fbpx

ทางตันเศรษฐกิจ-เกษตรกรรมไทยในเขาวงกต ‘หนี้’: มองทิศทางเศรษฐกิจไทย กับ โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

“ต้องปรับตัว / ต้องเปลี่ยนผ่าน” ถือเป็นคำยอดฮิตที่เราได้ยินบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วรุนแรง บีบให้หลายคน หลายหน่วยงาน และหลายธุรกิจ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอด แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหนึ่งคือทุนทรัพย์ที่แต่ละคนไม่ได้มีเท่าเทียมกัน ซ้ำร้ายกว่านั้น หากเป็นคนที่กำลังจมกอง ‘หนี้’ ท่วมท้น ก็คงแทบไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิด

และนี่คือสถานการณ์ที่คนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญ เพราะจากสถิติ คนไทยมีหนี้ (เฉพาะในระบบ) มากเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสาม และหนึ่งในห้าของคนไทยที่เป็นหนี้นั้นยังเป็นหนี้เสีย ยิ่งกว่านั้น หากดูตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในภาพรวมทั้งประเทศ ก็พบว่าสูงถึงร้อยละ 88 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เมื่อเจาะลึกลงไปอีกในตัวเลขเหล่านี้ จะเห็นว่ามีคนบางกลุ่มที่มีปัญหาหนักกว่ากลุ่มอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ ‘เกษตรกร’ ที่ดูเหมือนกำลังติดหล่มหนี้เรื้อรังอย่างไม่อาจจบได้ในชั่วชีวิต แม้ที่ผ่านมาปัญหาหนี้เกษตรกรอาจไม่ใช่เรื่องที่หลายคนสนใจหยิบมาคุยกันมากนัก แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหานี้กำลังมีนัยสำคัญยิ่งต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย ในฐานะที่ภาคเกษตรกรรมคือภาคเศรษฐกิจขนาดมหึมาและเป็นแหล่งรวมแรงงานมหาศาล

ไม่ว่าจะปัญหาหนี้เกษตรกร หรือภาพใหญ่กว่านั้นอย่างหนี้ครัวเรือน จึงล้วนเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่เพียงบั่นทอนการเติบโตระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังอาจปิดประตูโอกาสในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของประเทศ จนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ภายใต้วังวนแห่งหนี้อันยิ่งใหญ่และไม่จบสิ้นนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังจะเดินไปทางไหน แล้วแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังมีหรือไม่ 101 ชวน โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (Puey Ungphakorn Institute for Economic Research: PIER) มาร่วมมองภาพปัจจุบันและอนาคตของเศรษฐกิจไทยในภาวะจมปลักหนี้

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

คุณมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างไร และมีประเด็นอะไรบ้างที่คิดว่าจะเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจ

ถ้ามองสั้นๆ ปีนี้ปีเดียว เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะถ้าเราไปดูตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตัวเลขการบริโภค ตัวเลขการจ้างงาน ฯลฯ เทียบกับก่อนโควิด-19 จะเห็นว่ามันฟื้นตัวกลับมาจริงๆ บางตัวก็สูงกว่าก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ที่เราเห็นได้ชัดอีกอย่างคือการฟื้นตัวก็เป็นแบบ uneven (ไม่เท่าเทียม ไม่ทั่วถึง) อย่างภาคการบริโภคและการท่องเที่ยวอาจจะฟื้นแล้ว แต่ฝั่งภาคการผลิต การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว เช่นเดียวกับในส่วน SMEs หรือกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากก็ยังกลับมาได้ไม่ดีเท่าไหร่

นี่เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเราในระยะยาว ขณะที่กระแสโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกก็สูงขึ้นมาก แต่ด้วยความที่โครงสร้างการผลิต การส่งออกของเราเป็นแบบเดิมๆ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานรากมีอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน ทำให้เราอาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงจากประเด็นเหล่านี้มากขึ้น และอาจตกขบวนในการฉกฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งสามารถปรับตัวจากกระแสโลกใหม่เหล่านี้ได้

ดังนั้นโดยสรุปก็คือ เศรษฐกิจเราอาจจะดีในระยะสั้น แต่เมื่อมองไปข้างหน้า เราจะเริ่มเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวชัดขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าภาครัฐอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

การที่เราฟื้นตัวแบบ uneven สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเราอย่างไร

การฟื้นตัวแบบ uneven เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราที่มีความเหลื่อมล้ำตั้งต้นอยู่แล้ว ระบบเศรษฐกิจเราส่วนใหญ่เต็มไปด้วยคนตัวเล็กและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก และเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางโอกาสมาตั้งแต่ก่อนโควิด เห็นได้จากคนบางกลุ่มอย่างกลุ่มฐานราก กลุ่มแรงงานทักษะต่ำ และกลุ่ม SME ที่มีปัญหาเรื่องการศึกษาที่น้อย การเข้าถึงแหล่งทุนที่ยากกว่า และสุขภาพทางการเงินที่เปราะบางเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดโควิดขึ้น กลุ่มนี้ถึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากกว่า และยังเป็นกลุ่มที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกระแสโลกมากกว่า เช่น climate change (ภาวะโลกรวน) ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดและกฎกติการการค้าโลกตามกระแสรักษ์โลกที่ก็ส่งผลต่อภาคเกษตร และ SME มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจและคนตัวเล็กของเราก็มีความสามารถในการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกน้อยกว่า จะเห็นว่าบริษัทใหญ่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ไปได้ไกลมากแล้ว ติดท็อป 10 ของโลกเลยด้วยซ้ำ แต่ SME กลับแทบไม่ได้ปรับตัวเลย ธุรกิจและแรงงานที่มีศักยภาพสูงก็สามารถปรับเปลี่ยนและฉกฉวยโอกาสจากกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ในขณะที่แรงงานฐานรากของเราอาจกลับถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ดังนั้น หากปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ไข การเปลี่ยนแปลงของกะแสโลกก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนตัวเล็กไม่สามารถปรับตัวได้และโดนผลกระทบที่มากกว่า

ปัญหาโครงสร้างที่ว่านี้มีเรื่องอะไรบ้าง

ปัญหาแรงงาน ทุน เทคโนโลยี หนี้ และรัฐ ซึ่งเมื่อมาประกอบกับการที่ประเทศไทยมีธุรกิจตัวเล็กและผู้ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานรากจำนวนมากและมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นทุนเดิม ก็ยิ่งทำให้ปัญหาโครงสร้างเหล่านี้หยั่งรากลึกขึ้น

หนึ่งคือเรื่องแรงงาน เพราะเราเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของเราโดยตรง เรายังมีปัญหาเรื่องการศึกษาและการสร้างทุนมนุษย์ด้วย อย่างที่เห็นได้จากผล PISA (Programme for International Student Assessment: โครงการประเมินสมรรภนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล) ที่ออกมาค่อนข้างต่ำ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อศักยภาพและความสามารถในการปรับตัวของแรงงานให้เข้ากับตลาดแรงงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

สองคือเรื่องการเข้าถึงทุน ทั้งการลงทุนภาคเอกชนและต่างประเทศที่แผ่วไป เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อเท่าไหร่ต่อการลงทุน และปัญหาการเข้าถึงทุนของ SME จำนวนมาก ซึ่งก็กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการปรับตัวเปลี่ยนผ่านตามกระแสโลกใหม่

สามคือเรื่องการใช้เทคโนโลยี ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมบ้านเรายังใช้เทคโนโลยีเก่าๆ หรือที่เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีสีน้ำตาล คือการพึ่งพาพลังงานที่ไม่สะอาด ซึ่งเรื่องนี้กำลังจะเจอความท้าทายเข้ามาเยอะมากว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรให้สามารถผลิตได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะเดียวกันเกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากก็ยังมีอุปสรรคมากมายในการใช้เทคโนโลยี และเสี่ยงตกขบวนในการฉกฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัล

สี่คือเรื่องปัญหาหนี้ ทั้งหนี้ของภาครัฐที่เริ่มเยอะขึ้นและอาจเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากภาระงบประมาณที่เยอะขึ้นในการที่เรามีประชากรสูงวัยที่ต้องดูแลมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและ SMEs ก็กำลังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่กำลังฉุดรั้งการบริโภค การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม และกำลังสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพและปรับตัวเปลี่ยนผ่าน

สุดท้ายคือเรื่องการทำงานของภาครัฐที่ยังขาดประสิทธิภาพ หากเรามองภาครัฐเป็นกลไกสำคัญที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก นี่ก็ถือเป็นความท้าทายสำคัญ

ในห้าเรื่องนี้ เราจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร คิดว่าเรื่องไหนที่ต้องแก้เร่งด่วนที่สุด

คิดว่ามันต้องแก้ไปพร้อมๆ กัน เช่น ถ้าภาครัฐไม่แก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพตัวเอง แต่พยายามจะไปแก้เรื่องหนี้หรือเรื่องแรงงาน ก็จะแก้ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาการเข้าถึงทุนหรือการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีก็อาจทำได้ยากหากครัวเรือนและธุรกิจกำลังมีปัญหาหนี้

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาล จึงมีนโยบายชุดใหม่ๆ เข้ามาด้วย ถ้าให้มองนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ คิดว่ามันตอบโจทย์การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ว่ามาทั้งหมดไหม

ต้องเรียนจากสิ่งที่เห็นในปัจจุบันว่า นโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมาแล้วดูจะเน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก เริ่มจากนโยบายแก้หนี้โดยใช้วิธีการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งจริงๆ นี่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน แต่เป็นเพียงการพยุงปัญหาหนี้ไปเฉพาะหน้ามากกว่า หรืออย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเช่นกัน และไม่ได้มองเห็นว่าจะสร้างเสริมศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมศักยภาพแรงงาน เป็นต้น

แต่เราก็ยังต้องรอดูว่ารัฐจะมีนโยบายอะไรออกมาอีกหรือเปล่าที่เป็นนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโครงสร้างระยะยาว ซึ่งก็เข้าใจว่าการออกนโยบายที่ไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

คุณพูดถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกร จริงๆ ก็มีการใช้นโยบายนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดที่รัฐบาลชุดใหม่กำลังทำนี้ก็คือครั้งที่ 14 แล้ว ในการทำนโยบายครั้งนี้ คุณมองเห็นความแตกต่างอะไรจากครั้งก่อนๆ บ้างไหม

ที่ผ่านมาทาง PIER ได้ทำงานร่วมกับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) และใช้ข้อมูล ธ.ก.ส. มาศึกษาผลกระทบของนโยบายพักหนี้ที่ผ่านมากับลูกหนี้เกษตรกร และพบว่านโยบายนี้ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยส่วนมากตกอยู่ในวงจรหนี้

นโยบายพักหนี้ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการพักนี้แบบปูพรมโดยที่คนส่วนใหญ่ได้เข้าโครงการ ยกตัวอย่างเช่นการกำหนดว่าพักหนี้คนรายได้น้อย ก็หมายถึงว่าคนรายได้น้อยทุกจังหวัดหรือทุกภูมิภาคก็เข้าโครงการได้หมด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทุกคนที่รายได้น้อยแล้วจะมีปัญหาหนี้ หรือบางทีมีการกำหนดว่าพักหนี้ให้คนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งจังหวัด ซึ่งมันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่พอพวกเขาเข้าเกณฑ์ว่าอยู่จังหวัดนั้น ก็เลยได้เข้าโครงการด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาของนโยบายแบบเดิมคือมันปูพรมค่อนข้างเยอะจนทำให้มีคนที่ไม่จำเป็นเข้าร่วมโครงการได้ด้วย

ประเด็นที่สองคือว่านโยบายแบบเดิมเป็นการทำอย่างต่อเนื่องหลายโครงการติดกัน เลยทำให้คนที่เข้าโครงการหนึ่ง สามารถกระโดดไปสู่อีกโครงการหนึ่งได้ ทำให้ลูกหนี้หลายคนไม่มีช่วงเวลาที่ต้องไปจ่ายหนี้เลยเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปี จากข้อมูลที่มีอยู่คือลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรไทย 41 เปอร์เซ็นต์อยู่ในโครงการพักหนี้มาแล้ว เกิน 4 ปี ซึ่งเขาไม่ต้องไปจ่ายหนี้เลย

นอกจากนี้ นโยบายพักหนี้ส่วนใหญ่เป็นการพักแค่ต้นเงิน ไม่ได้พักดอกเบี้ย นั่นหมายความว่าถ้าคุณเข้ามาตรการพักหนี้ คุณยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ เพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL (non-performing loan: หนี้เสีย) ซึ่งที่ผ่านมามาตรการนี้ไม่ได้สื่อสารออกไปดีเท่าที่ควร ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตรการเข้าใจว่าไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูนจนอาจมากกว่าเงินต้นไปแล้ว

เพราะฉะนั้นผลที่เห็นจากมาตรการพักหนี้ในอดีตก็คือว่า นอกจากจะมีคนเข้าสู่มาตรการเยอะและต่อเนื่องแล้ว พอออกจากมาตรการมาปุ๊บ ก็ปรากฏว่าหนี้เพิ่มขึ้นเยอะมากจากสองส่วนหลัก หนึ่งคือดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นจนเกือบเท่าหรือมากกว่าเงินต้น เพราะไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยเลย และสองคือ ต่อให้เขาเข้ามาตรการไปแล้ว แต่เขายังกู้เพิ่มได้ต่อเนื่อง ซึ่งจริงๆ โครงการควรต้องจำกัดวงกู้บ้าง ไม่อย่างนั้นก็เหมือนว่า หนี้เดิมฉันก็ไม่ต้องจ่าย และฉันก็ยังกู้เพิ่มไปได้เรื่อยๆ หนี้เลยก้อนใหญ่ขึ้นมาก และผลที่ตามมาจากการออกมาแล้วมีหนี้เยอะคือโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียก็สูงขึ้น ซึ่งก็อาจมาจากทั้งหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นและเริ่มถอดใจ หรือก็ขาดแรงจูงใจในการชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งผลตรงนี้ เราเห็นทั้งในกลุ่มลูกหนี้ที่ขาดศักยภาพในการจ่ายจริงๆ และลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่ได้เข้าพักหนี้มา นอกจากนี้ เราก็พบว่าเกษตรกรจำนวนมากเสพติดการพักหนี้จนต้องเข้าโครงการใหม่ต่อเนื่องอีกด้วย

ในช่วงที่รัฐพยายามออกแบบนโยบายพักหนี้ในรอบนี้ก็น่าจะได้นำงานวิจัยของเราไปพิจารณาด้วย ซึ่งก็จะเห็นได้ว่านโยบายใหม่ที่ออกมามีความต่างจากแบบเดิมค่อนข้างเยอะ หนึ่งคือรอบนี้ไม่ได้พักหนี้ให้ทุกคน แต่ให้บางกลุ่ม แม้กลุ่มเป้าหมายอาจจะยังไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม และสองคือ แม้ว่ามาตรการนี้ชื่อว่าการพักหนี้ แต่จุดประสงค์จริงๆ ของมันก็คือภาครัฐต้องการช่วยเกษตรกรจ่ายหนี้ตามศักยภาพ หมายความว่า ถ้าคุณเข้าพักหนี้ครั้งนี้ คุณต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดว่าต้องมีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท โดยที่ภาครัฐจะจ่ายดอกเบี้ยที่จะถึงงวดให้ ถ้าเป็นคนที่ขาดศักยภาพในการชำระหนี้ ก็สามารถหยุดจ่ายเงินต้นได้ชั่วคราว เรียกว่าเป็นการพักทั้งต้นและดอก แต่ถ้าคุณเข้าโครงการแล้ว คุณยังพอมีศักยภาพจ่ายหนี้ได้ ขณะที่รัฐก็ช่วยจ่ายดอกเบี้ยไปด้วย นั่นแปลว่าทุกบาททุกสตางค์ที่คุณจ่ายไปจะไปช่วยตัดเงินต้นได้เร็วขึ้น เท่ากับว่ารัฐช่วยให้คุณชำระหนี้ได้เร็วขึ้นนอกจากนี้นโยบายรอบนี้ยังมีการจำกัดวงเงินกู้ด้วย คือสามารถกู้เพิ่มได้ไม่เกิน 1 แสนบาทเพื่อไปทำการผลิตเท่านั้น และยังมีนโยบายในการเพิ่มศักยภาพการหารายได้ให้กับคนที่เข้าโครงการด้วย เพราะกลัวว่าพอเขาออกจากโครงการไปแล้ว จะจ่ายหนี้ไม่ได้อีก

เพราะฉะนั้น ในภาพรวมการออกแบบมาตรการครั้งนี้ถือว่าได้ใช้บทเรียนจากงานวิจัยและคิดมาค่อนข้างดี ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องการมุ่งเป้า แต่กลายเป็นว่า ตอนนำนโยบายไปใช้จริงอาจจะยังมีปัญหา เพราะการสื่อสารของ ธ.ก.ส. ยังไปไม่ถึงเกษตรกรและไม่ทำให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงประโยชน์ในการช่วยตัดต้นเงินของมาตรการในครั้งนี้ สุดท้ายมันเลยอาจทำให้นโยบายที่ออกแบบมาค่อนข้างดีไปแป๊กตอนใช้จริง แล้วผลก็จะกลายเป็นแบบเดิม ส่วนเรื่องการพัฒนาศักยภาพให้ลูกหนี้ทีเป็นเกษตรกรด้วยการจัดฝึกอบรม ก็ต้องไปดูอีกว่าเขาจะฝึกกันในรูปแบบไหน ถ้าเป็นการฝึกแบบเดิมๆ ที่เอาภาครัฐเข้ามาอบรม ก็อาจไม่ได้อะไร

ปัญหาหนี้เกษตรกรของไทยใหญ่แค่ไหน จนถึงขั้นทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ถ้าเรามองเกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเราซึ่งมีอยู่ประมาณ 5-6 ล้านครัวเรือน ก็จะพบว่าเกษตรกรไทยมีหนี้กันค่อนข้างถ้วนหน้า โดย 90 เปอร์เซ็นต์มีหนี้สิน มีภาระหนี้สูงกว่าครัวเรือนทั่วไป ทั้งยังมีหนี้หลายสัญญา และมีหนี้กับหลายสถาบันการเงิน โดยมีเจ้าหนี้หลักก็คือ ธ.ก.ส.และยังมีหนี้กับสถาบันการเงินกึ่งในระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ สถาบันการเงินชุมชนต่างๆ และหนี้จากแหล่งอื่นๆ นอกระบบ แถมหนี้สินเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นตลอด ไม่มีลดเลย คือมีทั้งหนี้เดิมที่จ่ายไม่ได้ และมีหนี้ใหม่ที่ก่อขึ้นมาทุกปี เนื่องจากเกษตรกรบ้านเราต้องทำการลงทุน ผลิต กู้เงิน หมุนเวียนทุนกันทุกปี และที่สำคัญเราพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ของเรามีภาระหนี้สินเกินศักยภาพไปแล้ว มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์มีหนี้เกินทรัพย์สินแล้ว และมีเกษตรกรเกินครึ่งหนึ่งที่ภาระหนี้เกินรายได้ไปแล้ว

ด้วยปัญหาเหล่านี้ เมื่อเราลองดูข้อมูลพลวัตหนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้ของเกษตรกร 5 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ของเรากำลังติดกับดักหนี้ที่ไม่สามารถปิดจบได้ในชั่วชีวิตนี้ โดยข้อมูลทำให้เราสามารถแยกลูกหนี้ได้เป็นสามกลุ่มใหญ่กลุ่มแรกเป็นกลุ่มสีแดง คือมีหนี้สินแต่ว่าจ่ายไม่ได้จนเป็น NPL ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่สองคือกลุ่มสีเหลือง เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่มีหนี้ และจ่ายเพียงดอกเบี้ยต่อปีเท่านั้น เงินต้นไม่ลดแถมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ เป็นปัญหาหนี้เรื้อรัง ที่แบงก์ชาติใช้คำว่า persistent debt ส่วนกลุ่มสุดท้าย อีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็คือสีเขียว คือกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สินแต่จ่ายได้ทั้งต้นและดอก ซึ่งเราอยากให้เกษตรกรทุกคนเป็นแบบนี้ คือไม่ได้หมายความว่าทุกคนห้ามมีหนี้เลย แต่หมายถึงมีหนี้ได้ และสามารถชำระหนี้ได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของการแก้หนี้เกษตรกรให้ยั่งยืนคือต้องมุ่งทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ออกจากกับดักหนี้ โดยการขยับจากกลุ่มแดงและเหลืองมาสู่กลุ่มสีเขียวให้ได้

อะไรคือรากปัญหาที่ทำให้เกษตรกรไทยมีหนี้สูงและติดกับดักหนี้

สาเหตุหลักๆ มีอยู่สามเรื่อง

เรื่องแรก ต้องย้อนไปที่ปัญหาทางโครงสร้างทางภาคเกษตรเองที่มีผลิตภาพต่ำและต้นทุนสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อยไม่พอกับรายจ่าย มีปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากรายได้ก็ไม่สม่ำเสมอ บางเดือนได้เยอะ บางเดือนได้น้อย แต่รายจ่ายคงที่ รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนของรายได้สูงด้วย เช่นบางปีอาจเจอน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนภาคเกษตรที่ทำให้เขาต้องมีชีวิตพึ่งพิงสินเชื่อ

ปัญหาที่สองคือ พอเข้าต้องมาพึ่งสินเชื่อแล้ว แต่ระบบการเงินฐานรากของบ้านเราไม่ได้ตอบโจทย์ครัวเรือนได้ดีนัก จริงๆ แล้ว เกษตรกรไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะนอกจาก ธ.ก.ส. แล้ว ยังมีสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อได้เต็มไปหมด ตั้งแต่สถาบันการเงินชุมชนหลายแห่งและนอกระบบ แต่ประเด็นคือมันไม่มีข้อมูลกลางที่จะรู้ว่าปล่อยให้คนคนหนึ่งไปเท่าไหร่แล้ว ทำให้สถาบันการเงินที่มีอยู่เยอะก็ต่างคนต่างปล่อย โดยไม่มีการควบคุม ไม่มีเครดิตบูโร จนที่สุดกลายเป็นทุกสถาบันการเงินร่วมกันปล่อยสินเชื่อจนเกินศักยภาพลูกหนี้ แถมธนาคารก็ไม่มีกลไกการบังคับชำระหนี้ที่จูงใจให้ลูกหนี้จ่ายคืน เพราะไม่มีนโยบายยึดที่ดินจำนอง และกลไกกลุ่มในการบังคับชำระหนี้กลุ่มค่อนข้างอ่อนแอ และไม่มีเครื่องมือที่ทำให้เขาจ่ายหนี้ได้สะดวกและมีวินัยขึ้นเหมือนลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ

ปัญหาที่สามคือเรื่องนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีอยู่สองประเภท หนึ่งคือนโยบายช่วยเหลือ เช่น มาตรการพักหนี้ ที่ทำให้ขาดแรงจูงใจในการชำระหนี้ และอีกประเภทหนึ่งคือนโยบายส่งเสริมการเกษตร เช่นการให้เงินทุนไปทำสิ่งต่างๆ เช่น ซื้อทรัพย์สินทางการเกษตรอย่างโดรน แต่สุดท้ายถ้านโยบายเหล่านั้นขาดการติดตามผลลัพธ์ต่อเนื่อง สิ่งที่เขาลงทุนมาก็ใช้การไม่ได้ และสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือหนี้ที่สูงขึ้น  

ดังนั้นสรุปคือมันมีทั้งปัญหาโครงสร้างภาคเกษตร ปัญหาระบบการเงินฐานราก และนโยบายของรัฐที่เข้ามาเสริมปัญหา ทำให้คนเป็นหนี้มากขึ้นและไม่มีแรงจูงใจในการชำระหนี้จนเหมือนเสพติดการช่วยเหลือ ซึ่งสุดท้ายมันเลยกลายเป็นงูกินหาง เกิดเป็นวงจรหนี้แล้วเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นปัญหาสามเส้าที่ต้องแก้ไปด้วยกัน แก้อันเดียวไม่ได้

จากสถานการณ์หนี้เกษตรกรที่ว่ามานี้ แปลว่าถึงอย่างไรนโยบายพักหนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นหรือเปล่า หรือที่จริงแล้วมีนโยบายอื่นที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่านี้

โดยทั่วไปแล้ว ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร มาตรการพักหนี้แทบจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะดึงมาจากลิ้นชัก จริงๆ ไม่ควรดึงออกมาด้วยซ้ำถ้าเป็นไปได้ เพราะมาตรการพักหนี้คือการที่รัฐเข้าไปแทรกแซง แต่ตามหลักของการทำนโยบายสาธารณะ ถ้าถามว่ารัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงตอนไหน มันควรจะเข้าตอนที่ตลาดหรือผู้เล่นต่างๆ ทำเองไม่ได้หรือล้มเหลวแล้ว รัฐถึงค่อยเข้าไป แต่ของเรากลายเป็นว่ารัฐเข้าไปทุกปีเลย มันเลยทำให้สถาบันการเงินไม่มีแรงจูงใจที่จะช่วยลูกหนี้ และเกษตรกรเองก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือตัวเอง เพราะเดี๋ยวรัฐก็เข้ามาช่วย

ถ้ามาดูภูมิทัศน์ของนโยบายแก้หนี้เกษตรที่ผ่านมา หลักๆ ก็มีมาตรการพักหนี้ที่ทำได้เพียงช่วยคนที่จ่ายหนี้ไม่ได้ไม่ให้กลายเป็น NPL มากขึ้น แต่สุดท้ายการพักหนี้ก็ไม่ช่วยดันให้คนสามารถจ่ายหนี้ได้มากขึ้นแต่อย่างใด ในขณะที่ ธ.ก.ส. เองที่มี KPI (ตัวชี้วัด) ในการช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPL ก็มีหลายมาตรการออกมาช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยิ่ง ธ.ก.ส.ทำงานดีเท่าไหร่ เราจะเห็นลูกหนี้กลุ่มสีแดงก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะคนจะเริ่มจ่ายหนี้ได้ ไม่เป็น NPL และจะขยับมาสู่กลุ่มสีเหลือง แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีทางตัดต้นเงินได้ ทำให้ไปสู่สีเขียวไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มสีเหลืองก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่าถ้าจะแก้หนี้เกษตรให้ยั่งยืนต้องทำอย่างไร และรัฐจะมีบทบาทอะไรได้บ้าง หลักๆ คือต้องไปให้ความสำคัญกับการช่วยลูกหนี้กลุ่มเรื้อรังสีเหลืองซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด กลุ่มนี้กำลังติดกับดักหนี้เพราะจ่ายแต่ดอกเบี้ยอยู่ ต้องช่วยให้เขาเริ่มจ่ายเงินต้น ขยับไปเป็นสีเขียวให้ได้ และหนี้ลดได้ในระยะยาว แต่ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มสีเหลืองมีปัญหาอะไรที่ทำให้เขาจ่ายหนี้โดยไม่เคยไปตัดต้นเงินได้ ก็พบว่ามีอยู่สามปัญหาหลัก

ปัญหาแรกคือปริมาณหนี้มีเยอะเกินกว่าศักยภาพในการจ่ายหนี้ ทำให้งวดหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละปีมีปริมาณมาก และเมื่อลักษณะหนี้ของเกษตรกรเป็นแบบ amortization หรือต้นลดดอกลด และเงินที่ชำระจะไปตัดดอกเบี้ยให้หมดก่อนที่จะไปตัดเงินต้น เงินที่เกษตรกรมีจึงเพียงพอแค่ไปจ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ได้ไปตัดเงินต้นได้เลย เพราะฉะนั้นกระดุมเม็ดแรกที่จะเปิดประตูออกให้กลุ่มสีเหลืองออกจากกับดักหนี้ได้ คือการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพก่อน ซึ่งก็เริ่มจากการยืดอายุสัญญาเพื่อให้งวดต่อปีลดลง พอให้เงินที่มีจ่ายแล้วไปตัดต้นเงินได้บ้าง ซึ่งอาจจะฟังดูง่าย แต่ถ้าทำจริงๆ ก็มีความยากในสองประเด็น

ประเด็นแรกเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่สถาบันการเงินต้องไปสอบทานลูกหนี้เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพที่แท้จริง ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก ภายใต้บริบทที่เกษตรกรไม่ได้มีรายได้มาพร้อมรายจ่าย รวมถึงรายได้เขาก็มาหลายทางแต่ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอน ดังนั้นการมีข้อมูลมากพอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้ามีข้อมูล ธ.ก.ส. จะสามารถเข้าใจศักยภาพของลูกหนี้ได้ถ่องแท้ และเมื่อเข้าใจ ก็ทำให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ตรงศักยภาพได้จริง แต่ประเด็นที่สองคือ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่สูงอายุ ทำให้การยืดสัญญาทำได้ไม่มาก ไม่ได้ช่วยให้งวดลดมากนัก ดังนั้นหากจะทำให้โครงสร้างหนี้ตรงศักยภาพจริงๆ ธนาคารจะต้องมีการลดดอกเบี้ย หรือปรับลำดับชำระในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะสร้างต้นทุนให้กับธนาคารเป็นจำนวนมาก ดังนั้นธนาคารเองก็อาจไม่มีแรงจูงใจที่จะช่วยมากนัก เพราะฉะนั้นถึงเรารู้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้สำคัญ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพที่แท้จริง

ปัญหาที่สองคือ ถึงเกษตรกรจะมีเงินพอที่จะจ่ายตัดต้น ก็อาจไม่ได้มีแรงจูงใจในการจ่ายเงินต้น จากที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลมา เราพบว่าเกษตรกรเลือกจ่ายหนี้ ธ.ก.ส. เป็นรายสุดท้ายเลย และเลือกจ่ายน้อยที่สุดที่เป็นไปได้ นั่นก็คือจ่ายเพียงดอกเบี้ย เนื่องจากการบังคับชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. ค่อนข้างอ่อน เกษตรกรทราบดีว่าไม่มีนโยบายยึดที่ดินจำนองของเกษตรกร ดังนั้นเลยไม่มีกลไกที่มากพอที่จะไปบังคับให้เกษตรกรจ่ายหนี้

และปัญหาที่สามคือ ธ.ก.ส. ไม่ได้มีเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรจ่ายเงินได้อย่างสะดวกและมีวินัย เหมือนลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ เช่น พวกเราที่จ่ายบัตรเครดิตรายเดือน เราสามารถตั้งให้โอนเงินอัตโนมัติแต่ละเดือนได้ แต่สำหรับเกษตรกร เนื่องจากธนาคารยังอยากให้มีความยืดหยุ่นเพราะไม่ได้มีรายได้ประจำทุกเดือน งวดหนี้จึงเป็นแบบรายปี แต่ปัจจุบันเกษตรกรไทยไม่ได้ได้รายได้เป็นรายปีอีกต่อไปแล้ว เขาได้รับรายได้เข้ามาทุกเดือนทั้งจากงานนอกภาคเกษตร และเงินโอนลูกหลาน แต่พอได้เงินมาทุกเดือน โดยงวดชำระยังไม่ถึง ตามธรรมชาติทุกคนก็จะมี behavior bias (พฤติกรรมลำเอียง) เช่น การผัดวันประกันพรุ่ง หรือนำเงินไปใช้อย่างอื่นก่อน และสุดท้ายก็ไม่สามารถสะสมเงินก้อนมาจ่ายตอนถึงงวดได้ และธนาคารก็ยังไม่ได้มีเครื่องมือที่จะช่วยให้เกษตรกรจ่ายได้บ่อยขึ้น และการชำระหนี้ต้องไปสาขาเป็นหลัก ทำให้มีต้นทุน ดังนั้นหากเขามีเงินเหลือใช้ต่อเดือน 1,000-2,000 บาท อาจไม่คุ้มที่จะเดินทางไปจ่ายเพราะต้องเสียค่ารถอีก 300 บาท

ดังนั้น การจะแก้หนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืนได้ต้องพยายามแก้อย่างองค์รวม ซึ่งองค์รวมที่ว่านั้นต้องเริ่มตั้งแต่

หนึ่งคือมีข้อมูลมากพอที่จะให้ธนาคารเข้าใจว่ากลุ่มไหนเป็นสีแดง เหลือง หรือเขียว และมีข้อมูลให้ธนาคารสามารถปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้ตามศักยภาพได้อย่างแท้จริง และข้อมูลที่มากพอจะให้ธนาคารและสถาบันการเงินเกษตรกรอื่นๆ สามารถปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงจริงได้

สองคือต้องให้ความสำคัญกับการแก้หนี้เดิมที่มีปริมาณมาก และเกษตรกรยังจ่ายแต่ดอกเบี้ยอยู่ เพื่อให้ชำระไปถึงต้นเงินได้และหนี้ลดลงในระยะยาว ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพ การมีเครื่องมือจูงใจและช่วยให้เกษตรกรชำระหนี้อย่างมีวินัยขึ้นและสะดวกขึ้น

สามคือแก้หนี้เดิมอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะว่าทุกปีลูกหนี้ก็กู้หนี้ใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการปล่อยหนี้ใหม่อย่างไรให้ยั่งยืน สามารถจ่ายคืนได้โดยไม่กลายเป็นไปทบหนี้เดิมอีก ซึ่งนอกจากจะต้องส่งเสริมให้ธนาคารใช้ข้อมูลในการปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงที่แท้จริงแล้ว ในต่างประเทศยังมีกลไกประกันสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยจ่ายหนี้ให้เกษตรกรตรงเข้าธนาคารหากเกิดภัยพิบัติเช่น น้ำท่วม น้ำแล้งทำให้ผลผลิตเสียหายและกระทบต่อความสามารถชำระหนี้

สี่คือ นอกจากแก้หนี้แล้ว ต้องทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น มีศักยภาพในการจ่ายหนี้มากขึ้นด้วย

และห้าคือการให้ความรู้การจัดการเงิน และทำให้เขามีภูมิคุ้มกัน เพราะสุดท้ายแล้ว ถึงศักยภาพของเขาจะดีขึ้น แต่พอมีภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากระทบต่อภาคเกษตร โดยที่เขาไม่มีภูมิคุ้มกัน สุดท้ายเขาก็จะกลับไปมีปัญหาหนี้เหมือนเดิม ดังนั้นการมีระบบประกันภัยพืชผลที่มีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งจำเป็น

รัฐจะมีบทบาทอะไรได้บ้างในการช่วยแก้ไขหนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

รัฐช่วยได้มาก และจะมีบทบาทสำคัญหากเข้าไปให้ถูกที่ ดังที่เล่าไปข้างต้นว่า จริงๆ แล้วการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพจะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการปลดแอกเกษตรกรจำนวนมากที่ติดกับดักหนี้ให้ออกจากวังวนหนี้ได้ แต่ธนาคารไม่มีแรงจูงใจที่จะทำเพราะมีต้นทุนมาก รัฐสามารถเข้ามามีบทบาทตรงนี้ได้ โดยอาจสนับสนุนงบประมาณในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการลดภาระหนี้ หรือปรับลำดับชำระในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจ่ายหนี้ไปถึงเงินต้นได้และลดหนี้ได้ในระยะยาว ซึ่งก็จะต้องมุ่งเป้าไปสู่กลุ่มลูกหนี้สีเหลืองซึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง อีกด้านหนึ่ง รัฐอาจสามารถไปกำหนด KPI ของธนาคารใหม่ให้หันมาช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มใหญ่นี้ นอกจากนี้ รัฐอาจมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการสร้างและแชร์ข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินเกษตรกรได้

เราพูดได้ไหมว่าปัญหาหนี้เกษตรกรไทยกำลังเป็นภัยคุกคามใหญ่ของเศรษฐกิจไทย หรือถามอีกอย่างคือถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ มันจะพาประเทศไทยไปสู่อะไร

อย่างแรกคือประเทศไทยมีครัวเรือนเกษตรคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเยอะมาก และที่สำคัญ กับดักหนี้ที่เกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นกับดักการพัฒนาในอนาคตให้กับครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะพอมีหนี้สูงแล้ว ภูมิคุ้มกันจะน้อยลง ทำให้เปราะบางต่อแรงกระแทกต่างๆ มากขึ้น และในอนาคตก็จะเข้าถึงสินเชื่อใหม่ที่เกษตรกรจะสามารถนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ หรือปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ยาก และแน่นอนว่าถ้ายังแก้ไม่ได้ มันจะไปสู่ปัญหา ‘หนี้ข้ามรุ่น’ เพราะหนี้ 50-60 เปอร์เซ็นต์ที่จ่ายไม่ได้ในปัจจุบันก็จะข้ามรุ่นไปสู่อีกเจเนอเรชันหนึ่ง กับดักการพัฒนาก็จะข้ามรุ่นไปเรื่อยๆ ด้วย ท้ายที่สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นภาระงบประมาณของรัฐสูงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าจะแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรที่ต้นเหตุ ซึ่งต้นเหตุข้อหนึ่งที่คุณพูดก็คือปัญหาโครงสร้างภาคเกษตรของไทย แล้วถ้าเราจะต้องปรับโครงสร้างภาคเกษตร จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง

โจทย์ใหญ่โจทย์แรกคือจะทำอย่างไรให้ผลิตภาพและรายได้เพิ่มขึ้น ก็ต้องดูก่อนว่าทำไมผลิตภาพถึงน้อย สาเหตุแรกคือแรงงานในภาคเกษตรที่เข้าสู่ภาวะสูงวัยเร็วกว่าประชากรไทยทั่วไป สองคือแรงงานขาดศักยภาพ เพราะมีการศึกษาน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ และสามคือแรงงานในภาคเกษตรมีอยู่เยอะมากเกินไป

ในเมื่อแรงงานภาคเกษตรเยอะเกินไป เลยเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะให้แรงงานส่วนที่ไม่ได้มีศักยภาพออกนอกภาคเกษตรไปสู่ภาคอื่น แล้วให้คนที่มีศักยภาพสูงยังคงอยู่ ซึ่งการจะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ต้องอาศัยนโยบายที่มากกว่าแค่เรื่องการให้การศึกษา แต่มันรวมถึงจะต้องไปมุ่งให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท ทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เติบโตในชนบทด้วย ซึ่งก็จะช่วยให้คนภาคเกษตรมีรายได้เสริมนอกภาคได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้อีกสิ่งที่ต้องทำก็คือการ upskill-reskill (พัฒนาทักษะและเรียนรู้ทักษะใหม่) แรงงานในภาคเกษตร ให้มีผลิตภาพในภาคเกษตรมากขึ้น หรือให้มีความสามารถในการทำงานนอกภาคเกษตรได้

อีกเรื่องที่ต้องทำเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรคือการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น เริ่มต้นจากการใช้พันธุ์ที่ดี การทำเกษตรแม่นยำ (prediction farming) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยทั้งเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน และเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ซึ่งโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้เกษตรกรในวงกว้างสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ในปัจจุบัน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ยังกระจุกอยู่เพียงแค่ในคนหยิบมือเดียว แม้รัฐและคนทุกคนจะมองว่านี่คือเรื่องที่เราต้องทำ แต่มันมีปัญหาในการขยายผลชัดเจน เพราะในอดีตและในงานวิจัยเก่าๆ เรามักจะบอกว่าเหตุผลที่เกษตรกรไม่ใช้เทคโนโลยีอาจมีสาเหตุจากไม่มีเงินทุนหรือองค์ความรู้ แต่จริงๆ มันยิ่งกว่านั้นเยอะมาก งานวิจัยใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่ามีทั้งปัจจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของเกษตรกร ปัจจัยเรื่องความเสี่ยงต่างๆ และปัจจัยเรื่องหนี้เดิมที่มีอยู่เยอะ จนทำให้เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้

เพราะฉะนั้นโจทย์ของเรื่องนี้อาจไม่ได้แก้ได้จากการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีเป็นรายคนอีกต่อไป แต่ต้องมองทั้ง ecosystem (ระบบนิเวศ) และต้องส่งเสริมตั้งแต่ปลายน้ำคือผู้รับซื้อ เพราะมันมีประเด็นว่าต่อให้เกษตรกรจะใช้เทคโนโลยีในการผลิตแล้ว ก็มีความไม่แน่นอนว่าเขาจะขายได้ที่ไหนและขายได้จริงไหม มันเลยต้องมีการการันตีจากผู้รับซื้อด้วยว่าเขาจะซื้อ รวมทั้งการันตีผลตอบแทนให้เขาด้วย

ในเรื่องนโยบายภาคเกษตร เร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีการเดินหน้าให้สิทธิในที่ดินทำกินแก่ชาวบ้านผ่านโฉนด ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) คุณว่านโยบายนี้จะช่วยภาคเกษตรได้ไหม

ปัญหาโครงสร้างของเกษตรกร นอกจากเรื่องผลิตภาพ แรงงาน และเทคโนโลยีแล้ว เรื่องที่ดินก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะในปัจจุบันมีเกษตรกรแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเจ้าของที่ดินเอง ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าอยู่ ซึ่งมีทั้งปัญหาเรื่องต้นทุนสูง และยังมีประเด็นว่าพอเป็นการเช่าที่ดินแล้ว ก็ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนทำให้ที่ดินมีคุณภาพสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนที่ดินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันก็ส่งต่อไปถึงปัญหาที่ว่าคนจะไม่ปรับตัว ไม่ใช้เทคโนโลยี ดังนั้นถ้าเราอยากให้คนลงทุนเพื่อเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ใช้เทคโนโลยีและปรับตัว ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุ นั่นคือต้องสร้างความเป็นเจ้าของที่ดินให้กับเขา

แต่นโยบายอาจติดปัญหาเช่นเดียวกับนโยบายแจกที่ดินทำกินกว่า 36.4 ล้านไร่ในอดีตนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) มาในปี 2518 ที่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้ที่ดินได้ เพราะที่ดินจำนวนมากไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตร แล้วเกษตรกรก็ไม่อาจนำที่ดินไปใช้ประโยชน์นอกภาคเกษตรได้ เพราะฉะนั้นนโยบายนี้เลยเป็นอีกนโยบายที่ตอบโจทย์ในเชิงแนวคิด แต่อาจไม่ตอบโจทย์ในการนำไปใช้จริงเท่าไหร่

ความท้าทายใหญ่อีกเรื่องหนึ่งต่อคนในภาคเกษตรกรรมที่กำลังซ้อนเข้ามา คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่คุณพูดถึงก่อนหน้า เรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ขนาดไหนต่อภาคเกษตรกรรมของไทย และพอมีแนวทางรับมือได้ไหม

จริงๆ ประเทศไทยติดท็อป 10 ของโลกในแง่การได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย ซึ่งหลักๆ เป็นเพราะ หนึ่งในสามของคนไทยอยู่ในภาคเกษตร ภาคเกษตรเป็นภาคที่ได้รับความเสี่ยงเยอะในสองขา

ขาหนึ่งก็คือ physical risk (ความเสี่ยงทางกายภาพ) เพราะเราเริ่มเห็นภาวะ extreme weather (สภาพอากาศแบบสุดขั้ว) นำไปสู่ภัยธรรมชาติที่จะเกิดหนักขึ้นและบ่อยขึ้น และเราก็เริ่มเห็นชัดแล้วในบางพื้นที่ของประเทศไทยซึ่งมีน้ำท่วม-น้ำแล้งเยอะขึ้น แล้วคนที่ต้องมาได้รับผลจากภัยพิบัติและได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐก็เยอะขึ้น พอภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว เกษตรกรเองอาจจะช่วยเหลือตัวเองหรือปรับตัวเองได้บางส่วนหรืออาจจะช่วยกันเองในชุมชน แต่ก็ทำได้ยาก เพราะอย่างเวลาเกิดน้ำท่วม มันก็ท่วมทีทั้งชุมชน มันเลยต้องมีการช่วยเหลืออีกขั้นคือการใช้กลไกตลาด เช่น การประกันภัยพืชผล อย่างที่ต่างชาติทำกัน แต่ของเรายังทำไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ นอกจากนั้นภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วย แต่ตรงนี้ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน

อีกขาหนึ่งที่ภาคเกษตรโดนเต็มๆ ก็คือแง่เศรษฐกิจ เพราะภาคเกษตรเองเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ ขณะที่โลกเริ่มมีการใช้มาตรการทางการค้าในการกีดกันสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถ้าภาคเกษตรของเราไม่ปรับตัวก็จะส่งผลต่อการเข้าถึงตลาด เลยเป็นโจทย์ว่าจะมีการทำ mitigation (การบรรเทาปัญหา) และ adaptation (การปรับตัว) อย่างไรให้การผลิตในภาคเกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อจะได้นำไปขายได้

เพราะฉะนั้น ภาพใหญ่ของเรื่องนี้คือเราได้รับผลกระทบเยอะแต่ยังรับมือได้ไม่ดี ประเทศไทยติดท็อป 10 ในเรื่องการได้รับผลกระทบ แต่เป็นที่โหล่ในเรื่องความสามารถในการรับมือ แล้วภาคเกษตรก็เป็นภาพสะท้อนปัญหานี้ ทั้งการรับมือในแง่การประยุกต์ใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการเมื่อเกิดความเสียหายที่ยังทำไม่ดี และเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับตัวก็ยิ่งทำไม่ได้

ในทุกปัญหาที่คุณพูดมามีสาเหตุหนึ่งอยู่เสมอก็คือปัญหาของภาครัฐ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องการออกนโยบายที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเน้นประชานิยมเสียเยอะ คุณว่าอะไรคือต้นเหตุที่ทำให้รัฐไทยมีแนวคิดทางนโยบายแบบนี้ และถ้าภาครัฐจะต้องคิดใหม่เรื่องนโยบายเกษตรกรรม ควรจะมีแนวทางอย่างไร

ภาคเกษตรเป็นภาคที่ติดกับดักนโยบาย เพราะเป็นภาคที่มีฐานเสียงใหญ่และเสียงดัง ทำให้การออกนโยบายในภาคเกษตรไปเน้นประชานิยมเสียเยอะ ถ้าจะให้ ต้องให้เยอะ ให้ทุกคน เพราะฉะนั้นการออกนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเลยมีความยากในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นปัญหาคลาสสิกที่ทุกประเทศเจอ อย่างสหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลียก็เจอ

แต่ถ้าถามว่าเมื่อมองไปข้างหน้า ภาครัฐจะช่วยเหลือภาคเกษตรให้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรบ้าง แนวโน้มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศคือก็ต้องช่วยเหลือไปตามเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เป็นอยู่นี่แหละ แต่การช่วยเหลืออาจต้องมาพร้อมการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาหน่อยเพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับตัว เช่น จากเดิมเราให้เงินทุนสนับสนุนต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนเก็บเกี่ยวทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็อาจจะสร้างเงื่อนไขว่า รัฐจะให้ต่อเมื่อคุณปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น ลดความเสี่ยงต่อ climate change ได้มากขึ้น หรือมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เป็นต้น

อีกเรื่องที่อยากชวนรัฐคิดใหม่ทำใหม่คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยส่งเสริมการเกษตร ซึ่งอาจจะทำได้อย่างตรงจุดและแม่นยำกว่าการส่งเสริมโดยภายรัฐในปัจจุบันที่เป็นลักษณะการส่งเสริมแบบปูพรมให้ทุกที่ทำเหมือนกัน

ถ้าให้สรุป ปัญหาภาคเกษตรกรรมของไทยในวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนขนาดไหนต่อเศรษฐกิจไทย

จริงๆ แล้วภาคเกษตรว่าด้วยเรื่องการผลิตอาหาร ในอนาคตถึงอย่างไรคนก็ต้องกินอาหารอยู่ดี และตอนนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร นี่จึงเป็นโอกาส ซึ่งมันก็เป็นโชคดีของเราที่เรามีทรัพยากร และมีภาคเกษตรที่ค่อนข้างใหญ่ หากเราสามารถปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ของเราสามารถเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าของผลผลิต และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ครัวเรือนเกษตรจำนวนมากของเราสามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนและหนี้สินได้

แต่ขณะเดียวกันโลกก็ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ถ้าเรายังปล่อยให้ภาคเกษตรเป็นไปในโครงสร้างปัญหาปัจจุบัน ก็จะต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและความท้าทายต่างๆ มากขึ้น จนที่สุดครัวเรือนเกษตรจำนวนมากต้องตกอยู่ในวงจรหนี้และวงจรของการไม่พัฒนา

เพราะฉะนั้น เราต้องชิงปรับโครงสร้างภาคเกษตรอย่างเร็วที่สุดเพื่อขึ้นขบวนรถไฟที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยหลุดพ้น แทนที่จะติดกับดักหนี้และความยากจน

ถอยออกมาจากภาคเกษตรกรรม จะเห็นว่าที่จริงไม่ใช่แค่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้นที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจริงๆ แล้วมันถือว่าเป็นความท้าทายใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเลย อย่างที่คุณพูดแต่ต้นว่ามันคือหนึ่งในปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเรา ในวันนี้คุณมองปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยใหญ่แค่ไหนและเป็นภัยคุกคามขนาดไหนต่อเศรษฐกิจไทย

ครัวเรือนไทยภาพรวมมีปัญหาอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่เยอะ คิดเป็นประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าถ้ามีรายได้ 100 บาท ก็เป็นหนี้ไปแล้ว 90 บาท แล้วถ้าเราเจาะลึกลงมาว่าปัญหาหนี้อยู่ที่สินเชื่อประเภทไหน มันก็ยิ่งทำให้ภาพของปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งที่น่ากลัวขึ้นอีก เนื่องจากหนี้ของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่อยู่ในหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่นสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างหนี้บัตรเครดิต ซึ่งมันต่างจากภาวะหนี้ครัวเรือนของต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เอาไปลงทุนในทรัพย์สินหรือลงทุนในการประกอบอาชีพแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา ถ้ากลับมามองของไทย นอกจากหนี้จะไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้ว ดอกเบี้ยก็สูงและมีงวดจ่ายเยอะ การพลาดจ่ายเพียงไม่กี่งวดก็ทำให้ดอกเบี้ยทบขึ้นมาจนมีความเสี่ยงที่หนี้จะสูงขึ้นมาเป็นเท่าตัวได้ง่ายๆ และนอกจากนี้ลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยก็เริ่มมีพฤติกรรมเป็นหนี้เรื้อรัง คือจ่ายแค่ minimum pay (จ่ายขั้นต่ำ) ทำให้ติดกับดักหนี้

และเมื่อเราไปดูว่าหนี้อยู่กับใคร ซึ่งก็เห็นว่ามีปัญหาชัดเจนเหมือนกัน เพราะพบว่าคนไทยมีหนี้ในช่วงอายุที่เร็วกว่าต่างชาติ โดยคนที่เป็น first jobber (คนที่เพิ่งเรียนจบและทำงานแรก) จากที่เราเจอ มีราวหนึ่งในสองแล้วที่เป็นหนี้สิน และจากจำนวนตรงนี้ก็มีหนึ่งในห้าที่มี NPL ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นเราเห็นชัดเจนว่าปัญหาหนี้มากระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มอายุน้อย ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะกลุ่มคนที่เป็นแรงงานสำคัญในอนาคตต้องมามีปัญหาหนี้เสียก่อน มันจะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อปรับตัวและเพื่อการลงทุนยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ และไม่ใช่แค่ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วเท่านั้น แต่ยังเป็นหนี้นานไปจนแก่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเกษตรกรที่แก่แล้วยังมีหนี้เยอะอยู่

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มข้าราชการและกลุ่มครัวเรือนฐานรากที่มีสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เป็นจำนวนมากโดยไม่ได้มีข้อมูลมาตรวจสอบ ทำให้มีหนี้ปริมากเกินศักยภาพรวมถึงหนี้นอกระบบ และในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด มันก็ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้รุนแรงขึ้นอีก คนที่มีหนี้ชำระไม่ได้เดิมก็กลายเป็น NPL เร็วมาก ส่วนคนที่เดิมไม่มีหนี้ก็มามีหนี้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการออก soft loan (สินเชื่อฟื้นฟู) ของรัฐบาล และมีบางส่วนที่จ่ายคืนไม่ได้ กลายเป็นว่าเขาเพิ่งเข้ามาเป็นหนี้ แต่ก็ต้องมาติดเครดิตบูโรเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนรายได้น้อย

เห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วเราจะมีแนวทางออกจากปัญหานี้อย่างไร ถ้าเราแก้ไม่ได้ มันจะพาประเทศเราไปสู่อะไร

ต้องแก้อย่างครบวงจรตั้งแต่ระยะก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเมื่อหนี้มีปัญหา ซึ่งแนวคิดก็คล้ายกับการแก้หนี้เกษตรกร จะไปแก้แค่บางช่วงบางตอนหรือแก้เฉพาะหน้าไม่ได้ แล้วก็ต้องแก้ทั้งจากฝั่งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ โดยแบงก์ชาติเองก็มีการออกเกณฑ์ responsible lending หรือการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ถ้าเป็นช่วงก่อนเป็นหนี้ ก็มีการกำหนดเช่น การโฆษณาสินเชื่อต้องโฆษณาตามจริง ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่เขียนแค่ว่าดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ แล้ว 0 เปอร์เซ็นต์แค่เดือนเดียว เป็นต้น ต่อมาถ้าเป็นระยะของการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ก็ต้องมีกลไกการบังคับชำระหนี้ เช่นเดิมบางธนาคารอาจตั้งค่าเริ่มต้นของแอปพลิเคชันให้คนจ่ายบัตรเครดิตในมูลค่าขั้นต่ำอยู่ ก็ต้องมีการเปลี่ยนให้ตั้งค่าเป็นการจ่ายเต็ม ถ้าจ่ายไม่ได้จริงๆ ถึงค่อยไปจ่ายแบบขั้นต่ำ นอกจากนี้สำหรับคนที่มีปัญหาหนี้แล้ว ก็ต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งก็มีหลายโครงการจากหลายหน่วยงาน เช่น คลินิกแก้หนี้

ตัวลูกหนี้เองก็ต้องมีการส่งเสริมให้เป็น responsible borrower โดยการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งก็จะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งในด้านนี้ก็จะมีการนำไปใส่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน

แนวทางแก้ปัญหานี้อีกอย่างคือต้องแก้อย่างเป็นองค์รวม ซึ่งคล้ายกับการแก้หนี้เกษตรกรเหมือนกัน คือต้องลดหนี้เดิมให้ได้ ต้องเพิ่มศักยภาพในการจ่ายหนี้ให้เขา รวมถึงต้องมีการสร้างวินัยและภูมิคุ้มกันทางการเงินให้เขาด้วย นอกจากนี้การจะมีนโยบายอะไรก็แล้วแต่ต้องทำอย่างตรงจุด ไม่ไปกระตุ้นให้สร้างภาระหนี้เพิ่ม และขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลดโอกาสคนในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ ซึ่งฟังดูมีหลายหน้างาน ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือภาคเอกชนส่วนอื่นๆ

สุดท้ายถ้าเราแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้ มันจะส่งผลต่อการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศชัดเจน ด้านแรกคือฉุดรั้งการใช้จ่ายและการลงทุน และด้านที่สองคือทำให้ขาดภูมิคุ้มกันในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางเดิมอยู่แล้วหรือมีปัญหาหนี้หนักอยู่แล้ว ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเยอะและมีความเสี่ยงใหม่ๆ เข้ามาเยอะมาก สุดท้ายแล้วประชาชนจะมีข้อจำกัดในการปรับตัวรับกับกระแสโลกใหม่ รวมถึงไม่สามารถฉวยโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้ในอนาคต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save