fbpx

#แด๊ดดี้ศิธา : การเมืองโจทย์ใหม่ของไทยสร้างไทย และ ‘ชั่วโมงการเมือง’ ของศิธา ทิวารี

ชื่อของ น.ต. ศิธา ทิวารี เป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ตลอดช่วง 52 วันระหว่างที่เขาหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร จากนั้นความนิยมชมชอบในตัวศิธาก็เริ่มไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดพีกที่สุดเมื่อเขาทวีตเหน็บแนมนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการที่นายกฯ แสดงความคิดเห็นต่อการเข้ามาของผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ด้วยคำพูดที่ไม่เป็นที่ถูกใจคนนัก

แต่กว่าที่กระแสของศิธาจะพุ่งมาถึงจุดที่คนนิยมจนเกิดเป็นแฮชแท็ก #แด๊ดดี้ศิธา การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ล่วงผ่านไปแล้ว บางคนบอกว่าถ้าศิธาเปิดตัวด้วยหมัดฮุกแบบนี้ตั้งแต่แรก อาจทำให้คนกรุงเทพฯ บางส่วนลังเลใจหันมาลงคะแนนให้เขาบ้าง แต่หากย้อนกลับไปในช่วงดีเบต อดีตนาวาอากาศตรีประจำกองทัพอากาศประกาศชัดว่า ให้คนกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ที่เหมาะสม และถ้าผู้ว่าฯ ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาไม่มี ส.ก. ในมือ ก็ให้เลือก ส.ก. จากพรรคไทยสร้างไทยไปทำงานได้ ถือเป็นยุทธศาสตร์การเมืองไทยแบบลดการฟาดฟันมาสู่การร่วมมือกันทำงานระหว่างผู้ลงสมัครด้วยกัน ซึ่งก็ทำให้คนเริ่มสนใจศิธามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้น

เขายอมรับว่า ตัวเขารู้ดีว่าถึงอย่างไรก็คงไม่สามารถเอาชนะชัชชาติได้ เขาจึงอยากทำงานในมุมใหม่ๆ โดยใช้ประสบการณ์ทางการเมืองกว่า 22 ปี มาเป็นฐานคิดในการวางแผนการหาเสียงเลือกตั้ง 

อันที่จริง กทม. ไม่ใช่สนามแรกของศิธา ที่บางคนเข้าใจว่าเป็น ‘หน้าใหม่’ ในสายตาการเมืองของคนรุ่นใหม่ แต่เขาสะสมชั่วโมงบินทางการเมืองอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ตัดสินใจลาออกจากหน่วย F16 เพื่อลงสมัคร ส.ส. ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544 ด้วยแรงบันดาลใจที่รับมาจากทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคในขณะนั้น

ผู้พันที่อ่อนประสบการณ์ทางการเมืองในตอนนั้น ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ตั้งแต่สมัยแรก ก่อนทำหน้าที่เป็นเลขาธิการรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาล ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะเกิดรัฐประหารปี 2549 ทำให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมือง นำมาสู่อาการ ‘เข็ดขยาด’ ที่จะนำหน้าในฐานะนักการเมือง เขาจึงเลือกเป็นผู้สนับสนุนและวางตัวอยู่เบื้องหลังในพรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทย

ปีที่แล้ว เขาออกมาจากพรรคเพื่อไทยเพื่อร่วมก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทยกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคน้องใหม่แต่ผ่านประสบการณ์การเมืองมาอย่างเข้มข้นนี้ ก็ตัดสินใจสู้ศึกในสนามแรกของพรรค ด้วยการส่งศิธาลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะ ‘ดีเอ็นเอ’ ของพรรค เพื่อเป็นการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการให้ประชาชนได้รู้จัก

แต่ช่วงเวลาเพียง 2 เดือนตั้งแต่ที่ศิธาเปิดตัวลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ จนถึงวันปิดหีบ ยังสั้นเกินไปนักที่หลายคนจะทำความรู้จักตัวตน ประสบการณ์ และความคิดทางการเมืองของชายคนนี้อย่างถ่องแท้จนเขาต้องทวีตเชิงขบขันว่า “You know me a little go” หรือ “คุณยังรู้จักผมน้อยเกินไป” 101 จึงชวนศิธา ทิวารีมาพูดคุยในบทบาทของนักการเมืองแห่งพรรคไทยสร้างไทย ตั้งแต่แนวความคิดที่เขายึดถือ ไปจนถึงภาพการเมืองในอนาคตที่เขาใฝ่ฝันอยากเห็นในสังคมไทย เพื่อทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น

หลังผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาแล้ว ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง

เปลี่ยนไปมาก อย่างตอนที่ไปเดินงานไพรด์คนก็เข้ามาทัก จริงๆ ชีวิตของผมน่าจะเปลี่ยนไปตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยิ่งช่วง 10 วันสุดท้ายที่มีดีเบตเข้มข้น ตอนนั้นเรามีคนรุ่นใหม่มาทำ social listening ให้ เราก็เห็นว่าหลังเราดีเบตไปแล้ว มีคนมาแสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วยกับเรา หรือบอกว่าชอบแนวความคิดเรา ทีมที่ดู social listening ก็มีการคำนวณว่าในความสนใจของคน เราอยู่เลเวลไหน บวกเท่าไหร่ ลบเท่าไหร่ ถ้าเทียบส่วนต่างจะเป็นยังไง ดูคะแนนความชื่นชม (appreciate) เท่าไหร่ บางคนก็สนใจมาก มีลบบ้าง บางคนสนใจกลางๆ ไม่ได้บวก 

เรื่องพวกนี้มาจากการที่เรารู้ว่าคุณชัชชาติโดดเด่นมาก เป็นตัวเก็งตั้งแต่แรก และเราเชื่อว่าเขาได้แน่ๆ เราเลยมาวิเคราะห์ว่าจะแสดงท่าทีออกไปยังไง เพื่อให้การหาเสียงช่วงเลือกตั้งผ่านไปได้ รันไปให้สุดแคมเปญ สู้จนยกสุดท้าย มองหาแนวทางทำงาน จากตอนแรกที่มีคนบอกว่าต้องไปแจกใบปลิวนะ ไปแนะนำตัวให้คนรู้จัก ผมคิดว่าสมมติไปแจกแล้วได้คะแนนกลับมาถึงแสนก็แพ้พี่ทริป (ชื่อเล่นของชัชชาติ) อยู่ดี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าอย่างนั้นเราเดินแนวทางตัวเองดีกว่า ไม่ต้องไปแจกกระดาษให้หมดวันไป ผมก็มาเตรียมตัวตอบคำถามให้ดี ให้ตรงกับหลักการและเหตุผล ก็เลยปล่อยเต็มที่ เราคิดอะไรก็ใส่ๆ หมด กลายเป็นคนฟังรู้สึกว่ามันเรียลนะ ซึ่งมันเป็นคาแรกเตอร์ของผม คือผมจะไม่โกหก อันไหนที่พูดไม่ได้ก็จะไม่พูด ถ้าโดนถามตรงๆ ก็จะบอกไปเลยว่าผมพูดไม่ได้ แต่ถ้าถามเรื่องพลเอกประยุทธ์ จะให้ตอบแบบอวยหรือว่ากลัวๆ ผมไม่ตอบ แต่จะตอบแบบ hit to the point ตามสิ่งที่เราคิด 

ระหว่างเลือกตั้งทีมงานก็บอกผมว่า พี่ต้องมีทวิตเตอร์ ซึ่งเราก็พอรู้จักอยู่บ้าง เพราะเคยสมัครเข้าไปอ่านความเห็นเรื่องการเมืองต่างๆ แต่ไม่เคยทวีต ไม่เคยใช้งานเลย เป็นเหมือนแอคหลุมที่ไม่ได้ยุ่งกับใคร พอลงสมัครผู้ว่าฯ ก็สมัครใหม่ ทีมงานช่วยดู ช่วงแรกคนก็ไม่ได้มาติดตามเยอะหรอก 

จนช่วงหลังเลือกตั้ง ในกลุ่มทีมงานเขาก็ส่งภาพที่คุณบอล (ธนวัฒน์ วงค์ไชย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ้าของเพจธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai) พูดว่าลุงตู่พูดเกี่ยวกับผู้ว่าฯ ว่า “มันเข้ามาแล้วจะดีขึ้นหรือเปล่า” ตอนเห็นผมก็รู้สึกโมโห ในความคิดของผมตอนนั้นคือ “แหม มึงช่างกล้า” ผมก็เลยพิมพ์บอกในทีมไปว่า “เขายังไม่เข้าเลย แต่มึงอยู่แล้วมันเลวร้าย มึงออกไปสิ” น้องๆ ในทีมก็หัวเราะ มาบอกว่าขอยืมไปลงของตัวเองนะ ผมบอกว่าไม่ๆ ผมจะทวีตเนี่ย 

เห็นครั้งแรกก็จะทวีตตอนนั้นเลย?

มันเป็น 2 บรรทัดที่มันออกมาจาก instant message เสี้ยววินาที เหมือนคุยกันเดี๋ยวนี้จะออกมาทั้งหมดเลย ทีมงานตอบกลับมาว่า “ฮะ? จะทวีตเหรอ” ผมก็บอกว่าที่ส่งให้ก็จะทวีตไง ทุกคนหัวเราะใหญ่ ถามว่า “เอาจริงนะๆ”

ไม่มีใครห้าม?

ทีมงานทักแล้วว่าอาจจะดูแรงไปไหม แต่เขารู้นิสัยผม เซนส์ผมตอนนั้นนะ เขาได้รับเลือกตั้งมาล้านกว่าคะแนน แล้วไม่ต้องเอา ส.ว. มาเลือกตัวเองด้วย ไม่ต้องใช้กลไกทางกฎหมายมาบีบบังคับคนให้มาร่วมพรรคตัวเอง แล้วคะแนนที่ออกมา เอาของทุกคนรวมกันยังไม่เท่าเขาเลย แล้วมาบอกว่า “ดูซิ มันเข้ามาแล้วจะมีอะไรดีขึ้นไหม” ในความรู้สึกของผมคือ ถ้ามึงไม่ให้เกียรติคนอื่น คนอื่นก็ไม่ให้เกียรติมึงหรอก แล้วถ้าใครจะมาด่าว่า ทำไมไปพูดกับเขาแบบนั้น ผมจะสวนกลับว่า เขาก็ไม่ได้ให้เกียรติคนอื่นเหมือนกัน

คาดคิดไหมว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการทวีตครั้งนั้นจะกลายเป็นกระแสให้คนสนใจคุณมากขึ้น

มีบ้าง แต่จริงๆ ก่อนหน้านี้มีอีกโพสต์คือผมจับมือ แล้วบอกว่าถ้าชัชชาติไม่มี ส.ก. เอา ส.ก. ผมไปเลย คือผมดูอารมณ์ของคนแล้วเห็นว่าเขาลังเล ผมบอกว่าไม่ต้องลังเล คุณไม่ต้องเลือกผมก็ได้ ไปเลือกคนที่คุณชอบ แต่ถ้ายังเสียดายผม ให้ไปเลือก ส.ก. ไทยสร้างไทย ผมยังช่วย ส.ก. ทำงานได้ ตอนนั้นคนก็เริ่มมากดติดตามผมมากขึ้นแล้ว ในคอมเมนต์ของรายการดีเบตก็มีคนมาเมนต์ว่า “ชอบแนวคิดนะ แต่ตอนนี้มีคนในใจแล้ว ยังไงจะสนับสนุนให้ทำงานการเมืองต่อไป” 

มีคนพูดเหมือนกันว่าถ้าคุณทวีตข้อความถึงนายกฯ แบบนี้ตั้งแต่แรก เขาอาจจะเลือกคุณก็ได้

ผมว่ามันเป็นไทม์มิง มันเลือกไม่ได้ ถามว่าเสียดายไหม ผมก็คิดว่าถ้าทำอย่างนั้น คงจะได้คะแนนมากกว่า 70,000 ขึ้นไป แต่ผมก็มองว่ามันมีอีกหลายสนาม แล้วเราจะเป็นตัวตนของเราต่อไป ถ้าเขาชอบเรา เขาศรัทธาเรา มันก็จะเป็นโอกาสในการนำเสนอว่าแนวความคิดของเราในเรื่องอื่นๆ เป็นอย่างไร เขาก็จะเอาไปพิจารณาอีกทีว่า สำหรับการเมืองระดับชาติควรจะสนับสนุนคุณต่อไปไหม เพราะฉะนั้น ถ้าเขาไม่เลือกเราครั้งนี้ ก็ยังมีครั้งหน้า 

ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนที่รู้สึกติดค้างอยู่ เป็นอารมณ์แบบรู้อย่างนี้น่าจะเลือก บางคนก็บอกว่าพอรู้จักตัวตนแล้ว อย่างไรก็จะติดตามผลงานต่อไป ผมว่าก็โอเคครับ มันอยู่ตรงที่ว่าการเทกออฟขึ้นไป ไทม์มิงเป็นแบบนี้เราก็ต้องยอมรับ แล้วที่ผมพูดคือยังปล่อยข้อมูลออกมาไม่ถึง 10% เลย เพราะส่วนใหญ่เราพูดในขอบเขตของกรุงเทพมหานคร จริงๆ มันมีอีกตั้งเยอะ ผมเลยพิมพ์บอกน้องในทีมไปว่า “You know me a little go” ตอนแรกเขาก็งงกัน พอมีคนรู้ก็ขำก๊าก เขาเลยเอาไปทวีต คุณรู้จักผมน้อยไปแล้ว เพราะเราสะสมประสบการณ์การเมืองมา 22 ปี แล้วเราไม่ได้สะสมแบบไก่กาไง เราสนใจ เพียงแค่เราไม่ได้แสดงตัวออกมา

 

ถ้าอย่างนั้นคุณพอจะเล่าประสบการณ์ 22 ปีในการทำงานการเมืองอย่างที่คุณบอกได้ไหม อะไรทำให้ทหารอากาศอย่างคุณตัดสินใจลาออกมาทำงานการเมือง

ผมขอเล่าตั้งแต่ตรงนี้เลย ตอนเด็กผมมีความฝันอยากขับเครื่องบินมากๆ เคยเห็น F16 พ่นควันออกมาเป็นสีธงชาติ ประทับใจมาก มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ ผู้ใหญ่บอกว่ามันคืออาชีพนักบิน มันเลยเป็นความฝันมาโดยตลอดว่าผมจะเป็นนักบิน จนได้เข้าไปอยู่ในโรงเรียมเตรียมทหาร แล้วก็ได้เป็นนักบิน F16 อย่างที่ฝัน

ต่อมาผมสอบทุนได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ แล้วได้เข้าไปบ้านผู้ช่วยทูตที่ลอนดอน เผอิญวันนั้นคุณทักษิณมาทานข้าว บนโต๊ะเหลือที่ว่าง 1 ที่ ผู้ใหญ่เขาบอกว่าผมอาวุโสสุดในบรรดานักเรียนที่มาที่นี่ ให้ไปนั่งด้วยได้ ก็เลยได้ฟังความคิดของคุณทักษิณอยู่ 3 ชั่วโมง โห วันนั้นผมกลับบ้านไปนอนไม่หลับเลย

ตอนนั้นเขาจะตั้งพรรคไทยรักไทย และพูดว่าอยากทำอะไรบ้าง มีช่วงหนึ่งเขาพูดว่า การศึกษาของเด็กไทยในอนาคตจะแข่งขันกับใครไม่ได้เลย เพราะต่างชาติเขาสอนให้เด็กเขารู้จักคิด มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักที่จะเอามันออกมาใช้ทำงาน แล้วสิ่งที่คุณทักษิณพูดตอนนั้นคือสิ่งที่เกิดในโลกปัจจุบันจริงๆ เช่น “เดี๋ยวอีกหน่อยอินเทอร์เน็ตจะมีอิทธิพลนะ” ในยุคที่เขาพูดประโยคนี้ ซีพียูยังเป็นแบบ Pentium 386 / 486 ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ถือว่าโบราณมาก หรืออีกเรื่องคือเขาเคยวิเคราะห์ว่า “ถ้าถามเด็กไทยว่าใครคือนักบินอวกาศ 3 คนแรกของโลก เด็กไทยจะตอบได้ ถ้าถามเด็กฝรั่ง เขาจะไม่รู้ว่าใคร แต่ถ้าถามเด็กไทยว่าเขาลงทุนเป็นหมื่นล้านเพื่อส่งยานอวกาศไปนอกโลกคุ้มค่าตรงไหน แล้วเขาต้องการอะไร เด็กไทยจะตอบไม่ได้ แต่เด็กฝรั่งจะตอบได้” ตรงนี้สะท้อนถึงความต่างของการเรียนแบบท่องจำและคิดวิเคราะห์

ผมเรียนโรงเรียนเตรียมทหารมาก่อน อยู่ในระบบปิด มาฟังแบบนี้ก็เปิดโลก ผมสนใจการเมืองมากขึ้น เราก็ฟุ้งเลยว่าถ้าเกิดเราเป็นนักการเมือง เราจะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้มากกว่านี้หรือเปล่า พอผมกลับไทยมา ผมเดินไปพรรคไทยรักไทย แล้วสมัครสมาชิกพรรคเลย

การคุย 3 ชั่วโมงครั้งนั้นทำให้คุณคิดอยากเปลี่ยนอาชีพที่รักมาตั้งแต่เด็กเลยหรือ

จริงๆ มีเหตุผล 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือเพราะฟังคุณทักษิณครั้งนั้นด้วย และอีกอย่างคือผมชอบอ่านหนังสือการพัฒนาตัวตน มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘มันสมองของหลวงวิจิตรวาทการ’ เขาบอกว่าสมองส่วนหนึ่งของคนเราทำให้เราไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน เพราะฉะนั้น คนเลยไม่กล้าเปลี่ยนอาชีพ 

ผมมีความคิดหนึ่งคือ ถ้า ‘การหาเลี้ยงชีวิต’ กับ ‘การใช้ชีวิต’ สองอย่างนี้อยู่ด้วยกันได้ มันจะมีความสุข แล้วคุณทักษิณก็พูดว่า “คนเรา ตัวกับใจต้องอยู่ด้วยกัน” คือตัวเราต้องทำงานหาเงิน แล้วถ้ารู้สึกสนุกกับมัน คุณจะได้ 2 เด้ง หรือมากกว่า 2 เด้งด้วย เพราะว่าเรามีความสุขกับงาน แล้วเราได้เงินเดือนหาเลี้ยงชีวิต คือตัวกับใจอยู่ด้วยกัน

ผมก็ย้อนกลับมาคิดเรื่องนักบิน ผมเป็นนักบินเพราะอยากขับเครื่องบิน แต่เราจะบินได้แค่ถึงยศนาวาอากาศโท ซึ่งเลือกผู้ฝูงแค่คนเดียว พอพ้นจากนั้นไม่ได้บินแล้ว ก็จะต้องเริ่มทำงานนั่งโต๊ะ เช่นเป็นผู้การกองบิน ซึ่งนั่นไม่ใช่แนวทางที่ผมต้องการ มันเลยเป็นจังหวะที่เราสามารถเปลี่ยนงานได้ ผมเลยเดินไปพรรคไทยรักไทยขอสมัครสมาชิก แล้วบอกเขาเลยว่าผมอยากเป็น ส.ส. ครับ ผมก็เลยได้ลงสมัคร พอได้รับเลือกแล้วก็ลาออกจากราชการมาเป็น ส.ส. ก่อนได้รับเลือกให้เป็นเลขาฯ รัฐมนตรี แล้วมาเป็นโฆษกรัฐบาลในตอนหลัง

พอได้มาทำงานการเมืองแล้ว ระบบคิดและวิธีทำงานของทหารกับนักการเมืองต่างกันไหม มีอะไรที่คุณต้องปรับตัวบ้าง

ระบบคิดของทหารแต่ละหน่วยเองก็ต่างกันนะ ตอนที่เรียนรวมกัน มีทหารแต่ละหน่วยมาสอน ส่วนใหญ่เป็นทหารบก ทหารก็จะสอนเรื่องประวัติการบังคับบัญชา (commander) และการเป็นผู้นำ (leader) ลักษณะทหารบกอาจจะให้น้ำหนัก commander 90% leader 10% เพราะเขาต้องสั่งคนเป็นร้อยไปตาย เขามีกระบวนการบังคับบัญชา มันเหมือนทีมฟุตบอลที่ต้องมีโค้ช ถ้าต่างคนต่างเล่น มันก็แพ้

ในเตรียมทหารสอนว่า “ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร” หรือ “ทหารต้องสละชีพเพื่อชาติ” เราก็ต้องท่อง แต่พอไปกองทัพอากาศ (ทอ.) เขาบอกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้ ตายในสนามรบก็เป็นศพของทหารสิวะ หรือจะมาสละชีพเพื่อชาติ เป็นวีรบุรุษของชาติก็ไม่ได้นะ แต่ ทอ. บอกว่า “ทำให้ข้าศึกของเขาเป็นวีรบุรุษของประเทศเขา” เพราะว่าคุณไม่ได้ไปรบด้วยชีวิตคุณคนเดียว แต่มีเครื่องบินราคาเป็นพันล้าน ถ้าคุณบอกว่าจะสละชีพเพื่อชาติ แล้วเครื่องบินจะกลับมายังไง สละชีพเครื่องบินก็ตายไปด้วย มันจะเป็นวิธีคิดที่ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะในสงคราม เราไม่ต้องการไปแพ้ ไม่ต้องการไปตาย 

ตอนทำงานการเมือง ผมก็คิดว่าต้องทำให้ได้ อย่างเช่น เขาให้ผมเป็นโฆษกรัฐบาล ซึ่งผมไม่มีประสบการณ์มาก่อน ผมยังงงเลยนะว่าให้ผมเป็นโฆษกฯ เลยเหรอ เขาบอกว่า “ทำไม คิดว่าทำไม่ได้เหรอ” ผมบอก “ไม่ครับ ให้ทำผมก็ทำเต็มที่อยู่แล้วครับ” ช่วงแรกๆ ก็งงเหมือนกัน ผมต้องเตรียมตัวเยอะ เพราะไม่ค่อยรู้เรื่องการเมือง ในขณะที่คนที่เตรียมมาประชุมกับนายกฯ เตรียมตัวมาเป็นเดือนๆ นักข่าวที่รอทำข่าวก็อยู่ที่ทำเนียบมานานเป็น 10-20 ปี ช่วงแรกก็มีคนบอกว่า ที่นี่ไม่ใช่สถานที่ฝึกงานนะ แต่ผมก็ทำงานไป ไปรู้จักกับนักข่าวรุ่นใหม่ๆ เอา เพราะเขาก็ใหม่ เราก็ใหม่ทั้งคู่ ทำงานไปด้วยกัน

การเป็นโฆษกฯ ทำให้ได้ทำงานใกล้ชิดกับนายกฯ ทักษิณ ผมต้องเข้าประชุม ครม. ด้วยตลอด ได้เห็นการประชุม ฟังวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำของท่าน แล้วผมก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์มา ครูพักลักจำทั้งวิธีคิดและเรื่องต่างๆ ด้วย ท่านใช้วิธีคิดที่สตรองมาก ไม่ต้องกลัวว่าหนหน้าจะตอบไม่เหมือน เพราะท่านไม่ได้ตอบจากคำถาม ท่านตอบจากกระบวนการความคิด ซึ่งมันลงตัว

ผมก็เอา 2 แนวทางมาปรับเข้าด้วยกัน ตอนอยู่กับคุณทักษิณก็เรียนรู้ความเป็นผู้นำ ส่วนตอนทำงาน ผมก็เอาแนวทางทหารอากาศมาใช้ มันเป็นสิ่งที่สะสมในตัวผม เวลาได้รับภารกิจ ผมไม่เคยถามว่าผมจะได้กลับมาหรือเปล่า แต่ผมจะถามว่า ถ้าผมทำภารกิจสำเร็จแล้ว คนข้างหลังเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ชีวิตเขาจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง 

อย่างตอนที่ผมมาลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถามว่ารู้ไหมว่าจะแพ้ โห รู้แบบ 99.99% ว่าแพ้แน่นอนอยู่แล้ว แต่แพ้ชนะไม่ใช่บรรทัดสุดท้าย ผมถามไปว่าสิ่งที่ผมทำไป คนข้างหลังซึ่งก็คือคนในพรรคที่เดินไปด้วยกันตั้งแต่ก่อตั้งพรรคการเมืองมา ได้ประโยชน์ไหม ผมสู้เต็มที่ สู้จนนาทีสุดท้าย แต่ว่าวิธีการสู้ของผม คือสู้แล้วมันต้องเหลืออะไรไว้เบื้องหลัง ไม่ใช่ว่าไปรบแล้วก็ตายอยู่ดี แต่ว่าคุณเรียกอะไรกลับมาให้กับส่วนรวมให้ได้ 

ก่อนคุณจะลงผู้ว่าฯ ช่วงรัฐประหารปี 2549 คุณถูกตัดสิทธิทางการเมือง ความรู้สึกของคนที่ลาออกจากอาชีพในฝันตอนเด็ก มาทำงานการเมืองเป็นอาชีพที่ 2 แล้วยังถูกตัดสิทธิการทำงาน ตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไร

ไม่เป็นธรรมเลย เพราะมันไม่มีกฎหมายเรื่องตัดสิทธิมาก่อน พอบอกว่าพรรคผิด ก็มาตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งร้อยกว่าคน ซึ่งไม่เคยมีใครไปรู้เรื่องกับที่เขากล่าวหาเลย ตอนนั้นเขาให้ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) เข้ามาตรวจสอบ แล้วพยายามขุดคนที่อยู่ในลิสต์ทั้งหมด พยายามปักความผิดให้ทุกคน ซึ่งเรามองว่ามันไม่ใช่แล้ว

จากแต่ก่อนที่นักการเมืองมักจะทำดำให้เป็นขาว ช่วยเหลือพวกพ้อง ฝ่ายตัวเองไปทำความผิด แต่ถ้ามีคอนเนกชันกับองค์กรอิสระ มีเงิน มีบารมี ก็ไปเอื้อกันเพื่อจะฟอกดำให้เป็นขาว ตั้งแต่รัฐประหารมา เขาใช้กระบวนการที่ทำขาวให้เป็นดำได้ คือถ้าคุณอยู่ฝ่ายตรงข้าม อะไรที่คุณทำอาจจะไม่ผิด หรือผิด หรือจะเอาผิดไม่ได้ อะไรก็แล้วแต่ เขาก็จะเอาชนักปักให้ได้ ซึ่งมันไม่ดีสำหรับทุกคน

ตัวผมเอง ลูกยังเล็กอยู่ เราเข้าไปแบบนี้ไม่ได้ เราก็ไม่เอาดีกว่า จะตัดสิทธิก็ตัดสิทธิ ผมไม่ยุ่ง แล้วพอคืนสิทธิแล้ว ผมก็ไม่เข้าการเมือง อยู่แต่ข้างนอก ใครให้มาเป็นนู่นเป็นนี่ ผมไม่เอาเลย

มันทำให้คุณ ‘เข็ด’ กับการเมือง?

ผมเข็ด (ตอบทันที) ผมไม่กล้าเข้ามาในการเมืองเลย อย่างที่บอก ผมอยู่ในออนไลน์ก็ไม่มีตัวตน แล้วตอนนั้นความรู้สึกของคนต่อพรรคการเมืองกับนักการเมืองไม่เหมือนเมื่อก่อน พอเป็นเหลืองเป็นแดง ผมจะไปไหนรู้เลยว่ามีอยู่ 2 อย่าง ไม่ซุบซิบปากด่า ก็ให้กำลังใจ คือคนอินกันแบบเอ็กซ์ตรีมเลย ถ้าเดินเข้ามายิ้มและพูดคุยจะรู้แล้ว บอกว่าเชียร์นะ ให้กำลังใจนะ แต่ถ้ามองมาแล้วหน้าบึ้งๆ พอเราไปคุยด้วย ก็อาจจะบอกเราว่าไปสนับสนุนคนโกงทำไม เราก็รู้สึกว่านั่นไม่ใช่ตัวเราแล้ว

เราไม่ได้อยากมาหาประโยชน์จากการเมือง เราไม่อยากจะเอาตัวมาเสี่ยง คือผมมีลูก 4 คน ต่อให้มีตำแหน่งแห่งหน มีหน้ามีตา แต่พอถึงเวลา คุณไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาทำให้คุณผิดได้ แล้วคุณก็กลายเป็นจำเลยสังคม ไปสู้คดี ไปติดคุก ลูกเมียเดือดร้อน แล้วลูกยังเด็กอยู่ ผมไม่เสี่ยงดีกว่า ถ้ามีคนบอกว่ามาช่วยหน่อย คุณเป็น thinktank ได้ คุณรู้โซลูชันอะไรต่างๆ แล้วสะสมความรู้การเมืองมาเยอะ ผมไม่มีปัญหาในเรื่องนั้น เราช่วยเบื้องหลังได้ แต่จะไม่ออกหน้าแล้ว นี่คือความเข็ดการเมือง 

แล้วอะไรทำให้คุณตัดสินใจลงผู้ว่าฯ กทม. ในอีก 10 ปีต่อมา

ผมต้องการทำให้น้องๆ เห็นด้วย คือตอนเรามาทำพรรคไทยสร้างไทย เราดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วยเยอะ เราก็สอนเขา ทั้งเสวนาและขึ้นมาบรรยายว่าการเมืองคุณต้องทำแบบนี้ ตอนลงพื้นที่สมัยแรก ผมก็เหมือนจะไม่มีโอกาสชนะเหมือนกัน แต่ผมทุ่มเท คือไปนอนอยู่กับชาวบ้านเลย ไม่ว่าจะบ้านเขาไฟไหม้หรือคนไร้บ้านมานอนใต้ทางด่วน ผมก็ไปนอนกับเขาด้วย ช่วยติดต่อประสานจากการที่เราเป็นข้าราชการเก่า คุยกับเขตจนสร้างบ้านได้ จนชาวบ้านเลือก เพราะเขาไม่เคยเจอคนแบบนี้ นี่เป็นสิ่งที่เราสอนน้องๆ ไว้ เราบอกว่าไม่ต้องไปกลัวแพ้หรือชนะ เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ แล้วบรรทัดสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่ผลแพ้หรือชนะ 

คำพูดทั้งหมดที่เราสอนเขาไปเป็นตัวกลับมามัดเราว่า พี่สอนผมแล้วทำไมพี่กลัวเหรอ ทำไมพี่ไม่ลง ทุกคนอยากให้พี่ลง น้องๆ เห็นพี่เป็นไอดอล ตอนที่เราเตรียมสนามผู้ว่าฯ เราก็หาคนมาลง แต่คนนู้นก็ไม่ใช่ คนนี้ก็ไม่ใช่ เวลาประชุม ทุกคนจะบอกว่ามีแต่หน้าพี่ลอยอยู่ แล้วผู้ใหญ่บอกว่าต้องช่วย เพราะถ้าไม่ลง พรรคเราจะทำยังไง เพิ่งจะตั้งกันขึ้นมาใหม่ 2 เดือนเลยนะ ต่อให้คุณหญิงหน่อยขยันกว่านี้อีก 5 เท่าก็ไม่เป็นข่าว เพราะตอนนี้คนไปโฟกัสเรื่องผู้ว่าฯ แล้วถ้าคุณชนะขึ้นมา คุณก็ทำนโยบายได้เลย 

เราก็โอเค ผมเอากรุงเทพมหานครเป็นตัวนำร่อง ว่าเราจะเสนออะไรไป พอเรามาเปิดตัวตรงนี้แล้ว ก็กลายเป็นว่าเราได้เป็นไอคอนของพรรคที่คนรู้จัก คล้ายๆ ตกกะไดพลอยโจน เราก็เลยเอาวะ ลองสักตั้งหนึ่ง 

คุณบอกว่ารู้อยู่แล้วว่าแพ้แน่ๆ แล้วกลัวเสียหน้าไหมที่ต้องมาลงสนามที่คิดว่าอย่างไรก็แพ้

ผมบอกให้นะ มันยิ่งกว่าเสียหน้า ในความรู้สึกผมนะ มันอาจเป็นความรู้สึกที่คนไม่คิด คือผมไม่เคยแพ้เลือกตั้ง ผมชนะมาตลอด ผมจะเรียนทหาร เรียนเตรียมอุดม เรียนหลักสูตรอะไรก็แล้วแต่ ผมก็เป็นหัวหน้าตลอด แล้วทำไมเราต้องมาเสียสถิติ ผมพูดเลยนะว่าผมก็มีอีโก 

แต่ผมใช้แนวทางเลือกตั้งครั้งนี้แบบกามิกาเซ่ (Kamikaze) เป็นวิธีการรบทหารอากาศญี่ปุ่น ถ้าศัตรูเอาเรือบรรทุกเครื่องบินมา ญี่ปุ่นเขาก็ขับเครื่องบินไปลำหนึ่งแล้วพุ่งชนเรือนั้นไปเลย ถ้าไม่มีเรือเครื่องบินที่บินอยู่ ก็ลงจอดไม่ได้ เครื่องบินส่วนหนึ่งก็ขึ้นไม่ได้ ผมก็เอาตัวเองเป็นเครื่องบินรบนั้น ทำให้ดูเลยว่าสู้ไปให้สุดแล้วจะเป็นอย่างไร คือเหมือนการเป็นอาจารย์ใหญ่ คุณใช้ประโยชน์จากเรือนร่างผมให้เต็มที่ว่าเรามาลงแล้วได้อะไร ส่วนผมจะลงสมัครแล้วต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองตกมาแล้วไม่บาดเจ็บ ผมหาทางช่วยตัวเองได้

แต่จุดเสียหน้าเสียฟอร์มของผมลึกกว่านั้น คือลูก 4 คนของผมยังเด็ก คนโตอาจจะพอเข้าใจ แต่คนอื่นๆ ยังไม่เข้าใจ ผมลงเลือกตั้ง เพื่อนลูกรู้อยู่แล้วว่าพ่อคนนี้ลง ผู้ปกครองเขาก็รู้ แล้วถ้าเราแพ้ ลูกถูกล้อว่า พ่อเป็นคนแพ้ จะเป็นอย่างไร 

แล้วเวลาที่ลูกผมไปกินข้าวข้างนอกบ้าน เดินไปไหนมาไหน เขาเจอคน เขาก็จะบอกว่า “สวัสดีครับ ผมกลับก่อนนะครับ อย่าลืมเลือกคุณพ่อผมนะครับ เบอร์ 11 ครับ” แล้วเอาแผ่นพับไปโรงเรียน บอกเพื่อนว่า “บอกคุณพ่อคุณแม่ให้เลือกพ่อเราด้วยนะ” เขาอยากมีส่วนร่วม ผมถามว่า “ถ้าพ่อไม่ชนะลูกจะเป็นอย่างไร” เขาเลยบอกว่า เขาคิดว่าเขาร้องไห้นะ

ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรตอนลูกบอก แต่พูดว่า “มิกกี้ ตอนมิกกี้ไปแข่งฟันดาบแล้วได้ที่ 1 มิกกี้เก่งมากเลย แล้วพ่อว่าอย่างไร” เขาตอบว่า “คุณพ่อก็ชมว่ามิกกี้เก่งมาก แล้วก็ให้ของขวัญ” ผมถามว่า “แล้วรอบที่มิกกี้ไปแข่งแล้วได้ที่ 5 คุณพ่อว่าอย่างไร” เขาตอบว่า “คุณพ่อก็ไม่ได้ว่ามิกกี้ แต่บอกว่ามิกกี้ทำสุดความสามารถแล้ว แล้วก็ให้มิกกี้ตั้งใจให้มากกว่าเดิม”

เพราะฉะนั้น พ่อจะบอกลูกว่า ผลแพ้ชนะไม่ใช่ตัวตัดสิน มันเป็นสิ่งที่เราทำในสิ่งที่เราตั้งใจ ในสิ่งที่เรามุ่งมั่น พ่อบอกว่ามิกกี้ทำดีที่สุดแล้ว แต่เราอาจจะยังดีไม่เท่าเขา เราก็ต้องมุ่งมั่นทำต่อไป ถ้าพ่อแพ้ขึ้นมา พ่อก็บอกตรงๆ ว่าโอกาสชนะไม่มีหรอก แต่มันเป็นหน้าที่อะไรบางอย่างที่พ่อต้องทำ เหมือนพ่อเคยเป็นทหาร แล้วเขาบอกให้ไปรบ พ่อจะไปถามเขาว่าพ่อชนะกลับมาไหมไม่ได้หรอก มันเป็นภารกิจที่ต้องทำ ก็ทำให้ดีที่สุด

หลังผลเลือกตั้งออกมา คุณประเมินฐานเสียงของไทยสร้างไทยอย่างไรบ้าง

ผมมองว่าคะแนนของไทยสร้างไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพรรคก้าวไกล เพื่อไทย อย่างที่เขาวิเคราะห์กัน ถ้านับพรรคอื่น ก็มีเสรีรวมไทย มีเพื่อชาติด้วย พวกบรรดากลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหลาย

แต่พรรคที่อยู่ฐานคะแนนใกล้กับเราที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพื่อไทย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า เขาก็น่าจะเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ตรงนั้นจะเกิดกระแสให้คนไปเลือก แต่เราเชื่อในจุดยืนของเราที่เป็นตัวตนของเรา เราจะตรงไปตรงมา คุณก็หาเสียงของคุณ ผมก็หาเสียงของผม ไม่ได้ทะเลาะกัน แล้วตามจริง ผมก็อยากให้คะแนนของคุณเยอะๆ อยากให้คะแนนของผมก็เยอะๆ คือให้คะแนนฝั่งนี้เยอะ จะได้ไปโค่นฝั่งตรงข้ามซะ มันก็เป็นการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ (strategic vote) ที่เราต้องไปเอาชนะเผด็จการ

แต่เหมือนกับว่า ณ เวลานี้ คนที่เป็น mastermind ก็อาจจะมีความคิดอีกอย่าง แต่ผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยอยากเก็บทุกเม็ด คืออยากแลนด์สไลด์ อยากให้ทุกอย่างต้องไปรวมที่เขา [ต่อให้] คนอื่นพูดอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ผมจะพูดตลอดว่าเพื่อไทยควรทำตัวเป็นผู้ใหญ่นะ คุณเป็นแกนนำของพรรคฝ่ายค้าน ทุกวันนี้คุณออกไปทะเลาะกับก้าวไกล คุณออกมาด่าไทยสร้างไทย มันเป็นแนวคิดจริงๆ ทางอุดมการณ์หรือเปล่า หรือเป็นแค่ผู้บริหารที่ต้องการเอาชนะคะคานในการเลือกตั้ง ต้องการมาดึงเสียงประชาชน แบบนั้นไม่มีประโยชน์ คุณทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกคนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยดีกว่า คุณเป็นพี่ใหญ่อยู่แล้ว ไม่มีใครไปคัดง้างกับคุณแล้ว คุณใหญ่สุด 

แล้วคุณคิดว่าฐานเสียงนอกเขต กทม. เป็นกลุ่มเดียวกันกับเพื่อไทยไหม

ถ้าไปดูอีสานโพลจะเห็นว่าคะแนนทั่วประเทศอันดับ 1-2 ยังอยู่ที่สุดารัตน์กับประยุทธ์นะ ในพื้นที่อีสาน สุดารัตน์ชนะประยุทธ์ แล้วถ้าดูโพลทั้งประเทศล่าสุดก็ยังสูสีกันอยู่เลย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นโพลของเอแบคหรือนิด้า ซึ่งเดี๋ยวเร็วๆ นี้ต้องทำอีก เราจะเห็นว่าคะแนนความนิยมสุดารัตน์ค่อนข้างชัดมากในอีสาน หรือเมื่อวานซืน คุณหญิงไปลงพื้นที่อีสาน ก็จะเห็นว่าคนต่างจังหวัดชื่นชอบเขาเยอะ ตรงนี้เพื่อไทยอาจมองว่าจะไปปิดกั้นแลนด์สไลด์ของเขา อาจมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่พวกเราพยายามจะลดโทน ไม่ตอบโต้ เพราะว่าเราไม่ได้รู้สึกอะไร 

วิธีการแลนด์สไลด์ไม่ได้ช่วยทำให้มีเสียงข้างมากในสภากว่าอีกฝั่งที่คุณบอกว่าต้องโค่นหรือ

มันช่วยแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ผมมองคือเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เขาอาจจะบอกว่าทั้งหมดต้องมารวมกันอยู่ทางนี้ แล้วต้องเดินอ้อมภูเขา 17 กิโลเมตรเพื่อไปถึงที่หมาย แต่ผมบอกว่าถ้าเรารวบรวมพลังจากหลายๆ ทางแล้วปีนข้ามไป เราอาจจะใช้ระยะทางแค่ 3 กิโลเมตรนะ มันดูเหมือนยาก แต่มันน่าจะยั่งยืนกว่า หรือถ้าใน 3 กิโลเมตรขึ้นไปจะมีการล้มหายตายจาก ไปต่อไม่ได้ ไปติดขัดกลางทาง เราอาจจะเลือกเอา 17 กิโลเมตรก็ได้

เพราะฉะนั้น ในการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ มันอยู่ที่ว่าคุณจะเอายังไง เหมือนอย่างเมื่อก่อนที่มีพรรคเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติ ถ้าไม่มีพรรคอื่นเลยแล้วไทยรักษาชาติถูกยุบไปตูมเดียว ก็จะไม่มีอะไรเหลือ แต่ตอนนั้นพอเพื่อไทยไม่ได้ลงในพื้นที่ไทยรักษาชาติ แล้วไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนก็ยังเทไปให้พรรคก้าวไกล เสรีรวมไทย หรือเพื่อชาติ เพราะฉะนั้น ผมว่าในการวางแผนมีทั้ง 2 อย่าง คือกระจายกำลังหรือรวมพลัง 

สิ่งที่คิดทุกอันต้องกลับมาดูที่บรรทัดสุดท้ายว่าคุณจะทำประโยชน์อะไร ทำประโยชน์ให้พรรคการเมืองหรือเปล่า ถ้าตอบโจทย์แค่พรรคการเมือง ผมว่ามันไม่ใช่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ากล่องคะแนนเราคือกล่องเดียวกัน มันใกล้เคียงกัน ถ้าคุณมาเลือกหาเสียงแบบนี้ ใครจะเป็นเพื่อนกับคุณ ถูกไหม แต่ถ้าคุณบอกว่าทุกคนต้องรวมพลังมาเลือกพรรคฝ่ายค้านเพื่อเอาชนะเผด็จการให้ได้ อันนี้ผมเห็นด้วย เพราะคู่แข่งของเราไม่ใช่พรรคร่วมของฝ่ายเรา คู่แข่งของเราคืออีกฝั่งหนึ่ง 

เราคือเพื่อนกัน เราคือฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันที่ต้องสู้ข้างหน้า แต่ผู้บริหารเพื่อไทยทุกวันนี้ บอกว่าก้าวไกลทำอย่างนู้นอย่างนี้ กลายเป็นว่าติ่งทั้งสองฝั่งมาสู้กันออนไลน์ เพราะว่าต่างคนต่างไปมองแบบนี้ เรายังไม่ทันชนะเลย ต้องมาแย่งสมบัติกันตรงนี้หรือ พูดตรงๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากก้าวไกล ก้าวไกลก็ทำงานของเขา แต่เพื่อไทยจะไปชูประเด็น strategic vote ว่าคุณต้องเลือกเพื่อไทยทั้งแผ่นดิน ต้องเอาเพื่อไทยให้ได้ ถามว่าคะแนนที่คุณได้จะมาจากใคร ก็มาจากฝั่งนี้เหมือนกัน ถ้าคุณจะเอาคะแนนจากฝั่งนี้ คุณต้องบอกว่าให้เลือกคะแนนจากฝั่งประชาธิปไตยที่คุณชื่นชอบเพื่อไปชนะเผด็จการดีกว่า

แม้จะมีฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน แต่อะไรทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานการเมืองของคุณกับคุณหญิงสุดารัตน์ จนต้องออกมาตั้งพรรคใหม่

ผมมองว่าเพื่อไทยก็สืบทอดมาจากไทยรักไทยเดิม ซึ่งไทยรักไทยเดิมก็ทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนเยอะมาก แล้วก็เคยได้คะแนนถึง 70% ของทั้งหมด เคยได้ 377 เสียงของทั้งสภาที่มี 500 คน

โครงสร้างเดิมเป็นนายกฯ ทักษิณ หลังโดนเอาชนักปักหลัง โดนคดี ต้องไปอยู่เมืองนอก ก็หลุดออกไป แต่ก็ยังเป็นไอดอล เป็น mastermind อยู่ แต่ถัดลงมาจากนั้น ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกัน แล้วมีคนหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มไม่ยอมกัน แล้วทะเลาะกันจนทุกวันนี้ พรรคเลยไปไหนไม่ได้ เช่นสมมติคุณหญิงหน่อยขึ้นมาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค ก็จะมีการปัดแข้งปัดขา คนนู้นคนนี้ห้ามร่วม ถ้าไปกับคนนู้น ก็อย่ามาร่วมกับฉัน มันเกิดเรื่องแบบนี้เยอะ เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันเป็นระบบในองค์กรซึ่งเราก็ไม่อยากพูด เพราะว่ามันหยิกเล็บเจ็บเนื้อ กระเทือนทั้งองค์กร แต่พอมันเกิดขึ้นมากๆ จนกระทั่งรู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ มันไปไม่ถึงไหนหรอก ประชาธิปไตยไม่มีทางชนะ เราออกมาตั้งของเราดีกว่า 

ที่ผ่านมาบางประเด็นในพรรคเพื่อไทย ผมก็เป็นฝ่ายค้านมาตลอดเหมือนกัน เราเป็นตัวของเราอย่างนี้ก็อาจจะไม่ถูกใจคนในพรรค แต่ไม่เกี่ยวกับท่านทักษิณนะ อย่างเช่นตอนออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ผมก็คือฝ่ายค้านที่บอกว่าทำไม่ได้ คุณจะไปรวบรัดตัดความตอนตีสาม แล้วโหวตกดออดผ่านมติชนะแล้ว มันถึงเกิดวันนี้ขึ้นมาไง ถามว่านี่เป็นความคิดของคนเมืองนอกทางไกลหรือเปล่า ผมเชื่อว่าเป็นหน้างานทำกันเองมากกว่า ถึงออกมาผิดพลาดอย่างนี้ แล้วผมก็สนิทกับโอ๊ค (พานทองแท้ ชินวัตร) เขาก็แสดงความคิดเห็นไม่เอาสุดซอยตลอด ถ้าจำกันได้ ตอนนั้นคนหาว่าโอ๊คไม่รักพ่อ ไม่อยากให้พ่อกลับบ้าน เขาก็บอกว่าไม่ใช่ เขาเปรียบเทียบรูปสะพานไม้ที่ชำรุด แล้วบอกว่าถ้าทางกลับบ้านเป็นสะพานไม้ชำรุดอย่างนี้ เป็นพ่อคุณ คุณจะให้เขาเดินข้ามมาไหม เขาเลยต้องห้าม เราสนิทกันก็คุยกันว่าแนวความคิดแบบนี้ทำไม่ได้

หรืออย่างกรณีโครงการจำนำข้าว จริงๆ ไม่ใช่โครงการที่ไม่ดีนะครับ ผมเชื่อว่าไม่ได้เจตนาร้าย แต่ทำไปด้วยความหละหลวม แล้วก็ทำไปโดยคิดว่าเราต้องชนะ เราต้องได้คะแนนทุกอย่าง เราต้องทุ่มเทให้ได้มากที่สุด จนกระทั่งมันเกิดปัญหา ถามว่าทำแล้วคุ้มหรือเปล่า ในมุมผมเองคิดว่า เพื่อไทย ณ เวลานั้น มีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจปากท้องสู้คนอื่นได้อยู่แล้ว คุณไม่ต้องไปมีนโยบายอะไรที่มันหนึ่งยิ่งกว่าหนึ่ง แต่คุณต้องมาเช็กว่าจุดอ่อนของคุณคืออะไร แล้วทำให้มันลดลง แทนที่คุณจะเอาเงินไปใช้กับจำนำข้าวมหาศาลเพื่อให้ได้คะแนน สมมติว่าคุณมีคะแนน 60% จากทั้งหมด คุณอาจจะได้เพิ่มแค่นิดหน่อยเป็น 63-65% แบบนี้มันสุ่มเสี่ยงเกินไป คุณอาจจะได้ ส.ส. เพิ่มมา 5-10 คน แต่คุณต้องไปพังทั้งระบบข้างหน้า อย่างนี้อย่าไปทำ

แต่ถ้าคุณไปแก้เรื่องที่คนตั้งคำถามกันไว้หรือเป็นเรื่องที่คนต่อต้าน เช่น หนึ่ง เรื่องทุจริตต่างๆ คุณจะแก้อย่างไรบ้าง ถ้ามันไม่ใช่ ก็คือไม่ใช่ ต้องอธิบายให้ชัดเจน สอง เรื่องเอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง ถ้ามันไม่ใช่ ก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจน หรือว่าคุณจะเลือกปกป้องคนผิด ใครทำผิดก็ไปอุ้มไว้ ซึ่งตรงนี้ต่างกับพรรคประชาธิปัตย์โดยสิ้นเชิง พรรคประชาธิปัตย์ระแคะระคายใคร เขาให้ออกจากพรรคเลย เขาให้คุณรักษาตัวเองให้ดีก่อนแล้วค่อยกลับมา

เราบอกว่าเราสู้ด้วยกันมาก็ต้องอุ้มกันไป แต่มันกลับลากทั้งหมดจมไปด้วยกัน อย่างนี้ก็ไม่ไหว ซึ่งผมยืนยันมาตลอดว่าเราต้องแก้เรื่องพวกนี้ แต่เราอาจจะเป็นเสียงข้างน้อย สุดท้ายพี่หน่อยก็บอกว่า พรรคใหญ่แบบนี้ เราเคลื่อนอะไรอย่างที่เราคิดลำบาก เราออกมาตั้งพรรคใหม่ดีกว่า

พอออกมาตั้งพรรคใหม่แล้ว ไทยสร้างไทยวางแนวทางต่างจากเพื่อไทยอย่างไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่ไม่ต่างมาก เพราะผมคิดว่าเราสืบทอดมาจากยุคไทยรักไทย แต่จุดยืนของเราคือ เราไม่ได้คัดง้างกับใคร ทำงานร่วมกับทุกคนได้ แต่ขอไม่ทำงานกับคนที่อยู่เบื้องหลังหรือว่าอยู่เบื้องหน้าตั้งแต่ยุคเผด็จการ ปฏิวัติรัฐประหารกันมา ถึงเวลาก็มาอยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง คนกลุ่มนี้สำหรับผมคือไม่ได้แล้ว เป็นโมฆะบุรุษ คนที่ทำความเสียหายให้ประเทศชาติขนาดนี้ก็ไม่ต้องมาเกรงอกเกรงใจกัน

แต่ถ้าเป็นคนถูกบังคับขู่เข็ญให้ไปเข้าร่วมฝั่งนั้นด้วย โดยถูกเอาคดีมาเป็นชนักปักหลัง เรายังถือว่ามาคุยกันได้ ถ้าคุยกันแล้วอุดมการณ์ไปด้วยกันได้ ก็เหมือนเราแสวงจุดร่วมแล้วไปด้วยกัน ต้องเล่าย้อนไปว่าช่วงหนึ่งมีหลายคนที่เคยทำงานด้วยกันเดินมาบอกคุณหญิงหน่อยว่าอยู่กับพรรคต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะโดนฝั่งนู้นบอกว่าถ้าไม่ไปจะเอาเอาคดีมากล่าวหา ตอนนั้นพรรคช่วยไม่ได้ เขาก็ต้องออกไป ทีนี้ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคนแล้วว่า สิ่งที่เขาทำคือความกะล่อนหรือเป็นสิ่งที่ให้อภัยได้ แต่เราไม่ได้มองว่าคนเหล่านี้เป็นศัตรูถาวรของเรา ผมคิดว่าเขาอาจจะอยู่ภายใต้ภาวะจำยอมอะไรบางอย่างก็ได้ แต่เมื่อความจริงปรากฏแล้ว มันอยู่ที่วิจารณญาณว่ากูจะไว้ใจมึงได้หรือเปล่า จะทำงานกันต่อไปได้หรือเปล่า เราก็ต้องกรองกันอีกที แต่ผมจะไม่เอาความโกรธแค้นส่วนตัวหรือความรู้สึกส่วนตัวมาใช้

แล้วเราก็อยากเป็นพรรคที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา มีใครไปทำอะไรที่มันผิดพลาดหรือไม่ดี เราต้องกล้าที่จะพิจารณา แล้วถ้าจะบอกว่ามันยังไม่ได้ตัดสินอะไร จะถือว่าเขาผิดไม่ได้ มันก็ใช่ แต่ว่าอะไรที่มันกระทบกระเทือน แล้วส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทำให้งานอย่างอื่นจะเดินลำบาก หรือพรรคโดนโจมตี เราก็ต้องไปแก้ไข

ปัจจุบันภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไปมากตั้งแต่การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ คุณมองว่าไทยสร้างไทยจะตอบโจทย์ต่อภูมิทัศน์การเมืองเหล่านี้อย่างไร

ผมมองว่าเป็นโอกาส มันสอดคล้องและสนับสนุนกันระหว่างสิ่งที่เราเดินกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม แล้วธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เรียนตามครูบาอาจารย์สอน เขาค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง ถ้าเขาสงสัยเรื่องอะไรที่เป็นกระแสสังคม เขาก็จะเป็นนักสืบออนไลน์แบบละเอียดยิบ

เพราะฉะนั้น เราไม่มีทางปิดบังข้อมูลกับพวกเขาได้เลย ถึงอย่างไรเขาก็ไปดึงไปค้นมาได้ ซึ่งผมมองว่าถ้าเป็นแบบนี้ การสื่อสารตรงไปตรงมาของพรรคการเมืองจะเป็นผลบวกอย่างยิ่ง เพราะเขาจะรู้เลยว่ามันคือตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่ถ้าเราไปบิดเบือน ลับหลังทำอย่างหนึ่ง ใต้โต๊ะทำอย่างหนึ่ง มันก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่รุ่งโรจน์ในอดีต แล้วตกต่ำลงเรื่อยๆ

ผมว่าตอนนี้เราเป็นพรรคที่เปิดกว้างกับคนรุ่นใหม่เยอะมาก ถ้าพูดตรงๆ คนอาจจะมองว่าคุณหญิงสุดารัตน์รุ่นใหม่หรือ แต่สิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์พูดคือ เขามาทำงานการเมืองโดยไม่ได้คิดว่าจะมีตำแหน่ง ถ้ามองว่าเขายังสามารถที่จะบริหารประเทศได้ ใช้ประสบการณ์ที่มีในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มาทำงานได้ เขาก็จะเป็นนั่งร้าน เป็นเสาเข็มให้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันทำงานในพรรค ตอนแรกที่เขาชวนผมเข้าพรรค เขาบอกว่า “ปุ่น ประเทศมันเป็นแบบนี้ไม่ได้ คนรุ่นใหม่จะย้ายประเทศ ผู้ใหญ่ก็บอกว่ามึงไม่รักชาติ ออกไป มันเป็นหน้าที่ของรุ่นพวกเราที่จะต้องทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า ที่ว่าจะย้ายประเทศ มาเปลี่ยนใหม่นะ มาร่วมกันทำให้ประเทศไทยน่าอยู่” เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือทำให้ประเทศไทยให้ดีที่สุดเพื่อส่งมอบให้กับลูกหลาน 

แล้วมันสอดคล้องกับที่ผมคิดว่าไปสู้กันเนี่ย ในที่สุดคนรุ่นใหม่ก็ต้องมาปกครองประเทศอยู่แล้ว คนรุ่นเก่าจะเก่งขนาดไหนก็ต้องล้มหายตายจากไปแน่ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้ คุณควรที่จะประคบประหงมให้คนรุ่นใหม่ทำงานการเมืองได้ นี่คือสิ่งที่เราคิด แล้วมาดูว่าเราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยน่าอยู่

ในบทสนทนาการเมืองของคนรุ่นใหม่มักมีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย พรรคการเมืองหลายพรรคก็ออกมาแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ไทยสร้างไทยมองเรื่องนี้อย่างไร

โอเค ที่บอกว่าทุกพรรคต้องพูดเรื่องนี้กัน จริงๆ ก็คือมีทั้งพูดกับไม่พูด คนที่ไม่พูดก็จะบอกว่าเป็นสิ่งที่ต้องเทิดทูนไว้ เป็นสิ่งที่ต้องไม่แตะต้อง อันนั้นคือพูดแบบไม่พูด ส่วนคนที่พูดก็จะพูดในมุมว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรืออะไรต่างๆ

แต่ตัวผมเองจะไม่ได้ไปคัดง้างกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าเราจะต้องไปทางนู้นทางนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกระแสโลกทุกวันนี้อยู่แล้ว ในอดีตพระมหากษัตริย์หรือสถาบันเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ต่อมาอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็ปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตามสภาวะปัจจุบันที่เราเห็น แต่สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์แตกต่างจากกษัตริย์ประเทศอื่น ซึ่งเป็นมาตั้งแต่รัชกาลอื่นๆ คือทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน จนกระทั่งมีคนที่ศรัทธาสถาบัน แล้วก็ยังยึดมั่นตรงนั้นอยู่มาก 

ผมเปรียบเทียบว่าการพูดเรื่องสถาบันฯ ก็เหมือนการคุยเรื่องศาสนาหรือชาติ มันคือการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เช่น เราคงไม่ไปบอกว่าชาติของเราดีกว่าชาติอื่นๆ หรือไปบอกว่าศาสนาพุทธดีที่สุดในโลก ถ้าพูดอย่างนั้น ก็ทะเลาะกันทุกวัน 

สำหรับบางคน ตั้งแต่เกิดมา เขาก็มีสถาบันเป็นที่เคารพนับถือ เหมือนเราเคารพนับถืออะไรบางอย่าง เหมือนคนนับถือศาสนาพุทธ ก็ไม่ชอบให้ฝรั่งเอามือมาท้าวแขนกับพระพุทธรูป ดังนั้น คนไทยที่เคารพสถาบันฯ ก็จะรู้สึกว่าเราไม่ควรแตะต้อง แต่ถ้าเราไปบอกว่า ทำไมจะแตะต้องไม่ได้ ถ้าเทียบกับศาสนาพุทธก็คือ นี่ไง เรากอดคอพระพุทธรูปได้ เพราะเป็นแค่เหล็กที่หล่อมา แล้วไปบอกว่าคนรู้สึกแบบนี้เยอะกว่าแบบนี้แล้ว อีกกลุ่มก็จะบอกว่าไม่ได้ เรื่องนี้ก็คล้ายกันกับเรื่องสถาบันฯ  

ผมมองว่าประเทศไทยมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกเยอะแยะนะ อย่างเรื่องโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจต่างๆ แล้วทำไมเราต้องหยิบเรื่องอะไรที่คัดง้างกับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องบอกว่ามากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เป็นสิ่งที่เขายอมรับไม่ได้ เป็นสิ่งที่เขาเคารพกราบไหว้เทิดทูนมาตลอดทั้งชีวิต แล้วในเมื่อประเทศเราเปราะบางเรื่องเศรษฐกิจ จนคนไปสุดสายป่านแล้ว ออกซิเจนไม่มีแล้ว เราเอาทุกคนมาร่วมกันพัฒนาชาติไทย ทำให้ประเทศเราเดินไปข้างหน้าดีกว่าไหม 

ผมได้ตอบเรื่องนี้บนเวทีดีเบต โดยคุณจอมขวัญ (หลาวเพ็ชร์) ถามผมเรื่องจุดยืนต่อมาตรา 112 ผมตอบไปว่า คนที่ใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการทำร้ายหรือทำลายฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมืองกับผู้มีอำนาจ คือผู้ที่ทำให้ที่สถาบันเสื่อมเสียที่สุด ถ้าเป็นอดีตที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีคนใช้วิธีนี้มาสร้างประโยชน์ให้พวกตัวเอง ทำให้คนที่ต่อต้านมาตรา 112 ไม่ได้มีเยอะเหมือนในปัจจุบัน จนกระทั่งมาถึงจุดๆ หนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจเริ่มหยิบยกมาใช้พร่ำเพรื่อ คนก็จะเริ่มต่อต้านมากขึ้น การใช้มาตรานี้ก็จะเริ่มเข้มงวดขึ้น ถามว่าความเข้มงวดนั้นตรงกับข้อกฎหมายที่ระบุไว้ไหม มันก็ตรง แต่มันปรากฏว่าคนกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการผลประโยชน์ทางการเมือง ก็มักจะแสดงตนว่าฉันอยู่ข้างสถาบันฯ ปกป้องสถาบัน แล้วใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการทำลายคนฝั่งตรงข้ามทางการเมืองด้วยการเอา 112 เป็นชนักไปปักหลังเขา ตรงนี้ต้องไม่เกิดขึ้น

ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมีการทำงานแบบ ป.ป.ช.ในด้านกฎหมาย ปกติ ป.ป.ช. เป็นผู้ที่ดูแลเรื่องการทุจริต ถ้าคุณทุจริตเอง เขาจะระบุว่าคุณต้องได้รับโทษ 2-3 เท่า เราต้องทำอย่างนี้กับคนที่ใช้มาตรา 112 ทำร้ายฝั่งตรงข้ามเหมือนกัน เพราะถ้าคุณเอาไปใช้แบบนี้ แล้วปรากฏว่าเขาไม่ได้ผิดจริง คุณต้องโดนโทษ 2 เท่า อย่างนี้จะทำให้คนโดนโทษรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมแล้ว เขาก็จะไม่ไปแตะต้อง ในเมื่อคนไทยด้วยกันก็คิดอย่างนี้ ฉันคิดอย่างนี้ มันก็คือความคิดต่างส่วนหนึ่ง แล้วเราจะหยิบยกให้มาทะเลาะกันทำไม 

สิ่งที่เป็นศัตรูกับประชาชนมากที่สุดในตอนนี้คือการทำงานของลุงตู่ เพราะทุกวันนี้เขาอยู่ได้ด้วยการพิงสถาบัน อ้างว่าจงรักภักดีกับสถาบันเพื่อทำลายฝั่งตรงข้าม จริงๆ บางคนแค่อยู่ตรงข้ามกับลุงตู่ แค่กำลังด่าตู่ แต่พอตู่ไปพิงแบบนี้ เขาก็ถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามสถาบัน เราต้องเอาคนที่พิงแบบนี้ออกไป เพราะเป็นคนที่ทำให้สถาบันตกต่ำมากที่สุด ถ้าคนประเภทนี้ไม่อยู่ ผมเชื่อว่าคนที่มาต่อต้านเรื่อง 112 หรือสถาบันจะน้อยลงกว่านี้เยอะ และสิ่งที่ผมพูดนี้ก็ตรงกับที่ท่านชัชชาติไปตอบกับเด็กบนเวทีตอนนั้น

แนวทางของไทยสร้างไทยมองว่าเราต้องมามองหาปัญหาจริงๆ กันก่อน นั่นคือเราต้องเอา 3 ป. ออกไปให้ได้ แล้วเราจะได้เดินหน้าต่อในเรื่องอื่นๆ ได้ ซึ่งผมมองว่าผมขอทำงานการเมืองในมุมของผมตรงนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่มีคนตรงนี้ที่ไม่ไปสุดซ้าย หรือไปสุดขวาเลย เราจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายดีกว่า

อีกอย่างคือในระบอบประชาธิปไตย แต่ละพรรคการเมืองมีแนวทางที่ชัดเจนของตัวเอง ถ้าหากประชาชนลงความเห็นว่าอยากให้มีการแก้ไขในแนวทางใคร ก็สามารถลงคะแนนให้พรรคที่เราสนใจได้ ผมคิดว่าแต่ละพรรคต้องมีจุดยืนให้เห็นชัดเจน

การทำงานในแนวทางไทยสร้างไทยที่ว่านี้ สำคัญอย่างไรในบริบทตอนนี้

สำคัญ ผมเชื่อมั่นเลยว่า คนที่เชียร์ลุงทั้งหมด ไม่ได้มองว่าลุงเหมาะสมเป็นนายกฯ แต่เขามองว่าลุงสามารถปกป้องสถาบันฯ ให้เขาได้ เพราะเราไปยกระดับความขัดแย้งอันนี้ให้มันขึ้นสูง เลยทำให้ลุงมีความสำคัญ จริงๆ แล้ว เขาคือคนที่ไม่มีความสามารถอะไรเลย แต่เขาเอ็กซ์ตรีมในเรื่องสถาบันฯ นี้ เลยมีคนสนับสนุนเขาอยู่ 

แต่ถ้าเราไม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วพูดเรื่องของการบริหารประเทศอย่างเดียว ส.ส.พลังประชารัฐอาจจะเหลืออยู่ 10 คนก็ได้ คนก็จะไม่เอา อันนี้คือมุมที่ผมมองทางการเมืองนะ ผมเลยบอกว่าอะไรที่ไปคัดง้างกับคน เราพักไว้ก่อน เราโฟกัสกับการเอาคนนี้ออกไปก่อน พอออกไปแล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามกลไกประชาธิปไตย แล้วถ้าคนเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง เขาก็จะเลือกพรรคการเมืองนั้นจนกระทั่งเป็นเสียงข้างมาก แล้วก็สามารถเคลื่อนไหวอะไรต่อได้

ผมมองว่าเรามีจุดแข็งตรงนี้ แต่อาจจะมีกลุ่มคนที่มองว่า ถ้าเราไม่ซ้ายสุดขวาสุด แล้วเราจะยืนอยู่ตรงไหน ผมเชื่อว่าการไปซ้ายสุดขวาสุดทำให้การเมืองเป็นแบบทุกวันนี้ เผชิญหน้ากันไปมา เป็นเหลืองเป็นแดงมาตลอด หลายคนก็มองว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีการเมืองที่พูดถึงแก่นของปัญหา แล้วมีวิธีการแก้ปัญหา โดยไม่ต้องไปเอาใจซ้ายสุดหรือขวาสุด แต่เป็นจุดยืนของเรา

ผมพูดตั้งแต่มาก่อตั้งพรรคปีที่แล้วว่า เราเป็น niche market มากๆ เพราะฉะนั้นคนนิยมเราอาจจะเหลือน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะหาฐานลูกค้าจากไหน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำมาตลอดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็เป็นอย่างนี้นะ ผมไม่ได้เอ็กซ์สตรีมถึงขั้นไปซัดกับฝ่ายตรงข้าม หรือทำอะไรให้มันสุด ผมเดินตามสิ่งที่สมเหตุสมผล ไม่ต้องไปเสียเวลาให้เกิดข้อขัดแย้งอะไรกันมากมาย ผมเชื่อว่ามันจะยืนยงและจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะการไปซ้ายสุดหรือขวาสุดไม่เคยเป็นทางออกให้กับประเทศเลย

สุดท้ายแล้วคุณมีภาพการเมืองในฝันที่อยากลงไปทำงานอย่างไรบ้าง

อยากเห็นการเมืองที่ทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่เหยียบฝ่ายตรงข้ามให้ต่ำลง แล้วเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง เป็นการเมืองที่ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ตรงนี้เป็นกลไกในเบื้องต้นที่เราต้องไม่มี เพราะประเทศเราคอร์รัปชันสูงมาก 

แล้วการเมืองของเราก็ชอบไปเอาโทษ เอาผิดนักการเมืองแบบเกินเหตุ เช่น ห้ามรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเสื้อตัวหนึ่ง รองเท้าคู่หนึ่ง กินข้าวมือหนึ่งก็เกิน 3,000 บาทอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ผิดหมด ถ้าคุณบังคับใช้กฎหมายตามที่คุณเขียนมา ผมว่านักการเมืองไม่รอดสักคน เพราะถึงเวลามีแขกจากต่างชาติมามอบโถแจกัน แล้วมีมูลค่า 5,000 บาท ก็ผิด แล้ต่อให้จะเขียนกฎหมายไว้เข้มงวด แต่การบังคับใช้กฎหมายก็เลือกปฏิบัติได้ ตรงนี้เลยกลายเป็นอาวุธในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมากกว่า 

อีกเรื่องที่ไม่อยากให้มีคือการทุจริตเชิงนโยบาย เอานโยบายเอื้อกับนายทุน พัฒนาการของธุรกิจการเมืองตอนนี้กลายเป็นว่านายทุนเข้ามากำกับการเมือง ผมจะตั้งคนนี้เป็นรัฐมนตรี จะเอาคนนี้ไปดูแลกระทรวงนี้ให้หมด นโยบายเรื่องนี้ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพรรคการเมืองต้องเอาเงินไป พรรคการเมืองกลายเป็นตัวเล่นของนักธุรกิจใหญ่ เขาให้เงินคุณไปเลือกตั้ง แล้วให้เอา ส.ส. ไปทำงานให้เขา พอถึงเวลาธุรกิจใหญ่อยากได้สัมปทานอะไรบางอย่าง ก็จะส่งเงินย้อนกลับให้พรรคการเมืองเพื่อช่วยในการเลือกตั้ง มีการสนับสนุน 300-500 ล้านบาท หรือถึงพันล้านบาทเลยก็มีในปีที่ผ่านมา

สุดท้ายข้อเสียที่เกิดจากตรงนี้มากที่สุดคือความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก คนรวยก็รวยมหาศาล แล้วคนจนก็ยังอยู่ที่เดิม

ไทยสร้างไทยจะไม่เลือกแนวทางนี้?

จะไม่ทำแบบนี้ (ตอบทันที) แล้วจะไปคุยกับนายทุนทุกคนด้วย นี่คือสิ่งที่ผมพูดไว้บนเวทีดีเบตของ THE STANDARD  ผมบอกว่าผมเองจะเป็นคนไปคุยกับนายทุน เรารู้จักแทบทุกคนอยู่แล้ว เพราะถ้าคุณยังทำอย่างนี้ ประเทศจะอยู่ไม่ได้ ปีหน้าคุณอาจจะรวยขึ้นอีกหลายเท่า แต่ในที่สุดก็ไม่มีคนมาซื้อสบู่ แชมพู ผงซักฟอก หมูเห็ดเป็ดไก่ หรือเครื่องดื่มของบริษัทคุณ เพราะว่าคนจนกันหมด สุดท้ายเหลือแค่นายทุนใหญ่ กับคนค้ายา หรือคนทำผิดกฎหมาย 

ผมมองว่า สิ่งที่วิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) พรรคก้าวไกล พูดไว้เรื่องนายทุน ถูกต้องทั้งหมด แต่ในแนวทางของผม ผมจะไปคุยว่ากับนายทุนว่า คุณได้ประโยชน์จากตรงนี้เยอะแล้ว พูดให้เขารู้เลยว่าถ้าคุณทำแบบนี้ ประเทศจะไปต่อไม่ได้ กลับมาคืนให้สังคมดีกว่า หรือการที่คุณทำให้ธุรกิจรายเล็กอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องไปคุยว่า คุณต้องให้รายเล็กอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าพอรายเล็กทำอะไรดี แล้วคุณที่มีหน้าร้านดีกว่า มีสาขาเยอะกว่า ถึงเวลาก็ไป C&D (Copy and Development) แล้วพอสินค้าคุณดูดีกว่า หรืออาจจะไม่ได้ดีเท่า คุณก็ไปดันของเขาออกจากชั้นแล้วเอาของคุณขึ้นมา คนก็ต้องซื้อของคุณ ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่าคุณกำลังทำลายธุรกิจของคนไทย แต่ถ้าเปลี่ยนจากนั้นเป็นว่าใครทำอะไรดี คุณก็ไปสนับสนุนเขา อาจจะไปช่วยหุ้นสัก 20% แบบนี้เราจะอยู่กันได้ทั้งหมด เพราะรายใหญ่มีรายได้จากอย่างอื่นได้อยู่แล้ว เราอยากทำอะไรแบบนี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save