fbpx

6 เดือนกรุงเทพฯ ยุคชัชชาติ : บันทึกปรากฎการณ์ผ่านมุมมองอดีตแคนดิเดต

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นค่ำคืนเดียวกันกับที่ชาวกรุงเทพมหานครได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ หลังจากที่ว่างเว้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ถึง 5 ปีคือ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้สมัครในนามอิสระ ด้วยการกวาดคะแนนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1,386,215 คะแนน เรียกว่าทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างมาก สร้างข้อถกเถียงว่า ‘ชัชชาติ’ เป็นเสมือนข้อยกเว้นท่ามกลางการเมืองแบ่งขั้ว กล่าวคือชัชชาติได้รับคะแนนจากทั้งฝั่งอนุรักษนิยมและเสรีนิยม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในภาวะการเมืองไทยปัจจุบัน

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการครั้งนั้นตามมาด้วยปรากฎการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ หลายคนมักเรียกว่า ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ เพราะครองพื้นที่สื่อในช่วงนั้นเป็นระยะเวลานานผ่านการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ สภาวะดังกล่าวเราได้เห็นการตื่นตัวของชาวกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ จนเกิดกระแสการเรียกร้องให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดตามมาอีกระลอก 

ก้าวเข้าสู่เดือนธันวาคม 2565 จังหวะที่พวกเราทุกคนกำลังจะก้าวไปสู่ปีใหม่ เป็นสัญญาณว่าเราผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาแล้วถึง 6 เดือน แปลได้อีกความหมายหนึ่งคือเราอยู่ในกรุงเทพฯ ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติเข้าสู่เดือนที่ 6 เมื่อสภาวะฝุ่นตลบจากการเลือกตั้งเริ่มจางหาย กระแสชัชชาติฟีเวอร์เริ่มคงที่ กรุงเทพมหานครผ่านช่วงฤดูมรสุมทางธรรมชาติที่เป็นเหมือนโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และมรสุมทางการเมืองจากการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองไทยของปีนี้มาแล้ว

‘เมื่อมีคนชอบ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนชัง’ ตลอด 6 เดือนเราได้เห็นทั้งคนที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้ว่าฯ และคนที่คัดค้าน ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

ก้าวเข้าสู่เดือนที่  6 ของกรุงเทพฯ ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นโอกาสอันดีที่ 101 จะร่วมจดบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ พวกเราจึงชวนอดีต ‘แคนดิเดต’ คนที่เคยอาสาเข้ามาทำงานให้คนกรุงเทพ และอดีตเพื่อนร่วมสนามของผู้ว่าฯ ชัชชาติ กลับมาพูดคุยถึงปัญหาของกรุงเทพฯ ที่พวกเขามอง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรในยุคผู้ว่าราชการที่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และสิ่งที่พวกเขาอยากเสนอในอีกสามปีครึ่งที่เหลือเพื่อสร้างกรุงเทพฯ ในฝัน


หมายเหตุ: ทางกองบรรณาธิการได้ติดต่อ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และอัศวิน ขวัญเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบรับการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

“ทุกคนมักจะเรียกว่า ‘การเลือกตั้งผู้ว่าฯ’ แต่ที่ผมเรียกคือ ‘การปลดล็อกท้องถิ่น’ เพราะประเด็นที่เรียกร้องใหญ่มากกว่าการเลือกตั้งผู้ว่า ในปัจจุบันผู้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งและได้คะแนนไว้วางใจหลักล้าน แต่อำนาจตามกฎหมายน้อยกว่าผู้ว่าฯ ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียอีก ดังนั้นหากเราพูดถึงการปลดล็อกท้องถิ่นต้องพูดถึงการแก้กฎหมายที่เพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย”

เมื่อเราถามถึงชีวิตหลังจบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เล่าว่าหลังการเลือกตั้งในช่วงแรกเขาคิดว่าจะได้พักผ่อน แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะหลังจากการเลือกตั้ง วิโรจน์ตัดสินใจกลับมาช่วยสนับสนุนการทำงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จากพรรคก้าวไกล และผลิตนโยบายสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ วิโรจน์รับผิดชอบในส่วนของนโยบายสวัสดิการ เศรษฐกิจพลังงาน ปัญหาหนี้สิน สาธารณสุขและการศึกษา

เมื่อชวนมองกรุงเทพฯ 6 เดือนที่ผ่านมา วิโรจน์ชี้ว่ากรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีความคืบหน้าด้านการบริหารงานดีขึ้นหากเทียบกับผู้ว่าราชการและสมาชิกสภากรุงเทพฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะเข้าใจบริบทของพื้นที่มากกว่าและประชาชนก็เข้าถึงง่ายขึ้น แม้การบริหารงานดังกล่าวอาจจะไม่ได้เห็นผลทันตา แต่ต้องให้ความเป็นธรรมว่าการแก้ปัญหาด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณสูงอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่ปัญหาระยะสั้น เช่น การซ่อมท่อระบายน้ำ การจัดเก็บขยะที่ใช้งบประมาณกลางของผู้ว่าฯ ได้ ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้เห็นความกระตือรือร้นของผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯ มากขึ้น

การแก้ปัญหาที่เห็นความตั้งใจมากที่สุดคือ ‘การลอกท่อระบายน้ำ’ เพราะกรุงเทพมหานครกลับมาลอกท่ออีกครั้ง หลังจากที่ประชาชนไม่เห็นมานาน ทว่าวิโรจน์เองก็ตั้งคำถามถึงวิธีการลอกท่อที่ใช้ระบบ ‘ฮุยเลฮุย’ หรือใช้ผู้ต้องขังมาลอกท่อ เพราะประสิทธิภาพอาจได้แค่วันหนึ่งลอกเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ถึงเข้าใจว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น และถ้าเปลี่ยนมาลงทุนด้วยนวัตกรรมอาจต้องใช้ระยะเวลารองบประมาณ แต่ในอนาคตกรุงเทพฯ ควรคิดถึงการใช้นวัตกรรมมากขึ้นและต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการขุดลอกคูคลองสม่ำเสมอ

วิโรจน์กล่าวถึงสิ่งที่ยังกังวล ประเด็นแรกคือความชัดเจนเรื่องการซ่อมแซมอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยยอมรับว่าอุโมงค์ยักษ์มีประโยชน์ในการช่วยระบายน้ำ ทำให้เกิดคลองใต้ดินที่จะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเร็วมากขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนว่าผู้รับเหมาจะรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งส่งผลถึงกระบวนการซ่อมแซมอุโมงค์ระบายน้ำ เกรงว่าหากไม่ดำเนินการ กรุงเทพมหานครอาจจะเสี่ยงเจอการทิ้งงานและอุโมงค์ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยระบายน้ำจะใช้ไม่ได้

ประเด็นที่สอง คือประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทั้งนี้วิโรจน์ยืนยันว่า กทม. ต้องไม่ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าเด็ดขาดและต้องเปิดประมูลใหม่อย่างเดียว โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพควรเร่งศึกษารายละเอียด หากข้อมูลไหนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ควรจะเปิดเผย สาธารณชนจะได้รู้ราคากลางและเปิดประมูลใหม่ต่อไป ซึ่งการประมูลใหม่นั้นวิโรจน์มองว่าจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในด้านค่าโดยสาร

เมื่อถามถึงประเด็นพื้นที่ชุมนุม วิโรจน์มองว่าเป็นประเด็นที่น่าวิพากษ์วิจารณ์ในวิธีคิดของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถึงแม้การจัดสรรพื้นที่ชุมนุมของผู้ว่าฯ เป็นเรื่องที่ดี แต่คำถามคือผู้ชุมนุมไม่มีสิทธิในการชุมนุมที่อื่นหรือ หากย้อนถึงจุดประสงค์ของการเกิดชุมนุมคือเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลไม่แยแสและไม่หาทางออก การชุมนุมจึงเกิดขึ้น วิโรจน์เสนอว่าผู้ว่าฯ ควรจะมีบทบาทเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ทั้งหมดนี้อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพอยู่แล้วคือการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ต้องควบคู่กับการพิทักษ์สิทธิของผู้ชุมนุมด้วย เพื่อลดความรู้สึกคับแค้นใจของผู้ชุมนุมและร่วมเสนอทางออก

“หากจะฝากถึงผู้ว่าฯ อยากให้เร่งจัดการเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำและโรงกำจัดขยะ ผมเข้าใจว่าผู้ว่าอาจจะต้องให้เวลา แต่ถ้าคนรับผิดชอบทำไม่ถูกต้องและใช้วิธีการเตะถ่วงเวลาต่อไป ผู้ว่าฯ ต้องไม่ปล่อยวางในการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินตามอำนาจหน้าที่ ผมคิดว่าจะต้องรีบดำเนินการ การประนีประนอมเกิดขึ้นได้แต่ไม่ใช่ประนีประนอมโดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับประชาชน และอะไรก็ตามที่ผู้ว่าฯ ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผมก็ยินดีเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับท่านผู้ว่าฯ อยู่แล้ว” วิโรจน์ทิ้งท้าย

สกลธี ภัททิยกุล

สกลธี ภัททิยกุล

“ผมว่ากรุงเทพมหานครก็เหมือนเดิม เนื้องานหลักของกรุงเทพมหานครคือ งานบริการประชาชน หากพูดตรงๆ ว่าต่อให้ไม่มีผู้ว่าฯ งานก็สามารถเดินหน้าไปได้เพราะข้าราชการทำงานประจำได้อยู่แล้ว แต่การเข้ามาของผู้ว่าฯ คือต้องริเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากงานประจำ”

สกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในยุคผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง เปิดเผยว่าหลังการเลือกตั้งมีโอกาสได้พักผ่อน และคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกรุงเทพมหานครหลายท่าน จนตัดสินใจว่าสนามต่อไปของเขาคือเวทีการเมืองระดับชาติ แต่จะไปร่วมงานกับพรรคไหนนั้นยังอยู่ในการพิจารณาว่าพรรคไหนเหมาะกับตัวเขามากที่สุด

สกลธีสะท้อนความคิดถึงความแตกต่างของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพในยุคอัศวินกับยุคชัชชาติ ว่าที่ผ่านมาสมาชิกสภากรุงเทพมหานครถูกแต่งตั้งขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ทำให้การทำงานไม่มีอะไรหวือหวา เพราะไม่ต้องทำเพื่อคะแนนเสียง แต่พอมีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแล้ว เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงคือการกระทำของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครต้องสะท้อนถึงความพอใจของชาวบ้านในพื้นที่เป็นหลัก

6 เดือนที่ผ่านมา สกลธียังไม่เห็นถึงการริเริ่มโครงการใหม่ๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะผู้ว่าฯ ชัชชาติอาจจะเข้ามาในช่วงปลายปีงบประมาณทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปหมดแล้ว แต่หลังจากปีใหม่จะเป็นจุดที่วัดได้ว่าผู้ว่าฯ ชัชชาติสามารถดำเนินนโยบายสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใด แต่ในส่วนของงานประจำผู้ว่าฯ ก็ทำได้ดีผ่านการนำระบบเข้ามาช่วยอย่าง Traffy Fondue

Traffy Fondue คือระบบการแจ้งปัญหาของกรุงเทพมหานครโดยการร้องเรียนของประชาชน นับว่าเป็นระบบการทำงานที่ดีเพราะที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีปัญหาในแต่ละเขตวันหนึ่งจำนวนมาก เมื่อมีระบบเข้ามาช่วยเหลือ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหามาและมีการตอบกลับภายในไม่กี่วัน จะสร้างความสบายใจว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหา

ทั้งนี้สกลธีมองว่าประเด็นสำคัญของกรุงเทพมหานครตอนนี้มีสองประเด็น คือ ‘การหางบประมาณเพิ่มเติม’ และ ‘การจราจรและน้ำท่วม’

เหตุผลว่าทำไม ‘การหางบประมาณเพิ่มเติม’ จึงเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้งบประมาณจำนวนไม่มากหากเทียบกับปัญหา กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องมีเงินมากขึ้นเพื่อการลงทุนแก้ปัญหาของกรุงเทพที่ง่ายขึ้น สกลธีมองว่าหากต้องการเงินเพื่อมาบริหารเพิ่มต้องเริ่มวางแผน ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางกรุงเทพมหานครได้เริ่มวางแผนแล้วหรือยัง แต่ช่วงหลังเลือกตั้งเห็นว่าสำนักการคลังของกรุงเทพกำลังศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีโรงแรม

ประเด็นต่อมาคือ ‘การจราจรและน้ำท่วม’ กรุงเทพมหานครควรจะสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มสองอีกถึงสามสาย กล่าวคือในทุกวันนี้ แม้กรุงเทพฯ จะมีสายรถไฟฟ้าจำนวนมาก แต่ต้องลงทุนสร้างเพิ่มเพื่อให้การเดินทางเชื่อมกันลักษณะใยแมงมุม ทำให้แก้ปัญหาการจราจรได้ ส่วนน้ำท่วม เมื่อเราสามารถหาเงินได้ ควรลงทุนเปลี่ยนท่อระบายน้ำและปรับผิวถนนให้สูงขึ้นกว่าเดิม

“ผมอยากเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่แก้ปัญหา กทม. อย่างยั่งยืน อาจจะไม่เห็นผลในสี่ปีแต่เห็นการริเริ่มที่สามารถต่อยอด ซึ่งผมยังไม่เห็น ทุกวันนี้ไม่แตกต่างจากผู้ว่าฯ ท่านเดิมทำไว้ การตรวจพื้นที่น้ำท่วมผู้ว่าฯ ท่านเดิมก็ไป การจัดกิจกรรมก็ไม่ต่างจากผู้ว่าเดิมทำ ผมอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เหมือนกับที่คนกรุงเทพฯ คาดหวัง” สกลธีกล่าวถึงความคาดหวังของเขา

น.ต.ศิธา ทิวารี

ศิธา ทิวารี

“ในความคิดของผมผู้ว่าฯ ได้รับคะแนนนิยมจากคนกรุงเทพฯ สูงมาก จุดนี้ผู้ว่าฯ น่าจะใช้โอกาสนี้ปลูกจิตสำนึกของประชาชน ดำเนินการในสิ่งที่ยากแต่ยั่งยืน”

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของ ศิธา ทิวารี อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคไทยสร้างไทย คือการขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ปัจจุบันดูแลการบริหารพรรคการเมืองสำหรับการเตรียมเลือกตั้งทั่วไปในสมัยหน้า

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร ศิธามองว่าหลังการเลือกตั้งชาวกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ มีความขยันและทุ่มเท นอกจากนี้ได้เห็นการตื่นตัวของข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับและทำให้ภาพลักษณ์ของ กทม. นั้นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนปัญหาของกรุงเทพฯ ศิธามีความคิดเห็นว่าปัญหาหลายเรื่องถูกหมักหมมเป็นระยะเวลานาน บางปัญหาเช่น การจราจร หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง ลำพังผู้ว่าราชการก็ไม่ได้มีอำนาจและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาได้ เพราะต้องใช้งบประมาณการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ชัชชาติตอนเข้ารับตำแหน่งก็เหลืองบประมาณอยู่ไม่ถึงร้อยล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ถ้าเกิดเราเตรียมการให้ดี ฝนตกอย่างไรน้ำที่ท่วมถนนต้องไหลลงคลอง หากมองทางภูมิศาสตร์ กรุงเทพมีระบบคลองตามธรรมชาติจำนวนมาก ถ้าเราพร่องน้ำในคลองลงได้ครึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตรผนวกกับลอกท่อให้ดี คลองจะกลายเป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม

ประเด็นรถไฟฟ้า ศิธากล่าวว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ปัญหาบางอย่างด้วยตนเองไม่ได้ ต่อให้มีผู้ว่าฯ สิบคนก็ทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเรื่องหนี้รถไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการเปิดให้นั่งรถไฟฟ้าบางส่วนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะนายกรัฐมนตรีเคยพูดว่าเปิดให้ใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ คนเก่าจึงดำเนินการตามนั้น พอเปิดให้ใช้ฟรีไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปนายกรัฐมนตรีบอกว่าผมไม่ได้สั่ง ผู้ว่าฯ ก็บอกว่าเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี คำถามคือหนี้สองหมื่นล้านที่เกิดขึ้นตอนนี้ จะเอางบประมาณส่วนไหนในการมาชดใช้ค่าเสียหาย

ในมุมความนิยมของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ศิธาคิดว่าท่านสามารถใช้ความนิยมจากประชาชนเป็นเกราะในการคุยกับภาครัฐ หรือสร้างความตระหนักให้ประชาชนบางส่วนเกี่ยวกับปัญหาของกรุงเทพมหานคร เพื่อบอกทุกคนว่าเรามาแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ คะแนนนิยมจำนวนมากของผู้ว่าฯ ชัชชาติเป็นโอกาสที่ดีในการปลูกจิตสำนึก อย่างที่ผ่านมามีโครงการปลูกต้นไม้ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยตั้งไว้หนึ่งล้านต้น แต่เมื่อเข้ามาเพียงสองเดือน ตอนนี้จำนวนที่ปลูกเกินหนึ่งล้านต้นไปแล้ว ตัวชี้วัดนี้ทำให้เห็นว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือสูงมาก และความนิยมนี้ยังอยู่หากมีการผลักดันต่อ เช่นหากในวันนี้เกินเป้าหมายไปแล้ว โจทย์ต่อไปคือจะทำอย่างไรให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาจจะเป็นการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ หรือขยับจำนวนต้นให้มากขึ้น เพราะการปลูกต้นไม้นั้นยิ่งปลูกเยอะก็ยิ่งเป็นผลดีต่อเมือง

“กรุงเทพฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น เรื่องที่พูดเป็นเรื่องของการต่อยอดในมุมมองของคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง แต่เรื่องที่กังวลว่าจะไม่สำเร็จหรือไม่ดี ผมพูดคำเดิมว่าท่านทำได้ดีที่สุด ดีกว่าที่ผมหรือผู้สมัครคนอื่นเข้าไปทำด้วยซ้ำ มีแต่จะเข้าไปสนับสนุน เพราะฉะนั้นต้องให้กำลังใจ และให้ข้อเสนอแนะในมุมของคนกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่อยากให้ กทม. ของเราเป็นมหานครของโลกอย่างแท้จริง” ศิธาทิ้งท้าย

รสนา โตสิตระกูล 

รสนา โตสิตระกูล

“กรุงเทพมหานครต้องอย่าทำตัวเป็นผู้รู้ดี ทำเองทั้งหมด แต่ไม่ใช่เป็นหนทางที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นเราต้องพูดคุยกับประชาชน”

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ เล่าว่าหลังการเลือกตั้งก็กลับไปเดินเส้นทางภาคประชาชนต่อ โดยติดตามทั้งเรื่องพลังงานและรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สำหรับรสนา กรุงเทพมหานคร 6 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และเร็วเกินไปในการประเมินการทำงาน แต่ที่ผ่านมาก็คาดหวังให้ผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯ ดำเนินงานไปทิศทางเดียวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม รสนามองว่าหนึ่งในปัญหาของกรุงเทพมหานคร ณ ปัจจุบัน คือการไม่มี ดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของงาน (KPI: key performance index) ในแต่ละประเด็น เพราะที่ผ่านมาปัญหาของกรุงเทพมหานครมีจำนวนมาก ดังนั้นหากมีตัวชี้วัดในการทำงานแต่ละประเด็นจะทำให้การทำงานของกรุงเทพฯ เป็นระบบมากขึ้น โดยเล่าถึงประสบการณ์ของตนขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่ามีการใช้ระบบโซนสีเป็นตัวชี้วัดในการทำงาน กล่าวคือเมื่อมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาก็จะใช้สีหนึ่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะเป็นอีกสี

จากนโยบายหาเสียงของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีมากถึง 200 ข้อ การจะทำงานโดยไม่ได้เน้นความสำคัญว่าประเด็นไหนสำคัญที่สุด จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หากผู้ว่าฯ ใช้ระบบโซนสีเข้าไปจัดการกับนโยบายทั้ง 200 ข้อ โดยรสนาคาดหวังว่าภายใน 1 ปีแรก หากผู้ว่าดำเนินการสำเร็จเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และขยายผลความสำเร็จต่อไป ซึ่งการที่นโยบายทั้งหมดมีการกำหนด KPI จะทำให้ประชาชนสามารถประเมินผู้ว่าฯ ชัชชาติ และผู้ว่าฯ ก็จะมีเกณฑ์ในการประเมินผลการทำงานของตนเองด้วย

ด้านประเด็นสำคัญที่ผู้ว่าฯ ควรเร่งดำเนินการในสายตารสนา คือ ‘ปัญหาหาบเร่แผงลอย’ เนื่องจากรสนาได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับเครือข่ายของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ทำให้รสนามองว่ากลุ่มดังล่าวถือเป็น ‘เส้นเลือดฝอยของเมือง’ ที่ผู้ว่าฯ ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหลังจากผู้ว่าฯ คนก่อนมีคำสั่งยกเลิกพื้นที่ค้าขายถึง 512 จุด ทั้งหมดนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ค้าอย่างมา ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันต้องเข้าไปพูดคุยและร่วมกันหาทางออก โดยเชื่อว่ากลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีความพร้อมที่จะร่วมจัดระเบียบกับทางกรุงเทพฯ หากกรุงเทพมหานครต้องการเป็นเมืองแห่งอนาคต การรับฟังเสียงประชาชน ให้พวกเขามีสิทธิในการออกความเห็นและทำงานร่วมกับ กทม. แก้ปัญหาของเขาเองเป็นสิ่งสำคัญ

อีกหนึ่งปัญหาคาบเกี่ยวกับหาบเร่แผงลอย คือ ‘ส่วย’ หนึ่งในนโยบายการหาเสียงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือการไม่มีส่วยและไม่มีเส้น แต่ ณ ปัจจุบันนี้ปัญหาส่วยและเส้นก็ยังมีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มผู้ค้าได้มีโอกาสยื่นเรื่องดังกล่าวให้แก่รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม แต่ยังไม่มีการเข้าไปแก้ปัญหาแต่อย่างใด

ปัญหาทั้งหมดนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งของกลุ่มเส้นเลือดฝอยของเมือง หากกลุ่มคนเหล่านี้หายไปผู้คนในเมืองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารแพงขึ้น และเรื่องส่วยต้องกำจัดอย่างเข้มงวดไม่ให้เกิดขึ้นอีก

“ที่ผ่านมาดิฉันให้กำลังใจและอยากให้เวลาสำหรับท่านผู้ว่าฯ ในการตั้งหลัก แต่ตอนนี้ 6 เดือนผ่านไปผู้ว่าฯ ต้องตั้งหลักได้แล้ว ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก หวังเพียงผู้ว่าดำเนินการตามนโยบายที่กล่าวไว้” รสนากล่าว

บทสรุป: กรุงเทพฯ ควรหน้าตาเป็นอย่างไร?

ในวันที่ชัชชาติหมดวาระ

สำหรับวิโรจน์ คิดว่าภายใน 4 ปีนี้ กรุงเทพมหานครควรทำแผนสร้างและซ่อมแซมโรงบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จ เพื่อแก้ปัญหาการบำบัดน้ำ เพราะในปัจจุบันนี้ ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเป็นลักษณะท่อน้ำฝนกับท่อน้ำทิ้งรวมกัน ส่งผลให้น้ำที่ต้องบำบัดมีปริมาตรเยอะกว่าความสามารถในการบำบัดน้ำ และก่อนหมดวาระผู้ว่าฯ ต้องสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและป้ายได้

สกลธีกล่าวว่า ปัญหาของกรุงเทพมหานครนั้นต้องยอมรับว่าอาจจะไม่สามารถแก้ได้ภายในสมัยเดียว จึงมีความหวังว่าภายใน 4 ปีจะได้เห็นแผนการทำงานด้านต่างๆ ของผู้ว่าฯ ทั้งเรื่องของขยะ การจราจร และการระบายน้ำที่เป็นรูปธรรมสำหรับ 10-20 ปีข้างหน้า กล่าวคือผู้ว่าฯ ควรวางแผนในลักษณะที่ต่อให้ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อ แต่คนอื่นก็สามารถเดินตามแผนได้ เพื่อให้การแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครสำเร็จ

ด้านศิธาอยากเห็นกรุงเทพมหานครเป็นมหานครของโลก จากศักยภาพของเมืองศิธามองว่าเป็นไปได้ ที่ผ่านมาก็คิดเหมือนผู้ว่าฯ ว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ ดังนั้นภายใน 4 ปีอยากเห็นกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ทั้งน่าเที่ยวและน่าอยู่ ซึ่งด้วยความนิยมของผู้ว่าฯ คงจะสามารถรวบรวมความร่วมมือของประชาชนในการมาช่วยสร้างกรุงเทพมหานคร

เช่นเดียวกับรสนาที่ไม่ได้คาดหวังให้กรุงเทพมหานครมีหน้าตาเป็นเช่นไรในวันที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติหมดวาระ เพียงแต่ต้องการให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ตามที่ผู้ว่าฯ ได้ประกาศไว้ เพราะการทำให้เมืองน่าอยู่และให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยเป็นสิ่งที่ดี

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save