fbpx

แก่ก่อนรวย : โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ ในวันที่โครงสร้างรัฐไทยไม่อำนวย

กลางเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ข่าวที่สร้างการถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมไทยคือการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่โดยกระทรวงมหาดไทย นับเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ที่ดำเนินมากว่า 14 ปี ในขณะเดียวกันก็อาจถือว่าเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ในการถกเถียงด้านนโยบายสวัสดิการภายใต้รัฐบาลใหม่ที่เพิ่งตั้ง 

เมื่อระลอกคลื่นของสังคมสูงวัยถาโถมประเทศไทย แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกที่ ‘แก่ก่อนรวย’ นำมาซึ่งคำถามคาใจว่า ประเทศไทยมีเงินพอดูแลคนชราหรือไม่ สวัสดิการคนไทยควรมีหน้าตาแบบไหน อะไรเป็นข้อจำกัดและเป็นสิ่งที่ต้องจับตาในนโยบายสวัสดิการของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และพรรคเพื่อไทย 

101 ขอชวนผู้อ่านร่วมรับฟังและตีโจทย์นโยบายสวัสดิการไทย ตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ไปกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.308 นโยบายสวัสดิการภายใต้รัฐบาลใหม่ ออกอากาศวันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566 ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

สังคมไทย “แก่ก่อนรวย” ผู้สูงวัยครึ่งหนึ่งไม่พร้อมเกษียณ

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้อายุอย่างเต็มตัวแล้ว ด้วยจำนวนประชากรถึง 1 ใน 5 ของประเทศอยู่ในวัยผู้สูงอายุ และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยยิ่งยวดในปี 2030 ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุถึง 17.1 ล้านคน สภาพปัญหานี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐไทย ที่ต้องหาทางออกร่วมกันว่าจะหาเม็ดเงินจากไหนมาใช้ดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยก่อนจะเข้าสู่ประเทศที่มีฐานะร่ำรวย

การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า เกินครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง หากวัดจากรายได้และเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวจะพบว่าร้อยละ 26.3 เงินออมไม่พอใช้ ไม่มีลูก-สวัสดิการ ขณะที่ร้อยละ 27.6 มีเงินออมพอใช้แต่ไม่มีลูก-สวัสดิการ หรือมีลูก-สวัสดิการ แต่มีเงินออมไม่พอใช้ ผลสำรวจสะท้อนว่าผู้สูงวัยต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในระยะยาว และมีแนวโน้มเป็นโสดและอาศัยโดยลำพังมากขึ้น สวนทางกับแนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลง ขาดลูกหลานให้พึ่งพา

การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตลอด 14 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นการให้แบบถ้วนหน้า เผยให้เห็นแล้วว่าเงินช่วยเหลือก้อนนี้ไปถึงคนจนมากกว่าคนรวย ฉัตรระบุว่าเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าอายุมีลักษณะ pro-poor คือเป็นมาตรการนโยบายที่ตกไปถึงคนจนมากกว่าคนรวย โดยไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่จนที่สุดมากถึงร้อยละ 29.7 อันดับที่ 2 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เกือบจนที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 26.8 แค่เฉพาะ 2 กลุ่มนี้ก็ได้รับประโยชน์เกินครึ่งหนึ่งไปแล้ว ในขณะที่คนรวยที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 9 เป็นเพราะผู้สูงอายุที่ฐานะดีไม่ได้ลงทะเบียบรับเงินส่วนนี้ ประกอบกับผู้สูงอายุที่รวยจริงๆ ในประเทศไทยก็มีไม่เยอะมาก

เมื่อมีนโยบายเปลี่ยนการจ่ายเบี้ยเป็นระบบคัดกรองจึงสร้างความกังขาให้กับประชาชนว่าเงินจะตกไปถึงคนจนหรือไม่ ซึ่งหากย้อนมองโครงการ ‘บัตรคนจน’ ที่เริ่มเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและยากจนตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งเป็นความพยายามระบุตัวตนผู้มีรายได้น้อยโดยตรงเป็นครั้งแรก แต่ผลลัพธ์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมากลับพบว่า “คนจนจริงไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จน

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่าการที่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน มักจะมีคนจนตกหล่นอยู่เสมอ เพราะโครงการนี้เป็นระบบ ‘คัดกรอง’ ต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์ความจน ทำให้คนที่จนจริง บ้านอยู่ห่างไกล เอกสารยืนยันไม่พร้อม ไม่สามารถเข้ารับสิทธิเหล่านี้ได้ ดังนั้นระบบสวัสดิการ ‘ถ้วนหน้า’ จะช่วยป้องกันการตกหล่นได้ดีที่สุด และยังช่วยให้เงินช่วยเหลือเข้าถึงคนทุกคนได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ ทำให้ครอบครัวหนึ่งมีเงินจากรัฐมาช่วยจุนเจือเพื่อให้ไม่ต้องมีชีวิตที่ยากลำบากจนเกินไป 

ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ เบี้ยผู้สูงอายุยังถือว่าเป็นรายได้สำคัญของครัวเรือนรายได้น้อย 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจของสังคมและครัวเรือน พบว่า สัดส่วนรายได้เบี้ยผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 11.8 ของรายได้ครัวเรือนกลุ่มที่จนที่สุด ในขณะที่กลุ่มที่รวยที่สุดคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้น แต่ต้องย้ำว่ากลุ่มคนจนที่สุดไม่ได้ดูแลสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียว แต่ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องนำเบี้ยผู้สูงวัยไปใช้เลี้ยงทั้งครอบครัว นั่นหมายความว่าหากจ่ายเบี้ยผู้สูงวัยอย่างทั่วถึงและเพียงพอจะช่วยยกระดับอีกหลายชีวิตในครอบครัว มีงานวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเนเธอร์แลนด์ ที่ให้ข้อสรุปว่าเบี้ยผู้สูงอายุมีส่วนช่วยให้เด็กในครอบครัวยากจนมีโอกาสได้เข้าเรียนมากขึ้น 


การจัดสรรงบประมาณ: โจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องคิดต่อ

ฉัตรอ้างถึงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และวิเคราะห์ว่าหากรัฐไทยให้เบี้ยผู้สูงวัยด้วยจำนวนเท่าเดิม ในอีก 17 ปีข้างหน้า (2040) งบประมาณจะสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 57.8 ด้วยก้อนงบประมาณที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนผู้สูงอายุที่รัฐต้องแบกรับ ในขณะที่สถิติของผู้สูงวัยที่ยากจนในไทยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือเพียงร้อยละ 7.7 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด ทำให้มีข้อเสนอบางส่วนมองว่าถ้ารัฐสามารถหาคนที่ต้องช่วยเหลือได้ตรงจุด จะช่วยตัดงบได้ครึ่งต่อครึ่ง และทำให้เกิดความเท่าเทียมในเชิงผลลัพธ์ได้

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ฐานข้อมูลและระบบคัดกรองของรัฐยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงยังมีการ ‘ตกหล่น’ และ ‘รั่วไหล’ อยู่มาก หากพิจารณาตามเกณฑ์คัดกรองของรัฐ (รายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี) พบว่าใน 100 คนที่เข้าเกณฑ์ มีถึง 45 คนไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว อาจเพราะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่ได้แสดงตน หรือตกหล่นเอกสารคัดกรอง ขณะที่อีก 18 คนที่มีรายได้เกินเกณฑ์คัดกรองแต่กลับได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหามาจากการคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบความจนไม่ได้จริง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากพิจารณาตามเกณฑ์ความยากจน (รายได้ไม่ถึง 33,634 บาทต่อปี) จะมีถึง 78 คนจาก 100 คนที่รายได้เกินเกณฑ์ แต่กลับได้รับสิทธิดังกล่าว

ฉัตรชี้ว่านโยบายสวัสดิการแบบ ‘คัดกรอง’ จะมีการตกหล่นกลุ่มเป้าหมายถึงร้อยละ 30 – 40 เป็นธรรมชาติของนโยบาย ซึ่งภาครัฐต้องชั่งน้ำหนักดูว่าจะตัดสินใจเดินหน้านโยบายอย่างไร ในขณะที่สมชัยตั้งคำถามว่า เราจะยอมประหยัดเงินเพื่อใช้ระบบ ‘คัดกรอง’ หรือยอมทุ่มเงินใช้ระบบ ‘ถ้วนหน้า’ เพื่อรักษาชีวิตคน 30 – 40% สมชัยชี้ว่าไทยไม่ได้เปนประเทศที่ยากจนมาก เราอยู่ในประเทศระดับรายได้ปานกลาง-สูง ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะหาเงินมาโปะด้านสวัสดิการ

ซึ่งหากพิจารณาจากก้อนงบประมาณที่ใช้ไปกับสวัสดิการ ยังถือว่าจัดการได้ไม่ดีนัก ฉัตรเปิดเผยว่างบประมาณแผ่นดินที่มีมากถึง 3.1 ล้านล้าน รัฐจัดสรรงบให้เบี้ยผู้สูงวัยประมาณ 90,000 ล้าน (3% ของงบทั้งหมด) ซึ่งยังไม่ใช่จำนวนที่สูงมากนัก เมื่อเทียบจาก Global Pension Index (ดัชนีบำเหน็จบำนาญนานาชาติ) ซึ่งไทยรั้งท้ายตาราง สะท้อนว่าไทยมีการจัดสรรงบประมาณแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญ

ขณะเดียวกัน ไทยจัดสรรสวัสดิการให้ข้าราชการและคนทั่วไปด้วยจำนวนงบประมาณพอๆ กัน (เกือบ 500,000 ล้านบาท) แต่เงินก้อนนี้ใช้จัดสรรเพื่อจำนวนคนที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งมีข้าราชการอยู่ 5.2 ล้านคน ในขณะที่คนทั่วไปมีจำนวนถึง 66.2 ล้านคน สะท้อนว่ารัฐไทยจัดสรรงบสวัสดิการให้ข้าราชการในระดับที่สูงกว่าคนทั่วไปมาก ซึ่งฉัตรมองว่าไทยยังมีช่องทางที่ทำให่รัฐสวัสดิการดีขึ้นได้ ผ่านการลดงบจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมฐานงบประมาณให้เหมาะสม ส่วนต่างเล็กๆ น้อยๆ จากการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเมื่อรวมกันแล้วย่อมเพียงพอกับการจ่ายเบี้ยผู้สูงวัยแบบถ้วนหน้าได้

ปฏิรูปภาษี: แนวทางเพิ่มสวัสดิการให้สังคมผู้สูงวัย โดยไม่ต้องบีบเค้นจากคนรุ่นใหม่

‘ภาษี’ คือแหล่งงบประมาณขนาดใหญ่ ที่หากบริหารเป็นก็สามารถจัดสรรเป็นสวัสดิการที่มากขึ้นได้ สมชัยชี้ว่ารัฐไทยเก็บรายได้ภาษีค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 16-18 ของ GDP ในขณะที่ World Bank ชี้ว่ารัฐไทยมีศักยภาพเก็บได้ถึงร้อยละ 20-21 กล่าวคือสามารถเก็บเพิ่มได้อีก 8-9 แสนล้านบาท แต่สภาพความเป็นจริงปัจจุบันนี้คือโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของไทยมีปัญหา เราเก็บภาษีจากคนรวยได้น้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก ทั้งที่เราสามารถปฏิรูปแก้ไขระบบจัดเก็บภาษีได้อีกมาก และต่อให้รายได้ประเทศไม่โต รัฐไทยก็มีศักยภาพในการหาเงินเข้าสู่ภาครัฐได้ โดยไม่ต้องรอพึ่งการปัดเงินจากงบก้อนอื่นเพียงทางเดียว

รัฐไทยสามารถเก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้นได้ โดยไม่ต้องบีบเค้นจากคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง สมชัยกล่าวว่าในเชิงเทคนิคนั้นพูดง่าย แต่ในเชิงการเมืองก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นโจทย์ใหม่ของรัฐบาลใหม่ควรตั้งต้นว่า “จะทำยังไงให้บ่าที่ไว้ใช้แบกรับภาระของคนรุ่นใหม่กว้างและแข็งแรงขึ้น” คำตอบบางส่วนคือการปฏิรูปการศึกษา เน้นสร้างคนที่มีคุณภาพมากขึ้นมาทดแทนโครงสร้างประชากรที่หดตัวลง เมื่อคนรุ่นใหม่มีความสามารถมากพอ จะทำให้พวกเขาเต็มใจที่จะแบกรับโครงสร้างสังคมสูงวัยนี้ได้มากขึ้น

ขณะที่ฉัตรมองว่ารัฐไทยสามารถปฏิรูปภาษีที่ดินเพื่อจัดเก็บเม็ดเงินให้มากขึ้นได้ แก้ไขให้เก็บภาษีแบบรวมแปลง หมั่นอัพเดตการประเมินมูลค่าที่ดิน ฉัตรยังเสนอให้คิดอัตราภาษีที่ดินตามโซนนิ่ง ไม่ใช่เก็บตามประเภทที่ดิน บริเวณไหนเป็นย่านที่ดินแพง ก็ควรเก็บในอัตราที่แพงตาม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีรัฐ

นอกจากจัดหารายได้ให้เพิ่มมากขึ้นจากภาษี รัฐก็สามารถแก้ไขโครงสร้างการใช้จ่ายใหม่ได้ เช่น งบลงทุนสามารถตัดเล็กผสมน้อยเพื่อเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ 

เพื่อไทย-รัฐบาลใหม่ อาจะไม่ผลักดันให้รัฐสวัสดิการไปถึงฝั่ง

ฉัตรกล่าวว่าไม่ได้คาดหวังนโยบายรัฐสวัสดิการรูปแบบใหม่จากรัฐบาลชุดใหม่ โดยแนวโน้มนโยบายน่าจะยังคงเดิม แม้พรรคเพื่อไทยเองเคยหนุนสวัสดิการมาก่อน และไม่น่าจะตัดนโยบายที่เคยทำมาแล้ว เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็คงไม่เพิ่มนโยบายสวัสดิการอื่นๆ ในอนาคต เพราะแนวนโยบายไม่เน้นกระจายสวัสดิการ แต่เน้นให้ ‘ก้อนเค้ก’ เศรษฐกิจเติบโต แล้วปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจปันผลประโยชน์ไปยังคนในสังคมเอง

ด้านความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ ฉัตรหวังว่ารัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้สูงอายุที่ยากจนมีจำนวนน้อยลง และหวังไปถึงสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ที่ปัจจุบันนี้ยังเป็นระบบคัดกรองอยู่และมีเด็กเล็กอย่างน้อยร้อยละ 30 ไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้ การลงทุนกับเด็กในวันนี้คือการลงทุนกับวันข้างหน้าของประเทศ ในอนาคตคนรุ่นใหม่จะถูกพึ่งพิงอีกมาก เพราะต้องทำงานจ่ายภาษีเพื่อเลี้ยงดูจำนวนผู้สูงวัยที่มากขึ้น ปัจจุบันคนทำงาน 1 คน ต้องดูแลคน 1.5 คน และภายในปี 2040 คนทำงาน 1 คนจะต้องดูแลถึง 1.8 คน ดังนั้นศักยภาพในการผลิตของคนทำงานหนึ่งคนจึงสำคัญมาก รัฐต้องลงทุนพัฒนาเด็กให้พร้อมต่อภาระบนบ่าในอนาคต ฉัตรชี้ว่า การลงทุนในเด็กเล็กได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเสมอ ถ้าลงทุนวันนี้ ในอนาคตอาจทบประโยชน์ไปได้ถึง 7-13 เท่า 

สมชัยมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันกับฉัตร โดยเชื่อว่ารัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เน้นรัฐสวัสดิการ และไม่ได้เน้นระบบ ‘ถ้วนหน้า’ แต่ด้วยปัจจัยจากการที่พรรคก้าวไกลได้เสียงจากประชาชนมากกว่า ที่ส่วนหนึ่งอาจเพราะก้าวไกลฉายภาพระบบสวัสดิการได้ชัดเจนกว่า สมชัยจึงตั้งสมมติฐานว่า ด้วยเงื่อนไขนี้อาจทำให้เพื่อไทยเปลี่ยนแนวนโยบายตามแนวทางก้าวไกล ทั้งนี้สมมติฐานขึ้นอยู่ว่าเพื่อไทยตั้งใจจะหาเสียงเพื่ออนาคตทางการเมืองใน 3-5 ปีข้างหน้าหรือไม่

ส่วนข้อถกเถียงที่ว่าสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายสามารถทำได้หรือไม่ และประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ สมชัย เปิดเผยว่าจากประสบการณ์ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสวัสดิการในไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบว่ารัฐไทยสามารถจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายได้จริง มีงบประมาณเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินมากมาย เพียงแค่เก็บภาษีให้ได้มากขึ้นร้อยละ 1-2 ของ GDP โดยเน้น “หนุนเงินไม่ต้องมาก แต่ต้องทั่วถึงทุกคน” ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีผลิตภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับเม็ดเงินจากระบบสวัสดิการ สมชัยยังเสริมอีกว่าระบบประกันสังคมของไทยยังไม่เป็นแบบถ้วนหน้า รัฐควรออกแบบให้ทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม ม.40 โดยอัตโนมัติ โดยอาจให้รัฐจ่ายแทนไปก่อนและค่อยขยายผลประโยชน์ในอนาคต ทั้งหมดนี้สมชัยย้ำว่าไม่ได้เป็นเม็ดเงินที่เยอะเกินกว่าศักยภาพของรัฐไทย

เช่นเดียวกับฉัตร สมชัยมองว่ากลุ่มคนวัยทำงานและวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องได้รับการส่งเสริมทักษะ ต้องมีระบบ Upskill และ Reskill ให้คนกลุ่มนี้ เพราะระบบสวัสดิการที่ครบวงจร ไม่ได้มีแค่ระบบสงเคราะห์คน นอกจากจะมีตาข่ายรองรับเหตุไม่พึงประสงค์แล้ว เมื่อคนลุกขึ้นยืนได้ใหม่ก็ต้องมีระบบช่วยเสริมสร้างศักยภาพแรงงาน จะทำให้สังคมเดินหน้าไปได้อย่างไร้รอยต่อ แม้แต่ผู้สูงวัยเองก็ควรได้รับการส่งเสริมทักษะแรงงานด้วยเช่นกัน

เงินดิจิทัลและช่องโหว่ที่อาจทำให้นโยบายไม่เป็นไปตามเป้า

พ้นไปจากเรื่องสวัสดิการ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยดูจะเป็นนโยบายที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งมีหลายเสียงที่กังวลว่าคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะไม่สามารถใช้ได้ สมชัยชวนย้อนมองสมัยที่มีการแจกเงินผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่ทำให้แต่ละชุมชนต้องมีอาสาสมัครดิจิทัลเพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยในการเข้าถึงสิทธิผ่านเทคโนโลยี สะท้อนว่าปัญหาจากระบบนี้ก็พอช่วยเหลือหน้างานจากคนในชุมชนได้

แต่หากถามว่านโยบายนี้จัดว่าเป็นสวัสดิการหรือไม่ สมชัยเปรียบกับเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิการสังคมว่า “เบี้ยสูงวัยจะได้รับอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าในกฎกติกาสังคมตอนนั้นเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่เงินดิจิทัลสร้างมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงครั้งเดียวแล้วหมดไป” โจทย์ที่สมชัยคิดว่ารัฐบาลต้องรับฟังจากประชาชนคือเงินดิจิทัลมีค่าได้เพราะความน่าเชื่อถือ หากประชาชนไม่เชื่อในมูลค่าของมัน เงินนี้จะเสียมูลค่าลง นอกจากนี้ การตั้งเงื่อนไขในการใช้เงินดิจิทัลอาจจะไปลดมูลค่าของเงิน เช่นกรณีที่อาจะมีคนตั้งโต๊ะรับซื้อเงินดิจิทัล 100 บาท แลกกับเงินสด 80 บาท ตรงจุดนี้เป็นช่องโหว่ทำให้รัฐเสียมูลค่าของเงินไป

ด้านความเห็นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจากฉัตร เขามองว่าอุปกรณ์ใช้รับเงินควรเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถใช้และเข้าถึงได้ เช่น บัตรประชาชน เพราะหากเป็นมือถือ ต่อให้มีคนช่วยลงทะเบียนให้ แต่ในกลุ่มที่ยากจนมาก ไม่มีมือถือหรือสัญญาณอินเทอร์เนต ก็จะมีปัญหาการเข้าถึงตามมาอยู่ดี

หากพิจารณานโยบายนี้ในแง่ที่ว่าสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ฉัตรมองว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทอาจไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโตทีเดียวเลยทั้งก้อน อาจจะลดหลั่นเหลือเพียง 7,000-8,000 บาท ขณะที่นโยบายมีระยะที่สั้นมาก อาจทำให้คนไม่กล้าลงทุนใหม่ เพราะไม่มีเงินก้อนถัดไปรองรับ ไม่กล้าลงทุนยาวๆ นอกจากนี้ไทยยังมีปัจจัยแทรกซ้อนด้านอื่นๆ ที่ทำให้นโยบายนี้ไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร เช่น ไทยนำเข้าสินค้าเยอะ การซื้อสินค้าที่นำเข้าเสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้การผลิตในประเทศหมุนตามเงินที่ใช้ และไทยมีหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนอาจจะเลือกนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายของกินของใช้ และเอาเงินสดไปจ่ายหนี้ ผลคืออาจไม่ทำให้เศรษฐกิจโตจากการลงทุนได้เท่าที่หวังไว้

ทิ้งท้ายถึงรัฐบาลใหม่

สมชัยมองว่าโจทย์ด้านสวัสดิการที่ท้าทายของรัฐบาลใหม่ คือการปะทะกันทางแนวคิดระหว่างระบบสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า’ และ ‘คัดกรอง’ สมชัยชวนย้อนมองว่าในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มักไม่มีบทบาทสำคัญนักต่อการตัดสินใจหรือวางทิศทางระบบสวัสดิการ ทำให้เมื่อผลักดันนโยบาย อำนาจตัดสินใจจึงตกไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ทั้งนี้หากเทียบเศรษฐา กับประยุทธ์ สมชัยมองว่าเศรษฐามีฐานคิดหนุนสวัสดิการมากกว่าประยุทธ์ สมชัยหวังว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวจากประชาชนไปถึงรัฐมนตรี การเรียกร้องเรื่องสวัสดิการจะไม่ถูกปักตกเมื่อถึงมือนายกฯ และคาดว่าสวัสดิการยุคนี้จะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่ผ่านมา แม้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลผสมก็ตาม

ส่วนฉัตรมองว่าเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากนอกวงการเมือง จึงคาดหวังต่อวิสัยทัศน์ทางการเมือง และอยากให้รัฐบาลที่นำโดยเศรษฐาแบ่งความสนใจไปที่เรื่องการแก้ไขระบบราชการที่เป็นปัญหาอันฝังรากในสมัยรัฐบาลประยุทธ์

“ตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากช่วงโควิดได้แล้ว เมืองไทยอาจไม่ได้ต้องการนโยบายปั๊มหัวใจอย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงิน 10,000 บาท แต่เมืองไทยอาจจะต้องการนโยบายผ่าตัดใหญ่อย่างการรื้อโครงสร้างระบบรัฐราชการ แต่ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่มหึมา รัฐบาลเศรษฐาจำเป็นต้องต่อสู้และไล่ตามให้ทัน” ฉัตรกล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save