเราไม่ต้องการเสียมันไปให้กับจีน”

 

 

แม้ในยุคอาณานิคมอังกฤษตลอด 99 ปีที่ผ่านมา คนฮ่องกงจะไม่มีโอกาสได้เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาก็ยังมีเสรีภาพตามกฎหมายมาตรฐานที่นานาชาติยอมรับ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุนต่างชาติเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุน ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกได้ เสรีภาพในสายตาของคนฮ่องกงจึงอาจหมายถึงกฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ต้องกังวลกับความอยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ หากมีการ ‘แทรกแซง’ จากจีนได้ตลอดเวลาเช่นนี้

 

3

 

แม้ภาพที่ปรากฏแก่สายตาคนทั่วโลก ฮ่องกงจะเป็นเกาะที่อุดมไปด้วยเงินทุนคับคั่ง นักลงทุนจากทั่วโลกมุ่งหน้ามาฮ่องกง เกาะแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ทำเงินของจีนอย่างมหาศาล แต่ขณะเดียวกันฮ่องกงก็เป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โรงแรมบางแห่งเปิดหน้ารับอ่าวอย่างใหญ่โตหรูหรา แต่ถัดไปไม่กี่ช่วงถนน ก็มีอาคารเก่าโทรมอัดแน่นกันอยู่ในเมือง ยังไม่นับว่าราคาที่พักและค่าครองชีพถีบตัวขึ้นสูงชนิดที่แค่คิดก็ปาดเหงื่อ

ประเด็นความเหลื่อมล้ำนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งผลต่อข้อเรียกร้องของคนฮ่องกง บางคนเชื่อว่า ถ้าพวกเขาสามารถเลือกผู้นำได้เอง คุณภาพชีวิตพวกเขาอาจจะดีขึ้นมากกว่านี้ ไม่ใช่อยู่ในเมืองที่ดำเนินไปด้วยผลประโยชน์ของนายทุนและชนชั้นนำ ซึ่งคนฮ่องกงจำนวนมากแทบไม่ได้อะไรเลย

กับคำพูดที่ว่า ม็อบฮ่องกงเป็นม็อบของคนหนุ่มสาว อาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะยังมีคนวัยทำงาน คนสูงอายุที่ออกมาร่วมเดินขบวนด้วย เพราะที่จริงแล้วม็อบฮ่องกงเป็นการเรียกร้องของกลุ่มคนที่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว นโยบายของรัฐล้วนส่งผลต่อทุกผู้ทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ผู้คนแปะโพสต์อิทให้กำลังใจ ‘ฮ่องกง’ อยู่ตามรายทาง ทั้งบนสะพานลอยและทางเดินเข้ารถไฟใต้ดิน

 

แต่ถึงอย่างนั้น ในประชากรกว่า 7 ล้านคนของฮ่องกง ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการประท้วงครั้งนี้ สายวันจันทร์ที่ฝนยังตกกระหน่ำไม่ลืมหูลืมตา คนคุมโฮสเทลยังนั่งประจำที่ไม่ลุกไปไหน เธอบอกว่า การประท้วงส่งผลต่อโฮสเทล แม้เธอจะไม่ใช่เจ้าของ แต่นี่ก็เป็นงานของเธอ “ตอนนี้มันเหมือนฝันร้าย” เธอพูดถึงสภาพฮ่องกงในปัจจุบัน

“โลกเปลี่ยนไปตลอด เราจะคาดหวังให้ฮ่องกงเหมือนเดิมตลอดก็ไม่ได้” เธอว่า

“สาเหตุที่ฉันไม่เห็นด้วยกับการประท้วงครั้งนี้ เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ใช้วิถีทางที่ถูกต้องในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ปัญหาคือไม่ว่าจะทำแค่ไหนมันก็ไม่มีประโยชน์ นั่นคือประเด็น พอหมดหน้าร้อนพวกเขาก็ต้องไปโรงเรียน พวกเขากำลังเสียสละการเรียนเพื่อไปประท้วง”

“พวกเขาประท้วงเพราะไม่อยากยอมรับการเปลี่ยนแปลง อย่างแรกต้องคิดก่อนว่าทำไปแล้วมันมีประโยชน์มั้ย อย่างที่สองต้องคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มันส่งผลเสียจริงๆ หรือแค่ทำให้คุณไม่สบายใจ ผู้คนมองในแง่ลบเกินไป แต่เราไม่อาจคาดหวังว่าสังคมจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย อีก 100 ปี 200 ปี 1,000 ปี มันต้องมีการพัฒนา ถ้าเรามองการเปลี่ยนแปลงในแง่บวกไม่ได้ เราก็จะอยู่ที่เดิม ไม่มีความสุข แล้วก็ไม่มีการพัฒนา เราต้องตระหนักว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงเสมอ”

บทสนทนาของเราจบลงเมื่อมีนักท่องเที่ยวฝรั่งเดินเข้ามาติดต่อ เธอยังทำงานต่อไป

 

ในพื้นที่ที่ไม่มีม็อบ คนฮ่องกงยังใช้ชีวิตปรกติ ตอนกลางวันผู้คนนั่งร้องเพลงที่สวนสาธารณะ กลุ่มแม่บ้าน (maid) ชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาทำงานในฮ่องกงนั่งร้องเพลงไปพลาง อ่านไบเบิลไปพลาง กลุ่มวัยรุ่นรวมตัวกันซ้อมเต้น ในร้านกาแฟและห้างสรรพสินค้ายังเต็มไปด้วยผู้คน แผงหนังสือพิมพ์ยังมีคุณลุงนั่งอ่านหนังสืออยู่เหมือนเดิม ตกค่ำตรงกลางถนนหน้าสถานีรถไฟ Causeway Bay ผู้คนมารวมตัวกันฟังดนตรีเปิดหมวก และพร้อมใจกันร้องเสียงดังเมื่อเพลงถึงท่อนฮุค คู่รักโอบเอวและโยกหัวตามจังหวะ

สายฝน เสียงเพลง ควันบุหรี่ ยังขับกล่อมและอบอวลไปทั่วเกาะฮ่องกง แม้ในห้วงยามที่น่ากังวลที่สุดเช่นนี้

 

 

4

 

หลังฉันกลับมาที่ไทยได้ 1 อาทิตย์ ข่าวการยกระดับความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วงก็เผยแพร่ไปทั่วโลก ตำรวจฉีดสเปรย์พริกไทยเข้าไปในรถไฟใต้ดิน ใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุม มากกว่านั้นคือยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้ร่วมประท้วงแต่ก็โดนทำร้ายไปด้วย ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงสูงจนเป็นเรื่องปรกติ และดูเหมือนว่าจะไม่หยุดแค่นี้

เราถกเถียงกันเรื่องอุดมการณ์ได้ มองชีวิตในมุมของตัวเองได้ แต่การใช้ความรุนแรงกับประชาชน ไม่อาจเป็นเรื่องยอมรับได้ ไม่ใช่แค่ที่ฮ่องกง แต่คือทุกที่บนโลก ว่าแล้วก็นึกถึงคำที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมพูดด้วยแววตาคงมั่น

“Not me, but we.”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save