fbpx

Soft Power ที่คุณฝันถึงและข้อคำนึงบางประการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กลายเป็นคำที่ใช้กันเกร่อในสังคมบ้านเราขนาดหนัก ทั้งในยุทธศาสตร์ใหญ่ที่รัฐบาลภูมิใจนำเสนอ ในสื่อที่พากันหยิบมาใช้ให้ดูอินเทรนด์และขบขัน ไปจนถึงการโต้วาทีเชิงนโยบายภายใต้หัวข้อซอฟต์พาวเวอร์ บริบทสังคมเช่นนี้กระทุ้งนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในไทยให้ต้องออกมามีปฏิกริยาบางอย่างต่อแนวคิดนี้ที่เคยบูมอยู่พักใหญ่ภายในศาสตร์ และเบื่อหน่ายชินชากันไปแล้วหลายระลอก

คำว่า ‘soft power’ ที่ติดเทรนด์อยู่เฉพาะในประเทศไทยขณะนี้ เป็นกระแสและข้อถกเถียงกันข้างนอกนั่นมานานมากแล้ว ย้อนกลับไปสมัยที่ผู้เขียนโตพอจะรู้ความได้หมาดๆ น่าจะทราบกันเป็นส่วนใหญ่แล้วว่า โจเซฟ เอส. ไนย์ จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) เป็นผู้เผยแพร่ศัพท์คำนี้ครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว โดยมีจุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อชี้แนะว่ารัฐ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาควรปรับวิถีการใช้อำนาจบนเวทีโลกของตนอย่างไร เพื่อรับมือกับสภาวการณ์ใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น

แต่แนวคิดของไนย์โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อสหรัฐฯ เผชิญกับศัตรูแนวใหม่ที่เผยตัวในเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 (9/11) นั่นคือกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องเกี่ยวพันกับโลกอิสลามมากขึ้น สถานการณ์นี้จำต้องอาศัยกลยุทธ์เพื่อชนะใจและโน้มน้าวความคิดความอ่านของอีกฝ่าย มากกว่าการใช้กำลังข่มขู่คุกคาม ถึงแม้สหรัฐฯ ดูจะไม่ได้ฟังสิ่งที่ไนย์เสนอแนะเท่าไหร่และดึงดันทำสงครามยึดครองอัฟกานิสถานและอิรักจนได้ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ก็กลายเป็นแนวคิดที่โต้แย้งการกระทำบุ่มบ่ามของสหรัฐฯ เสมอมา

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นที่นิยมศึกษาอีกครั้งช่วงทศวรรษ 2010 ในบริบทที่ชาติชั้นนำในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน หันมาเน้น ‘การทูตวัฒนธรรม’ (cultural diplomacy) และ ‘การทูตสาธารณะ’ (public diplomacy) เป็นเครื่องมือจัดการปัญหาของประเทศ สองชาติแรกมุ่งส่งออกวัฒนธรรมเพื่อคลายปัญหาเศรษฐกิจและรักษาสถานะชั้นนำบนเวทีโลก ส่วนประเทศหลังใช้เพื่อยับยั้ง ‘กระแสเกลียดกลัว’ และมองจีนเป็นภัยเนื่องด้วยความแตกต่างทางการเมืองและการทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจ

ซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งทำหน้าที่สำคัญให้แก่ชาติชั้นนำเหล่านี้ ดูจะสถาปนาความหมายเฉพาะในไทยว่าคือ ‘อะไรที่ต่างชาติชอบ’ ข้อเขียนนี้จึงอยากลองไตร่ตรองถึงแนวคิดนี้อีกสักครั้ง โดยมองเทียบกับคอนเซ็ปต์ใหญ่ ‘เจ้าปัญหา’ ในทางรัฐศาสตร์ นั่นคือคำว่า ‘อำนาจ’ โดยพิจารณาถึงที่มา บทบาท และการทำงานของซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนทิ้งข้อคิดเห็นบางประการไว้ว่าเหตุใดควรระวังในการนำคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย

การทำให้ผู้อื่นชอบ กับ ซอฟต์พาวเวอร์

คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า ‘การทำให้ผู้อื่นชื่นชอบ’ และ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด หลายครั้งเมื่อเราต้องการให้ใครชอบ วิธีที่เรามักนึกถึงง่ายๆ คือการประพฤติตนในแบบที่เขาว่าดีและพึงพอใจ หรือไม่ก็ให้เขาในสิ่งที่อยากได้หรือต้องการเพื่อแลกกับความนิยมชมชอบ พูดอีกอย่างคือเรามักตกหลุมพรางของการทำให้เขาชอบด้วย ‘การเอาใจเขา’ คำถามคือในสภาวการณ์เช่นนี้ฝ่ายใดที่ ‘มีอำนาจ’ กันแน่ เราที่เปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เขาชอบ หรือเขาที่ทำให้เราเปลี่ยนตัวเองตามที่เขาชอบ

อำนาจโดยความหมายตั้งต้นที่นักรัฐศาสตร์มักใช้เป็นพื้นฐานการถกอภิปรายคือ “ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นกระทำในสิ่งที่เขาไม่ทำแต่ต้น” โรเบิร์ต ดาห์ล (Robert Dahl) ให้คำจำกัดความสั้นๆ นี้ไว้แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะพอใจไร้ข้อกังขา เพราะอำนาจอาจมีแง่มุมซับซ้อนกว่านั้น ทำงานหลายมิติ และยากที่จะบอกชัดว่าการที่คนเปลี่ยนท่าทีส่วนไหนเกิดจากอิทธิพลของเราที่มีต่อเขา แนวคิดว่าด้วยอำนาจจึงเป็นที่ถกเถียงกันมากและหาฉันทามติกันยาก แต่คำจำกัดความของดาห์ลก็เป็นพื้นฐานความเข้าใจในประเด็นนี้

ดังนั้นการที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือมอบประโยชน์บางอย่างเพื่อเอาใจอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ความนิยมชมชอบจากเขา แม้อาจเป็นไปด้วยความสมัครใจของเราเอง แต่ดูเหมือนสถานการณ์นี้อำนาจน่าจะอยู่ในมือเขาเสียมากกว่า แต่สำหรับไนย์ ซอฟต์พาวเวอร์เชื่อมโยงกับความชอบในอีกแบบ ซึ่งเขาให้คำจำกัดความโดยปรับจากของดาห์ลว่า “ความสามารถในการทำให้คนอื่นต้องการตามแบบที่เราประสงค์หรือต้องการ” (the ability to get others to want what you want)

นั่นคือ ใช่ว่าเราจะทำให้ผู้อื่นชอบเราด้วยการเอาใจเขา อย่างที่วาทกรรมและแนวนโยบายของไทยเวลานี้ดูจะยึดเป็นหนทางสร้างซอฟต์พาวเวอร์ แต่ควรจะถูกนิยามว่าเราสามารถชี้นำ กะเกณฑ์ ควบคุมความคิดอ่าน ความประสงค์ หรือความต้องการของคนอื่นได้อย่างไรให้สอดคล้องหรือคล้อยตามสิ่งที่เราอยากได้-อยากเป็น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือยุทธศาสตร์ของเรา โดยซอฟต์พาวเวอร์จะช่วยลดแรงต่อต้านและเพิ่มการสนับสนุนให้เรากระทำการถึงฝั่งฝันได้ราบรื่นขึ้น

Soft Power vs. Hard Power

ซอฟต์พาวเวอร์จึงทำงานลึกซึ้งกว่าอำนาจที่บงการพฤติกรรมโดยตรงอย่างที่ดาห์ลวางนิยามไว้ เพราะการที่อีกฝ่ายเปลี่ยนท่าทีหรือการกระทำ อาจเป็นไปเพราะความจำใจ จำทน หรือจำยอมต่อสภาพ ขณะที่เก็บซ่อนความคับข้องใจและความไม่ลงรอยไว้ภายใต้การประพฤติปฏิบัติตามคำสั่ง อำนาจชนิดนี้ที่มุ่ง ‘สั่งการ’ (command power) หรือที่เรียกว่า ‘อำนาจไม้แข็ง’ (hard power) ส่งผลต่อพฤติกรรมของอีกฝ่ายผ่านวิธีการ ‘บังคับขู่เข็ญ’ ให้เกรงกลัว หรือต่อรองด้วย ‘ผลประโยชน์จูงใจ’ ให้เกิดการทำตาม ซึ่งย่อมต้องใช้ต้นทุนไม่ว่าการมีหรือแสดงแสนยานุภาพ หรือให้ค่าตอบแทนบางอย่าง

ซอฟต์พาวเวอร์ทำงานแนบเนียนและลึกล้ำกว่านั้นด้วยการสร้างหรือปรุงแต่ง ‘ทัศนคติ’ ในมโนสำนึกของอีกฝ่ายผ่านการปลูกฝังและหล่อหลอมเชิงความคิดและค่านิยม เพื่อควบคุมถึงระดับจิตใจว่าอะไรคือมาตรฐานที่ควรยึดถือหรืออุดมคติที่ควรใฝ่หา นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักที่เน้นเรื่องอำนาจอย่าง ฮันส์ เจ. มอร์เกนทอ (Hans J. Morgenthau) มองอำนาจว่าคืออะไรก็ตามที่ทำให้คนหนึ่งควบคุมอีกคนได้ (control of man over man) ไม่ว่าในแง่พฤติกรรมทางกายหรืออิทธิพลต่อความคิดและจิตใจ

ขณะที่ อี. เอช. คาร์ (E. H. Carr) นักวิชาการอีกคนที่มองโลกระหว่างประเทศว่าคือเกมการเมืองและอำนาจก็เน้นให้เห็นการทำงานในมิติที่แยบยลของอำนาจในตำราคลาสสิกของเขา โดยชี้ถึงวิธีการที่กลุ่มรัฐบางรัฐประกอบสร้างและเผยแพร่ ‘คุณธรรม’ หรือ ‘ค่านิยม’ บางอย่างให้รัฐต่างๆ ให้โลกยึดถือในฐานะคุณค่าสากลที่ดีงาม โดยเชื่อมั่นร่วมกันว่าจะนำพาประโยชน์ให้บังเกิดแก่มนุษยชาติ ซึ่งก็คือหลักการเสรีนิยมบนความพยายามจัดตั้งกฎเกณฑ์และองค์การระหว่างประเทศขึ้นเพื่อดูแลความเรียบร้อยของโลก

แต่คาร์วิเคราะห์ว่าแท้ที่จริงนี่คือโฉมหน้าของการใช้อำนาจแบบหนึ่งซึ่งเป็นไปเพื่อรักษาสถานะและผลประโยชน์ของรัฐใหญ่บางรัฐที่พึงพอใจตำแหน่งแห่งที่ของตนอยู่แล้วในระเบียบที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งคาร์หมายถึงระเบียบหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซายและกติกาแห่งสันนิบาตชาติ (The Covenant of the League of Nations) โดยใช้กฎเกณฑ์สากลนี้ตีกรอบและกดทับรัฐอื่นที่อาจกระด้างกระเดื่องขึ้นมาท้าทายสภาวะที่เป็นอยู่ (status quo) และสถานะของเหล่ารัฐที่ครองระเบียบอยู่

คาร์เรียกอำนาจชนิดนี้ว่า ‘อำนาจควบคุมความคิดเห็น’ (power over opinions) ซึ่งน่าจะเทียบได้กับซอฟท์เพาเวอร์ของไนย์ที่นิยมใช้ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น หรือก็คืออิทธิพลและความสามารถปรุงแต่งความเห็นและความต้องการ (preference) ของคนอื่นให้คล้อยตามความประสงค์ของเรา สังเกตว่าอำนาจที่แท้เป็นเรื่อง ‘ความสามารถ’ ในการจัดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่นเป็นหลัก ไม่ได้หมายถึงแค่ ‘การมี’ หรือ ‘ถือครอง’ ปัจจัยหรือทรัพยากร ซึ่งแม้ว่านี่เป็นฐานหรือบ่อเกิดของอำนาจได้แต่ก็ไม่อาจมองว่าเท่ากับ ‘ความสามารถ’ ในการใช้อำนาจเสมอไป

อิทธิพลอำนาจจากเสน่ห์ดึงดูด

สำหรับวาทกรรมว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ในบ้านเรานั้น บ่อยครั้งมักตีค่าสินทรัพย์ที่เรามีและภูมิใจกันในชาติ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม วิถีการกินอยู่ ขนบประเพณี อุปนิสัยใจคอผู้คน ข้าวของ สถานที่ และคอนเทนต์บางอย่างว่า ‘เป็น’ หรือ ‘คือ’ ซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งที่จริงควรมองสิ่งเหล่านี้ว่าคือปัจจัยหรือทรัพยากรที่ ‘อาจเป็นที่มา’ หรือ ‘อาจแปลงไปเป็น’ ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศได้ ซึ่งหมายถึงความสามารถปรุงแต่งและชี้นำความคิดความชอบของผู้อื่นให้เป็นแบบที่เราประสงค์ได้

ซอฟต์พาวเวอร์เกี่ยวข้องกับ ‘เสน่ห์ดึงดูดใจ’ (charm/ charisma) ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างความสามารถและอิทธิพลในการชักจูงทัศนะและความคิดอ่าน (co-optive power) ของผู้นำและผู้คนในชาติอื่นให้เห็นดีเห็นงามไปด้วยกับเป้าประสงค์และยุทธศาสตร์ของเรา ปัจจัยที่อาจช่วยส่งเสริมเสน่ห์และเป็นสิ่งที่ไนย์มองว่าแยก soft power ออกจาก hard power คือความดึงดูดใจทางวัฒนธรรม (cultural appeal) ค่านิยมทางการเมือง (political value) และนโยบายรัฐ (policy)

แม้การมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดึงดูดในสายตาประชาคมโลกจะทำให้รัฐนั้นดูมีความได้เปรียบด้านซอฟต์พาวเวอร์ แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันเสมอไปว่ารัฐนั้นจะมีความสามารถ ทักษะ และวิธีการดึงปัจจัยดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือสร้างอิทธิพลต่อความคิดความชอบของผู้อื่นเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนได้ ความสนใจจึงต้องให้น้ำหนักกับการดำเนิน ‘นโยบาย’ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ ที่นอกจากจะต้องตระหนักถึงซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ยังต้องมีกลยุทธ์ในการสร้างสมดุลระหว่าง hard power กับ soft power เพื่อให้เกื้อหนุนซึ่งกันด้วย

นโยบายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ ‘การทูตสาธารณะ’ ซึ่งเน้นการเข้าหา ประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลแก่สาธารณชนในประเทศอื่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เชื่อถือ และชื่นชมชาติเรา อีกอย่างคือการทูตวัฒนธรรมที่ใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางให้เกิดความนิยมชมชอบ เป็นสินค้าและเนื้อหาเพื่อประโยชน์ด้านการสานสัมพันธ์และด้านเศรษฐกิจ ‘นโยบายรัฐ’ จึงทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมให้ปัจจัยซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอยู่ในสังคมกลายเป็นความสามารถสร้างอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติของผู้คนภายนอกได้

นอกจากช่องว่างระหว่าง ‘การมีแหล่งอำนาจ’ กับความสามารถนำมา ‘ใช้ได้จริงในปฏิสัมพันธ์’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมาเสมอไป ช่องว่างอีกอย่างที่ยิ่งสร้างความซับซ้อนในการบริหารซอฟต์พาวเวอร์คือ ความไม่แน่นอนหรือแน่ใจว่าเสน่ห์ดึงดูดในสายตาต่างชาติและความนิยมชมชอบต่อบางชิ้นส่วนทางวัฒนธรรมบ้านเราจะส่งผลให้รัฐอื่นเห็นด้วยหรือช่วยเกื้อหนุนให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นในเรื่องใหญ่ๆ ได้แค่ไหน ซึ่งนี่น่าจะเป็นเป้าหมายของซอฟต์พาวเวอร์ที่ไนย์นึกถึงมากกว่า

Soft without Power?

เท่าที่จับความได้ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทยดูไม่ได้มองเกินไปกว่าการทำให้ฝรั่ง จีน และชาวต่างชาติรู้จักและชมชอบในวัฒนธรรมของเรา กล่าวอีกนัยก็คือเป็นนโยบายที่มุ่ง ‘ขายสินค้าและบริการด้านวัฒนธรรม’ ซึ่งเน้นทำการตลาดและประชาสัมพันธ์มากกว่าถกกันไปถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในแง่ ‘อำนาจ’ ตามตำรา

นั่นไม่ใช่เรื่องผิดเพราะเสน่ห์ที่สร้างมาอาจช่วยเอื้อให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ในตัวมันเอง แถมหลายครั้งก็น่าสงสัยด้วยว่าความพยายามภายใต้แนวทางเหล่านั้นอาจบ่อนทำลายซอฟต์พาวเวอร์ที่ควรจะได้จากการบริหารเสน่ห์ไปหรือไม่

เมื่อลองคิดดูว่าการเน้นขายของทำให้เราต้องปรับแต่งตัวตนไปตามอุปสงค์ หรือความชอบ-ความต้องการของผู้ซื้อหรือลูกค้า ตลอดจนเลือกผลิตและโปรโมตวัฒนธรรมบางอย่างเพื่อมอบคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งอาจไม่ได้มีจุดตั้งต้นจากความประสงค์ของสมาชิกในสังคมเราเอง แต่เป็นไปเพื่อตอบสนอง อำนวยความสะดวก และเอาใจลูกค้าต่างชาติ เรากลับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกลยุทธ์ไปตามความประสงค์ของผู้อื่นมากกว่าที่จะเรียกว่าเรากำลังสร้างอำนาจให้กับประเทศเราหรือไม่

นี่จึงอาจมองเป็นนโยบายสยบยอมต่อ hard power ของชาติอื่นมากกว่า โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจหรืออำนาจซื้อของต่างชาติภายใต้สโลแกนและความเข้าใจว่าเรากำลังสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ตัวเอง เมื่อเป้าหมายใหญ่มุ่งไปเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยวมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต้องเน้นหนักเรื่องอำนาจ ดูเหมือนเรากำลังอ่อนให้แก่ hard power ของรัฐอื่นจากการ ‘พึ่งพิงเศรษฐกิจ’ โดยเฉพาะชาติที่เป็นตลาดใหญ่ของลูกค้าและนักท่องเที่ยว ทำให้ต้องกระทำและเสนอเงื่อนไขและสิ่งที่ลูกค้าพึงพอใจมากกว่าที่จะคิดถึงกลยุทธ์ว่าทำอย่างไรจะสามารถชี้นำความชอบของเขาตามที่เราพึงพอใจได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเรามองและเข้าใจอำนาจในแง่ ‘ความสามารถ’ ไม่ใช่ ‘การนับหรือวัดสิ่งที่รัฐมี’ แม้เมื่อพิจารณาด้านการทหารและเศรษฐกิจอันเป็นแหล่งที่มาของ ‘อำนาจสั่งการ’ ซึ่งมีความเป็นวัตถุรูปธรรมและศึกษาเชิงปริมาณได้ นักยุทธศาสตร์ยังประสบความยุ่งยากที่ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าการมีปัจจัยเชิงอำนาจมากช่วยให้สามารถบงการรัฐอื่นได้เด็ดขาดขนาดไหน ลองนึกถึงความยิ่งใหญ่ทางศักยภาพระดับ ‘อภิ-มหาอำนาจ’ (hyper-power) ของสหรัฐฯ แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้บังคับกะเกณฑ์พฤติกรรมของรัสเซีย เกาหลีเหนือ จีน และกลุ่มก่อการร้าย ได้ตามต้องการ

เสน่ห์และแรงดึงดูดใจมีพลังแค่ไหนยิ่งต้องการการถกเถียงและวิเคราะห์วิจัยที่ยุ่งยากไปอีกระดับ เมื่อการนับและวัดเชิงปริมาณทำได้ยากยิ่งกว่าหรือเป็นไปไม่ได้ อะไรจะเป็น ‘ตัวชี้วัดความรู้สึกนึกคิด’ ที่แม่นยำ เมื่ออีกฝ่ายอาจจะไม่ได้แค่ชอบหรือเกลียดโดยเด็ดขาด แต่อาจรู้สึกก้ำกึ่งอยู่ระหว่างเส้นกราฟ ความรู้สึกชอบหรือประทับใจยังเป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) เสียมาก จึงไม่อาจสรุปแบบเหมารวมเป็นกลุ่มก้อนได้ ขึ้นอยู่กับใครหรือสังคมไหนที่เราศึกษา ซึ่งระดับการรับรู้ เชื่อถือ และนิยมชมชอบต่อสิ่งที่เราเสนออาจแตกต่างกันไปทั้งระหว่างสังคมและระหว่างกลุ่มผู้คนในสังคมเดียวกันด้วย

Soft Power ที่ยิ่งใหญ่และไม่อ่อนเบา

อาจมองซอฟต์พาวเวอร์ว่าสะท้อนความทะเยอทะยานและอุดมคติในการหล่อหลอมปรุงแต่งให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนะหรือความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน หรือสร้าง ‘อัตวิสัยร่วม’ (intersubjectivity) ขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ในการควบคุมหรือครอบงำแต่ซ่อนเร้นอย่างแนบเนียนภายใต้ตรรกะหลักการต่างๆ ไม่ให้ผู้อยู่ใต้บงการได้รู้เนื้อรู้ตัว

การครอบงำแบบนี้ยังมีพลังมากในรูปอิทธิพลกำหนดและจัดการโครงสร้าง (structural power) ซึ่งคือสภาวการณ์ที่มหาอำนาจหนึ่งสามารถวางระเบีบบกฎเกณฑ์ที่ทำให้ผู้คนหรือรัฐอื่นเชื่อฟังและดำรงตนอยู่ในโอวาทจากการยอมรับบรรทัดฐานที่มหาอำนาจจัดตั้งขึ้น โดยมองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม และปฏิบัติตนอย่างมีวินัยด้วยความสมัครใจภายใต้กรอบนั้น รวมทั้งช่วยธำรงระเบียบให้คงอยู่สืบเนื่องไป

อี. เอช. คาร์ ยกตัวอย่างการครอบงำทำนองนี้โดยชี้ถึงอิทธิพลของคริสต์ศาสนาในสมัยกลางของยุโรปที่ฝังแน่นและแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของระบบความคิดและวิถีชีวิตปัจเจกบุคคล อีกตัวอย่างคืออิทธิพลของแนวคิดเสรีประชาธิปไตยที่กลายมาเป็นค่านิยมสากลและแกนกลางในการจัดระเบียบโลกและสังคมการเมืองภายในรัฐต่างๆ จำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ซึ่งเอื้อให้สหรัฐฯ บริหารจัดการระเบียบโลกตามค่านิยมที่สอดคล้องกับสังคมของตนได้

ความสามารถครอบงำด้วยความคิดความเชื่อต่อคนหมู่มากคงไม่ได้เป็นผลมาจากซอฟต์พาวเวอร์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการใช้อำนาจบังคับ ร่วมด้วยการบริหารทั้งด้านพระเดชและพระคุณ ควบคู่ไปกับการกล่อมเกลาเชิงความคิดความอ่าน ไนย์ตระหนักตั้งแต่ต้นว่าอำนาจสองแบบไม่อาจแยกขาดจากกัน เสน่ห์ในสายตานานาชาติบางทีหรือโดยมาก ก็มาจากความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ทั้งด้านความมั่งคั่งและกำลังทหาร (hard power) การเป็นผู้มีชัยในสงคราม และเป็นต้นแบบการพัฒนาทางวัตถุและจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้ดี (best practice)

ในงานชิ้นหลังๆ ไนย์หันมาใช้คำว่า ‘smart power’ (อำนาจชาญฉลาด) เพื่อเน้นย้ำว่ารัฐจะธำรงความมั่นคงและมั่งคั่งอยู่ได้ต้องรู้จักใช้อำนาจทั้งสองด้าน (hard / soft) อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ให้บั่นทอนกัน ความตระหนักว่าซอฟต์พาวเวอร์อยู่ไม่ได้เดี่ยวๆ และพัวพันกับฮาร์ดพาวเวอร์แบบส่งเสริมหรือตัดทอนสมรรถนะกันและกัน จึงทำให้การเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะการส่งเสริมการรับรู้และความนิยมบางส่วนบางชิ้นของวัฒนธรรมในสายตาชาวต่างชาติดูเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยและด้อยค่าซอฟต์พาวเวอร์ให้เท่ากับการโปรโมตสินค้าวัฒนธรรมเท่านั้น

Soft Power และข้อคำนึงบางประการ

ด้วยเหตุที่ซอฟต์พาวเวอร์มีความซับซ้อนทั้งในแง่แหล่งที่มา ความไม่แน่นอนในการแปลงเสน่ห์เป็นอิทธิพลอำนาจทางการเมือง ตลอดจนตัวชี้วัดความรู้สึกนึกคิดที่ยากจะกำหนดให้เห็นชัดและเห็นพ้องต้องกัน จึงมีส่วนทำให้หลายชาติที่สนใจสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไม่นำคำนี้มาใช้ในนโยบายอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลอีกบางประการที่ทำให้ต้องระวังการใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ในการโปรโมตและอธิบายนโยบายและยุทธศาสตร์

อย่างที่กล่าวมา การวัดค่าซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะมองในระดับไหน ประการแรก ในแง่ปัจจัยตั้งต้นอันเป็น ‘แหล่งที่มา’ ของอำนาจด้านนี้ คืออะไรบ้าง ต้องทำให้มีขนาดเท่าไหนจึงพอหรือดี จะเน้นแค่กิจกรรม เนื้อหา วัตถุ สินค้า และสถานที่ทางวัฒนธรรมพอแล้วหรือไม่ ประการที่สอง ในแง่การแปลงปัจจัยด้านนี้ให้เป็นเสน่ห์และความนิยมชมชอบก็ยากที่จะบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ใครชอบบ้าง ชอบจริงไหมแค่ไหน กลุ่มเป้าหมายที่ชอบต้องมีจำนวนเท่าไหร่ ถึงเรียกได้ว่านโยบายประสบความสำเร็จ

อีกทั้งยังมีในแง่การแปลงความชอบในเชิงสินค้าบริการทางวัฒนธรรมให้เป็น ‘อำนาจทางการเมือง’ ความชอบชาไทย, นวดไทย, ซีรี่ย์วาย, K-pop, มังงะญี่ปุ่น, จักรวาลมาเวล หรือกาแฟสตาร์บัค ทำให้ผู้นำและผู้คนชาติต่างๆ เห็นดีด้วยและคล้อยตามบทบาท จุดยืน ยุทธศาสตร์ และการหาผลประโยชน์บนเวทีโลกของรัฐเจ้าของเรื่องเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอย่างหลังนี้ต่างหากเป็นสิ่งพิสูจน์ซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง

เมื่อพิจารณาว่าเป้าหมายสำคัญที่เราต้องการคือทำให้ฝรั่งหรือจีนชอบของไทย มากิน มาเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยในบ้านเรากันเยอะๆ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ก็ดูจะยิ่งใหญ่เกินจำเป็นไปและน่าจะผิดวัตถุประสงค์อีกด้วย หนำซ้ำยังทำให้ต้องมาเถียงกันเรื่องการวัดค่าและตัวชี้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรมสูง ทั้งที่ถ้าเพียงแค่ต้องการส่งออกสินค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยว ยอดขาย ดุลการค้าและจำนวนคนที่แห่กันเข้ามาเยือนไทยก็น่าจะใช้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดๆ ได้ง่าย โดยไม่ต้องไปไกลถึงการวัดซอฟต์พาวเวอร์

อีกประการคือ ดูเหมือนเรามักมองหรือปฏิบัติต่อซอฟต์พาวเวอร์เป็นเสมือน ‘ตัวเสริม’ หรือ ‘ตัวรอง’ เมื่อเทียบกับอำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้ต่างชาติไม่รู้สึกกลัวหรือระแคะระคาย ทั้งที่เมื่อพิจารณาความสามารถและอิทธิพลของอำนาจ soft power ตามความหมายที่ไล่เรียงมาข้างบน อำนาจในการ ‘คุมความคิด’ หรือ ‘ปรุงแต่งความประสงค์ความต้องการ’ ของคนอื่นหรือของคนหมู่มากเป็นอำนาจที่ ‘น่าเกรงกลัว’ ยิ่งกว่าอำนาจเชิงบังคับหรือการหลอกล่อด้วยผลประโยชน์โต้งๆ ด้วยซ้ำ

อำนาจก็คืออำนาจ

ขณะที่วาทกรรมในบ้านเราอาจจะชอบและติดยึดกับคำว่า ‘soft’ เพราะเหมาะกับการมุ่งเน้นด้านการทูต การสานสัมพันธไมตรี การประนีประนอม อ่อนน้อม ซึ่งค่านิยมเหล่านี้แฝงอยู่ในวัฒนธรรมการต่างประเทศแบบรักสงบและไม่คิดจะสู้ใครมาแต่ไหนแต่ไร ในฐานะชาติเล็ก (small state) ที่มีจุดยืนยืดหยุ่นอ่อนข้อได้ตามสถานการณ์แบบไผ่ลู่ลม แต่กระนั้น อย่าลืมว่าคำสำคัญใน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ คือคำว่า ‘power’ อยู่ดี

เมื่อใช้คำว่า ‘อำนาจ’ ก็ย่อมเลี่ยงนัยที่แฝงอยู่ในคำคำนี้ได้ยากไม่ว่าความพยายามเพื่อครอบงำ ควบคุม ทำให้อีกฝ่ายกระทำตามหรือคิดคล้อยตามสิ่งที่เราประสงค์เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของเรา การบอกกับต่างชาติว่าเราต้องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ จึงมีนัยทั้งการเผยเป้าหมายที่จะครอบงำเขา ชี้นำหรือชักจูงประชาชนของชาติเขาให้คิดและทำเพื่อผลประโยชน์ของเรา อีกทั้งยังมีผลลดทอนสมรรถนะของซอฟต์พาวเวอร์ลงด้วย เมื่ออำนาจที่ควรใช้ด้วยกลยุทธ์และวิธีการ ‘อันแนบเนียน’ ไม่กระโตกกระตาก ถูกเผยออกมาด้วยการประกาศอย่างโจ่งครึ่มว่าเราหวังจะชักจูงปรุงแต่งสาธารณชนของประเทศพวกคุณ ซึ่งอาจดูคุกคามมากกว่าจะทำให้ขายของได้

คงไม่มีธุรกิจหรือพ่อค้าโฆษณาจูงใจลูกค้าด้วยการป่าวร้องอย่างโจ่งแจ้งว่า “ช่วยกันซื้อฉันจะได้กอบโกยเงินของพวกคุณ ฉันจะได้ยิ่งร่ำรวยๆ ขึ้นและบรรลุซึ่งผลประโยชน์ที่ต้องการมานาน” แต่การโฆษณาประเทศด้วยคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ดูเหมือนเรากำลังทำเช่นนั้นอยู่ ซึ่งย่อมลดความแนบเนียนและนุ่มนวลของยุทธศาสตร์ลง เพราะถึงอย่างไรแม้ซอฟต์พาวเวอร์อาจจะฟังดู ‘soft’ แต่ก็เป็นเรื่องอำนาจอยู่ดี ซึ่งก็หนีไม่พ้นการตอบสนองผลประโยชน์ของเราด้วยการควบคุมและกะเกณฑ์คนอื่น

ท้ายสุดคือการเลือกใช้คำที่คลุมเครือเป็นหัวเรื่องนโยบายชูโรง นี่ไม่ได้หมายความว่าคนทั่วไปไม่เข้าใจหรือไม่รู้เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ดีกันเท่าไหร่ถึงได้มีแต่การถกเถียงเกิดขึ้น ผู้เขียนเองก็ไม่อาจเคลมได้ว่าสามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจน (เพราะยิ่งเขียนอธิบายก็ยิ่งเกิดคำถามขึ้นเอง) แต่ซอฟต์พาวเวอร์เป็นคำและแนวคิดที่คลุมเครือจริงๆ และเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักในวงวิชาการมานานแล้ว

ถึงขนาดมีผู้ที่ไม่เชื่อหรือมองว่าอำนาจลักษณะนี้แม้จะมีจริงและมีผล แต่ยากแก่การบริหารหรือนำมาใช้ในทางยุทธศาสตร์หรือในทางปฏิบัติให้ได้ผลที่ชัดเจน จนบางครั้งแม้แต่ในงานวิจัยอาจต้องขอให้ผู้ศึกษาตัดคอนเซ็ปต์นี้ไปจากการวิเคราะห์ (เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น) จึงไม่แปลกที่เมื่อเอาคำวิชาการที่คลุมเครือมาเป็นหัวเรื่องและเป้าหมายในการกำหนดนโยบายขนาดนี้ ซึ่งอาจจะมีผลเชิงโฆษณาให้ดูเก๋และเซ็กซี่ แต่ก็ทำให้ความไม่เห็นพ้องในวงวิชาการไหลล้นไปสู่สังคมอย่างใหญ่หลวงแบบที่ช่วยไม่ได้

ข้อถกเถียงว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมการเมืองไทยขณะนี้ เมื่อมองจากภายนอกอาจจะดูน่าสนใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าช่วยส่งเสริมเสน่ห์ความชอบของต่างชาติต่อประเทศเราแค่ไหน ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ได้เสนอมาทั้งในเรื่องที่ทำไมถึงเพิ่งจะมาเห็นคุณค่ากันจริงจังเอาตอนนี้ และเรื่องที่ลดทอนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการปฏิบัติราวกับมีความหมายเทียบเท่าอะไรก็ตามที่ต่างชาติชอบและขายได้ อีกทั้งยังออกมาประโคมให้โลกรู้ว่าเรากำลังพยายามควบคุมความคิดความชอบของคุณเพื่อผลประโยชน์ของเราตามความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้าใจกันทั่วไป สถานการณ์ทั้งหมดนี้อาจเสี่ยงทำให้เราถูกมองว่าหลุดโลก (naive) ในสายตานานาชาติได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save